คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สินค้าเสียหาย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 79 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8761/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งและตัวแทนขนส่งกรณีสินค้าเสียหายระหว่างขนส่งทางทะเล
จำเลยที่ 1 เรียกเก็บค่าใช้จ่าย ค่าขนส่งจากผู้ซื้อสินค้าซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเพื่อนำไปจ่ายให้แก่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 ผู้รับตราส่ง เพื่อแลกใบปล่อยสินค้าที่จำเลยที่ 5 ออกให้แก่จำเลยที่ 3 มิใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 เรียกเก็บค่าขนส่งเป็นของตนเองในฐานะผู้ขนส่ง จำเลยที่ 1 จึงเป็นเพียงตัวแทนของผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยในการไปติดต่อผู้ขนส่งเท่านั้นไม่ใช่ผู้ขนส่ง จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดในฐานะผู้ขนส่ง
จำเลยที่ 5 เป็นผู้ออกใบตราส่งแบบ FCL/FCL หรือ CY/CY ให้แก่จำเลยที่ 3 ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับใบตราส่งของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นใบตราส่งแบบ CFS/CFS จะเห็นได้ว่า ใบตราส่งของจำเลยที่ 2 ที่รับขนส่งสินค้าระบบตู้สินค้าแบบ CFS/CFS อันหมายถึงสินค้าบรรจุไม่เต็มตู้โดยมีการบรรจุสินค้าหลายเจ้าของรวมทั้งสินค้า 3 พัลเล็ต นี้ด้วย และปิดผนึกตู้สินค้าที่ท่าต้นทางแล้วมอบให้จำเลยที่ 5 ขนส่ง จำเลยที่ 5 จึงออกใบตราส่งแบบ FCL/FCL หรือ CY/CY ให้ โดยรับตู้สินค้าที่บรรจุเต็มตู้มา โดยระบุชื่อจำเลยที่ 3 เป็นผู้ส่ง และจำเลยที่ 4 เป็นผู้รับตราส่ง มีผลให้จำเลยที่ 4 ต้องมารับตู้สินค้านี้ไปเองเพื่อนำไปเปิด แล้วนำสินค้าไปส่งแก่ลูกค้าแต่ละราย ซึ่งเมื่อเรือถึงปลายทางจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้รับตราส่งมารับของในนามของจำเลยที่ 3 แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 4 เป็นเพียงตัวแทนมารับของที่ปลายทางเท่านั้น ไม่ใช่ผู้ร่วมขนส่งจึงไม่ต้องรับผิด ส่วนจำเลยที่ 5 ไม่ได้เป็นคู่สัญญากับผู้ส่งของโดยตรง แต่ได้รับมอบหมายจากผู้ขนส่งให้ทำการขนส่งสินค้าทางทะเลเฉพาะช่วงจากท่าเรือในสาธารณรัฐสิงคโปร์มายังประเทศไทย จึงเป็นผู้ขนส่งอื่นตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 3 ซึ่งจะต้องรับผิดต่อเมื่อเหตุแห่งความสูญหายของสินค้าเกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งในส่วนที่ตนได้รับมอบหมายตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว มาตรา 44 ประกอบมาตรา 39 เมื่อตัวแทนของจำเลยที่ 3 เป็นผู้บรรจุสินค้าเข้าตู้สินค้าและปิดผนึกด้วยตราผนึก เมื่อถึงปลายทางตู้สินค้าและตราผนึกที่ตู้สินค้ายังคงเดิมและอยู่ในสภาพดี แสดงว่าระหว่างการขนส่งสินค้าโดยจำเลยที่ 5 นั้น ตู้สินค้าไม่ได้ถูกเปิดและขนถ่ายสินค้าออกจากตู้จึงมีเหตุให้เชื่อได้ว่าสินค้าไม่ได้สูญหายระหว่างอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 5 ตามที่ได้รับมอบหมายให้ขนส่ง จำเลยที่ 5 ในฐานะผู้ขนส่งอื่นไม่ต้องรับผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว
ตามกรมธรรม์ประกันภัย โจทก์รับประกันภัยสินค้าเป็นมูลค่า 51,338.76 ยูโร คิดเป็นเงินบาทตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ 2,620,843.70 บาท โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยน 1 ยูโร เท่ากับ 51.05 บาท และเมื่อสินค้าเสียหายเป็นเงิน 14,848 ยูโร ผู้เอาประกันภัยเรียกร้องให้โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยคิดคำนวณเป็นเงินบาทเป็นสัดส่วนกับมูลค่าประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัย เป็นเงิน 871,688.96 บาท เท่ากับที่โจทก์คิดคำนวณได้และจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย เชื่อได้ว่าเป็นการคิดคำนวณถูกต้องแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8534/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นายเรือเดินเรือเลี่ยงพายุถูกต้องตามหลักการ ไม่มีเหตุให้สินค้าเสียหาย
