คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ฟ้องคดี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 831 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15658/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความชอบด้วยกฎหมายของฟ้องคดีเกี่ยวกับยาปลอมและเครื่องสำอาง รวมถึงการลงโทษจำคุก
ฟ้องโจทก์ได้บรรยายแล้วว่า ยาที่จำเลยกับพวกร่วมกันผลิตเป็นยาปลอมโดยใช้วัตถุเทียมในการผลิตยา และเป็นยาที่แสดงชื่อหรือเครื่องหมายของผู้ผลิตและสถานที่ตั้งของผู้ผลิตไม่ตรงความจริง ส่วนตัวยาที่แท้จริงเป็นอย่างไร และวัตถุเทียมในการผลิตยาคือวัตถุอะไรเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา แม้ตอนต้นของฟ้องโจทก์จะบรรยายว่า การกระทำของจำเลยในความผิดฐานปลอมยา แต่ตอนท้ายบรรยายว่า เป็นยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ก็ไม่ขัดแย้งกันเพราะยาปลอมก็คือยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และความผิดฐานผลิตยาปลอม ฐานผลิตยาโดยไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา ฐานผลิตเพื่อขายเครื่องสำอางปลอม และฐานผลิตเพื่อขายซึ่งเครื่องสำอางควบคุมพิเศษโดยไม่แสดงฉลากให้ถูกต้องครบถ้วนหรือแสดงฉลากที่แจ้งแหล่งผลิตอันเป็นเท็จนั้น ไม่มีองค์ประกอบความผิดว่าทำให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด เมื่อจำเลยผลิตและมีไว้เพื่อขายยาปลอมและยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา และผลิตเพื่อขายหรือมีไว้เพื่อขายเครื่องสำอางย่อมเป็นความผิดตามกฎหมายแล้ว คำฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10847/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีขัดแย้งกันเองและไม่สุจริต ทำให้ขาดอำนาจฟ้อง
การที่โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ โดยอ้างว่าจำเลยปลอมหนังสือมอบอำนาจไปจดทะเบียนว่าโจทก์ให้ทรัพย์สินที่พิพาทแก่จำเลย และมาฟ้องคดีนี้ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงใหม่ อ้างว่าโจทก์ทำสัญญาให้ทรัพย์สินที่พิพาทแก่จำเลยซึ่งแสดงว่าจำเลยไม่ได้ปลอมหนังสือมอบอำนาจ การกระทำของโจทก์ตามข้ออ้างในคดีทั้งสองเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงที่แตกต่างและขัดกัน ซึ่งหากศาลจังหวัดเชียงใหม่เห็นว่าเป็นการปลอมหนังสือมอบอำนาจ ไม่ใช่การให้ทรัพย์สินพิพาทแก่จำเลย โจทก์ก็ชนะคดีที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ แต่หากศาลจังหวัดเชียงใหม่เห็นว่าไม่เป็นการปลอมเอกสาร ย่อมมีผลโดยปริยายว่าเป็นการให้อันเป็นประโยชน์แก่คดีนี้ จึงเป็นการดำเนินคดีที่โจทก์มุ่งประสงค์ต่อผลให้โจทก์ชนะคดีแน่นอนไม่ว่าศาลใดศาลหนึ่ง โดยไม่คำนึงถึงข้อความจริงซึ่งโจทก์ย่อมรู้ดี และเมื่อพิจารณาถึงคดีที่โจทก์ฟ้องต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่อ้างเหตุว่าจำเลยปลอมเอกสารอันอาจเป็นมูลเหตุให้จำเลยถูกดำเนินคดีอาญาข้อหาปลอมแปลงเอกสารด้วยแล้ว ถือได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10398/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีซื้อขายสินค้า: เริ่มนับจากวันส่งมอบสินค้า และวันหยุดราชการมีผลต่อการสิ้นสุดอายุความ
เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2549 จำเลยสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ และเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2549 จำเลยลงชื่อรับสินค้าตามใบส่งของ การซื้อขายระหว่างโจทก์และจำเลยเข้าลักษณะสัญญาต่างตอบแทนที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ ฝ่ายเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลันและฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน โจทก์จึงอาจบังคับสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าสินค้านับแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2549 เป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบจึงมีกำหนดอายุความสองปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ครบกำหนดสองปีในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชาและเป็นวันหยุดราชการประจำปี ศาลหยุดทำการ แต่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/8 ให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา และอายุความเป็นระยะเวลาอย่างหนึ่ง การนับอายุความจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่ง ป.