คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ประเมินภาษี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 719 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 576/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีอากรและเงินเพิ่มที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยจำกัดระยะเวลาการคิดเงินเพิ่มตามกฎหมายที่ใช้บังคับ
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 ฉ มาตรา 112 อัฏฐารส และ ป.รัษฎากร มาตรา 30 มาตรา 88/5 เป็นหลักเกณฑ์ วิธีการและระยะเวลาที่กำหนดไว้สำหรับผู้อุทธรณ์การประเมินที่จะนำคดีมาฟ้องศาลภาษีอากรได้ก็ต่อเมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยชี้ขาดอุทธรณ์แล้วตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 7 (1) และ มาตรา 8 แต่ในส่วนของโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหนี้ภาษีอากร หากโจทก์ทั้งสองเห็นว่าโจทก์ทั้งสองได้แจ้งการประเมินภาษีอากรแก่จำเลยโดยชอบแล้ว จำเลยไม่ได้อุทธรณ์การประเมินดังกล่าวภายในกำหนดตามกฎหมายจึงเป็นหนี้ภาษีอากรเด็ดขาด โจทก์ทั้งสองย่อมใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรให้จำเลยชำระหนี้ภาษีอากรดังกล่าวได้ คดีนี้แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้ใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลางให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่าจำเลยอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรที่พิพาทในคดีนี้เกินกำหนดตามกฎหมาย ก็เป็นเรื่องที่ต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่าจำเลยได้อุทธรณ์การประเมินภาษีอากรภายในกำหนดตามกฎหมายหรือไม่ หากรับฟังได้ว่าจำเลยไม่ได้อุทธรณ์การประเมินภาษีอากรภายในกำหนดตามกฎหมายดังที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้าง ศาลย่อมพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ภาษีอากรค้างได้ แต่หากรับฟังได้ว่าจำเลยได้อุทธรณ์การประเมินภาษีอากรภายในกำหนดตามกฎหมายแล้ว ที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยโดยอ้างเหตุไม่อุทธรณ์ภายในกำหนดตามกฎหมายนั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลย่อมต้องพิพากษายกฟ้องเพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดเสียก่อน การที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษยังไม่ได้วินิจฉัยว่าจำเลยได้อุทธรณ์การประเมินภาษีอากรที่พิพาทในคดีนี้ภายในกำหนดตามกฎหมายหรือไม่ แต่กลับวินิจฉัยไปเลยว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องจึงไม่ชอบ คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษในคดีที่จำเลยในคดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ทั้งสองในคดีนี้ว่า จำเลยอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรเกินกำหนดตามกฎหมาย และจำเลยไม่อาจยกข้อต่อสู้ว่าการประเมินเกินระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดและการประเมินรวมทั้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ขึ้นต่อสู้ได้ จำเลยจึงต้องรับผิดตามการประเมิน
จำเลยนำเข้าสินค้าระหว่างเดือนธันวาคม 2550 ถึง เดือนตุลาคม 2551 ความรับผิดอากรขาเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าพิพาทเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 ยังมีผลใช้บังคับอยู่ โดยตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวมาตรา 112 จัตวา มิได้บัญญัติว่าเงินเพิ่มอากรขาเข้าจะต้องไม่เกินอากรขาเข้าที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ดังนี้ เมื่อจำเลยชำระอากรขาเข้าไม่ครบถ้วน โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าได้ตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น โดยไม่มีข้อจำกัดว่าจะต้องไม่เกินอากรขาเข้าที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม แม้ต่อมาวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 จะได้มี พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 ใช้บังคับ โดยให้ยกเลิก พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 และ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 22 บัญญัติว่า "...โดยเงินเพิ่มที่เรียกเก็บนี้ต้องไม่เกินอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม..." ก็คงเป็นผลให้โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรขาเข้าเฉพาะส่วนที่เกินอากรขาเข้านับแต่วันที่ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับแล้วได้อีกต่อไปเท่านั้น แต่มิได้เป็นการลบล้างเงินเพิ่มอากรขาเข้าที่เกิดความรับผิดขึ้นแล้ว ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 ดังนั้น โจทก์ที่ 1 ย่อมมีสิทธิคำนวณเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรขาเข้าส่วนที่เกินอากรขาเข้าได้จนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2560 ส่วนเงินเพิ่มอากรขาเข้าที่เกินอากรขาเข้านับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 โจทก์ที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิคำนวณเรียกเก็บดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 22 ดังกล่าว เมื่อนับถึงวันฟ้องคือ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2560 โจทก์ที่ 1 คำนวณเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรขาเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าแต่ละฉบับเกินอากรขาเข้าที่ต้องเสียเพิ่มแล้ว โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิคำนวณเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรขาเข้าได้ต่อไปจนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งเป็นวันที่กฎหมายเดิมมีผลใช้บังคับเท่านั้น ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาแต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 26

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2210/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน: วิธีการเทียบเคียงค่าเช่าและกำหนดค่ารายปีที่เหมาะสม
ตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง และวรรคสามแห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยเห็นว่าโจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ปีภาษี 2561 สำหรับพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่และพื้นที่ให้เช่าขนาดเล็กโดยไม่แสดงขนาดพื้นที่ แสดงจำนวนร้านค้าขาดไป และโจทก์นำส่งสัญญาเช่าร้านค้าที่อยู่ในพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่และพื้นที่ให้เช่าขนาดเล็กไม่ครบถ้วน ค่าเช่าที่โจทก์แสดงหลักฐานสัญญาเช่าจึงมิใช่จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรจะให้เช่าได้ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยย่อมมีอำนาจประเมินค่ารายปีทรัพย์สินของโจทก์โดยเทียบเคียงกับค่ารายปีทรัพย์สินของห้างสรรพสินค้า ท. ซึ่งมีลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกันได้ โดยในการนำทรัพย์สินมาเทียบเคียงกันนั้น ทรัพย์ที่มีขนาดและพื้นที่เท่ากันควรจะมีค่ารายปีและค่าภาษีที่เท่ากันหรืออย่างน้อยต้องมีความใกล้เคียงกันจึงจะตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น แต่เมื่อได้ความจากพยานจำเลยว่า จำเลยทำการประเมินภาษีโจทก์โดยการนำค่ารายปีเฉลี่ยที่เทียบเคียงได้จากห้างสรรพสินค้า ท. ให้เช่าพื้นที่ขนาดใหญ่มาเป็นฐานในการคำนวณภาษี โดยใช้วิธีการนำค่ารายปีที่ห้างสรรพสินค้า ท. ให้เช่าพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่ในแต่ละร้านมาหารด้วยจำนวนเดือนที่ห้างสรรพสินค้า ท. นำออกให้เช่าแล้วหารด้วยพื้นที่ที่ได้จากการวัดจริงของร้านนั้น ๆ ในห้างสรรพสินค้า ท. จะได้ค่าเช่าเฉลี่ยต่อเดือนของร้านค้านั้น แล้วนำค่าเช่าเฉลี่ยทั้งหมดมารวมกัน ได้ค่าเช่าเฉลี่ยรวมทั้งสิ้น 80,561 บาท ต่อตารางเมตรต่อเดือน ต่อ 36 ร้าน จะได้ค่าเช่าเฉลี่ย 2,238 บาท ต่อตารางเมตรต่อเดือน เมื่อนำมาคำนวณกับพื้นที่ของโจทก์แล้วคิดเป็นค่าภาษี 9,685,247 บาท แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยมิได้คิดค่าเช่าเต็มทั้งปี คงคิดตามระยะเวลาที่โจทก์นำพื้นที่ออกให้เช่าจริง จึงคิดค่าภาษีจำนวน 9,581,412 บาท ส่วนพื้นที่ให้เช่าขนาดเล็กคิดคำนวณด้วยวิธีเดียวกัน ได้ค่าเช่าเฉลี่ยรวมทั้งสิ้น 224,757 บาท ต่อตารางเมตรต่อเดือน ต่อ 59 ร้าน จะได้ค่าเช่าเฉลี่ย 3,810 บาท ต่อตารางเมตรต่อเดือน เมื่อนำมาคำนวณกับพื้นที่ของโจทก์แล้ว คิดเป็นค่าภาษี 1,207,237 บาท แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยมิได้คิดค่าเช่าเต็มทั้งปี คงคิดตามระยะเวลาที่โจทก์นำพื้นที่ออกให้เช่าจริง จึงคิดค่าภาษีจำนวน 775,543 บาท จึงเห็นได้ว่าวิธีการที่จำเลยใช้ค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนต่อร้านมารวมคำนวณแล้วหารด้วยจำนวนร้านเป็นวิธีการคำนวณที่ไม่คำนึงถึงพื้นที่ใช้สอยของแต่ละร้านทั้งที่มีพื้นที่ใช้สอยแตกต่างกันจึงทำให้ไม่สะท้อนถึงค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรของพื้นที่รวมของทุกร้านอย่างแท้จริง ดังจะเห็นได้จากการนำค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือน ตามวิธีการคำนวณของจำเลยไปใช้คำนวณกับพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่และพื้นที่ให้เช่าขนาดเล็กของห้างสรรพสินค้า ท. ซึ่งเป็นทรัพย์สินเทียบเคียง กลับได้ค่ารายปีและค่าภาษีไม่ใกล้เคียงความเป็นจริงที่ห้างสรรพสินค้า ท. ได้เสียภาษีโรงเรือนและที่ดินให้แก่จำเลย ซึ่งวิธีการคำนวณที่เหมาะสมเมื่อนำค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนไปใช้กับทรัพย์สินที่มีขนาดหรือพื้นที่เท่ากับพื้นที่ของห้างสรรพสินค้า ท. แล้ว ทรัพย์สินนั้นก็ควรจะมีค่ารายปีและค่าภาษีที่ใกล้เคียง หรือเท่ากับค่ารายปีและค่าภาษีของห้างสรรพสินค้า ท. วิธีการที่จำเลยใช้ในการหาค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนเพื่อนำมาคำนวณหาค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์จึงไม่เหมาะสม สำหรับวิธีการคำนวณของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษนั้น เป็นการนำค่ารายปีของทุกร้านที่เช่าพื้นที่ในส่วนพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่ และพื้นที่ให้เช่าขนาดเล็กของห้างสรรพสินค้า ท. มาหารพื้นที่รวมของทุกร้านตามที่แบ่งเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่และพื้นที่ขนาดเล็กเพื่อหาค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนของพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่และพื้นที่ให้เช่าขนาดเล็กก่อนแล้วค่อยนำไปคำนวณกับพื้นที่ของโจทก์และระยะเวลาการใช้ทรัพย์สิน ซึ่งเป็นวิธีการคำนวณที่คำนึงถึงค่าเช่าพื้นที่ของแต่ละร้านประกอบกัน จึงเป็นวิธีการคำนวณหาค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรของพื้นที่รวมของทุกร้านในส่วนของพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่และพื้นที่ให้เช่าขนาดเล็กแล้ว เพราะเมื่อนำกลับไปคำนวณกับพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่และพื้นที่ให้เช่าขนาดเล็กของห้างสรรพสินค้า ท. แล้วจะได้ค่าภาษีที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงกับค่าภาษีของห้างสรรพสินค้า ท. วิธีการคำนวณของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจึงเป็นวิธีการที่เหมาะสม และคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกันในเขตของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นนั้นและชอบด้วยกฎหมายแล้ว และศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3289/2563 และ 3721/2564 ได้วินิจฉัยเกี่ยวกับวิธีการกำหนดค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนสำหรับพื้นที่โรงเรือนของโจทก์สำหรับปีภาษี 2558 และปีภาษี 2560 ตามลำดับ โดยกำหนดค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนสำหรับพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่เท่ากับ 676.72 บาท และสำหรับพื้นที่ให้เช่าขนาดเล็กเท่ากับ 2,673.05 บาท ต่อตารางเมตรต่อเดือน เมื่อไม่ปรากฏพฤติการณ์แห่งคดีว่าพื้นที่โรงเรือนของโจทก์มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะการใช้แตกต่างไปจากปีภาษี 2558 และปีภาษี 2560 แต่อย่างใด จึงให้กำหนดค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนสำหรับปีภาษี 2561 พื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่เท่ากับ 676.72 บาท และพื้นที่ให้เช่าขนาดเล็กเท่ากับ 2,673.05 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2154/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับสถานพยาบาลที่เจ้าของดำเนินกิจการเอง ต้องประเมินตามรายรับจริงและหลักเกณฑ์ที่กำหนด
