คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
การทำงาน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 77 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4702/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าทดแทนลูกจ้าง: การตายจากโรคประจำตัว ไม่ใช่จากลักษณะงาน
ป. เป็นลูกจ้างของจำเลย ทำหน้าที่ขับรถรับส่งบุตรหลานพนักงานของจำเลย ป. ถึงแก่ความตายขณะปฏิบัติหน้าที่ในที่ทำการของจำเลย
ป. มีโรคประจำตัวคือภาวะความดันโลหิตสูง มีน้ำตาลในปัสสาวะ ไขมันในเลือดสูง และหัวใจห้องล่างซ้ายโต โดยเฉพาะหัวใจห้องล่างซ้ายโตเป็นปัจจัยเสี่ยงสูงที่ทำให้หัวใจหยุดทำงานเฉียบพลันได้ ใบแจ้งการตายระบุสาเหตุการตายว่าหัวใจหยุดทำงานฉับพลัน ทั้งลักษณะงานของ ป. มีเพียงขับรถรับส่งบุตรหลานพนักงานของจำเลยไปโรงเรียนเท่านั้น ไม่ใช่งานที่ต้องใช้กำลังแรง ไม่อาจทำให้เกิดโรคหรือเจ็บป่วยถึงตายได้ สาเหตุการตายจึงเกิดจากโรคประจำตัวของ ป. ไม่ได้เกิดด้วยโรคซึ่งเกิดตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงาน จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าทดแทนให้โจทก์ที่ 1 ผู้เป็นภรรยาของ ป.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13812/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม แม้ไม่มีความผิดทางอาญา แต่ประมาทเลินเล่อในการทำงาน
การกระทำที่ไม่เป็นความผิดในคดีอาญา แต่อาจจะเป็นการกระทำความผิดทางวินัยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานได้ แม้คดีอาญาจะเป็นความผิดที่เกี่ยวกับแผ่นดินซึ่งอาจจะมีความสำคัญมากกว่าความผิดทางวินัย แต่การพิจารณาว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดต่อคดีอาญาหรือไม่ หรือเป็นความผิดทางวินัยหรือไม่ ย่อมมีองค์ประกอบและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาแตกต่างกันไป ไม่อาจนำข้อสรุปของการพิจารณาแต่ละกรณีมาใช้บังคับแก่กันได้ แม้คดีอาญาที่จำเลยแจ้งความดำเนินคดีแก่โจทก์จะถึงที่สุดโดยพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องก็ตาม ก็ไม่อาจนำมาเป็นข้อยุติว่าโจทก์มิได้กระทำความผิดทางวินัยด้วยได้ เมื่อปรากฏว่าโจทก์ใช้ความระมัดระวังไม่เพียงพอในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นพนักงานเก็บรักษาของอันเป็นการปฏิบัติงานโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง กรณีย่อมมีเหตุอันสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้ มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 987-988/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาค้ำประกันหน้าที่ในอนาคต, การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม, และความรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน
การที่โจทก์ฟ้องคดีอ้างว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นธรรม เป็นการใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ซึ่งไม่มีรายละเอียดขั้นตอนว่าคำสั่งลงโทษลูกจ้างหรือเลิกจ้างลูกจ้างนั้น นายจ้างจะต้องตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงก่อนหรือการสอบสวนข้อเท็จจริงจะต้องทำให้เสร็จภายในกำหนด 150 วัน แม้ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 จะต้องมีการสอบสวนข้อเท็จจริงก่อน หรือจะต้องสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 150 วัน และจำเลยที่ 1 มิได้ปฏิบัติให้ครบถ้วนถูกต้อง และตามระเบียบข้อบังคับดังกล่าวให้ถือว่าพนักงานผู้นั้นพ้นจากข้อกล่าวหา ก็เป็นเรื่องพ้นจากข้อกล่าวหาในการสอบสวนครั้งนั้นเท่านั้น มิได้หมายความว่าโจทก์มิได้กระทำผิดอันจะมีผลกระทบถึงการพิจารณาคดีของศาล
โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ตำแหน่งนิติกร 5 มีหน้าที่ฟ้องร้องลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 โจทก์เบิกเงินยืมทดรองจ่ายจากจำเลยที่ 1 เป็นค่าขึ้นศาลและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี แต่โจทก์ไม่ฟ้องคดี โจทก์จึงต้องคืนเงินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 การที่โจทก์ไม่คืนเงิน โดยนำไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวจึงเป็นการทุจริตและกระทำผิดระเบียบวินัยร้ายแรง นอกจากนี้ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงวันที่ 19 กันยายน 2545 โจทก์หยุดงานรวม 66.5 วัน โดยอ้างว่าป่วย โจทก์มีสิทธิลาป่วยปีละไม่เกิน 30 วัน โจทก์จึงลาป่วยเกินกำหนดหรือระเบียบ 36.5 วัน อันเป็นการกระทำผิดข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรงอันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ การที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
