คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ทรัพย์สินทางปัญญา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 89 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13158/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสมคบกันเพื่อครอบงำกิจการ และการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาจากการใช้ชื่อทางการค้า
โจทก์เป็นเจ้าของชื่อทางการค้าคำว่า "KLOSTER" และ "คลอสเตอร์" ซึ่งได้จดทะเบียนไว้ในประเทศไทย จำเลยมีสิทธิใช้ตราบเท่าที่บริษัท ท. ยังมีสิทธิผลิตเบียร์คลอสเตอร์ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ และเมื่อสัญญาดังกล่าวสิ้นสุดลงโดยการบอกเลิกสัญญาของโจทก์โดยชอบเนื่องจากบริษัท ท. มีหนี้สินจำนวนมากอยู่ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการ จำเลยจึงต้องระงับการใช้ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าคลอสเตอร์ของโจทก์ตั้งแต่วันถัดจากวันที่บอกเลิกสัญญา การที่จำเลยยังคงใช้ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์หลังการบอกเลิกสัญญาดังกล่าวจึงเป็นการกระทำละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ที่โจทก์มีหนังสือห้ามจำเลยใช้ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าคำว่า "คลอสเตอร์" โดยอ้างว่าจำเลยละเมิดสิทธิโจทก์จึงเป็นการกระทำโดยชอบ
การดำเนินการของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองเป็นการใช้ดุลพินิจบริหารจัดการบริษัทที่อยู่ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการไปตามขั้นตอนของกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ซึ่งคู่ความทุกฝ่ายมีโอกาสโต้แย้งคัดค้านในกระบวนการตามกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติดังกล่าว หมวด 3/1 กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ มาตรา 90/1 ถึง 90/90 ได้โดยชอบอยู่แล้ว จนคดีในส่วนที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการยุติไปแล้วตามคำสั่งฟื้นฟูกิจการของศาลล้มละลายกลาง ถือไม่ได้ว่าการกระทำของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองเป็นการกระทำเพื่อสมคบกันครอบงำกิจการของจำเลยโดยไม่สุจริต
ป.พ.พ. มาตรา 18 ให้สิทธิโจทก์ร้องขอต่อศาลให้สั่งห้ามจำเลยใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์เป็นของจำเลยเท่านั้น มิได้ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะบังคับให้จำเลยจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อจำเลยได้ คำขอบังคับของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นคำขอบังคับที่ไม่อาจทำได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12601/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ: การฟ้องผิดตัวจำเลยไม่ทำให้สิทธิเรียกร้องขาดอายุความ
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ศาลแพ่งโดยระบุชื่อจำเลยว่า "บริษัท ที.เอ็ม.ที.อินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์วิส จำกัด" เมื่อมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ยังศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางโดยระบุชื่อจำเลยว่า "บริษัทไทยมาสเตอร์ทรานสปอร์ตอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์วิส (ทีเอ็มที) จำกัด หรือ ที.เอ็ม.ที.อินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์วิส" แม้ทั้งสองบริษัทเป็นนิติบุคคลต่างกันแต่ชื่อใกล้เคียงกันมาก มีกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนคนเดียวกัน กรรมการคนอื่นก็มีนามสกุลเดียวกัน เชื่อว่าเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน และตามใบรับขนทางอากาศ ในส่วนที่เป็นตราประทับของบริษัท และในส่วนที่เป็นช่องลายมือชื่อผู้ส่งสินค้าหรือตัวแทนระบุชื่อไว้ชัดเจนว่า กับในช่องลายมือชื่อผู้ขนส่งหรือตัวแทนผู้ออกเอกสารก็มีตราประทับแสดงเครื่องหมายการค้าของบริษัทโดยมีคำว่า ขนาดใหญ่กว่าคำหรือข้อความอื่น เมื่อได้ความว่าโจทก์ประสงค์จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบุคคลที่รับจ้างขนส่งสินค้าและทำให้สินค้าเสียหาย ซึ่งก็คือบริษัทไทยมาสเตอร์ทรานสปอร์ตอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์วิส (ทีเอ็มที) จำกัด หรือชื่อทางการค้าว่า ที.