คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เพิกถอนมติ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 66 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 590/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมอาคารชุด, การค้างชำระค่าส่วนกลาง, สิทธิในการใช้ทรัพย์ส่วนบุคคล, และระยะเวลาการใช้สิทธิเรียกร้อง
พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มิได้กำหนดเวลาร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมอันผิดระเบียบไว้ จึงต้องวินิจฉัยคดีโดยอาศัยบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 เมื่อพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติการจัดตั้งนิติบุคคลอาคารชุด ผู้จัดการและคณะกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งโดยมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุด อันมีลักษณะคล้ายคลึงกับวิธีจัดการบริษัทจำกัด เหตุนี้จึงต้องนำ ป.พ.พ. มาตรา 1195 มาใช้บังคับเช่นกัน ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1195 บัญญัติให้การร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้น ต้องร้องขอภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันลงมติ ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้การจัดการนิติบุคคลอาคารชุดเป็นไปโดยรวดเร็วและมีประสิทธิภาพตรงตามความประสงค์ของเจ้าของร่วมทั้งหลายเมื่อโจทก์ทั้งสิบสองต่างเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดของตนในอาคารชุดซึ่งถือเป็นทรัพย์ส่วนบุคคลตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 4 โจทก์ทั้งสิบสองย่อมมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนตาม ป.พ พ. มาตรา 1336 จำเลยที่ 1 คงมีหน้าที่รับผิดชอบจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดและมีอำนาจกระทำการใด ๆ เพื่อประโยชน์ตามมติเจ้าของร่วมตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 33 วรรคสอง หามีอำนาจกระทำการใดเป็นการรบกวนสิทธิหรือเสื่อมความสะดวกในการใช้ทรัพย์ส่วนบุคคลของเจ้าของร่วมไม่ การที่จำเลยที่ 1 จะไม่ส่งมอบบัตรผ่านประตูหรือคีย์การ์ดให้แก่โจทก์ทั้งสิบสองซึ่งค้างชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ย่อมทำให้โจทก์ทั้งสิบสองเสื่อมเสียสิทธิในการใช้สอยทรัพย์ส่วนบุคคลของโจทก์ทั้งสิบสอง จึงไม่อาจกระทำได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 564/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจ่ายค่าตอบแทนกรรมการสหกรณ์หลังมีคำสั่งเพิกถอนมติเลือกตั้ง: เงินค่าตอบแทนที่ได้รับก่อนคำสั่งเพิกถอนไม่เป็นลาภมิควรได้ แต่โบนัสหลังคำสั่งเพิกถอนเป็นลาภมิควรได้
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2552 ที่ประชุมใหญ่สหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด มีมติเลือกจำเลยเป็นกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ดังกล่าว ต่อมาสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด ได้แต่งตั้งจำเลยเป็นผู้แทนของสหกรณ์เพื่อเข้าร่วมประชุมใหญ่ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด โจทก์และที่ประชุมใหญ่ของโจทก์มีมติเลือกจำเลยเป็นกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์ กรณีการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยเป็นไปตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายหรือมติคณะกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์ การที่โจทก์จ่ายเงินค่าเบี้ยประชุมและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นให้แก่จำเลยเป็นการปฏิบัติตามระเบียบของโจทก์ซึ่งเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของจำเลยที่จะได้รับจากการทำงานของตน ขณะเดียวกันโจทก์ก็ได้ผลแห่งการงานที่จำเลยได้กระทำในระหว่างที่เป็นกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์เป็นการตอบแทนด้วย แม้ภายหลังรองนายทะเบียนสหกรณ์ซึ่งควบคุมและกำกับการดำเนินกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด มีหนังสือแจ้งเพิกถอนมติการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2552 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2552 ของสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด เรื่องการสรรหากรรมการดำเนินการ ก็เป็นเพียงเรื่องที่จำเลยขาดคุณสมบัติการเป็นกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด เป็นเหตุให้จำเลยพ้นจากตำแหน่งกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด และกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์เท่านั้น หาเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิเรียกเงินและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นที่จำเลยมีสิทธิได้รับโดยชอบด้วยกฎหมายในระหว่างที่ยังเป็นกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์คืนจากจำเลยไม่ เงินค่าเบี้ยประชุมและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นที่จำเลยได้รับ จึงไม่ใช่กรณีที่จำเลยได้รับมาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และต้องคืนเงินนั้นให้แก่โจทก์ฐานลาภมิควรได้ ส่วนเงินโบนัสประจำปี 2553 ซึ่งเป็นบำเหน็จรางวัลแก่กรรมการดำเนินการและไม่ถือเป็นผลประโยชน์ตอบแทนการทำงานโดยตรง เมื่อที่ประชุมชุมนุมสหกรณ์โจทก์มีมติให้จ่ายโบนัสดังกล่าวแก่กรรมการดำเนินการรวมทั้งจำเลย หลังจากที่รองนายทะเบียนสหกรณ์มีคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2552 ของสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด การที่จำเลยได้รับเงินโบนัสดังกล่าวไปจากโจทก์จึงเป็นการได้รับไปโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ซึ่งเป็นลาภมิควรได้ การที่โจทก์จ่ายเงินโบนัสดังกล่าวให้แก่จำเลยไปย่อมเป็นกรณีที่โจทก์ได้กระทำการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินโบนัสดังกล่าวคืนจากจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2943/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่หมู่บ้านจัดสรร และการบริหารจัดการพื้นที่ส่วนกลางตาม พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน
ตามคำฟ้องและคําขอท้ายฟ้องเป็นกรณีโจทก์ทั้งสองโต้แย้งเกี่ยวกับมติที่ประชุมใหญ่โดยอ้างว่ามติที่ประชุมใหญ่สามัญสมาชิกไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับของจําเลย และมีคําขอบังคับขอให้ศาลสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสองขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี ซึ่งกฎหมายกำหนดระยะเวลาในการใช้สิทธิไว้เป็นการเฉพาะแล้ว โจทก์ทั้งสองจะอ้างว่าโจทก์ทั้งสองฟ้องให้จําเลยรับผิดในมูลละเมิด จึงต้องนําอายุความละเมิดมาใช้บังคับกับกรณีการขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่หาได้ไม่
แม้ข้อบังคับนิติบุคคลจําเลย จะมีข้อความว่าต้องร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติในการประชุมครั้งนั้นภายใน 30 นับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่ลงมติ โดยไม่ปรากฏหน่วยนับเป็นวัน เดือน หรือปี แต่ข้อบังคับนิติบุคคลดังกล่าวไม่ใช่พยานหลักฐานที่มีกฎหมายบังคับว่าต้องมีเอกสารมาแสดงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคหนึ่ง (ข) จึงไม่ต้องห้ามที่จะนําพยานบุคคลมานําสืบแก้ไขเพิ่มเติมข้อความในเอกสาร เมื่อผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรมาเบิกความยืนยันว่าการร้องขอเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ที่ลงมติโดยฝ่าฝืนกฎหมายหรือข้อบังคับ จะต้องยื่นคําร้องขอต่อศาลภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันลงมติ สอดคล้องกับกฎกระทรวงว่าด้วยการขอจดทะเบียนจัดตั้ง การบริหาร การควบและการยกเลิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ.ศ. 2545 ข้อ 15 ดังนั้น ตามข้อบังคับของนิติบุคคลจําเลย การร้องขอเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ต้องยื่นฟ้องต่อศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่ลงมติ
ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 43, 44 ประกอบมาตรา 48 สาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดิน เช่น ถนน สวน สนามเด็กเล่น ให้ตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร และให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินที่จะบำรุงรักษาสาธารณูปโภคดังกล่าว แต่ผู้จัดสรรที่ดินจะพ้นจากหน้าที่นี้เมื่อมีการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรแล้ว โดยให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภค ซึ่งมีคณะกรรมการหมู่บ้านจัดสรรเป็นผู้ดำเนินการภายใต้การควบคุมดูแลของที่ประชุมใหญ่สามัญสมาชิก กรณีจึงเป็นอำนาจหน้าที่ของจําเลยตามกฎหมายรวมทั้งตามข้อบังคับและมติของที่ประชุมใหญ่ในการดูแลถนนในหมู่บ้านเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร เหตุที่จําเลยนํากรวยหรือนําหมุดไปปักบริเวณถนนสายหลักข้างบ้านโจทก์ทั้งสองและบริเวณหัวมุมถนนซอยเท่าที่จําเป็นก็เพื่อมิให้สมาชิกในหมู่บ้านนํารถยนต์มาจอด เพื่อความปลอดภัยและความสะดวกในการขับรถเลี้ยวโค้ง เข้า - ออก บริเวณหัวมุมถนน ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของจําเลยตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ในการบริหารจัดการอํานวยความสะดวกในการใช้สาธารณูปโภค ตลอดจนการใช้พื้นที่ส่วนกลางในหมู่บ้านที่พักอาศัยร่วมกันของสมาชิกทั้งหมด การกระทำดังกล่าวของจําเลยมิได้เลือกปฏิบัติเฉพาะสมาชิกผู้หนึ่งผู้ใด จึงถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1753/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องในคดีเพิกถอนมติคณะกรรมการอาคารชุด ต้องแสดงให้เห็นถึงความเสียหายหรือกระทบสิทธิของผู้ฟ้อง
โจทก์เป็นเจ้าของร่วมคนหนึ่งในอาคารชุด ศ. แต่ไม่ได้เป็นกรรมการและไม่ได้เป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดจําเลยที่ 1 ทั้งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการงานของนิติบุคคลอาคารชุดจําเลยที่ 1 ฟ้องขอเพิกถอนมติที่ประชุมคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2560 ซึ่งมีมติให้จําเลยที่ 3 ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ จําเลยที่ 4 ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการ และจําเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด และเพิกถอนการประชุมคณะกรรมการในวาระพิเศษเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2560 ซึ่งมีมติอนุมัติว่าจ้างบริษัท ว. เข้าบริหารจัดการอาคารชุดรายใหม่ โดยกล่าวอ้างในฟ้องเพียงว่า ในการประชุมคณะกรรมการทั้งสองครั้ง ไม่มีการเชิญหรือแจ้งนัดประชุมให้แก่ อ. และ ณ. ซึ่งเป็นกรรมการทราบ ทำให้ อ. และ ณ. ไม่ได้เข้าร่วมประชุม ซึ่ง อ. และ ณ. ผู้ที่ถูกโต้แย้งสิทธิโดยตรงไม่ได้เป็นผู้ฟ้อง เมื่อคําฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่า มติที่ประชุมทั้งสองครั้งก่อให้เกิดความเสียหายต่อโจทก์ หรือนิติบุคคลอาคารชุดจําเลยที่ 1 หรือบรรดาเจ้าของร่วมอย่างไร หรือมติที่ประชุมคณะกรรมการนิติบุคคลทั้งสองครั้งกระทบต่อสิทธิของโจทก์อย่างไร จําเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการคนหนึ่งที่คณะกรรมการมีมติแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2560 ตามที่ที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมให้อำนาจไว้ และบริษัท ว. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่คณะกรรมการมีมติอนุมัติว่าจ้างให้เข้าบริหารจัดการอาคารชุดรายใหม่เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2560 ฟ้องโจทก์ก็มิได้ระบุว่าจําเลยที่ 2 และบริษัท ว. ได้ปฏิบัติหน้าที่หรือทำงานผิดพลาดบกพร่องหรือทุจริตแต่อย่างใด ทั้งมติที่ประชุมที่โจทก์ขอเพิกถอนนั้นมีการลงมติตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2560 และวันที่ 3 ธันวาคม 2560 ตามลำดับ แต่โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2561 ล่วงเลยเวลานานหลายเดือน และยังขอให้จําเลยที่ 2 คืนเงินเดือนหรือค่าตอบแทนที่ได้รับจากจําเลยที่ 1 ทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2560 โดยอ้างเรื่องไม่ได้มีการเชิญหรือแจ้งนัดประชุมให้ อ. และ ณ. กรรมการทราบเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าจําเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดบกพร่องหรือทุจริตแต่ประการใด จึงเป็นกรณีที่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่า จําเลยทั้งห้าได้กระทำสิ่งใดอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 909/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประชุมใหญ่สมาคม: องค์ประชุม, การส่งหนังสือนัดประชุม, และการเพิกถอนมติที่ชอบด้วยกฎหมาย
การจดทะเบียนกรรมการของสมาคมตาม ป.พ.พ. มาตรา 85 นั้น การตรวจสอบฐานะและความประพฤติของกรรมการก่อนจดทะเบียนเป็นสาระสำคัญในการควบคุมสมาคมเพื่อให้ทราบบุคคลผู้บริหารกิจการสมาคมได้จากหลักฐานทางทะเบียน ผู้คัดค้านจึงมีคณะกรรมการตามจำนวนที่จดทะเบียนไว้ เมื่อกรรมการของผู้คัดค้านเข้าร่วมประชุมครบองค์ประชุม การประชุมและลงมติให้จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปีจึงเป็นไปตามข้อบังคับของผู้คัดค้าน
