คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ฟ้องแย้ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 754 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1106/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องแย้งค่าเลี้ยงดูบุตรและค่าอุปการะเลี้ยงดูเมื่อศาลมิได้พิพากษาให้หย่าขาดจากกัน
แม้คำฟ้องแย้งจะมีข้อความระบุว่า หากศาลให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน ขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่จำเลยและค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ก็ตาม แต่จำเลยให้การต่อสู้คดีและบรรยายคำฟ้องแย้งมาแต่แรกว่า เหตุหย่ามิใช่เกิดจากการกระทำของจำเลย โจทก์เป็นฝ่ายออกจากบ้าน ละทิ้งไม่ดูแล ไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจำเลยและบุตรผู้เยาว์ทั้งสองซึ่งอยู่ในระหว่างศึกษาเล่าเรียน ขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่จำเลย ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์และให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเพียงผู้เดียว แสดงให้เห็นถึงเจตนาแท้จริงตามคำฟ้องแย้งของจำเลยว่าไม่ประสงค์จะหย่ากับโจทก์ แต่ขณะเดียวกันก็ยืนยันว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ ซึ่งโจทก์ในฐานะบิดามีหน้าที่ต้องรับผิดชอบและปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว ไม่ว่าโจทก์จำเลยยังคงเป็นสามีภริยาหรือหย่าขาดจากกันแล้วหรือไม่ ทั้งย่อมเป็นเหตุผลอันสมควรให้ศาลมีคำสั่งให้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองอยู่แก่จำเลยผู้เป็นมารดาฝ่ายเดียวได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1566 (5) ไม่ว่าโจทก์จำเลยจะหย่าขาดจากกันหรือไม่เช่นเดียวกัน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ไม่อุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสอง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษาให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองและให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจการปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเพียงฝ่ายเดียว จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินขอ
แม้จำเลยให้การและบรรยายคำฟ้องแย้งตอนแรกว่า โจทก์ไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจำเลยเป็นทำนองว่าโจทก์ในฐานะสามีไม่ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจำเลยซึ่งเป็นภริยา เป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของสามีตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง กำหนดก็ตาม แต่เมื่ออ่านคำฟ้องแย้งของจำเลยแต่แรกจนถึงคำขอท้ายฟ้องแย้งโดยตลอดทั้งหมดแล้ว ได้ใจความตามที่บรรยายว่า เหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของโจทก์ซึ่งเป็นสามีฝ่ายเดียว การฟ้องหย่าของโจทก์ทำให้จำเลยยากจนลง หากศาลพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน ขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าเลี้ยงชีพให้จำเลยเป็นรายเดือน ซึ่งตรงตามหลักเกณฑ์เรื่องค่าเลี้ยงชีพที่ ป.พ.พ. มาตรา 1526 บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในกรณีที่มีการหย่าแล้วจะทำให้คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง ถือไม่ได้ว่าจำเลยฟ้องแย้งเรียกให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลย เมื่อศาลล่างทั้งสองมิได้พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน จึงไม่อาจบังคับให้โจทก์รับผิดชำระค่าเลี้ยงชีพให้แก่จำเลยตามคำขอท้ายฟ้องแย้งได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3562/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟื้นฟูกิจการล้มละลาย-งดการพิจารณาคดี-ฟ้องแย้ง: ศาลต้องงดพิจารณาคดีเมื่อมีการฟื้นฟูกิจการ และอาจงดพิจารณาฟ้องแย้งควบคู่ไปด้วย