นายเรือนำเรือเลี่ยงพายุโดยมีระยะห่างจากศูนย์กลางพายุถึง 350 กิโลเมตร ซึ่งถูกต้องตามหลักการเดินเรือแล้ว เห็นได้ว่า ในสภาพอากาศเช่นนี้ก็ยังสามารถออกเรือเดินทะเลได้ตามปกติ เพียงแต่ต้องเดินเรือให้ถูกต้องตามหลักการเดินเรือโดยเลี่ยงการเข้าใกล้จุดศูนย์กลางพายุมากเกินไปซึ่งก็ปรากฏว่านายเรือได้เลี่ยงพายุโดยมีระยะห่างจากจุดศูนย์กลางในระยะที่ปลอดภัยในการเดินเรือแล้ว จึงยังไม่อาจฟังได้ว่าสินค้าเสียหายเพราะเหตุที่มีพายุในเส้นทางเดินเรือโดยนายเรือรู้อยู่แล้วยังออกเรือตามที่โจทก์อ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4050/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งสินค้าที่บรรทุกเกินความสามารถของเรือ ทำให้สินค้าเสียหาย ผู้รับประกันภัยใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว สามารถเรียกร้องจากผู้ขนส่งได้
โจทก์บรรยายฟ้องอ้างว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยสินค้าซึ่งผู้ขายขอเอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารท้ายฟ้อง การประกันภัยคุ้มครองสินค้าระหว่างการขนส่งจากโรงงานของผู้ขายจนถึงโรงงานของผู้ซื้อที่จังหวัดสระบุรี โดยยังไม่ได้อ้างถึงกรมธรรม์ประกันภัยแบบเปิด จำเลยให้การต่อสู้ว่าผู้ขายเอาประกันภัยสินค้าไว้เฉพาะช่วงที่ขนส่งจากประเทศอินโดนีเซียมาถึงเกาะสีชังเท่านั้น ไม่ได้ขยายความคุ้มครองไปถึงช่วงที่ขนส่งจากเกาะสีชังไปยังโรงงานของผู้ซื้อตามที่โจทก์อ้าง โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ซื้อและไม่อาจรับช่วงสิทธิจากผู้ซื้อ ข้ออ้างของจำเลยส่วนนี้เป็นไปตามข้อความตามที่ปรากฏในเอกสารกรมธรรม์ประกันภัยท้ายฟ้อง ในชั้นพิจารณาโจทก์นำสืบและอ้างส่งกรมธรรม์ประกันภัยแบบเปิดอีกฉบับ โดยอ้างว่ากรมธรรม์ประกันภัยตามเอกสารท้ายฟ้องระบุให้เงื่อนไขการประกันภัยเป็นไปตามกรมธรรม์ประกันภัยแบบเปิดดังกล่าวที่โจทก์ไม่ได้อ้างถึงและมิได้ส่งมาท้ายคำฟ้องเพื่อให้จำเลยได้ตรวจสอบก่อนทำคำให้การ ทั้งที่เอกสารดังกล่าวโจทก์เป็นผู้จัดทำขึ้นและเป็นเอกสารที่อยู่ในครอบครองของโจทก์ จำเลยไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้อง ข้อเท็จจริงส่วนนี้จึงเป็นรายละเอียดที่เพิ่งปรากฏขึ้นในชั้นพิจารณา ซึ่งจำเลยได้ให้การปฏิเสธความคุ้มครองของการประกันภัยสินค้ารายนี้อย่างชัดแจ้งไว้แล้ว และก็ได้ถามค้านเอกสารทั้งสองฉบับในประเด็นนี้ไว้แล้ว อุทธรณ์ส่วนนี้จึงเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จำเลยชอบที่จะยกปัญหานี้ขึ้นอุทธรณ์ได้
แม้การประกันภัยสินค้าตามฟ้องจะมีหลักฐานเป็นหนังสือตามกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งระบุว่า บริษัท บ. ผู้ขาย เป็นผู้เอาประกันภัย ระบุชื่อยานพาหนะว่าเรือ อ. ระบุการเดินทางของเรือว่าจากท่าเรือประเทศอินโดนีเซียไปเกาะสีชัง ประเทศไทย และในช่องข้อกำหนดหรือเงื่อนไขพิเศษระบุข้อความว่าเป็นไปตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยแบบเปิดซึ่งหมายถึงกรมธรรม์ประกันภัยแบบเปิดซึ่งเป็นสัญญาประกันภัยทางทะเลแบบเปิด (MARINE CARGO OPEN POLICY) ระหว่างบริษัท ป. ผู้เอาประกันภัย กับโจทก์ผู้รับประกันภัย เห็นได้ว่ากรมธรรม์ประกันภัยทั้งสองฉบับ คู่สัญญาในส่วนของผู้เอาประกันภัยเป็นนิติบุคคลต่างรายกันแต่คู่สัญญาในส่วนของผู้รับประกันภัยเป็นนิติบุคคลเดียวกันคือโจทก์ เมื่อสัญญาประกันภัยทางทะเลตามกรมธรรม์ประกันภัย บริษัท บ. ได้ทำขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญาซื้อขายสินค้าถ่านหินระหว่างบริษัท