คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
รายได้

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 143 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2948/2536 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทด้านภาษีเงินได้นิติบุคคล: การคำนวณรายได้ รายจ่าย และดอกเบี้ยกู้
เงินส่วนที่นำเข้าฝากในบัญชีสมทบทุนนี้เป็นเงินที่หักจากเงินเดือนของพนักงานแต่ละคนซึ่งโจทก์ได้จ่ายให้พนักงานแล้ว เพียงแต่ให้สิทธิโจทก์หักเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามระเบียบที่กำหนดไว้ เพื่อประโยชน์แก่พนักงานเมื่อออกจากงานเท่านั้น ตามระเบียบของโจทก์ เมื่อพนักงานของโจทก์ออกจากงานก็มีสิทธิที่จะได้รับเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยจากบัญชีสมทบทุนทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆโจทก์เพียงแต่มีสิทธิยึดหน่วงไว้เพื่อชำระหนี้ที่พนักงานยังคงค้างชำระแก่ตนเท่านั้นแม้ในระหว่างที่ยังทำงานอยู่พนักงานไม่มีสิทธิถอนเงินดังกล่าว และอำนาจจัดการเงินกองทุนจะตกเป็นเด็ดขาดของผู้ควบคุม 3 คน โดยตำแหน่ง คือ กรรมการผู้จัดการ สมุห์บัญชี และผู้จัดการบุคคลของโจทก์ แต่ต้องเป็นการจัดการตามระเบียบที่กำหนดไว้ อันเป็นประโยชน์ในการสะสมทรัพย์ให้พนักงาน ผู้ควบคุมโดยตำแหน่งทั้ง 3 คนดังกล่าวแม้เป็นผู้บริหารระดับสูงของโจทก์ แต่ก็เป็นพนักงานของโจทก์และเป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วย การเป็นผู้ควบคุมของบุคคลทั้งสามมิให้ทำในนามโจทก์ แต่เป็นการทำแทนสมาชิกทุกคนรวมทั้งบริษัทโจทก์ด้วย เงินเดือนที่โจทก์จ่ายให้พนักงานแต่ละคนรวมทั้งเงินที่ถูกหักเข้ากองทุนในบัญชีสมทบทุนนี้เป็นรายจ่ายในหมวดเงินเดือนของโจทก์ซึ่งนำมาหักเพื่อการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ได้ โดยโจทก์ต้องหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินเดือนทั้งหมดของพนักงานไว้ตามมาตรา 50 แล้วนำส่ง ณ ที่ว่าการอำเภอตามมาตรา 52 จึงเป็นเงินที่จ่ายขาดจากโจทก์แล้ว เงินส่วนที่หักจากเงินเดือนนำเข้าฝากในบัญชีสมทบทุนนี้จึงเป็นเงินได้ของพนักงานนับแต่นั้น ดอกเบี้ยอันเกิดจากเงินฝากนี้จึงเป็นเงินได้ของพนักงาน หาใช่เงินได้ของโจทก์ไม่
การกำหนดราคาสินค้าคงเหลือในแต่ละปีของโจทก์ได้กระทำโดยประเมินราคาสินค้าให้เหมาะสมกับราคาตลาด คำนึงถึงประเภทของสินค้าอายุการใช้งาน เป็นสินค้าที่ลูกค้าส่งคืนเพราะชำรุดหรือไม่ ล้าสมัยหรือไม่ แล้วนำหลักเกณฑ์การตัดค่าเสื่อมราคาและการตัดบัญชี มาประกอบในการกำหนดราคา ซึ่งมีแนวปฏิบัติตามข้อ 7 เช่น สินค้าที่เสียง่าย หากคงเหลือถึง 18 เดือน จะตัดค่าเสื่อม-ราคาลงร้อยละ 50 หากคงเหลือถึง 2 ปี จะตัดออกจากบัญชีหมด จะเห็นได้ว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นการตัดค่าเสื่อมราคาสินค้าคงเหลือมิใช่เป็นการคำนวณราคาสินค้าคงเหลือตามราคาตลาดที่แท้จริงตาม ป.รัษฎากรมาตรา 65 ทวิ (6)
โจทก์มีรายจ่ายที่กำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริงและมีรายจ่ายซึ่งผู้จ่ายพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (9) (18)ในปี 2514 จำนวน 557,106.50 บาท ในปี 2515 จำนวน 1,256,529.49 บาทอันเป็นรายจ่ายที่ต้องห้ามมิให้นำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี จึงต้องนำมารวมคำนวณเป็นเงินได้ที่จะต้องเสียภาษี
