คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ฟ้องแย้ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 754 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21886/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์ฟ้องแย้งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. หากไม่ได้รับรองและไม่ได้เสียค่าขึ้นศาล กระบวนการพิจารณาที่ผิดพลาดทำให้ฎีกาไม่รับได้
โจทก์อุทธรณ์ขอให้บังคับตามฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลย โดยเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์มาเฉพาะตามฟ้องโจทก์ ส่วนฟ้องแย้งไม่ได้เสียค่าขึ้นศาล แต่อุทธรณ์โจทก์ในส่วนฟ้องแย้งมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาในศาลชั้นต้นได้รับรองให้อุทธรณ์ อุทธรณ์โจทก์ในส่วนฟ้องแย้งจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งไม่รับอุทธรณ์โจทก์ในส่วนฟ้องแย้ง การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์โจทก์ในส่วนฟ้องแย้งรวมมาในอุทธรณ์โจทก์ ถือว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์โจทก์ในส่วนฟ้องแย้ง เป็นการไม่ชอบ กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับฟ้องแย้งนับแต่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์โจทก์ในส่วนฟ้องแย้งดังกล่าวมาจนกระทั่งศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำพิพากษาและศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาโจทก์ในส่วนฟ้องแย้งรวมมาในฎีกาโจทก์ จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่มิชอบ ฎีกาโจทก์ในส่วนฟ้องแย้งจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13385/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องแย้งไม่เกี่ยวเนื่องกับคำฟ้องเดิม ศาลไม่รับฟ้องแย้งได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม
แม้การที่โจทก์ฟ้องจำเลยนั้น นอกจากจำเลยจะให้การต่อสู้คดีแล้ว จำเลยยังมีสิทธิฟ้องโจทก์ในเรื่องเดียวกันนั้นเข้ามาในคดีเดียวกันได้ด้วยก็ตาม แต่เนื่องจากคดีนี้จำเลยให้การต่อสู้ว่า สัญญากู้ยืมเงินระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นเอกสารปลอม บันทึกตกลงปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ให้โจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยให้สูงกว่าที่กำหนดในสัญญาโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยและไม่ต้องแจ้งให้จำเลยทราบเป็นโมฆะ เพราะมีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือเข้าลักษณะเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ถ้าหากศาลพิจารณาได้ความจริงดังที่จำเลยกล่าวอ้างเป็นข้อต่อสู้มา ศาลย่อมพิพากษายกฟ้องโจทก์ ซึ่งมีผลให้จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์อยู่แล้ว จำเลยจึงไม่จำต้องฟ้องแย้งขอให้โจทก์คืนสัญญากู้ยืมเงินและหนังสือปรับปรุงโครงสร้างหนี้แก่จำเลย อันจะเป็นเหตุให้ศาลต้องวินิจฉัยชี้ขาดปัญหานั้นซ้ำอีก กรณีถือว่าเป็นฟ้องแย้งที่ไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3745/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้บริโภค: การฟ้องแย้งของจำเลยในคดีผู้บริโภคชอบด้วยกฎหมายและผลของการผิดสัญญา
การแต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคมีหน้าที่ดำเนินคดีแทนผู้บริโภคก็เท่ากับว่าผู้บริโภคได้ร้องขอให้คณะกรรมการดำเนินคดีแทนตน โดยผู้บริโภคมีผลประโยชน์ในมูลความแห่งคดี และหากผู้บริโภคเป็นฝ่ายชนะคดี ศาลจะมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ให้แก่ผู้บริโภค มิได้ชำระให้แก่คณะกรรมการหรือเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคแต่อย่างใด ดังนั้น การที่คณะกรรมการหรือเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฟ้องคดีแทนผู้บริโภค ย่อมต้องถือว่าผู้บริโภคนั้นเป็นโจทก์ผู้ยื่นคำฟ้องเอง ส่วนผู้ประกอบการซึ่งถูกฟ้องมีฐานะเป็นจำเลย และทั้งโจทก์และจำเลยย่อมมีฐานะเป็น "คู่ความ" ตามวิเคราะห์ศัพท์ใน ป.วิ.พ. มาตรา 1 (11) ดังนี้จำเลยผู้ถูกฟ้องย่อมฟ้องแย้งได้ และเมื่อฟ้องแย้งว่า จำเลยพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้บริโภค พร้อมทั้งให้ผู้บริโภคเข้าครอบครองอยู่อาศัยมาโดยตลอด ขอให้ผู้บริโภคชำระราคาส่วนที่เหลือจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับฟ้องเดิมพอจะรวมพิจารณาชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2570/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องแย้งซื้อขายและครอบครองที่ดิน ไม่เป็นฟ้องซ้ำ หากประเด็นต่างจากคดีก่อน
