คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ผู้เช่าซื้อ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 72 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1002/2503

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์รถเช่าซื้อยังเป็นของผู้ให้เช่าซื้อ แม้ผู้เช่าซื้อนำไปใช้ในการกระทำผิด
จำเลยเช่าซื้อรถจักรยานมา ยังชำระราคาค่าเช่าซื้อยังไม่หมด จำเลยได้นำรถจักรยานนั้นไปออกรางวัลสลากกินรวบ โดยผู้ให้เช่าซื้อไม่ได้รู้เห็นด้วย ดังนี้ กรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยังเป็นของผู้ให้เช่าซื้ออยู่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 ผู้ให้เช่าซื้อย่อมมีสิทธิร้องขอรับรถจักรยานของกลางคืนไปได้
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการพนันและริบจักรยาน 2 ล้อ ของกลางที่จำเลยใช้ออกเป็นรางวัลสลากกินรวบคดีถึงที่สุด ศาลชั้นต้น
ก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า รถจักรยานของกลางไม่ใช่ของจำเลย หากเป็นรถของผู้ร้องได้ให้จำเลยเช่าซื้อมา จำเลยชำระราคายังไม่หมด การที่จำเลยเอารถจักรยานคันนี้ไปจัดให้มีการเล่นการพนันสลากกินรวบ ผู้ร้องมิได้รู้เห็น จึงขอให้ศาลสั่งคืนของกลางแก่ผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6850/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดเช่าซื้อกรณีรถยนต์เสียหายจากภัยธรรมชาติ ศาลพิจารณาความผิดของผู้เช่าซื้อและค่าเสียหายที่แท้จริง
สัญญาต่อท้ายสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 5 วรรคสอง กำหนดว่า ในกรณีรถยนต์เสียหายจนไม่สามารถซ่อมแซมได้ดีดังเดิมได้ให้ถือว่าสัญญานี้สิ้นสุดลง โดยหากไม่เป็นความผิดของผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับ หรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทวงถาม การติดตามรถ ค่าทนายความหรือค่าอื่นใด เพียงเท่าที่เจ้าของได้ใช้จ่ายไปจริงตามความจำเป็น และมีเหตุอันสมควร แต่หากเป็นความผิดของผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายเท่ากับจำนวนหนี้คงค้างชำระตามสัญญา สัญญาดังกล่าวได้แบ่งความรับผิดของผู้เช่าซื้อเป็นสองกรณีโดยพิจารณาจากความเสียหายของรถยนต์ที่เช่าซื้อว่าเกิดขึ้นจากความผิดของผู้เช่าซื้อหรือไม่ เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อได้รับความเสียหายจากการประสบภัยธรรมชาติ (สึนามิ) ซึ่งมิใช่เกิดขึ้นจากความผิดของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเท่ากับจำนวนหนี้คงค้างชำระหรือค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการที่โจทก์นำรถยนต์เช่าซื้อออกประมูลขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่เพียงพอชำระหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อตามฟ้องโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาต่อท้ายในกรณีที่รถยนต์เช่าซื้อเสียหายที่ไม่ใช่ความผิดของจำเลยที่ 1 คือค่าเสียหาย หรือเบี้ยปรับ หรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทวงถาม การติดตามรถ ค่าทนายความหรือค่าอื่นใด เพียงเท่าที่เจ้าของได้ใช้จ่ายไปจริงตามความจำเป็น และมีเหตุอันสมควร แต่เนื่องจากโจทก์มิได้นำสืบให้ได้ความว่าโจทก์เสียค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปหรือไม่ เพียงใด จึงไม่กำหนดให้ คงมีเพียงค่าเสียหายจากการที่ทรัพย์ที่เช่าซื้อเสียหายไป ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงเงินลงทุนของโจทก์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อพร้อมผลประโยชน์ที่โจทก์จะได้รับหากรถยนต์ที่เช่าซื้อไม่เสียหายกับจำนวนเงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระให้โจทก์และเงินที่โจทก์ได้รับจากการขายรถยนต์ที่เช่าซื้อแล้ว เห็นว่ามีจำนวนเพียงพอต่อความเสียหายที่โจทก์ได้รับจากการที่ทรัพย์ที่เช่าซื้อเสียหายเพราะเหตุประสบภัยธรรมชาติ (สึนามิ) แล้ว จึงไม่กำหนดให้อีก
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 1 ฎีกาเพียงผู้เดียว ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ที่มิได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8980/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้เช่าซื้อร้องทุกข์คดียักยอกรถ และอำนาจฟ้องของโจทก์ร่วม
