พบผลลัพธ์ทั้งหมด 79 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8640/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฎีกาไม่รับวินิจฉัย เหตุฎีกาไม่เป็นไปตามขั้นตอน พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด
คดีที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลกำหนดโทษใหม่ ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (ที่แก้ไขใหม่) โดยอ้าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาตรา 3 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่ามาตรา 15 วรรคสาม (เดิม) คำร้องของจำเลยจึงเป็นผลสืบเนื่องมาจากคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และคดีถึงที่สุดก่อนที่จะมีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ดังนี้ คดีของจำเลยจึงเป็นคดีเกี่ยวกับยาเสพติด อันอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ด้วย ซึ่งมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า "...คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เฉพาะการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้เป็นที่สุด" และมาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แล้ว คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้" ดังนี้ เมื่อจำเลยยื่นฎีกาโดยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8636/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การปรับบทลงโทษในคดียาเสพติด ศาลอุทธรณ์กำหนดโทษได้แต่ต้องไม่เกินโทษเดิม
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 62 วรรคหนึ่ง, 106 ทวิ วรรคหนึ่ง ลงโทษจำเลยทั้งสองก่อนเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 จำคุกคนละ 5 ปี ซึ่งเป็นโทษขั้นต่ำของมาตรา 106 ทวิ วรรคหนึ่ง ที่มีระวางโทษตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท เมื่อศาลอุทธรณ์ปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มาตรา 88 วรรคหนึ่ง ที่มีระวางโทษตามมาตรา 140 วรรคหนึ่ง จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โทษที่ศาลอุทธรณ์จะกำหนดได้ คือ จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 140 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลอุทธรณ์โดยแท้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่สูงกว่าโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดโทษจำเลยทั้งสองจำคุกคนละ 5 ปี ซึ่งไม่เกินกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรา 140 วรรคหนึ่ง และไม่สูงกว่าโทษตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่กำหนดโทษจำเลยทั้งสองจำคุกคนละ 5 ปี เช่นนี้ จึงไม่ได้ผิดหลงในการกำหนดโทษ กรณีจึงไม่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสองโดยมิชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6045/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การริบทรัพย์สินคดียาเสพติดหลังจำเลยเสียชีวิต ศาลมีอำนาจพิจารณาได้หากทรัพย์สินเกี่ยวเนื่องกับการกระทำผิด
การที่จำเลยถึงแก่ความตายในระหว่างที่โจทก์ขออนุญาตฎีกา เป็นกรณีที่ไม่อาจดำเนินคดีต่อไปได้เพราะเหตุจำเลยถึงแก่ความตาย ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 32 วรรคสอง การยึดทรัพย์สินของจำเลยจึงยังไม่สิ้นสุด เมื่อผู้คัดค้านซึ่งเป็นทายาทของจำเลยได้ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้องเข้ามาในคดีนี้ และศาลชั้นต้นไต่สวนจนสิ้นกระแสความทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยในประเด็นว่า ทรัพย์สินที่ยึดไว้ในคดีนี้เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือไม่แล้ว ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ต่อไป
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 13/2561)
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 13/2561)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4796/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การริบของกลางในคดียาเสพติด: ต้องพิสูจน์ว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด หากพิสูจน์ไม่ได้ต้องคืนเจ้าของ
เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้เป็นจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 233/2554 ของศาลชั้นต้น แต่ น. ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าวให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้แยกฟ้องจำเลยที่ 2 และพิพากษาลงโทษ น. ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่อง และรถจักรยานยนต์ของกลาง ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีนี้ คดีนี้จึงเป็นคดีเดียวกันกับคดีดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ติดต่อ น. ในเรื่องซื้อขายเมทแอมเฟตามีนและให้ น. นำรถจักรยานยนต์ไปติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีน โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยและรถจักรยานยนต์ของกลางจึงมิใช่ทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิด ไม่อาจริบได้ แม้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ริบทรัพย์ดังกล่าวตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 233/2554 แต่เมื่อฟังไม่ได้ว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิด จึงไม่อาจริบได้ จะต้องคืนแก่เจ้าของ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 และมีอำนาจสั่งคืนแก่เจ้าของได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 49 ประกอบมาตรา 186 (9), 215 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 432/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจศาลอุทธรณ์ภาคพิจารณาคดียาเสพติด: การพิจารณาไม่ชอบตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด
คดีที่ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาด โดยเป็นผลสืบเนื่องมาจากเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินซึ่งเป็นหลักประกันขายทอดตลาด เพื่อบังคับชำระค่าปรับเนื่องจากผู้ประกันผิดสัญญาประกันไม่ส่งตัวจำเลยต่อศาลตามนัดในคดีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้น เป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ซึ่งมาตรา 15 บัญญัติให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดไปยังศาลอุทธรณ์ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นรีบส่งอุทธรณ์พร้อมสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยเร็ว โดยมาตรา 5 บัญญัติว่า "ศาลอุทธรณ์" หมายความว่า ศาลอุทธรณ์ซึ่งมิใช่ศาลอุทธรณ์ภาค ดังนั้น เมื่อผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น จึงเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ที่จะพิจารณาพิพากษาคดี การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิจารณาพิพากษาคดีนี้จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3276/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การรับฟังพยานหลักฐานในคดียาเสพติด: ดุลพินิจศาล, การไม่ยื่นบัญชีรายชื่อพยาน, และการสืบพยานนอกกรอบ
ในวันตรวจพยานหลักฐาน โจทก์ปฏิเสธการตรวจพยานหลักฐาน แล้วศาลมีคำสั่งให้นัดสืบพยานโจทก์และจำเลยต่อไป เท่ากับศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นอันเนื่องจากสภาพและความจำเป็นแห่งพยานหลักฐานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173/2 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 และเป็นการยกเลิกไม่กำหนดให้มีวันตรวจพยานหลักฐาน
กรณีที่ศาลไม่กำหนดให้มีวันตรวจพยานหลักฐาน จึงอยู่ในบังคับ ป.วิ.อ. มาตรา 240 วรรคหนึ่ง ซึ่งกำหนดให้คู่ความที่ประสงค์จะอ้างเอกสารที่อยู่ในความครอบครองของตน ต้องยื่นพยานเอกสารนั้นต่อศาลก่อนวันนัดสืบพยานไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน เพื่อให้คู่ความอีกฝ่ายตรวจและขอคัดสำเนาได้ก่อนที่จะนำสืบพยานเอกสารนั้น
กรณีที่ศาลไม่กำหนดให้มีวันตรวจพยานหลักฐาน จึงอยู่ในบังคับ ป.วิ.อ. มาตรา 240 วรรคหนึ่ง ซึ่งกำหนดให้คู่ความที่ประสงค์จะอ้างเอกสารที่อยู่ในความครอบครองของตน ต้องยื่นพยานเอกสารนั้นต่อศาลก่อนวันนัดสืบพยานไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน เพื่อให้คู่ความอีกฝ่ายตรวจและขอคัดสำเนาได้ก่อนที่จะนำสืบพยานเอกสารนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 140/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฎีกาไม่รับวินิจฉัยเนื่องจากจำเลยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการยื่นฎีกาตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด
แม้คดีนี้จะเป็นคดีที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลกำหนดโทษให้ใหม่ ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (ที่แก้ไขใหม่) โดยอ้าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาตรา 3 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 มากกว่ามาตรา 15 วรรคสาม (เดิม) ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) ก็ตาม แต่คำร้องของจำเลยที่ 2 ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ดังนี้ คดีของจำเลยที่ 2 จึงเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อันอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ด้วย ซึ่งมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวบัญญัติว่า "ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยมิชักช้าและภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 16 และมาตรา 19 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เฉพาะการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้เป็นที่สุด" และมาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แล้ว คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้" ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 2 ฎีกาโดยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาจำเลยที่ 2 จึงเป็นการไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8479/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การพิจารณาข้อมูลจากผู้ต้องหาเพื่อขยายผลจับกุม และการพิสูจน์ประโยชน์จากการให้ข้อมูลในคดียาเสพติด
