คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ลูกหนี้

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 829 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5844/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แผนฟื้นฟูกิจการ: ศาลยืนตามแผนเดิม แม้ผู้บริหารแผนเคยเป็นกรรมการบริษัทลูกหนี้
ในการพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ พระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/57 ระบุให้ศาลล้มละลายกลางพิจารณาข้อคัดค้านของเจ้าหนี้ด้วย แต่มิได้บังคับให้ต้องทำการไต่สวนคำร้องคัดค้านของเจ้าหนี้เสมอไป ย่อมอยู่ในดุลพินิจของศาลเป็นเรื่อง ๆ ไปฉะนั้น เมื่อศาลได้พิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ คำชี้แจงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และผู้ทำแผน รวมทั้งข้อคัดค้านของเจ้าหนี้ซึ่งมีข้อเท็จจริงและรายละเอียดชัดเจนเพียงพอแก่การพิจารณาแล้ว ศาลก็ชอบที่จะมีคำสั่งงดการไต่สวนได้
ลูกหนี้มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยเน้นการถือหุ้นในบริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อการจำหน่ายที่มีพื้นฐานในการประกอบธุรกิจที่ดีและให้ผลตอบแทนสูง โดยลูกหนี้เข้าถือหุ้นในบริษัทหลายรายซึ่งตามแผนฟื้นฟูกิจการแบ่งเจ้าหนี้ออกเป็น 4 กลุ่ม คือ เจ้าหนี้มีประกันรายใหญ่ เจ้าหนี้มีประกันรายย่อย เจ้าหนี้ไม่มีประกันในฐานะเจ้าหนี้ทางการเงินและเจ้าหนี้ไม่มีประกันในฐานะเจ้าหนี้เงินให้กู้ยืมซึ่งก็คือ ช. โดยแผนฟื้นฟูกิจการได้กำหนดวิธีการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทั้งสี่กลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้น แม้ ช. จะมีฐานะเป็นกรรมการลูกหนี้และมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ด้วยก็ตาม แต่ ช. ก็ไม่ได้รับผลประโยชน์พิเศษจากทรัพย์สินของลูกหนี้โดยตรงหรือโดยอ้อม นอกจากประโยชน์ที่เจ้าหนี้จะควรได้รับในฐานะเป็นเจ้าหนี้เช่นเดียวกับเจ้าหนี้อื่น ช. จึงชอบที่จะออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 34 วรรคสาม ประกอบมาตรา 90/2 วรรคสอง
การออกหุ้นกู้ไม่มีประกันของลูกหนี้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการเป็นการทำนิติกรรมกู้ยืมระยะยาวซึ่งมีหุ้นกู้เป็นตราสารที่ให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันว่าจะได้รับชำระเงินกู้คืนตามราคาเท่ากับมูลค่าที่ตราไว้เมื่อครบกำหนดอันเป็นการทำสัญญากู้ยืมใหม่เปลี่ยนแปลงมูลหนี้เดิมระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ แต่ก็ไม่ทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/60 วรรคสองส่วนหุ้นของบริษัทอื่นที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้ลูกหนี้โอนชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้นั้นหุ้นย่อมมีมูลค่าในการชำระหนี้ตามราคาที่ซื้อขายกันจริงในท้องตลาดหากหุ้นดังกล่าวมีราคา ณ วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการต่ำกว่าราคาที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการอันจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่ครบจำนวนตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ ผู้ค้ำประกันก็ยังคงผูกพันรับผิดชำระหนี้ส่วนที่ขาดไปนั้นแก่เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4851/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำนองหลังล้มละลาย: นิติกรรมเป็นโมฆะ เจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้โดยตรง
ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 24 และ 25 การที่บุคคลล้มละลายจำนองที่ดินของตนแก่ผู้รับจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ของผู้อื่นภายหลังที่ศาลได้พิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว เป็นการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้อันมีผลผูกพันในที่ดินที่จะต้องถูกบังคับคดีในที่สุดหากไม่ชำระหนี้ และฝ่าฝืนต่อกฎหมายเพราะไม่ได้กระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ นิติกรรมจำนองจึงตกเป็นโมฆะ มิใช่กรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องเข้าว่าคดีแพ่งอันเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลตามบทบัญญัติดังกล่าวด้วย