จำเลยที่ 4 มีเจตนาค้ำประกันโจทก์ในการที่โจทก์สมัครเข้าทำงานกับจำเลยที่ 1 และยินยอมค้ำประกันโจทก์ไม่ว่าโจทก์จะทำงานกับจำเลยที่ 1 ในหน้าที่หรือตำแหน่งงานใด จึงเป็นการทำสัญญาค้ำประกันหนี้ในอนาคต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 681 วรรคสอง ซึ่งกฎหมายอนุญาตให้มีการประกันได้ ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 รับโจทก์เข้าทำงาน และต่อมาโจทก์ได้ก่อความเสียหายขึ้น จำเลยที่ 4 จึงต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 ตามสัญญาค้ำประกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8908/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประกอบอาหารตามสั่งก่อนส่งมอบ ไม่ถือเป็นการขายของหน้าร้านที่ห้ามคนต่างด้าวทำ
จำเลยรับการสั่งอาหารจากลูกค้าแล้วเข้าไปประกอบอาหารตามคำสั่ง จากนั้นจึงนำอาหารไปส่งให้แก่ลูกค้า ลักษณะการทำงานแสดงให้เห็นว่า จำเลยต้องปรุงอาหารตามที่ลูกค้าสั่งเสียก่อนจึงจะนำอาหารไปส่งให้แก่ลูกค้า มิได้มีลักษณะเป็นการขายสินค้าที่มีอยู่แล้วในสถานประกอบการค้าหรือแผงลอยให้แก่ลูกค้า ไม่ว่าเป็นการค้าส่งหรือค้าปลีก จึงมิใช่เป็นการขายของหน้าร้านที่ห้ามคนต่างด้าวทำตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 มาตรา 6 ประกอบ พ.ร.ฎ.กำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ.2522 และบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ.2522 (6)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8237/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษทางวินัยลูกจ้าง: การนอนหลับขณะปฏิบัติหน้าที่ถือเป็นการละเลยหน้าที่ตามข้อบังคับของบริษัท
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า การทำงานกะดึกระหว่างเวลา 23.30 นาฬิกา ถึง 8.30 นาฬิกา ไม่ได้กำหนดเวลาพักไว้แน่นอนแต่ในช่วงเวลานี้ห้องอาหารของผู้ร้องจะเปิด 2 ช่วงคือ ระหว่างเวลา 23.30 นาฬิกา ถึง 01.30 นาฬิกา และเวลา 6 นาฬิกา ถึง 8 นาฬิกา พนักงานจะเข้าไปรับประทานอาหารช่วงใดก็ได้โดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปและพักผ่อนในห้องดังกล่าว ถ้าพนักงานผู้ใดไม่เข้าไปรับประทานอาหารจะพักผ่อนที่ห้องทำงานก็ได้ ซึ่งถือว่าผู้ร้องได้กำหนดเวลาพักไว้ให้แก่ลูกจ้างของผู้ร้องรวมทั้งผู้คัดค้านแล้ว ผู้คัดค้านไม่อาจอ้างได้ว่าผู้ร้องมิได้จัดเวลาพักหรืออ้างว่าผู้ร้องมอบหมายให้ผู้คัดค้านจัดเวลาพักเองและไม่อาจกำหนดเวลาพักเองในช่วงเวลาอื่นใดได้ ดังนี้ กรณีผู้คัดค้านนอนหลับในห้องควบคุมในระหว่างเวลา 3 นาฬิกา ถึง 3.50 นาฬิกา ของวันที่ 13 มีนาคม 2547 ซึ่งมิใช่กำหนดเวลาพักที่ผู้ร้องจัดให้ จึงถือว่าการนอนหลับระหว่างเวลาทำงานดังกล่าวเป็นการละเลยต่อหน้าที่ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้อง ข้อ 4.1 วินัยและโทษทางวินัย เป็นความผิดโทษสถานหนักตามข้อ 6 ระบุว่าละเลยต่อหน้าที่ไว้ ผู้ร้องสามารถลงโทษโดยการตักเตือนเป็นหนังสือและพักงาน 1 สัปดาห์ โดยไม่จ่ายค่าจ้างตามโทษที่กำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 718/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาความรับผิดนายจ้างต่อการเสียชีวิตของลูกจ้างจากการถูกยิงระหว่างเดินทางไปทำงาน แม้ไม่ใช่ผลโดยตรงจากการทำงาน
การที่ พ. ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการมีฐานะเป็นผู้แทนของบริษัท ท. ขับรถยนต์ชนกับรถยนต์ของ ญ. ในระหว่างไปทำงานให้บริษัท ท. เป็นเหตุให้ ญ. ถึงแก่ความตายรถยนต์ได้รับความเสียหาย นอกจากจะถูกกล่าวหาว่าทำความผิดอาญาฐานขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายแล้ว ยังอาจเป็นการทำละเมิดในระหว่างการทำตามหน้าที่ของผู้แทนของบริษัท ท. ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะมีผลทำให้บริษัท ท. ต้องร่วมกับ พ. รับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 77 มาตรา 425 และมาตรา 427 การตกลงชดใช้ค่าเสียหายเป็นการประนีประนอมยอมความมีผลทำให้สิทธิเรียกร้องเดิมระงับสิ้นไป คู่กรณีต้องผูกพันตามที่ตกลงกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 และมาตรา 852 ดังนั้น หาก พ. สามารถเจรจาต่อรองให้ ด. ผู้เสียหายยอมลดค่าเสียหายลงได้มากเพียงใดย่อมทำให้บริษัท ท. ได้รับประโยชน์ด้วยเพียงนั้น จึงถือได้ว่าการไปเจรจาตกลงเรื่องค่าเสียหายของ พ. เป็นการทำงานหรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่บริษัท ท. ดังนั้น การที่ พ. สั่งให้ น. ขับรถยนต์ในวันเกิดเหตุ แม้ น. จะไม่ได้ป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้าง แต่ น. ก็ได้ทำงานตามคำสั่งของนายจ้างด้วย แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า พ. และ น. ถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงถึงแก่ความตายในระหว่างการเดินทางก่อนการเจรจาเรื่อง ค่าเสียหายโดยไม่ปรากฏสาเหตุ ไม่ได้ถูกยิงในระหว่างการเจรจาหรือสืบเนื่องมาจากการเจรจาเรื่องค่าเสียหาย ทั้งการถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงจนถึงแก่ความตายไม่ใช่สาเหตุที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นได้จากการเดินทาง ด้วยเหตุดังกล่าวแม้ พ. จะเดินทางไปทำงานหรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้างและ น. ได้ทำงานตามคำสั่งของนายจ้างแต่ความตายไม่ใช่ผลโดยตรงจากการทำงาน หรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้างหรือตามคำสั่งของนายจ้าง จึงถือไม่ได้ว่า พ. และ น. ถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานหรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่บริษัท ท. หรือตามคำสั่งของบริษัท ท. ซึ่งเป็นนายจ้าง น. จึงไม่ได้ประสบอันตรายตามความในมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.เงินทดแทนฯ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7136/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างฐานกระทำผิดร้ายแรง การกระทำผิดนอกเวลางานแต่เกี่ยวเนื่องกับการทำงาน และขอบเขตการบังคับใช้ระเบียบข้อบังคับ
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงาน กรณีจำเลยที่ 1 มีคำสั่งยกคำร้องที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 สอบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องที่โจทก์ถูกจำเลยที่ 2 เลิกจ้าง และให้จำเลยที่ 2 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 2 กรณีร้ายแรง จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์จึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทเพียงว่า มีเหตุเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 หรือไม่ และจำเลยที่ 2 ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์หรือไม่ คดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทเรื่องเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ที่ศาลแรงงานภาค 2 วินิจฉัยส่วนแรกว่า การที่จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์โดยเห็นว่าโจทก์ผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและเห็นว่าคำสั่งของจำเลยที่ 1 ไม่ควรเพิกถอน แต่กลับวินิจฉัยในส่วนหลังว่า การกระทำของโจทก์เป็นเรื่องส่วนตัวมิใช่เรื่องงานอาจลงโทษเบากว่าเลิกจ้างได้ และอ้าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 48 และมาตรา 52 มาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์นั้น คำวินิจฉัยของศาลแรงงานภาค 2 ขัดกันเอง และไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดี เป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง
เหตุทำร้ายร่างกายเกิดบนรถบัสรับส่งพนักงานที่จำเลยที่ 2 นายจ้างจัดให้ลูกจ้างเพื่อความสะดวกในการเดินทางไปทำงาน แม้จะเป็นเวลาก่อนที่ลูกจ้างเข้าปฏิบัติงาน แต่ก็เป็นเวลาเกี่ยวเนื่องก่อนลูกจ้างเข้าทำงาน จำเลยที่ 2 ย่อมมีอำนาจออกคำสั่งหรือระเบียบห้ามมิให้พนักงานที่โดยสารรถรับส่งทำร้ายร่างกายและทะเลาะวิวาทบนรถรับส่งพนักงานได้ ประกาศของจำเลยที่ 2 เรื่อง การทำร้ายร่างกาย และทะเลาะวิวาทภายในโรงงาน รถรับส่งพนักงาน และพื้นที่ที่บริษัทกำหนด จึงมีผลใช้บังคับได้ การที่โจทก์ทำร้าย ร. โดยบีบคอจนมีรอยแดงช้ำที่คอเข้าข่ายเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 391 เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยที่ 2 และประกาศดังกล่าว อันเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยที่ 2 ย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคท้าย และไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4)
of 8