โจทก์เป็นเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเองจึงเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจําเลยมีอำนาจประเมินค่ารายปีและค่าภาษีพิพาท โดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 ซึ่งจําเลยมีคำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ 1856/2550 เรื่อง การประเมินค่ารายปีของทรัพย์สิน ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2550 และบันทึกข้อความของกรุงเทพมหานครที่ กท. 1302/222 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 เรื่อง การกำหนดอัตราค่าเช่ามาตรฐานกลางเพื่อใช้ประกอบในการประเมินค่ารายปีภาษีโรงเรือนและที่ดิน ข้อ 19 โรงพยาบาล โพลีคลินิกระบุให้พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดค่ารายปีโดยนํารายรับจริงจากค่าห้องพักผู้ป่วยรวมตลอดปี ตามรายละเอียดที่ผู้รับประเมินแจ้ง หรือตรวจสอบจากงบแสดงฐานะการเงินของโรงพยาบาลนั้น ๆ หักด้วยค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่รวมอยู่ด้วย (เช่น ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้าฯ) ในอัตราร้อยละ 20 อันเป็นวิธีการกำหนดค่ารายปีตามบันทึกข้อความดังกล่าวของจําเลยเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ใช้เป็นแนวทางประกอบการประเมินค่ารายปีภาษีโรงเรือนและที่ดิน ซึ่งกำหนดอัตราค่าเช่ามาตรฐานกลางแบ่งตามประเภทของทรัพย์สินรวม 19 ประเภท โดยโรงเรือนของโจทก์จัดอยู่ในประเภท 19 โรงพยาบาล โพลีคลินิก และได้จําแนกประเภทของโรงพยาบาล โพลีคลินิก ออกเป็น 2 ประเภทอีกด้วย คือ 1.โรงพยาบาล โพลีคลินิก ที่สร้างอาคารเอกเทศเป็นสถานพยาบาลขนาดใหญ่ และ 2.โรงพยาบาล โพลีคลินิก ที่ดัดแปลงต่อเติมมาจากตึกแถว หลักเกณฑ์การกำหนดค่ารายปีพื้นที่ส่วนห้องพักผู้ป่วย ดังนั้น วิธีการกำหนดค่ารายปีของจําเลยตามบันทึกข้อความดังกล่าว จําเลยกำหนดขึ้นโดยคํานึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของมาตรา 8 วรรคสาม เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของจําเลยมีแนวทางปฏิบัติเดียวกันในการเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน กรณีโรงเรือนที่มีลักษณะพิเศษที่หาค่าเช่าไม่ได้ หรือที่เจ้าของใช้ประกอบกิจการเอง แต่การประเมินค่ารายปีและค่าภาษีสำหรับปีภาษีพิพาทแก่โจทก์ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจําเลยไม่ถือเป็นแนวทางปฏิบัติ เมื่อพิเคราะห์บัญชีและเอกสารของโจทก์จะเห็นได้ว่า มีการลงรายการทางบัญชีแต่ละช่วงเวลาโดยระบุชื่อนามสกุลของผู้ป่วยไว้อย่างละเอียด มีการลงบัญชีแยกประเภทไว้อย่างสมบูรณ์โดยมีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตรับรองความถูกต้อง และรายงานของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตของ พ. มีข้อมูลรายได้สุทธิสอดคล้องถูกต้องตรงกับงบการเงินซึ่งจําเลยไม่เคยโต้แย้งถึงความถูกต้องแท้จริงของเอกสารทางบัญชีของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต จึงน่าเชื่อว่าโจทก์แสดงรายการรายรับจริงจากค่าห้องพักผู้ป่วยรวมตลอดปีตามแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน โจทก์ประกอบกิจการสถานพยาบาล มีรายได้หลายประเภท เช่น ค่ายา ค่าแพทย์ ค่าอุปกรณ์ และเครื่องมือทางการแพทย์ ค่าอาหาร รายได้จากผู้ป่วยนอกที่ไม่ได้นอนพักห้องผู้ป่วย รายได้จากผู้ป่วยในที่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล และรายได้ค่าบริการรักษาทางการแพทย์อื่น ๆ กำไรของแต่ละประเภทของปีภาษีย่อมแตกต่างกันไปแล้วแต่การให้บริการของโจทก์ การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจําเลยประเมินค่ารายปีและภาษีจากราคาค่าห้องหรือค่าเตียงแต่ละประเภทคูณด้วยจำนวนครั้งที่ใช้ห้องหรือเตียงในแต่ละประเภทในปี 2557 และ 2558 ตามข้อมูลที่โจทก์นําส่งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และเปรียบเทียบสัดส่วนหรือค่าเฉลี่ยระหว่างรายได้ค่าห้องพักผู้ป่วยกับรายได้รวมหรือกำไรหลายปีมาเทียบแล้วนํามากำหนดค่ารายปีของปีภาษี 2558 และปีภาษี 2559 เป็นหลักเพื่อเรียกเก็บค่าภาษีแล้วบวกเพิ่มอีกร้อยละ 6.54 และร้อยละ 0.23 ตามลำดับ โดยให้เหตุผลว่าโจทก์แสดงค่าห้องพักผู้ป่วยน้อยกว่าความเป็นจริงจึงไม่ใช่ค่าเช่าอันสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ทั้งที่โจทก์แจ้งรายได้ค่าห้องพักผู้ป่วยจริงประจำปีภาษี 2558 จำนวน 32,993,614.42 บาท และประจำปีภาษี 2559 จำนวน 31,865,492.21 บาท โดยโจทก์มีรายงานของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตรับรองว่าได้ทำการตรวจสอบรายได้ค่าห้องและส่วนลดค่าห้องของโจทก์สำหรับปี 2557 และปี 2558 แล้ว ทั้งจําเลยไม่เคยโต้แย้งหรือนําสืบถึงความไม่น่าเชื่อถือของรายงานของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตทั้งสองฉบับดังกล่าวแต่อย่างใด กรณีจึงรับฟังได้ว่าโจทก์มีรายได้ค่าห้องพักรับจริงในปี 2557 เป็นเงิน 32,993,614.42 บาท และปี 2558 เป็นเงิน 31,865,492.21 บาท การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจําเลยจึงไม่ชอบ ส่วนที่จําเลยอ้างว่าคณะกรรมการพิจารณาคําร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่มีมติให้แก้ไขการประเมินของเจ้าพนักงานโดยกำหนดค่ารายปีจากจำนวน ห้องพักผู้ป่วยและจำนวนเตียงคนไข้ที่มีการใช้งานในปี 2557 และปี 2558 ตามข้อมูลที่โจทก์อ้างส่ง โดยค่ารายปีห้องพักผู้ป่วยของโจทก์แยกต่างหากจากรายได้ค่าอาหาร จึงต้องกำหนดค่ารายปีพื้นที่ส่วนห้องพักผู้ป่วยต้องหักด้วยค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่รวมอยู่ด้วยในอัตราร้อยละ 20 ตามหลักเกณฑ์ที่กรุงเทพมหานครกำหนดไว้ดังกล่าว จากข้อมูลตารางสรุปที่แสดงรายละเอียดอัตราค่าเช่าห้องพักที่โจทก์จัดทำขึ้น จึงกำหนดค่ารายปีและค่าภาษีจากห้องจำนวน 214 ห้อง จำนวนเตียงที่เปิดให้ใช้ 257 เตียง ในหนึ่งปี 365 วัน เมื่อคำนวณรายได้จากห้องพักผู้ป่วยแยกตามประเภทห้องผู้ป่วยโดยกำหนดราคาจากห้อง ห้องละ 300 บาท ถึง 4,600 บาท คูณจำนวนผู้ป่วยที่เข้าพัก (เตียง) ในปีภาษี 2558 จะมีรายรับจากห้องพักผู้ป่วยในปี 2557 เท่ากับ 102,405,200 บาท หักค่าใช้จ่ายในอัตราร้อยละ 20 (กรณีไม่รวมค่าอาหาร) ตามหลักเกณฑ์ที่จําเลยกำหนดไว้จะได้ค่ารายปีเป็นเงินเท่ากับ 81,924,160 บาท คิดเป็นค่าภาษีเท่ากับ 10,240,520 บาท และในปีภาษี 2559 จะมีรายรับจากห้องพักผู้ป่วยในปี 2558 เท่ากับ 99,155,400 บาท หักค่าใช้จ่ายในอัตราร้อยละ 20 (กรณีไม่รวมค่าอาหาร) ตามหลักเกณฑ์ที่จําเลยกำหนดไว้จะได้ค่ารายปีเป็นเงินเท่ากับ 79,324,320 บาท คิดเป็นค่าภาษีเท่ากับ 9,915,540 บาท เห็นว่า วิธีการที่จําเลยใช้กำหนดค่ารายปีเป็นการกำหนดค่ารายปีและค่าภาษีแตกต่างจากแนวปฏิบัติ เมื่อคําชี้ขาดของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครยังคงนําการประเมินค่ารายปีที่ไม่ชอบโดยนํารายได้ค่าห้องพักรวมกับค่าส่วนลดทางการค้าและค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์รวมเข้าด้วยกันเป็นฐานในการประเมินหาได้ประเมินตามแนวปฏิบัติ โดยนํารายรับจริงจากค่าห้องพักผู้ป่วยรวมตลอดปีตามรายละเอียดที่ผู้ประเมินแจ้ง หรือตรวจสอบจากงบแสดงฐานะการเงินของสถานพยาบาลนั้น ๆ หักด้วยค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่รวมอยู่ เช่น ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ เฟอร์นิเจอร์ และสิ่งอํานวยความสะดวกอื่น ๆ ในห้อง ในอัตราร้อยละ 20 คําชี้ขาดของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจึงไม่ชอบด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6128/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินค่ารายปีภาษีโรงเรือนและที่ดิน การเปลี่ยนแปลงค่าเช่ามาตรฐานกลาง และการพิจารณาปัจจัยตามกฎหมาย
