คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ศีลธรรม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 71 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1584/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาว่าจ้างทนายความที่มีส่วนได้เสียทางการเงินเป็นโมฆะ ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี
ข้อตกลงในสัญญาว่าจ้างทนายความที่ระบุว่า จำเลยทั้งเก้าตกลงให้ค่าจ้างจำนวนร้อยละ 10 ของจำนวนเงินค่าเสียหาย ดอกเบี้ย และผลประโยชน์ที่ได้รับนอกเหนือจากต้นเงินที่ซื้อขายที่ดิน... มีลักษณะเป็นข้อตกลงที่ให้ทนายความเข้าไปมีส่วนได้เสียในทางการเงินโดยตรงในผลของคดีที่รับว่าความ จึงไม่ต้องด้วยหลักจริยธรรมทางวิชาชีพของทนายความถือว่าเป็นสัญญาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน แม้จะปรากฏว่าตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529 ซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 27 (3) (จ) และมาตรา 51 มิได้กำหนดให้การเข้าเป็นทนายความโดยวิธีสัญญาเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้แก่ลูกความของทนายความเป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความเช่นเดียวกับ พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2477 และ พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2508 ก็มีผลเพียงว่าการทำสัญญาระหว่างทนายความและลูกความทำนองนี้ไม่เป็นการผิดมรรยาททนายความอันเป็นมูลให้ลงโทษตามมาตรา 52 เท่านั้น หามีผลทำให้ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งเก้าดังกล่าวซึ่งขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนกลับมีความสมบูรณ์แต่อย่างใดไม่ สัญญาว่าจ้างทนายความระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งเก้าจึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5718/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญากู้เงินที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมเป็นโมฆะ
โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงิน โดยโจทก์มีจุดประสงค์ให้จำเลยที่ 1 นำเงินที่ได้รับจากโจทก์ไปใช้ในการวิ่งเต้นกับคณะกรรมการคุมสอบเพื่อให้ช่วยเหลือบุตรสาวโจทก์ให้ผ่านการสอบคัดเลือกด้วยวิธีการอันมิชอบ ซึ่งจะทำให้บุตรสาวโจทก์ได้เปรียบผู้สมัครสอบรายอื่น และทำให้การวัดผลไม่เป็นไปอย่างเที่ยงธรรมตรงไปตรงมา ก่อให้เกิดผลเสียหายแก่ทางราชการ วัตถุประสงค์ของการทำสัญญากู้เงินระหว่างโจทก์และจำเลยจึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์จึงไม่อาจฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงินได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4588/2552 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ลิขสิทธิ์ผู้อื่นเป็นเครื่องหมายการค้าขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม แม้ไม่มีข้อห้ามโดยตรง
การนำงานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้า แม้จะไม่ปรากฏข้อห้ามในกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าโดยตรง แต่ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 8 ได้บัญญัติห้ามมิให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะดังนี้... (9) เครื่องหมายที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบาย เมื่อเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ต้องการที่จะให้ความคุ้มครองแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ และเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าก็มุ่งที่จะให้ความคุ้มครองแก่บุคคลผู้กระทำการโดยสุจริตเป็นสำคัญ ดังนั้น การที่บุคคลใดทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคอื่นโดยวิธีใดๆ อันไม่สุจริต และนำไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของตนเช่นนี้ ย่อมเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย และขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบาย เครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนนี้จึงมีหรือประกอบด้วยลักษณะอันต้องห้ามไม่ให้รับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 8 (9) และไม่อาจรับจดทะเบียนได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 6 ประกอบมาตรา 16 ดังนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4588/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้รูปภาพมีลิขสิทธิ์เป็นเครื่องหมายการค้าเป็นการขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม
การนำงานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้า แม้จะไม่ปรากฏข้อห้ามในกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าโดยตรง แต่ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 (9) ห้ามมิให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบายเมื่อเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ต้องการที่จะให้ความคุ้มครองแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ และเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าก็มุ่งที่จะให้ความคุ้มครองแก่บุคคลผู้กระทำการโดยสุจริตเป็นสำคัญ ดังนั้น การที่บุคคลใดทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคอื่นโดยวิธีใดๆ อันไม่สุจริต และนำไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของตน ย่อมเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือรัฐประศาสโนบายนั่นเอง เครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนจึงมีหรือประกอบด้วยลักษณะอันต้องห้ามไม่ให้รับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 (9) และไม่อาจรับจดทะเบียนได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 ประกอบมาตรา 16