แม้โจทก์ร่วมเป็นเพียงผู้เช่าซื้อรถ แต่ผู้เช่าซื้อย่อมมีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์จากรถที่เช่าซื้อและมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนแก่ผู้ให้เช่าซื้อหากมีกรณีต้องส่งคืน เมื่อมีผู้ยักยอกรถนั้นไป โจทก์ร่วมย่อมได้รับความเสียหาย โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์และขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้โดยไม่จำต้องได้รับมอบอำนาจจากผู้ให้เช่าซื้อ และการที่ผู้ให้เช่าซื้อมอบอำนาจให้โจทก์ร่วมไปร้องทุกข์ก็ถือได้ว่า โจทก์ร่วมร้องทุกข์ในฐานะที่ตนเป็นผู้เสียหายด้วย ดังนั้น ไม่ว่าผู้ลงชื่อในฐานะผู้ให้เช่าซื้อในหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์ร่วมไปร้องทุกข์จะเป็นผู้มีอำนาจลงชื่อหรือเป็นเจ้าของรถที่แท้จริงหรือไม่ และหนังสือมอบอำนาจมีข้อความถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ก็ไม่มีผลลบล้างการที่โจทก์ร่วมร้องทุกข์ในฐานะที่ตนเป็นผู้เสียหาย แม้โจทก์และโจทก์ร่วมมิได้นำบันทึกและหลักฐานการรับคำร้องทุกข์มานำสืบ แต่จำเลยก็เบิกความยอมรับว่าโจทก์ร่วมไปร้องทุกข์จริง กรณีจึงถือได้ว่า โจทก์ร่วมร้องทุกข์โดยชอบ พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจสอบสวน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6052/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยึดทรัพย์จากการฟอกเงิน: สัญญาเช่าซื้อยังไม่สิ้นสุด สิทธิยังเป็นของผู้เช่าซื้อเดิม
คดีนี้เป็นการยึดรถยนต์พิพาทเพราะนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายยาเสพติดมาชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์พิพาท มิใช่การนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปใช้เป็นพาหนะในการกระทำความผิด หรือใช้รถยนต์ในลักษณะที่ผิดกฎหมาย ผู้คัดค้านที่ 3 ผู้ให้เช่าซื้อจึงมิอาจอ้างว่าสัญญาเลิกกันตามสัญญาข้อ 6 ที่กำหนดให้สัญญาสิ้นสุดลงในกรณีนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปใช้เป็นพาหนะในการกระทำความผิดหรือใช้รถยนต์ในลักษณะที่ผิดกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5281/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อ: การยึดคืนรถที่ไม่ชอบ และสิทธิในการครอบครองใช้ประโยชน์ของผู้เช่าซื้อ
แม้ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 10 ระบุว่า "ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใดก็ดี ถือว่าสัญญาเลิกกันทันทีโดยเจ้าของไม่ต้องบอกกล่าวก่อน และผู้เช่าซื้อยอมให้เจ้าของริบบรรดาเงินค่าเช่าซื้อที่ได้ชำระแล้วทั้งหมดเป็นของเจ้าของโดยผู้เช่าซื้อไม่มีสิทธิเรียกร้องคืน และผู้เช่าซื้อยอมส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนแก่เจ้าของโดยพลันในสภาพที่ซ่อมแซมดีแล้วโดยเรียบร้อยโดยค่าใช้จ่ายของผู้เช่าซื้อเอง..." แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามเวลาที่ระบุไว้ในสัญญามาตั้งแต่ต้น แต่จำเลยที่ 1 ก็ยอมรับไว้ แสดงว่าจำเลยที่ 1 มิได้ยึดถือเอาสัญญาข้อ 10 ที่ว่าหากโจทก์ผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่งถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันที ดังนั้น หากจำเลยที่ 1 ประสงค์จะเลิกสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 1 ต้องบอกกล่าวไปยังโจทก์ก่อนโดยให้ระยะเวลาโจทก์พอสมควรในการชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 การที่ตัวแทนของจำเลยที่ 1 ยึดรถคืนจากโจทก์เนื่องจากโจทก์ค้างชำระค่าเช่าซื้องวดสุดท้ายโดยไม่มีการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อก่อนย่อมเป็นการไม่ชอบ และตามพฤติการณ์ที่โจทก์ยังคงใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องให้จำเลยทั้งสองคืนรถที่เช่าซื้อย่อมถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกสัญญากันโดยปริยาย สัญญาเช่าซื้อจึงยังไม่เลิกกัน โจทก์ผู้เช่าซื้อชอบที่จะครอบครองใช้ประโยชน์รถที่เช่าซื้อต่อไป จำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนโจทก์
สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่โจทก์มีสิทธิใช้ประโยชน์จากรถที่เช่าซื้อแต่ต้องชำระค่าเช่าซื้อเป็นการตอบแทน เมื่อโจทก์ใช้ประโยชน์โดยไม่ให้ผลตอบแทนแก่จำเลยที่ 1 ย่อมทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายเช่นกัน เป็นความเสียหายทั้งสองฝ่ายหาใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียหายแต่ฝ่ายเดียวไม่ แม้จำเลยที่ 1 ยึดรถคืนโดยที่สัญญายังไม่เลิกกันเป็นการไม่ชอบก็ตาม แต่โจทก์ก็เป็นฝ่ายผิดอยู่มากที่ค้างชำระค่าเช่าซื้อนับแต่วันที่ครบกำหนดตามสัญญาถึงวันที่ถูกยึดรถเป็นเวลา 2 ปี 2 เดือนเศษ อันเป็นเหตุให้จำเลยทั้งสองอาจเข้าใจผิดว่ามีสิทธิยึดรถที่เช่าซื้อคืน จึงเห็นควรให้ค่าเสียหายในส่วนนี้ของโจทก์เป็นพับ
เมื่อสัญญาเช่าซื้อยังไม่เลิกกันและจำเลยทั้งสองยึดรถที่เช่าซื้อคืนโดยไม่ชอบดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น โจทก์ชอบที่จะครอบครองใช้ประโยชน์รถต่อไป จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ส่งมอบรถคืนแก่โจทก์เพื่อปฏิบัติตามสัญญาต่อไป หากคืนรถไม่ได้ถือว่าเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้เพราะไม่มีวัตถุแห่งสัญญา สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยทั้งสองไม่ฎีกาโต้แย้งค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนด จึงต้องชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7892/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและการส่งมอบรถยนต์ ผู้เช่าซื้อต้องส่งมอบรถคืนโจทก์ด้วยตนเอง
จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 มอบรถยนต์ให้ ช. ใช้ประโยชน์ ช. ย่อมเป็นผู้ครอบครองรถยนต์แทนจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 1 จะบอกเลิกสัญญาโดยการส่งมอบรถยนต์คืน ย่อมเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จะต้องเป็นผู้ส่งมอบรถยนต์คืนแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 573
จำเลยทั้งสองให้การแต่เพียงว่า จำเลยทั้งสองบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่โจทก์แล้ว ข้อเท็จจริงตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองที่ว่ามีการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้จากจำเลยที่ 1 เป็น ช. หนี้ตามสัญญาเช่าซื้อจึงระงับ หรือมิฉะนั้นก็เป็นกรณีตัวการไม่เปิดเผยชื่อ เมื่อเปิดเผยชื่อตัวการโดยจำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์ทราบ ช. ตัวการต้องเข้ามาผูกพันรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3238/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อด้วยความสมัครใจของผู้เช่าซื้อ และผลต่อการรับผิดของผู้ค้ำประกัน
การที่จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์เพื่อขอโอนสิทธิการเช่าซื้อให้แก่ ท. และโจทก์ได้เรียกเก็บเงินค่าเปลี่ยนสัญญา ค่าเปลี่ยนชื่อในเล่มทะเบียนโดยใช้แบบพิมพ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าตรวจสภาพรถ ค่าปรับล่าช้าและสั่งจ่ายเช็ครวม 6 ฉบับ เพื่อชำระค่าเช่าซื้อล่วงหน้าและโจทก์ยึดรถจากผู้ครอบครองคือ ท. และเป็นการยึดรถที่จังหวัดยโสธรอันเป็นภูมิลำเนาของ ท. ซึ่งโจทก์รับในฎีกาว่ายึดรถยนต์ได้จาก ท. พฤติการณ์ดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ซึ่งเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่โจทก์แล้ว ดังนั้น ไม่ว่าการเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อจากจำเลยที่ 1 เป็น ท. นั้น โจทก์จะไม่อนุมัติในภายหลัง สัญญาเช่าซื้อก็เป็นอันเลิกกันแล้วนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์พิพาทคืนโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 573 ซึ่งเป็นบทบัญญัติให้สิทธิผู้เช่าซื้อเลิกสัญญา เมื่อสัญญาเลิกกันโดยจำเลยที่ 1 มิได้ประพฤติผิดสัญญาและไม่มีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 386/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องอาญา: ความเสียหายจากการยักยอกทรัพย์ของผู้เช่าซื้อ และอำนาจร้องทุกข์
