คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สินสมรส

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 858 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14040/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สินสมรสระหว่างสมรสกับคนต่างด้าว การแบ่งทรัพย์สิน และข้อจำกัดการถือครองที่ดิน
โจทก์กับจำเลยจดทะเบียนสมรสกันและซื้อที่ดินพร้อมบ้านภายหลังจดทะเบียนสมรส แม้ที่ดินและบ้านระบุชื่อโจทก์เพียงฝ่ายเดียวแต่เป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส จึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์และจำเลยได้มาระหว่างสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) ซึ่งโจทก์และจำเลยต้องนำมาแบ่งกันเมื่อขาดจากการสมรสโดยได้ส่วนเท่ากันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1533
การที่โจทก์ซื้อที่ดินและบ้านพิพาทระหว่างสมรสกับจำเลย แม้ส่วนของจำเลยซึ่งเป็นบุคคลต่างด้าวนั้น การทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทจะฝ่าฝืน ป.ที่ดิน มาตรา 86 แต่การได้ที่ดินมามิใช่จะไม่มีผลใด ๆ เสียเลยเพราะจำเลยยังมีสิทธิได้รับผล ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 94 ที่บัญญัติให้คนต่างด้าวจัดการจำหน่ายที่ดินดังกล่าวนั้นได้และการบังคับให้จำหน่ายดังกล่าวหมายความเฉพาะกับที่ดินพิพาทเท่านั้น ไม่รวมบ้านซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างพิพาทด้วยเพราะคนต่างด้าวไม่ต้องห้ามมิให้ถือกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างแต่ประการใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1222/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายสินสมรสโดยไม่ได้รับความยินยอมและเจตนาสุจริต
คำให้การจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า ที่ดินพิพาทจะเป็นสินสมรสหรือไม่ ไม่ทราบและไม่รับรอง เป็นคำให้การที่ไม่มีเหตุแห่งการปฏิเสธตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่มีประเด็นที่จะนำสืบในเรื่องนี้ เมื่อโจทก์ฟ้องชัดเจนว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่อาจนำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การจึงไม่อาจนำพยานหลักฐานของตนเข้าสืบได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 แต่จำเลยที่ 1 เบิกความเป็นพยานโจทก์ได้
ตามมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง การจัดการสินสมรสที่ไม่ได้รับความยินยอมจากคู่สมรสตามมาตรา 1476 คู่สมรสอีกฝ่ายจะขอให้เพิกถอนนิติกรรมได้ เว้นแต่ในขณะทำนิติกรรมบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน คำว่า โดยสุจริต หมายความว่า บุคคลภายนอกได้กระทำนิติกรรมกับคู่สมรสฝ่ายหนึ่งโดยมิได้ล่วงรู้ว่าเป็นการทำนิติกรรมผูกพันสินสมรสที่ต้องได้รับความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง การที่จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมซื้อที่ดินโดยรู้แล้วว่าเป็นสินสมรสและโจทก์มิได้ยินยอมให้ทำนิติกรรม จำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต จำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทโดยมิได้สนใจไปดูที่ดินพิพาทและจ่ายเงินให้จำเลยที่ 2 ให้ไปไถ่ถอนที่ดินด้วยเงินจำนวนมากโดยมิได้มีหลักประกันใดว่าจะมีการดำเนินการตามข้อตกลง และชำระราคาที่ดินที่เหลือโดยไม่ปรากฏหลักฐาน ทำให้ไม่น่าเชื่อว่าการทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นไปโดยสุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10361/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งคุ้มครองประโยชน์ชั่วคราวเกี่ยวกับสินสมรสระหว่างการพิจารณาคดีหย่า กรณีมีเหตุอาจทำให้โจทก์เสียหายได้
โจทก์ฟ้องขอหย่าขาดจากจำเลยที่ 1 และขอให้พิพากษาแบ่งสินสมรสแก่โจทก์กึ่งหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาแบ่งสินสมรสที่ดินสวนยางพาราพิพาทเนื้อที่ 60 ไร่ และที่ดินสวนปาล์มน้ำมันพิพาทเนื้อที่ 15 ไร่ แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ระหว่างพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ภาค 8 โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ชั่วคราว และศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ทำบัญชีดอกผลรายได้จากผลผลิตในที่ดินพิพาทเป็นรายเดือน แล้วนำเงินรายได้จากผลผลิตที่จะได้รับจำนวนกึ่งหนึ่งของทั้งหมดมาวางศาลเป็นรายเดือน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 8 จนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น จึงเป็นคำสั่งเกี่ยวด้วยดอกผลของทรัพย์พิพาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 148 วรรคหนึ่ง ซึ่งในที่สุดหากโจทก์ชนะคดีโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับแบ่งดอกผลของทรัพย์ที่พิพาทดังกล่าวซึ่งเป็นสินสมรสได้ คำสั่งคุ้มครองประโยชน์ชั่วคราวจึงหาเกินกว่าคำขอในคำฟ้อง อันเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8040/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสิ้นสุดของสมรสด้วยการตาย และผลกระทบต่อค่าทดแทนและสินสมรส