โจทก์กู้เงินมาจากเจ้าหนี้หลายราย บางรายระบุอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7 ก็มี ร้อยละ 10.5 ก็มี ร้อยละ 11 ก็มี ไม่ระบุอัตราดอกเบี้ยก็มี มีแต่การระบุจำนวนดอกเบี้ยที่ต้องชำระตอนสิ้นปีเท่านั้น ซึ่งดอกเบี้ยที่ต้องชำระให้แก่เจ้าหนี้แต่ละรายมีจำนวนไม่เท่ากัน ส่วนเงินที่โจทก์ให้บริษัทในเครือกู้ มีการระบุวันเดือนปีที่ให้กู้ ยอดเงินที่ให้กู้ บางรายก็ระบุอัตราดอกเบี้ยว่า ร้อยละ 10 บ้างร้อยละ 10.5 บ้าง ร้อยละ 11 บ้าง ไม่ระบุอัตราดอกเบี้ยบ้าง แต่ไม่ปรากฏว่ามีเงินรายใดบ้างที่โจทก์กู้มาแล้วนำเงินดังกล่าวไปให้บริษัทในเครือกู้โดยไม่คิดดอกเบี้ยอันจะเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่ามิได้นำมาใช้ในกิจการของโจทก์โดยเฉพาะแม้โจทก์ซึ่งมีภาระพิสูจน์จะนำสืบไม่ได้ว่าเงินที่กู้มามิได้นำไปให้บริษัทในเครือกู้โดยไม่คิดดอกเบี้ย ต้องถือว่าเงินส่วนที่ให้บริษัทในเครือดังกล่าวกู้โดยไม่คิดดอกเบี้ยเป็นเงินที่โจทก์กู้มา ดอกเบี้ยที่โจทก์จ่ายไปในส่วนนี้จึงเป็นรายจ่าย ที่มิใช่เพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะก็ตาม แต่ดอกเบี้ยที่ได้จากบริษัทในเครือหรือที่อ้างว่าสมควรจะได้จากบริษัทในเครืออาจมีอัตรามากหรือน้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์กู้มา จำนวนดอกเบี้ยจึงไม่เท่ากันพอที่จะนำไปหักทดแทนกันได้ ข้อสำคัญก็คือยอดดอกเบี้ยที่โจทก์อ้างว่าลงบัญชีผิดพลาดดังกล่าวมิใช่ตัวเลขของรายจ่ายดอกเบี้ยที่โจทก์จ่ายไป หรือเท่ากับดอกเบี้ยที่โจทก์จ่ายไปสำหรับเงินต้นในจำนวนเดียวกันทั้งไม่มีกฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินที่จะนำไปหักทดแทนกันได้ รายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2514 จำนวน 1,801,323.35 บาท และปี 2515จำนวน 3,551,560.01 บาท ที่เจ้าพนักงานประเมินนำไปหักออกจากรายจ่ายค่าดอกเบี้ยเงินกู้ที่โจทก์จ่ายไปในปี 2514 และ 2515 จึงเป็นรายจ่ายที่ไม่ต้องห้ามตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (13)
เมื่อเจ้าพนักงานประเมินได้ตรวจสอบไต่สวนพยานหลักฐานตามที่โจทก์นำมอบให้ แล้วแจ้งประเมินภายในเวลาสองปีนับแต่วันที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 8 ใช้บังคับแล้ว จึงเป็นการประเมินที่ชอบ หากโจทก์มีข้อโต้แย้งในรายละเอียดเกี่ยวกับเอกสารอย่างไร ชอบที่โจทก์จะชี้แจงให้เจ้าพนักงานประเมินทราบหรืออุทธรณ์การประเมินไปยังคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ หรือนำสืบในชั้นศาลได้
การคำนวณราคาสินค้าคงเหลือโจทก์คำนวณโดยการกำหนดกฎเกณฑ์เอาเองตามหลักเกณฑ์การตัดค่าเสื่อมราคาและการตัดบัญชีอันมิใช่ราคาตลาด เพื่อให้ต่ำกว่าราคาทุน ทำให้มีรายรับน้อยลงและเสียภาษีเงินได้น้อยลงไปด้วยแสดงว่าโจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีในตัว ส่วนรายจ่ายต้องห้ามในแผนกท่องเที่ยว โจทก์ทำใบสำคัญการจ่ายขึ้นเองแล้วเอาอากรแสตมป์มาปิด โดยไม่มีรายละเอียดถึงเหตุที่ต้องจ่ายเงินว่าเป็นการจ่ายเพื่อกิจการอย่างไร ชื่อที่อยู่ของผู้รับเงินก็ไม่ชัดแจ้ง มีพฤติการณ์ว่าโจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษี คดีไม่มีเหตุสมควรงดหรือลดเงินเพิ่ม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1709/2536 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคำขอให้ล้มละลายจากหนี้สินจำนวนมากและความตั้งใจชำระหนี้
