พบผลลัพธ์ทั้งหมด 75 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16571/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเปลี่ยนแปลงกฎหมายยาเสพติดหลังกระทำผิด และผลต่อการกำหนดโทษใหม่ของผู้ต้องหา
ในระหว่างที่จำเลยกำลังรับโทษตามคำพิพากษาซึ่งคดีถึงที่สุด ได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 65 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยตามมาตรา 65 วรรคสอง (เดิม) กำหนดไว้ว่า ผู้ใดผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เพื่อจำหน่าย ต้องระวางโทษประหารชีวิต ส่วนในมาตรา 65 ที่แก้ไขใหม่ กำหนดแยกบทลงโทษกรณีผลิตโดยการแบ่งบรรจุหรือรวมบรรจุ และมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่ถึงปริมาณที่กำหนดตามมาตรา 15 วรรคสาม (3) คือไม่ถึง 3 กรัม หากเป็นการผลิตเพื่อจำหน่าย ต้องระวางโทษตามมาตรา 65 วรรคสี่ ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงห้าล้านบาท เช่นนี้ ความผิดฐานผลิตเฮโรอีนเพื่อจำหน่ายตามมาตรา 65 วรรคสี่ ที่แก้ไขใหม่ จะเป็นคุณมากกว่ากฎหมายเดิมตามมาตรา 65 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด เฉพาะในกรณีที่เป็นการผลิตเฮโรอีนเพื่อจำหน่ายโดยการแบ่งบรรจุหรือรวมบรรจุ และมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่ถึงปริมาณที่กำหนดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (3) (ใหม่) คือไม่ถึง 3 กรัม เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ซึ่งคดีถึงที่สุดแล้วว่า จำเลยผลิตเฮโรอีนโดยการแบ่งบรรจุใส่หลอดพลาสติก 150 หลอด น้ำหนัก 142.007 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 91.865 กรัม แม้ฟ้องโจทก์จะไม่ได้บรรยายว่า เฮโรอีนดังกล่าวมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เท่าใด แต่โจทก์บรรยายฟ้องมาแล้วว่า จำเลยผลิตเฮโรอีนโดยการแบ่งจากห่อแล้วบรรจุใส่หลอดพลาสติก 150 หลอด น้ำหนัก 142.007 กรัม อันเป็นการบรรยายฟ้องมาครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 65 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแล้ว เมื่อเฮโรอีนของกลางมีปริมาณสารบริสุทธิ์ 91.865 กรัม เกินกว่าที่กำหนดตามมาตรา 15 วรรคสาม (3) จึงไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 65 วรรคสี่ ที่แก้ไขใหม่ กฎหมายที่แก้ไขใหม่จึงไม่เป็นคุณแก่จำเลย ส่วนกำหนดโทษตามมาตรา 65 วรรคสอง (เดิม) และมาตรา 65 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่ มีระวางโทษประหารชีวิตสถานเดียวเท่ากัน กฎหมายที่แก้ไขใหม่จึงไม่เป็นคุณแก่จำเลย ต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) ที่ศาลจะกำหนดโทษจำเลยในความผิดฐานผลิตเฮโรอีนเพื่อจำหน่ายใหม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1499/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การยื่นคำร้องขอให้กำหนดโทษใหม่ซ้ำหลังศาลอุทธรณ์ตัดสินถึงที่สุดแล้ว เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้าม
จำเลยเคยยื่นคำร้องขอให้ศาลกำหนดโทษจำเลยใหม่โดยไม่เพิ่มโทษ อ้างว่ามี พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ใช้บังคับ จำเลยได้รับการล้างมลทินโดยถือว่าการกระทำความผิดในคดีก่อนถูกลบล้างไปแล้ว พระราชบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นคุณแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3 ศาลชั้นต้นยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีถึงที่สุด การที่จำเลยมายื่นคำร้องครั้งใหม่โดยอ้างเหตุอย่างเดียวกันกับในประเด็นที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยชี้ขาดและคดีถึงที่สุดแล้ว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8472/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การกำหนดโทษใหม่ตามกฎหมายยาเสพติดที่แก้ไข ศาลไม่อาจปรับโทษเดิมเมื่อคดีถึงที่สุดหลังกฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2545 และคดีของจำเลยที่ 1 ถึงที่สุดเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2551 โดยศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 และศาลฎีกาพิพากษาหลังจาก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 ใช้บังคับแล้ว และได้ปรับบทลงโทษและกำหนดโทษตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่แล้ว กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) ที่ศาลจะกำหนดโทษจำเลยที่ 1 ใหม่ได้อีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8913/2553
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การลงโทษซ้ำซ้อนและการใช้ดุลพินิจศาลในการกำหนดโทษคดีทางหลวง