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาเช่าซื้อแก่โจทก์ หนี้ที่โจทก์ขอบังคับเป็นหนี้กระทำการในคดีแพ่งที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลย เมื่อต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของจำเลยไว้พิจารณาและไม่ปรากฏว่าได้รับอนุญาตจากศาลล้มละลายกลางให้ดำเนินคดีนี้ต่อไป ศาลชั้นต้นย่อมต้องงดการพิจารณาคดีดังกล่าวไว้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (4) ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในเรื่องนี้ว่า ไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาโดยไม่ได้แก้ไขเรื่องดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง เพราะกรณีนี้เป็นเรื่องคดีค้างพิจารณา เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยและมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้วย่อมเป็นหน้าที่ของผู้บริหารแผนที่จะต้องเข้ามาดำเนินคดีแทนจำเลย ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความอ้างว่าศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้จึงไม่ชอบ ปัญหาเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 252
จำเลยฟ้องแย้งขอให้ขับไล่โจทก์และบริวารออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทพร้อมชำระค่าเสียหาย แม้มิใช่การฟ้องเกี่ยวกับทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (4) แต่เป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (9) เมื่อปรากฏว่า ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยดำเนินคดีในส่วนฟ้องแย้งแล้ว ศาลชั้นต้นย่อมสามารถยกคดีในส่วนฟ้องแย้งขึ้นพิจารณาต่อไปได้ ตามข้อยกเว้นที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (9) ที่บัญญัติว่า "...เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น" แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อฟ้องแย้งของจำเลยเกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมซึ่งพิพาทเกี่ยวกับที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเดียวกัน จำต้องพิจารณาไปในทางเดียวกัน ประกอบกับศาลต้องงดพิจารณาในส่วนของคำฟ้องไว้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (4) ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกระบวนพิจารณา และก่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อคู่ความทั้งสองฝ่ายในการฟ้องและต่อสู้คดี ย่อมมีเหตุสมควรที่ศาลฎีกาจะงดการพิจารณาในส่วนฟ้องแย้งไว้ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 39 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 หากต่อมาคดีฟื้นฟูกิจการสิ้นสุดลงหรือศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีนี้ในส่วนของโจทก์ต่อไป จึงให้ยกคดีทั้งในส่วนคำฟ้องและฟ้องแย้งขึ้นพิจารณาต่อไป ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีในส่วนฟ้องแย้งของจำเลยออกจากสารบบความและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจึงไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4795/2562 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องแย้งเกี่ยวกับการครอบครองที่ดินและบ้านพิพาท การโอนสิทธิการเช่าและการบังคับหลักประกันสิทธิ
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยว่า โจทก์เป็นผู้เช่าที่ดินราชพัสดุและเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างบนที่ราชพัสดุดังกล่าว โดยซื้อมาจาก จ. เดิมจำเลยเป็นผู้เช่าสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจาก จ. แต่ จ. ได้ยกเลิกสัญญาเช่ากับจำเลยแล้ว จำเลยไม่ยอมออกไป จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่เคยสละสิทธิการครอบครองที่ดินและบ้านพิพาท โจทก์ไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินและบ้านพิพาท การที่จำเลยไม่ขนย้ายออกจากที่ดินและบ้านพิพาทภายหลังจากสิ้นสิทธิการเช่าจากกรมธนารักษ์ จึงหาใช่เป็นการกระทำที่เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์แต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เดิมจำเลยกู้ยืมเงินจาก จ. มีสิทธิการเช่าที่ดินและบ้านพิพาทเป็นหลักประกัน จำเลยชำระดอกเบี้ยให้แก่ จ. ตลอดมาจนประมาณเดือนมิถุนายน 2559 จำเลยขอชำระคืนหนี้เงินต้นตามข้อตกลง แต่ จ. ไม่ยอมรับเงินและไม่ยอมไถ่ถอนหลักประกัน และนำสิทธิการเช่าที่ดินและบ้านพิพาทไปโอนต่อให้แก่โจทก์ โดยโจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าที่ดินและบ้านพิพาทจำเลยและครอบครัวได้ใช้พักอาศัยการใช้สิทธิของ จ. ที่บังคับเอาสิทธิการเช่าที่ดินและบ้านพิพาทอันเป็นหลักประกันเงินกู้ยืมของจำเลยไปเป็นของตนเองในขณะที่จำเลยไม่เคยผิดนัดตามสัญญากู้ยืมเงินนั้น เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ในฐานะผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่า จ. ผู้โอน โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลย การกระทำของ จ. และโจทก์เป็นการฉ้อฉลและขัดต่อกฎหมาย อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของจำเลยซึ่งเป็นผู้ทรงสิทธิการเช่าที่ดินและบ้านพิพาท ขอให้ยกฟ้อง และขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนสิทธิการเช่าที่ดินและการโอนบ้านพิพาทระหว่างจำเลยกับ จ. และระหว่าง จ. กับโจทก์ ดังนี้ ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเป็นการต่อสู้ว่าจำเลยมีสิทธิในที่ดินและบ้านพิพาทดีกว่าโจทก์ ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ เพื่อให้ข้อที่พิพาทกันเสร็จไปในคราวเดียวกัน จึงควรรับฟ้องแย้งของจำเลยเพื่อรวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกันกับฟ้องโจทก์ตามฟ้องแย้งจำเลยต่อสู้ว่าจำเลยมีสิทธิในที่ดินและบ้านพิพาทดีกว่าโจทก์ซึ่งรับโอนการเช่าที่ดินและโอนบ้านพิพาทจาก จ. ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนสิทธิการเช่าที่ดินและการโอนบ้านพิพาทระหว่างจำเลยกับ จ. และระหว่าง จ. กับโจทก์ ซึ่งเป็นกรณีที่ จ. โต้แย้งสิทธิของจำเลยในการบังคับหลักประกันตามสัญญากู้ยืมเงินด้วย จึงเห็นสมควรที่จะเรียก จ. เข้ามาเป็นคู่ความในคดีร่วมกับโจทก์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ข) ซึ่งบัญญัติให้ศาลมีอำนาจเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดีตามที่เห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1621/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการยึดหน่วงชำระหนี้ค่าแฟรนไชส์เมื่อเครื่องจักรชำรุด และการพิพากษาฟ้องแย้ง
เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้รับฎีกาโจทก์เฉพาะประเด็นว่า จำเลยไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าแฟรนไชส์ส่วนที่เหลือตามฟ้องแย้ง ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังเป็นยุติได้ต่อไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า โจทก์ไม่อาจอาศัยเหตุที่ว่า จำเลยส่งมอบเครื่องทำไอศกรีมเกล็ดหิมะมือสองให้แก่โจทก์และไม่ส่งแผ่นพับและธงญี่ปุ่นให้โจทก์มาบอกเลิกสัญญากับจำเลยได้ และถือไม่ได้ว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญากับจำเลย แม้โจทก์และจำเลยยังคงมีนิติสัมพันธ์กันตามสัญญาธุรกิจแฟรนไชส์ ซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทน โจทก์ในฐานะลูกหนี้มีหน้าที่ปฏิบัติการชำระหนี้ค่าแฟรนไชส์ที่เหลือจำนวน 175,000 บาท ให้แก่จำเลย ภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เครื่องทำไอศกรีมเกล็ดหิมะของจำเลยเกิดการขัดข้องในการใช้งาน เนื่องจากมีความชำรุดบกพร่องเกี่ยวกับการเซ็ทระบบและภูมิอากาศในประเทศไทย โจทก์จึงชอบที่จะยึดหน่วงไม่ชำระหนี้ค่าแฟรนไชส์ที่เหลืออยู่จำนวน 175,000 บาท ได้จนกว่าจำเลยจะแก้ไขความชำรุดบกพร่องของเครื่องทำไอศกรีมเกล็ดหิมะดังกล่าว หรือหาประกันที่สมควรให้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 488