คดีแพ่งเดิมของศาลชั้นต้น ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วและคู่ความในคดีดังกล่าวกับคู่ความในคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกัน แต่ประเด็นในเรื่องก่อนมีว่า จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ ซึ่งศาลในคดีก่อนได้พิพากษายกคำร้องขอโดยวินิจฉัยว่าผู้ร้องซึ่งหมายถึงจำเลยที่ 1 ในคดีนี้อ้างว่าซื้อที่ดินพิพาทจากผู้คัดค้านที่ 1 และมีการส่งมอบการครอบครองให้แก่ผู้ร้องแล้วขณะนั้นที่ดินพิพาทมีเอกสารสิทธิเป็น ส.ค.1 เท่ากับผู้ร้องอ้างการซื้อขายสมบูรณ์โดยการส่งมอบการครอบครองแล้ว การที่ผู้ร้องอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของตนมาตั้งแต่มีการซื้อขายกันโดยมิได้อ้างว่าเป็นของผู้อื่น ย่อมไม่เข้าองค์ประกอบในเรื่องครอบครองปรปักษ์ ครั้นเมื่อผู้คัดค้านที่ 2 ในคดีก่อนกลับมาเป็นโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ร้องในคดีก่อนกับบริวารในคดีนี้ จำเลยทั้งสองก็ต่อสู้คดีและฟ้องแย้งโดยอาศัยเหตุเรื่องที่จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินจากมารดาโจทก์และได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินติดต่อกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน จำเลยที่ 1 จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทอันเป็นเหตุผลเดียวกันกับคำร้องในคดีก่อน ย่อมเท่ากับจำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทและการซื้อขายสมบูรณ์โดยการส่งมอบการครอบครอง จำเลยที่ 1 จึงเป็นเจ้าของที่ดินโดยการครอบครองแล้วดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในคดีก่อนจำเลยที่ 1 จึงฟ้องแย้งขอให้โจทก์จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์มาด้วย ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองจึงมีว่า จำเลยที่ 1 ซื้อและครอบครองที่ดินพิพาทจนได้สิทธิครอบครองก่อนออกโฉนดที่ดินแล้วหรือไม่หรืออีกนัยหนึ่งประเด็นข้อพิพาทมีว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือของจำเลยที่ 1 ซึ่งต่างกับประเด็นวินิจฉัยในเรื่องก่อน ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 จึงมิใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 กรณีจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งเดิมของศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2504/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องแย้งไม่เกี่ยวเนื่องกับคำฟ้องเดิม ศาลไม่รับฟ้องแย้งตามหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและกฎหมายศาลเยาวชนและครอบครัว
ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 โดยอ้างว่า จำเลยที่ 1 เป็นชู้กับจำเลยที่ 2 พร้อมเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการสิ้นสุดแห่งการสมรส ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ที่อ้างว่า โจทก์เอาความเท็จมาฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 โดยไม่สุจริต การที่โจทก์ไปร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 ทำให้จำเลยที่ 2 ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย หากคณะกรรมการหลงเชื่อจะทำให้จำเลยที่ 2 ถูกออกจากงานและเสื่อมเสียชื่อเสียง ขอให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายนั้น เป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดซึ่งไม่ได้อาศัยเหตุแห่งการหย่าและเรียกค่าทดแทนตามฟ้องเดิมเป็นมูลหนี้ เป็นคนละเรื่องคนละประเด็นแตกต่างกันกับคำฟ้องเดิม ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 จึงไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9695-9699/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องแย้งในคดีแรงงานไม่เกี่ยวเนื่องกับฟ้องเดิม ศาลไม่รับพิจารณา