การกระทำความผิดตามฟ้องของจำเลยในแต่ละฐานความผิดนั้นเป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุกและโทษปรับ ศาลย่อมมีอำนาจที่จะลงโทษจำคุกหรือลงโทษปรับอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือจะลงโทษทั้งโทษจำคุกและโทษปรับทั้งสองอย่างพร้อมกันก็ได้ ถึงแม้ในคดีนี้จำเลยจะได้ชำระค่าปรับครบถ้วนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วก็ตาม ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมมีอำนาจที่จะลงโทษจำคุกจำเลยอีกได้ และการที่จำเลยได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขคุมความประพฤติ ทำงานบริการสังคมและสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรครบถ้วนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วก็ตาม แต่เงื่อนไขการคุมความประพฤติดังกล่าวนั้นก็มิใช่การลงโทษ เป็นแต่เพียงมาตรการทางกฎหมายที่ศาลให้โอกาสผู้กระทำความผิดในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้รอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษเท่านั้น จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการลงโทษจำเลยซ้ำซ้อนจากการกระทำความผิดแต่เพียงครั้งเดียวดังที่จำเลยอ้างมาในฎีกา
จำเลยใช้รถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุบรรทุกดินมีน้ำหนักยานพาหนะรวมน้ำหนักบรรทุกเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ถึง 22,410 กิโลกรัม โดยไม่นำพาว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสภาพทางหลวงแผ่นดินซึ่งเป็นสมบัติของส่วนรวมและมีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันของสาธารณชน การกระทำของจำเลยย่อมทำให้ผู้ร่วมใช้เส้นทางสัญจรไปมาต้องเสี่ยงต่ออันตรายที่เกิดจากสภาพของยานพาหนะที่บรรทุกน้ำหนักเป็นจำนวนมากจนเกินกว่าที่ผู้ขับจะควบคุมให้แล่นไปได้อย่างปลอดภัยพฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยนับว่าร้ายแรง ที่จำเลยยกขึ้นอ้างฎีกาว่าจำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน มีภาระต้องรับผิดชอบต่อครอบครัวและจำต้องกระทำความผิดในคดีนี้เพราะไม่อาจหลีกเลี่ยงหรือขัดคำสั่งของนายจ้าง ก็เป็นเพียงเหตุผลและความจำเป็นส่วนตัวของจำเลยเท่านั้น บุคคลทั่ว ๆ ไปในสถานะเช่นเดียวกับจำเลยก็มีภาระที่ไม่แตกต่างไปจากจำเลย จำเลยไม่อาจอ้างภาระความจำเป็นส่วนตัวเพื่อก่อภาระให้แก่สังคมโดยรวมได้ เหตุดังกล่าวไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นลงโทษจำคุก โดยไม่ลงโทษปรับและไม่คุมความประพฤติ และให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทนตาม ป.อ. มาตรา 23 นั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว
จำเลยใช้รถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุบรรทุกดินมีน้ำหนักยานพาหนะรวมน้ำหนักบรรทุกเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ถึง 22,410 กิโลกรัม โดยไม่นำพาว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสภาพทางหลวงแผ่นดินซึ่งเป็นสมบัติของส่วนรวมและมีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันของสาธารณชน การกระทำของจำเลยย่อมทำให้ผู้ร่วมใช้เส้นทางสัญจรไปมาต้องเสี่ยงต่ออันตรายที่เกิดจากสภาพของยานพาหนะที่บรรทุกน้ำหนักเป็นจำนวนมากจนเกินกว่าที่ผู้ขับจะควบคุมให้แล่นไปได้อย่างปลอดภัยพฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยนับว่าร้ายแรง ที่จำเลยยกขึ้นอ้างฎีกาว่าจำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน มีภาระต้องรับผิดชอบต่อครอบครัวและจำต้องกระทำความผิดในคดีนี้เพราะไม่อาจหลีกเลี่ยงหรือขัดคำสั่งของนายจ้าง ก็เป็นเพียงเหตุผลและความจำเป็นส่วนตัวของจำเลยเท่านั้น บุคคลทั่ว ๆ ไปในสถานะเช่นเดียวกับจำเลยก็มีภาระที่ไม่แตกต่างไปจากจำเลย จำเลยไม่อาจอ้างภาระความจำเป็นส่วนตัวเพื่อก่อภาระให้แก่สังคมโดยรวมได้ เหตุดังกล่าวไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นลงโทษจำคุก โดยไม่ลงโทษปรับและไม่คุมความประพฤติ และให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทนตาม ป.อ. มาตรา 23 นั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2826/2553
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดยอมความได้และการกำหนดโทษในคดีค้ามนุษย์ ศาลฎีกาย้อนสำนวนเพื่อกำหนดโทษตามกฎหมายที่ยังไม่ระงับ
เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 283 ทวิ วรรคแรก และ พ.ร.บ.มาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ.2540 อันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีระวางโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 283 ทวิ วรรคแรก แต่ปรากฏว่าระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาผู้เสียหายทั้งสามต่างยื่นคำร้องว่า แต่ละคนได้รับค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 จนเป็นที่พอใจแล้วจึงไม่ประสงค์จะว่ากล่าวเอาความแก่จำเลยที่ 1 อีกต่อไปซึ่งตาม ป.อ. มาตรา 283 ทวิ วรรคท้าย บัญญัติว่า "ความผิดตามวรรคแรกฯ เฉพาะกรณีที่กระทำแก่บุคคลอายุเกินสิบห้าปีเป็นความผิดอันยอมความได้" เมื่อผู้เสียหายทั้งสามซึ่งต่างก็มีอายุเกินสิบห้าปีแล้วทั้งสิ้น จึงเท่ากับยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายในระหว่างฎีกา สิทธิของโจทก์ในการนำความผิดฐานนี้มาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ.2540 มาตรา 5 และ 7 วรรคหนึ่ง ซึ่งมิใช่ความผิดอันยอมความได้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นโดยศาลล่างทั้งสองต่างมิได้กำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยที่ 1 ไว้ คดีของจำเลยที่ 1 จึงอาจต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นกำหนดโทษในความผิดดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8566/2552
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การกำหนดโทษใหม่ตามกฎหมายยาเสพติดที่แก้ไขใหม่ ศาลต้องใช้บทกฎหมายเดิมที่ให้คุณแก่จำเลย
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้กำหนดโทษจำเลยที่ 2 ใหม่ ตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังในส่วนที่เป็นคุณ โดยโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 และมาตรา 66 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะจำเลยที่ 2 กระทำความผิด ปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในขณะจำเลยที่ 2 กระทำความผิด ซึ่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ที่แก้ไขใหม่ บัญญัติว่า "แอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีน มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ 375 มิลลิกรัม ขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวน 15 หน่วยการใช้ขึ้นไป หรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่ 1.5 กรัม ขึ้นไป ให้ถือว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แตกต่างจากกฎหมายเดิมในมาตรา 15 วรรคสอง ที่กำหนดเฉพาะปริมาณที่คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ 20 กรัม ขึ้นไปเท่านั้น โดยไม่คำนึงว่าจะมีจำนวนหน่วยการใช้หรือน้ำหนักสุทธิมากน้อยเพียงใด ดังนั้น เงื่อนไขที่เป็นองค์ประกอบความผิดดังกล่าวตามกฎหมายเดิมเป็นคุณมากกว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ จึงต้องใช้กฎหมายเดิมในส่วนที่เป็นบทความผิดบังคับแก่จำเลยที่ 2 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน จำนวน 5,290 เม็ด น้ำหนัก 459.520 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 66.355 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เมทแอมเฟตามีนของกลางที่จำเลยที่ 2 มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจึงคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เกินกว่า 20 กรัม ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยที่ 2 มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามมาตรา 15 วรรคสอง เดิม ซึ่งความผิดดังกล่าวต้องด้วยบทกำหนดโทษใน มาตรา 66 วรรคสาม ที่แก้ไขใหม่ ซึ่งบัญญัติว่า "ถ้ายาเสพติดให้โทษตามวรรคหนึ่งมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินยี่สิบกรัมขึ้นไปต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต" มิใช่ตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ ดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา เมื่อมาตรา 66 วรรคหนึ่ง เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะจำเลยที่ 2 กระทำความผิด บัญญัติว่า "ผู้ใดจำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่เกินหนึ่งร้อยกรัม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงห้าแสนบาท" โทษตามกฎหมายเดิมจึงเป็นคุณมากกว่าโทษตามมาตรา 66 วรรคสาม ที่แก้ไขใหม่ กรณีตามคำร้องของจำเลยที่ 2 ไม่ต้องด้วย ป.อ. มาตรา 3 (1) ที่ศาลจะกำหนดโทษใหม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6318/2552
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การกำหนดโทษความผิดต่อเด็ก: พิจารณาบทหนักสุดและผลการยอมความของผู้เสียหาย
จำเลยกระทำความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร และฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวง ทั้งสามฐานความผิดเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวง อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้คู่ความจะมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้เสียหายทั้งสองไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไปทั้งทางแพ่งและทางอาญา ถือเป็นการยอมความกันตามกฎหมาย เมื่อความผิดฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวงเป็นความผิดอันยอมความได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในฐานดังกล่าวจึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้เสียหายทั้งสองไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไปทั้งทางแพ่งและทางอาญา ถือเป็นการยอมความกันตามกฎหมาย เมื่อความผิดฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวงเป็นความผิดอันยอมความได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในฐานดังกล่าวจึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5969/2550
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การแก้ไขกฎหมายยาเสพติดโทษหลังกระทำความผิดและการกำหนดโทษใหม่ในคดีที่ถึงที่สุดแล้ว
แม้เมทแอมเฟตามีนที่จำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 16.833 กรัม ซึ่งความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายในส่วนของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวต้องด้วยบทกำหนดโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่ ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงห้าล้านบาท อันเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 มากกว่ากฎหมายเดิม ส่วนการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 400 เม็ด นั้น ไม่ปรากฏว่ามีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เท่าใด กรณีต้องด้วยบทกำหนดโทษตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อันเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 มากกว่ากฎหมายเดิมเช่นกันก็ตาม แต่การจะนำโทษตามกฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิดมากำหนดโทษใหม่ในคดีที่ถึงที่สุดแล้วนั้น จะต้องปรากฏว่าโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 50 ปี และฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 10 ปี แล้วลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 25 ปี และ 5 ปี ตามลำดับ การกำหนดโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวจึงอยู่ในระวางโทษตามบทบัญญัติกฎหมายที่แก้ไขใหม่ จึงถือไม่ได้ว่าโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง กรณีไม่เข้าอยู่ในเกณฑ์ ป.อ. มาตรา 3 (1) ที่ศาลจะรื้อฟื้นกำหนดโทษใหม่ให้จำเลยที่ 1 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8387/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ดุลพินิจศาลสั่งสืบเสาะพินิจจำเลย: ศาลไม่จำเป็นต้องสั่งสืบเสาะหากมีข้อเท็จจริงเพียงพอในการกำหนดโทษ
ในคดีอาญาเมื่อศาลเห็นสมควรจะสั่งให้พนักงานคุมประพฤติทำการสืบเสาะและพินิจจำเลยหรือไม่ก็ได้ เป็นดุลพินิจของศาล เมื่อศาลเห็นว่ามีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยได้ จึงไม่จำต้องสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6724/2562
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การใช้ดุลพินิจเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังตาม ป.อ. มาตรา 23 ต้องกำหนดโทษให้เท่ากัน
ป.อ. มาตรา 23 บัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุก และในคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้นั้นได้รับโทษจำคุกมาก่อนหรือปรากฏว่าได้รับโทษจำคุกมาก่อน แต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ศาลจะพิพากษาให้ลงโทษกักขังไม่เกินสามเดือนแทนโทษจำคุกนั้นก็ได้" เห็นได้ว่าบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวให้อำนาจศาลในการที่จะใช้ดุลพินิจลงโทษกักขังแทนโทษจำคุกก็ได้ หากเข้าเงื่อนไขตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายดังกล่าว แต่โทษกักขังดังกล่าว เป็นการใช้โทษกักขังแทนโทษจำคุกในคดีที่ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน และที่กฎหมายบัญญัติให้กักขังไม่เกินสามเดือนแทนโทษจำคุกนั้น เพื่อให้การกำหนดโทษกักขังเป็นเช่นเดียวกับโทษจำคุกดังกล่าว ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ใช้ดุลพินิจเปลี่ยนโทษจำคุก 1 เดือน เป็นโทษกักขังแทน มีกำหนด 2 เดือน ซึ่งไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225