พบผลลัพธ์ทั้งหมด 80 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 809/2492
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การใช้สิทธิโดยไม่สุจริตของผู้รับมรดกและการซื้อขายที่ดินโดยสุจริต
ภรรยาได้ประกาศรับมรดกที่ดินของสามีแล้วโอนขายให้บุคคลอื่นแม้จะปรากฏว่าภรรยามิได้จดทะเบียนสมรสก็ดี แต่ได้มีการไหว้ผีตามประเพณีและอยู่ร่วมกันโดยเปิดเผยจนมีบุตรด้วยกัน 3 คน การที่โอนขายให้แก่บุคคลผู้นั้นก็เนื่องจากสัญญาเดิมที่สามีได้ทำไว้ ซึ่งเป็นการชอบด้วยศีลธรรม เมื่อภรรยามาประกาศรับมรดก โจทก์ก็ไม่มาคัดค้านปล่อยให้ภรรยารับมรดกมาโอนขายแก่บุคคลผู้นั้น บุคคลผู้นั้นรับซื้อไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์จึงขอให้เพิกถอนนิติกรรม ดังนี้ ย่อมได้ชื่อว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5จะมาขอให้เพิกถอนนิติกรรมนั้นไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 468/2488
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การใช้สิทธิบอกล้างนิติกรรมจำนองที่ไม่สุจริต และกำหนดเวลาไถ่ถอนที่สมเหตุสมผล
สามีให้ภรรยามีชื่อในโฉนดแต่ผู้เดียวแล้วเอาไปจำนองผู้อื่นไว้หลายครั้ง ก่อนมาทำจำนองกับโจทก์ บัดนี้อ้างว่าภรรยาจำนองโดยไม่ได้รับอนุญาต ขอบอกล้างดังนี้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตบอกล้างไม่ได้
ผู้รับจำนองบอกกล่าวให้ผู้จำนองไถ่ถอนภายใน 10 วัน โดยเคยทวงถามหลายครั้งแล้วดังนี้ ถือได้ว่ากำหนดเวลานั้นพอสมควรแล้ว
ผู้รับจำนองบอกกล่าวให้ผู้จำนองไถ่ถอนภายใน 10 วัน โดยเคยทวงถามหลายครั้งแล้วดังนี้ ถือได้ว่ากำหนดเวลานั้นพอสมควรแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6108/2559
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การฟ้องคดีล้มละลายขัดกับมาตรา 146 พ.ร.บ.ล้มละลาย ถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริิต
การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา เนื่องจากจำเลยที่ 1 ขายทรัพย์สินของลูกหนี้ในคดีล้มละลายไม่ตรงตามประกาศขายทอดตลาด จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิริบมัดจำ ขอให้ศาลมีคำสั่งคืนเงินมัดจำแก่โจทก์นั้น แม้โจทก์นำคดีมาฟ้องที่ศาลล้มละลายกลางอันเป็นศาลที่มีเขตอำนาจแล้วก็ตาม แต่ประเด็นที่โจทก์ฟ้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคำสั่งตามอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายของลูกหนี้ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินและไม่คืนเงินมัดจำแก่โจทก์ตามที่โจทก์มีหนังสือแจ้งไปนั้น หากโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งหรือการกระทำของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าว กฎหมายกำหนดให้บุคคลล้มละลาย เจ้าหนี้หรือบุคคลใดที่ได้รับความเสียหายโดยกระทำหรือวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลภายในกำหนดเวลา 14 วัน นับแต่วันที่ได้ทราบการกระทำหรือคำวินิจฉัยนั้น ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 146 อันเป็นบทบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในการคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว เมื่อโจทก์มิได้ดำเนินการยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลในคดีล้มละลายที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งหรือดำเนินการภายในกำหนดเวลา 14 วัน การที่โจทก์ดำเนินคดีนี้โดยทำเป็นคำฟ้องนั้นถือได้ว่าเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติภายในระยะเวลาตามมาตรา 146 ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6799/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การใช้สิทธิโดยไม่สุจริตของผู้ฟ้องคดี การฟ้องร้องขัดแย้งกับคำฟ้องเดิม ทำให้ไม่มีอำนาจฟ้อง