เอ็ม.ที.อินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์วิส แต่เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งแล้ว ศาลแพ่งมีคำสั่งไม่รับฟ้องในอีก 7 วัน ต่อมาโดยเห็นว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลแพ่ง เป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีโอกาสขอแก้ไขคำฟ้องในข้อผิดพลาดผิดหลงเกี่ยวกับชื่อจำเลย จำเลยเองก็ไม่ได้ปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่าไม่ใช่บุคคลที่รับจ้างโจทก์ขนส่งสินค้าดังกล่าว แต่กลับระบุว่าความเสียหายของสินค้าดังกล่าวไม่ใช่ความผิดของจำเลย ทั้งยื่นคำร้องขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเรียกจำเลยร่วมทั้งสองเข้ามาในคดี เมื่อสำเนาใบรับสินค้าและใบรับขนทางอากาศเอกสารท้ายฟ้องในคดีที่ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งกับเอกสารท้ายฟ้องในคดีนี้ก็เป็นชุดเดียวกัน จึงฟังได้ว่าผู้โต้แย้งสิทธิที่แท้จริงต่อโจทก์ คือ จำเลยนั่นเอง ซึ่งโจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 55 และถือว่าโจทก์ได้เคยฟ้องจำเลยคดีนี้ต่อศาลแพ่งแล้ว สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องที่โจทก์มีต่อจำเลยยังไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9513/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ชื่อทางการค้าคล้ายกันจนสับสน และการละเมิดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา อายุความไม่ขาด
คดีนี้มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า จำเลยละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้าคำว่า สยาม เซพตี้ หรือ SIAM SAFETY ของโจทก์หรือไม่ ส่วนคดีหมายเลขแดงที่ ทป. 79/2547 มีประเด็นวินิจฉัยว่า จำเลยกับพวกละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ โดยผลิตและจำหน่ายลูกบอลดับเพลิงที่มีรูปทรง สัณฐาน ขนาดและสีอันเป็นการใช้การประดิษฐ์ที่โจทก์ยื่นขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาไว้ก่อนแล้วหรือไม่ และในคดีหมายเลขดำที่ ทป. 120/2548 มีข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์เป็นประเด็นให้ศาลวินิจฉัยว่า จำเลยผลิต ขาย และเสนอขาย ผลิตภัณฑ์ลูกบอลดับเพลิง โดยละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรเลขที่ 18966 ของโจทก์หรือไม่ เห็นได้ว่าประเด็นในคดีนี้กับคดีหมายเลขแดงที่ ทป. 79/2547 และคดีหมายเลขดำที่ ทป.120/2548 ข้างต้นมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยถึงการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์คนละสิทธิแตกต่างกัน มูลเหตุแห่งการละเมิดสิทธิอันเป็นการโต้แย้งสิทธิที่ก่อให้โจทก์มีอำนาจฟ้องย่อมแตกต่างกัน มิได้อาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ชอบที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องเป็นคนละคดีกันได้ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำและฟ้องซ้อนกับคดีทั้งสอง
ปัญหาว่า จำเลยละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้าของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า สิทธิในการใช้นามหรือชื่อของบุคคลนั้น แม้บุคคลอื่นอาจใช้ชื่อคล้ายกันได้ก็ตามแต่ก็ต้องไม่ทำให้ผู้ที่ใช้อยู่ก่อนต้องเสื่อมเสียประโยชน์โดยมิชอบโดยไม่ได้รับความยินยอม มิฉะนั้นย่อมเป็นการละเมิดต่อสิทธิในการใช้ชื่อได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 และ 420 หรือ 421 และกรณีผู้มีสิทธิในการใช้ชื่อทางการค้าก็มีลักษณะอันควรอนุโลมใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวเพื่อการรับรองและคุ้มครองสิทธิในชื่อทางการค้าด้วย คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความเป็นยุติว่า เมื่อปี 2542 โจทก์ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดโดยใช้ชื่อว่า