การที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุม ช. ได้เนื่องจากเจ้าพนักงานตำรวจสืบสวนขยายผลจากการจับกุมจำเลยทั้งสอง โดยจัดกำลังเฝ้าสะกดรอยติดตาม น. ที่ใช้รถยนต์ หมายเลขทะเบียน บย 5560 เชียงราย จนมีการจับกุม ช. ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีน 50 เม็ด ในรถยนต์ดังกล่าว ซึ่งข้อความที่จำเลยทั้งสองให้ข้อมูลต่อเจ้าพนักงานตำรวจไม่สามารถเชื่อมโยงไปถึง ช. หรือ น. และไม่เป็นเหตุให้ทำการจับกุมตัว ช. ได้ โดยข้อมูลเกี่ยวกับ น. ได้ความจากพลตำรวจตรี ภ. เบิกความตอบโจทก์ว่า เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2555 พยานรับแจ้งจากผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดว่า จะมีกลุ่มคนชนเผ่าม้ง เป็นกลุ่มของ น. ลักลอบลำเลียงยาเสพติดไปส่งให้ลูกค้าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ แสดงว่าเจ้าพนักงานตำรวจมีข้อมูลอยู่ก่อนแล้วว่า น. มีพฤติการณ์ลักลอบลำเลียงยาเสพติด จึงจัดกำลังเฝ้าสะกดรอยติดตามจนสามารถจับกุม ช. ได้ ทั้งยังได้ความจากพลตำรวจตรี ภ. เบิกความตอบโจทก์อีกว่า เกี่ยวกับคดีนี้ไม่สามารถขยายผลจับกุมผู้กระทำความผิดคนอื่นในคดีนี้ได้อีก ฉะนั้นการที่พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความว่า จำเลยทั้งสองให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ จึงเป็นเพียงความเข้าใจของพยานโจทก์ทั้งสองเอง แต่ข้อเท็จจริงตามที่วินิจฉัยมายังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสองให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7404/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความน่าเชื่อถือพยานหลักฐานในคดียาเสพติด: จำเลยต้องได้รับการยกประโยชน์แห่งความสงสัยเมื่อพยานหลักฐานโจทก์มีข้อสงสัย
แม้ก่อนเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจได้รับแจ้งจากสายลับว่า จำเลยและ ส. มีพฤติกรรมลักลอบจำหน่ายยาเสพติดให้โทษให้แก่คนในหมู่บ้าน และได้วางแผนล่อซื้อให้สายลับเข้าไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนที่ศาลาที่พักที่เกิดเหตุ แต่เมื่อสายลับส่งสัญญาณให้เจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุมจำเลยกับพวก กลับพบโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลขที่สายลับโทรติดต่อขอซื้อเมทแอมเฟตามีน และธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อของกลางที่ ว. ภริยาของ ส. ไม่ได้พบที่จำเลย และสายลับติดต่อทางโทรศัพท์เคลื่อนที่กับ ส. ไม่ใช่ติดต่อกับจำเลยโดยตรง เจ้าพนักงานตำรวจทั้งสามปากเบิกความขัดแย้งกันเรื่องจำเลย หรือ ส. ผู้ใดเป็นคนส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับ ทั้งที่ต่างอ้างว่าซุ่มดูอยู่ห่างที่เกิดเหตุประมาณ 30 เมตร สามารถมองเห็นเหตุการณ์ได้ชัดเจนไม่มีกำแพงหรือสิ่งใดบดบัง คำเบิกความจึงไม่น่าเชื่อถือ โจทก์ไม่ได้นำสายลับมาเบิกความยืนยันว่าซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลย โจทก์ฎีกาว่าบันทึกคำให้การชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของ ว. ระบุสอดคล้องกันว่า จำเลยร่วมจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนด้วย แม้คำรับสารภาพชั้นจับกุม กฎหมายห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับกุม ไม่ได้ห้ามรับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ร่วมกระทำผิดคนอื่นก็ตาม แต่บันทึกคำให้การชั้นจับกุมก็ดี ชั้นสอบสวนก็ดี ล้วนเป็นพยานบอกเล่า ซึ่ง ว. เบิกความปฏิเสธว่า ลงชื่อในบันทึกการจับกุมโดยไม่ได้อ่าน ส่วนคำให้การชั้นสอบสวน ตนก็ไม่ได้ให้การเช่นนั้น จึงเป็นพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักน้อย เมื่อโจทก์ไม่มีพยานอื่นใดมานำสืบให้เห็นว่าจำเลยมีพฤติการณ์หรือร่วมรู้เห็นในการมีและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ประกอบกับจำเลยให้การปฏิเสธมาโดยตลอดพยานโจทก์เท่าที่นำสืบมามีข้อสงสัยตามสมควร ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 และ พ.ร.บ.เยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6521/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การริบรถยนต์ในคดียาเสพติด: ต้องพิเคราะห์ว่ารถยนต์ถูกใช้เป็นเครื่องมือหรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดหรือไม่
แม้คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ แต่โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับรถยนต์ของกลางว่า เป็นยานพาหนะที่จำเลยกับพวกใช้ขับมาร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อ โดยไม่ปรากฏว่ามีการใช้รถยนต์ของกลางซุกซ่อนเมทแอมเฟตามีนของกลางหรือมีการใช้รถยนต์ของกลางในการร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางอย่างไร จำเลยเพียงแต่ขับรถยนต์ของกลางมายังสถานที่เกิดเหตุเพื่อมารับเงินค่าเมทแอมเฟตามีนของกลางเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยนำรถยนต์ของกลางมาใช้เป็นยานพาหนะสำหรับการนำเมทแอมเฟตามีนของกลางมาส่งให้แก่สายลับดังกล่าว หรือจำเลยมีเจตนาที่จะใช้รถยนต์ของกลางเป็นประโยชน์ในการกระทำความผิดคดีนี้อย่างไร รถยนต์ของกลางจึงเป็นเพียงยานพาหนะที่จำเลยใช้ในการเดินทางมายังสถานที่เกิดเหตุมิใช่เครื่องมือ เครื่องใช้ ที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามที่โจทก์ฟ้องโดยตรง และไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาโดยได้กระทำความผิด จึงไม่อาจริบรถยนต์ของกลางตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 และ ป.อ. มาตรา 33 ทั้งรถยนต์ของกลางก็ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด อันจะต้องริบเสียทั้งสิ้นตาม ป.อ. มาตรา 32