คำฟ้องเดิมเป็นการฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจากการเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้า โดยการกล่าวหาว่าโจทก์ทั้งห้าจงใจทำงานล่าช้า ยุยงส่งเสริมให้ลูกจ้างในแผนกเดียวกันผละงานหรือหยุดงานโดยไม่ชอบ ซึ่งเป็นการเลิกจ้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม อันเป็นฟ้องที่เกี่ยวด้วยสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานและกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน แต่ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ข้อ 7.1 ที่ขอให้บังคับโจทก์ทั้งห้าชดใช้ค่าเสียหายจากการที่โจทก์ทั้งห้าผละงานจนจำเลยที่ 1 ถูกยกเลิกคำสั่งซื้อสินค้าและต้องเสียค่าปรับในการผิดนัดส่งสินค้า เนื่องจากค่าเสียหายดังกล่าวเป็นค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหลังจากมีการเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าแล้ว ประกอบกับข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะนำสืบเป็นคนละประเด็นแตกต่างกัน ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ข้อนี้จึงไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม
ส่วนฟ้องแย้งข้อ 7.2 ที่ขอให้บังคับโจทก์ทั้งห้าชดใช้ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของจำเลยที่ 1 ในการนำผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่นมาฝึกอบรมบุคลากรที่เข้ามาทดแทนพนักงานฝ่ายการผลิต ก็เป็นค่าใช้จ่ายอันเกิดจากสัญญาจ้างแรงงานซึ่งจำเลยที่ 1 ใช้ไปในการว่าจ้างพนักงานอื่นไม่เกี่ยวกับโจทก์ทั้งห้า เมื่อจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าแล้วจะว่าจ้างผู้อื่นหรือไม่ ย่อมเป็นความประสงค์ซึ่งจำเลยที่ 1 ก่อขึ้นแต่ฝ่ายเดียว โจทก์ทั้งห้าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย
สำหรับฟ้องแย้งข้อ 7.3 และ 7.4 ที่ขอให้บังคับโจทก์ทั้งห้าชดใช้ค่าเสียหายจากความเสื่อมเสียชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือ และการเสียโอกาสขายสินค้า เห็นว่า ฟ้องแย้งเป็นคดีอันเกิดจากมูลละเมิดเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานแต่ฟ้องเดิมเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานและกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน แม้ฟ้องเดิมและฟ้องแย้งจะเป็นคดีแรงงานก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงตลอดจนพยานหลักฐานที่จะนำสืบเป็นคนละประเด็นแตกต่างกัน ไม่มีความเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกัน ฟ้องแย้งข้อนี้จึงไม่อาจรับไว้พิจารณารวมกับฟ้องเดิมได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8387-8391/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือมอบอำนาจไม่ถูกต้องตามประมวลรัษฎากร ทำให้ไม่มีอำนาจฟ้องคดี ผลคือฟ้องแย้งตกไป
หนังสือมอบอำนาจที่มอบอำนาจให้ฟ้องคดีสำนวนแรก ระบุข้อความไว้ว่าโจทก์ โดย อ. หุ้นส่วนผู้จัดการ ขอมอบอำนาจให้ ธ. เป็นผู้มีอำนาจยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องเป็นคดีอาญา คดีแพ่ง หรือคดีล้มละลาย ในการนี้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนทนายความ รวมทั้ง...การรับเงินหรือเอกสารจากคู่ความหรือศาล และการดำเนินการในชั้นบังคับคดีเกี่ยวกับการยึดทรัพย์สินหรืออื่นๆ ได้จนเสร็จการ การใดที่ผู้รับมอบอำนาจได้กระทำไปภายในขอบเขตแห่งหนังสือฉบับนี้ให้มีผลผูกพันโจทก์เสมือนกับโจทก์ได้ทำด้วยตนเองทุกประการ ส่วนหนังสือมอบอำนาจที่ให้ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในสำนวนที่สอง จำเลยที่ 1 และที่ 4 ในสำนวนที่สาม จำเลยที่ 1 และที่ 5 ในสำนวนที่สี่ จำเลยที่ 1 และที่ 6 ในสำนวนที่ห้า ข้อความที่ว่าให้มีอำนาจฟ้องรวมถึงผู้เกี่ยวข้องเป็นคดีอาญา คดีแพ่ง หรือคดีล้มละลาย รวมทั้งข้อความอื่นคงเป็นเช่นเดียวกันทุกประการ ดังนี้ การมอบอำนาจดังกล่าวของโจทก์ในแต่ละสำนวนคดีเป็นการมอบอำนาจให้ ธ. ฟ้องร้องดำเนินคดีนี้และคดีเรื่องอื่นต่อจำเลยที่ 1 โดยไม่มีข้อจำกัดว่าเป็นการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีเพียงคดีเดียว จึงเป็นการมอบอำนาจให้กระทำมากกว่าครั้งเดียว ซึ่งตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 ของ ป.รัษฎากร กำหนดในข้อ 7 ว่า กรณี (ข) มอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนร่วมกันกระทำการมากกว่าครั้งเดียวต้องเสียค่าอากรแสตมป์ 30 บาท โจทก์จึงต้องปิดอากรแสตมป์ 30 บาท แต่โจทก์ปิดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจเพียง 10 บาท หนังสือมอบอำนาจจึงเป็นตราสารที่มิได้ปิดแสตมป์ให้บริบูรณ์ในขณะที่โจทก์อ้างเป็นพยานหลักฐาน ไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฎากร มาตรา 118 กรณีย่อมฟังไม่ได้ว่าโจทก์มอบอำนาจให้ ธ. ฟ้องจำเลยที่ 1 ธ. จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ทั้งห้าสำนวนคดีแทนโจทก์ โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหานี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยรวมไปถึงจำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกา และต้องฟังว่า ธ. ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ด้วยเหตุผลเดียวกัน การที่ ธ. ไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ ผลจึงเท่ากับว่าไม่มีตัวโจทก์เข้ามาฟ้องคดี กรณีเช่นนี้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ย่อมตกไป เพราะการดำเนินกระบวนพิจารณาตามฟ้องแย้งนั้นจะต้องมีตัวโจทก์เดิมที่จะเป็นจำเลยตามฟ้องแย้งอยู่ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13839/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องแย้งไม่เคลือบคลุม, อายุความรับผิดสินค้าชำรุด, การยอมรับสภาพหนี้, การแก้ไขสินค้า
จำเลยได้บรรยายฟ้องแย้งให้เข้าใจได้แล้วว่า อุปกรณ์ที่สั่งซื้อจากโจทก์ซึ่งมีความบกพร่องต้องเสียค่าใช้จ่ายในการแก้ไขคือ อุปกรณ์ระบบควบคุมเครื่องปรับอากาศ อุปกรณ์ตรวจจับควัน และอุปกรณ์วาล์วผีเสื้อปิดเปิดน้ำ ซึ่งโจทก์ก็ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า สินค้าอุปกรณ์ดังกล่าวที่ส่งให้จำเลยมิได้ชำรุดบกพร่อง แต่สามารถใช้การได้ดี ความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิดจากความผิดพลาดจากระบบติดตั้งของจำเลยเอง แสดงว่าโจทก์เข้าใจข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามฟ้องแย้งเป็นอย่างดี ส่วนค่าใช้จ่ายในการแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวที่จำเลยต้องว่าจ้างผู้ชำนาญรายใดมาดำเนินการแก้ไขเป็นรายละเอียดที่จำเลยสามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา จำเลยได้บรรยายฟ้องแย้งไว้โดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว ดังนั้น ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่เคลือบคลุม
ภายหลังจากจำเลยได้รับแจ้งจากบริษัท ซ. ให้ทราบถึงค่าใช้จ่ายในการแก้ไขความชำรุดบกพร่องของสินค้าตามหนังสือลงวันที่ 15 ตุลาคม 2542 เอกสารหมาย ล.9 และจำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบถึงค่าใช้จ่ายนั้นแล้ว โจทก์ได้มาดำเนินการแก้ไขในระบบให้จำเลย แต่ไม่อาจแก้ไขให้สมบูรณ์ได้ ดังนี้ ถือได้ว่าโจทก์ผู้เป็นลูกหนี้ได้กระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายแล้วว่าโจทก์ยอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของจำเลยแล้ว อายุความจึงสะดุดหยุดลงนับแต่เวลาดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) แม้จำเลยจะมิได้นำสืบให้เห็นว่าการกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นวันเวลาใดก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่าเป็นระยะเวลาภายหลังวันที่ 15 ตุลาคม 2542 อันเป็นวันที่บริษัท ซ. เจ้าของสินค้ามีหนังสือแจ้งจำเลยถึงจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงแก้ไข เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยให้ชำระหนี้เป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2543 ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้นสิ้นสุดลง จึงต้องเริ่มนับอายุความใหม่นับแต่วันดังกล่าวถึงวันที่ 27 มีนาคม 2543 อันเป็นวันฟ้องแย้ง จึงยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2543 และแม้จะนับแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2542 ถึงวันที่ 27 มีนาคม 2543 อันเป็นวันฟ้องแย้ง ก็ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2542 เช่นกัน ดังนั้น สิทธิเรียกร้องให้โจทก์ผู้ขายรับผิดในความชำรุดบกพร่องของสินค้าที่จำเลยสั่งซื้อจากโจทก์ตามฟ้องแย้งของจำเลยจึงยังไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 474

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11317/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำให้การและการฟ้องแย้งในคดีทรัพย์สินทางปัญญา: การยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การและการรับฟ้องแย้ง