บริษัทสยาม เซพตี้ พรีเมียร์ จำกัด ใช้เป็นภาษาอังกฤษว่า SIAM SAFETY PREMIER CO., LTD. และโจทก์ได้ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ดับเพลิงโดยเฉพาะลูกบอลดับเพลิง ซึ่งกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์เป็นผู้คิดประดิษฐ์ขึ้นและมีการดำเนินการขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ จนได้รับสิทธิบัตรโดยให้โจทก์เป็นผู้ทรงสิทธิบัตรทั้งในประเทศไทยและประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งโจทก์ได้ใช้ชื่อดังกล่าวประกอบกิจการดังกล่าวและนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งประกอบกับรูปประดิษฐ์เป็นเครื่องหมายบริการและเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนในราชอาณาจักรแล้ว ดังนี้จึงฟังได้ว่าชื่อดังกล่าวมีลักษณะเป็นชื่อทางการค้าของโจทก์ ส่วนจำเลยจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดในภายหลังเมื่อปี 2546 โดยใช้ชื่อว่า บริษัทสยาม เซฟตี้ เทคโนโลยี จำกัด หรือ SIAM SAFETY TECHNOLOGY CO., LTD. ซึ่งนอกจากจะคล้ายกับชื่อทางการค้าของโจทก์แล้วยังได้นำคำที่เป็นส่วนสำคัญในชื่อทางการค้าของโจทก์คือคำว่าสยามเซฟตี้ หรือ SIAM SAFETY มาใช้เป็นส่วนสำคัญในชื่อบริษัทจำเลย การใช้คำที่เป็นส่วนสำคัญของชื่อทางการค้าของโจทก์เช่นนี้อาจทำให้ผู้ที่จะซื้อสินค้าสับสนหลงผิดว่าเป็นบริษัทเดียวกันได้ โดยแม้ชื่อของโจทก์จะมีคำว่า "พรีเมียร์" ต่อท้ายคำดังกล่าวและชื่อของจำเลยจะมีคำว่า "เทคโนโลยี" ต่อท้ายคำดังกล่าวด้วยก็ตาม แต่ก็เป็นคำที่ไม่มีลักษณะเด่นที่มีความสำคัญสำหรับสังเกตจดจำได้ดังเช่นคำว่า สยาม เซพตี้ หรือแม้ผู้ซื้อจะสังเกตโดยละเอียดเห็นความแตกต่างดังกล่าวได้ก็อาจเข้าใจได้ว่าจำเลยเป็นบริษัทเครือเดียวกับโจทก์หรือมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน จึงถือได้ว่าจำเลยใช้คำว่า สยามเซพตี้ หรือ SIAM SAFETY ของโจทก์ และจำเลยยังใช้ชื่อเช่นนี้ในการประกอบกิจการค้าอย่างเดียวกับโจทก์ การกระทำของจำเลยเช่นนี้ย่อมเป็นการใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์ที่มีโอกาสทำให้โจทก์ต้องเสื่อมเสียประโยชน์ในการประกอบกิจการค้าของตนได้ และเมื่อปรากฏว่าจำเลยผลิตและจำหน่ายลูกบอลดับเพลิงเช่นเดียวกับโจทก์ ซึ่งโจทก์เป็นผู้ทรงสิทธิบัตรจนเกิดมีคดีพิพาทในเรื่องการละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์กันมาแล้ว หากปรากฏว่าทำให้เกิดผลเสียต่อการประกอบกิจการของโจทก์ก็ย่อมถือว่าการกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ต้องเสื่อมเสียประโยชน์
แม้จำเลยจะทำกล่องบรรจุสินค้าให้มีสีแตกต่างกับของโจทก์และมีการพิมพ์ชื่อบริษัทจำเลยรวมทั้งโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าและชื่อบริษัทจำเลยหรือสำนักงานของจำเลยอยู่ห่างจากโจทก์มากก็ตาม แต่ลักษณะการขายสินค้าของโจทก์และจำเลยเป็นไปในลักษณะกระจายการขายไปทั่วประเทศ เมื่อมีชื่อในส่วนสำคัญเหมือนกันก็ย่อมทำให้ผู้ซื้อสับสนหลงผิดได้อยู่นั่นเอง จากเหตุผลดังวินิจฉัยมาข้างต้นจึงเชื่อได้ว่า การที่จำเลยใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์ดังกล่าวในการประกอบกิจการของจำเลยเช่นนี้ทำให้โจทก์ต้องเสียหายเสื่อมเสียประโยชน์ในทางการค้าของโจทก์ อันเป็นการละเมิดต่อสิทธิในชื่อทางการค้าของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 ประกอบด้วยมาตรา 420 และ 421 โจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้ศาลบังคับห้ามจำเลยใช้ชื่อโดยละเมิดต่อโจทก์ และชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ได้