แม้หากการกระทำของลูกหนี้จะเป็นการละเมิดต่อโจทก์และมีหนี้ที่จะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ แต่หนี้ดังกล่าวก็เกิดขึ้นภายหลังที่ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว โจทก์ไม่มีอาจนำมาขอยื่นรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 27,91 และ 94 โจทก์ชอบที่จะฟ้องลูกหนี้เป็นจำเลยโดยตรง โจทก์จะฟ้องเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นจำเลยแทนลูกหนี้หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 448/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบี้ยปรับและดอกเบี้ยต้องมีข้อตกลงชัดเจน, ดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยเป็นโมฆะ, สถานะลูกหนี้มีผลต่อการใช้เช็ค
การที่คู่สัญญาจะมีสิทธิคิดเบี้ยปรับจากคู่สัญญาฝ่ายที่ผิดสัญญาได้นั้น ต้องมีการตกลงไว้ในสัญญาโดยชัดแจ้งว่า มีเงื่อนไขในการกำหนดเบี้ยปรับกันอย่างไรผิดสัญญาข้อใดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 379 หาใช่เป็นการคิดเอาตามอำเภอใจแต่ฝ่ายเดียวไม่
จำเลยทั้งสองเป็นหนี้ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. แม้หนี้เดิมจะเป็นหนี้ค่าซื้อสินค้ามิใช่หนี้กู้ยืมก็ตาม แต่ก็เป็นหนี้เงินที่ต้องชำระต่อกันจึงต้องอยู่ภายใต้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7และมาตรา 224 ซึ่งคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดได้เพียงร้อยละ 7.5 ต่อปีและห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอีกด้วย การที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. คิดดอกเบี้ยจากจำเลยในต้นเงิน 2 ล้านบาทมาเป็นจำนวน 6 ล้านบาทเศษ ในเวลาประมาณ 2 ปี นับว่าเป็นจำนวนดอกเบี้ยสูงมากคิดแล้วเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละร้อยต่อปีทั้งการเปลี่ยนเช็คแต่ละฉบับโดยนำดอกเบี้ยมารวมเป็นต้นเงินตามเช็คฉบับใหม่มีลักษณะเป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยอันต้องห้ามตามกฎหมาย ประกอบกับตลอดเวลาที่ค้าขายติดต่อกัน จำเลยทั้งสองได้ออกเช็คให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. เพื่อชำระหนี้มีจำนวนประมาณ 30 ฉบับ และทุกฉบับขึ้นเงินไม่ได้ทั้งโจทก์ผู้รับโอนเช็คพิพาทจาก ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ยังรับว่าเช็คที่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. นำไปเปลี่ยนจากจำเลยทุกครั้งเป็นเช็คที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. นำไปแลกเงินสดจากโจทก์ และเมื่อถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์จะส่งเช็คฉบับนั้นนำไปขอเปลี่ยนเช็คฉบับใหม่จากจำเลยทุกคราวไป แสดงให้เห็นว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. และโจทก์ต่างรู้ถึงฐานะทางการเงินของจำเลยทั้งสองเป็นอย่างดีว่ามีความขัดสนรุนแรงเพียงใดดังนั้น การที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ให้จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาท4 ฉบับ แต่ละฉบับมีจำนวนเงินสูงลงวันที่ล่วงหน้าเป็นวันเดียวกันโดยให้เวลาเพียง 2 เดือนเศษ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.ย่อมทราบดีว่าขณะที่จำเลยทั้งสองสั่งจ่ายเช็คนั้น จำเลยไม่มีความสามารถที่จะชำระหนี้ตามเช็คได้ จำเลยทั้งสองอยู่ในภาวะที่ถูก ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. บีบบังคับให้ต้องสั่งจ่ายเช็คที่มีดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยรวมอยู่ด้วย การสั่งจ่ายเช็คของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ แม้ว่าโจทก์จะไม่ทราบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4356/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความมรดก: เจ้าหนี้ฟ้องหลัง 1 ปีจากรู้ถึงการเสียชีวิตของลูกหนี้ ย่อมถูกยกข้อต่อสู้ได้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม บัญญัติห้ามมิให้เจ้าหนี้ฟ้องร้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวหาได้กำหนดเงื่อนไขว่าหากยังไม่ได้มีการจัดการมรดกของลูกหนี้แล้วเจ้าหนี้จะมีสิทธิฟ้องร้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดกได้แม้พ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกแต่อย่างใดไม่ ดังนั้นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกผู้กู้จึงมีสิทธิยกอายุความหนึ่งปีขึ้นมาต่อสู้ได้ แม้ยังมิได้มีการจัดการมรดก
ความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม ตอนแรกที่บัญญัติว่าภายใต้บังคับแห่งมาตรา 193/27 นั้นหมายถึงความในมาตรา 1754วรรคสาม ไม่กระทบถึงสิทธิของเจ้าหนี้ในมาตรา 193/27 ซึ่งใช้สิทธิเจ้าหนี้มีประกันบังคับชำระหนี้ได้แม้หนี้นั้นจะขาดอายุความแล้วก็ตาม มิใช่ว่าความในมาตรา 1754 วรรคสามบังคับใช้เฉพาะเจ้าหนี้มีประกัน ไม่ใช้กับโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้สามัญ
การที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันเจ้ามรดกแม้จะยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ก็มิได้ทำให้กลายเป็นลูกหนี้ร่วมเต็มตัวอย่างลูกหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 291 แต่เป็นการยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามมาตรา 691 ซึ่งคงเสียสิทธิเพียงไม่อาจยกข้อต่อสู้ตามมาตรา 688,689 และ 690 ขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ดังนั้นจำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิตามมาตรา 694 ที่จะยกข้อต่อสู้ทั้งหลาย ซึ่งเจ้ามรดกผู้เป็นลูกหนี้มีต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้ได้ด้วย แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ได้เป็นทายาทของของเจ้ามรดกผู้เป็นลูกหนี้
ข้อตกลงในสัญญาค้ำประกันที่ระบุว่า ผู้กู้ไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้ผู้ให้กู้ตามสัญญา ผู้กู้ถึงแก่กรรมหรือหนี้ระงับด้วยเหตุหนึ่งเหตุใด ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดชำระหนี้แทนให้ทั้งสิ้น เพียงแต่กำหนดให้ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดแม้ผู้กู้ถึงแก่กรรมหรือหนี้ระงับไปแล้วหรือผู้กู้ไม่ชำระหนี้เท่านั้น แต่ไม่ได้กำหนดรวมไปถึงเรื่องการสละสิทธิยกอายุความขึ้นต่อสู้ไว้ด้วย ดังนั้นผู้ค้ำประกันจึงมีสิทธิยกอายุความมรดกขึ้นต่อสู้ได้เมื่อผู้กู้ถึงแก่กรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4047/2545 เวอร์ชัน 4 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การงดการพิจารณาคดีแพ่งเมื่อมีการฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เงินอันเกิดจากการผิดสัญญาจะซื้อขาย จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีไปฝ่ายเดียวแล้วพิพากษาให้จำเลยแพ้คดี จำเลยซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีจึงมีคำขอให้มีการพิจารณาใหม่ การที่จำเลยยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ถือได้ว่าเป็นการต่อสู้คดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ถูกโจทก์ฟ้องเป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยนั่นเอง เมื่อความปรากฏต่อศาลชั้นต้นในระหว่างการพิจารณาหลักประกันในการขอทุเลาการบังคับของจำเลยว่า จำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยและศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งรับคำร้องขอไว้เพื่อพิจารณาแล้วโดยไม่ปรากฏว่าศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น กรณีจึงต้องด้วย พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/12 (4) ซึ่งบัญญัติให้ศาลที่มีการฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยงดการพิจารณาไว้และย่อมหมายความรวมถึงการพิจารณาคดีในชั้นศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาด้วย ดังนั้น การพิจารณาหลักประกันของศาลชั้นต้นตามคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็ดี หรือการที่ศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็ดี ล้วนถือได้ว่าเป็นการพิจารณาคดีอย่างหนึ่งซึ่งต้องงดการพิจารณาไว้ตามบทกฎหมายดังกล่าวด้วยเช่นกัน การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการอ่านคำพิพากษาและศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไปนั้น จึงถือได้ว่าเป็นการพิจารณาที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ศาลฎีกาต้องเพิกถอนการพิจารณานั้นเสียทั้งหมด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3698/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยผิดสัญญา: การคิดดอกเบี้ยสูงสุดต้องเป็นไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและข้อตกลงในสัญญา