บ. ผู้ขายกับผู้ซื้อ ซึ่งกำหนดให้ผู้ขายมีหน้าที่ทำประกันภัยให้มีผลคุ้มครองความเสียหายหรือสูญหายของสินค้าระหว่างการขนส่งตั้งแต่ท่าเรือต้นทางที่บรรทุกสินค้าไปจนถึงโรงงานของผู้ซื้อที่จังหวัดสระบุรี การที่โจทก์ผู้รับประกันภัยยอมรับเงื่อนไขพิเศษตามกรมธรรม์ประกันภัยแบบเปิด ซึ่งโจทก์ก็เป็นคู่สัญญาในฐานะผู้รับประกันภัยด้วยมาเป็นข้อกำหนดหรือเงื่อนไขพิเศษของสัญญาประกันภัยที่โจทก์ทำสัญญารับประกันภัยสินค้าตามฟ้องกับบริษัท บ. ผู้ขาย ตามกรมธรรม์ประกันภัย แม้บริษัท บ. จะเป็นนิติบุคคลต่างหากจากบริษัท ป. แต่ก็เป็นบริษัทในเครือเดียวกัน ทั้งข้อกำหนดและเงื่อนไขพิเศษดังกล่าวมีลักษณะเป็นการเพิ่มภาระแก่โจทก์ผู้รับประกันภัย โดยมีผลให้การคุ้มครองสินค้าตามกรมธรรม์ประกันภัยเป็นการให้ความคุ้มครองตั้งแต่ท่าเรือต้นทางไปจนส่งมอบถึงโรงงานผู้ซื้อที่จังหวัดสระบุรีเมื่อผู้ขายมีหน้าที่ทำประกันภัยความเสียหายของสินค้าตามสัญญาระหว่างการขนส่ง ผู้ขายจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสินค้าตามฟ้องตลอดการขนส่งจนกว่าสินค้าจะเดินทางถึงโรงงานของผู้ซื้อ การประกันภัยสินค้าจึงครอบคลุมถึงความเสียหายหรือสูญหายของสินค้า
ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าคลื่นและลมในท้องทะเลช่วงที่เกิดเหตุก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชาวเรือที่เดินเรือในท้องทะเลบริเวณเกิดเหตุแต่อย่างใด คงเกิดความเสียหายแก่เรือทั้งสองลำดังกล่าวเท่านั้น การที่เรือไทยขนส่ง 46 และเรือไทยขนส่ง 45 มีความสามารถบรรทุกสินค้าได้อย่างปลอดภัยเพียง 590 เมตริกตัน แต่จำเลยจัดสินค้าถ่านหินบรรทุกถึงลำละ 1,300 เมตริกตัน เกินกว่าความสามารถบรรทุกตามที่ได้จดทะเบียนไว้กว่า 2 เท่า ความเสียหายของสินค้าที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่เกิดขึ้นจากเหตุสุดวิสัย จำเลยเป็นผู้ขนส่งซึ่งได้รับมอบหมายสินค้าตามฟ้องไว้ในความครอบครองดูแลเพื่อการขนส่ง จึงต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 616

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3724/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งทางทะเล: สิทธิเรียกร้องจากการประกันภัยและสัญญาขนส่ง
การที่โจทก์รับประกันภัยสินค้าจากผู้เอาประกันภัยโดยกำหนดทุนประกันภัยไว้สูงกว่าราคาสินค้าโดยรวมเอาค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพิ่มเข้าไปอีกร้อยละ 10 รวมเป็นร้อยละ 110 ของราคาสินค้านั้น แม้จะเป็นการชอบด้วยหลักการรับประกันภัยทางทะเลซึ่งมีผลให้การคิดค่าสินไหมทดแทนที่ต้องชำระแก่ผู้เอาประกันภัยจะคิดจากจำนวนเงินทุนประกันภัยที่โจทก์รับประกันภัยไว้ แต่กรณีดังกล่าวเป็นการรับประกันภัยและการคิดค่าสินไหมทดแทนที่ผู้รับประกันภัยจะต้องจ่ายแก่ผู้เอาประกันภัยตามสัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับผู้เอาประกันภัยเท่านั้น จำเลยมิใช่คู่สัญญาจึงไม่มีความผูกพันหรือความรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาประกันภัยดังกล่าว จำเลยเป็นเพียงผู้ขนส่งตามสัญญาขนส่งสินค้าตามฟ้องเท่านั้น ซึ่งหากสินค้าที่ขนส่งเสียหายหรือสูญหายในระหว่างการขนส่งที่สินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยแล้ว จำเลยก็ต้องรับผิดต่อคู่สัญญาขนส่งหรือผู้รับตราส่งหรือผู้ที่มีสิทธิรับสินค้าตามใบตราส่ง อันเป็นความรับผิดตามสัญญาขนส่งต่างหาก คดีนี้โจทก์กล่าวอ้างถึงเหตุที่จำเลยต้องรับผิดต่อบริษัท ก. ผู้ซื้อสินค้าและรับสินค้าจากจำเลยผู้ขนส่งเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่สินค้าที่ขนส่ง และบริษัท ก. ได้เอาประกันภัยสินค้าไว้กับโจทก์ และโจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัท ก. ผู้เอาประกันภัยนั้นไป โจทก์จึงรับช่วงสิทธิของบริษัท