คดีก่อน โจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงกับจำเลย ในราคา 450,000 บาท จำเลยตกลงจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงภายในเดือนมกราคม 2554 จำเลยได้รับเงินครบถ้วนและส่งมอบที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแก่โจทก์แล้ว เมื่อครบกำหนด โจทก์แจ้งให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉย เท่ากับโจทก์ยอมรับว่า เคยมีการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงระหว่างโจทก์กับจำเลยจริง และที่ดินพิพาททั้งสองเป็นของจำเลย แต่คดีนี้โจทก์กลับอ้างว่า โจทก์ทำสัญญาขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่จำเลยในราคา 400,000 บาท โดยโจทก์ประสงค์เพียงให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์แทนโจทก์ อันเป็นการแสดงเจตนาลวง คำฟ้องคดีนี้จึงขัดกับคำฟ้องก่อน ทั้งเป็นการอ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ในคดีก่อน อันแสดงให้เห็นชัดแจ้งว่า การฟ้องคดีของโจทก์ในคดีนี้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1194/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ภาระจำยอมสิ้นผลเพราะมิได้ใช้สิทธิเกิน 10 ปี และโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง บัญญัติว่า "...สิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว"นั้น หมายความถึงกรณีที่บุคคลได้มาโดยสุจริตซึ่งทรัพยสิทธิอันเดียวกับทรัพยสิทธิที่ยังไม่ได้จดทะเบียนนั้น กรณีตามที่โจทก์อ้างเป็นการได้สิทธิประเภทกรรมสิทธิ์ในที่ดินสามยทรัพย์ ส่วนภาระจำยอมเป็นสิทธิในประเภทรอนสิทธิจึงมิใช่การโต้เถียงกันในเรื่องการได้สิทธิในทรัพยสิทธิประเภทเดียวกับสิทธิของบุคคลภายนอกที่ยังไม่จดทะเบียน แต่เป็นกรณีที่มีนิติกรรมอันก่อให้เกิดภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของผู้ขายเดิมอันเป็นสามยทรัพย์ เมื่อผู้ขายเดิมได้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินอันเป็นสามยทรัพย์แก่โจทก์แล้ว ภาระจำยอมย่อมติดไปกับสามยทรัพย์ ตามป.พ.พ. มาตรา 1393 วรรคหนึ่ง ซึ่งภาระจำยอมจะสิ้นไปก็แต่เมื่อภาระจำยอมหรือสามยทรัพย์สลายไปทั้งหมดหรือมิได้ใช้สิบปี ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1397 และ 1399 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าภาระจำยอมได้สิ้นไปแล้วเพราะมิได้ใช้สิบปี จำเลยจึงมีสิทธิฟ้องแย้งบังคับให้โจทก์ในฐานะเจ้าของที่ดินอันเป็นสามยทรัพย์ จดทะเบียนปลอดภาระจำยอมในที่ดินพิพาทได้ และโจทก์จะยกการได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต เป็นข้อต่อสู้เพื่อไม่ให้ภาระจำยอมที่มีอยู่ในที่ดินพิพาทสิ้นไปหาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11165/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การใช้สิทธิโดยไม่สุจริตของผู้รับสิทธิทำประโยชน์ในที่ดินปฏิรูปที่ดินเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงผู้ครอบครอง
ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน และเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่โจทก์เป็นผู้รับสิทธิทำประโยชน์ในที่ดินจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โจทก์ขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่ ท. เมื่อปี 2546 แล้ว ท. สละการครอบครองให้จำเลยทั้งสองเข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา แม้ก่อนฟ้องโจทก์กับ ท. ได้ทำบันทึกข้อตกลงว่าโจทก์จะคืนเงินให้แก่ ท. 110,000 บาท และ ท. จะคืนที่ดินพิพาทให้โจทก์ แต่โจทก์ก็มิได้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวคืนให้แก่ ท. แต่อย่างใด การที่โจทก์กลับมาอ้างเป็นผู้มีสิทธิตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 - 01 ก.) และมาฟ้องขอให้บังคับขับไล่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิจาก ท. จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาท
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 10/2558)
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 10/2558)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10424/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การใช้สิทธิโดยไม่สุจริตในการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.) ที่ได้มาโดยมิชอบ ทำให้ไม่มีอำนาจฟ้อง
การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ทั้ง 66 ฉบับ ดำเนินการโดยผู้ครอบครองที่ดินมิได้ยื่นคำขอพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์จริง ไม่ทราบตำแหน่งที่ดิน ไม่มีการรังวัดสอบสวนการทำประโยชน์ระบุตำแหน่งที่ดินในระวางแผนที่ ออกทับที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยจำเลยร่วมทำเอกสารปลอมและเอกสารอันเป็นเท็จเสนอต่อนายอำเภอ เพื่อขออนุมัติต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ในการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เฉพาะราย ไม่มีการจัดทำตามขั้นตอนรายละเอียดดังที่ระบุในเอกสารประกอบเรื่องราวขึ้นจริง เลขต่อในทะเบียนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 8) บางส่วนถูกฉีกขาดหายไป ไม่พบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ฉบับสำนักงานที่ดินทั้ง 66 ฉบับ ที่ถูกเพิกถอน โดยจำเลยร่วมดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ทั้ง 66 ฉบับ ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการสามารถใช้เป็นสินทรัพย์เพื่อจำหน่าย จ่าย โอน รวมทั้งใช้เป็นหลักประกันสินเชื่อในการประกอบธุรกิจ บ่งบอกว่าการกระทำทั้งปวงมิได้มุ่งหมายให้ได้ที่ดินเพื่อใช้เป็นประโยชน์ตามสภาพของทรัพย์สิน แต่มุ่งหมายเพียงเพื่อให้ได้หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เพื่อเป็นสินทรัพย์จำนองเป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเท่านั้น ทั้งโจทก์เคยไปดูที่ดินพบว่ามีการทำนาปลูกต้นยูคาลิปตัสและมันสำปะหลัง ไม่เคยถามผู้ที่ทำนาเหล่านั้นว่าขายที่ดินหรือไม่ ทราบเพียงว่าเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จึงตกลงซื้อภายหลังซื้อที่ดินทั้งหมดประมาณ 18,000 ไร่ จึงวางแผนพัฒนาที่ดินเสนอต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เพื่อให้ได้เงินไปขยายธุรกิจขนส่งทางทะเลโดยไม่เคยทำประโยชน์ตามแผนพัฒนาที่ดินที่เสนอต่อผู้ให้กู้ สัญญาซื้อขายที่อ้างจำนวนมากถึง 92 ฉบับ มีเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ฉบับเดียวที่ตรงกับที่ดิน 66 ฉบับ ที่ถูกเพิกถอน วันที่ตามสัญญาซื้อขายแตกต่างกับวันที่ซึ่งลงในสารบัญรายการจดทะเบียน จึงเป็นพิรุธว่ามีการจดทะเบียนซื้อขายโดยชอบหรือไม่ เชื่อว่าโจทก์ได้ที่ดินมาโดยไม่ชอบ ไม่อาจอ้างสิทธิได้ตามฟ้อง เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็ชอบที่จะยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 4 ให้ร่วมกันรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนในผลแห่งละเมิด กรณีจึงเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันมิอาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 4 ที่มิได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบ มาตรา 247
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11482/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การใช้สิทธิโดยไม่สุจริต การสละสิทธิโดยปริยาย และผลกระทบต่ออำนาจฟ้อง
แม้ข้อตกลงที่จำเลยยอมให้โจทก์มีสิทธิเรียกเงินกู้ค้างชำระทั้งหมดหากจำเลยพ้นจากการเป็นพนักงานจะมีผลบังคับได้ แต่หลังจากจำเลยลาออกแล้วโจทก์ก็ยังรับผ่อนชำระเงินกู้จากจำเลยมาตลอดโดยจำเลยไม่เคยผิดนัด แสดงว่าโจทก์ได้สละสิทธิที่จะเรียกเงินกู้ค้างชำระทั้งหมดด้วยเหตุจำเลยพ้นสภาพการเป็นพนักงานของโจทก์โดยปริยาย นอกจากนั้นการกู้เงินของจำเลยเป็นการกู้เงินสวัสดิการของพนักงานเพื่อที่อยู่อาศัยโดยมีที่ดินพร้อมบ้านจำนองเป็นประกัน ซึ่งหากจำเลยผิดนัดโจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับจำนองเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ได้โดยไม่เสียหายอยู่แล้ว การลาออกของจำเลยก็มิได้เกิดจากการกระทำผิดหรือกระทำโดยมิชอบของจำเลย แต่เป็นเรื่องสุขภาพที่ฝ่ายโจทก์ขอให้จำเลยลาออกเอง ทั้งหลังจากลาออกแล้วจำเลยยังมีรายได้เพียงพอแก่การผ่อนชำระเงินกู้อีก