คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
กรอบเวลา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 69 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1289/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับพยานนอกกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด ศาลมีอำนาจได้หากมีเหตุผลแห่งความยุติธรรม และประเด็นสำคัญในคดี
จำเลยที่ 1 มิได้ยื่นบัญชีระบุพยานจนล่วงเลยกำหนดเวลาตามกฎหมาย หลังจากนั้นได้ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมรวม 2 ครั้ง โจทก์ยื่นคำแถลงคัดค้านบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 2 ของจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามรายงานกระบวนพิจารณาว่า จำเลยที่ 1 ยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2545 โดยเข้าใจว่า เป็นการยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 1 โจทก์รับสำเนาแล้วไม่คัดค้าน ศาลอนุญาตและรับบัญชีระบุพยานจำเลยที่ 1 จึงถือว่าเป็นกรณีที่ศาลอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ยื่นบัญชีระบุพยานเมื่อพ้นระยะเวลาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 วรรคหนึ่ง อันเป็นการใช้ดุลพินิจรับบัญชีระบุพยานจำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 วรรคสามแล้ว จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่สองได้ แม้โจทก์จะคัดค้าน และการยื่นบัญชีระบุพยานของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 88 วรรคหนึ่งและวรรคสอง แต่เมื่อคดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของหรือในฐานะผู้เช่า ดังนี้ บัญชีระบุพยานของจำเลยที่ 1 ที่อ้างพยานบุคคลที่รู้เห็นเหตุการณ์ จึงนับว่าเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับบัญชีระบุพยานจำเลยที่ 1 และอนุญาตให้จำเลยที่ 1 นำพยานบุคคลตามบัญชีระบุพยานเข้าเบิกความ จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 183/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แก้ไขคำให้การนอกกรอบเวลา: ศาลไม่รับแก้คำให้การหากไม่ใช่เหตุเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน
จำเลยทั้งแปดขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต โจทก์ไม่ได้ออกสแตนบายเลตเตอร์ออฟเครดิต โจทก์ไม่ได้ชำระเงินให้แก่ธนาคารสแกนดิเนเวีย เอ็นไคด้าหนังสือรับสภาพหนี้ตามฟ้องไม่ใช่หนังสือรับสภาพหนี้ กับฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ล้วนเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งแปดยกข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในเรื่องที่จำเลยทั้งแปดย่อมทราบดีอยู่แล้วตั้งแต่เมื่อได้รับสำเนาคำฟ้องของโจทก์ ซึ่งจำเลยทั้งแปดอาจยื่นคำให้การต่อสู้ในเรื่องดังกล่าวได้ตั้งแต่ยื่นคำให้การครั้งแรก และการขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การดังกล่าวนั้นแม้เป็นเหตุที่อาจมีผลต่อจำเลยทั้งแปด แต่ไม่ได้มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลจะรับคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การที่มิได้ยื่นก่อนวันชี้สองสถานได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10348/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตเลื่อนคดีและคำร้องดำเนินคดีอนาถา กรอบเวลาอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. และการพิจารณาพยานหลักฐาน
การอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและถือว่าไม่มีพยานมาไต่สวนให้เห็นได้ว่าเป็นคนยากจนไม่มีทรัพย์สินพอจะเสียค่าธรรมเนียมถือไม่ได้ว่าเป็นการอุทธรณ์คำสั่งยกคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาซึ่งจะต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน 7 วัน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156 วรรคห้า (เดิม) แต่มีกำหนดยื่นอุทธรณ์คำสั่งภายใน 1 เดือน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2)
เมื่อผู้ร้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวภายใน 1 เดือน การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์จึงไม่ชอบ และต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็ชอบที่จะสั่งรับอุทธรณ์คำสั่งของผู้ร้องไว้พิจารณา การที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์คำสั่งเพราะเหตุผู้ร้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งเกิน 7 วัน นับแต่วันมีคำสั่ง จึงไม่ชอบและไม่ทำให้คดีเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 236 วรรคหนึ่ง เพราะเป็นคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8330/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ: ผลกระทบของกฎหมายใหม่ และกรอบเวลาในการดำเนินการ
อุทธรณ์ของผู้ร้องที่ว่า คดีของผู้ร้องต้องอยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 แต่ศาลชั้นต้นนำบทบัญญัติของกฎหมายที่ยกเลิกไปแล้วมาปรับใช้แก่คดี คำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกล่าวอ้างว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้ร้องจึงมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 222
ผู้ร้องยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อคณะกรรมการอนุญาโตตุลาการและคณะกรรมการอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดในระหว่างที่พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 ยังมีผลใช้บังคับ เมื่อผู้ร้องได้ส่งสำเนาคำชี้ขาดให้ผู้คัดค้านทราบแล้ว ผู้คัดค้านไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาด ผู้ร้องย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้คัดค้านได้รับสำเนาคำชี้ขาดตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530
ในระหว่างที่ผู้ร้องยังมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 23 มีพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ออกใช้บังคับโดยมาตรา 3 บัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 แต่มีบทเฉพาะกาลมาตรา 48 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า "บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์แห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการและการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการใดที่ได้กระทำไปก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้บังคับ" และวรรคสองบัญญัติว่า "การดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการใดที่ยังมิได้กระทำและยังไม่ล่วงพ้นกำหนดเวลาที่จะต้องกระทำตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ก่อนพระราชบัญญัตินี้ ให้ดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการนั้นได้ภายในกำหนดเวลาตามพระราชบัญญัตินี้" เมื่อการยื่นคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการตามความในมาตรา 48 วรรคสอง และยังไม่ล่วงกำหนดเวลาที่จะต้องกระทำตามกฎหมายที่ถูกยกเลิกไป ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการนั้นได้ภายในกำหนดเวลาสามปีนับแต่วันที่อาจบังคับตามคำชี้ขาดได้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 42

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 477/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนกระบวนพิจารณาคดีที่ล่าช้าเกินกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด แม้มีเหตุผลเรื่องการปลอมแปลงเอกสาร
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องอ้างว่า จำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าถูกฟ้องเนื่องจากไม่เคยได้รับหมายและไม่เคยแต่งทนายความให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ ลายมือชื่อในใบแต่งทนายความของจำเลยที่ 2 เป็นลายมือชื่อปลอมโดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ปลอมลายมือชื่อจำเลยที่ 2 กระบวนพิจารณานับตั้งแต่ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 จนกระทั่งศาลมีคำพิพากษาตามยอมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าวนั้นต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคหนึ่ง แต่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องล่วงเลยเวลา 8 วัน นับแต่ทราบพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างว่าผิดระเบียบ จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3587/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการได้รับดอกเบี้ยจากการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติม แม้ยื่นหลังกำหนดตามมาตรา 83 แต่ยังอยู่ในกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด
โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายแล้ว ต่อมาโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมพร้อมขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มตามสิทธิของโจทก์ที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฎากร มาตรา 84 ซึ่งการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมนี้กฎหมายมิได้กำหนดกรอบเวลาไว้ เมื่อโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมดังกล่าวภายใน 3 ปี นับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีสำหรับเดือนภาษีนั้น ตามมาตรา 84/1 (1) จึงถือว่าโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับเงินคืนภาษีอากรแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขอคืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8941/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน: กรอบเวลา 10 ปี, การแจ้งเหตุผลเพิ่มเติม, และการประเมินค่ารายปี