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 18 มิได้บัญญัติบังคับให้นําค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้วเป็นค่ารายปีของปีต่อมาโดยตรง กฎหมายเพียงแต่ให้นํามาเป็นหลักในการคํานวณเท่านั้น เนื่องจากค่ารายปีย่อมอาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงแล้วแต่พฤติการณ์และความเป็นจริง และสําหรับค่ารายปีนั้น มาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 ให้ความหมายว่า คือ จํานวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ในกรณีทรัพย์สินนั้นให้เช่าให้ถือว่าค่าเช่านั้นคือค่ารายปี แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรที่ทําให้พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าค่าเช่านั้นมิใช่จํานวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้ หรือเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดําเนินกิจการเองหรือด้วยเหตุประการอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจประเมินค่ารายปีได้ โดยคํานึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทําเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ จึงแสดงว่าค่ารายปีที่จะใช้ในการคํานวณภาษีนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจที่จะแก้ไขกําหนดใหม่ในแต่ละปีที่จะต้องชําระภาษีได้เมื่อมีเหตุอันสมควร
จําเลยประกาศกําหนดราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตรมาตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งเป็นเวลานานสิบกว่าปี ลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทําเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ย่อมเปลี่ยนแปลงไป ทั้งประกาศดังกล่าวไม่ได้มีการจําแนกประเภททรัพย์สินตามประเภทกิจการ โดยในส่วนของพื้นที่ต่อเนื่อง เช่น ถนนคอนกรีต กําหนดค่าเช่า 3 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน ลาดยางแอสฟัลต์ กําหนดค่าเช่า 3 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน สนามหญ้า ลานดิน กําหนดค่าเช่า 1 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน ซึ่งเป็นการกําหนดเป็นการทั่วไปไม่มีการจําแนกแยกประเภทดังเช่นบัญชีกําหนดราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตรประจําปีภาษี 2560 ที่แบ่งแยกตามประเภทของกิจการและลักษณะการใช้ประโยชน์ โดยบัญชีกําหนดราคาค่าเช่ามาตรฐานกลาง ประจําปีภาษี 2560 ได้แยกประเภททรัพย์สินสําหรับกิจการลานตู้คอนเทนเนอร์และลานจอดรถขนส่งสินค้าออกมาโดยเฉพาะในรหัส 13 และในรายการที่ 13.9 คือ ลานใช้ประกอบการ ได้แก่ ลานคอนกรีต ค่าเช่า 8 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน ลานแอสฟัลต์ ค่าเช่า 10 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน ลานหินคลุก ค่าเช่า 25 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน และลานดิน ค่าเช่า 30 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน ซึ่งกิจการลานตู้คอนเทนเนอร์และลานจอดรถขนส่งสินค้าย่อมใช้ลานดังกล่าวในการประกอบกิจการโดยตรง แตกต่างจากทรัพย์สินประเภทอื่นที่ลานคอนกรีต ลานแอสฟัลต์ หรือลานดินเป็นเพียงพื้นที่ต่อเนื่องหรือลานใช้ประโยชน์ ประกอบกับตามรายงานการประชุมคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการประเมินค่ารายปีเทศบาลนครแหลมฉบัง ครั้งที่ 1/2559 และรายงานการประชุมปรึกษาหารือผู้ประกอบกิจการลานใช้ประโยชน์ในเขตเทศบาลนครแหลมฉบัง ครั้งที่ /1 2559 ปรากฏว่า ปัจจุบันมีการประกอบกิจการลานตู้คอนเทนเนอร์จํานวนมากกว่าเดิม ผู้ประกอบการลานตู้คอนเทนเนอร์หรือลานจอดรถขนส่งสินค้าเช่าที่ดินทําลานตู้คอนเทนเนอร์อยู่ข้างบ้านเรือนประชาชนจํานวนมาก ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม และยังได้ความจากคําเบิกความของ พ. ว่าการประกอบกิจการลานตู้คอนเทนเนอร์ต้องใช้รถบรรทุกในการขนส่งตู้สินค้าก่อให้เกิดปัญหาด้านสาธารณสุขต่อประชาชน เกิดเสียงดัง ฝุ่นละออง ปัญหาด้านการจราจรที่มีรถบรรทุกขนส่งตู้สินค้าบนผิวจราจรจํานวนมาก ทําให้พื้นผิวจราจรได้รับผลกระทบอย่างหนักจนชํารุด จําเลยต้องจัดสรรงบประมาณในการบํารุงรักษา ซ่อมแซมพื้นผิวการจราจร และจัดเจ้าหน้าที่ทําความสะอาดพื้นผิวจราจร เห็นได้ว่าเป็นกิจการที่ใช้ทรัพย์สินก่อให้เกิดมลภาวะแก่ชุมชน ซึ่งการกําหนดค่ารายปีนั้น จะต้องคํานึงที่บริการสาธารณะที่ทรัพย์สินได้รับประโยชน์ นอกจากนี้ในการกําหนดราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางของลานตู้คอนเทนเนอร์ของจําเลยได้เทียบเคียงกับเทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์ ซึ่งมีผู้ประกอบการลานตู้คอนเทนเนอร์จํานวนมากเช่นเดียวกับจําเลยมีการกําหนดราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางของลานหินคลุกประจําปีภาษี 2560 ในอัตรา 30 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน ทั้งที่เขตพื้นที่ของเทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์ อยู่ห่างจากท่าเรือแหลมฉบังมากกว่าเขตพื้นที่ของจําเลยกลับมีราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางสูงกว่าเขตพื้นที่ของจําเลย พยานหลักฐานจําเลยที่นําสืบมาจึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จําเลยกําหนดค่ารายปีและค่าภาษีในส่วนของลานแอสฟัลต์และลานหินคลุกโดยคํานึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทําเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 8 วรรคสามแล้ว
ส่วนที่จําเลยประกาศลดราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางสําหรับลานตู้คอนเทนเนอร์และลานจอดรถขนส่งสินค้านั้น เป็นการลดชั่วคราวสําหรับปีภาษี 2561 ถึง 2563 ตามรายงานการประชุมคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการประเมินค่ารายปีเทศบาลนครแหลมฉบัง ครั้งที่ 1/2560 ก็เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ มิได้เป็นเพราะการกําหนดค่ารายปีของปีภาษี 2560 ไม่ชอบแต่อย่างใด การประเมินและคําชี้ขาดของจําเลยจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4794/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือน: การกำหนดค่ารายปีที่เหมาะสมและดอกเบี้ยกรณีชำระภาษีเกิน
ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 18 ไม่ได้บัญญัติบังคับให้นำค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้วมาเป็นค่ารายปีของปีต่อมาโดยตรง เพียงแต่ให้นำมาเป็นหลักในการคำนวณเท่านั้น เนื่องจากค่ารายปีย่อมอาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงแล้วแต่พฤติการณ์และความเป็นจริง สำหรับค่ารายปีนั้น มาตรา 8 วรรคสองและวรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2495 ให้ความหมายว่า คือ จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ในกรณีทรัพย์สินนั้นให้เช่า ให้ถือว่าค่าเช่านั้นคือค่ารายปี แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรที่ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าค่าเช่านั้นมิใช่จำนวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้ หรือเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเองหรือด้วยเหตุประการอื่นให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินค่ารายปีได้ โดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ จึงแสดงว่าค่ารายปีที่จะใช้ในการคำนวณภาษีนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะแก้ไขกำหนดใหม่ในแต่ละปีที่จะต้องชำระภาษีได้เมื่อมีเหตุอันสมควร จากข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วว่า โจทก์ประกอบกิจการห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่จำหน่ายสินค้าให้แก่บุคคลทั่วไป ดังนั้นโจทก์ย่อมได้รับประโยชน์ในส่วนที่เป็นพื้นที่ขายมากกว่าส่วนที่ใช้เป็นพื้นที่สำนักงาน และการนำอาคารห้างสรรพสินค้าให้ผู้อื่นเช่าย่อมได้ค่าเช่ามากกว่าอาคารที่ใช้เป็นพื้นที่สำนักงาน เมื่อลักษณะการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินแตกต่างกัน ค่ารายปีในส่วนพื้นที่ขายย่อมสูงกว่าพื้นที่ที่ใช้เป็นสำนักงาน พื้นที่ขายเป็นพื้นที่ที่โจทก์ใช้ประโยชน์เองจึงเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเอง พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงมีอำนาจประเมินค่ารายปีโดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ได้ ดังนั้น การที่ปีภาษี 2561 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยกำหนดอัตราค่ารายปีในพื้นที่ขายของโจทก์สูงกว่าพื้นที่สำนักงานจึงชอบแล้ว แต่การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยกำหนดค่ารายปีพื้นที่สำนักงานอัตราตารางเมตรละ 80 บาทต่อเดือน ซึ่งแตกต่างกันมากกับพื้นที่ขายที่กำหนดอัตราตารางเมตรละ 1,441.50 บาทต่อเดือน จากการใช้วิธีนำค่าเฉลี่ยจากค่าเช่าและอัตราค่าเช่าของเฉพาะผู้ประกอบการที่เช่าในพื้นที่ของโจทก์ โดยไม่คำนึงถึงค่าเช่าของโรงเรือนใกล้เคียงนั้น ไม่เป็นการคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกัน การประเมินค่ารายปีและคำชี้ขาดของจำเลยจึงไม่ชอบ เมื่อพิจารณาค่าเช่าของผู้ประกอบการที่เช่าพื้นที่ของโจทก์กับค่าเช่าโรงเรือนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับโจทก์มาเทียบเคียงเพื่อกำหนดค่ารายปีพื้นที่ขายของโจทก์ ที่แม้ทรัพย์สินที่นำมาเทียบเคียงดังกล่าวจะมีพื้นที่และลักษณะการประกอบกิจการแตกต่างจากโจทก์ แต่ต่างก็อยู่ในทำเลที่ตั้งและได้รับบริการสาธารณะประโยชน์เช่นเดียวกับโจทก์อันสามารถนำค่าเช่าดังกล่าวมาเทียบเคียงเพื่อกำหนดค่ารายปีพื้นที่ขายของโจทก์ได้ตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 จึงเห็นควรกำหนดค่ารายปีส่วนพื้นที่ขายในอัตราตารางเมตรละ 220 บาทต่อเดือน
การที่จำเลยแก้ไขค่ารายปีของโจทก์เพิ่มขึ้นจากปีที่ล่วงแล้วจะต้องมีเหตุผลอันสมควรหรือมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปในทางที่เห็นได้ว่ามีการพัฒนาที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการสภาพบ้านเมืองและสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันหรือมีการจัดให้มีบริการสาธารณะที่ดียิ่งขึ้นแก่โจทก์กว่าปีที่ล่วงมา เมื่อราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตร (ต่อเดือน) ของจำเลยประเภทห้างสรรพสินค้าในส่วนสำนักงานและพื้นที่ต่อเนื่อง ตามบัญชีกำหนดราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตรในเขตเทศบาลตำบลโคกหล่อ ปี 2561 ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะฟังได้ว่าเป็นอัตราที่มีเหตุผลตามภาวะเศรษฐกิจของเขตจำเลย จึงไม่อาจจะนำราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตร (ต่อเดือน) ของจำเลยประเภทห้างสรรพสินค้าในส่วนสำนักงานและพื้นที่ต่อเนื่องดังกล่าว มาเป็นเกณฑ์ในการประเมินค่ารายปีได้ เมื่อคดีนี้จำเลยเพียงแต่นำราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตร (ต่อเดือน) ของจำเลยมาเป็นเกณฑ์ประเมิน และทางนำสืบไม่ปรากฏหลักเกณฑ์อื่นที่เหมาะสมพอจะใช้คำนวณได้ ประกอบกับทรัพย์สินของโจทก์ส่วนพื้นที่สำนักงานและห้องน้ำ ห้องเครื่อง ห้อง A.H.U. และห้องไฟฟ้า พื้นที่ด้านหลังที่เก็บเงินซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนที่โจทก์ใช้งานเอง มิได้ใช้ประโยชน์ในลักษณะแสดงสินค้าเหมือนกับพื้นที่ขาย ส่วนพื้นที่รับสินค้าและที่พักสินค้าที่จำเลยอ้างว่ามีการใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจมากกว่าและก่อให้เกิดรายได้มากกว่าลานจอดรถนั้น ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าลักษณะการใช้งานพื้นที่รับสินค้าและที่พักสินค้าของโจทก์จะมีลักษณะแตกต่างไปจากพื้นที่ที่ให้รถเข้ามาจอดและขนส่งสินค้าขึ้นลงและก่อให้เกิดประโยชน์เชิงเศรษฐกิจมากกว่าลานจอดรถอย่างไร ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษกำหนดค่ารายปีพื้นที่สำนักงานและห้องน้ำ ห้องเครื่อง ห้อง A.H.U. และห้องไฟฟ้า และพื้นที่ด้านหลังที่เก็บเงิน อัตรา 50 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน และพื้นที่รับสินค้าและที่พักสินค้า อัตรา 10 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือนเท่ากับลานจอดรถนับว่าเป็นอัตราที่เหมาะสมแก่จำเลยในการจัดเก็บภาษีแล้ว
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามี พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ออกใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. และให้ใช้ความใหม่แทน โดยกำหนดให้หนี้เงินนั้น ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี ซึ่งเวลานี้เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี และมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวกำหนดให้บทบัญญัติตามมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ให้ใช้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระหนี้ตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ จึงต้องกำหนดดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดดังกล่าว และอัตราดอกเบี้ยตามมาตรา 7 แห่ง ป.พ.พ. อาจปรับเปลี่ยนโดยพระราชกฤษฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3721/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน: หลักเกณฑ์การคำนวณค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตร และดอกเบี้ยกรณีคืนเงินภาษี
ตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ให้ผู้รับประเมินชำระภาษีปีละครั้งตามค่ารายปีของทรัพย์สิน มาตรา 8 วรรคสาม วางหลักว่า "ในกรณีที่ทรัพย์สินนั้นให้เช่าให้ถือว่าค่าเช่านั้นคือค่ารายปี แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรที่ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าค่าเช่านั้นมิใช่จำนวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้... ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินค่ารายปีได้ โดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์..." ซึ่งคดีนี้ข้อเท็จจริงยุติแล้วว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยเห็นว่าโจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินปีภาษี 2560 สำหรับพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่โดยไม่แสดงขนาดพื้นที่ แสดงจำนวนร้านค้าขาดไปและโจทก์นำส่งสัญญาเช่าร้านค้าที่อยู่ในพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่ไม่ครบถ้วน ค่าเช่าที่โจทก์แสดงหลักฐานสัญญาเช่าจึงมิใช่จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรจะให้เช่าได้ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยย่อมมีอำนาจประเมินค่ารายปีทรัพย์สินของโจทก์โดยเทียบเคียงกับค่ารายปีทรัพย์สินของห้างสรรพสินค้า ท. ซึ่งมีลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกันได้ โดยในการนำทรัพย์สินมาเทียบเคียงกันนั้น ทรัพย์ที่มีขนาดและพื้นที่เท่ากันควรจะมีค่ารายปีและค่าภาษีที่เท่ากันหรืออย่างน้อยต้องมีความใกล้เคียงกันจึงจะตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น แต่เมื่อได้ความจาก ร. เจ้าพนักงานประเมินพยานจำเลยว่า จำเลยทำการประเมินภาษีโจทก์โดยการนำค่ารายปีเฉลี่ยที่เทียบเคียงได้จากห้างสรรพสินค้า ท. ให้เช่าพื้นที่ขนาดใหญ่ ในปีภาษี 2558 มาเป็นฐานในการคำนวณภาษี โดยใช้วิธีการนำค่ารายปีที่ห้างสรรพสินค้า ท. ให้เช่าพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่ในแต่ละร้านมาหารด้วยจำนวนเดือนที่ห้างสรรพสินค้า ท. นำออกให้เช่าแล้วหารด้วยพื้นที่ที่ได้จากการวัดจริงของร้านนั้น ๆ ในห้างสรรพสินค้า ท. จะได้ค่าเฉลี่ยต่อเดือนของร้านค้านั้น แล้วนำค่าเช่าเฉลี่ยทั้งหมดมารวมกัน ได้ค่าเฉลี่ยรวมทั้งสิ้น 80,561 บาท ต่อตารางเมตรต่อเดือนต่อ 36 ร้าน จะได้ค่าเช่าเฉลี่ย 2,238 บาท ต่อตารางเมตรต่อเดือน เมื่อนำมาคำนวณกับพื้นที่ของโจทก์แล้ว คิดเป็นค่ารายปี 76,383,808 บาท ค่าภาษี 9,547,976 บาท จึงเห็นได้ว่าวิธีการที่จำเลยใช้ค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนต่อร้านมารวมคำนวณแล้วหารด้วยจำนวนร้านเป็นวิธีการคำนวณที่ไม่คำนึงถึงพื้นที่ใช้สอยของแต่ละร้านทั้งที่มีพื้นที่ใช้สอยแตกต่างกันจึงทำให้ไม่สะท้อนถึงค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรของพื้นที่รวมของทุกร้านอย่างแท้จริง ดังจะเห็นได้จากการนำค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนตามวิธีการคำนวณของจำเลยไปใช้คำนวณกับพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่ของห้างสรรพสินค้า ท. ซึ่งเป็นทรัพย์สินเทียบเคียง กลับได้ค่ารายปีและค่าภาษีไม่ใกล้เคียงความเป็นจริงที่ห้างสรรพสินค้า ท. ได้เสียภาษีโรงเรือนและที่ดินให้แก่จำเลย ซึ่งวิธีการคำนวณที่เหมาะสมเมื่อนำค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนไปใช้กับทรัพย์สินที่มีขนาดหรือพื้นที่เท่ากับพื้นที่ของห้างสรรพสินค้า ท. แล้ว ทรัพย์สินนั้นก็ควรจะมีค่ารายปีและค่าภาษีที่ใกล้เคียงหรือเท่ากับค่ารายปีและค่าภาษีของห้างสรรพสินค้า ท. วิธีการที่จำเลยใช้ในการหาค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนเพื่อนำมาคำนวณหาค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์จึงไม่เหมาะสม สำหรับวิธีการคำนวณของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษนั้น เป็นการนำค่ารายปีของทุกร้านที่เช่าพื้นที่ในส่วนพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่ของห้างสรรพสินค้า ท. มาหารพื้นที่รวมของทุกร้านเพื่อหาค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนของพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่ก่อนแล้วค่อยนำไปคำนวณกับพื้นที่ของโจทก์และระยะเวลาการใช้ทรัพย์สิน ซึ่งเป็นวิธีการคำนวณที่คำนึงถึงค่าเช่าพื้นที่ของแต่ละร้านประกอบกัน จึงเป็นวิธีการคำนวณหาค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรของพื้นที่รวมของทุกร้านในส่วนของพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่แล้ว เพราะเมื่อนำกลับไปคำนวณกับพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่ของห้างสรรพสินค้า ท. แล้วจะได้ค่าภาษีที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงกับค่าภาษีของห้างสรรพสินค้า ท. วิธีการคำนวณของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจึงเป็นวิธีการที่เหมาะสม และคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้งและบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกันในเขตของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นนั้นและชอบด้วยกฎหมายแล้ว
หนี้ที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์เป็นหนี้เงิน ปกติโจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง การที่ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 39 วรรคสอง บัญญัติว่า "ถ้าศาลตัดสินให้ลดค่าภาษี ท่านให้คืนเงินส่วนที่ลดนั้นภายในสามเดือน โดยไม่คิดค่าอย่างใด" จึงเป็นบทยกเว้นความรับผิดเกี่ยวกับดอกเบี้ยของจำเลยที่จะต้องชำระแก่โจทก์ แต่มีระยะเวลาเพียงสามเดือนเท่านั้น เมื่อพ้นกำหนดนี้แล้ว หากจำเลยยังไม่ชำระ โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราผิดนัดตามกฎหมายแก่จำเลยได้ ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีแก่โจทก์ภายในสามเดือนนับแต่คำพิพากษาถึงที่สุด หากไม่คืนภายในกำหนดให้ชำระดอกเบี้ยจึงชอบแล้ว แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ออกใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว ให้ยกเลิกมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. และให้ใช้ความใหม่แทน โดยกำหนดให้หนี้เงินนั้นให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราร้อยละ 2 ต่อปี ซึ่งปัจจุบันอัตราร้อยละห้าต่อปี และมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวกำหนดให้บทบัญญัติตามมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ให้ใช้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระหนี้ตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ จึงต้องกำหนดดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดดังกล่าวและอัตราดอกเบี้ยตามมาตรา 7 อาจปรับเปลี่ยนโดย พระราชกฤษฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3197/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน: การกำหนดค่ารายปีสำหรับพื้นที่ที่เจ้าของใช้เอง และการคืนเงินภาษีที่ชำระเกิน
ค่ารายปีนั้น มาตรา 8 วรรคสองและวรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ให้ความหมายว่า จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ในกรณีทรัพย์สินนั้นให้เช่าให้ถือว่าค่าเช่านั้นคือค่ารายปี แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรที่ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าค่าเช่านั้นมิใช่จำนวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้ หรือเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเองหรือด้วยเหตุประการอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินค่ารายปีได้ โดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ จึงแสดงว่าค่ารายปีที่จะใช้ในการคำนวณภาษีนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะแก้ไขกำหนดใหม่ในแต่ละปีที่จะต้องชำระภาษีได้เมื่อมีเหตุอันสมควร คดีนี้โจทก์ประกอบกิจการห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่จำหน่ายสินค้าให้แก่บุคคลทั่วไป ดังนั้น โจทก์ย่อมได้รับประโยชน์ในส่วนที่เป็นพื้นที่ขายจากการจำหน่ายสินค้า ส่วนการนำอาคารห้างสรรพสินค้าให้ผู้อื่นเช่าย่อมได้ค่าเช่า ลักษณะการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินแตกต่างกัน พื้นที่ขายเป็นพื้นที่ที่โจทก์ใช้ประโยชน์เองจึงเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเอง พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงมีอำนาจประเมินค่ารายปี โดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้งและบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ได้ แต่การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยกำหนดค่ารายปีพื้นที่ขายอัตราตารางเมตรละ 622.65 บาทต่อเดือน โดยวิธีเทียบเคียงจากพื้นที่ของโจทก์ที่นำออกให้บุคคลภายนอกเช่าซึ่งอยู่ในอาคารเดียวกันกับพื้นที่ขายของโจทก์เพียงประการเดียว ไม่เป็นการคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้งและบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกัน การประเมินค่ารายปีและคำชี้ขาดของจำเลยจึงไม่ชอบ และเมื่อศาลฎีกาเคยวินิจฉัยว่าคำชี้ขาดค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2559 ที่กำหนดค่ารายปี สำหรับพื้นที่ขายของโจทก์ที่พิพาทในอัตราตารางเมตรละ 220 บาทต่อเดือน ชอบด้วยกฎหมายตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2613/2563 ประกอบกับไม่ปรากฏว่ามีปัจจัยอื่นที่จะทำให้ค่ารายปีในปีภาษี 2560 แตกต่างไปจากเดิม จึงเห็นควรกำหนดค่ารายปีส่วนพื้นที่ขายสำหรับปีภาษี 2560 ในอัตราตารางเมตรละ 220 บาทต่อเดือน
อนึ่ง ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ออกใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิกมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. และให้ใช้ความใหม่แทน โดยกำหนดให้หนี้เงินนั้นให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี ซึ่งปัจจุบันอัตราร้อยละ 5 ต่อปี และมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้บทบัญญัติมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ให้ใช้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ จึงต้องกำหนดดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดดังกล่าว และอัตราดอกเบี้ยตามมาตรา 7 อาจปรับเปลี่ยนโดยพระราชกฤษฎีกา จึงให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีที่โจทก์ชำระไว้เกินให้แก่โจทก์ภายในสามเดือนนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด หากไม่คืนภายในกำหนดให้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันครบกำหนดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยให้ปรับเปลี่ยนลดลงหรือเพิ่มขึ้นได้ตามพระราชกฤษฎีกาซึ่งตราขึ้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 7 วรรคสอง บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2871/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีหลังบริษัทถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน: สิทธิในการประเมินและผลของการสิ้นสภาพนิติบุคคล
เมื่อจำเลยถูกขีดชื่อบริษัทออกจากทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท การถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนย่อมเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1273/3 กล่าวคือ บริษัทนั้นสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อบริษัทออกจากทะเบียน และบริษัทที่ถูกขีดชื่อจะกลับคืนฐานะนิติบุคคลอีกครั้งเมื่อศาลได้มีคำสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนเข้าสู่ทะเบียนตามมาตรา 1273/4 แม้ตามมาตรา 1273/4 วรรคหนึ่ง จะกำหนดว่า การที่ศาลมีคำสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนสู่ทะเบียน ให้ถือว่าบริษัทยังคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกเลย โดยศาลจะสั่งและวางข้อกำหนดไว้เป็นประการใด ๆ ตามที่เห็นเป็นการยุติธรรมด้วยก็ได้ เพื่อให้บริษัทกลับคืนสู่ฐานะอันใกล้ที่สุดกับฐานะเดิมเสมือนบริษัทนั้นมิได้ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนเลยก็ตาม แต่การที่จะถือเสมือนว่าบริษัทคงอยู่ตลอดมา เป็นเพียงการรับรองสภาพนิติบุคคลภายหลังศาลมีคำสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนสู่ทะเบียน เมื่อโจทก์ที่ 1 ออกแบบแจ้งการประเมิน ฉบับลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งนับเป็นเวลาเกือบสามปีนับแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2552 ที่จำเลยถูกสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนกลางขีดชื่อออกจากทะเบียนตามมาตรา 1273/3 แต่กลับไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองได้ดำเนินการตรวจสอบสภาพนิติบุคคลของจำเลยและดำเนินการให้มีการจดชื่อบริษัทจำเลยกลับคืนสู่ทะเบียนก่อนมีการออกและส่งแบบแจ้งการประเมินให้แก่จำเลยทั้งที่มีระยะเวลานานที่จะดำเนินการได้ และการตรวจสอบสภาพนิติบุคคลกระทำได้ไม่ยาก แม้ขณะที่มีการส่งแบบแจ้งการประเมินให้แก่จำเลย ณ ภูมิลำเนาตามหนังสือรับรองของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะมีผู้ลงชื่อรับตามไปรษณีย์ตอบรับ แต่ขณะนั้นศาลยังไม่ได้มีคำสั่งให้จดชื่อจำเลยกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน จำเลยจึงไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลในขณะที่มีการส่งแบบแจ้งการประเมินดังกล่าว ต่อมาโจทก์ที่ 1 กลับเพิ่งยื่นคำร้องต่อศาลให้จดชื่อจำเลยกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน โดยระบุในคำร้องด้วยว่าจำเลยถูกขีดชื่อจากทะเบียนเป็นผลให้บริษัทสิ้นสภาพนิติบุคคลแสดงว่าโจทก์ทั้งสองทราบสภาพบุคคลของจำเลยดีอยู่แล้ว และเมื่อศาลมีคำสั่งให้จดชื่อจำเลยกลับคืนสู่ทะเบียนได้ตามมาตรา 1273/4 ก็ไม่ปรากฏว่าศาลมีคำสั่งและวางข้อกำหนดใด ๆ เพิ่มเติมเกี่ยวกับการนี้ ดังนั้น การส่งแบบแจ้งการประเมินให้แก่จำเลยซึ่งเป็นบริษัทที่สิ้นสภาพนิติบุคคลในขณะนั้นจึงไม่สามารถทำได้และยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองได้แจ้งการประเมินอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มแก่จำเลยแล้ว เมื่อการส่งแบบแจ้งการประเมินให้แก่จำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสองจะอ้างว่าจำเลยไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งการประเมิน กรณีจึงต้องถือว่าจำเลยพอใจและการประเมินเป็นอันยุติแล้วไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2646/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม: การประเมินค่าความนิยม การขีดชื่อออกจากทะเบียน และเหตุงดลดเบี้ยปรับ
