คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ดอกเบี้ยผิดนัด

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 125 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3083/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จากการรักษาพยาบาล: การเริ่มนับดอกเบี้ยเมื่อใด และอัตราที่ใช้
ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น" เมื่อเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลยเป็นหนี้เงินอย่างหนึ่ง จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดให้แก่โจทก์ เมื่อไม่ปรากฏว่ามีเหตุตามกฎหมายที่ให้โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ได้แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เท่านั้น
โจทก์ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนจากจำเลยวันที่ 4 ธันวาคม 2550 ต่อมาจำเลยมีคำสั่งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ โจทก์จึงอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ วันที่ 9 มกราคม 2551 คณะกรรมการอุทธรณ์มีมติให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์จึงนำคดีนี้มาฟ้อง เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้กำหนดระยะเวลาพอสมควรให้จำเลยชำระหนี้ อีกทั้งไม่ปรากฏว่าก่อนฟ้องคดีโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้โดยทางอื่นอีก จึงเท่ากับว่ายังไม่มีคำเตือนให้ชำระหนี้โดยชอบตามมาตรา 204 วรรคหนึ่ง กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดนัดเพราะโจทก์ได้เตือนแล้ว แต่การฟ้องคดีย่อมเป็นการทวงถามอยู่ในตัว จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดให้แก่โจทก์นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7016/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาค้ำประกันที่ไม่ระบุลูกหนี้ร่วม และดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้
สัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำต่อโจทก์นั้นไม่มีข้อตกลงยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยทั้งสองมิได้ยกขึ้นกล่าวในศาลล่างทั้งสอง ก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 290/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคิดดอกเบี้ยผิดนัด, อายุความ, และการบังคับคดีในหนี้เบิกเกินบัญชีและเงินกู้ รวมถึงบทบาทของบริษัทบริหารสินทรัพย์
คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์นั้นเป็นคำสั่งก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดี และมิใช่คำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 227 และ 228 จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยทั้งห้ามิได้โต้แย้งคำสั่งนั้นไว้ จำเลยทั้งห้าไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ส่วนที่จำเลยทั้งห้าอ้างว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เข้าสวมสิทธิแทนบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ. โดยไม่ให้โอกาสจำเลยทั้งห้าคัดค้านนั้น แม้ศาลชั้นต้นไม่ได้ส่งสำเนาคำร้องแก่จำเลยทั้งห้าอันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น ต้องพิจารณาว่าเรื่องที่ผิดระเบียบนั้นทำให้คู่ความฝ่ายใดเสียหายหรือเสียความเป็นธรรมหรือการเพิกถอนกระบวนพิจารณานั้นไม่เป็นประโยชน์แต่อย่างใด เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งห้าโต้แย้งคัดค้านกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยทั้งห้าเสียหายจึงยังไม่มีเหตุอื่นใดอันสมควรเพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าว
การที่จำเลยทั้งห้าไม่ได้อ้างเหตุแห่งการปฏิเสธมาในศาลชั้นต้นว่าสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 2 เป็นสัญญาปลอม และจำเลยที่ 3 ไม่มีอำนาจทำสัญญาจำนองแทน ส. จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
การที่ ป. และ บ. ลงลายมือชื่อในช่องพยานในสัญญาค้ำประกันเพื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของ ส. แม้จะไม่ระบุว่า เป็นพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือก็ถือว่าเป็นการรับรองลายพิมพ์นิ้วมือแล้ว การลงลายพิมพ์นิ้วมือของ ส. จึงถูกต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 9 วรรคสอง และการที่โจทก์คิดดอกเบี้ยของหนี้เงินกู้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินในอัตราดอกเบี้ยผิดนัดร้อยละ 19 ต่อปี นั้น ถือเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินควรศาลย่อมลดเบี้ยปรับได้ แต่เนื่องจากมีการโอนหนี้ของโจทก์คดีนี้ตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 แล้ว สิทธิในการคิดดอกเบี้ยจึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1922/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการชำระหนี้แทน และดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้
โจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ชำระค่าประกันชดเชยตามสัญญาค้ำประกันให้แก่ผู้เป็นเจ้าหนี้เป็นต้นเงินจำนวน 754,333.57 บาท และดอกเบี้ยอีกจำนวน 63,898.62 บาท รวม 818,232.19 บาท เงินจำนวนนี้จึงรวมเป็นต้นเงินที่โจทก์ชำระให้แก่เจ้าหนี้ไป โจทก์ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ให้ชำระเงินจำนวน 818,232.19 บาท ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 693 วรรคหนึ่ง หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้เงิน โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสี่ชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 18 เมษายน 2549 แก่โจทก์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ จำเลยทั้งสี่ได้รับหนังสือทวงถามเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2549 ครบกำหนดชำระแล้วจำเลยทั้งสี่เพิกเฉย จึงตกเป็นผู้ผิดนัดมาตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2549 โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 818,232.19 บาท จากจำเลยทั้งสี่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง นับแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2549 เป็นต้นไป มิใช่นับแต่วันที่โจทก์ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4563/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี การคิดดอกเบี้ยผิดนัด และการหักชำระหนี้
จำเลยทั้งสองไม่ได้ยกอายุความเรื่องดอกเบี้ยค้างชำระเกินห้าปีขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (1) หรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกปัญหาอายุความขึ้นแล้ววินิจฉัยให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ก่อนฟ้องไม่เกินห้าปีจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 183 ถือไม่ได้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ แม้ปัญหานี้โจทก์มิได้ยกขึ้นโต้แย้งในฎีกาโดยตรง แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้
แม้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดจนกว่าจะมีการบอกเลิกสัญญาหรือมีการหักทอนบัญชีและเรียกให้ชำระหนี้คงเหลือก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2536 จากนั้นไม่ปรากฏรายการเดินสะพัดในบัญชีอันจะเป็นหลักฐานแสดงว่าธนาคารยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีอีก คงมีแต่ในวันที่ 31 ธันวาคม 2540 ธนาคารได้นำเงินฝากประจำของจำเลยที่ 1 มาหักชำระหนี้เท่านั้น โดยมีการหักทอนบัญชีกันตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2536 แสดงให้เห็นเจตนาของธนาคารและจำเลยที่ 1 ว่าไม่ประสงค์จะให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีระหว่างกันอีกต่อไป สัญญาจึงเลิกกันโดยปริยายเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2536
สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมิได้ระบุข้อตกลงไว้ชัดแจ้งว่าหากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไขตามสัญญายอมเสียดอกเบี้ยอัตราผิดนัด แม้สัญญาจะระบุให้ธนาคารเพิ่มอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ในสัญญาได้ไม่เกินอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยก็หมายความถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ผู้ให้กู้มีสิทธิเรียกได้จากลูกค้าที่มิได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขหรือผิดสัญญา แม้ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยจะระบุให้คิดอัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อผิดนัดชำระหนี้หรือผิดสัญญาก็เป็นการให้สิทธิแก่ธนาคารพาณิชย์ที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นกว่าที่คิดตามปกติเท่านั้น ส่วนจะปรับได้หรือไม่ ต้องพิจารณาจากสัญญานั้นว่ามีข้อตกลงดังกล่าวหรือไม่ ทั้งการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยในกรณีดังกล่าวเป็นการให้สิทธิพิเศษแก่เจ้าหนี้จึงต้องตีความข้อตกลงในสัญญาอย่างเคร่งครัด เมื่อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไม่ได้ระบุข้อตกลงไว้ชัดแจ้งว่าหากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไขตามสัญญายอมเสียดอกเบี้ยอัตราผิดนัด โจทก์ไม่อาจคิดดอกเบี้ยผิดนัดได้ คงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดได้สูงสุดในอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำสำหรับลูกค้าประเภทกู้เบิกเงินเกินบัญชีที่ไม่ผิดนัดเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3488/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีตั๋วสัญญาใช้เงินหลังศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์โจทก์ & ดอกเบี้ยผิดนัด