ก. มาฟ้องเรียกร้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาขนส่ง โดยจำเลยในฐานะผู้ขนส่งต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันเป็นผลจากการที่ของหรือสินค้าที่จำเลยได้รับมอบจากผู้ส่งของเสียหายตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 39 วรรคหนึ่ง และเมื่อเป็นกรณีที่ถือว่าสินค้าตามฟ้องเสียหายโดยสิ้นเชิงทั้งหมดตามที่โจทก์กล่าวอ้าง โดยสินค้าทั้งหมดมีราคาซีเอฟอาร์ โดยผู้ขายได้คิดค่าขนส่งมายังท่าเรือกรุงเทพรวมเข้าเป็นราคาดังกล่าวไว้แล้ว ย่อมถือได้ว่าความเสียหายของสินค้ามีจำนวนมากที่สุดเพียงเท่านั้น เมื่อหักราคาขายซากสินค้า จึงคงเหลือค่าเสียหายของสินค้าที่แท้จริง ที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3723/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดร่วมกันของผู้รับจ้างขนส่งและตัวแทนในการขนส่งสินค้าเสียหาย
คดีนี้มีมูลเหตุจากการที่บริษัท ย. ในประเทศไทย สั่งซื้อเครื่องอัดฉีดพลาสติกจากประเทศญี่ปุ่น สินค้าถูกขนส่งทางทะเลจากท่าเรือเมืองโยโกฮาม่าถึงท่าเรือกรุงเทพ และผู้ซื้อได้เอาประกันภัยความเสียหายหรือสูญหายของสินค้าในระหว่างการขนส่งจากโรงงานของผู้ขายจนถึงโรงงานของผู้ซื้อไว้กับโจทก์ เมื่อสินค้าเดินทางมาถึงท่าเรือกรุงเทพ ผู้ซื้อว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งสินค้าดังกล่าวจากท่าเรือกรุงเทพไปยังโรงงานของผู้ซื้อรวมทั้งติดตั้งเครื่องจักรดังกล่าว กระบวนการขนส่งสินค้าจากท่าเรือกรุงเทพไปยังโรงงานของผู้ซื้อจึงเป็นส่วนหนึ่งของการขนส่งระหว่างประเทศ จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิประกอบกิจการประกันภัยในราชอาณาจักรไทย จึงมีประเด็นข้อพิพาทที่ต้องวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยทางทะเลโดยรับประกันภัยสินค้าตลอดเส้นทางการขนส่งตั้งแต่โรงงานของผู้ขายที่ประเทศญี่ปุ่นจนกว่าสินค้าจะถึงโรงงานของผู้ซื้อในประเทศไทยหรือไม่ เมื่อความเสียหายของสินค้าเกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งทางบกก่อนสินค้าจะถูกส่งถึงมือผู้ซื้อ โจทก์จึงต้องรับผิดชอบในความเสียหายของสินค้าดังกล่าวตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยหรือไม่ และโจทก์ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนความเสียหายของสินค้าให้แก่ผู้เอาประกันภัยไป โจทก์จะเข้ารับช่วงสิทธิเรียกร้องเอาเงินจำนวนดังกล่าวคืนจากผู้ที่ต้องรับผิดในความเสียหายดังกล่าวได้หรือไม่ ดังนั้น การที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะร่วมกันขนส่งสินค้าแล้วทำให้สินค้าเสียหายเป็นคดีนี้ จึงไม่มีข้อสงสัยว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับพิจารณาพิพากษาคดีชอบแล้ว
จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับจ้างจากผู้เอาประกันภัยจัดการนำสินค้าออกจากท่าเรือกรุงเทพ ผ่านพิธีศุลกากรและขนส่งสินค้าจากท่าเรือกรุงเทพไปยังโรงงานของผู้เอาประกันภัยรวมทั้งการเคลื่อนย้ายเครื่องจักรดังกล่าวไปติดตั้งในโรงงานของผู้เอาประกันภัยโดยจำเลยที่ 1 เรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้เอาประกันภัย การที่จำเลยที่ 1 ไปติดต่อเช่ารถฟอร์คลิฟท์จากจำเลยที่ 2 มาดำเนินการในส่วนของการเคลื่อนย้ายและติดตั้งเครื่องจักร จำเลยที่ 2 มิได้ทำการขนส่งเครื่องจักรแม้เพียงช่วงใดช่วงหนึ่ง จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งอื่น แต่ถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการดำเนินการขนย้ายและติดตั้งเครื่องจักร จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 616

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22319/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งทางอากาศ สินค้าเสียหาย และข้อจำกัดความรับผิดตามกฎหมาย