จำเลยเป็นหนี้โจทก์ 82,300 บาท และเป็นหนี้บุคคลอื่นอีกหลายรายรวมหนี้ทั้งหมดแล้วเป็นเงินประมาณ 1,400,000 บาท จำเลยรับราชการเป็นครูระดับ 6 มีรายได้เป็นเงินเดือน 11,230 บาท และมีรายได้จากการสอนพิเศษเดือนละ 4,000 บาท ทั้งมีรายได้จากค่าเช่าบ้านเดือนละ 1,500 บาท นับว่ารายได้ยังน้อยมากเมื่อเทียบกับหนี้สิน ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยได้แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีความตั้งใจจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์และเจ้าหนี้รายอื่นด้วยความสุจริตใจไม่มีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1708/2536 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประโยชน์จากการใช้รถยนต์ของบริษัทในการประกอบธุรกิจ ถือเป็นรายได้ที่ต้องนำมาคำนวณภาษี
โจทก์ประกอบการค้าประเภทการค้า 10 นายหน้าและตัวแทนตามบัญชีอัตราภาษีการค้า โดยรับฝากขายสินค้าผงชูรสและผงชูรสและผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้ต่าง ๆ จากการผลิตผงชูรสให้แก่บริษัท อ. โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นเงิน ซึ่งเรียกว่า"ค่าบริการดำเนินการจัดธุรกิจให้กับผู้อื่น" หรือคอนซายน์เมนท์พี (consignmentfee) เป็นรายเดือนตามอัตราแน่นอนที่กำหนดไว้ในสัญญา โดยไม่คำนึงถึงยอดขายสินค้าว่าจะเป็นจำนวนเท่าใด จึงเป็นกรณีพิเศษแตกต่างไปจากการเป็นตัวแทนนายหน้าตามธรรมดา และการที่โจทก์ รับสินค้าฝากขายดังกล่าวนี้โจทก์ได้รับเปอร์เซนต์ การขาย เป็นค่าตอบแทน แสดงว่า ตามปกติธรรมดาค่าตอบแทนย่อมคิดตามผลของงาน กล่าวคือ ค่าตอบแทนขึ้นอยู่กับปริมาณสินค้าที่จำหน่ายไป ถ้าจำหน่ายได้มากค่าตอบแทนย่อมสูงขึ้นแต่หากโจทก์จำหน่ายสินค้าที่รับฝากจากบริษัท อ. มาก ขึ้นไม่ว่าจำนวนเท่าใด โจทก์ก็จะไม่ได้ค่าตอบแทนมากขึ้นซึ่งเหตุที่มีการกำหนดค่าตอบแทนแน่นอนตายตัวก็เนื่องจากบริษัทอ. ได้มอบรถยนต์ของตนจำนวน 60-70 คันต่อเดือนให้โจทก์ใช้เป็นยานพาหนะในการจำหน่ายสินค้า โดย ไม่เสียค่าตอบแทนนั่นเอง อันเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า หากบริษัท อ. ไม่ได้ให้รถยนต์โจทก์ใช้โดยไม่เสียค่าตอบแทนแล้ว โจทก์จะต้องมีรายจ่ายเกี่ยวกับยานพาหนะในการประกอบกิจการ และ ย่อมเป็นการแน่นอนว่าการกำหนดค่าบริการ หรือค่าตอบแทนอันเป็นรายรับหรือเงินได้ของโจทก์ จะต้องสูงขึ้น เพราะต้องคิดคำนวณต้นทุนในเรื่องยานพาหนะ เพิ่มขึ้นและคงไม่กำหนดค่าตอบแทนเป็นจำนวนแน่นอนตายตัว เช่นนี้ ดังนั้นการที่บริษัท อ. ได้ให้โจทก์ใช้รถยนต์โดยไม่เสียค่าตอบแทนนั้น จึงเป็นส่วนหนึ่งของค่าตอบแทน หรือค่าบริการที่บริษัท อ. ให้แก่โจทก์นอกเหนือไปจากค่าตอบแทนที่กำหนดไว้เป็นตัวเงินตายตัวตามสัญญา ถือได้ว่าเป็นประโยชน์ที่โจทก์ได้รับซึ่งอาจคิดคำนวณได้ เป็นเงิน จึงเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากรมาตรา 39 และเป็นรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่โจทก์กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีซึ่งจะต้องนำมาคำนวณหากำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับภาษีการค้า แม้ผลประโยชน์เนื่องจากการประกอบการค้าที่เป็นรายรับจากการประกอบกิจการประเภทนายหน้าและตัวแทนหรือรับจัดธุรกิจให้ผู้อื่นตามบัญชีอัตราภาษีการค้า 