คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
หน้าที่ตามกฎหมาย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 67 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4074/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีฟอกเงิน: การดำเนินคดีแพ่ง, หน้าที่นำส่งสำเนาอุทธรณ์, และการสั่งค่าฤชาธรรมเนียม
การดำเนินคดีเกี่ยวกับการร้องขอให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดินซึ่งเป็นคดีแพ่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 บังคับให้ยื่นต่อศาลแพ่ง และจะต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับในการดำเนินกระบวนพิจารณา เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านนำส่งสำเนาอุทธรณ์ ผู้คัดค้านจึงมีหน้าที่ดำเนินการตาม ป.วิ.พ. มาตรา 70 วรรคสอง
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 วรรคสอง ให้พนักงานอัยการได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงในการดำเนินคดีเกี่ยวกับการร้องขอให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดิน แต่เมื่อถือว่าเป็นคดีแพ่ง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินโดยไม่ได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมจึงไม่ชอบ เพราะแม้ไม่มีคำขอของคู่ความฝ่ายใดและแม้จะให้เป็นพับกันไป ก็เป็นหน้าที่ของศาลจะต้องสั่งลงในคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 167 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2671/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระหนี้ค่าเช่าซื้อและการโอนสิทธิในรถยนต์ การสละสิทธิของจำเลยทำให้เกิดหน้าที่ในการโอนสิทธิ
แม้ตามคำพิพากษากำหนดให้โจทก์ปฏิบัติการชำระหนี้ตามลำดับ กล่าวคือโจทก์ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจำเลยก่อน หากคืนไม่ได้จึงจะใช้ราคาแทน ไม่ใช่การอันมีกำหนดพึงกระทำเพื่อชำระหนี้นั้นมีหลายอย่างอันโจทก์จะพึงเลือกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 198 ก็ตาม แต่การที่โจทก์ชำระเงินตามจำนวนหนี้ที่โจทก์ต้องใช้ราคาแทนในกรณีที่ไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนได้ รวมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมให้แก่จำเลยจนครบถ้วน แล้วจำเลยรับไว้โดยไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน แสดงว่าจำเลยได้สละสิทธิที่จะบังคับคดีในหนี้ลำดับแรกแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องไปดำเนินการจดทะเบียนโอนสิทธิในรถยนต์ที่เช่าซื้อและส่งมอบคู่มือจดทะเบียนรถให้แก่โจทก์ การที่จำเลยไม่ไปดำเนินการดังกล่าวถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2659/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้ขายวัตถุอันตรายต้องตรวจสอบฉลากวันเดือนปีที่ผลิต หากไม่ตรวจสอบถือว่าละเลยหน้าที่ตามกฎหมาย
พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 มาตรา 4 นิยามคำว่า "ฉลาก" หมายความว่า รูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความใด ๆ ซึ่งแสดงไว้ที่วัตถุอันตราย หรือภาชนะบรรจุ หรือหีบห่อบรรจุ หรือสอดแทรก หรือรวมไว้กับวัตถุอันตราย หรือภาชนะบรรจุ หรือหีบห่อบรรจุ และหมายความรวมถึงเอกสาร หรือคู่มือประกอบการใช้วัตถุอันตรายด้วย มาตรา 62 บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของผู้ขายสินค้าเคมีที่เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 จะต้องระมัดระวังตรวจสอบความเชื่อถือได้ของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าหรือผู้จัดหาวัตถุอันตรายนั้นให้แก่ตน ความถูกต้องของภาชนะบรรจุและฉลาก ความเหมาะสมของการเก็บรักษา และความไว้วางใจได้ของผู้ที่รับมอบวัตถุอันตรายไปจากตนและมาตรา 83 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้ที่ขายวัตถุอันตรายโดยไม่มีฉลากหรือมีฉลากแต่ฉลาก หรือการแสดงฉลากไม่ถูกต้องมีความผิด นอกจากนี้ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง ฉลากและระดับความเป็นพิษของวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ พ.