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7994/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทค่าเสียหายจากการทำงานก่อสร้าง การหักกลบลบหนี้ และอายุความฟ้องแย้ง
เมื่องานที่โจทก์ทำให้จำเลยชำรุดบกพร่อง โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยชำระหนี้นั้น ถูกต้องแล้ว แต่ศาลชั้นต้นยังคงต้องวินิจฉัยให้จำเลยชำระค่าการงานที่ได้ทำให้โจทก์อีก เมื่อศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยในส่วนนี้จึงเป็นการไม่ชอบ กรณีจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) แม้โจทก์ไม่อุทธรณ์ฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247 (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2127/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องและการฟ้องแย้ง: ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยฟ้องแย้งหลังศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์
เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยให้เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากจำเลยยังไม่ได้กระทำการใดที่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ไม่อุทธรณ์ ฟ้องแย้งของจำเลยย่อมต้องตกไปด้วย เพราะไม่มีฟ้องเดิมและตัวโจทก์เดิมที่จำเลยจะฟ้องแย้ง
การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังคงวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทและมีคำพิพากษาบังคับโจทก์ตามฟ้องแย้งของจำเลย เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยยกฟ้องแย้งของจำเลยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 และมาตรา 247 (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7782/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องแย้งค่าเสียหายจากการผิดสัญญาแบ่งรายได้หลังหย่า เกี่ยวเนื่องกับฟ้องเดิมได้
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาตามบันทึกข้อตกลงการหย่าและการจัดการแบ่งทรัพย์สินตามสัญญา ข้อ 2.3 ขอให้บังคับจำเลยโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสัญญา ข้อ 2.3 ให้แก่โจทก์ จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่ได้ผิดสัญญา แต่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ยอมโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสัญญา ข้อ 2.1 ไม่ส่งมอบทรัพย์สินของบริษัท ท. จำกัด ตามสัญญา ข้อ 2.5 และไม่เข้าทำงานที่คลินิกของจำเลยโดยนัดคนไข้ไปรับการรักษาต่อที่คลินิกของโจทก์ ตามสัญญา ข้อ 5 ซึ่งตามสัญญา ข้อ 5 ระบุว่า โจทก์จะเข้าทำงานด้านทันตกรรม (งานจัดฟัน) ในคลินิกของจำเลยเป็นเวลา 5 ปี นับจากวันทำบันทึกข้อตกลงอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ครั้งละไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง ดังนั้น หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามคำให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์นัดคนไข้ทันตกรรม (งานจัดฟัน) ของจำเลยไปรับการรักษาต่อที่คลินิกของโจทก์จริง จำนวนคนไข้ที่จะรับการรักษาต่อก็ไม่มีหรือมีน้อยลง ทำให้โจทก์ไม่ต้องมาทำงานหรือทำงานน้อยลงจากที่กำหนดในสัญญา ย่อมทำให้ส่วนแบ่งรายได้ด้านทันตกรรม (งานจัดฟัน) ของจำเลยย่อมลดลง จึงเป็นกรณีที่โจทก์ประสงค์จะให้จำเลยมีรายได้จากส่วนแบ่งตามสัญญา ข้อ 5 น้อยลงหรือไม่ได้เลยหากไม่มีคนไข้ทันตกรรม (งานจัดฟัน) มาใช้บริการต่อที่จำเลย ฟ้องแย้งของจำเลยในส่วนนี้จึงมีมูลแห่งคดีเกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมว่าฝ่ายใดผิดสัญญาตามบันทึกข้อตกลงการหย่าและจัดการแบ่งทรัพย์สินตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม แม้การกระทำละเมิดมิใช่คดีแพ่งที่ฟ้องเกี่ยวกับครอบครัวก็ตาม แต่มูลความแห่งคดีเรื่องละเมิดเกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมและเกี่ยวข้องกับฟ้องแย้งของจำเลยที่อ้างว่าโจทก์ผิดสัญญา ข้อ 5 จำเลยจึงฟ้องแย้งในส่วนละเมิดนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 452/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจปกครองบุตร: กรณีผลตรวจ DNA ขัดแย้งกับข้อตกลงในทะเบียนหย่า และฟ้องแย้งไม่เกี่ยวข้องกับฟ้องเดิม
