คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ฟ้องคดี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 831 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11484/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิฟ้องคดีละเมิดลิขสิทธิ์ของเจ้าของลิขสิทธิ์ร่วม และผลของการมีคำพิพากษาในคดีก่อน
สัญญาร่วมลิขสิทธิ์เพลงระหว่างโจทก์และ ศ. เป็นเรื่อง ศ. ตกลงให้โจทก์มีลิขสิทธิ์ร่วมกับ ศ. ในบทเพลงที่ ศ. มีลิขสิทธิ์อยู่ มิใช่ขายขาดให้โจทก์แต่เพียงผู้เดียวมีลิขสิทธิ์ในบทเพลงดังกล่าว ทั้งโจทก์และ ศ. จึงต่างก็เป็นเจ้าของและเป็นผู้เสียหายซึ่งมีอำนาจฟ้องผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ในบทเพลงอันมีลิขสิทธิ์ร่วมกัน การตกลงให้โจทก์แต่ผู้เดียวเป็นผู้ดำเนินคดีแก่บุคคลภายนอกเกี่ยวกับลิขสิทธิ์บทเพลงเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับ ศ. จะไปว่ากล่าวกันเองตามสัญญา ข้อตกลงดังกล่าวไม่อาจนำมาตัดสิทธิ ศ. ไม่ให้ฟ้องผู้ละเมิดลิขสิทธิ์บทเพลงของตนอันเป็นการใช้สิทธิของผู้เสียหายตามกฎหมาย ศ. จึงชอบที่จะฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้หากเห็นว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ละเมิดลิขสิทธิ์ของตน และเมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ถูก ศ. ฟ้องในเหตุอันเดียวกันกับเหตุที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในคดีนี้จนศาลมีคำพิพากษาแล้ว ถือได้ว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องในคดีดังกล่าวแล้ว ดังนั้น สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงระงับไป แม้คดีที่ ศ. ฟ้องยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาก็ตาม เพราะการมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) มิได้หมายความเฉพาะการมีคำพิพากษาในคดีซึ่งถึงที่สุดแล้วเท่านั้น แต่หมายถึงการมีคำพิพากษาในคดีของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางด้วย คำสั่งจำหน่ายคดีของศาลดังกล่าวจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11002/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความภาษีอากร: เริ่มนับเมื่อใด? การประเมินภาษีและการฟ้องคดีเป็นเหตุสะดุดอายุความ
จำเลยมิได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 ฉ ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 7(1) และมาตรา 8 และมีผลให้จำเลยไม่มีสิทธิยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในกรณีถูกฟ้องด้วย การประเมินภาษีส่วนนี้จึงเป็นอันยุติ และสืบเนื่องจากกรณีดังกล่าว ในส่วนภาษีการค้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม จำเลยมิได้อุทธรณ์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 30 ภาษีส่วนนี้จึงเป็นอันยุติเช่นกัน
แม้ตามคำฟ้องโจทก์ทั้งสองอ้างว่าจำเลยสำแดงราคาสินค้าต่ำกว่าราคาซื้อขายที่แท้จริงโดยเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร อันต้องด้วยเหตุยกเว้นตามข้อความตอนแรกสุดของมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 จึงไม่อยู่ในบังคับที่ต้องใช้อายุความ 10 ปี หรือ 2 ปี ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้ ก็มีผลเพียงให้กรณีสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่ 1 ไม่มีบัญญัติไว้โดยเฉพาะใน พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 จึงต้องใช้อายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31 และการนับอายุความต้องเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 ซึ่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 ทวิ บัญญัติว่า ความรับผิดในอันจะต้องเสียค่าภาษีสำหรับของที่นำเข้าเกิดขึ้นในเวลาที่นำของเข้าสำเร็จ ดังนี้สิทธิเรียกร้องในหนี้ค่าภาษีอากรขาเข้าจึงอาจบังคับได้นับแต่วันที่จำเลยนำเข้าสินค้า ไม่อาจถือว่าต้องเริ่มนับแต่วันที่โจทก์ที่ 1 ตรวจพบการกระทำผิด อันจะมีผลให้วันเริ่มนับอายุความยาวนานไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด หรือจะเริ่มนับเมื่อใดก็ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการทำงานของโจทก์ที่ 1 จนอาจเป็นเวลาหลายสิบปีก็ได้ ย่อมไม่เป็นธรรมแก่ฝ่ายผู้เสียภาษีที่อาจไม่ได้หลีกเลี่ยงภาษี แต่ไม่ได้เก็บพยานหลักฐานไว้นานพอจะพิสูจน์ความบริสุทธ์ได้ เมื่อนับแต่วันนำเข้าถึงวันที่จำเลยได้รับแบบแจ้งการประเมินรวมถึงฟ้องคดีในภายหลังเกินกำหนดอายุความ 10 ปีแล้ว สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่ 1 จึงขาดอายุความ