10 คือ ค่าตอบแทนหรือค่าบริการก็ตาม ค่าตอบแทนหรือค่าบริการที่กำหนดเป็นตัวเงินนั้นเป็นประโยชน์โดยตรง แต่ก็เห็นได้ว่าหากโจทก์ในฐานะตัวแทนหรือนายหน้ารับจัดธุรกิจฝากขายสินค้าให้ตัวการไม่ได้รถยนต์ใช้โดยไม่เสียค่าตอบแทนจากตัวการแล้วค่าตอบแทนหรือค่าบริการจะต้องสูงขึ้นตามปริมาณสินค้าที่จำหน่ายได้ หรือสูงกว่ากรณีที่ได้รับรถยนต์ใช้โดยไม่เสียค่าตอบแทน ดั้งนั้น การที่โจทก์ได้ใช้รถยนต์โดยไม่เสียค่าตอบแทนทำให้ผลประโยชน์ค่าตอบแทนหรือค่าบริการที่กำหนดไว้เป็นตัวเงินต่ำลง แทนที่จะสูงขึ้นหากโจทก์ใช้รถยนต์ที่ตนเองหามา ประโยชน์จากการที่โจทก์ได้ใช้รถยนต์ โดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทนดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นประโยชน์ อันมีมูลค่าที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการประกอบการค้าถือได้ว่าเป็นรายรับตามมาตรา 79 ซึ่งจะเสียภาษีการค้าตามมาตรา 78 แห่งประมวลรัษฎากร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1697/2536 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดินต้องกำหนดราคาตามความเป็นธรรม โดยคำนึงถึงสภาพที่ดิน วัตถุประสงค์การเวนคืน และรายได้ที่คาดว่าจะได้รับ
พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลห้วยโป่งฯมาตรา 5 เน้นที่จะให้เกิดความเป็นธรรมเป็นสำคัญ เมื่อจำเลยได้รับทรัพย์สินของโจทก์ไปเท่าใดก็ควรจะต้องใช้เงินทดแทนให้โจทก์ตามราคาของทรัพย์สินนั้น ที่มาตรา 5 บัญญัติให้คำนึงถึงสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์มีผลเท่ากับให้มีการพิจารณาสภาพและที่ตั้งของที่ดินที่ถูกเวนคืนเป็นแปลง ๆ ไป ทั้งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยฯ จำเลยจัดตั้งขึ้นเพื่อแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจ จำเลยมีสิทธิให้เช่าให้เช่าซื้อและขายอสังหาริมทรัพย์ในนิคมของจำเลยได้พนักงานและลูกจ้างของจำเลยอาจได้รับโบนัสตามระเบียบที่ครม.กำหนด พระราชบัญญัติ เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวจึงบัญญัติให้การกำหนดราคาที่ดินต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ในการเวนคืนด้วย การที่จำเลยกำหนดราคาที่ดินที่ถูกเวนคืนจากราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประการเดียว จึงไม่ชอบ พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลห้วยโป่งฯมาตรา 9 วรรค 4 บัญญัติให้ผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ได้มีการจ่ายเงินหรือวางเงินค่าทดแทน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 9.5 ต่อปีคงที่จึงไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 876/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีอากร: การจำหน่ายหนี้สูญ, การรับรู้รายได้, ค่าใช้จ่ายที่ไม่สมควร, และการพิสูจน์หลักฐานการจ่ายเงิน