ในระหว่างพิจารณาคดีของศาลฎีกา โจทก์ถึงแก่ความตายทำให้การสมรสสิ้นสุดลงเนื่องจากความตายของโจทก์ ศาลฎีกาจึงไม่จำต้องพิจารณาพิพากษาฎีกาของจำเลยอีกต่อไปว่า การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าได้หรือไม่เพราะไม่ทำให้ผลของการสมรสเปลี่ยนแปลงไป ส่วนค่าทดแทนที่ศาลล่างกำหนดให้จำเลยจ่ายแก่โจทก์นั้น เมื่อศาลไม่ได้พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่ากัน โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้เพราะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1525 ระบุว่า การเรียกค่าทดแทนจากอีกฝ่ายหนึ่งจะมีได้เฉพาะในกรณีศาลพิพากษาให้หย่ากันเท่านั้น และการแบ่งสินสมรสหลังการสมรสสิ้นสุดเพราะการตายต้องแบ่งทรัพย์สินระหว่างผู้ตายกับจำเลยซึ่งเป็นคู่สมรสที่มีชีวิตอยู่นับแต่เวลาที่การสมรสสิ้นสุดไปด้วยเหตุความตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1625 จึงไม่มีประโยชน์ที่จะวินิจฉัยปัญหาตามฟ้องโจทก์อีกต่อไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 132 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6870/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดการสินสมรสต้องด้วยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย การแบ่งทรัพย์สินโดยไม่ได้รับความยินยอมและขายต่อให้ผู้อื่นเป็นโมฆะ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การต่อสู้ว่าข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 เป็นการตกลงแบ่งทรัพย์สินในลักษณะเจ้าของรวม แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะอุทธรณ์อ้างว่าต้องนำบทกฎหมายว่าด้วยหุ้นส่วนมาใช้บังคับก็เป็นข้อที่คู่ความหยิบยกเอาข้อกฎหมายมาปรับใช้แก่ข้อเท็จจริงในคดีอันเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลโดยเฉพาะ และหากศาลเห็นว่าข้อกฎหมายที่คู่ความอ้างมาไม่ถูกต้องก็ชอบที่จะปรับบทกฎหมายไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนเองได้ อุทธรณ์ในปัญหานี้จึงเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากล่าวแล้วในศาลชั้นต้น
แม้ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 ได้มาในระหว่างสมรสกับโจทก์จะเป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์รวมกับบุคคลอื่นก็ต้องถือว่าในส่วนที่จำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เพราะสินสมรสไม่จำต้องเป็นทรัพย์สินที่ทั้งสองเป็นฝ่ายร่วมกันทำมาหาได้ หากแต่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาก็ย่อมมีผลให้เป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) โดยไม่จำต้องมีข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างเจ้าของรวมก่อนจึงจะเป็นสินสมรส
การที่จำเลยที่ 1 ตกลงกับจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับการแบ่งทรัพย์สินซึ่งส่วนของจำเลยที่ 1 เป็นสินสมรสจึงมิใช่เป็นการแบ่งทรัพย์สินระหว่างเจ้าของรวมตามปกติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 หากแต่มีลักษณะเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 และเป็นการจัดการสินสมรส ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (6) วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ต้องจัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อโจทก์มิได้ให้ความยินยอมแก่จำเลยที่ 1 ในการทำนิติกรรมดังกล่าว โจทก์ชอบที่จะฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมแบ่งทรัพย์สินได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 จำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาททั้งแปลงไปขายให้แก่จำเลยที่ 3 เพราะการจำหน่ายตัวทรัพย์สินจะกระทำได้ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคสอง การที่จำเลยที่ 3 ทราบดีว่าจำเลยที่ 1 ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 2 และคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 3 จึงกระทำการโดยไม่สุจริตและไม่มีสิทธิดีไปกว่าจำเลยที่ 2 โจทก์ขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 เฉพาะทรัพย์ส่วนที่เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 566/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงแบ่งสินสมรสด้วยวาจาหลังหย่า มีผลผูกพันได้หากมีพฤติการณ์สนับสนุน แม้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ
ข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาอาจกระทำในขณะจดทะเบียนหย่า โดยให้นายทะเบียนบันทึกไว้หรือไม่ก็ได้ ทั้งไม่มีบทบัญญัติใด ๆ กำหนดให้ความตกลงในการแบ่งสินสมรสต้องกระทำต่อหน้านายทะเบียนหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การจะฟังว่ามีข้อตกลงแบ่งสินสมรสด้วยวาจาหรือไม่ ย่อมต้องพิจารณาจากพยานทั้งสองฝ่ายประกอบกับพฤติการณ์ของแต่ละคดีไป พฤติการณ์ที่โจทก์และจำเลยต่างครอบครองสินสมรสแต่ละรายการต่างหากจากกัน และมีภาระการผ่อนชำระหนี้ในทรัพย์สินที่ตนถือครองกรรมสิทธิ์อยู่ภายหลังการหย่าจนถึงเวลาที่โจทก์ฟ้องคดีเป็นเวลาเกือบ 5 ปี แม้ไม่มีหลักฐานข้อตกลงแบ่งสินสมรสในขณะจดทะเบียนหย่าแต่ฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยตกลงแบ่งสินสมรสด้วยวาจาโดยให้สินสมรสทั้งสองรายการรวมทั้งหนี้สินตกแก่จำเลย การที่โจทก์และจำเลยตกลงแบ่งสินสมรสระหว่างกัน มีผลให้แต่ละฝ่ายได้รับทรัพย์สินและมีภาระหนี้ต้องชำระหนี้สินซึ่งเป็นหนี้ร่วมมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งผิดแผกแตกต่างจาก ป.พ.พ. มาตรา 1533 และมาตรา 1535 บัญญัติไว้ แต่มิใช่บทบัญญัติอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม ป.พ.พ. มาตรา 151 ข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลบังคับและไม่ตกเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7890/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีกับสินสมรส: เจ้าหนี้มีสิทธิยึดได้ทั้งแปลง ผู้คัดค้านมีสิทธิขอส่วนแบ่งตามสัดส่วน
แม้ทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดและมีการขายทอดตลาดจะเป็นสินสมรส อันเป็นทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านกับจำเลยเป็นเจ้าของร่วมกันตามที่โจทก์กล่าวอ้าง โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธินำยึดและขายทอดตลาดได้ทั้งแปลง ผู้คัดค้านคงมีสิทธิขอกันส่วนของตนจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาด เพราะการบังคับคดีตามคำพิพากษาหากมิใช่หนี้ร่วม เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะบังคับคดีจากสินสมรสได้เพียงในส่วนของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้เท่านั้น มิอาจกระทบกระเทือนสินสมรสในส่วนของคู่สมรสของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ ดังนั้น ปัญหาว่าหนี้เงินกู้ที่จำเลยมีต่อโจทก์เป็นหนี้ร่วมโดยผู้คัดค้านได้ให้สัตยาบันหรือมีหนังสือให้ความยินยอมดังที่โจทก์อ้างหรือไม่ จึงเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลจะเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด หาใช่เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะวินิจฉัยไม่ เมื่อข้อเท็จจริงตามสำนวนไม่ปรากฏในคำฟ้อง คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความตลอดจนคำขอยึดทรัพย์ระบุว่าหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ร่วมระหว่างผู้คัดค้านกับจำเลย กรณีจึงยังไม่มีคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลว่าเป็นหนี้ร่วมตามที่โจทก์กล่าวอ้างเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดกึ่งหนึ่งจ่ายให้แก่ผู้คัดค้านในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมไปได้ การที่โจทก์เพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในภายหลังว่าทรัพย์ที่ยึดเป็นสินสมรสและหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้ร่วม ไม่ทำให้การดำเนินการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ชอบด้วยกฎหมายดังที่โจทก์กล่าวอ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2138/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดิน: การซื้อขายโดยไม่สุจริตของผู้ซื้อที่รู้ว่าเป็นสินสมรส