สัญญาทรัสต์รีซีทที่ระบุข้อตกลงว่า จำเลยที่ 1 จะชำระค่าสินค้าโดยคำนวณเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารโจทก์ต้องชำระค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 หรือตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ตกลงกันไว้ หรือในอัตราแลกเปลี่ยนของโจทก์ ณ วันครบกำหนดชำระเงินตามทรัสต์รีซีท หรือในอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่จำเลยที่ 1 ชำระเงินตามทรัสต์รีซีท โดยจำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์เป็นผู้เลือกที่จะใช้อัตราใดแล้วแต่จะเห็นสมควรเป็นข้อตกลงที่ไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนเมื่อโจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินโดยคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินชิลลิงออสเตรียเป็นเงินไทยในวันครบกำหนดชำระเงินตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงในสัญญา ศาลจึงไม่มีอำนาจบังคับโจทก์ให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินชิลลิงออสเตรียเป็นเงินไทยในวันอื่นที่โจทก์ไม่ได้เลือก จำเลยทั้งสี่จึงไม่อาจอ้างว่าโจทก์คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินชิลลิงออสเตรียเป็นเงินไทยโดยไม่เป็นธรรมได้
บทบัญญัติมาตรา 728 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มิได้บัญญัติว่าการบอกกล่าวบังคับจำนองต้องทำเป็นหนังสือกรณีจึงไม่ตกอยู่ในบังคับของมาตรา 798 วรรคหนึ่ง
โจทก์มอบให้ อ. พนักงานธนาคารโจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่ 1โดยไม่ได้ทำเป็นหนังสือ แต่เมื่อ อ. มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้รับแล้วไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์จึงนำคดีมาฟ้อง แสดงว่าโจทก์ยอมรับเอาการบอกกล่าวบังคับจำนองของ อ. ถือได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นตัวการได้ให้สัตยาบันแก่การกระทำของ อ. ซึ่งเป็นตัวแทนที่บอกกล่าวบังคับจำนอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 823 ดังนั้นเมื่อ อ. ซึ่งเป็นตัวแทนของโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่ 1 ผู้จำนอง ย่อมถือได้ว่าโจทก์มีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังผู้จำนองตามมาตรา 728 แล้ว
จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีททั้งสิบสองฉบับและไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์เลยนับแต่วันครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาฉบับสุดท้ายถึงวันที่โจทก์มีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองเกิน 1 ปี แล้ว และหลังจากโจทก์มีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองซึ่งจำเลยที่ 1 ได้รับเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2541 โจทก์ก็มิได้ดำเนินการฟ้องร้องจำเลยทั้งสี่ในทันทีเมื่อพ้นกำหนด 15 วัน ตามจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนอง แต่มาฟ้องเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2542 แสดงว่าโจทก์ไม่ได้ถือกำหนดเวลา 15 วัน ตามจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองเป็นสาระสำคัญ ถือไม่ได้ว่าจดหมายบอกกล่าวมิได้กำหนดเวลาให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรจึงเป็นการบอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
หนังสือสัญญาค้ำประกันซึ่งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะผู้ค้ำประกันระบุว่าเป็นการค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 อันเกิดจากนิติกรรมใด ๆ ที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำไว้แล้วในขณะทำสัญญาค้ำประกัน และหนี้เกิดจากนิติกรรมใด ๆ ต่อไป ในภายหน้าด้วย การฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้รับผิดตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารแสดง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 เมื่อโจทก์อ้างส่งหนังสือสัญญาค้ำประกันเป็นพยานเอกสาร การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อุทธรณ์ว่ามีข้อความเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มิได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ในอนาคตของจำเลยที่ 1 ศาลย่อมไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นแตกต่างจากข้อความในหนังสือสัญญาค้ำประกันได้