การที่จำเลยนำคำว่า สยาม เซพตี้ หรือ SIAM SAFETY อันเป็นชื่อทางการค้าของโจทก์มาใช้อันจะเป็นการละเมิดต่อโจทก์ก็ด้วยเหตุที่การใช้ชื่อนั้นทำให้โจทก์เสียหายเสื่อมเสียประโยชน์ซึ่งเมื่อจำเลยใช้ชื่อจนทำให้โจทก์เสียหายดังกล่าวซึ่งมีการใช้และการเสียหายเกิดขึ้นตลอดเวลาที่จำเลยใช้ชื่อทางการค้าดังนั้น ตราบที่จำเลยยังคงใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์อยู่จนถึงวันฟ้อง การกระทำของจำเลยย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ตลอดเวลาเรื่อยมา มิใช่เป็นการละเมิดครั้งเดียวในวันที่จำเลยใช้ชื่อนี้แต่อย่างใด สิทธิเรียกร้องของโจทก์ไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9345/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขาดนัดพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการไม่อนุญาตเลื่อนคดี ศาลชอบด้วยกฎหมาย
การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนัดสืบพยานโจทก์และจำเลย ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2552 เวลา 9 นาฬิกา ถึงเวลา 16.30 นาฬิกา มีความหมายว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะออกนั่งพิจารณาคดีนี้ตั้งแต่เวลา 9 นาฬิกา และพิจารณาคดีต่อเนื่องกันไปจนเสร็จการพิจารณา เมื่อคดีเสร็จการพิจารณาแล้วก็จะมีคำพิพากษาโดยเร็วต่อเนื่องกันไปเช่นกัน เมื่อจำเลยไม่มาศาลก่อนศาลเริ่มต้นสืบพยานโจทก์โดยจำเลยมิได้รับอนุญาตให้เลื่อนคดีจึงถือว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวจนเสร็จการพิจารณาและโจทก์ลงลายมือชื่อไว้ในบันทึกหน้าสำนวนแสดงว่าศาลได้อ่านคำพิพากษาให้โจทก์ฟังแล้ว ต่อมาเวลา 14 นาฬิกา ของวันเดียวกันทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีจึงเป็นการยื่นคำร้องหลังจากศาลมีคำวินิจฉัยชี้ขาดคดีอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 ประกอบ มาตรา 40 วรรคหนึ่ง แห่ง ป.วิ.พ. จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้เสนอคำขอเลื่อนคดีต่อศาลก่อนหรือในวันนัดพิจารณา ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องเพราะล่วงเลยเวลานั้นจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9137/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำพิพากษาฐานความผิดและโทษ, การลดโทษ, และการรอการลงโทษในคดีทรัพย์สินทางปัญญา, คนเข้าเมือง, และการทำงานของคนต่างด้าว
การที่จำเลยเป็นคนต่างชาติเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านตามช่องทาง อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 11 กับเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่มีหนังสือเดินทางและมิได้รับอนุญาตตามกฎหมายและเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านการตรวจของเจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมือง มิได้ยื่นรายการตามแบบที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 62 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 18 วรรคสอง และ 12 (1) เป็นความผิดในบทมาตราเดียว ทั้งเป็นการกระทำที่จำเลยประสงค์ที่จะเข้ามาในราชอาณาจักร จึงเป็นเจตนาเดียวกัน มิใช่การกระทำโดยเจตนาต่างกัน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
การที่จำเลยอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 81 เป็นการกระทำที่จำเลยประสงค์ที่จะอยู่ในราชอาณาจักร ซึ่งเป็นเจตนาอีกเจตนาหนึ่งไม่ใช่เจตนาเดียวกันกับเจตนาที่เข้ามาในราชอาณาจักร การอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตของจำเลยจึงไม่เป็นการกระทำกรรมเดียวกับการเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน
พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทลงโทษในความผิดฐานเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านช่องทางและเวลาตามกฎหมาย และฐานเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่มีหนังสือเดินทางและไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท ส่วนมาตรา 81 เป็นบทลงโทษในความผิดฐานอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 62 วรรคหนึ่ง จึงเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักกว่าและในการพิพากษาลงโทษตามมาตรา 62 วรรคหนึ่ง ศาลต้องกำหนดโทษจำคุกเสมอ การที่ศาลวินิจฉัยว่าบทกฎหมายทั้งสองมาตรามีอัตราโทษเท่ากันจึงให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 62 วรรคหนึ่ง ปรับเพียงสถานเดียวจึงเป็นการไม่ชอบ