โจทก์มีตั๋วสัญญาใช้เงินไว้ในครอบครองเนื่องจาก บริษัท อ. สลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นกลับมาให้โจทก์เพราะโจทก์ใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่บริษัทนั้นแล้ว โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์จะรับโอนตั๋วสัญญาใช้เงินและใช้เงินให้แก่บริษัท อ. หลังจากกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้โจทก์ระงับการดำเนินกิจการ แต่ก็ได้ความจาก พ. ผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์ว่า หลังจากกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้โจทก์ระงับการดำเนินกิจการ องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน แต่งตั้ง ช. เป็นประธานกรรมการของโจทก์ ซึ่งเป็นการดำเนินการโดยคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินตามมาตรา 30 แห่ง พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 และหลังจากนั้นองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินเคยมีหนังสือแจ้งไปยังประธานกรรมการโจทก์ให้ถือปฏิบัติเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยแก่ลูกหนี้ของโจทก์ การดำเนินกิจการของโจทก์หลังจากกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการจึงเป็นการเข้าดำเนินการโดยองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน การดำเนินกิจการของโจทก์ดังกล่าวจึงหาเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งกระทรวงการคลังไม่
คำสั่งกระทรวงการคลังให้โจทก์ระงับการดำเนินกิจการ เป็นคำสั่งที่ใช้บังคับแก่โจทก์โดยเฉพาะมิได้ใช้บังคับแก่บุคคลทั่วไป การดำเนินการของโจทก์เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับบริษัท อ. และกระทรวงการคลังที่จะต้องว่ากล่าวกัน หาได้กระทบกระเทือนต่อฐานะความเป็นคู่สัญญาผู้ขายลดตั๋วเงินของจำเลยที่ 1 และฐานะความเป็นผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ 2 ไม่ กล่าวอีกนัยหนึ่ง หาทำให้สัญญาขายลดตั๋วเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 หรือตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกตั๋วระงับหรือสิ้นสุดไปด้วยไม่ ทั้งไม่ได้ความว่าการโอนตั๋วสัญญาใช้เงินระหว่างโจทก์กับบริษัท อ. มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล เท่ากับการใช้สิทธิฟ้องคดีของโจทก์เป็นไปโดยสุจริต ดังนั้น เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ใช้เงินตามตั๋ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินได้
สัญญาขายลดตั๋วเงิน มีข้อตกลงว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดนัด จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามที่โจทก์ประกาศกำหนด โดยโจทก์อ้างส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง อัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมและส่วนลดสูงสุด และอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้าชั้นดีของโจทก์ และหนังสือขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน แสดงให้เห็นว่า ขณะจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาขายลดตั๋วเงิน โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ซึ่งไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์ประกาศกำหนด จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ไม่ได้เขียนข้อความกำหนดให้เรียกดอกเบี้ยไว้ แต่ ป.พ.พ. มาตรา 968 (2) ประกอบมาตรา 985 บัญญัติให้มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้อัตราร้อยละ 5 ต่อปี แม้โจทก์จะไม่ได้ฎีกา แต่เรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1818/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้: ศาลแก้ไขดอกเบี้ยให้เป็นไปตามอัตราที่กฎหมายกำหนด
ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นั้น โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า โจทก์เรียกดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวได้โดยอาศัยสิทธิใด แต่เมื่อหนี้ที่จำเลยทั้งสองค้างชำระเป็นหนี้เงินและจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี การที่ศาลชั้นต้นกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้จำเลยทั้งสองรับผิดในอัตราสูงกว่าอัตราที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมาย อันเป็นการกำหนดให้จำเลยทั้งสองรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกฎหมาย เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยทั้งสองย่อมมีสิทธิยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ มาตรา 249 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11234/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความ: การจำแนกประเภทหนี้ค่าเสียหาย, เบี้ยปรับ, และดอกเบี้ยผิดนัด
โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันทำให้หนี้เดิมระงับไปและเปลี่ยนมาเป็นหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความแทน ซึ่งตามสัญญาดังกล่าวจำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้ค่าปรับของยอดซื้อผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมต่อเดือนต่ำกว่าจำนวนที่จำเลยได้ให้คำรับรองไว้ จำนวนเงินดังกล่าวถือว่าเป็นค่าเสียหายอันจำเลยยอมรับผิดชดใช้แก่โจทก์ ถือว่าเป็นมูลหนี้เกี่ยวกับค่าเสียหายตามที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความแจ้งชัดแล้ว มิใช่ค่าเสียหายที่คู่ความตกลงกันไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะมีการไม่ชำระหนี้จึงมิใช่เบี้ยปรับ จำเลยต้องรับผิดในค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์ตามจำนวนที่ตกลงกันไว้
