คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ลูกหนี้

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 829 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3106/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการเข้าว่าคดีแพ่งของลูกหนี้ที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และการจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 ซึ่งบัญญัติว่า เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจดังต่อไปนี้ (1) จัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือกระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไป (2) เก็บรวบรวมและรับเงิน หรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่ลูกหนี้ หรือซึ่งลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่น และ (3) ประนีประนอมยอมความ หรือฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ อันเป็นบทบัญญัติที่มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการจัดการและเก็บรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้มาให้ได้มากที่สุด เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ในการขอรับชำระหนี้และมาตรา 25 ซึ่งบัญญัติว่า ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีแพ่งทั้งปวงอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลในขณะที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ และเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจงดการพิจารณาคดีแพ่งนั้นไว้ หรือจะสั่งประการใดตามที่เห็นสมควรก็ได้ ในกรณีที่มีคดีแพ่งอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ค้างพิจารณาอยู่ในศาลในขณะที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งกฎหมายบังคับให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องเข้าว่าคดีแทนลูกหนี้ผู้ถูกฟ้องนั้น ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่าการที่จะให้มีการพิจารณาคดีต่อไปจะยังประโยชน์แก่การจัดการและเก็บรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้มากยิ่งกว่าและมิได้ร้องขอให้งดการพิจารณาคดีไว้แล้ว ศาลย่อมมีอำนาจที่จะสั่งประการใดตามที่เห็นสมควรก็ได้ หาใช่ว่าศาลจะต้องงดการพิจารณาคดีและจำหน่ายคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ทั้งหมดออกจากสารบบความได้เพียงสถานเดียว ซึ่งข้อเท็จจริงในคดีนี้ก็ได้ความว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประสงค์ที่จะให้ศาลพิจารณาคดีต่อไป โดยยื่นคำร้องขอเข้าว่าความแทนจำเลยร่วมที่ 1 และขอให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไปกับยื่นคำให้การมาพร้อมด้วยเช่นนี้ จึงต้องถือว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เข้าว่าความแทนจำเลยร่วมที่ 1 ลูกหนี้ตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติไว้ครบถ้วนแล้ว แม้ผลของคดีอาจทำให้ที่ดินทั้ง 5 แปลง ต้องกลับไปเป็นของจำเลยร่วมที่ 1 ก็เรียกไม่ได้ว่าเป็นเรื่องที่โจทก์จัดการและเก็บรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือฟ้องร้องคดีอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ อันเป็นการก้าวก่ายอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (2) (3) แต่อย่างใด เพราะคดีนี้ โจทก์ได้มีการดำเนินคดีฟ้องร้องก่อนที่จำเลยร่วมที่ 1 จะถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด การที่ศาลชั้นต้นมิได้จำหน่ายคดีของโจทก์ออกจากสารบบความ จึงหาเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15320/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีล้มละลาย: สิทธิในการฟ้องร้องของลูกหนี้ที่อยู่ภายใต้การพิทักษ์ทรัพย์ และข้อจำกัดในการดำเนินคดี
หลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2554 แล้ว โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและบ้านพิพาทของโจทก์และเรียกค่าเสียหายจากการที่โจทก์ไม่อาจนำที่ดินและบ้านพิพาทออกให้เช่าซึ่งจะได้ค่าเช่าไม่น้อยกว่าเดือนละ 60,000 บาท คิดถึงวันฟ้องเป็นเวลา 1 เดือน เป็นเงิน 60,000 บาท พร้อมทั้งค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 60,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาท จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า สัญญาเช่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา จำเลยไม่ได้ผิดสัญญาต่อโจทก์ ขอให้บังคับโจทก์จดทะเบียนสิทธิการเช่าที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่จำเลย ดังนี้คดีโจทก์ในส่วนที่ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและบ้านพิพาทอันเป็นทรัพย์สินของโจทก์ ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยโดยตรงจึงไม่อยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะดำเนินคดีแทนจำเลยตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (3) จำเลยย่อมมีอำนาจต่อสู้คดีได้โดยลำพัง