คดีนี้จำเลยเพียงแต่ให้การรับสารภาพ แต่ไม่ได้รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ศาลลงโทษจำคุกในคดีก่อน และโจทก์ไม่ได้นำสืบในข้อนี้ และเมื่อในคดีนี้ศาลให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้ จึงไม่อาจนับโทษต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีก่อนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5450/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีสัญญาซื้อขายปิโตรเลียมและการสนับสนุนปรับปรุงสถานีบริการ ไม่อยู่ในอำนาจศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ
โจทก์เรียกค่าเสียหายและเบี้ยปรับจากการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาผู้แทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมกับโจทก์ และเรียกให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงินคืนเนื่องจากจำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดสัญญาให้การสนับสนุนการปรับปรุงรูปแบบสถานีบริการ โดยไม่ปรากฏว่ามีกรณีพิพาทเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ หรือสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ สัญญาแต่งตั้งผู้แทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อสัญญาให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์อยู่ในสัญญาดังกล่าว ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีข้อตกลงเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ตามสัญญายืมทรัพย์สิน อุปกรณ์การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสำหรับผู้แทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเอกสารท้ายอุทธรณ์นั้น ก็เป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์มิได้อ้างมาในฟ้อง เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย คดีนี้จึงมิใช่คดีเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าหรือสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าตามนัยมาตรา 7 (3) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5445/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีทรัพย์สินทางปัญญา: กฎหมายใหม่เป็นคุณแก่จำเลย แม้ฟ้องหลังยกเลิกกฎหมายเก่า ศาลต้องใช้กฎหมายใหม่บังคับ
จำเลยกระทำความผิดฐานเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการ มีดีวีดีและวีซีดีภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ที่ภาพและเสียงของเรื่องไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับความเห็นชอบจากเจ้าพนักงานไว้ในสถานประกอบกิจการ และฐานผู้ได้รับอนุญาตมีภาพยนตร์ที่ไม่ได้แสดงเครื่องหมายการอนุญาต ประเภทภาพยนตร์และหมายเลขรหัสไว้ในสถานประกอบการเพื่อจำหน่ายอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 35 (1) และมาตรา 36 เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2549 อันเป็นเวลาขณะที่ พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 ยังใช้บังคับ ซึ่งความผิดตามมาตรา 35 (1) มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดตามมาตรา 36 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (4) จำเลยถูกฟ้องเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 ซึ่งขณะนั้น พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ใช้บังคับแล้วโดยมีผลยกเลิก พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 และการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 78 และมาตรา 43 ประกอบมาตรา 80 ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่มีระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาทและระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท โดยไม่มีโทษจำคุก จึงมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) ดังนั้น กฎหมายใหม่จึงเป็นคุณแก่จำเลยต้องใช้ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาบังคับใช้แก่การกระทำความผิดของจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3 จึงต้องนำอายุความตามกฎหมายใหม่มาใช้บังคับแก่จำเลย เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4746/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับโทษจำคุกและผลของการรอการลงโทษ/กำหนดโทษต่อการล้างมลทินในคดีทรัพย์สินทางปัญญา
