คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ลูกหนี้

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 829 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2187/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนทรัพย์มรดกไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ต้องมีการโอนทรัพย์ของลูกหนี้ไปให้ผู้อื่น
ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 ต้องปรากฏว่าเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ โดยผู้กระทำต้องรู้ว่าเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ และย้ายไปเสียซึ่งทรัพย์ ซ่อนเร้นทรัพย์ หรือโอนทรัพย์ของลูกหนี้ไปให้แก่ผู้อื่น เพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันโอนชื่อที่ดินของ บ. จาก บ. เป็นผู้รับโอนประเภทมรดกใส่ชื่อจำเลยทั้งสอง ฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองรับโอนที่ดินซึ่งเป็นมรดกของ บ. ที่ตกทอดแก่จำเลยทั้งสองในฐานะที่จำเลยทั้งสองเป็นผู้รับมรดกของ บ. เท่านั้น ซึ่งโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้กองมรดกของ บ. ยังคงมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกดังกล่าว เมื่อคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้ระบุว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันโอนที่ดินของ บ. ซึ่งเป็นลูกหนี้โจทก์ไปให้แก่ผู้อื่น จึงเป็นฟ้องที่ขาดสาระสำคัญไม่ครบองค์ประกอบแห่งความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19798/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ระหว่างฟื้นฟูกิจการต้องเป็นไปตามเงื่อนไข พ.ร.บ.ล้มละลาย หากขัดแย้งเป็นโมฆะ
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (9) ได้กำหนดข้อจำกัดในการดำเนินกิจการของลูกหนี้หลายประการเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ โดยการห้ามลูกหนี้จำหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า ชำระหนี้ ก่อหนี้ หรือกระทำการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สิน นอกจากเป็นการกระทำที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถดำเนินไปได้ เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น และการทำนิติกรรมใด ๆ ที่ขัดต่อบทบัญญัตินี้ การนั้นเป็นโมฆะ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 วรรคท้าย ข้อจำกัดดังกล่าวย่อมใช้บังคับกับผู้ทำแผนโดยอนุโลม ตามมาตรา 90/25 และเมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน ให้บรรดาสิทธิและอำนาจหน้าที่ของผู้ทำแผนตกเป็นของผู้บริหารแผนตั้งแต่ผู้บริหารแผนได้ทราบคำสั่งศาล ตามมาตรา 90/59 วรรคหนึ่ง ข้อจำกัดดังกล่าวย่อมใช้บังคับแก่ผู้บริหารแผนด้วย แต่เนื่องจากในการปฏิบัติหน้าที่ผู้บริหารแผนของลูกหนี้นั้น ผู้บริหารแผนต้องดำเนินการให้เป็นไปตามแผน ตามมาตรา 90/67 และในกรณีที่ไม่ได้กำหนดไว้ในแผน ผู้บริหารแผนย่อมถูกจำกัด เมื่อปรากฏว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ผู้บริหารแผนได้ดำเนินการขายไปเป็นทรัพย์ที่มีความจำเป็นที่ลูกหนี้จะนำมาพัฒนาและทำกำไรในการฟื้นฟูกิจการ และในแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไม่ได้กำหนดให้ผู้บริหารแผนสามารถขายทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่บุคคลภายนอกได้ ดังนั้น การที่ผู้บริหารแผนนำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของลูกหนี้ที่จำนองระงับแล้วไปขายต่อให้แก่บุคคลภายนอก จึงมิใช่การกระทำที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถดำเนินต่อได้ตามแผน นิติกรรมการขายดังกล่าวต้องห้ามชัดแจ้งตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (9) ประกอบมาตรา 90/25 และมาตรา 90/59 วรรคหนึ่ง จึงตกเป็นโมฆะ ตามมาตรา 90/12 วรรคท้าย ส่วนการขออนุญาตจากศาลล้มละลายกลางในกรณีที่นิติกรรมใด ๆ ตกอยู่ภายใต้บังคับ มาตรา 90/12 (9) จะต้องเป็นการขออนุญาตก่อนการทำนิติกรรม เพราะหากดำเนินการไปแล้วนิติกรรมย่อมตกเป็นโมฆะ ศาลไม่อาจอนุญาตได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15952/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักกลบลบหนี้ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ตามคำพิพากษาและการรับฝากเงิน จำเลยมีสิทธิหักกลบลบได้
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์กับมารดาโจทก์เปิดบัญชีร่วมกันประเภทบัญชีเงินฝากประจำและฝากเงินไว้ต่อธนาคารจำเลยสาขาฝาง ว. ทำสัญญากู้และรับเงินกู้ไปจากจำเลย โดยจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกัน และ ส. กับโจทก์ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกับ ว. อย่างลูกหนี้ร่วม ว. ผิดนัดผิดสัญญา จำเลยฟ้อง ว. ส. และโจทก์ให้รับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษาให้ ว. ส. และโจทก์ร่วมกันชำระหนี้ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้บังคับคดีเอาจากทรัพย์จำนอง หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของบุคคลทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่จำเลยจนครบ จำเลยนำหนี้ที่เป็นเจ้าหนี้อยู่นั้นฟ้องบุคคลทั้งสามเป็นคดีล้มละลาย ต่อมาจำเลยพบว่าโจทก์กับมารดาโจทก์มีบัญชีเงินฝากดังกล่าวอยู่ที่จำเลยสาขาฝาง จำเลยจึงดำเนินการหักเงินจากบัญชีดังกล่าวมาชำระหนี้จำเลย ต่อมาจำเลยถอนฟ้องคดีล้มละลาย
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยมีสิทธินำเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ฝากไว้ต่อจำเลยมาหักกับหนี้ตามคำพิพากษาที่โจทก์เป็นหนี้จำเลยอยู่หรือไม่ เห็นว่า ตามฟ้องและคำให้การคดีนี้เป็นเรื่องจำเลยหักกลบลบหนี้กับโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 และ 342 ซึ่งโจทก์และจำเลยมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมูลหนี้ที่จะต้องชำระเงินแก่กันอันเป็นมูลหนี้ที่มีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน กล่าวคือโจทก์เป็นหนี้จำเลยที่จะต้องชำระเงินแก่จำเลยตามคำพิพากษา ส่วนจำเลยก็เป็นหนี้โจทก์ที่จะต้องชำระเงินที่โจทก์ฝากไว้แก่โจทก์ จำเลยย่อมหักกลบลบหนี้ได้ และตามข้อเท็จจริงที่รับฟังมาดังกล่าวเห็นได้ว่าจำเลยแสดงเจตนาต่อโจทก์ขอหักกลบลบหนี้และได้ดำเนินการหักกลบลบหนี้แล้ว การหักกลบลบหนี้ย่อมมีผลสมบูรณ์ตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าว ซึ่งไม่ได้กำหนดเป็นเงื่อนไขไว้แต่ประการใดว่า การหักกลบลบหนี้ระหว่างกันนั้นจะต้องตกลงกันหรือได้รับอนุญาตหรือได้รับความยินยอมของอีกฝ่ายหนึ่งหรือต้องแจ้งเจ้าพนักงานบังคับคดีก่อน เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าทั้งสองฝ่ายได้แสดงเจตนาไม่ให้นำหนี้ที่มีอยู่แก่กันนั้นมาหักกลบลบกัน จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะนำหนี้ดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้กันได้ แม้โจทก์ไม่เคยตกลงและไม่อนุญาตให้จำเลยหักเงิน จำเลยหักเงินของโจทก์ไปเองโดยไม่แจ้งเจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่โจทก์ฟ้องและนำสืบก็หาเป็นการละเมิดหรือผิดสัญญารับฝากเงินตามที่โจทก์ฟ้องไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9592/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเจ้าหนี้มีประกันในการบังคับคดี แม้มีการพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของลูกหนี้
เมื่อจำเลยที่ 1 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลายภายหลังจากที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ตามคำขอให้บังคับคดีของโจทก์ในคดีนี้ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำเลยที่ 1 จำนองไว้แก่ผู้ร้องก่อนโจทก์ผู้นำยึดแล้ว การที่โจทก์เจ้าหนี้สามัญผู้นำยึดมิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายมีผลเพียงทำให้โจทก์หมดสิทธิได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ในคดีล้มละลายเท่านั้น มิได้ทำให้การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ที่ดำเนินการมาโดยชอบสิ้นผลไป และการที่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันมิได้ใช้สิทธิขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ในคดีล้มละลาย แต่เลือกใช้สิทธิที่จะบังคับแก่หลักประกัน ซึ่งตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 110 วรรคสาม คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ไม่กระทบถึงสิทธิของเจ้าหนี้มีประกันในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมีอำนาจบังคับคดีแก่หลักประกันของผู้ร้องต่อไปในคดีนี้ได้ แม้ต่อมาภายหลังศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งปลดจำเลยที่ 1 จากล้มละลาย ก็มิได้ทำให้อำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะดำเนินการบังคับคดีหมดไปไม่ ส่วนเมื่อได้มีการบังคับคดีแก่ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นหลักประกันแล้วจะมีเงินเหลือเป็นประโยชน์แก่กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ในคดีล้มละลาย เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ก่อนปลดจากการล้มละลาย ก็เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบที่จะขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีโอนเข้ามาในคดีล้มละลายได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 112 กรณีจึงไม่มีเหตุให้เพิกถอนการบังคับคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8286/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟื้นฟูกิจการล้มเหลว ศาลมีคำสั่งให้ลูกหนี้ล้มละลายเมื่อไม่สามารถชำระหนี้ได้
ในกรณีระยะเวลาดำเนินการตามแผนสิ้นสุดลง แต่การฟื้นฟูกิจการยังไม่เป็นผลสำเร็จตามแผน พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/70 วรรคสอง บัญญัติให้ศาลใช้ดุลพินิจมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่ง กล่าวคือ ถ้าศาลเห็นสมควรให้ลูกหนี้ล้มละลายก็ให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าศาลไม่เห็นสมควรให้ลูกหนี้ล้มละลายก็ให้มีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งหมายความว่าในกรณีที่ลูกหนี้ยังอยู่ในสภาวะมีหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่อาจชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามแผนหรือเจ้าหนี้อื่นในระหว่างการฟื้นฟูกิจการได้ และไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ย่อมเป็นเรื่องที่สมควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย และศาลชอบที่จะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่หากลูกหนี้พ้นจากสภาวะมีหนี้สินล้นพ้นตัวแล้วหรืออาจชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามแผนหรือเจ้าหนี้อื่นในระหว่างการฟื้นฟูกิจการได้ หรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ศาลชอบที่จะมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ
คดีนี้ได้ความจากรายงานเจ้าหน้าที่ส่วนจัดกิจการทรัพย์สินและกำกับดูแลการฟื้นฟู สำนักฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้สรุปได้ว่า ผู้บริหารแผนไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จตามแผน สำหรับผลการดำเนินงานทางการเงิน ลูกหนี้มีรายได้ไม่เพียงพอ มีการลดจำนวนพนักงานซึ่งมีผลให้ผลิตสินค้าไม่ได้ตามเป้าหมายทั้งด้านคุณภาพและจำนวน ประกอบกับไม่มีสถาบันการเงินใดอนุมัติสินเชื่อแก่ลูกหนี้เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการจนลูกหนี้ขาดสภาพคล่องทางการเงินและไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามแผนได้ ลูกหนี้มีผลการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง แสดงว่าลูกหนี้ยังไม่พ้นจากสภาวะมีหนี้สินล้นพ้นตัว กิจการขาดทุนและไม่มีรายได้เพียงพอที่จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามแผนหรือเจ้าหนี้อื่นในระหว่างการฟื้นฟูกิจการได้ หากยังคงดำเนินกิจการต่อไปลูกหนี้ก็ไม่อาจฟื้นฟูกิจการจนพ้นจากสภาวะมีหนี้สินล้นพ้นตัวได้ เมื่อระยะเวลาดำเนินการตามแผนสิ้นสุด แต่การฟื้นฟูกิจการยังไม่เป็นผลสำเร็จตามแผน กรณีไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย จึงสมควรให้ลูกหนี้ล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/70 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7786/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการมีฐานะเป็นนายจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เมื่อมีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้
โจทก์เป็นลูกจ้าง บ. จำเลยเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของ บ. ตามคำสั่งศาลแรงงานกลาง จำเลยเป็นผู้มีอำนาจในการจัดกิจการและทรัพย์สินของ บ. ลูกหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/59 ประกอบมาตรา 90/25 เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้ทำงานแทน บ. นายจ้างโจทก์ จำเลยจึงมีฐานะเป็นนายจ้างโจทก์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ในความหมายของคำว่า "นายจ้าง" ตาม (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18103/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ บุคคลภายนอกผูกพันชำระหนี้แทนลูกหนี้: สัญญาชำระหนี้โดยความสมัครใจ
บริษัท ค. ประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้างและเป็นลูกค้าโจทก์ซึ่งประกอบอาชีพขายเครื่องวัสดุก่อสร้าง ได้สั่งซื้อวัสดุก่อสร้างมานานถึง 10 ปี เมื่อปี 2550 บริษัท ว. ได้ว่าจ้างบริษัท ค. ก่อสร้างโรงแรมเซ็นเตอร์พ้อยซ์ เรสสิเด้นท์ หลังสวน โดยบริษัท ค. ได้รับเงินสนับสนุนจากจำเลยในรูปของสินเชื่อเงินกู้ระยะสั้น โดยทำตั๋วสัญญาใช้เงินไว้เป็นหลักฐานตามบันทึกข้อตกลงกับสัญญารับชำระหนี้ และจำเลยได้ทำสัญญาค้ำประกันค่าวัสดุก่อสร้างที่บริษัท ค. สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ในวงเงิน 5,000,000 บาท บริษัท ค. ได้สั่งซื้อวัสดุก่อสร้างจากโจทก์หลายครั้ง และชำระเงินด้วยตนเองต่อมาบริษัท ค. ประสบภาวะขาดทุน ไม่มีเงินชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย จนกระทั่งกลางปี 2551 โจทก์งดขายวัสดุก่อสร้างให้แก่บริษัท ค. ขณะนั้นมีหนี้ค้างชำระโจทก์ 10,000,000 บาท หลังจากโจทก์งดสั่งวัสดุก่อสร้าง โจทก์โดย ธ. จำเลยโดย อ. ตัวแทน บริษัท ค. และบริษัท ว. ประชุมร่วมกันเพื่อให้การก่อสร้างดำเนินต่อไป จำเลย โดย อ. ทำหนังสือสนับสนุนการเงินแก่บริษัท ค. จากนั้น โจทก์ได้ส่งวัสดุก่อสร้างให้แก่บริษัท ค. และโจทก์ได้รับค่าวัสดุก่อสร้างเป็นแคชเชียร์เช็คที่จำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายรวม 12 ฉบับ ต่อมาระหว่างวันที่ 16 พฤศจิกายน 2552 ถึงวันที่ 26 มกราคม 2553 โจทก์ส่งวัสดุก่อสร้างให้บริษัท ค. เป็นเงิน 1,139,520 บาท แต่ไม่ได้รับชำระโจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยเพิกเฉย ต่อมาวันที่ 7 มิถุนายน 2553 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการของบริษัท ค. และโจทก์ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายกลางมีคำสั่งให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของบริษัท ค.
การที่บริษัท ค. สั่งซื้อวัสดุก่อสร้างโดยตรงไม่ผ่านจำเลย แต่จำเลยจะทำสัญญาค้ำประกันไว้และการชำระสินค้าบริษัท ค. ก็ชำระค่าสินค้าโดยตรงแก่โจทก์ ต่อมาโจทก์งดส่งวัสดุก่อสร้างให้แก่บริษัท ค. เนื่องจากประสบภาวะขาดทุนไม่มีเงินหมุนเวียนจนต้องมีการประชุมระหว่างฝ่ายโจทก์ จำเลย บริษัท ค. และบริษัท ว. เพื่อให้ดำเนินการก่อสร้างต่อไปและฝ่ายจำเลยได้ออกหนังสือยืนยันสนับสนุนทางการเงิน นอกจากนี้วิธีการสั่งซื้อสินค้าและชำระค่าสินค้าก็เปลี่ยนไป ดังจะเห็นได้จากแคชเชียร์เช็ค 12 ฉบับ เป็นแคชเชียร์เช็คที่จำเลยสั่งจ่ายให้แก่โจทก์ซึ่งก็เป็นภายหลังที่มีการตกลงดังกล่าวหาก อ. ตัวแทนของจำเลยไม่รับรองต่อ ธ. ตัวแทนโจทก์และที่ประชุม ทั้งยังมีเอกสารยืนยันสนับสนุนทางการเงินแล้วโจทก์คงไม่ส่งวัสดุก่อสร้างให้บริษัท ค. ซึ่งปรากฏว่าจำเลยได้ชำระค่าสินค้าให้แก่โจทก์เป็นแคชเชียร์เช็คถึง 12 ฉบับ อันเป็นการชำระหนี้ตามข้อตกลงในที่ประชุมนั่นเอง อ. พยานจำเลยเบิกความยอมรับว่า การสั่งซื้อวัสดุก่อสร้างจำเลยกำหนดขั้นตอนการสั่งซื้อโดยบริษัท ค. ต้องแจ้งให้จำเลยทราบโดยตัวแทนของจำเลยจะลงลายมือชื่อในช่อง ACKNOWLEDGE ก่อนที่บริษัท ค. จะส่งใบสั่งซื้อสินค้าให้แก่โจทก์ อันเป็นการเจือสมกับคำเบิกความของ ธ. ยิ่งกว่านั้นใบสั่งซื้อสินค้า ใบส่งของ ใบวางบิล และใบรับใบวางบิลระหว่างวันที่ 16 พ.ค. 2552 ถึงวันที่ 26 ม.ค. 2553 ก็มีลายมือชื่อของตัวแทนจำเลยในช่อง ACKNOWLEDGE ตรงมุมบนของเอกสารดังที่ ธ. และ อ. เบิกความ พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยโดย อ. ตกลงชำระหนี้ค่าวัสดุก่อสร้างแก่โจทก์แทนบริษัท ค. จริง
การที่จำเลยตกลงชำระหนี้ค่าวัสดุก่อสร้างแทนบริษัท ค. และใบสั่งซื้อวัสดุก่อสร้าง ตัวแทนของจำเลยก็ได้ลงลายมือชื่ออนุมัติให้บริษัท ค. สั่งซื้อวัสดุก่อสร้างจากโจทก์และโจทก์ได้ส่งวัสดุก่อสร้างให้แก่บริษัท ค. กับมีการขอรับชำระค่าสินค้าโดยปฏิบัติตามขั้นตอนดังกล่าวข้างต้น เช่นนี้ จึงเป็นการที่จำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผูกพันตนเข้าชำระหนี้ของบริษัท ค. ที่มีต่อโจทก์ จึงเป็นสัญญาประเภทหนึ่งระหว่างโจทก์กับจำเลย ซึ่งเป็นคู่สัญญากระทำด้วยความสมัครใจ เมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้ จำเลยต้องรับผิดชำระค่าวัสดุก่อสร้างตามฟ้อง อย่างไรก็ตามปรากฏว่าโจทก์ได้ไปขอรับชำระค่าวัสดุก่อสร้างในคดีฟื้นฟูกิจการของบริษัท ค. ซึ่งศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุมัติให้โจทก์ได้รับชำระหนี้แล้ว ซึ่งเป็นมูลหนี้ค่าวัสดุรายเดียวกัน ศาลฎีกาเห็นควรกำหนดเงื่อนไขให้ชำระหนี้คดีนี้ไว้เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาในชั้นบังคับคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1570/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ในคดีล้มละลายเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว
การฟ้องคดีล้มละลายเป็นการฟ้องเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั่วไป เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (3) บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวที่มีอำนาจประนีประนอมยอมความ หรือฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ คดีนี้ แม้โจทก์จะหลุดพ้นจากการล้มละลายโดยคำสั่งปลดจากล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 71 แต่ที่ดินและอาคารพิพาทเป็นทรัพย์สินที่โจทก์มีอยู่ในเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลายและเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลายอันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้ตามมาตรา 109 ทั้งอยู่ในระหว่างการขายทอดตลาดตามประกาศของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงยังคงมีอำนาจในการจัดการทรัพย์สินดังกล่าวต่อไปจนกว่าจะเสร็จสิ้น และนำเงินมาแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย การที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและอาคารพิพาทนั้นเป็นการดำเนินคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์ ซึ่งเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ก็ไม่มีฟ้องของโจทก์และตัวโจทก์ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะฟ้องแย้ง จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14941/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแปลงหนี้กับการโอนสิทธิเรียกร้อง: การชำระหนี้ที่ถูกต้องและการปฏิเสธการชำระหนี้ที่ไม่สมเหตุผล
การโอนสิทธิเรียกร้องจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อผู้โอนมีสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งเหนือบุคคลที่สาม และไม่ประสงค์จะใช้สิทธิดังกล่าวด้วยตนเอง จึงขอโอนสิทธิดังกล่าวให้แก่ผู้รับโอนสิทธิ แต่ตามบันทึกข้อตกลงแปลงหนี้ใหม่ปรากฏว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. ได้โอนภาระการชำระหนี้ของตนที่มีต่อโจทก์ที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระแทน ส่วนการโอนกิจการและที่ดินของห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. ให้แก่จำเลยที่ 1 ก็หาใช่สิทธิอันจะพึงเรียกร้องให้โจทก์ที่ 1 ต้องปฏิบัติตามแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับโอนกิจการและที่ดินในโครงการจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. จึงหามีสิทธิอันใดที่จะเรียกร้องให้โจทก์ที่ 1 ทำการค้ำประกันค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคในกิจการที่รับโอนมาได้ กรณีตามบันทึกข้อตกลงแปลงหนี้ใหม่เห็นได้ว่าเป็นการแปลงหนี้โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้เท่านั้น หาใช่การโอนสิทธิเรียกร้องแต่อย่างใด จำเลยทั้งสองจึงหามีสิทธิปฏิเสธไม่ชำระเงินตามเช็คพิพาทแก่โจทก์ที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13687/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หักกลบลบหนี้ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ที่มีความสัมพันธ์กันตามสัญญาค้ำประกันและเงินฝาก
สัญญาค้ำประกันเบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.10 ที่ ค. ผู้ตายค้ำประกันบริษัท ล. จำกัด ผู้เบิกเงินเกินบัญชีต่อธนาคารจำเลย ระบุว่า ข้อ 2 ผู้ค้ำประกันยอมเข้ารับผิดร่วมกับผู้เบิกเงินเกินบัญชีข้อ 4 ในกรณีที่ผู้เบิกเงินเกินบัญชีผิดนัด ผู้ค้ำประกันยอมสละสิทธิที่จะต่อสู้ให้ธนาคารบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินของผู้เบิกเงินเกินบัญชีก่อนเรียกร้องให้ผู้ค้ำประกันรับผิด ถ้าธนาคารมิได้รับชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันยินยอมชำระหนี้ที่ค้างโดยพลันถึงแม้การดำเนินการเช่นนั้นธนาคารจะได้แจ้งหรือมิได้แจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบก่อนก็ตาม และถึงแม้จะมิได้เรียกร้องหรือฟ้องร้องผู้ค้ำประกันร่วมกับผู้เบิกเงินเกินบัญชี ดังนี้ ผู้ตายเป็นเจ้าหนี้จำเลยในเงินฝากประจำ 3 เดือน และจำเลยเป็นหนี้ผู้ตายตามสัญญาค้ำประกันเบิกเงินเกินบัญชี ซึ่งผู้ตายและจำเลยต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมูลหนี้อันมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน และหนี้ทั้งสองรายนั้นถึงกำหนดจะชำระ เมื่อผู้ค้ำประกันตายความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันไม่ระงับสิ้นไป ลูกหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมจะหลุดพ้นจากหนี้ของตนด้วยวิธีหักกลบลบกันได้เพียงเท่าจำนวนที่ตรงกันในมูลหนี้ทั้งสองฝ่ายนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 วรรคหนึ่ง ดังนั้น จำเลยมีสิทธินำเงินฝากของผู้ตายหักชำระหนี้ได้
of 83