สำหรับหนี้ค่าภาษีการค้า ภาษีส่วนท้องถิ่น และภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น ป.รัษฎากรมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี นับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31 และ 193/12 เช่นกัน และตาม ป.รัษฎากร มาตรา 78 จัตวา (เดิม) 78 เบญจ (1) (เดิม) และ 78/2 (1) บัญญัติทำนองเดียวกันว่า ความรับผิดในการเสียภาษีการค้าและภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการนำเข้าเกิดขึ้นเมื่อชำระอากรขาเข้า วางหลักประกันอากรขาเข้า จึงเป็นกรณีที่โจทก์ที่ 2 อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้นับแต่ความรับผิดในการเสียภาษีเกิดขึ้นตามบทมาตรานี้ เมื่อนับแต่วันจำเลยชำระอากรขาเข้าถึงวันที่จำเลยได้รับแบบแจ้งการประเมินรวมทั้งฟ้องคดีในภายหลังเกินกำหนดอายุความ 10 ปี สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่ 2 จึงขาดอายุความ แต่การนำเข้าครั้งที่ 2 จำเลยได้รับแบบแจ้งการประเมินเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2546 อันเป็นการกระทำที่ถือได้ว่ามีผลอย่างเดียวกับการฟ้องคดี เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง จึงยังไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10321/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์ประกอบฟ้องคดีเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ และเหตุรอการลงโทษจำคุก
ส่วนที่โจทก์บรรยายครบถ้วนตามองค์ประกอบความผิดแห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 4 และมาตรา 5 ซึ่งชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว โจทก์บรรยายฟ้องในทำนองว่า นอกจาก ธ. และจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 1 ยังชักชวนผู้อื่นให้ไม่ยื่นซองเสนอราคาด้วย และให้หรือขอให้เงินจำนวน 40,000 บาท ในลักษณะตอบแทนด้วยนั้น เป็นเพียงการขยายความ ซึ่งถึงแม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายฟ้องว่าผู้อื่นดังกล่าวนั้นเป็นใคร มีจำนวนกี่คนก็ไม่ทำให้ฟ้องโจทก์ที่สมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้วจะกลับเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9650/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยทำร้ายผู้ตายโดยชกต่อย แต่การฟ้องคดีล่าช้าเกินอายุความที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา
ในคดีเกิดเหตุจำเลยร่วมกับพวกทำร้ายผู้ตายโดยใช้กำลังชกต่อย แม้จำเลยจะไม่มีส่วนร่วมในการฆ่าผู้ตายซึ่งเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นในภายหลัง แต่จำเลยก็ยังต้องรับผิดในการกระทำของตน อย่างไรก็ตามจากทางนำสืบของโจทก์ไม่ได้ความว่าการที่จำเลยชกต่อยผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายเกิดอันตรายแก่การหรือจิตใจอย่างไร ทั้งตามรายงานการชันสูตรพลิกศพผู้ตาย ก็ระบุว่าผู้ตายมีเพียงบาดแผลลักษณะถูกฟันและแทงด้วยวัตถุของแข็งมีคมที่บริเวณใต้ราวนมข้างซ้าย 1 แผล กับที่ด้านข้างแขนซ้ายท่อนบนเหนือข้อศอก 1 แผลเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าผู้ตายมีบาดแผลอื่นที่น่าเชื่อว่าเกิดขึ้นจากการถูกจำเลยชกต่อยอีก เช่นนี้จำเลยจึงมีความผิดเพียงฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 391 ซึ่งแม้ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย แต่การจะลงโทษจำเลยตามที่ได้ความจากทางพิจารณาก็จะต้องพิจารณาว่าคดีขาดอายุความหรือไม่ด้วย ซึ่งความผิดตาม ป.อ. มาตรา 391 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนจึงมีอายุความหนึ่งปีตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) จำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2536 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2544 เป็นเวลาเกินกว่าหนึ่งปีแล้ว คดีจึงขาดอายุความ ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7953/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยอมรับสภาพหนี้และการสะดุดหยุดอายุความในคดีละเมิด การฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับจากวันที่เหตุสะดุดหยุด