สำหรับค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมานั้นโจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่าเป็นค่าเสียหายนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 พร้อมทั้งค่าเสียหายนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาท เมื่อปรากฏว่าศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2554 ค่าเสียหายดังกล่าวจึงเป็นมูลหนี้อันเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่เกิดขึ้นภายหลังที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว โจทก์ไม่อาจนำมาขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 27, 91 และ 94 โจทก์ชอบที่จะฟ้องจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ในคดีล้มละลายไม่อาจฟ้องเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นจำเลยแทนลูกหนี้หรือเข้าดำเนินคดีนี้แทนลูกหนี้ จำเลยย่อมมีอำนาจต่อสู้คดีได้โดยลำพังทั้งมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ด้วยตนเอง แต่ในส่วนฟ้องแย้งของจำเลยนั้น เป็นการขอให้บังคับโจทก์จดทะเบียนสิทธิการเช่าที่ดินและบ้านพิพาทตามสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาอันเป็นประโยชน์ในทางทรัพย์สินของจำเลย กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยใช้สิทธิฟ้องร้องเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยระหว่างจำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดซึ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 22 (3) ที่ศาลชั้นต้นรับฟ้องแย้งและพิพากษาตามฟ้องแย้งจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14516/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องผู้จัดการมรดกรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ: ต้องฟ้องภายใน 1 ปีนับจากรู้ถึงการเสียชีวิตของลูกหนี้
โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเรียกร้องอันมีต่อ อ. เจ้ามรดก ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ อ. ซึ่งมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายในการจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวให้รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ที่เจ้ามรดกทำไว้กับโจทก์ซึ่งต้องฟ้องภายในกำหนด 1 ปี นับแต่เมื่อได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม หาได้เป็นกรณีที่โจทก์ในฐานะเจ้าของทรัพย์สินใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ที่ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ไม่ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์ในคดีหมายเลขดำที่ 7824/2550 หมายเลขแดงที่ 2979/2551 ของศาลชั้นต้นที่นำมาผูกรวมกับคดีนี้ว่า โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้กองมรดกรู้ถึงความตายของ อ. ตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2549 เมื่อนับแต่วันดังกล่าวจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 26 มิถุนายน 2551 จึงพ้นกำหนด 1 ปี คดีเป็นอันขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12977/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องจากสัญญาเช่าซื้อ: การแจ้งการโอนและการยกข้อต่อสู้ของลูกหนี้
การที่จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ศต 3648 กทม. จากจำเลยที่ 2 แล้วนำไปขายต่อให้โจทก์ มีข้อตกลงให้โจทก์ชำระราคาแก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 มิได้ให้ความยินยอมหรือได้รับคำบอกกล่าวเป็นหนังสือเกี่ยวกับการทำสัญญาขายรถยนต์คันดังกล่าวระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ได้ชำระหนี้ส่วนที่เหลือเป็นค่าเช่าซื้อให้จำเลยที่ 2 ครบถ้วนแล้ว การทำสัญญาขายรถยนต์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ให้ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวได้ แต่เมื่อคำขอสินเชื่อเอนกประสงค์ส่วนบุคคลที่จำเลยที่ 1 ตกลงกับจำเลยที่ 2 ในข้อ 9 ระบุว่า แม้ว่าผู้กู้ (จำเลยที่ 1) ได้ชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์เสร็จสิ้นแล้ว แต่หากยังคงค้างชำระหนี้อยู่กับธนาคาร (จำเลยที่ 2) ผู้กู้ตกลงยินยอมให้ธนาคารยังไม่ต้องดำเนินการใด ๆ เพื่อจดทะเบียนให้ผู้กู้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อ และยินยอมให้ธนาคารยึดถือสมุดคู่มือจดทะเบียนรวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวกับรถยนต์เพื่อประกันเงินกู้ยืมจากธนาคารจนกว่าผู้กู้จะชำระต้นเงินและดอกเบี้ยและหนี้สินที่ค้างชำระคืนแก่ธนาคารครบทั้งจำนวน เมื่อการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้บอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยที่ 2 หรือได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้จึงมีสิทธิยกข้อต่อสู้ต่าง ๆ ที่มีต่อจำเลยที่ 1 ผู้โอนขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 