แม้ บ. ผู้เช่าซื้อยังชำระราคาค่าเช่าซื้อไม่ครบถ้วน กรรมสิทธิ์ในรถยนต์บรรทุกดังกล่าวยังเป็นของ ว. ผู้ให้เช่าซื้อ แต่ บ. ก็มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์จากรถยนต์บรรทุกที่เช่าซื้อนั้นและมีหน้าที่ต้องส่งคืนรถยนต์บรรทุกที่เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อยแก่ ว. ผู้ให้เช่าซื้อหากมีกรณีต้องคืน เมื่อจำเลยทั้งสองยักยอกชิ้นส่วนอุปกรณ์ของรถยนต์บรรทุกดังกล่าวไปจาก บ. บ. ย่อมได้รับความเสียหายจึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองได้เช่นเดียวกับ ว. เจ้าของรถยนต์บรรทุกดังกล่าว คดีนี้เป็นความผิดอันยอมความได้ เมื่อ บ. รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2541 แต่มีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2542 ซึ่งเกินกว่าสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิด และรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8818/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ สิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญา ผู้ค้ำประกัน ความรับผิดชอบและขอบเขต
ที่โจทก์ขอดอกเบี้ยจากราคาใช้แทนในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า การที่ศาลวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถขุดที่เช่าซื้อคืน หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนนั้น เป็นกรณีที่หากจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถขุดดังกล่าวคืนแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เพื่อราคาวัตถุอันไม่อาจส่งมอบได้เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันเกิดขึ้นระหว่างผิดนัด โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในเงินจำนวนดังกล่าวได้ตั้งแต่เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกะประมาณราคานั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 225 แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกะประมาณราคาอันหมายถึงเวลาที่ไม่สามารถส่งมอบรถขุดที่เช่าซื้อเกิดขึ้นเมื่อใด จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยในราคาใช้แทนนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาอันเป็นวันที่ศาลกำหนดราคาใช้แทนให้ และราคาใช้แทนนี้เป็นหนี้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของราคาใช้แทน 400,000 บาท นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4499/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคืนทรัพย์สินที่ถูกริบ ผู้ให้เช่าซื้อต้องไม่รู้เห็นเป็นใจกับการกระทำผิดของผู้เช่าซื้อ
ตามที่ ป.อ. มาตรา 36 บัญญัติหลักเกณฑ์ให้ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สินที่ศาลสั่งริบให้แก่ผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริงที่มิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยนั้น หมายถึง นอกจากจะให้พิจารณาสั่งคืนทรัพย์สินให้แก่ผู้เป็นเจ้าของแท้จริงแล้ว ต้องพิจารณาว่าผู้ร้องผู้เป็นเจ้าของแท้จริงนั้นจะต้องมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยประกอบด้วย คดีนี้แม้ศาลชั้นต้นฟังว่า พยานหลักฐานที่ผู้ร้องไต่สวนมายังไม่พอฟังว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถบรรทุกพ่วงและตัวรถพ่วงของกลาง แล้วพิพากษายกคำร้อง โดยที่ยังไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่ ก็ด้วยเหตุว่าเมื่อผู้ร้องไม่ใช่เจ้าของแท้จริงแล้ว ก็ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.อ. มาตรา 36 ที่จะให้ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สินที่สั่งริบได้ ศาลชั้นต้นจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป และแม้ผู้ร้องจะอุทธรณ์เพียงประเด็นเดียวว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถบรรทุกพ่วงและตัวรถพ่วงของกลางก็ตาม แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถบรรทุกพ่วงและตัวรถพ่วงของกลาง ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ย่อมต้องวินิจฉัยในประเด็นต่อไปว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่ แล้วพิพากษาให้ยกคำร้องหรือสั่งคืนของกลางให้เจ้าของตามสิทธิที่เป็นเจ้าของได้ ซึ่งปัญหาที่ว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่นั้น แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นอ้างสู่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 โดยตรงก็ตาม แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง
of 8