ศ.2538 ข้อ 6 (12) กำหนดให้วัตถุอันตรายที่ขายหรือจำหน่าย หรือแสดงไว้เพื่อขายหรือจำหน่ายต้องมีฉลากขนาดที่เหมาะสมกับภาชนะบรรจุ ปิดหรือพิมพ์ไว้ที่ภาชนะบรรจุวัตถุอันตรายทุกชิ้น ฉลากดังกล่าวต้องมีเดือนปีที่ผลิต หรือหมดอายุการใช้ เช่นนี้ เห็นได้ว่ากฎหมายให้ความสำคัญกับฉลาก วันเดือนปีที่ผลิตที่ผู้ขายต้องแสดงให้ลูกค้าทราบเพื่อรู้ว่าสินค้าหมดอายุเมื่อใด จึงกำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้ผลิตและผู้ขายวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องติดฉลากแสดงรายละเอียดต่าง ๆ ของวัตถุอันตรายที่ผลิตหรือขายทั้งภาชนะที่บรรจุคือขวดไม่ว่าชนิดใดและหีบห่อบรรจุคือกล่อง จำเลยทั้งสองเป็นผู้ขายสารกำจัดวัชพืชและสารกำจัดแมลงของกลางอันเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม โดยจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 ซึ่งผ่านการฝึกอบรมจากกรมวิชาการเกษตรและขึ้นทะเบียนเป็นผู้เชี่ยวชาญสามารถทำหน้าที่ตรวจสอบฉลากและภาชนะวัตถุอันตรายตามที่กฎกระทรวงกำหนดเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ดังนั้น จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของฉลากแสดงวันเดือนปีที่ผลิตสินค้าก่อนส่งให้ลูกค้า... จำเลยทั้งสองไม่ได้เปิดกล่องกระดาษตรวจดูเป็นรายขวดหรือแกลลอนที่บรรจุเนื่องจากเห็นว่าหากกล่องกระดาษมีร่องรอยการแกะก่อนส่งให้ลูกค้าจะมองดูไม่น่าเชื่อถือ ทั้งการตรวจสินค้าดังกล่าวเป็นประเพณีทางการค้าที่ผู้ผลิตสินค้าประเภทนี้และผู้จัดจำหน่ายปฏิบัติต่อกัน จำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดจำหน่ายจึงไม่สามารถล่วงรู้ว่าสินค้าเคมีเกษตรแต่ละชนิดที่บริษัท พ. ผลิตออกมา มีรายการวันเดือนปีที่ผลิตติดไว้ครบถ้วนทุกขวดทุกแกลลอนหรือไม่ เป็นหน้าที่ของบริษัท พ. ที่จะต้องติดรายการวันเดือนปีที่ผลิต นั้น จำเลยทั้งสองสามารถส่งพนักงานไปตรวจสอบสินค้าที่บริษัท พ. ผลิตก่อนที่จะบรรจุกล่อง หากพบว่าฉลากไม่ได้ระบุวันเดือนปีที่ผลิตก็สามารถแก้ไขได้ เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบดังกล่าว กรณีต้องถือว่าจำเลยทั้งสองละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของผู้ขายสินค้าเคมีตามที่ระบุไว้ใน มาตรา 62 แห่ง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1113/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หน้าที่ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย กรณีจำเลยหักเงินจากค่านายหน้าแล้วนำส่งภาษีในชื่อนิติบุคคลอื่น
จำเลยหักเงินจำนวนหนึ่งออกจากเงินผลประโยชน์ที่โจทก์ได้รับจากการเป็นตัวแทนประกันวินาศภัย แต่จำเลยนำส่งเงินจำนวนดังกล่าวแก่กรมสรรพากรโดยแจ้งว่าเป็นภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายของบริษัท บ. ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่มีอัตราภาษีต่างจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทำให้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาน้อยกว่าความเป็นจริง เมื่อจำเลยได้หักเงินออกจากเงินค่านายหน้าเพื่อเป็นภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับเงินได้ของโจทก์แล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4399/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยรับค่าว่าความแล้วไม่ฟ้องคดี ไม่ใช่ความผิดยักยอก แต่มีหน้าที่คืนเงินตามกฎหมาย
แม้โจทก์ไม่บรรยายฟ้องว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายในอายุความ แต่เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพมิได้ต่อสู้คดี จึงต้องถือว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์โดยชอบแล้ว
ผู้เสียหายว่าจ้างจำเลยให้ว่าความ เงินค่าว่าความจึงเป็นสินจ้างตอบแทนแก่จำเลยที่ตกลงรับจะว่าความให้ การที่จำเลยไม่ยื่นฟ้องคดีให้ผู้เสียหายเป็นกรณีที่จำเลยผิดสัญญาจ้างว่าความซึ่งเป็นเรื่องทางแพ่ง จึงไม่เป็นความผิดทางอาญาฐานยักยอกตามฟ้อง
จำเลยได้รับเงินค่าว่าความจากผู้เสียหายแล้วไม่ฟ้องคดีให้แก่ผู้เสียหาย จำเลยจึงต้องคืนเงินแก่ผู้เสียหาย ซึ่งการพิพากษาคดีส่วนแพ่งนี้ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งโดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 แม้โจทก์มิได้ฎีกาในประเด็นดังกล่าว แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นควรยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2757/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระจำยอมในที่ดินจัดสรร: ผู้จัดสรรมีหน้าที่จัดทำและบำรุงรักษาสาธารณูปโภค
ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณูปโภคที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ซึ่งเป็นผู้จัดสรรจัดให้มีขึ้นบนโฉนดที่ดินเลขที่ 10812 และ 10813 ตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินที่จัดสรรในโครงการดังกล่าวตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง และโดยผลของกฎหมายดังกล่าวย่อมเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ผู้จัดสรรหรือจำเลยที่ 4 ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่จะต้องบำรุงรักษากิจการดังกล่าวให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นโดยตลอดไป และจะกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้ อย่างไรก็ตาม จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดที่ดินเลขที่ 10812 และ 10813 ส่วนจำเลยที่ 3 ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดที่ดินเลขที่ 10813 เนื่องจากจำเลยที่ 3 โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 4 ไปแล้ว สภาพแห่งหนี้จึงไม่เปิดช่องให้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดบังคับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนภาระจำยอมที่ดินพิพาทโฉนดที่ดินเลขที่ 10812 กับบังคับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จดทะเบียนภาระจำยอมที่ดินพิพาทโฉนดที่ดินเลขที่ 10813 แก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสิบเอ็ดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6042/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าของที่ดิน/ทาวน์เฮาส์ไม่เป็นเจ้าของร่วมอาคารชุด จึงไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายส่วนกลาง
บริษัท ส. ได้ทำการจัดสรรที่ดินโดยแบ่งแยกที่ดินเป็นที่ดินก่อสร้างอาคารชุด 24 แปลง ก่อสร้างทาวน์เฮาส์ 56 แปลง และแบ่งเป็นที่ดินก่อสร้างสโมสร สระว่ายน้ำ 1 แปลง เป็นที่ดินสร้างหอสูงเก็บน้ำประปา 1 แปลง ทั้งได้จัดให้มีสาธารณูปโภคเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก เมื่อพิจารณาจากแผนผังโครงการจัดสรรที่ดินแล้วปรากฏว่า สระว่ายน้ำ ถนนภายในโครงการ ที่ดินที่สร้างหอสูงเก็บน้ำประปาเป็นสาธารณูปโภคแก่อาคารชุดทาวน์เฮาส์ภายในโครงการจัดสรรที่ดิน ซึ่งที่ดินอันเป็นที่ตั้งอาคารชุดของโจทก์ทั้งยี่สิบสี่และทาวน์เฮาส์ของจำเลยทั้ง 2 หลัง อยู่ในโครงการจัดสรรที่ดินดังกล่าวด้วย จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ข้อ 30 ซึ่งกำหนดว่า สาธารณูปโภคซึ่งผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาต เช่น ถนน สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น ให้ถือว่าตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินที่จัดสรรและให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์คนต่อไปที่จะบำรุงรักษากิจการดังกล่าวให้คงสภาพดังที่ได้จัดทำขึ้นโดยตลอดไปและจะกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกไปไม่ได้ ที่ดินอันเป็นที่ตั้งหอเก็บน้ำสูง สโมสร สระว่ายน้ำและถนนจึงยังคงเป็นสาธารณูปโภค ตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรทั้งหมด อันได้แก่ ที่ดินอันเป็นที่ตั้งอาคารชุดของโจทก์ทั้งยี่สิบสี่และที่ดินที่ตั้งทาวน์เฮาส์ของจำเลย ดังนั้นโจทก์ทั้งยี่สิบสี่และจำเลยย่อมมีสิทธิในการใช้สอยสาธารณูปโภคดังกล่าวร่วมกัน
ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 33 วรรคสอง บัญญัติให้นิติบุคคลอาคารชุดมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางและให้มีอำนาจกระทำการใดๆ เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ทั้งนี้ตามมติของเจ้าของร่วมภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยให้ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวตามข้อบังคับและตามมติของที่ประชุมใหญ่ เจ้าของร่วมหรือคณะกรรมการโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย รวมทั้งให้มีอำนาจในการฟ้องร้องบังคับชำระหนี้จากเจ้าของร่วมที่ค้างชำระค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 เกิน 6 เดือนขึ้นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 35 และมาตรา 36 ซึ่งตามมาตรา 18 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้เจ้าของร่วมต้องร่วมกันออกค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการให้บริการส่วนรวมและที่เกิดจากเครื่องมือเครื่องใช้ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน และค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดูแลรักษาและการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางตามอัตราส่วนที่เจ้าของร่วมแต่ละคนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลางตามมาตรา 14 หรือตามส่วนแห่งประโยชน์ที่มีต่อห้องชุด ทั้งนี้ตามที่กำหนดในข้อบังคับ โดยที่ตามมาตรา 4 บัญญัติคำนิยามของเจ้าของร่วมว่า เจ้าของห้องชุดในอาคารชุดแต่ละอาคารชุด นอกจากนี้ตามข้อบังคับของโจทก์ทั้งยี่สิบสี่ หมวดที่ 1 ข้อ 2 กำหนดว่า เจ้าของร่วมหมายถึง เจ้าของห้องชุดในอาคารชุด และหมวดที่ 5 ข้อ 15.4 กำหนดว่าเจ้าของร่วมแต่ละรายการจะต้องออกค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดูแลรักษาและการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลาง รวมตลอดถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับดังกล่าวซึ่งตามข้อบังคับดังกล่าวก็มีการกำหนดให้เฉพาะเจ้าของร่วมเท่านั้นที่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของโจทก์ทั้งยี่สิบสี่ ผู้มีหน้าที่ต้องร่วมกันออกค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 คือเจ้าของร่วม ซึ่งหมายถึงเจ้าของห้องชุดในอาคารชุดเท่านั้น เมื่อจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและทาวน์เฮาส์โดยมิได้เป็นเจ้าของห้องชุดในอาคารชุด จึงมิใช่เป็นเจ้าของร่วมในอาคารชุดร่วมกับโจทก์ทั้งยี่สิบสี่จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับตาม พ.ร.บ.อาคารชุดและข้อบังคับดังกล่าวและไม่ต้องรับผิดร่วมกันออกค่าใช้จ่ายแก่โจทก์ทั้งยี่สิบสี่แต่อย่างใด แม้ก่อนหน้านี้โจทก์ทั้งยี่สิบสี่จะได้มีการเรียกประชุมโดยมีจำเลยเข้าร่วมประชุมด้วย และยินยอมชำระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางตามมติของโจทก์ทั้งยี่สิบสี่ก็ตามก็ยังไม่ถือว่าเป็นข้อผูกพันที่จำเลยจะต้องยึดถือปฏิบัติตลอดไปเนื่องจากมิใช่หน้าที่ตามกฎหมาย ทั้งไม่อาจถือว่าการที่จำเลยตกลงยินยอมชำระเงินค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางก่อนหน้านั้นเป็นการตกลงทำสัญญากับโจทก์ทั้งยี่สิบสี่โดยปริยายเนื่องจากเป็นการชำระไปตามที่จำเลยเข้าใจว่ามีหน้าที่ต้องชำระ เมื่อจำเลยทราบว่าไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ จำเลยย่อมมีอำนาจยกเลิกการปฏิบัติตามมติของโจทก์ทั้งยี่สิบสี่โดยปฏิเสธที่จะชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าวต่อไปได้ โจทก์ทั้งยี่สิบสี่ไม่มีอำนาจเรียกให้จำเลยชำระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลาง
of 7