308 วรรคสอง โดยรวมถึงข้อต่อสู้ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ยังชำระหนี้ตามคำขอสินเชื่อเอนกประสงค์ส่วนบุคคลให้จำเลยที่ 2 ไม่ครบถ้วน ซึ่งก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่ 2 ที่จะปฏิเสธไม่ดำเนินการใด ๆ เพื่อจดทะเบียนให้ผู้กู้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อ และยึดถือสมุดคู่มือจดทะเบียนรวมทั้งบรรดาเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับรถยนต์ จนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระหนี้ตามคำขอสินเชื่อเอนกประสงค์ส่วนบุคคลให้แก่จำเลยที่ 2 จนครบถ้วนได้ จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิยกข้อต่อสู้ดังกล่าวยันโจทก์ และไม่ต้องชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ แม้ฎีกาเรื่องค่าเสียหายจะต้องห้ามมิให้ฎีกา แต่การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นการไม่ชอบ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12824/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีหลังชำระหนี้ครบถ้วน: จำเลยหลุดพ้นความรับผิด
ตามคำพิพากษาตามยอมจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องปฏิบัติชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 1 และโจทก์รับว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวครบถ้วนแล้วตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลจังหวัดสุโขทัย เอกสารท้ายคำแถลงที่ยื่นต่อศาลแรงงานภาค 6 เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันปฏิบัติชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนตามคำพิพากษาตามยอมแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ดังกล่าวแล้ว จึงไม่มีหนี้ที่จะบังคับเอาแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12506/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิทักษ์ทรัพย์หลังการชำระบัญชี: ศาลฎีกาตัดสินกลับคำสั่งไม่รับคำร้อง และมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด
ในคดีฟ้องเรียกหนี้สินซึ่งห้างหุ้นส่วนหรือผู้ชำระบัญชีเป็นลูกหนี้อยู่ในฐานเช่นนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1272 เมื่อปรากฏจากหนังสือรับรอง ของผู้ร้องว่า นายทะเบียนจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีของลูกหนี้ที่ 1 เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2552 และผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาดเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2553 จึงไม่เกิน 2 ปีนับแต่วันที่ 7 มกราคม 2552 อันเป็นวันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาดได้
ผู้ร้องมีหนังสือแจ้งให้ลูกหนี้ที่ 1 ติดต่อและเสนอแผนปรับโครงสร้างหนี้หลายครั้ง ตามหนังสือเรื่องบอกกล่าวให้ชำระหนี้หรือปรับโครงสร้างหนี้ ใบตอบรับในประเทศและประกาศหนังสือพิมพ์ แต่ลูกหนี้ที่ 1 เพิกเฉย ไม่ติดต่อไม่ชำระหนี้และไม่เสนอแผนปรับโครงสร้างหนี้ต่อผู้ร้อง พฤติการณ์ของลูกหนี้ที่ 1 ดังกล่าวถือว่าลูกหนี้ที่ 1 ไม่ให้ความร่วมมือกับผู้ร้องในการปรับโครงสร้างหนี้ตามที่ผู้ร้องสั่งโดยที่ลูกหนี้ที่ 1 อยู่ในฐานะที่จะดำเนินการได้ เมื่อ ณ วันยื่นคำร้อง (วันที่ 5 เมษายน 2553) ลูกหนี้ที่ 1 มีภาระหนี้ค้างชำระผู้ร้อง 24,530,708 บาท และลูกหนี้ที่ 1 ไม่ยื่นคำคัดค้านและขาดนัดพิจารณา กรณีจึงเห็นควรมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12167/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจการบังคับคดีในคดีฟื้นฟูกิจการ: เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียว ลูกหนี้ไม่มีสิทธิขอออกหมายบังคับคดีเอง
ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/39 วรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคห้าและวรรคหก บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้ดำเนินการทวงหนี้ ขอออกคำบังคับและขอออกหมายบังคับคดีต่อศาล เพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามที่ผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนแจ้ง อันเป็นอำนาจและหน้าที่โดยเฉพาะของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะต้องดำเนินการ แม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขอให้ศาลออกคำบังคับและส่งคำบังคับเพื่อบังคับคดีแก่ผู้ถูกทวงหนี้ไว้แล้วโดยชอบก็ตาม แต่ลูกหนี้ก็ไม่มีสิทธิขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีตามมาตรา 90/39 วรรคหก ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10011/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบังคับคดีจากทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้ แม้คำพิพากษาไม่ได้ระบุชัดเจน