การที่จำเลยทำหนังสือแจ้งผ่านองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งภริยาโจทก์ไปร้องเรียนไว้ว่าจะซ่อมแซมทาวน์เฮาส์ของโจทก์ เป็นกรณีที่จำเลยกระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ละเมิดที่จำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ถือว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ได้รับสภาพหนี้ต่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) ซึ่งขณะที่จำเลยทำหนังสือทั้งสองฉบับนั้นยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่เกิดเหตุละเมิดเมื่อกลางปี 2541 อายุความแห่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมสะดุดหยุดลง ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความและให้เริ่มนับอายุความใหม่ แต่จะนับอายุความใหม่ก็ต่อเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลงเวลาใดก็ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 เมื่อเอกสารหมาย จ.7 มีข้อความว่า จำเลยจะเริ่มซ่อมแซมทาวน์เฮาส์เวลาใดจำเลยจะแจ้งให้โจทก์ทราบก่อน 30 วัน แสดงว่าการยอมรับสภาพหนี้ของจำเลยมีเงื่อนไขว่าจำเลยจะชำระหนี้โดยเริ่มซ่อมแซมทาวน์เฮาส์เมื่อใด จำเลยจะแจ้งล่วงหน้าให้โจทก์ทราบอย่างน้อย 30 วัน ดังนั้นตราบใดที่จำเลยยังไม่ได้แจ้งกำหนดวันเริ่มซ่อมแซมทาวน์เฮาส์ให้โจทก์ทราบ ก็ถือว่าจำเลยยังคงยอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องดังกล่าวสืบต่อเนื่องตลอดมา แต่เมื่อจำเลยมีหนังสือลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2547 แจ้งทนายความของโจทก์ว่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับมิได้เกิดจากการกระทำของจำเลย จำเลยจึงไม่เข้าดำเนินการซ่อมแซมทาวน์เฮาส์ของโจทก์ เป็นกรณีจำเลยปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ ถือว่าเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงได้สิ้นสุดลงในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2547 อายุความตามสิทธิเรียกร้องในมูลละเมิดจึงเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 28 มกราคม 2548 จึงยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5697/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองที่ดินแทนผู้อื่นและการแย่งการครอบครอง: การเปลี่ยนแปลงลักษณะการครอบครองและการฟ้องคดีภายใน 1 ปี
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครอง บุคคลนั้นจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่าไม่มีเจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป และมาตรา 1375 วรรคสอง การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ ในกรณีเช่นนี้จะถือว่าจำเลยทั้งสองได้แย่งการครอบครองก็ต่อเมื่อได้เปลี่ยนลักษณะการยึดถือโดยบอกกล่าวไปยังโจทก์ผู้ครอบครองว่า ตนไม่มีเจตนาจะยึดถือที่ดินพิพาทแทนโจทก์ต่อไป ดังนั้น การที่ก่อนปี 2539 ระหว่างแนวเขตที่ดินพิพาทมีการปลูกต้นยูคาลิปตัสและนาย จ. บอกฝ่ายจำเลยให้รื้อถอนต้นยูคาลิปตัสกับรั้วลวดหนามออก ไม่ใช่การบอกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือไปยังโจทก์ จึงไม่เป็นการแย่งการครอบครอง แต่เมื่อประมาณกลางเดือนมกราคม 2541 จำเลยทั้งสองได้ทำรั้วลวดหนามอ้างว่าทำขึ้นทดแทนรั้วเดิมซึ่งทรุดโทรมไปแล้วและโจทก์เห็นว่ารั้วดังกล่าวสร้างรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ จึงมีการเจรจากับจำเลยทั้งสองให้รื้อรั้วออกไป แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอม ต่อมาโจทก์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้บอกกล่าวไปยังโจทก์ตั้งแต่ประมาณกลางเดือนมกราคม 2541 แล้วว่าได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือจากการยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์เป็นการยึดถือครอบครองเพื่อตนเองซึ่งเข้าลักษณะแย่งการครอบครอง เมื่อโจทก์ได้ฟ้องคดีนี้เพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2542 จึงเป็นการฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองแล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์และต้องรับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4467/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความการฟ้องคดีรอนสิทธิที่ดิน: ฟ้องเกิน 3 เดือนนับจากวันที่ยอมคืนที่ดินให้บุคคลภายนอก คดีขาดอายุความ
การซื้อขายที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยเสร็จสมบูรณ์ตามสัญญาแล้ว หลังจากนั้นปรากฏว่าที่ดินที่ซื้อขายและส่งมอบกันแล้วเป็นของบุคคลภายนอกบางส่วน กรณีจึงเป็นเรื่องการรอนสิทธิที่ผู้ขายจะต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 475 เมื่อโจทก์ยอมคืนที่ดินให้แก่บุคคลภายนอกจึงต้องฟ้องคดีภายในสามเดือนนับแต่วันที่ยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 481 เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า วันที่โจทก์ยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้องคือกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2545 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 12 กรกฎาคม 2545 จึงเกินสามเดือน ถือว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13985/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งข้อหาและการฟ้องคดีอาญา: ข้อหาแจ้งไม่ตรงกับฟ้องไม่เป็นเหตุให้คดีตก