โจทก์ตีราคาสินค้าคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีโดยวิธีตัดราคาลงตามกฎเกณฑ์ของโจทก์ แต่สินค้าประเภท ชนิดคุณภาพและสภาพเดียวกันกับของโจทก์มิได้มีการซื้อขายกันในท้องตลาดตามราคาที่โจทก์ได้ตีไว้ หรือโจทก์ได้ขายสินค้าในวันตีราคาหรือหลังวันดังกล่าวไปตามราคาที่โจทก์ได้ตีไว้ ราคาสินค้าคงเหลือที่โจทก์ได้ตีไว้จึงถือไม่ได้ว่าเป็นราคาตลาด การที่โจทก์นำราคาดังกล่าวซึ่งต่ำกว่าราคาทุนมาเป็นราคาสินค้าคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีจึงไม่ชอบด้วยประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ(6)เป็นเหตุให้การคำนวณกำไรสุทธิของโจทก์แต่ละรอบระยะเวลาบัญชีคลาดเคลื่อนไป การที่เจ้าพนักงานประเมินปรับปรุงกำไรสุทธิและภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ใหม่ โดยคำนวณราคาสินค้าคงเหลือของโจทก์ในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีตามราคาทุนจึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์อ้างว่าโจทก์จ่ายค่านายหน้าตามเอกสารที่มีลายมือชื่อและที่อยู่ของนายหน้า แต่เมื่อเจ้าพนักงานประเมินไม่เชื่อถือเอกสารดังกล่าว ไม่ยอมให้โจทก์ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิโจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และต่อศาล แต่โจทก์มิได้นำนายหน้ามาให้การหรือเบิกความ และไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้จ่ายเงินด้วยเช็คระบุชื่อผู้รับเพื่อให้เป็นหลักฐานว่าโจทก์ได้จ่ายเงินให้แก่นายหน้าไปจริง ส่วนใหญ่ก็เป็นรายการขายสินค้าให้แก่ทางราชการซึ่งปกติไม่จำเป็นต้องมีค่านายหน้า ฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้จ่ายเงินค่านายหน้าให้แก่ผู้รับตามเอกสารที่โจทก์อ้างจึงเป็นกรณีที่โจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี(18) โจทก์จึงนำรายจ่ายดังกล่าวมาคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้ ใบเสร็จรับเงินค่าซื้อสินค้าที่ไม่ได้ระบุทะเบียนการค้าและสถานการค้าของผู้รับเงินไว้ และเลขบ้านที่ปรากฏในใบเสร็จรับเงินก็ไม่มีอยู่จริงบ้าง เป็นเลขบ้านในสลัมซึ่งมิได้ประกอบการค้าบ้างเป็นเลขบ้านที่บุคคลในบ้านมีชื่อไม่ตรงกับผู้รับเงินและประกอบการค้าต่างชนิดกับสินค้าตามใบเสร็จรับเงินบ้าง ทั้งโจทก์มิได้นำผู้ขายมายืนยันว่าได้ขายสินค้าและรับเงินจากโจทก์ตามใบเสร็จรับเงินที่โจทก์อ้าง ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้จ่ายเงินด้วยเช็คระบุชื่อผู้ขายทั้ง ๆ ที่สินค้าบางรายการมีราคาถึง 100,000 บาท พยานหลักฐานของโจทก์จึงไม่น่าเชื่อถือ ไม่พอที่จะฟังว่าโจทก์ได้จ่ายเงินให้แก่ผู้รับตามใบเสร็จรับเงินที่โจทก์อ้าง ถือได้ว่ารายจ่ายค่าซื้อสินค้าดังกล่าวเป็นรายจ่ายที่โจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ กรรมการบริษัทโจทก์ใช้ดุลพินิจในการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้หลังจากที่ให้พนักงานฝ่ายขายติดตามหาลูกหนี้และทวงถามหลายครั้ง และในรายที่จำนวนหนี้สูงก็ให้ทนายความมีหนังสือทวงถาม แต่ไม่ได้รับชำระ ถือได้ว่าโจทก์ได้ปฏิบัติการโดยสมควรเพื่อให้ได้รับชำระหนี้แล้ว จึงเป็นการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้โดยชอบด้วยประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ(9) ที่ใช้บังคับอยู่ในรอบระยะเวลาบัญชีพิพาท หาจำต้องฟ้องร้องบังคับจนถึงที่สุดก่อน เพราะกฎหมายบัญญัติให้ปฏิบัติการโดยสมควรเท่านั้น ดอกเบี้ยเงินกองทุนในส่วนที่เกิดจากเงินที่พนักงานโจทก์แต่ละคนจ่ายสะสมเข้ากองทุน ไม่ถือเป็นเงินได้ของโจทก์ที่จะต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เพราะเงินสะสมดังกล่าวฝากธนาคารในชื่อของพนักงานเป็นรายบุคคล มีกรรมการผู้จัดการสมุห์บัญชีและผู้จัดการงานบุคคลของโจทก์เป็นผู้ควบคุมในการถอนเงิน โจทก์หาได้ครอบครองตัวเงินไว้เองหรือมีสิทธิได้รับเงินไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 678/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แบ่งมรดกที่ดิน, โรงแรม, เงินฝาก, รายได้โรงแรม ระหว่างทายาทและอดีรภัสยา โดยคำนึงถึงสัดส่วนการเป็นเจ้าของและรายได้
ผู้ตายกับโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นภรรยาร่วมกันทำกิจการโรงแรมมีเจตนาเป็นเจ้าของร่วมกัน เงินที่ใช้เป็นทุนปลูกสร้างโรงแรมจะเกิดจากฝ่ายใดหามาไม่สำคัญ ต้องถือว่าโรงแรมเป็นทรัพย์สินร่วมกันระหว่างผู้ตายกับโจทก์ที่ 1 เมื่อผู้ตายยินยอมให้ใช้ที่ดินดังกล่าวปลูกสร้างโรงแรมเพื่อทำกิจการค้าร่วมกันกับโจทก์ที่ 1โรงแรมจึงไม่เป็นส่วนควบกับที่ดินเข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 109 จำเลยที่ 5 จดทะเบียนสมรสกับผู้ตาย แม้จำเลยที่ 5 จะเลิกร้างกับผู้ตายไปนานแล้ว แต่เมื่อไม่ได้จดทะเบียนหย่ากัน ทรัพย์ที่ผู้ตายได้มาระหว่างที่เป็นสามีภรรยากับจำเลยที่ 5 ย่อมเป็นสินสมรส เงินรายได้จากกิจการโรงแรมรวมทั้งร้านตัดผมที่ได้มาหลังจากที่ผู้ตายถึงแก่กรรมแล้ว มิใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตายเพราะมิใช่ทรัพย์ที่มีอยู่ก่อนหรือในขณะที่ผู้ตายถึงแก่กรรม แต่เป็นดอกผลของโรงแรมตกได้แก่ผู้ที่เป็นเจ้าของโรงแรมตามสัดส่วนแห่งความเป็นเจ้าของโรงแรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 111และมาตรา 1360 และเมื่อเงินดังกล่าวมิใช่มรดกของผู้ตาย แม้ทายาทคนหนึ่งปิดบังหรือยักย้ายเงินส่วนนี้ ทายาทคนนั้นก็ไม่ถูกกำจัดมิให้รับมรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2191/2535 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตั้งผู้จัดการทรัพย์สินเพื่อหารายได้ชำระหนี้ ต้องมีรายได้จากทรัพย์สินนั้นจริง
ที่ดินของจำเลยที่ถูกโจทก์นำยึดไม่มีรายได้ประจำปีอันเกิดจากที่ดินนั้นหรือมีการประกอบการอุตสาหกรรมหรือพาณิชยกรรมอยู่ในขณะที่ถูกยึด จำเลยจึงไม่อาจขอตั้งผู้จัดการทรัพย์สินแทนการสั่งขายทอดตลาดที่ดิน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 307 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2191/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีและการตั้งผู้จัดการทรัพย์สินตามมาตรา 307 ต้องมีรายได้จากทรัพย์สินนั้นจริง
แม้ในฎีกาจะระบุว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ยื่นฎีกา ซึ่งโจทก์แก้ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิฎีกาก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาว่าการโต้แย้งเป็นข้อพิพาทในคดีนี้ สืบเนื่องจากการยึดที่ดินของจำเลยที่ 2และจำเลยที่ 2 ได้คัดค้านมาโดยตลอด เนื้อหาในฎีกาก็เป็นการอ้างสิทธิของจำเลยที่ 2 ว่าศาลควรให้โอกาสแก่จำเลยดำเนินการจัดการทรัพย์สินที่ถูกยึด ใจความและเหตุผลน่าจะเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ทนายความที่ดำเนินกระบวนพิจารณาตั้งแต่ศาลชั้นต้นจนถึงชั้นฎีกาแทนจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ก็เป็นทนายความผู้เรียงฎีกาคนเดียวกัน การระบุชื่อของจำเลยที่ 1 ว่าเป็นผู้ฎีกาตามแบบพิมพ์ จึงเป็นข้อผิดหลง ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้วจำเลยที่ 2 เป็นผู้ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิฎีกาจึงเป็นอันตกไป