โจทก์ฟ้องโดยมีคำขอบังคับให้โจทก์มีอำนาจปกครองเด็กหญิง จ. แต่เพียงผู้เดียวพร้อมทั้งให้จำเลยส่งมอบบุตรผู้เยาว์คืนโจทก์ โดยเป็นการเรียกบุตรคืนโดยอาศัยอำนาจปกครองบุตรตามที่โจทก์กับจำเลยทำบันทึกไว้ท้ายทะเบียนหย่า จำเลยฟ้องแย้งโดยขอให้ชดใช้ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่จำเลยต้องจ่ายไป ทั้งนี้หลังจากที่มีการทราบผลการตรวจวิเคราะห์พันธุกรรมว่าจำเลยไม่มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมเป็นบิดาของเด็กหญิง จ. ฟ้องแย้งในส่วนนี้ของจำเลยจึงเป็นฟ้องแย้งที่อาศัยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นใหม่ในระหว่างพิจารณาคดีโดยเป็นการบังคับแก่โจทก์ให้ชำระค่าเสียหาย จึงเป็นคนละเรื่องกับคำฟ้องของโจทก์ซึ่งไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 40/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 และการรับฟ้องแย้งที่เกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิม
ในส่วนที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ตามฟ้อง จำเลยร่วมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2519 มาตรา 36 ทวิ หากศาลวินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1 มีสิทธิครอบครองที่ดินรวมทั้งที่ดินตาม ส.ป.ก. 4-01 ดังกล่าวดีกว่าจำเลยทั้งห้า ย่อมเป็นการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ของจำเลยร่วมด้วย เมื่อศาลมีคำสั่งเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ข) แล้ว จำเลยร่วมย่อมมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ จึงอาจนำพยานหลักฐานใหม่มาแสดงและคัดค้านเอกสารที่ได้สืบไปแล้วก่อนที่ตนได้ร้องสอด การที่โจทก์ที่ 1 โต้แย้งกรรมสิทธิ์ของจำเลยร่วมดังกล่าว จำเลยร่วมย่อมมีสิทธิยกเรื่องการสืบสิทธิการออก ส.ป.ก. 4-01 ขึ้นต่อสู้และนำพยานหลักฐานมาพิจารณาเข้าด้วยกันในคราวเดียวกับคำฟ้องเดิมได้ ฟ้องแย้งของจำเลยร่วมเฉพาะส่วนที่ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปพัฒนาเพื่อการเกษตรกรรมของจำเลยร่วมกับห้ามโจทก์ที่ 1 และบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ของจำเลยร่วมจึงเกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1221/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องแย้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการอุทธรณ์ข้อเท็จจริงในคดีมีทุนทรัพย์น้อยกว่า 50,000 บาท
ฟ้องแย้งของจำเลยขอห้ามมิให้โจทก์กระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการถือครองที่ดินของจำเลย และให้โจทก์ใช้ค่าเสียหาย 300,000 บาท แก่จำเลย ซึ่งหากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ย่อมมีผลทำให้สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้รับการบังคับตามกฎหมาย คำฟ้องแย้งของจำเลยจึงมีสภาพเป็นเพียงคำให้การ ส่วนเรื่องค่าเสียหาย จำเลยอ้างเหตุมูลละเมิดเนื่องจากถูกโจทก์ฟ้อง เป็นคนละเรื่องกับคดีนี้ที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท ฟ้องแย้งในส่วนนี้เป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน คู่ความย่อมมีสิทธิที่จะยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท จำเลยให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย จึงเป็นคดีเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท เป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามราคาที่ดินพิพาท เมื่อที่ดินพิพาทมีราคาประเมินตารางวาละ 300 บาท คิดเป็นทุนทรัพย์พิพาท 21,000 บาท ทุนทรัพย์พิพาทในชั้นอุทธรณ์จึงไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยและศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับวินิจฉัยให้จึงไม่ชอบ
of 76