พ.พ. ตั้งแต่มาตรา 193/1 ถึงมาตรา 193/8 ด้วย โจทก์จึงมีสิทธิยื่นฟ้องคดีนี้ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งเป็นวันที่ศาลเริ่มทำการใหม่ต่อจากวันหยุดทำการได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ วันมาฆบูชาเป็นวันหยุดราชการเป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันทั่วไป ศาลรู้ได้เองและหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ คู่ความไม่จำต้องนำสืบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8934/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีรับขนของทางทะเล: เริ่มนับจากวันส่งมอบสินค้า และการเรียกจำเลยร่วมเข้าสู่คดีไม่สะดุดอายุความ
พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 46 บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายเพื่อการเสียหายแห่งของที่รับขนตามสัญญารับขนทางทะเล ถ้าไม่ได้ฟ้องคดีต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ขนส่งได้ส่งมอบของให้เป็นอันขาดอายุความ เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติว่า ผู้ขนส่งได้ส่งมอบของวันที่ 28 มิถุนายน 2547 สิทธิของโจทก์ในการฟ้องเรียกค่าเสียหายเพื่อการเสียหายแห่งของที่รับขนจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2547 แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยภายในกำหนดอายุความก็ตาม แต่การฟ้องคดีดังกล่าว หาทำให้อายุความสำหรับจำเลยร่วมที่ 2 สะดุดหยุดลงไม่ เพราะกำหนดอายุความย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแก่ลูกหนี้แต่ละคนโดยเฉพาะ การจะฟังว่าอายุความสำหรับจำเลยร่วมที่ 2 ขาดแล้วหรือไม่ ต้องถือเอาวันที่จำเลยร่วมที่ 2 ถูกเรียกเข้ามาในคดีซึ่งเป็นวันเริ่มต้นคดีเป็นเกณฑ์ โดยไม่คำนึงว่าคู่ความฝ่ายใดเป็นผู้ขอให้เรียกจำเลยร่วมที่ 2 เข้ามา เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียกจำเลยร่วมที่ 2 เข้ามาในคดีในวันที่ 2 กันยายน 2548 จึงเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ขนส่งได้ส่งมอบสินค้าพิพาทให้แก่ผู้รับตราส่ง คดีโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยร่วมที่ 2 จึงขาดอายุความ
1/1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5442/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้กู้ยืมและการขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย: ผลของการฟ้องคดีและการถอนฟ้อง
ในการที่ จ. กู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้โดยลูกหนี้ได้จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้เป็นประกันหนี้ โดยมีข้อตกลงว่าหากบังคับทรัพย์จำนองไม่พอชำระหนี้ ลูกหนี้ยอมรับผิดชำระหนี้ส่วนที่ขาดจนครบถ้วนนั้น เมื่อลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดไม่ชำระหนี้ โดยชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2539 เจ้าหนี้ชอบที่จะฟ้องร้องหรือขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายภายในกำหนดระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันผิดนัดดังกล่าว หากเจ้าหนี้ไม่ดำเนินการก็ถือว่ามูลหนี้ประธานขาดอายุความ ส่วนที่เจ้าหนี้นำมูลหนี้กู้ยืมและจำนองไปฟ้อง จ. และลูกหนี้เป็นคดีแพ่ง ต่อมาเจ้าหนี้ได้ถอนฟ้องในส่วนของลูกหนี้ และศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีส่วนลูกหนี้ออกจากสารบบความ การฟ้องคดีดังกล่าวจึงไม่ได้ทำให้อายุความในมูลหนี้ที่ลูกหนี้ต้องรับผิดสะดุดหยุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2550 จึงเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี นับแต่วันผิดนัด หนี้รายนี้จึงขาดอายุความไม่อาจขอรับชำระหนี้ได้ ตามพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94 (1) ส่วนการที่เจ้าหนี้ได้นำมูลหนี้จำนองไปยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิในคดีแพ่ง และศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามขอ ก็เป็นผลให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้บุริมสิทธิผู้รับจำนอง และเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว เจ้าหนี้ย่อมนำมูลหนี้บุริมสิทธิดังกล่าวมาขอรับชำระหนี้ได้ แต่หาได้เกี่ยวพันกับหนี้ส่วนที่ขาดอันเป็นหนี้สามัญด้วยแต่อย่างใดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4813/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีอาญาเกินกำหนดเวลา และการรับฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขคำพิพากษาได้
คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์ คดีจึงต้องห้ามฎีกาทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาโจทก์มาโดยไม่มีการอนุญาตหรือรับรองให้ฎีกาจึงเป็นการไม่ชอบ แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้วและข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีได้ความว่า จำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน ในวันเดียวกันพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 ซึ่งยังถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกจับเพราะยังไม่มีคำสั่งหรือหมายของศาล และไม่ปรากฏว่ามีเหตุเข้าข้อยกเว้นที่จะจับโดยไม่มีหมายจับได้ จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 7 และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ที่จะต้องฟ้องคดีภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่จำเลยถูกจับหรือต้องผัดฟ้องหรือได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีจากอัยการสูงสุด การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4335/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานฉ้อโกงและการออกเช็ค - กรรมเดียวหรือหลายกรรม? ศาลฎีกาชี้ขาดสิทธิฟ้องคดีอาญา
การที่จำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงสั่งซื้อสินค้าผ้าจากโจทก์ร่วมนั้น เป็นการดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนตามแผนการที่วางไว้ตั้งแต่ต้น โดยการหลอกลวงให้โจทก์ร่วมไว้วางใจเพื่อจะได้ฉ้อโกงสินค้าเป็นจำนวนมากโดยอาศัยวิธีการออกเช็คชำระค่าสินค้าแทนเงินสด โดยเจตนาที่จะไม่ใช้เงินตามเช็ค พฤติการณ์การกระทำดังกล่าวจึงเป็นเพียงอุบายของจำเลยกับพวกเพื่อให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อและส่งมอบสินค้าผ้าให้จำเลยกับพวก การออกเช็คชำระหนี้คราวแรกจึงเป็นการกระทำอันเป็นส่วนหนึ่งของการหลอกลวงอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง แม้การที่จำเลยออกเช็คตามฟ้องให้แก่โจทก์ร่วมจะกระทำขึ้นในวันที่ 25 กรกฎาคม 2543 ภายหลังจากจำเลยกับพวกได้รับสินค้าผ้าจากโจทก์ร่วมไประหว่างวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2543 ถึงวันที่ 20 มีนาคม 2543 และภายหลังออกเช็คคราวแรกให้โจทก์ร่วมแล้วก็ตาม แต่เป็นการออกเช็คแทนเช็คฉบับเดิมที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จึงเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องและแทนที่การออกเช็คที่เป็นส่วนหนึ่งของแผนการหลอกลวงดังกล่าว การกระทำของจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 707/2545 ของศาลแขวงปทุมวัน และในความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ในคดีนี้ จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน แม้การกระทำของจำเลยจะเป็นกรรมเดียวกันก็ตาม แต่ต่อมาเมื่อปรากฏว่าศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 707/2545 ของศาลแขวงปทุมวัน โดยวินิจฉัยว่าเป็นการฟ้องซ้อนกับคดีนี้ หาได้วินิจฉัยการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหรือไม่ จึงถือไม่ได้ว่าในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 707/2545 ของศาลแขวงปทุมวัน ได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้อง สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในคดีนี้จึงหาได้ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2620/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หมดอายุความฟ้องคดีภาษี: แม้มีเหตุผลทางปกครอง การฟ้องต้องเป็นไปตามกำหนด 30 วัน
โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประเมินไม่พอใจการประเมินและคำชี้ขาดเกี่ยวกับวิธีดำเนินการประเมินและจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินตามหนังสือแจ้งรายการประเมินและคำชี้ขาดซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบเนื่องจากไม่มีเหตุผลอันประกอบด้วยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิพาทและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 39 โจทก์ก็ต้องนำคดีมาฟ้องภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันรับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาดตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2547 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ได้รับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาดเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2551 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2551 จึงพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันรับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนใบแจ้งรายการประเมิน (ภ.ร.ด.8) และใบแจ้งคำชี้ขาด (ภ.ร.ด.11) ซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองที่เกี่ยวกับวิธีดำเนินการประเมินและจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินหากโจทก์ชนะคดีย่อมเป็นผลให้โจทก์ไม่มีความรับผิดในค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามการประเมิน จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้และมีทุนทรัพย์ตามจำนวนภาษีโรงเรือนและที่ดินตามการประเมินนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2383/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องเรียกเงินคืนเป็นเรื่องลาภมิควรได้หรือไม่ และประเด็นอายุความของการฟ้องคดี
แม้ทางนำสืบของโจทก์จะได้ความว่า โจทก์คืนเงินให้นาย อ. ครั้งแรกโดยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากผู้มีชื่อ ส่วนการสั่งคืนเงินให้จำเลยในครั้งหลังจ่ายเป็นแคชเชียร์เช็คก็ตาม กรณีเป็นเพียงวิธีการสั่งคืนเงินโดยฝากเข้าบัญชีเงินฝากเท่านั้น เงินซึ่งนาย อ. และจำเลยนำมาวางไว้แก่โจทก์ก็เพื่อค้ำประกันการออกหนังสือค้ำประกันให้บริษัท พ. หาใช่เป็นการฝากเงินหรือฝากทรัพย์ไม่ ฉะนั้นการที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องจำเลยให้คืนเงินที่รับไปนั้น เป็นเรื่องที่กล่าวอ้างว่าจำเลยรับเงินไปโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ กรณีจึงเป็นเรื่องลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 มิใช่เรื่องการติดตามเรียกเอาทรัพย์คืนตามมาตรา 1336

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1848/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าหนี้ต้องพิสูจน์ความสุจริตตามประกาศกองทุนฟื้นฟูเพื่อรับความช่วยเหลือทางการเงินก่อนฟ้องคดี
ตามประกาศกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เรื่อง การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ขอรับความช่วยเหลือทางการเงินในข้อ 2 (4) ว่า ในกรณีที่โจทก์เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 โจทก์มีหน้าที่จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าตนเป็นเจ้าหนี้ที่สุจริตในการเป็นผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินทั้งสองฉบับที่ขอรับความช่วยเหลือทางการเงิน แม้โจทก์จะอ้างว่าเหตุที่ฟ้องเพราะตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับหนึ่งจะขาดอายุความก็ดี หรือขณะที่โจทก์รับโอนตั๋วสัญญาใช้เงินมา จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ประสบภาวะที่จะต้องถูกสั่งปิดกิจการ จึงแสดงว่ารับโอนโดยสุจริตก็ดีหรือเอกสารที่พิสูจน์ความสุจริตของโจทก์นั้นอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 3 ก็ดี แต่เมื่อข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติตามที่โจทก์และจำเลยที่ 3 นำสืบว่า ก่อนที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ โจทก์ยังไม่ได้พิสูจน์ให้ได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้ที่สุจริตในการเป็นผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินทั้งสองฉบับที่ขอรับความช่วยเหลือทางการเงินตามเงื่อนไขที่ประกาศดังกล่าวกำหนดไว้ แต่อย่างใด ทั้ง ๆ ที่โจทก์มีหน้าที่จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าตนเป็นเจ้าหนี้ที่สุจริตในการเป็นผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินทั้งสองฉบับเช่นนี้ การฟ้องคดีของโจทก์ไม่เป็นไปตามขั้นตอนตามประกาศดังกล่าว โจทก์จึงยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 และยังไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ได้
of 84