คดีอาญาที่ศาลเพียงแต่ลงโทษปรับและจำเลยได้ชำระค่าปรับแล้วคดีถึงที่สุด ถือว่า จำเลยเป็นผู้ต้องโทษและได้พ้นโทษไปแล้ว
คดีอาญาที่ศาลลงโทษจำคุกและปรับแต่โทษจำคุกให้รอการลงอาญากับอีกคดีที่ศาลรอการกำหนดโทษ กรณีของจำเลยดังกล่าวจึงมิใช่ผู้ต้องโทษตามความหมายของมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3424/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิพากษาลงโทษเกินกว่าที่โจทก์ขอในคดีทรัพย์สินทางปัญญา เป็นการละเมิดอำนาจศาลตามกฎหมาย
โจทย์ฟ้องว่า จำเลยได้ประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายแผ่นวีซีดีคาราโอเกะ อันเป็นวีดิทัศน์ และแผ่นวิดีโอซีดีภาพยนตร์อันเป็นภาพยนตร์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต เท่ากับโจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้ประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตข้อหาหนึ่ง และประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายภาพยนตร์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตอีกข้อหาหนึ่ง แต่มีคำขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ภาพยนต์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 54, 82 ซึ่งหมายถึงให้ลงโทษฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต แสดงว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายภาพยนตร์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตอันเป็นความผิดตามมาตรา 38 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 79 ด้วย การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 79 และมาตรา 54 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 82 และให้ลงโทษตามมาตรา 38 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 79 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักกว่านั้น จึงเป็นการพิพากษาลงโทษในข้อเท็จจริงที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษอันต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2071/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำในความผิดเดียวกันสิทธิระงับ, ริบของกลางตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา
ตามฟ้องของโจทก์ในคดีนี้และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2495/2551 หมายเลขแดงที่ อ.3571/2551 เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 เวลากลางวัน จำเลยเสนอ จำหน่าย และมีไว้เพื่อจำหน่ายสินค้าเสื้อยี่ห้อลาคอสท์ที่เป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมของผู้เสียหาย เหตุเกิดที่ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งทั้งสองคดีตามที่โจทก์ฟ้องเป็นการกระทำในเรื่องเดียวกัน เกิดขึ้นในเวลา สถานที่ และกระทำต่อผู้เสียหายรายเดียวกัน จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกัน เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2495/2551 หมายเลขแดงที่ อ.3571/2551 ก่อนคดีนี้แล้ว ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องที่ศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงระงับไป ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)
โจทก์ฟ้องขอให้ริบของกลางแต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับของกลางดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) แม้คู่ความมิได้อุทธรณ์ในปัญหานี้ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขได้เองตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง เมื่อสินค้าของกลางเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมของผู้อื่น จึงให้ริบตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 115
of 9