ในการขนส่งสินค้ารายนี้ สินค้าถูกส่งมากับเที่ยวบินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งลงจอดที่สนามบินอู่ตะเภาเนื่องจากสนามบินสุวรรณภูมิถูกปิดเพราะเหตุประท้วง แล้วส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 4 จากนั้นจำเลยที่ 4 บรรทุกสินค้าที่ได้รับมอบจากสนามบินอู่ตะเภามาที่สนามบินสุวรรณภูมิเพื่อเก็บไว้ในโกดังของจำเลยที่ 4 และดำเนินพิธีการทางศุลกากรที่สนามบินสุวรรณภูมิ กับแจ้งให้บริษัท ฮ. มารับสินค้า โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 เข้าไปมีส่วนร่วมขนส่งสินค้ากับผู้ขนส่งรายอื่นในส่วนใดส่วนหนึ่ง ทั้งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกใบตราส่งทางอากาศ การบรรทุกสินค้าจากสนามบินอู่ตะเภามายังสนามบินสุวรรณภูมิเป็นเพียงการขนย้ายสินค้าเพื่อดำเนินพิธีการทางศุลกากรที่สนามบินสุวรรณภูมิเท่านั้น แสดงว่าจำเลยที่ 4 มีหน้าที่เพียงแจ้งการมาถึงของสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่งมารับสินค้า ถือไม่ได้ว่าเป็นการเข้ามีส่วนร่วมในการขนส่งทอดใดทอดหนึ่ง
จำเลยที่ 4 ได้รับสินค้าและตรวจพบความเสียหายของกล่องบรรจุสินค้าจึงได้ทำรายงานสินค้าเสียหายเอาไว้ แสดงว่าสินค้าต้องถูกกระแทกได้รับความเสียหายในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งระหว่างการขนส่ง แม้จะไม่ปรากฏจากพยานหลักฐานของโจทก์ชัดเจนว่าสินค้าดังกล่าวได้รับความเสียหายในระหว่างการขนส่งของบุคคลใด แต่ได้ความจากพนักงานสำรวจและประเมินความเสียหายว่าเมื่อไปตรวจสอบความเสียหายของสินค้าที่สถานที่รับมอบสินค้าตามคำสั่งให้ส่งสินค้า (Delivery Order) พบสินค้าที่ขนส่งมาโดยเที่ยวบินของจำเลยที่ 3 ได้รับความเสียหาย อันเป็นสินค้าที่จำเลยที่ 3 ได้รับมอบหมายให้ดูแลทำการขนส่ง เมื่อผู้รับสินค้ายังไม่ยินยอมรับมอบสินค้า ถือได้ว่าสินค้าดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการดูแลของจำเลยที่ 3 ผู้ขนส่ง เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่สินค้าดังกล่าว จำเลยที่ 3 ผู้ขนส่งจึงต้องรับผิดในการที่ของอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งมอบชักช้า เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดแต่สภาพแห่งของนั้นเอง หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ส่งหรือผู้รับตราส่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 616 แต่เมื่อมีข้อความระบุข้อจำกัดความรับผิดในการขนส่งทางอากาศของจำเลยที่ 3 ไว้ ซึ่งผู้ส่งหรือผู้แทนได้ลงนามตกลงไว้โดยชัดแจ้ง และผู้ส่งหรือผู้แทนไม่ได้แจ้งต่อจำเลยที่ 3 ว่าประสงค์จะให้รับผิดตามราคาของที่อ้างว่าเสียหาย ข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 625 ส่วนจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏในใบตราส่งทางอากาศว่าได้ระบุข้อจำกัดความรับผิดไว้ด้วย จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเต็มจำนวน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1831-1832/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งต่อความเสียหายของสินค้าจากการขนส่งทางเรือ และข้อยกเว้นเหตุสุดวิสัย
คดีทั้งสองสำนวนนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะผู้ขนส่งโดยจำเลยที่ 1 ตกลงรับขนส่งสินค้าพิพาทไปยังโรงงานของผู้รับตราส่งทั้งสอง การที่มีผู้ขับเรือนำเรือลำเลียงมารับสินค้าพิพาทเพื่อขนส่งไปยังโรงงานของผู้รับตราส่งทั้งสองย่อมเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เมื่อสินค้าพิพาทเสียหายระหว่างการขนส่ง จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าพิพาทนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 616
สภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวนมีว่า จำเลยที่ 1 รับขนส่งสินค้าพิพาทโดยเรือลำเลียงไปยังโรงงานของผู้รับตราส่งทั้งสอง แต่ระหว่างการขนส่งมีน้ำไหลเข้าไปในเรือลำเลียงเป็นเหตุให้สินค้าพิพาทซึ่งเป็นเหล็กม้วนเป็นสนิม ได้รับความเสียหาย ซึ่งผู้ขนส่งต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าพิพาท ส่วนที่โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่าเรือมีรอยรั่วบริเวณด้านบนของกราบขวาเรือ ทำให้น้ำเข้าเรือ เป็นเพียงรายละเอียด เพราะแม้โจทก์มิได้บรรยายฟ้องและนำสืบว่าน้ำไหลเข้าไปในเรือลำเลียงได้อย่างไร จำเลยที่ 1 ก็ยังต้องรับผิดตามสภาพแห่งข้อหาดังกล่าว เว้นแต่จำเลยที่ 1 จะพิสูจน์ได้ว่าการที่น้ำไหลเข้าไปในเรือเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะฟังไม่ได้ว่าน้ำไหลเข้าเรือตามรอยรั่วดังกล่าว แต่ไหลเข้าตามรอยรั่วแห่งอื่น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก็มีอำนาจพิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดในความเสียหายของสินค้าพิพาท หากจำเลยทั้งสองไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายของสินค้าเกิดเพราะเหตุสุดวิสัย ไม่ถือว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางฟังข้อเท็จจริงเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7197/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขนส่งทางทะเล: ความรับผิดของผู้ขนส่งกรณีสินค้าเสียหายจากน้ำทะเล และข้อยกเว้นจำกัดความรับผิด
ด้านหลังใบตราส่งมีข้อความเป็นเงื่อนไขของการขนส่งในข้อ 15 (2) เป็นภาษาอังกฤษว่า สินค้าไม่ว่าจะบรรจุในตู้สินค้าหรือไม่ได้บรรจุในตู้สินค้า ผู้ขนส่งมีสิทธิที่จะนำสินค้าไปวางไว้บนปากระวางเรือได้ ถือได้ว่าการขนส่งสินค้าพิพาทครั้งนี้ได้มีการจดแจ้งข้อตกลงไว้ในใบตราส่งแล้วว่า ผู้ขนส่งและผู้ส่งตกลงกันให้บรรทุกหรืออาจบรรทุกสินค้าพิพาทบนปากระวางได้ ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 11 วรรคสอง การนำสินค้าพิพาทบรรทุกบนปากระวางเรือ จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดข้อตกลงโดยชัดแจ้งในการขนส่งในข้อที่ให้บรรทุกสินค้าในระวางเรือตาม พ.ร.บ.การรับขนส่งทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 11 วรรคห้า ซึ่งจะทำให้ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 กระทำการหรืองดเว้นกระทำการตามมาตรา 60 (1) อันจะทำให้ไม่อาจจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามมาตรา 58 หากมีกรณีที่ต้องรับผิดแต่อย่างใด
แม้จำเลยที่ 1 มีข้อตกลงระบุไว้ในใบตราส่งว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะบรรทุกสินค้าไว้บนปากระวางเรือได้ แต่เนื่องจากตู้สินค้าที่บรรจุสินค้าเครื่องจักรประเภท VACUUM DRYER พร้อมอุปกรณ์เป็นแบบ FLAT RACK มีลักษณะเปิด ตัวตู้สินค้ามีเพียงฐานวางสินค้า สินค้ามีขนาดความสูงและความกว้างเกินกว่าปกติ ทั้งสินค้ามีแผ่นพลาสติกและลังไม้ห่อหุ้มไว้เท่านั้น ตามวิสัยของผู้ประกอบการวิชาชีพที่ย่อมต้องทราบถึงระดับของความเสี่ยงต่อความเสียหายของสินค้าที่มีมากขึ้น ผู้ขนส่งจึงควรให้ข้อมูลเรื่องความเสี่ยงและสอบถามผู้ส่งให้ชัดแจ้งว่า ยังให้วางตู้สินค้าพิพาทบนปากระวางที่ต้องถูกน้ำทะเลซัดเป็นเวลานาน หรือจะให้วางใต้ระวางเรือตำแหน่งใดซึ่งจะต้องเสียค่าระวางเพิ่ม เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้มีการให้ข้อมูลและสอบถามผู้ส่งก่อนจัดวางตู้สินค้าพิพาทและได้จัดวางตู้สินค้าพิพาทบนปากระวางเรือในลักษณะที่มีความเสี่ยงกว่าปกติ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้กระทำการทั้งปวงเท่าที่เป็นธรรมดาและสมควรจะต้องกระทำสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพรับขนของทางทะเลในการจัดระวางบรรทุกให้เหมาะสมและปลอดภัยตามสภาพของสินค้าพิพาทที่ตนรับขนส่ง เมื่อสินค้าพิพาทเกิดความเสียหายเนื่องจากถูกน้ำทะเลกัดเซาะและเป็นสนิม จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งจึงต้องรับผิดเพื่อการเสียหายดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ขนส่งมิได้ให้ข้อมูลและสอบถามผู้ส่งก่อนแล้วสินค้าพิพาทปนเปื้อนน้ำทะเลได้รับความเสียหาย ก็ยังไม่พอฟังได้ว่าความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะการละเลยหรือไม่เอาใจใส่ของจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่ง ทั้งที่รู้ว่าความเสียหายอาจเกิดขึ้นได้เพราะยังมีความเป็นไปได้มากเช่นกันว่า สินค้าอาจไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 จึงยกข้อจำกัดความรับผิดขึ้นต่อสู้โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6271/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของตัวแทนขนส่งสินค้า กรณีสินค้าเสียหายจากน้ำท่วมขณะอยู่ในความดูแลรักษา
การที่กรรมการผู้มีอำนาจร่วมกันลงลายมือชื่อและประทับตราบริษัทโจทก์ในใบแต่งทนายความแต่งตั้ง ว. เป็นทนายโจทก์และ ว. ลงลายมือชื่อเป็นโจทก์ฟ้องคดีนี้ ถือเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ด้วยตนเองโดยแต่งตั้ง ว. เป็นทนายความให้ว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้แทนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 60 วรรคหนึ่ง ไม่ใช่กรณีที่โจทก์มอบอำนาจให้ ว. เป็นผู้แทนโจทก์ตามมาตรา 60 วรรคสอง ซึ่งต้องมีหนังสือมอบอำนาจ
ปัญหาว่า คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 3 ยื่นคำให้การว่า คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางชอบที่จะวินิจฉัยชี้ขาดกฎหมายเบื้องต้นให้ยกฟ้องโจทก์ได้ การสั่งให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องมาใหม่โดยอาศัย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 30 ประกอบข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 ข้อ 6 และวินิจฉัยว่าคำฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า กระบวนพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีบัญญัติไว้โดยเฉพาะใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 ซึ่งมาตรา 26 ได้บัญญัติรับรองในส่วนการดำเนินคดีแพ่งไว้ว่า กระบวนพิจารณาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ. นี้ และข้อกำหนดตามมาตรา 30 ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติและข้อกำหนดดังกล่าว ให้นำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ.มาใช้บังคับโดยอนุโลม ในข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 ซึ่งออกตามความในมาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว ข้อ 6 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ของคำฟ้องใน คดีแพ่งไว้ว่า คำฟ้องที่แสดงให้พอเข้าใจได้ถึงสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ให้ถือว่าเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อพิจารณาคำฟ้องของโจทก์ที่เสนอต่อศาลแต่แรกแล้ว เป็นคำฟ้องที่พอเข้าใจได้แล้วว่า ความเสียหายของสินค้านั้นเป็นเงิน 846,110 บาท ส่วนจะคำนวณอย่างไร มีหลักฐานอ้างอิงหรือไม่ เป็นเรื่องที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า คำฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย กรณีไม่อาจนำหลักเกณฑ์ของคำฟ้องในคดีแพ่งทั่วไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง มาใช้บังคับแก่คดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้ และการที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสั่งให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องให้ชัดเจนขึ้นเป็นการใช้อำนาจตามข้อกำหนด ข้อ 6 วรรคสอง เพื่อประโยชน์แก่จำเลยที่ 3 เอง อุทธรณ์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาว่า