การที่ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์ซีท ซึ่งจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ ไม่มีกฎหมายกำหนดเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
คำแปลเอกสารที่เป็นภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยไม่ถือว่าเป็นเอกสารที่คู่ความอ้างส่งในคดี จึงไม่อยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการอ้างเอกสารเป็นพยาน และถือเป็นหน้าที่ของคู่ความทั้งสองฝ่ายที่จะต้องร่วมกันสื่อความหมายของข้อความนั้นให้ศาลได้เข้าใจได้ตรงหรือใกล้เคียงกับความหมายที่แท้จริงของข้อความภาษาต่างประเทศนั้นให้มากที่สุด ดังนั้นหากคำแปลเป็นภาษาไทยไม่ถูกต้อง คู่ความทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมขอแก้ไขเมื่อใดก็ได้ก่อนศาลมีคำพิพากษา
การคิดดอกเบี้ยจากต้นเงินที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระตามสัญญาทรัสต์รีซีท ต้องปฏิบัติตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศธนาคารโจทก์และตามสัญญาทรัสต์รีซีท เมื่อสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 7 ระบุให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในกรณีที่จำเลยที่ 1ผิดนัดได้ตามอัตราที่ระบุในสัญญาข้อ 4 และข้อความในสัญญาข้อ 4 ระบุถึงอัตราดอกเบี้ยในกรณีที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระภายในกำหนดเวลาตามสัญญาอันเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดนัดซึ่งแม้สัญญาข้อ 4 จะระบุให้ใช้อัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามประกาศธนาคารโจทก์ย่อมหมายถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์เรียกเก็บจากลูกค้าที่ไม่ผิดนัดเท่านั้น ดังนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 เพียงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ไม่ผิดนัดตามประกาศธนาคารโจทก์ ไม่ใช่อัตราสูงสุดในกรณีลูกค้าผิดเงื่อนไขหรือผิดสัญญา เพราะตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดข้อ 3(4) กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยในอัตราสำหรับลูกค้าปฏิบัติผิดเงื่อนไขได้เฉพาะกรณีที่ลูกค้าปฏิบัติผิดเงื่อนไขแล้วเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3436/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักหนี้จากบัญชีเงินฝาก: สิทธิของเจ้าหนี้ vs. หน้าที่ของลูกหนี้ในการรักษาผลประโยชน์ตนเอง
การที่จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์ ย่อมแสดงว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงให้มีการ ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 หักกลบลบกัน โดยมีการ หักทอนบัญชีกันอย่างต่อเนื่อง ปรากฏว่า หลังจากที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด บัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ยังคงมีการเดินสะพัดทางบัญชีอย่างต่อเนื่องโดยจำเลยที่ 1 ยังคงใช้เช็คฝากถอนเงินจากบัญชีตลอดมาอีกประมาณ 50 ครั้ง ข้อเท็จจริงไม่ปรากฎว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงกันให้นำหนี้อันเกิดจากสัญญาทรัสต์รีซีทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มาหักทอนบัญชีกันในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันด้วยแต่อย่างใด แม้ในสัญญาทรัสต์รีซีทที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับโจทก์จะมีข้อตกลงว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดนัด ยินยอมให้โจทก์หักจากบัญชีเงินฝากทุกประเภทของจำเลยที่ 1 ได้ทันที ก็เป็นการแสดงเจตนาให้สิทธิแก่โจทก์ แต่มิใช่ข้อตกลงที่กำหนดหน้าที่ให้โจทก์ต้องปฏิบัติ การที่จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์ก็เพื่อความสะดวกและความคล่องตัวในการประกอบกิจการค้าขายของจำเลยที่ 1 การที่โจทก์ มิได้หักเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีอยู่จำนวนหนึ่งมาชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทเสียในเวลาที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด หรือภายในระยะเวลาอันสมควร ย่อมเป็นผลดีแก่จำเลยที่ 1 ที่ยังมีเงินฝากในบัญชีให้เดินสะพัดต่อไป ทำให้เกิดสภาพคล่องและธุรกิจของจำเลยที่ 1 ไม่หยุดชะงักเพราะขาดเงินสดหมุนเวียน ซึ่งหากธุรกิจของ จำเลยที่ 1 ต้องหยุดชะงักก็จะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าการที่จำเลยที่ 1 ยังคงต้องเสียดอกเบี้ยตามสัญญาทรัสต์รีซีท อีกต่อไป การที่โจทก์มิได้หักเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันนั้น แม้จะเล็งเห็นได้ว่าโจทก์ย่อมได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่นานขึ้น แต่ก็เป็นลักษณะของผลประโยชน์โดยตรงจากการประกอบธุรกิจกิจการธนาคารพาณิชย์ตาม วัตถุประสงค์ของโจทก์อยู่แล้ว จำเลยที่ 1 เองก็มีหน้าที่ต้องดูแลรักษาผลประโยชน์ของตนเช่นกัน ย่อมต้องทราบ ว่าเงินฝากในบัญชีกระแสรายวันของตนมีอยู่เท่าใด และโจทก์ได้หักเงินฝากในบัญชีกระแสรายวันชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทแล้วหรือไม่ หากโจทก์ยังไม่ได้หักเงินจากบัญชีกระแสรายวันภายในระยะเวลาอันสมควรและเงินในบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ยังคงเป็นเจ้าหนี้โจทก์อยู่ จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิถอนเงินจากบัญชีนั้นมาชำระหนี้เพื่อไม่ต้องเสียดอกเบี้ยต่อไปได้ การที่จำเลยที่ 1 ยังเดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์โดยเบิกถอนเงินในบัญชีของตนเรื่อยมาและมิได้ดำเนินการอย่างใด ๆ เมื่อได้รับหนังสือของโจทก์ที่ทวงถามให้ชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ปล่อยปละละเลยไม่รักษาผลประโยชน์ของตนเอง กรณีจึงไม่อาจถือว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตที่ไม่หักเงินในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันมาชำระหนี้รายนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3403/2545 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคุ้มครองลูกหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการ และการพิจารณาคดีของผู้ค้ำประกันที่แยกต่างหาก
การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีเดียวกันภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาและยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 เมื่อมีแต่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ จำเลยที่ 1 จึงได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/12 (4) แต่ผู้เดียวโดยเป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยที่ 1 ทั้งโจทก์ก็สามารถแยกฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้อยู่แล้ว ดังนั้น แม้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จะถูกโจทก์ฟ้องให้รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันเป็นคดีเดียวกันกับคดีของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ก็ไม่อาจได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/12 (4) เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 ได้ เพราะจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มิได้มีฐานะเป็นผู้ร่วมร้องขอหรือเป็นลูกหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการดังกล่าวด้วย ดังนั้น จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่ได้รับประโยชน์จากการที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาและยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1
การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้กล่าวมาในคำร้องเป็นข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลชั้นต้นเลย คำร้องของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 208 วรรคท้าย ส่วนคำร้องของจำเลยที่ 4 มิได้แสดงรายละเอียดชัดแจ้งว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยที่ 4 แพ้คดีไม่ถูกต้องอย่างไรบ้าง ทั้งหาได้คัดค้านในเนื้อหาแห่งคำตัดสินของศาลชั้นต้นว่าไม่ถูกต้องอย่างไร หากมีการพิจารณาพิพากษาใหม่แล้วจำเลยที่ 4 จะชนะคดีอย่างไร จึงถือไม่ได้ว่าเป็นข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 208 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3403/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคุ้มครองลูกหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการจำกัดเฉพาะผู้ร่วมร้องขอหรือลูกหนี้เอง ผู้ค้ำประกันไม่ได้รับความคุ้มครอง