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดต่อโจทก์โดยชำระหนี้ตามสัญญากู้และโจทก์ประสงค์บังคับจำนองเอาแก่ที่ดินตามฟ้องซึ่งเป็นหลักประกัน อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าว เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ซึ่งมีสิทธิเรียกร้องตามบทบัญญัติใน ป.พ.พ. อันเป็นกฎหมายสารบัญญัติและเป็นคดีมีข้อพิพาท ดังนี้ เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายแสดงให้เห็นแล้วว่าหากมีการบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยทั้งสามยอมรับผิดชำระหนี้ในส่วนที่ขาดนั้นให้โจทก์จนครบถ้วน และคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ระบุว่า หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน ศาลย่อมมีอำนาจหน้าที่ตาม ป.วิ.พ. ซึ่งเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติในการที่จะวินิจฉัยและพิพากษาคดี โดยหากวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสามเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องรับผิดต่อโจทก์ตามกฎหมายสารบัญญัติ ก็ย่อมพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้ตามฟ้องให้แก่โจทก์ตามสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีต่อจำเลยทั้งสามในทางแพ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้เงิน รวมทั้งให้โจทก์มีสิทธิบังคับจำนองเอาแก่ที่ดินตามฟ้องในฐานะเจ้าหนี้จำนองผู้ทรงทรัพยสิทธิจำนองเหนือที่ดินตามฟ้องตามกฎหมายสารบัญญัติด้วย ความรับผิดดังกล่าวของจำเลยทั้งสามก็คือ หนี้ตามคำพิพากษา หากจำเลยทั้งสามในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็ย่อมมีสิทธิบังคับคดี และในกรณีหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้เงิน การบังคับคดีย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 271 มาตรา 278 และมาตรา 282 คือการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามหรือบุคคลภายนอกซึ่งเป็นลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องของจำเลยทั้งสาม เพื่อนำออกขายทอดตลาดและนำเงินที่ได้มาชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ อันเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่กฎหมายให้สิทธิแก่โจทก์โดยสืบเนื่องจากผลแห่งคำพิพากษา และไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ศาลจำต้องระบุสิทธิในการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามไว้ในคำพิพากษาด้วย ดังนี้ เมื่อศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้โจทก์ชนะคดีเต็มตามฟ้อง และโจทก์ก็ได้มีคำขอให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสาม การที่คำพิพากษามิได้ระบุให้โจทก์ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดอันเป็นขั้นตอนในการบังคับคดี จึงหาเป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ เมื่อมีการบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์จำนองไม่พอชำระหนี้ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมบังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามนอกเหนือจากที่จำนองไว้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7257/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตีความสัญญาจำนอง: หนี้ที่ค้ำประกันรวมด้วยหรือไม่? ศาลพิจารณาเจตนาจริงและหลักการคุ้มครองลูกหนี้
ปัญหาเกี่ยวกับการตีความการแสดงเจตนาตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร และตามมาตรา 11 กรณีที่มีข้อสงสัยให้ตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้น เมื่อโจทก์ที่ 1 และจำเลยไม่ได้ระบุให้รวมถึงหนี้ที่โจทก์ที่ 1 ค้ำประกันหนี้กู้ยืมของบุคคลอื่นที่ทำกับจำเลยไว้ชัดแจ้งในสัญญาจำนองและบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองทั้งที่อยู่ในวิสัยทำได้ ดังนั้น คำว่า "หนี้และภาระผูกพันทุกลักษณะและทุกประเภท" ตามสัญญาจำนองจึงหมายถึงหนี้ที่โจทก์ที่ 1 เป็นลูกหนี้ของจำเลยโดยตรงในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นเท่านั้น ไม่ครอบคลุมถึงหนี้ที่โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้กู้ยืมของบุคคลอื่นที่ทำกับจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6840/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ค้ำประกันเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงตัวลูกหนี้จากบุคคลธรรมดาเป็นนิติบุคคล
เมื่อจำเลยที่ 1 จดทะเบียนตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด อันดามัน บิซิเนส แอนด์ เซอร์วิส เป็นนิติบุคคลต่างหากจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการตาม ป.พ.พ. มาตรา 1015 การที่โจทก์มีหนังสือรับรองให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด อันดามัน บิซิเนส แอนด์ เซอร์วิส เป็นตัวแทนของโจทก์ รหัสตัวแทน พีเค 0004 จะถือว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัด อันดามัน บิซิเนส แอนด์ เซอร์วิส ตามสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์หาได้ไม่
of 83