สินค้าพิพาทได้รับความเสียหายขณะอยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า การขนส่งคดีนี้เป็นการขนส่งในเทอม CY/CY หรือ FCL/FCL ผู้ซื้อหรือผู้รับตราส่งมีหน้าที่รับตู้สินค้าจากจำเลยที่ 3 ไปเปิดยังโรงงานหรือโกดังของผู้รับตราส่ง ส่วนจำเลยที่ 3 มีหน้าที่ส่งมอบตู้สินค้าให้แก่ผู้รับตราส่งในสภาพเรียบร้อย การเปิดตู้ของเจ้าหน้าที่ศุลกากรมิใช่การตรวจเพื่อส่งมอบสินค้าพิพาทให้แก่ผู้รับตราส่ง กรณีนี้เป็นการขนส่งสินค้าในระบบตู้สินค้าเทอม CY/CY หรือ FCL/FCL การที่ผู้รับตราส่ง รับตู้สินค้าไปจากจำเลยที่ 3 โดยไม่มีข้อทักท้วงเรื่องความเสียหายของสินค้า จึงไม่อาจถือได้ว่าสินค้าพิพาทมิได้เสียหายในขณะนั้นและผู้รับตราส่งรับมอบสินค้าไปจากจำเลยที่ 3 โดยมิได้อิดเอื้อน ข้อบังคับว่าด้วยระเบียบความปลอดภัยการใช้ท่าเรือบริการและความสะดวกต่างๆ ของกิจการท่าเรือ ข้อ 53 ที่ว่าบุคคลใดรับมอบสินค้าไปจากจำเลยที่ 3 โดยไม่อิดเอื้อน และข้อ 57 วรรคสอง (ข) ที่ว่าถ้าผู้รับสินค้าไม่เรียกร้องค่าเสียหายเป็นหนังสือภายใน 7 วัน นับแต่วันรับมอบสินค้า จำเลยที่ 3 จะไม่รับผิดชอบ ไม่อาจนำมาใช้บังคับแก่การรับมอบตู้สินค้าจากจำเลยที่ 3 เพื่อนำไปเปิดที่โรงงานของผู้รับตราส่งอย่างเช่นกรณีนี้ได้ เพราะตู้สินค้าไม่ใช่สินค้าตามความหมายของข้อบังคับดังกล่าว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าความเสียหายของสินค้าพิพาทเกิดขึ้นขณะที่ตู้สินค้าพิพาทอยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยที่ 3 ซึ่งมีหน้าที่รับดูแลรักษาสินค้า เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่สามารถป้องกันมิให้น้ำท่วมขังและซึมเข้าไปในภายตู้สินค้า ทำให้สินค้าพิพาทเปียกชื้นได้รับความเสียหายจำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าพิพาท
คำให้การของจำเลยที่ 3 บรรยายข้อต่อสู้เรื่องอายุความไว้เพียงว่า โจทก์ได้ฟ้องร้องเกินกว่ากำหนดอายุความฝากทรัพย์และอายุความละเมิดแล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้อง ทั้งเป็นคำให้การที่มิได้แสดงเหตุแห่งการขาดอายุความว่าคดีโจทก์ขาดอายุความเพราะอะไร ทำไมถึงขาดอายุความ ถือเป็นคำให้การที่ไม่ ชัดแจ้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งปัญหาเรื่องคดีขาดอายุความเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่คู่ความต้อง นำสืบ และหากเป็นปัญหาข้อกฎหมายก็ไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลไม่อาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่รับวินิจฉัยปัญหาเรื่องอายุความชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1273/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งทางทะเลกรณีสินค้าเสียหายจากตู้สินค้าชำรุด ผู้ขนส่งไม่อาจอ้างข้อจำกัดความรับผิดได้
การขนส่งสินค้าแบบ ซีเอฟเอส/ซีเอฟเอส ซึ่งผู้ขนส่งเป็นผู้รับสินค้าจากผู้ส่งทำการตรวจนับและบรรจุสินค้าเข้าตู้ที่ท่าเรือต้นทาง ผู้ขนส่งต้องตรวจสอบตู้สินค้าว่าอยู่ในสภาพเรียบร้อยเหมาะสมกับสินค้าที่ใช้บรรจุแล้ว และเมื่อขนส่งสินค้าไปถึงท่าเรือปลายทางผู้ขนส่งจะเป็นผู้เปิดตู้เพื่อขนถ่ายสินค้าออกจากตู้เพื่อเตรียมส่งมอบแก่ผู้รับตราส่ง เมื่อความเสียหายของสินค้าเกิดขึ้นจากการที่หลังคาตู้ที่ใช้บรรจุสินค้าพิพาทมีรูรั่ว ซึ่งเป็นความบกพร่องของผู้ขนส่งที่ละเลยไม่จัดเตรียมตู้สินค้าให้ดีเหมาะสมกับสภาพสินค้าที่ตนรับขน แต่กลับนำตู้สินค้าที่ชำรุดมีรูรั่วมาใช้บรรจุสินค้าพิพาท ทั้งที่รู้ว่าอาจเกิดความเสียหายกับสินค้าที่บรรจุภายในตู้นั้นได้ จำเลยทั้งสองในฐานะผู้ขนส่งจึงไม่อาจอ้างข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่ง ตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 60 (1) ประกอบ มาตรา 58 มาเป็นประโยชน์แก่ตนได้
of 8