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 489/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อตอบแทนการหลีกเลี่ยงภาษี มีวัตถุประสงค์ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม เป็นโมฆะ
การที่จำเลยสามารถลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเนื่องจากโจทก์ทำหลักฐานว่ามีรายจ่ายซึ่งโจทก์กำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริงและนำไปหักออกจากกำไรจากการประกอบกิจการของจำเลย นั้น ถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (9) ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ สำหรับรายจ่ายซึ่งกำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง ฉะนั้น โจทก์จึงไม่อาจนำเงินค่าใช้จ่ายดังกล่าวที่โจทก์กำหนดขึ้นเองไปหักออกจากกำไรสุทธิของจำเลยในปี 2542 และปี 2543 ซึ่งโจทก์และจำเลยควรรู้ได้ว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นการไม่ชอบ ดังนั้น การที่จำเลยออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 23,400,000 บาท ให้แก่โจทก์เพื่อตอบแทนในการที่โจทก์ช่วยจำเลยหลีกเลี่ยงภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของประชาชนคนไทยผู้มีเงินได้ที่จะต้องเสียตามกฎหมายเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงตกเป็นโมฆะเสียเปล่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8440/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อนุญาโตตุลาการชอบแล้ว ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรม การบังคับตามคำชี้ขาดเป็นไปตามกฎหมาย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ เห็นว่า ตามคำร้องของผู้ร้องปรากฏข้อเท็จจริงว่า จ. ตัวแทนของ อ. ติดต่อกับ ร. ลูกจ้างของ ท. ผู้เป็นตัวแทนประกันวินาศภัยของผู้ร้อง ขอทำประกันวินาศภัย ประเภท 3 สำหรับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 8 ฒ - 9044 กรุงเทพมหานคร ซึ่งอัตราเบี้ยประกันวินาศภัย ประเภท 3 เป็นอัตราเบี้ยตายตัว ทั้งตามอุทธรณ์ของผู้ร้องก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ท. และ ธ. สองสามีภริยา เป็นตัวแทนประกันวินาศภัยของผู้ร้องมีสำนักงานที่จังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานตัวแทนสามารถออกกรมธรรม์ประกันวินาศภัย ประเภท 3 ได้เอง ดังนั้น เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2559 จ. เสนอเอาประกันวินาศภัย ประเภท 3 ให้รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 8 ฒ - 9044 กรุงเทพมหานคร ร. รับเรื่องไว้ โดยสำนักงานตัวแทนของ ท. มีอำนาจออกกรมธรรม์ประกันวินาศภัย ประเภท 3 ได้เอง จึงเป็นการสนองตอบ สัญญาประกันวินาศภัยย่อมเกิดขึ้นทันที ส่วนเอกสารกรมธรรม์จะออกได้เมื่อใดเป็นกระบวนการภายในของผู้ร้อง ผู้เอาประกันภัยจะชำระเบี้ยประกันเมื่อใดขึ้นอยู่กับการเรียกเก็บของผู้ร้อง และตัวแทนของผู้ร้องดำเนินการโดยทุจริตหรือไม่ เป็นปัญหาที่ผู้ร้องต้องเรียกร้องความรับผิดจากตัวแทนเอง คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชอบแล้ว การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ผู้ร้องไม่อาจขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดได้ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข) ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องของผู้ร้องชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ แต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการด้วย ย่อมเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำร้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 ศาลฎีกาจึงแก้ไขให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6411/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยได้ถูกต้อง ศาลยืนตามคำชี้ขาด ไม่ถือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรม
ผู้คัดค้านยื่นอุทธรณ์คัดค้านอ้างว่า การรับฟังพยานหลักฐานของอนุญาโตตุลาการทำให้การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดนั้น เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลแพ่งที่บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้น เป็นการฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้คัดค้านจะหยิบยกข้อเท็จจริงต่าง ๆ ขึ้นอ้าง เพื่อโต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของอนุญาโตตุลาการและศาลชั้นต้น เพื่อให้ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องเป็นฝ่ายผิดข้อตกลงตามบันทึกความเข้าใจและข้อตกลงต่อท้ายบันทึกความเข้าใจ จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าอนุญาโตตุลาการใช้ดุลพินิจไม่สุจริตและประพฤติไม่ชอบในการดำเนินกระบวนพิจารณา ทั้งมาตรา 25 วรรคสอง บัญญัติวิธีพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการในกรณีที่คู่พิพาทมิได้ตกลงกันหรือกฎหมายมิได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ให้คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ได้ตามที่เห็นสมควร อำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการนี้ให้รวมถึงอำนาจวินิจฉัยในเรื่องการรับฟังพยานหลักฐานและการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง ทั้งไม่ใช่กรณีผู้คัดค้านเป็นฝ่ายยื่นคำร้องคัดค้านคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ (ตามมาตรา 40 (1)
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ย เป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้ผิดนัดต้องชำระดอกเบี้ยเมื่อครบกำหนดเวลาทวงถามให้แก่ผู้ร้อง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คำพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่ฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน อุทธรณ์ของผู้คัดค้านในส่วนนี้ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง (1) (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4904/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย/ศีลธรรม และการคืนค่าขึ้นศาล
การที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้ผู้ร้องชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้คัดค้านเต็มตามวงเงินสูงสุดตามกรมธรรม์ แต่ยังสงวนสิทธิให้ผู้คัดค้านมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนอีก ย่อมมีผลให้ผู้ร้องต้องรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย อันเป็นการขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 877 วรรคท้าย ที่ห้ามมิให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินไปกว่าจำนวนซึ่งเอาประกันไว้ และ ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคสอง ที่ไม่ให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินไปกว่าจำนวนอันผู้รับประกันภัยจะพึงต้องใช้ตามสัญญา ปัญหาเรื่องการกำหนดความรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกฎหมายอันทำให้ผู้ร้องต้องรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยถือเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
คดีนี้ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นหลังจากรับคำร้องของผู้ร้องแล้ว ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และขอให้บังคับตามคำชี้ขาดโดยในตอนท้ายคำคัดค้าน ขอให้ศาลมีคำพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ให้ผู้ร้องจ่ายค่าขาเทียมพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ผู้คัดค้าน การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำคัดค้านอย่างเดียว โดยยังไม่มีคำสั่งคำร้องของผู้คัดค้าน จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ อย่างไรก็ตามเมื่อคำชี้ขาดที่ผู้ร้องขอให้เพิกถอนกับคำชี้ขาดที่ผู้คัดค้านขอให้บังคับตามนั้นเป็นคำชี้ขาดฉบับเดียวกันซึ่งคู่ความทั้งสองฝ่ายต่างได้นำสืบพยานหลักฐานของฝ่ายตนจนเสร็จสิ้นแล้วไม่ปรากฏว่ามีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าว และตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านก็มิได้กล่าวอ้างถึงเหตุดังกล่าว คงอุทธรณ์เพียงขอให้กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นยกคำร้องของผู้ร้องและบังคับให้ผู้ร้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดในส่วนค่าสินไหมทดแทนในการจัดทำขาเทียมเท่านั้น ทั้งประเด็นที่สำคัญที่ได้โต้แย้งกันในคดีนี้ก็มีเพียงว่าการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในส่วนที่สงวนสิทธิให้ผู้คัดค้านมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนกรณีขาเทียมขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่เท่านั้น กระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวย่อมไม่ทำให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องเสียเปรียบในทางคดี การที่จะแก้ไขกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวโดยส่งสำนวนคืนไปยังศาลชั้นต้นเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาให้ถูกต้องแล้วมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่จึงไม่เป็นประโยชน์แต่อย่างใด นอกจากจะทำให้ คู่ความต้องเสียเวลามากขึ้น กรณีจึงไม่สมควรแก้ไขกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวของศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2987/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะประเด็นความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง บัญญัติห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ (1) การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน (2) คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน (3) คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นไม่ตรงกับคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ (4) ผู้พิพากษาหรือตุลาการซึ่งพิจารณาคดีนั้นได้ทำความเห็นแย้งไว้ในคำพิพากษา หรือ (5) เป็นคำสั่งเกี่ยวด้วยการใช้วิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่พิพาทตามมาตรา 16 คดีนี้ คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยในคำชี้ขาดว่า ผู้ร้องมิได้นำสืบให้ฟังได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ เพียงแต่นำสืบว่าผู้ร้องเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถตามคำสั่งศาลเท่านั้น และคำสั่งศาลดังกล่าวก็มีคำสั่งหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายถึง 1 ปีเศษ อีกทั้งเหตุแห่งการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็เป็นเพราะความบกพร่องทางจิต คือเป็นคนไอคิวต่ำเท่านั้น มิใช่เหตุทุพพลภาพแต่อย่างใด นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังปรากฏด้วยว่า ผู้ร้องเคยมีสามีและเคยมีบุตรมาแล้ว 3 คน อันเป็นข้อสนับสนุนได้อีกข้อหนึ่งว่า ผู้ร้องมิได้เป็นผู้ทุพพลภาพ ส่วนข้อที่อ้างว่าขณะที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่เคยให้การอุปการะเลี้ยงดูผู้ร้องนั้น ก็ไม่มีพยานหลักฐานใดมาแสดง ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะ การที่ผู้ร้องอุทธรณ์โต้แย้งว่า ทางนำสืบในชั้นอนุญาโตตุลาการผู้ร้องอ้างใบรับรองแพทย์ว่าผู้ร้องหย่อนกำลังความสามารถที่จะประกอบการงานได้ตามปกติ แพทย์ได้ให้ความเห็นว่าผู้ร้องมีความสามารถทางเชาวน์ปัญญาอยู่ระดับปัญญาอ่อน ไอคิวเท่ากับ 65 เทียบเท่ากับอายุ 9 ปี มีพยาธิทางสมอง และสภาพจิตใจในลักษณะการรับรู้ความเป็นจริงไม่เหมาะสม มีปัญหาการตัดสินใจและการปรับตัว จำเป็นต้องมีผู้ดูแลในการดำเนินชีวิต มีความบกพร่องในการวางแผนการตัดสินใจ การรับรู้ความเป็นจริง ถูกชักจูงใจได้ง่าย สามารถทำกิจวัตรประจำวันขั้นปกติได้ กิจกรรมที่มีความซับซ้อนต้องมีผู้ช่วยเหลือดูแล ความเห็นแพทย์ดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นชัดแล้วว่าผู้ร้องเป็นผู้หย่อนความสามารถที่จะประกอบการงานตามปกติได้ จึงไม่อาจหาเลี้ยงตนเองได้ตามปกติ แต่คณะอนุญาโตตุลาการมิได้หยิบยกใบรับรองแพทย์ซึ่งเป็นสาระสำคัญในการวินิจฉัยว่าผู้ร้องเป็นผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ขึ้นพิจารณา จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อุทธรณ์ของผู้ร้องดังกล่าวเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นอ้างเพื่อโต้แย้งการวิเคราะห์พยานหลักฐานและดุลพินิจในการวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวนของคณะอนุญาโตตุลาการ เพื่อให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องเป็นผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ โดยไม่ปรากฏว่ามีการวินิจฉัยผิดจากวิธีพิจารณาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด การที่คณะอนุญาโตตุลาการจะหยิบยกหลักฐานใดขึ้นวินิจฉัยภายในขอบเขตของกฎหมายและสัญญาที่พิพาทกัน ย่อมกระทำได้โดยชอบ อุทธรณ์ของผู้ร้องจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ข้อยกเว้นตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง (1) ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2229/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความที่เกี่ยวข้องกับคดีอาญาแผ่นดินมีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรม จึงตกเป็นโมฆะ
ป.พ.พ. มาตรา 850 บัญญัติว่า "อันว่าประนีประนอมยอมความนั้น คือ สัญญาซึ่งผู้เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน" เมื่อพิจารณาคำร้องขอถอนฟ้องซึ่งเป็นข้อตกลงในการถอนฟ้องคดีอาญาหมายเลขดำที่ 6070/2560 ปรากฏข้อความว่าให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์ 200,000 บาท แล้วโจทก์จะถอนฟ้องคดีอาญาหมายเลขดำที่ 6070/2560 นอกจากนั้นยังให้จำเลยชำระเงิน 200,000 บาท ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1967/2561 และชำระเงิน 400,000 บาท ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.6137/2560 และยังมีข้อตกลงในส่วนคดีของศาลแรงงานกลางที่ทั้งสองฝ่ายต่างเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาให้เลิกแล้วต่อกัน รวมถึงจำเลยจะไม่ไปดำเนินการร้องเรียนใด ๆ เกี่ยวกับการประมูลงานของโจทก์ ส่วนที่ร้องเรียนไปแล้วก็จะไปถอนคำร้อง ซึ่งเห็นได้ว่า ข้อความตามคำร้องขอถอนฟ้องเป็นข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายตกลงระงับข้อพิพาทด้วยการให้โจทก์ถอนฟ้องคดีอาญาหมายดำที่ 6070/2560 โดยมีข้อตกลงอื่นด้วยว่าจำเลยต้องชำระเงินให้โจทก์อีก 600,000 บาท ข้อตกลงตามคำร้องขอถอนฟ้องจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทั้งสองฝ่ายตกลงผ่อนผันให้แก่กันเพื่อระงับข้อพิพาท เมื่อปรากฏว่าข้อตกลงประนีประนอมยอมตามคำร้องขอถอนฟ้อง โจทก์ตกลงถอนฟ้องคดีอาญาหมายเลขดำที่ 6070/2560 ซึ่งเป็นคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาปลอมเอกสารและใช้เอกสารสิทธิปลอมตาม ป.อ. มาตรา 264, 268 อันเป็นคดีความผิดอาญาแผ่นดิน ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องบังคับเรียกค่าเสียหายส่วนที่เหลือตามสัญญาที่เป็นโมฆะได้
of 8