การมีค่าความนิยมคงเหลือ ณ วันเลิกประกอบกิจการถือเป็นการขายที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตาม ป.รัษฎากร มาตรา 77/2 (1) และมาตรา 77/1 (8) (ฉ) โจทก์ยื่นคำขอแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยมีเจตนาเพียงแจ้งเลิกกิจการเนื่องจากบริษัทของโจทก์มีการโอนกิจการบางส่วนเท่านั้น มิได้ยื่นเพื่อขอใช้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีอากรในกรณีการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน การขายกิจการของโจทก์จึงไม่เป็นไปตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทมหาชน จำกัด หรือบริษัทจำกัด เพื่อยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2542 สัญญาขายและโอนกิจการระหว่างโจทก์กับบริษัท อ. เป็นการซื้อขายกิจการและโอนกิจการบางส่วนหาใช่การควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 77/1 (8) (ฉ) แห่ง ป.รัษฎากร กรณีของโจทก์จึงเป็นกรณีที่มีสินค้าคงเหลือและหรือทรัพย์สินที่ผู้ประกอบการมีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันเลิกกิจการ เมื่อโจทก์มีการขายสินค้าอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โจทก์จึงยังคงมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามการประเมินของจําเลย
การที่โจทก์เปลี่ยนนโยบายบัญชีจากเดิมตัดจําหน่ายค่าความนิยมด้วยวิธีเส้นตรง (Straight-Line Method) มาเป็นวิธีประเมินการด้อยค่าทรัพย์สินค่าความนิยมแทนตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2551 เป็นต้นมา โดยไม่ได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงจากอธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย จึงเป็นการมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 และมาตรา 65 ทวิ (2) แห่ง ป.รัษฎากร การที่โจทก์ยังคงดำเนินกิจการนายหน้าในการจำหน่ายและสามารถขายธุรกิจการเป็นนายหน้าในการจำหน่ายในปี 2553 ได้นั้น จึงเท่ากับว่าโจทก์ยังคงมีค่าความนิยมเหลืออยู่เรื่อยมาจนถึงวันเลิกกิจการ ฐานภาษีสำหรับกรณีของโจทก์ซึ่งมีสินค้าคงเหลือและหรือทรัพย์สินที่โจทก์มีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันเลิกกิจการ จึงต้องใช้ราคาตลาด ณ วันเลิกกิจการตามมาตรา 79/3 (5) และมาตรา 79/3 วรรคสอง แห่ง ป.รัษฎากร เมื่อพิจารณาลักษณะการประกอบกิจการและงบการเงินของโจทก์จะเห็นได้ว่ากิจการของโจทก์ประกอบด้วยสินทรัพย์หลายประเภทรวมถึงค่าความนิยมและสินทรัพย์อื่น การที่โจทก์ขายธุรกิจจัดจําหน่ายในราคา 82,280,000 บาท และขายกิจการนายหน้าในการจําหน่ายในราคา 114,333,525 บาท นั้น จึงเป็นราคาที่รวมมูลค่าของค่าความนิยมและสินทรัพย์อื่นอยู่ด้วย จึงไม่อาจนํามาหักได้ทั้งจำนวน ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินประเมินภาษีโดยอาศัยข้อเท็จจริงจากความผิดที่ตรวจพบกรณีแจ้งเลิกกิจการ โดยใช้วิธีคํานวณราคาตลาดค่าความนิยมตามงบการเงินที่จัดทำตามกฎหมายภาษีเป็นฐานภาษีในการคํานวณภาษีมูลค่าเพิ่ม หาใช่ราคาตลาดตามงบการเงินที่จัดทำตามมาตรฐานการบัญชีที่โจทก์อ้าง และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้นํารายรับบางส่วนมาหักให้แล้ว จึงเป็นวิธีการที่เหมาะสมแก่กรณีแล้ว
ป.รัษฎากร มาตรา 85/18 กำหนดไว้แต่เพียงว่าในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการตามมาตรา 85/15 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนยังคงต้องรับผิดในฐานะผู้ประกอบการจดทะเบียนต่อไปจนกว่าอธิบดีจะสั่งขีดชื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้นออกจากทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85/19 โดยมิได้กําหนดให้ความรับผิดของผู้ประกอบการจดทะเบียนในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นก่อนที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจะถูกอธิบดีกรมสรรพากรมีคำสั่งขีดชื่อออกจากทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหมดสิ้นไปด้วย ดังนั้น การขีดชื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนออกจากทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจึงไม่มีผลเกี่ยวกับความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้เกิดขึ้นก่อนแล้วของผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว คดีนี้ตามข้อ 9 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 189 (พ.ศ.2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มบางกรณี กำหนดให้ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อเลิกประกอบกิจการ หรือแจ้งเลิกประกอบกิจการ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าขณะที่โจทก์ได้รับแจ้งการประเมินยังมิได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี และเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นก่อนที่โจทก์ถูกอธิบดีกรมสรรพากรมีคำสั่งขีดชื่อออกจากทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 85/19 แห่ง ป.รัษฎากร โจทก์จึงหาหลุดพ้นจากความรับผิดในการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มไม่
พฤติการณ์ของโจทก์ที่บันทึกค่าความนิยมของกิจการมีมูลค่า ณ วันที่โจทก์ซื้อกิจการเป็นจำนวนถึง 600,000,000 บาทเศษ แต่ภายหลังจากโจทก์ซื้อกิจการดังกล่าวมาได้ 2 ปีเศษ กลับเปลี่ยนวิธีการทางบัญชีในการบันทึกค่าความนิยมโดยไม่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรและคํานวณค่าความนิยมของกิจการโจทก์ให้มีมูลค่าเป็นศูนย์ ซึ่งข้อเท็จจริงในการบันทึกบัญชีและมูลค่าของค่าความนิยมล้วนแต่เป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรู้เห็นของโจทก์เท่านั้น แต่โจทก์กลับบันทึกบัญชีแสดงมูลค่าของค่าความนิยมให้ต่ำกว่าความเป็นจริงโดยไม่สมเหตุสมผล ถือว่ามีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษี กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรให้งดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแก่โจทก์
of 72