แม้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จะถูกโจทก์ฟ้องให้รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันเป็นคดีเดียวกันกับคดีของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการแต่ผู้เดียวจึงเป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่อาจได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/12(4) เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ได้อยู่ในฐานะเป็นผู้ร่วมร้องขอหรือลูกหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการดังกล่าวด้วย จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่ได้รับประโยชน์จากการที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาและยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต่อไปได้แม้จำเลยที่ 1 ศาลแพ่งจะมีคำสั่งอนุญาตให้ฟื้นฟูกิจการก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ก็ตาม
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้กล่าวในคำร้องขอให้พิจารณาใหม่เป็นข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลชั้นต้น คำร้องดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 วรรคท้าย ส่วนจำเลยที่ 4 ก็กล่าวมาในคำร้องว่าจำเลยที่ 4 ขอแสดงข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลชั้นต้นว่า หากจำเลยที่ 4 มีโอกาสต่อสู้คดีย่อมทำให้ผลคำตัดสินหรือคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไปซึ่งเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ หาได้คัดค้านในเนื้อหาแห่งคำตัดสินของศาลชั้นต้นว่าไม่ถูกต้องอย่างไร หากมีการพิจารณาพิพากษาใหม่แล้วจำเลยที่ 4 จะชนะคดีอย่างไรถือไม่ได้ว่าเป็นข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 วรรคท้าย คำร้องของจำเลยที่ 2ถึงที่ 4 จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3403/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคุ้มครองลูกหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการ และอำนาจศาลในการพิจารณาคดีของผู้ค้ำประกันร่วม
โจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลชั้นต้นขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าเช่าให้โจทก์ปรากฏว่าบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลแพ่ง จำเลยที่ 1 ย่อมได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/12(4) แต่ผู้เดียวเพราะเป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันไม่อาจได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/12(4)เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มิได้มีฐานะเป็นผู้ร่วมร้องขอหรือลูกหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการดังกล่าวด้วย ดังนั้น จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่ได้รับประโยชน์จากการที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาและยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต่อไปได้ แม้ศาลแพ่งจะมีคำสั่งอนุญาตให้ฟื้นฟูกิจการจำเลยที่ 1 ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ก็ตาม
จำเลยที่ 4 กล่าวมาในคำร้องขอให้พิจารณาใหม่เพียงว่าจำเลยที่ 4 ขอแสดงข้อคัดค้านตัดสินชี้ขาดของศาลชั้นต้นว่า หากจำเลยที่ 4 มีโอกาสต่อสู้คดี ย่อมทำให้ผลคำตัดสินหรือคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไปเพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง สัญญาไม่ถูกต้องเป็นโมฆะ ทำขึ้นโดยกลฉ้อฉลและโจทก์ไม่เสียหายใด ๆ จากสัญญาเท่านั้น โดยจำเลยที่ 4 มิได้แสดงรายละเอียดว่าสัญญาฉบับไหนไม่ถูกต้องเป็นโมฆะเพราะเหตุใด ทำขึ้นโดยกลฉ้อฉลอย่างไรและเหตุใดโจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายจากสัญญา เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ หาได้คัดค้านในเนื้อหาแห่งคำตัดสินของศาลชั้นต้นว่าไม่ถูกต้องอย่างไร หากมีการพิจารณาพิพากษาใหม่แล้วจำเลยที่ 4 จะชนะคดีอย่างไร ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208วรรคสุดท้าย
of 83