ในการเรียกประชุมใหญ่ผู้คัดค้านส่งหนังสือนัดประชุมและเอกสารที่เกี่ยวข้องไปยังสมาชิกที่มีชื่อในทะเบียนของผู้คัดค้านก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวันชอบด้วยข้อบังคับของผู้คัดค้านและ ป.พ.พ. มาตรา 95 วรรคหนึ่งแล้ว แม้มีสมาชิกของผู้คัดค้านได้รับหนังสือนัดประชุมก่อนวันนัดน้อยกว่าเจ็ดวัน หรือสมาชิกบางคนไม่ได้รับหนังสือนัดประชุมหากมีจำนวนน้อยมิได้ถึงขนาดที่มีนัยสำคัญต่อผลการลงมติสำคัญใด ๆ ก็ไม่ทำให้การส่งหนังสือนัดประชุมดังกล่าวเป็นการไม่ปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืนข้อบังคับของผู้คัดค้านหรือกฎหมาย ในวันประชุมมีสมาชิกผู้มีสิทธิออกเสียงมาประชุมครบเป็นองค์ประชุมและมีการลงมติโดยชอบแล้ว ย่อมไม่มีเหตุเพิกถอนมติในการประชุมใหญ่ดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4469/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนมติประชุมใหญ่เจ้าของร่วม: สิทธิในการฟ้องร้องและการดำเนินการทางกฎหมายที่ถูกต้อง
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้เข้าร่วมประชุมนิติบุคคลอาคารชุด ส. จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2559 และวันที่ 14 พฤษภาคม 2559 โดยเจ้าของร่วมจำนวนมากที่มอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าร่วมประชุมออกเสียงลงคะแนนแทนโดยใบมอบฉันทะมิได้ปิดอากรแสตมป์ ผู้รับมอบฉันทะจึงไม่มีสิทธิเข้าร่วมประชุมและออกเสียงแทนได้ นอกจากนี้ลายมือชื่อเจ้าของร่วมที่เข้าร่วมประชุมทั้งสองครั้งตามบัญชีรายชื่อนั้นไม่ปรากฏรายละเอียดว่าเกี่ยวข้องกับการประชุมอย่างไรจึงไม่สามารถใช้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินได้ การประชุมและการลงคะแนนตามมติที่ประชุมจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย รายงานการประชุมใหญ่เป็นเท็จ ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการประชุมใหญ่ทั้งสองครั้ง และให้เพิกถอนรายงานการประชุมทั้งสองฉบับ ตามคำร้องดังกล่าวเท่ากับผู้ร้องกล่าวอ้างว่าการประชุมใหญ่สามัญดังกล่าวมีผู้มาประชุมซึ่งมีเสียงลงคะแนนรวมกันน้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนเสียงลงคะแนนทั้งหมดตามพ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 43 แต่พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 ไม่มีบทบัญญัติถึงการดำเนินการเกี่ยวกับการประชุมที่ฝ่าฝืนนั้นแต่อย่างใด จึงต้องวินิจฉัยอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 ซึ่งตามคำร้องของผู้ร้องเป็นการกล่าวอ้างว่า การลงมติของคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดมีเจ้าของร่วมร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุม ไม่มีลักษณะเป็นการประชุมกันจริง เช่นนี้ การประชุมดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นการประชุมใหญ่สามัญของเจ้าของร่วมซึ่งเป็นเจ้าของห้องชุดในวันที่ 30 เมษายน 2559 และวันที่ 14 พฤษภาคม 2559 แต่ต้องถือว่าการประชุมใหญ่สามัญของนิติบุคคลอาคารชุดมิได้เกิดขึ้นจริงและไม่มีการประชุมกันจริง คงมีเพียงการลงมติซึ่งนำไปใช้อ้างต่อนายทะเบียนเพื่อใช้ในการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงอันเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย การที่ผู้ร้องขอให้เพิกถอนมติดังกล่าวจึงมิใช่การร้องขอให้เพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่ที่ผิดระเบียบตาม ป.พ.พ. มาตรา 1195 ที่ต้องขอให้เพิกถอนภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันลงมติ เมื่อวินิจฉัยว่า กรณีไม่ใช่เป็นการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมตามมาตรา 1195 การที่บุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องขอฝ่ายเดียวเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 และมาตรา 188 (1) จะต้องมีกฎหมายบัญญัติรับรองให้ใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องขอในกรณีนั้น ๆ ได้ แต่กรณีตามคำร้องของผู้ร้องไม่มีกฎหมายใดสนับสนุนรับรองให้ผู้ร้องกระทำเช่นนั้นได้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องเป็นคดีนี้ หากผู้ร้องถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ประการใด ผู้ร้องชอบที่จะเสนอคดีต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้โดยเป็นโจทก์ยื่นฟ้องอย่างคดีมีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7
of 7