ป.วิ.อ. มาตรา 83 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติกำหนดให้เจ้าพนักงานผู้จับต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกจับทราบ ก็เพื่อให้ผู้ถูกจับทราบว่าการกระทำของผู้ถูกจับเป็นความผิด และเพื่อให้ผู้ถูกจับเข้าใจถึงการกระทำของผู้ถูกจับซึ่งเป็นความผิดนั้น เพื่อประโยชน์ในการให้การ ให้ถ้อยคำ หรือต่อสู้คดี โดยเจ้าพนักงานผู้จับไม่จำต้องแจ้งข้อหาความผิดให้ตรงกับที่พนักงานอัยการโจทก์จะฟ้องผู้ถูกจับ เพราะคดียังต้องมีการสอบสวนต่อไปว่าผู้ถูกจับกระทำความผิดหรือไม่และกระทำความผิดฐานใด
คดีนี้ แม้บันทึกการจับกุมแจ้งข้อหาว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง เมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่า มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ถือว่ามีการสอบสวนในความผิดฐานดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติข้างต้น ศาลย่อมลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13849/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีโดยจำเลยไม่มาศาล และหน้าที่ของโจทก์ในการนำตัวจำเลยมาส่งศาลในคดีทรัพย์สินทางปัญญา
ในวันที่โจทก์ยื่นฟ้อง โจทก์ไม่ได้นำตัวจำเลยมาศาล โดยข้อเท็จจริงปรากฏตามรายงานเจ้าหน้าที่ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางฉบับลงวันที่ 14 ตุลาคม 2552 ว่า จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกันกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.5425/2552 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางและจำเลยมีพฤติการณ์หลบหนี ซึ่งคดีดังกล่าวศาลได้มีคำสั่งให้ออกหมายจับและปรับนายประกันแล้ว แม้คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลเดียวกัน แต่เมื่อเป็นการฟ้องต่างคดีและโจทก์มีหน้าที่ต้องจัดการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้ได้ตัวจำเลยดังกล่าวมา ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 141 วรรคสี่ โจทก์จึงยื่นฟ้องคดีนี้โดยไม่มีตัวจำเลยมาศาลและอ้างว่าจำเลยอยู่ในอำนาจศาลในคดีนี้แล้วด้วยหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12934/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจสอบสวนคดีอาญา: การสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนไม่ถูกต้องตามเขตอำนาจ แต่มีการสอบสวนเพิ่มเติมโดยพนักงานสอบสวนที่ถูกต้อง ทำให้การฟ้องคดีชอบด้วยกฎหมาย
การสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 ต้องสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนตามที่ระบุไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 2 (6) ประกอบด้วยมาตรา 18 เมื่อเหตุเกิดในเขตท้องที่สถานีตำรวจภูธรตำบลกลางใหญ่ จังหวัดอุดรธานี ร. พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลวังทองหลางจึงไม่มีอำนาจสอบสวน ทั้งถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำการแทนพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา 128 บัญญัติไว้ การที่ ร. สอบสวนโจทก์ร่วมและ อ. จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตามเมื่อผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลวังทองหลาง ส่งสำนวนการสอบสวนไปให้รองผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรตำบลกลางใหญ่ พ. พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลกลางใหญ่ ได้สอบสวนโจทก์ร่วมและ อ. อีกครั้งหนึ่ง แม้ อ. จะให้การยืนยันตามคำให้การที่ให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลวังทองหลางทุกประการก็ตาม แต่ อ. ก็ได้ให้การเกี่ยวกับรายละเอียดการกระทำความผิดของจำเลยไว้ด้วย ถือได้ว่ามีการสอบสวนโจทก์ร่วมและ อ. โดยพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบแล้ว ส่วนที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลวังทองหลางได้สอบสวนโจทก์ร่วมเพิ่มเติมตามใบต่อคำให้การนั้น คงมีผลเพียงทำให้คำให้การดังกล่าวไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้เท่านั้น หาเป็นเหตุให้การสอบสวนเสียไปทั้งหมดไม่ เมื่อการสอบสวนของ พ. พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเป็นการสอบสวนชอบแล้ว การสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 18 และมาตรา 120 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
of 84