การที่จะร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการอสังหาริมทรัพย์ในการประกอบกิจการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 307จะต้องเป็นกรณีที่ตัวอสังหาริมทรัพย์นั้นเองในปัจจุบันมีรายได้ประจำปีจากการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกสิกรรมของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพราะการนำยึดอสังหาริมทรัพย์ที่มีลักษณะดังนี้ออกขายทอดตลาดโดยตรง อาจนำความเสียหายมาสู่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือฝ่ายลูกหนี้ตามคำพิพากษาทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ โดยเฉพาะลูกหนี้ตามคำพิพากษาอาจสูญเสียทรัพย์สินที่เคยใช้ประกอบอาชีพและมีรายได้ที่ได้รับ โดยสม่ำเสมอเป็นประจำดังนั้น บทบัญญัติในวิธีการบังคับคดีจึงให้โอกาสแก่คู่ความที่จะเลือกใช้วิธีการบังคับคดีตามมาตรา 307 ซึ่งเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็อาจได้รับชำระหนี้ของตนได้เต็มตามจำนวนจนเป็นที่พอใจ เมื่อทรัพย์สินที่ถูกนำยึดไม่มีรายได้หรือมีการประกอบการอุตสาหกรรมหรือพาณิชยกรรมในขณะนั้นตามหลักเกณฑ์ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 307 ดังกล่าวข้างต้น จึงไม่อาจร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการอสังหาริมทรัพย์ในการประกอบกิจการได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1208/2535 เวอร์ชัน 4 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานดำรงชีพจากรายได้หญิงค้าประเวณี: ต้องพิสูจน์ปัจจัยดำรงชีพและอาศัยรายได้ทั้งหมด
ความผิดฐานดำรงชีพจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณีนั้นโจทก์จะต้องนำสืบให้ได้ความว่า จำเลยอายุกว่าสิบหกปี ดำรงชีพอยู่ได้ด้วยการอาศัยปัจจัยทั้งหมดหรือแม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณี หากขาดปัจจัยดังกล่าวแม้เพียงบางส่วนจะดำรงชีพอยู่ไม่ได้ หรือไม่มีปัจจัยอย่างอื่นอันพอเพียงสำหรับดำรงชีพ และปรากฏว่าจำเลยอยู่ร่วมกับหญิงซึ่งค้าประเวณีหรือสมาคมกับหญิงซึ่งค้าประเวณีคนเดียวหรือหลายคนเป็นอาจิณตามคำฟ้องของโจทก์ แต่เมื่อโจทก์นำสืบได้เพียงว่า จำเลยอายุกว่าสิบหกปีเป็นผู้จัดหาหญิงผู้ทำ-การค้าประเวณีเพื่อผู้อื่นเป็นปกติธุระ และได้รับเงินส่วนแบ่งจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณีเท่านั้น จึงลงโทษจำเลยในความผิดนี้ตามฟ้องไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1208/2535 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การดำรงชีพจากรายได้ค้าประเวณี: ต้องพิสูจน์การพึ่งพิงปัจจัยจากรายได้นั้นอย่างชัดเจน
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 286 จะต้องฟังได้ว่า จำเลยอายุกว่าสิบหกปี ดำรงชีพอยู่แม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณี หมายความว่าหากขาดปัจจัยแม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณี จำเลยจะดำรงชีพอยู่ไม่ได้ เมื่อกรณีได้ความแต่เพียงว่า จำเลยอายุกว่าสิบหกปีเป็นผู้จัดหาหญิงผู้ทำการค้าประเวณีเพื่อผู้อื่นเป็นปกติธุระและได้รับเงินส่วนแบ่งจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณี ดังนี้ ฟังไม่ได้ว่าจำเลยดำรงชีพอยู่แม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณี.
of 15