การขอแก้ไขคำให้การต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนวันนัดชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 180 เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนัดชี้สองสถานหรือนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 8 มีนาคม 2553 แต่เมื่อถึงวันนัด ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งงดชี้สองสถานและให้เลื่อนคดีไปนัดสืบพยานโจทก์ในวันอื่น วันที่ 8 มีนาคม 2553 ย่อมมิใช่วันชี้สองสถานหรือวันสืบพยาน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 จำเลยจึงยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การในวันดังกล่าวได้
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยและห้ามจำเลยใช้ ยื่นคำขอจดทะเบียน หรือเกี่ยวข้องในทางใดๆ กับเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ การที่จำเลยฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยโดยอ้างว่า โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่สุจริตทำให้จำเลยสูญเสียรายได้ เนื่องจากต้องเก็บสินค้าที่วางจำหน่ายในท้องตลาดระหว่างรอฟังผลของคดี เป็นฟ้องแย้งโดยอาศัยเหตุที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เป็นข้ออ้าง ฟ้องแย้งจึงเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม และมาตรา 179 วรรท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11043/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์ฟ้องแย้งไม่ชัดเจน ศาลฎีกายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายจากละเมิด
จำเลยทั้งสองฟ้องแย้งขอให้โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความค่าเสียหายที่เกิดแก่รถบรรทุกของจำเลยที่ 2 จากการกระทำละเมิดของโจทก์เท่านั้น จำเลยที่ 1 มิได้ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนความเสียหายในส่วนของจำเลยที่ 1 จากโจทก์ด้วย การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองแล้วมีการยื่นฟ้องอุทธรณ์ โดยระบุชื่อผู้อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 มิได้ระบุชื่อ จำเลยที่ 2 ว่าเป็นผู้อุทธรณ์ แต่เมื่อพิเคราะห์อุทธรณ์ฉบับดังกล่าวทั้งฉบับ จะใช้คำว่า จำเลย โดยมิได้ใช้คำว่า จำเลยที่ 1 และเนื้อหาก็เป็นการโต้แย้งประเด็นที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 โดยโจทก์มิได้ให้การต่อสู้ในประเด็นเรื่องฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ขาดอายุความ และประเด็นว่า โจทก์เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลยที่ 2 ตามฟ้องแย้งเท่านั้นมิได้มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 ทั้งอุทธรณ์ฉบับดังกล่าว ทนายจำเลยทั้งสองก็เป็นผู้ลงชื่อในช่องผู้อุทธรณ์ และเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 มาครบถ้วนแล้ว จึงถือได้ว่า อุทธรณ์ฉบับดังกล่าวเป็นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 มิใช่อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ฉบับดังกล่าว โดยเห็นว่าเป็นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการไม่ชอบ แต่เมื่อสำนวนขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกา โดยโจทก์และจำเลยที่ 2 ต่างนำพยานเข้าสืบในประเด็นข้อนี้จนเสร็จสิ้นกระแสความแล้ว แม้ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่เมื่อศาลฎีกาได้วินิจฉัยปัญหาของกฎหมายแล้ว เพื่อมิให้คดีต้องล่าช้า ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยในประเด็นตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยเสียก่อน
โจทก์มิได้ยกเหตุว่าฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ขาดอายุความขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การแก้ฟ้องแย้ง ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ขาดอายุความจึงเป็นการไม่ชอบ
ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองเป็นการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายของจำเลยที่ 2 จากการกระทำละเมิดของพนักงานโจทก์เท่านั้น จำเลยที่ 1 มิได้เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของจำเลยที่ 1 จากโจทก์ด้วย จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้งโจทก์ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 มาด้วยจึงเป็นการไม่ชอบ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 โดยเห็นว่าฟ้องแย้งขาดอายุความซึ่งไม่ถูกต้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง
of 76