โรงเรียนที่จะได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 9 (3) จะต้องเป็นโรงเรียนสาธารณะ ซึ่งกระทำกิจการอันมิใช่เพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคล และต้องใช้ในการศึกษาเท่านั้น โรงเรียนของโจทก์เก็บค่าธรรมเนียมการเรียน ค่าธรรมเนียมอื่นและค่าใช้จ่ายอื่น ซึ่งเป็นการกระทำเพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคล โรงเรียนและสถานรับเลี้ยงเด็กของโจทก์จึงไม่ใช่ทรัพย์สินของโรงเรียนสาธารณะซึ่งกระทำกิจการอันมิใช่เพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคลและใช้เฉพาะในการศึกษาจึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดิน ตามมาตรา 9 (3)
ศาสนสมบัติที่จะได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 (4) จะต้องใช้เฉพาะในศาสนกิจเท่านั้นไม่อาจใช้ในการอื่นได้ โรงเรียนและสถานรับเลี้ยงเด็กของโจทก์ได้สอนความรู้ทางวิชาการด้วย ไม่ได้ใช้เฉพาะด้านศาสนกิจเพียงอย่างเดียว โรงเรียนและสถานรับเลี้ยงเด็กของโจทก์จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดิน ตามมาตรา 9 (4)
โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.2) ประจำปีภาษี 2538 ถึงปีภาษี 2547 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2547 ซึ่งตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 18 และ 19 กำหนดให้ผู้รับประเมินมีหน้าที่ยื่นแบบแจ้งรายการทรัพย์สินเพื่อเสียภาษีภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี จึงเป็นกรณีที่โจทก์ไม่ยื่นแบบพิมพ์แสดงรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ตามมาตรา 24 ทวิ วรรคสอง (1) ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินย้อนหลังได้ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นแบบพิมพ์ตามมาตรา 19 คือนับแต่วันสุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ในแต่ละปี พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งการประเมินไปถึงโจทก์เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2548 แม้โจทก์เคยฟ้องจำเลยเกี่ยวกับการประเมินดังกล่าวมาแล้วตามคดีหมายเลขแดงที่ 81/2555 ของศาลภาษีอากรกลาง ซึ่งศาลดังกล่าวพิพากษาให้เพิกถอนการแจ้งการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน เนื่องจากใบแจ้งรายการประเมินขาดรายละเอียด เหตุผล ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายซึ่งไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 และให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาดังกล่าวแล้วก็ตาม ก็เห็นได้ว่า ศาลภาษีอากรกลางมิได้พิพากษาเพิกถอนการประเมินอันเป็นคำสั่งทางปกครองแต่อย่างใด และแม้การประเมินภาษีโรงเรือนของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว จะไม่ได้จัดให้มีเหตุผลตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่คำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางดังกล่าว ก็มีผลให้จำเลยที่ 1 สามารถจัดให้มีเหตุผลและแจ้งให้โจทก์ทราบในภายหลังได้ โดยไม่มีข้อจำกัดที่ต้องกระทำก่อนจำเลยที่ 2 มีคำชี้ขาดที่ถูกเพิกถอนไปแล้ว การที่จำเลยที่ 1 จัดให้มีเหตุผลและแจ้งให้โจทก์ทราบภายหลังย่อมมีผลให้ถือว่า การประเมินครั้งแรกที่แจ้งให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2548 ที่ขาดเหตุผลมาแต่เดิมนั้นไม่เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่สมบูรณ์ ถือได้ว่าการประเมินดังกล่าวสมบูรณ์มาแต่เดิมแล้ว การนับระยะเวลาในการประเมินย้อนหลังไม่เกิน 10 ปี ตามมาตรา 24 ทวิ วรรคสอง (1) จึงนับจากวันที่ประเมินภาษีครั้งแรก ทั้งระยะเวลาย้อนหลังได้ไม่เกิน 10 ปี ก็เป็นเพียงระยะเวลาที่เป็นกรอบเวลาในการใช้อำนาจในการประเมินของจำเลยที่ 1 เท่านั้น มิใช่อายุความ การประเมินภาษีสำหรับปีภาษี 2538 จึงเกินกำหนด 10 ปี แล้ว ส่วนปีภาษี 2539 ถึงปีภาษี 2547 นั้น ไม่เกินกำหนดเวลาตามมาตรา 24 ทวิ วรรคสอง (1) พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีอำนาจประเมินย้อนหลังได้
มาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มิใช่บทบัญญัติบังคับให้พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามทุกกรณีไป เพียงแต่หากพนักงานเจ้าหน้าที่ประสงค์จะได้รับความสะดวกตามสมควรในการตรวจตรา ก็ควรจะแจ้งให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประเมินทราบก่อน
เมื่อศาลภาษีอากรกลางมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 81/2555 แล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งรายการประเมินมายังโจทก์เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2556 และต่อมาได้มีการแจ้งเหตุผลเพิ่มเติมตามใบแจ้งรายการประเมินลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2556 เมื่อคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางดังกล่าวมิได้เพิกถอนการประเมินอันเป็นคำสั่งทางปกครอง และมีผลให้จำเลยที่ 1 สามารถจัดให้มีเหตุผลและแจ้งให้โจทก์ทราบในภายหลังได้ โดยไม่มีข้อจำกัดที่ต้องกระทำก่อนจำเลยที่ 2 มีคำชี้ขาดที่ถูกเพิกถอนไปแล้ว ใบแนบใบแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.8) เพิ่มเติมดังกล่าวจึงเป็นการจัดให้มีเหตุผลในภายหลังโดยกระทำก่อนสิ้นสุดกระบวนการพิจารณาอุทธรณ์ ตามมาตรา 41 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ใบแจ้งรายการประเมินตามมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 (ภ.ร.ด.8) จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วย พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 แล้ว
การกำหนดค่ารายปีต้องเป็นไปตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 เมื่อโรงเรือนของโจทก์เป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเองแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมประเมินค่ารายปีโดยเทียบเคียงกับโรงเรือนเลขที่ 70/32 ซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนเช่นเดียวกับโรงเรือนของโจทก์และอยู่ในทำเลที่ใกล้เคียงกับโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4237/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกล้างสัญญาประกันชีวิตต้องเป็นไปตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด มิฉะนั้น สัญญายังคงมีผลผูกพัน
การบอกล้างสัญญาประกันชีวิตภายใน 1 เดือน นับแต่วันทราบมูลอันจะบอกล้างได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคสอง จำเลยผู้รับประกันภัยให้การต่อสู้ว่า สัญญาประกันชีวิตทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นโมฆียะ และจำเลยได้บอกล้างแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่นำสืบให้ได้ความว่า จำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ตั้งแต่เมื่อใด และได้บอกล้างสัญญาดังกล่าวแล้วภายใน 1 เดือน นับแต่ทราบมูลอันจะบอกล้างได้ ที่จำเลยอ้างว่าจำเลยทราบเหตุอันบอกล้างโดยทราบข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการรักษาจากโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2559 แต่ตามพยานหลักฐานจำเลยไม่ปรากฏว่าจำเลยมอบหมายให้บุคดลใดเป็นผู้ตรวจสอบหรือจำเลยทำการตรวจสอบอย่างไร แต่ปรากฏจากสำเนาบัตรตรวจโรคโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ว่า โรงพยาบาลวารินชำราบ ส่งตัว ป. ไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ เกี่ยวกับโรคติดสุรา โดยระบุที่มุมด้านข้างของเอกสารว่า เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2559 และมี ว. เจ้าพนักงานเวชสถิติชำนาญงาน เป็นผู้รับรองสำเนาถูกต้องเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2559 ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความ ล. ว่าประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายนจำเลยได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง อันแสดงให้เห็นว่าจำเลยได้ตรวจสอบประวัติการรักษาของ ป. ไปยังโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ในช่วงเวลาดังกล่าวและโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ได้ออกเอกสารตามสำเนาบัตรตรวจโรคให้แก่จำเลยหรือตัวแทนของจำเลยผู้ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2559 แล้ว กำหนดระยะเวลาหนึ่งเดือนในการใช้สิทธิบอกล้างโมฆียกรรม ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคสอง จึงต้องเริ่มนับแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2559 ที่ตัวแทนของจำเลยได้รับสำเนาประวัติการตรวจรักษาของ ป. ซึ่งเป็นการทราบมูลอันจำเลยจะบอกล้างโมฆียกรรมได้ การที่จำเลยมีหนังสือลงวันที่ 20 มิถุนายน 2559 บอกล้างสัญญาประกันชีวิตทั้งสองฉบับไปยังโจทก์ และโจทก์ได้รับหนังสือบอกล้างดังกล่าววันที่ 26 มิถุนายน 2559 จึงพ้นกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่จำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างโมฆียกรรมได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3129/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับเนื่องจากยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงพ้นกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด
จำเลยยื่นฎีกาพร้อมคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาที่จำเลยมีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้เสียแล้ว คำร้องดังกล่าวของจำเลย จึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลย เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน
of 7