แม้โจทก์จะยื่นบัญชีพยานระบุเอกสารหนังสือของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเรื่องแจ้งผลการวินิจฉัยโดยฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 88, 90 แต่เอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานสำคัญในคดีที่จะพิสูจน์หักล้างคำเบิกความของ ว. เจ้าพนักงานที่ดินที่ว่า ต้นฉบับสารบัญจดทะเบียนที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.2 ไม่มีข้อความตามหมายเหตุที่โจทก์กล่าวอ้าง ประกอบกับเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารราชการสามารถตรวจสอบถึงความมีอยู่จริงได้โดยง่าย เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะรับเอกสารดังกล่าวไว้เป็นพยานหลักฐานตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับเอกสารดังกล่าวตามบัญชีระบุพยานที่ยื่นเพิ่มเติมต่อศาล โจทก์ได้ยื่นคำร้องคัดค้านไว้และอุทธรณ์คำสั่งพร้อมกับอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่หยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) อันเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และเห็นสมควรให้รับเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานของโจทก์ ซึ่งฟังได้ว่าโจทก์ได้แจ้งคัดค้านการขายที่ดินพิพาทไว้ต่อเจ้าพนักงานที่ดินตามข้อความที่มีหมายเหตุในสารบัญจดทะเบียนที่ดินพิพาทจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18894/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินหลังหย่าที่ผิดแผกจากกฎหมาย ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรม และมีผลบังคับได้
การที่ผู้ตายกับจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีที่ผู้ตายฟ้องหย่าจำเลย และมีข้อตกลงเกี่ยวกับที่ดินพิพาทว่าผู้ตายจะโอนที่ดินพิพาทแก่จำเลยเมื่อพ้นกำหนดห้ามโอนตามกฎหมาย เป็นเรื่องของการหย่าโดยความตกลงและมีข้อตกลงเกี่ยวกับการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา แม้จะเป็นข้อตกลงที่ผิดแผกแตกต่างจากที่ ป.พ.พ. มาตรา 1533 บัญญัติไว้ว่า ให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน ก็ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งเป็นข้อตกลงให้โอนที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นของผู้ตายเท่านั้น หาใช่โอนกรรมสิทธิ์ในส่วนของจำเลยที่มีอยู่แล้วโดยผลของกฎหมายไม่ ข้อตกลงระหว่างผู้ตายกับจำเลยจึงมิใช่การจงใจหลีกเลี่ยงข้อกำหนดห้ามโอนตามกฎหมาย หรือมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 12 ย่อมไม่มีผลเป็นโมฆะและสามารถบังคับกันได้ตามคำพิพากษาตามยอม เมื่อจำเลยได้โอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยภายหลังผู้ตายถึงแก่ความตาย กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งแปลงย่อมเป็นของจำเลยโดยสมบูรณ์แต่เพียงผู้เดียว จำเลยจึงมีสิทธิที่จะยึดถือโฉนดที่ดินพิพาทไว้โดยไม่ต้องส่งมอบแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16057/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งมรดก: สิทธิในสินสมรสและทรัพย์สินส่วนตัวของเจ้ามรดก
คดีนี้นอกจากโจทก์จะฟ้องขอให้กำจัดมิให้จำเลยได้รับมรดกทั้งหมดของ ร. แล้ว โจทก์ยังฟ้องเรียกทรัพย์มรดกทั้งหมดจาก ร. มาเป็นของโจทก์ กรณีจึงเป็นไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (2) การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยแบ่งมรดกของ ร. ให้โจทก์ตามส่วน จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอท้ายฟ้องของโจทก์
แม้จำเลยจะไม่ได้ให้การต่อสู้ว่าที่ดินพิพาททั้งสามแปลงเป็นสินสมรสที่ได้มาระหว่างจำเลยอยู่กินเป็นสามีภรรยากับ ร. ก็ตาม แต่การที่จะพิพากษาแบ่งมรดกแก่ทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธินั้น จะต้องพิจารณาถึงทรัพย์แต่ละรายการว่าเป็นสินสมรสด้วยหรือไม่ การวินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสามแปลงว่าเป็นสินส่วนตัวของ ร. หรือเป็นสินสมรสระหว่าง ร. กับจำเลยจึงอยู่ในประเด็นแห่งคดี
สำหรับที่ดินพิพาทแปลงแรกนั้น ร. ได้มาภายหลังจากสมรสกับจำเลย ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส จำเลยมีสิทธิในที่ดินกึ่งหนึ่ง ส่วนที่เหลืออีกกึ่งหนึ่งต้องแบ่งปันให้แก่ทายาททุกคนของ ร. แต่ปรากฏว่าจำเลยได้โอนขายที่ดินให้แก่ ต. ไปแล้วก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา จึงไม่สามารถพิพากษาให้แบ่งที่ดินให้แก่โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมได้ ต้องถือว่าเงินที่จำเลยได้รับจากการขายที่ดินเป็นทรัพย์มรดกที่จะต้องแบ่งปันให้แก่ทายาทของ ร. ทุกคน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินค่าขายที่ดินในฐานะทายาทหลังจากแบ่งสินสมรสแล้ว
of 86