แต่ในส่วนที่เป็นเบี้ยปรับอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของหนี้ค่าซื้อผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมค้างชำระ โจทก์และจำเลยมิได้ตกลงหรือกำหนดเบี้ยปรับดังกล่าวไว้เป็นจำนวนที่แน่นอนแจ้งชัดในขณะทำสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ยอมรับว่าเป็นหนี้เบี้ยปรับ
ส่วนค่าเบี้ยปรับอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ของต้นเงินที่ยังไม่ชำระตามสัญญาประนีประนอมยอมนั้น เป็นการที่จำเลยสัญญาแก่โจทก์ไว้ล่วงหน้าว่าจำเลยจะชดใช้ค่าเสียหายกรณีที่จำเลยผิดนัดชำระหนี้ จึงเป็นเบี้ยปรับอันศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20513-20657/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับอัตราค่าจ้างตามมติ ครม. การคิดดอกเบี้ยผิดนัด และการสืบพยานหลังการเปลี่ยนแปลงตัวผู้รับมอบอำนาจ
คำฟ้องของโจทก์ทั้งหมดบรรยายว่า โจทก์ทั้งหมดมีสิทธิได้รับการปรับอัตราค่าจ้างและได้รับบำเหน็จในส่วนที่ขาดตามมติคณะรัฐมนตรีและบันทึกข้อตกลงซึ่งเป็นสภาพแห่งข้อหา โดยมีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีและบันทึกข้อตกลงนั้น ส่วนที่โจทก์แต่ละคนได้รับเงินเดือนในแต่ละปีจำนวนเท่าใด ถ้ามีการปรับค่าจ้างจะต้องใช้อัตราเงินเดือนใดในการคำนวณ และโจทก์แต่ละคนจะได้รับเงินตามฟ้องจำนวนเท่าใดนั้น เมื่อโจทก์ทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลย จำเลยย่อมมีข้อมูลเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดี ทั้งเป็นรายละเอียดที่สามารถนำสืบพิสูจน์กันในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลางได้ คำฟ้องของโจทก์ทั้งหมดได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 แล้ว ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม
โจทก์ทั้งหมดฟ้องขอให้จำเลยปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงโดยการปรับอัตราค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีซึ่งจำเลยได้ปฏิบัติมาโดยตลอด เป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เมื่อจำเลยยังไม่ได้ปรับอัตราค่าจ้างของโจทก์ทั้งหมดตามมติคณะรัฐมนตรี เงินที่โจทก์ทั้งหมดฟ้องให้จำเลยปรับอัตราค่าจ้างจึงยังไม่มีสภาพเป็นค่าจ้าง สิทธิเรียกร้องให้จำเลยดำเนินการดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้เป็นการเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
องค์การค้าของคุรุสภาโอนไปเป็นองค์การค้าของจำเลยตาม พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 มาตรา 83 (1) องค์การค้าจึงเป็นหน่วยงานภายในส่วนหนึ่งของจำเลย มาตรา 82 วรรคสอง บัญญัติให้เจ้าหน้าที่และพนักงานที่โอนไปเป็นของจำเลยได้รับตำแหน่ง เงินเดือน ค่าจ้าง และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ไม่น้อยกว่าที่ได้รับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ ทั้งข้อบังคับคณะกรรมการของจำเลยว่าด้วยการบริหารสำนักงาน พ.ศ.2547 ข้อ 31 (9) กำหนดให้โอนบรรดาส่วนงาน กิจการ เงิน ทรัพย์สิน หนี้ อัตรากำลังพนักงานเจ้าหน้าที่และลูกจ้างของศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ (องค์การค้าของคุรุสภา) ให้ไปเป็นขององค์การค้าของจำเลย ข้อ 32 กำหนดว่าบทบัญญัติของกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หนังสือสัญญา หรือสิ่งอื่นใดที่อ้างถึงองค์การค้าของคุรุสภาหรือศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ก่อนการใช้ข้อบังคับนี้ให้ถือว่าอ้างถึงองค์การค้าของจำเลย เมื่อองค์การค้าของคุรุสภาได้ให้สิทธิประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่ของตนด้วยการปฏิบัติตามมติคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาครั้งที่ 15/2537 โดยปรับขึ้นค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีให้แก่เจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของคุรุสภาตลอดมา การปฏิบัติดังกล่าวจึงเป็นสภาพการจ้างโดยปริยาย จำเลยย่อมจะต้องรับมาซึ่งสิทธิและหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว และโจทก์ทั้งหมดยังคงมีสิทธิในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยายตามมาตรา 82 วรรคสอง เจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของจำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลย การที่จำเลยปรับขึ้นค่าจ้างให้แก่เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานของจำเลยโดยไม่ปรับขึ้นค่าจ้างให้แก่เจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของจำเลยตามที่เคยปฏิบัติสืบเนื่องกันมาย่อมไม่เป็นธรรมและไม่เป็นไปตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยาย
มติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติให้รัฐวิสาหกิจปรับค่าจ้างแก่ลูกจ้างมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ที่ยังมีสภาพเป็นลูกจ้างอยู่ในวันที่คณะรัฐมนตรีลงอนุมัติ หาใช่ให้ปรับค่าจ้างแก่ลูกจ้างที่พ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างไปแล้วในวันที่มติคณะรัฐมนตรีมีผลใช้บังคับไม่ การปรับค่าจ้างให้เจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของจำเลยซึ่งนำหลักการของมติคณะรัฐมนตรีมาปรับใช้ย่อมต้องเป็นไปตามหลักการนั้นด้วย ดังนั้นโจทก์ที่พ้นจากสภาพการเป็นลูกจ้างของจำเลยไปก่อนวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติจึงไม่มีสิทธิได้รับการปรับอัตราค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรี
คำพิพากษาศาลแรงงานกลางที่เพียงแต่พิพากษาให้จำเลยปรับขึ้นค่าจ้างและจ่ายบำเหน็จส่วนที่ขาดให้แก่โจทก์แต่ละคนในแต่ละช่วงเวลาตามสิทธิ โดยให้เป็นไปตามหลักการตามมติคณะรัฐมนตรีแต่ละครั้ง และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันเกิดสิทธิ จำเลยสามารถนำหลักการตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางไปเป็นหลักในการคิดคำนวณและดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาได้ เมื่อคำพิพากษาศาลแรงงานกลางได้กล่าวและแสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุปและวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีพร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยครบถ้วนจึงเป็นคำพิพากษาที่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง แล้ว
การที่จำเลยทราบถึงความมรณะของโจทก์ที่ 119 แล้วยื่นคำคัดค้านแต่เพียงว่าทนายความโจทก์ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องและไม่รับรองความเป็นทนายของ อ. บุตรของโจทก์ที่ 119 โดยไม่ได้คัดค้านการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบของศาลแรงงานกลาง ทั้งยังคงเข้าทำหน้าที่ของตนในวันนัดสืบพยานจำเลยและพยานโจทก์ต่อเนื่องกันมา จนกระทั่งศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ อ. เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ที่ 119 ได้ จำเลยจึงยื่นคำร้องคัดค้านว่าศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 42 เป็นกรณีที่จำเลยทราบถึงกระบวนการพิจารณาที่ผิดระเบียบ แล้วยังคงดำเนินการในหน้าที่ของตนต่อไป เท่ากับจำเลยได้ให้สัตยาบันแก่การผิดระเบียบนั้นแล้ว จึงไม่อาจยกกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวมาเป็นเหตุอ้างว่าคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางในส่วนของโจทก์ที่ 119 ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
เงินที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิที่จะได้รับอันเนื่องมาจากการปรับอัตราค่าจ้างตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยาย เงินนั้นยังไม่มีสภาพเป็นค่าจ้าง มิใช่ค่าจ้างที่จะมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง แต่เป็นหนี้เงินที่คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เท่านั้น
เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระเงินที่ได้จากการปรับอัตราค่าจ้างและเงินบำเหน็จส่วนที่ขาดในวันใด จึงต้องถือว่าจำเลยผิดนัดนับแต่วันฟ้องของโจทก์แต่ละคน ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11645/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมาย โมฆะ และสิทธิในการคิดดอกเบี้ยผิดนัด
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้เงินโจทก์กำหนดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี โดยสัญญากู้ระบุว่า ดอกเบี้ยตามกฎหมาย แต่โจทก์นำสืบว่า ขั้นแรกตกลงคิดดอกเบี้ยกันอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือน ต่อมาลดลงเหลือร้อยละ 3 ต่อเดือน จำนวนเงินที่จำเลยชำระมาแล้วเป็นการชำระดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมาย จำเลยยังมิได้ชำระต้นเงินกู้ทั้งยังค้างชำระดอกเบี้ยอีกสามหมื่นบาทเศษ จึงฟ้องเรียกต้นเงินกู้เต็มจำนวนกับดอกเบี้ยตามที่ระบุในสัญญานับตั้งแต่วันกู้ ดังนี้เป็นการนำสืบเรื่องรายละเอียดแห่งข้อเท็จจริงในมูลกรณีที่ฟ้อง เมื่อได้ความว่าโจทก์เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประกอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 654 อันเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลย่อมมีอำนาจยกขึ้นปรับแก่คดีได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ทั้งการรับฟังพยานบุคคลว่าหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยจึงเป็นโมฆะ
การที่จำเลยสมยอมชำระดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแก่โจทก์ ถือว่าเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 จำเลยไม่มีสิทธิเรียกคืนจึงจะให้นำไปหักดอกเบี้ยตามกฎหมายหรือหักจากยอดต้นเงินไม่ได้
of 13