ดังนั้น ที่โจทก์ใช้ทั้งสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเงินกู้ทั้งหมดในขณะเดียวกันก็รับการผ่อนชำระของจำเลยไปเรื่อยๆ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 ซึ่งบัญญัติว่า "ในการใช้สิทธิแห่งตน บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต" เมื่อการใช้สิทธิของโจทก์ไม่สุจริตอันไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแล้ว โจทก์ก็ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5671/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การใช้สิทธิโดยไม่สุจริตของผู้ให้เช่าซื้อในการขอคืนรถยนต์ที่ถูกใช้ในความผิด ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครอง
หลังจากที่ผู้ร้องทราบว่าเจ้าพนักงานยึดรถยนต์ของกลางเนื่องจากเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดแล้วอันเป็นเหตุที่ผู้ร้องอาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ตามข้อ 3. ของสัญญาเช่าซื้อ แต่ผู้ร้องก็ไม่ได้ใช้สิทธิดังกล่าว ยังคงรับชำระค่าเช่าซื้อต่อไป โดยผู้ร้องก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นข้อเท็จจริงว่าผู้เช่าซื้อไม่ได้ร่วมหรือเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดหรือยินยอมให้จำเลยที่ 1 กับพวกนำรถยนต์ของกลางไปใช้ในการกระทำความผิด ผู้ร้องจึงไม่อาจบอกเลิกสัญญาได้ การที่ผู้ร้องยังคงรับชำระค่าเช่าซื้อโดยไม่บอกเลิกสัญญา และมาขอคืนรถยนต์ของกลาง ซึ่งหากศาลมีคำสั่งคืนรถยนต์ของกลางตามคำร้องของผู้ร้องและผู้เช่าซื้อได้ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วน รถยนต์ของกลางย่อมตกเป็นของผู้เช่าซื้อ พฤติกรรมของผู้ร้องมีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของผู้เช่าซื้อโดยต้องการได้แต่ค่าเช่าซื้อเท่านั้น ถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตในการขอคืนของกลาง เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนของกลาง ผู้ร้องย่อมมีภาระการพิสูจน์ว่าตนไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 กับพวก แต่ตามพยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบมากลับปรากฏพฤติการณ์การใช้สิทธิโดยไม่สุจริตของผู้ร้อง จึงฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 กับพวก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1032/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเพื่อหลีกเลี่ยงข้อจำกัดการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ทำให้ไม่มีอำนาจฟ้อง
โจทก์ซื้อที่ดินเนื้อที่ประมาณ 80 ไร่ เป็นที่ดินมือเปล่าไม่มีเอกสารแสดงสิทธิในที่ดิน ต่อมา สำนักงานที่ดินอำเภอกันตังได้ประกาศและออกสำรวจที่ดินเพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่ผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน แต่มีระเบียบคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ซึ่งออกโดยอาศัยประมวลกฎหมายที่ดินได้กำหนดหลักเกณฑ์การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่ผู้ครอบครองทำประโยชน์ได้ไม่เกิน 50 ไร่ เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัด โจทก์จึงขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็น 2 แปลง แปลงแรกจำนวน 50 ไร่ ให้สามีโจทก์มีชื่อถือแทน และอีกแปลงหนึ่งคือที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนที่เกินจาก 50 ไร่ ให้มีชื่อบิดาสามีโจทก์ถือแทน ดังนี้ ขณะโจทก์ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท โจทก์รู้อยู่ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิจะขอออก เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัด การที่โจทก์ให้บุคคลอื่นมีชื่อถือแทน และต่อมาโจทก์ฟ้องร้องขอให้โอนที่ดินคืนแก่โจทก์ จึงเป็นการกระทำเพื่อหลีกเลี่ยงหลักเกณฑ์การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของทางราชการ ถือเป็นการที่โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง