คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เช่าซื้อ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 746 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1042/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อไม่เลิกทันทีแม้ผิดนัดชำระ หากผู้ให้เช่าซื้อผ่อนผันการชำระ การยึดรถจึงเป็นการผิดสัญญา
แม้ผู้เช่าซื้อจะผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่ง ก็ไม่อาจถือว่าสัญญาเช่าซื้อต้องเลิกกันทันทีโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนตามสัญญาข้อ 6 เพราะอาจมีกรณีผู้ให้เช่าซื้อผ่อนผันการผิดนัดงวดนั้นดังที่ระบุในสัญญาข้อ 9 การที่โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อแล้ว 33 งวด โดยเป็นการชำระไม่ตรงตามกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาแต่จำเลยยอมรับค่าเช่าซื้อดังกล่าว แสดงว่าจำเลยยอมผ่อนผันการผิดนัดครั้งนั้นให้โจทก์โดยไม่ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันทีเพราะเหตุโจทก์ผิดนัด นอกจากนี้ยังปรากฏว่า หลังจากมีการยึดรถขุดที่เช่าซื้อคืนมาแล้ว จำเลยยังส่งหนังสือแจ้งเตือนให้โจทก์ชำระหนี้ค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 34 ถึงงวดที่ 36 อีก 2 ฉบับ โดยฉบับสุดท้ายขอให้โจทก์ติดต่อชำระเงินส่วนที่เหลือทั้งหมดพร้อมค่าใช้จ่าย มิฉะนั้นจำเลยจะนำรถขุดออกขายแก่บุคคลภายนอก เป็นพฤติการณ์ที่ประกอบกันแสดงให้เห็นว่าจำเลยยังคงผ่อนผันการผิดนัดให้โจทก์อีกเหมือนเช่นที่เคยปฏิบัติ โดยหากโจทก์นำค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระไปชำระแก่จำเลยพร้อมเบี้ยปรับฐานชำระล่าช้า จำเลยก็จะยินยอมให้โจทก์รับรถขุดที่เช่าซื้อกลับคืนไปและชำระค่าเช่าซื้อต่อไปจนกว่าจะครบตามสัญญา ส่วนหนังสือบอกเลิกสัญญาที่จำเลยให้ลูกจ้างของจำเลยนำติดตัวไปเพื่อดำเนินการยึดรถขุดแล้วลูกจ้างของจำเลยนำไปมอบให้แก่ผู้ขับรถขุดภายหลังจากทำการยึดรถขุดแล้วนั้น กรณีมิใช่การมอบให้แก่โจทก์หรือผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ทั้งหนังสือดังกล่าวมิได้กำหนดเวลาให้โจทก์ชำระหนี้ในเวลาอันสมควรเสียก่อน กลับมีการมอบให้ภายหลังการยึดรถขุด ทั้งข้อความในหนังสือดังกล่าวระบุว่าผู้เช่าซื้อผิดสัญญาจึงเลิกสัญญากับผู้เช่าซื้อขัดแย้งกับที่จำเลยยังคงออกหนังสือแจ้งเตือนให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างภายหลังจากที่ยึดรถขุดคืนมาแล้วดังกล่าวการบอกเลิกสัญญาของจำเลยจึงไม่ชอบ สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยยังไม่เลิกกัน จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดรถขุดที่เช่าซื้อคืนได้ การที่จำเลยยึดรถขุดดังกล่าวมา จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4561/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าเสียหายจากการเบียดบังทรัพย์สินเช่าซื้อ: ศาลกำหนดดอกเบี้ยตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุ ...หรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญา ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้ แม้ดอกเบี้ยของราคาใช้แทนค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถจักรยานยนต์ และค่าหนังสือบอกกล่าวทวงถามตลอดจนค่าติดตามเอารถคืน มิใช่ทรัพย์สินหรือราคาที่โจทก์ร่วมสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดที่ให้พนักงานอัยการเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 แต่เป็นค่าเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยที่เบียดบังเอารถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมไปเป็นของจำเลยโดยทุจริต จึงชอบที่โจทก์ร่วมจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญา ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ การที่โจทก์ขอให้จำเลยคืนรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อหากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 26,016 บาท นั้น เป็นกรณีที่หากจำเลยไม่ส่งมอบรถจักรยานยนต์ดังกล่าวคืนให้โจทก์ร่วม จำเลยต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมเพื่อราคาวัตถุอันไม่อาจส่งมอบได้เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันเกิดขึ้นระหว่างผิดนัด โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในเงิน 26,016 บาท ได้ตั้งแต่เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกะประมาณราคานั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 225 เมื่อไม่ปรากฏว่าเวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกะประมาณราคาอันหมายถึงเวลาที่ไม่สามารถส่งมอบรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อเกิดขึ้นเมื่อใด โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยราคาใช้แทนนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาอันเป็นวันที่ศาลกำหนดราคาใช้แทนให้ ดังนั้น การที่โจทก์ร่วมมีคำขอและฎีกาขอเรียกดอกเบี้ยของราคาใช้แทนนับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้อง อันเป็นช่วงเวลาก่อนวันที่ศาลมีคำพิพากษาจึงไม่อาจกำหนดให้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3801/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้ร่วมสามีภริยาจากการทำสัญญาเช่าซื้อ โดยการยินยอมและให้สัตยาบัน
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ฉันสามีภริยา ในคดีที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ แม้โจทก์จะไม่มีหลักฐานการจดทะเบียนสมรสมาแสดงและมิได้อ้างอิงเป็นพยานหลักฐานโดยยื่นบัญชีระบุพยานมาก่อน แต่เมื่อพิจารณาคำขอทำสัญญาเช่าซื้อซึ่งมีข้อความระบุว่าจำเลยที่ 3 เป็นคู่สมรสกับจำเลยที่ 1 โดยจดทะเบียนสมรสกัน และจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวไว้ ทั้งโจทก์ยื่นฎีกาโดยอ้างส่งสำเนาใบสำคัญการสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับสำเนาข้อมูลทะเบียนครอบครัวซึ่งมีข้อความยืนยันความเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายแนบท้ายฎีกามาด้วย เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ยื่นคำแก้ฎีกาทั้งมิได้โต้แย้งสำเนาใบสำคัญการสมรสกับสำเนาข้อมูลทะเบียนครอบครัวเอกสารแนบท้ายฎีกาแต่อย่างใด เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานดังกล่าวอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี ศาลฎีกามีอำนาจรับฟังสำเนาใบสำคัญการสมรสกับสำเนาข้อมูลทะเบียนครอบครัวเอกสารแนบท้ายฎีกาเป็นพยานหลักฐานได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) การที่จำเลยที่ 3 สามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ทำหนังสือให้ความยินยอมในการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อโดยมีข้อความระบุว่า จำเลยที่ 3 รับรู้และยินยอมให้จำเลยที่ 1 ภริยาของจำเลยที่ 3 ทำสัญญาเช่าซื้อ และหากจำเลยที่ 1 ประพฤติผิดสัญญาหรือมีความรับผิดตามสัญญาเช่าซึ่งจำเลยที่ 3 ยินยอมร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม หนังสือดังกล่าวถือเป็นการให้สัตยาบันแก่หนี้ที่ภริยาของตนก่อขึ้น หนี้ตามสัญญาเช่าซื้อจึงถือเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยาที่จำเลยที่ 3 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3010/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ชำรุด ผู้บริโภคมีสิทธิเลิกสัญญาและเรียกเงินคืน พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาเช่ารถยนต์จากจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญาเช่ารถยนต์กับโจทก์ ต่อมาเมื่อโจทก์รับรถยนต์ไปใช้ปรากฏว่าเกิดเสียงดังในขณะขับรถถอยหลัง เมื่อนำกลับไปให้จำเลยที่ 1 ซ่อมแซมหลายครั้งแต่ไม่สามารถแก้ไขได้ เป็นการส่งมอบทรัพย์ที่เช่าในสภาพที่ไม่เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ เป็นความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นก่อนหรือในขณะส่งมอบและเพิ่งปรากฏขึ้นภายหลังจากการส่งมอบรถ จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดตามสัญญาเช่าเนื่องจากส่งมอบทรัพย์ที่เช่าซึ่งไม่เหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติหรือประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญา มิใช่กรณีฟ้องขอให้รับผิดในกรณีชำรุดบกพร่อง บทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 474 จึงไม่นำมาปรับใช้กับคดีนี้ และการฟ้องขอให้รับผิดโดยขอคืนเงินที่ชำระตามสัญญาเช่าเนื่องจากส่งมอบทรัพย์ที่เช่าไม่เหมาะสมแก่ประโยชน์อันเป็นการผิดสัญญาเช่านั้นไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้เป็นการเฉพาะ จึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 190/30
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 549 ซึ่งบัญญัติว่า "การส่งมอบทรัพย์สินซึ่งเช่าก็ดี ความรับผิดของผู้ให้เช่าในกรณีชำรุดบกพร่องและรอนสิทธิก็ดี ผลแห่งข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิดก็ดี เหล่านี้ ท่านให้บังคับด้วยบทบัญญัติทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการซื้อขายอนุโลมความตามควร" และมาตรา 472 วรรคแรก บัญญัติว่า "ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใด อันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด" ดังนั้น จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ให้เช่ารถยนต์นอกจากมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์โดยมีสภาพที่เหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติหรือประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาแล้ว ยังมีหน้าที่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ที่เช่าตามบทบัญญัติดังกล่าวด้วย เมื่อความชำรุดบกพร่องเกิดขึ้นก่อนส่งมอบและเพิ่งเกิดขึ้นภายหลังจากส่งมอบแก่โจทก์ และเสียงที่ดังเกิดที่เบรกรถยนต์ซึ่งเป็นระบบเกี่ยวกับความปลอดภัยในการขับรถยนต์ แม้จำเลยที่ 1 จะซ่อมแซมหลายครั้งแล้วก็ยังแก้ไขไม่ได้ ย่อมทำให้เกิดความวิตกกังวลและความไม่เชื่อมั่นในการใช้รถที่เช่า ความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ที่เช่าดังกล่าวจึงถึงขนาดเป็นเหตุให้เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้ตามปกติ ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ให้เช่าได้ส่งมอบรถยนต์โดยมีสภาพที่เหมาะกับการใช้ประโยชน์ตามที่เช่า แม้สัญญาเช่ามีข้อตกลงให้จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ที่เช่าอันเป็นการยกเว้นความผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 549 ประกอบมาตรา 472 ก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาสำเร็จรูปที่จำเลยที่ 2 ซึ่งมีอำนาจต่อรองมากกว่าเป็นผู้กำหนด ทำให้จำเลยที่ 2 ได้เปรียบโจทก์เกินสมควร จึงเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ไม่มีผลใช้บังคับตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 วรรคสาม (1) จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 2 ด้วยการนำรถกลับไปคืนจำเลยที่ 1 แล้วต่อมาโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญา และจำเลยที่ 2 นำรถยนต์ที่เช่าไปขายแก่บุคคลภายนอกแล้ว จำเลยที่ 2 จึงต้องให้โจทก์กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมด้วยการคืนเงินค่าเช่าที่ได้รับมาทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
ส่วนจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทในขณะที่โจทก์ฟ้องคดี ทั้งไม่ใช่ผู้รับชำระค่าเช่าจากโจทก์ โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมซ่อมแซมหรือเปลี่ยนสินค้าที่ชำรุดบกพร่องและเรียกค่าเสียหายภายใต้บังคับของกฎหมายเท่านั้น กรณีไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมชำระเงินดังกล่าวที่โจทก์ชำระไปแล้วคืนให้แก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1145/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดจากความผิดผู้เช่าซื้อ ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมด้วย
สัญญาเช่าซื้อ ข้อ 5 มิได้กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของทรัพย์โดยเด็ดขาดทุกกรณี แต่แบ่งแยกความรับผิดในแต่ละกรณีต่างหากจากกัน จึงมิใช่การเอาเปรียบหรือทำให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งต้องรับภาระเกินกว่าที่คาดหมายปกติ ทั้งข้อสัญญายังสอดคล้องกับประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2555 ข้อ 5 (4) ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 35 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และเป็นประกาศฉบับที่ใช้ในขณะทำสัญญาเช่าซื้อคดีนี้ ข้อสัญญาดังกล่าวจึงใช้บังคับได้
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์จึงนำสืบพยานฝ่ายเดียวคงนำสืบพอให้เห็นว่าข้ออ้างตามคำฟ้องของตนมีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย และศาลใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานว่าข้อเท็จจริงน่าจะเป็นไปดังพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาหรือไม่เท่านั้น การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลและพยานเอกสารยืนยันว่า ความเสียหายของรถยนต์ที่เช่าซื้อเกิดจากอุบัติเหตุเพลิงไหม้ซึ่งเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 แม้มิได้ขยายความว่าเกิดจากความผิดของจำเลยที่ 1 อย่างไร แต่ไม่ถึงกับเป็นข้อให้ต้องตำหนิหรือไม่เชื่อถือพยานหลักฐานของโจทก์ เมื่อพยานหลักฐานไม่ปรากฏว่า ภายหลังเกิดเหตุเพลิงไหม้รถยนต์ที่เช่าซื้อ จำเลยที่ 1 เคยชี้แจงต่อโจทก์หรือบอกเล่าให้บุคคลใดทราบว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องไม่อาจคาดหมายได้และมิใช่ความผิดของจำเลยที่ 1 รวมไปถึงการที่จำเลยทั้งสองขาดนัดไม่ยื่นคำให้การ ทั้งที่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่เกิดแก่รถยนต์เป็นเรื่องที่อยู่ในความรู้เห็นของจำเลยที่ 1 ผู้ครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อโดยเฉพาะ พยานหลักฐานของโจทก์พอเห็นว่า ข้ออ้างตามคำฟ้องเรื่องเหตุเพลิงไหม้รถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ทั้งรับฟังได้ว่า รถยนต์ที่เช่าซื้อเกิดอุบัติเหตุเพลิงไหม้เสียหายอย่างสิ้นเชิงโดยเกิดจากความผิดของจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง จำเลยที่ 1 จึงต้องรับชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เท่าจำนวนหนี้คงค้างชำระตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 5 วรรคสอง แต่หนี้ค่าเสียหายเท่ากับสัญญาเช่าซื้อส่วนที่เหลือตามสัญญาซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ เป็นหนี้หลักที่คู่สัญญาตกลงกันไว้ในกรณีที่สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงและรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย เสียหายหรือถูกทำลาย จนไม่สามารถซ่อมแซมให้ดังเดิม และไม่อาจส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้เป็นประโยชน์แก่โจทก์อีกต่อไปได้ ค่าเสียหายดังกล่าวจึงเป็นการชดเชยแทนที่ไม่แตกต่างจากหนี้ส่งมอบรถยนต์ที่คู่สัญญาฝ่ายผู้เช่าซื้อพึงต้องปฏิบัติ เมื่อมีการเลิกสัญญาหาใช่ความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 วรรคสอง จำเลยที่ 2 จึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิด และต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 666/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำผิดฟอกเงิน สิทธิของผู้ให้เช่าซื้อและทรัพย์สินที่ต้องตกเป็นของแผ่นดิน
ร. เช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากผู้คัดค้าน แต่ชำระค่าเช่าซื้อยังไม่ครบถ้วน กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทจึงยังคงเป็นของผู้คัดค้าน เมื่อผู้คัดค้านให้ ร. เช่าซื้อรถยนต์พิพาทและรับเงินตามสัญญาเช่าซื้อโดยสุจริตไม่ทราบว่า ร. นำเงินที่ได้จากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมาชำระค่างวดเช่าซื้อบางส่วน ผู้คัดค้านจึงชอบที่จะขอคืนรถยนต์พิพาทได้ แต่รถยนต์พิพาทคงมีส่วนที่เป็นทรัพย์ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดซึ่งต้องตกเป็นของแผ่นดินรวมอยู่ด้วย โดยเมื่อ ร. ชำระค่าเช่าซื้อให้ผู้คัดค้านยังไม่ครบถ้วนตามสัญญาเช่าซื้อ จึงเหลือเงินลงทุนของผู้คัดค้านที่ยังขาดอยู่ ซึ่งผู้คัดค้านมีสิทธิที่จะได้รับ จึงให้คืนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดรถยนต์พิพาทแก่ผู้คัดค้านตามจำนวนเงินลงทุนที่ยังขาดพร้อมดอกผล
ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้คัดค้านชำระไปก่อนแล้ว ผู้คัดค้านเรียกเก็บจาก ร. เมื่อชำระเงินให้แก่ผู้คัดค้านแล้วบางส่วน ส่วนที่ยังขาดอยู่ผู้คัดค้านมีสิทธิรับคืนได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 82/3 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3965/2564 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การผิดนัดสัญญาเช่าซื้อ การส่งมอบรถคืน และสิทธิของผู้นำเข้าในการขายทอดตลาด
ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 14 เป็นต้นมา 3 งวด ติดกัน เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ 6 งวด ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่รับหนังสือ หากพันกำหนดแล้วไม่ชำระให้ถือเอาหนังสือฉบับนี้เป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อทันที ซึ่งแม้พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาปรากฏเหตุขัดข้องที่ส่งหนังสือบอกกล่าวทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับให้แก่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ เพราะเหตุว่าจำเลยที่ 1 ไม่มารับภายในกำหนด แต่กรณีดังกล่าวสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 17 วรรคสาม ให้ถือว่าได้มีการส่งหนังสือบอกกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 โดยชอบแล้ว โดยเนื้อความในหนังสือบอกกล่าวเป็นเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 10 (ก) ที่ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2555 ซึ่งกำหนดให้สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภคต้องมีข้อสัญญานี้ด้วย ด้วยข้อสัญญาดังกล่าวมีผลให้โจทก์ไม่อาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเพราะเหตุผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อก่อนครบกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือบอกกล่าวได้ แต่จำเลยที่ 1 ยังมีสิทธิชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระตามที่บอกกล่าวภายใน 30 วัน เพื่อมิให้โจทก์ใช้สิทธิเลิกสัญญาเช่าซื้อเพราะเหตุจำเลยที่ 1 ผิดนัดผิดสัญญา แต่เมื่อปรากฏว่าเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558 จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปส่งมอบคืนให้แก่โจทก์ โดยไม่รอให้ล่วงพ้นกำหนดเวลา 30 วัน โดยไม่มีข้อโต้แย้ง พฤติการณ์เท่ากับจำเลยที่ 1 ยอมรับว่า อย่างไรเสียก็จะไม่ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระให้แก่โจทก์ภายในกำหนดเป็นแน่ และไม่ประสงค์ที่จะชำระเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระเพื่อให้สัญญาเช่าซื้อมีผลผูกพันต่อไป ซึ่งจำเลยที่ 1 สามารถดำเนินการได้เนื่องจากไม่มีข้อสัญญาห้ามมิให้ผู้เช่าซื้อกระทำเช่นนั้น พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาเพราะเหตุที่ใจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อทราบโดยชอบแล้ว โดยโจทก์หาจำต้องโต้แย้งคัดค้านการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแต่อย่างใดไม่ ทั้งการส่งมอบรถยนต์คืนเช่นนี้มิใช่เป็นกรณีจำเลยที่ 1 ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาข้อ 12 ที่กำหนดให้สิทธิจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อในเวลาใด ๆ เสียก็ได้ด้วยการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดีให้แก่โจทก์เนื่องจากสัญญาข้อ 12 ดังกล่าวกำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญาอยู่ในเวลานั้นทันที และไม่ได้เป็นการสมัครใจเลิกสัญญาเช่าซื้อกันโดยปริยายดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3965/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การผิดนัดชำระหนี้สัญญาเช่าซื้อ และผลของการส่งมอบรถคืนแก่ผู้ให้เช่าซื้อ
จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ ตั้งแต่งวดที่ 14 เป็นต้นมา 3 งวดติดกัน เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อภายใน 30 วัน นับแต่วันที่รับหนังสือ แม้ปรากฏว่าการส่งหนังสือบอกกล่าวทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับส่งให้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ เพราะจำเลยที่ 1 ไม่มารับภายในกำหนด แต่กรณีนี้ในข้อสัญญาเช่าซื้อถือว่าได้มีการส่งคำบอกกล่าวชอบแล้ว เมื่อเนื้อความในหนังสือบอกกล่าวเลิกสัญญาของโจทก์เป็นเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาข้อ 10 (ก) ที่ข้อสัญญามีข้อความครบถ้วนที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2555 ข้อ 4 (4) ที่ประกาศนี้กำหนดให้สัญญาเช่าซื้อที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภคต้องมีข้อสัญญานี้จึงส่งผลให้โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อไม่อาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเพราะเหตุผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อก่อนกำหนดเวลา 30 วันได้ และในทางกลับกันจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อยังมีสิทธิชำระค่าเช่าซื้อตามหนังสือบอกกล่าวได้ภายใน 30 วัน ตามหนังสือบอกกล่าวเพื่อมิให้โจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเพราะเหตุจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อไม่รอเวลาให้ครบ 30 วัน ตามหนังสือบอกกล่าว จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนโจทก์ โดยไม่มีข้อพิพาทหรือโต้แย้งมีผลเท่ากับจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าจะไม่ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระภายในกำหนดแน่นอน และไม่ประสงค์จะชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ เพื่อให้สัญญาเช่าซื้อมีผลผูกพันต่อไป พฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาเพราะเหตุที่โจทก์บอกกล่าวเลิกสัญญาให้จำเลยที่ 1 ทราบโดยชอบแล้ว ทั้งถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาข้อ 12 ที่กำหนดให้ผู้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อในเวลาใด ๆ ก็ได้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการสมัครใจเลิกสัญญาเช่าซื้อกันโดยปริยาย จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระค่าขาดราคา ตามข้อสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 855/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อ: ความรับผิดของผู้เช่าซื้อกรณีรถหาย และขอบเขตค่าเสียหายที่ตกลงกันไว้
โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่าจำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์แล้วผิดสัญญา โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาพร้อมเรียกให้จำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนและใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์ตามสัญญา โดยโจทก์แนบสำเนาสัญญาเช่าซื้อพร้อมคำฟ้องและอ้างส่งต่อศาล ทั้งมีคำขอบังคับให้จำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาพร้อมค่าเสียหาย แม้โจทก์มิได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเนื่องจากรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย แต่พอถือได้ว่าโจทก์เรียกค่าเสียหายกรณีรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายตามสัญญาเช่าซื้อด้วย
สัญญาเช่าซื้อข้อ 6.7 กำหนดว่า กรณีรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย หากมิใช่ความผิดของผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับ ค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการทวงถามหนี้ค่าเช่าซื้อ ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มคงเหลือ ทั้งนี้เพียงเท่าที่ผู้ให้เช่าซื้อได้จ่ายไปจริงโดยประหยัดตามความจำเป็นและมีเหตุผลอันสมควร ดังนั้น โจทก์และจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาต้องผูกพันตามข้อสัญญาดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไปโดยไม่ใช่ความผิดของผู้เช่าซื้อ จำเลยผู้เช่าซื้อจึงต้องรับผิดเฉพาะเบี้ยปรับ ค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการทวงถามหนี้ค่าเช่าซื้อ ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มคงเหลือเท่านั้น ซึ่งในส่วนเบี้ยปรับ แม้เป็นค่าเสียหายอย่างหนึ่ง แต่มีลักษณะเป็นค่าเสียหายที่คู่สัญญาได้ตกลงกันไว้ล่วงหน้าให้ชดใช้ให้แก่กันเมื่ออีกฝ่ายไม่ชำระหนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ซึ่งตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 4 กำหนดรายละเอียดของเบี้ยปรับว่า ได้แก่ เบี้ยปรับของค่าเช่าซื้อที่ผิดนัด เบี้ยปรับของค่าใช้จ่ายที่ผู้ให้เช่าซื้อได้ชำระที่ผู้ให้เช่าซื้อเรียกเก็บแทนผู้เช่าซื้อ เบี้ยปรับจึงมีความหมายเฉพาะที่ระบุในข้อสัญญาดังกล่าว มิใช่ค่าเสียหายอย่างอื่นที่โจทก์อาจมีสิทธิเรียกได้กรณีที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย เมื่อโจทก์มิได้นำสืบถึงค่าเสียหายอันเป็นเบี้ยปรับ ค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการทวงถามหนี้ค่าเช่าซื้อ ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มคงเหลือตามที่ระบุไว้ในข้อสัญญาดังกล่าว ทั้งสัญญาเช่าซื้อไม่มีข้อตกลงให้จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายอย่างอื่น จึงไม่อาจกำหนดให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 786/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อไม่สมบูรณ์ ผู้ให้เช่าซื้อผิดสัญญา ส่งมอบทรัพย์สินไม่ได้จดทะเบียน ผู้เช่าซื้อมีสิทธิบ่ายเบี่ยงชำระค่าเช่าซื้อ
สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อไม่เหมาะสมแก่การใช้งาน จำเลยมีสิทธิบ่ายเบี่ยงไม่ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ได้โดยไม่ถือว่าผิดนัด โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา การที่โจทก์ติดตามทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนจากจำเลยและจำเลยมิได้โต้แย้งสัญญาเช่าซื้อจึงเลิกกันโดยปริยาย เมื่อเหตุแห่งการสิ้นสุดของสัญญาสืบเนื่องมาจากความผิดของโจทก์ที่ไม่ได้ดำเนินการเพื่อให้จำเลยจดทะเบียนรถที่เช่าซื้อต่อกรมการขนส่งทางบกและได้ความว่าเอกสารที่ต้องใช้ในการจดทะเบียนสูญหายไป การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจเพิกเฉยต่อการจดทะเบียนรถที่เช่าซื้อให้ถูกต้องตามกฎหมายโดยไม่ปรากฏจากข้อนำสืบของโจทก์ว่าตามปกติประเพณีในการทำสัญญาเช่าซื้อที่ถือปฏิบัติกันมาผู้ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อรถบรรทุกหรือรถหางพ่วงพร้อมอุปกรณ์โดยทั่วไปจะถือว่าตนมีหน้าที่เพียงส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อให้ใช้ประโยชน์เท่านั้น ส่วนการดำเนินการทางทะเบียนและเอกสารสำคัญที่ต้องใช้ในการจดทะเบียนซึ่งตนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์จะมีอยู่และต้องจัดการอย่างไรไม่ใช่ข้อสำคัญที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องคำนึงถึงดังเช่นที่โจทก์ปฏิบัติ ประกอบกับปรากฏว่าเอกสารต่าง ๆ ของสัญญาเช่าซื้อที่โจทก์ทำกับผู้บริโภครายอื่นสูญหายอีกจำนวนมาก ข้อเท็จจริงที่กล่าวมานับว่าการประกอบธุรกิจของโจทก์ย่อหย่อนมิได้กระทำไปด้วยความสุจริตโดยคำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 12 ดังนี้ เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันโดยปริยายกับทั้งโจทก์มีพฤติการณ์ในการประกอบธุรกิจดังที่วินิจฉัยมาข้างต้น จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าขาดราคา เบี้ยปรับ ค่าติดตามรถบรรทุกที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์
of 75