คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ประมาทเลินเล่อ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 519 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2141/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การก่อสร้างรุกล้ำที่ดินของผู้อื่น โดยประมาทเลินเล่อและทุจริต เจ้าของที่ดินมีสิทธิเรียกร้องให้รื้อถอนได้
ที่ดินของโจทก์และของจำเลยที่ 1 อยู่ติดกันเป็นที่ดินว่างเปล่า ไม่มีรั้วหรือเครื่องหมายแสดงแนวเขตไว้การที่จำเลยทั้งสองปลูกสร้างอาคารพิพาทลงในที่ดินของ จำเลยที่ 1 โดยเพิกเฉยไม่ตรวจสอบแนวเขตที่ดินด้านที่ติดต่อกับที่ดินของโจทก์ให้แน่นอนเสียก่อน จึงเป็นการ กระทำที่ส่อแสดงถึงความไม่รอบคอบและประมาทเลินเล่อ นอกจากนี้ในการยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างอาคารพิพาทต่อเทศบาล ก็ไม่ปรากฏหลักฐานสำเนาโฉนดที่ดินและบัตรประจำตัวประชาชน คงมีแต่หนังสือให้ความยินยอมให้ก่อสร้างของโจทก์ซึ่งเป็น เจ้าของที่ดินข้างเคียงเท่านั้น ซึ่งปรากฏว่าลายมือชื่อ ของโจทก์เป็นลายมือชื่อปลอมพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่า จำเลยทั้งสองรู้หรือควรจะรู้แต่ต้นแล้วว่าอาคารพิพาท รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ ถือได้ว่าจำเลยทั้งสอง ก่อสร้างอาคารพิพาทรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์โดยไม่สุจริต โจทก์จึงมีสิทธิขอให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนอาคารพิพาทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 986/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้ควบคุมงานขุดเจาะต้องรับผิดร่วมกับผู้รับเหมาในความเสียหายจากการขุดเจาะ แม้ควบคุมตามมาตรฐานแต่ยังประมาทเลินเล่อ อายุความเริ่มนับจากวันสิ้นสุดการกระทำ
โจทก์ได้ระบุไว้ในบัญชีระบุพยานโจทก์ว่า ณ. เป็นผู้เชี่ยวชาญศาลและต่อมาได้ขอส่งรายงานของณ.ตามคำแถลงของณ.โดยจำเลยที่ 3 มิได้คัดค้านว่า ณ.มิใช่เป็นผู้เชี่ยวชาญศาล จึงต้องถือว่า ณ. ได้ลงชื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญไว้ในทะเบียนผู้เชี่ยวชาญของศาลแล้ว เมื่อศาลชั้นต้นได้มีหมายเรียก ณ.ย่อมถือโดยปริยายว่า ณ.เป็นผู้เชี่ยวชาญที่ศาลแต่งตั้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 99 แล้ว ศาลไม่จำเป็นต้องมีคำสั่งแต่งตั้ง ณ. เป็นผู้เชี่ยวชาญซ้ำซ้อนอีก และการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวอยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะแต่งตั้งได้โดยไม่จำเป็นต้องเรียกคู่ความมาตกลงให้กำหนดตัวผู้เชี่ยวชาญตามมาตรา 129(1) ณ.เป็นผู้เชี่ยวชาญที่ศาลแต่งตั้ง จึงมีสิทธิแสดงความเห็นเป็นหนังสือเมื่อเป็นที่พอใจของศาลและไม่มีคู่ความฝ่ายใดเรียกร้องให้ ณ.มาศาลเพื่ออธิบายด้วยวาจาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 130 ความเห็นเป็นหนังสือของณ.ย่อมรับฟังได้ จำเลยที่ 3 รับจ้างจำเลยที่ 1 เป็นผู้ควบคุมดูแลการขุดเจาะลงเสาเข็มของจำเลยที่ 2 ซึ่งรับจ้างจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 ตกลงทำสัญญากับจำเลยที่ 1 ว่า จะควบคุมให้มีวิธีการก่อสร้างที่ปลอดภัยและไม่มีมลภาวะแก่บริเวณก่อสร้างหรือบริเวณข้างเคียง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ขุดเจาะลงเสาเข็มเป็นเหตุให้ทาวน์เฮาส์ของโจทก์เสียหายโดยนอกเหนือการควบคุมของจำเลยที่ 3 แม้จำเลยที่ 3 จะควบคุมการก่อสร้างให้ถูกต้องตามแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตตลอดจนควบคุมการใช้เครื่องมือเครื่องจักรให้ถูกต้องตรงตามมาตรฐานที่ใช้กันทั่วไปก็ตามแต่ความเสียหายของทาวน์เฮาส์ของโจทก์เกิดจากการขุดเจาะลงเสาเข็มที่จำเลยที่ 2 กระทำ โดยจำเลยที่ 3ควบคุม ย่อมแสดงว่ามาตรฐานทั่วไปที่จำเลยที่ 3 อ้างใช้ในการขุดเจาะลงเสาเข็มนั้น ไม่สามารถนำมาใช้ขุดเจาะลงเสาเข็มเพื่อสร้างตึกสูง 42 ชั้น และห้องใต้ดิน 2 ชั้น ได้ซึ่งจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ควบคุมต้องใช้ความระมัดระวังในส่วนนี้แต่จำเลยที่ 3 ยังควบคุมให้ขุดเจาะลงเสาเข็มโดยจำเลยที่ 3 ไม่ได้ควบคุมให้มีวิธีการก่อสร้างที่ปลอดภัยถือได้ว่าจำเลยที่ 3 กระทำโดยประมาทเลินเล่อแล้ว โดยโจทก์ไม่จำต้องนำสืบว่าจำเลยที่ 3 ละเลยต่อหน้าที่ในการควบคุมหรือไม่ จำเลยที่ 3 ย่อมต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย จำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ เป็นเหตุให้ห้องครัวของโจทก์เสียหายตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2534 และโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าเสียหายในเวลาเดียวกันซึ่งนับถึงวันฟ้องพ้นกำหนดปีหนึ่งแล้ว แต่เมื่อจำเลยที่ 2 ยังคงดำเนินการขุดเจาะลงเสาเข็มซึ่งเป็นมูลเหตุของการทำละเมิดต่อไปจนถึงความเสียหายอันเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 นั้น ย่อมจะต้องเกิดเพิ่มขึ้นอีกในทรัพย์อันเดียวกันตรงส่วนที่ได้รับความเสียหายเดิมจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 ในช่วงแรก และส่วนที่เสียหายใหม่จากการกระทำละเมิดในช่วงหลังความเสียหายดังกล่าวนี้ย่อมไม่อาจแยกแยะได้ว่า ช่วงเวลาใดจำเลยที่ 2 ทำละเมิดต่อโจทก์ เสียหายเป็นจำนวนมากน้อยเพียงใด เมื่อความเสียหายดังกล่าวเกี่ยวพันสืบเนื่องกันตลอดเวลาที่จำเลยที่ 2 ยังคงขุดเจาะลงเสาเข็มอยู่ เมื่อนับอายุความหนึ่งปีนับแต่วันสุดท้ายที่จำเลยที่ 2 ยังทำละเมิดอยู่คือวันที่ 21 มีนาคม 2535 เป็นวันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิด ซึ่งยังไม่พ้นกำหนดอายุความหนึ่งปีนับแต่โจทก์ได้ฟ้องคดี คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ ปัญหาว่า จำเลยที่ 3 มีสิทธิขอหักเงินส่วนที่จำเลยที่ 1และที่ 2 ได้ตกลงชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์หลังจากศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาแล้วหรือไม่เป็นปัญหาข้อเท็จจริงและเป็นข้อกฎหมายที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลชั้นต้นจึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249แต่ปัญหาว่าจำเลยที่ 3 จะมีสิทธิหักหนี้ดังกล่าวได้หรือไม่เป็นเรื่องขอหักกันในชั้นบังคับคดีต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7378/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับรองจำนวนเงินในศาลมีผลผูกพัน และข้อตกลงยกเว้นความรับผิดในกรณีกลฉ้อฉลหรือประมาทเลินเล่อร้ายแรงใช้ไม่ได้
จำเลยแถลงต่อหน้าศาลว่าได้รับเงินจากโจทก์ 400,000 บาท ต่อมาจำเลยจะมาอ้างว่าแถลงด้วยความพลั้งเผลอไม่ได้เพราะกระบวนพิจารณาดังกล่าวได้ทำในศาลต่อหน้าโจทก์และจำเลย
บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ระบุให้จำเลยไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่อาจจะมีขึ้นในปัจจุบันหรืออันจะเกิดขึ้นในอนาคตนั้น มีลักษณะเป็นความตกลงที่ทำไว้ล่วงหน้า จำเลยจะอ้างมาปฏิเสธความรับผิดในกลฉ้อฉลหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 373 จำเลยจึงต้องชำระค่าเสียหายและคืนเงินให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5763/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของนิติบุคคลต่อละเมิดของผู้แทน แม้ผู้แทนไม่มีความประมาทเลินเล่อ
รถยนต์โดยสารของโจทก์ได้เกิดอุบัติเหตุมีผู้โดยสารตกจากรถของโจทก์ จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีฐานะ เป็นผู้ช่วยพนักงานสอบสวนได้กระทำการโดยนำรถคันที่เกิดเหตุ มาจอดไว้ที่ริมถนนหน้าสถานีตำรวจเพื่อมิให้กีดขวาง ทางจราจรตามคำสั่งของพนักงานสอบสวน ต่อมาอุปกรณ์ในรถของโจทก์สูญหายในขณะอยู่ในความครอบครองดูแลของ พนักงานสอบสวน เหตุละเมิดซึ่งทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว หากแต่มิได้เกิดขึ้นในขณะอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 แต่เกิดขึ้นในขณะอยู่ในความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวน การที่พนักงานสอบสวนมีคำสั่งยึดรถเนื่องจากรถที่สั่งยึดเกิดอุบัติเหตุ จึงเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่ในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 2 เมื่อพนักงานสอบสวนนำรถไปจอดอยู่ที่ฝั่งตรงข้ามสถานีตำรวจโดยมิได้จัดให้มีผู้ดูแลรักษาตามสมควร เป็นเหตุให้อุปกรณ์ในรถสูญหายไปบางส่วน จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนิติบุคคลจึงต้องรับผิด ต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76 ไม่ว่าผู้แทนของโจทก์ที่ก่อให้เกิดความเสียหายนั้นจะเป็น จำเลยที่ 1 หรือพนักงานสอบสวน จำเลยที่ 2 ก็ปฏิเสธ ความรับผิดไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3871/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลอนุญาตถอนฟ้องหลังยื่นคำให้การ & ค่าฤชาธรรมเนียมจากความประมาทเลินเล่อ
กรณีที่โจทก์ขอถอนฟ้องภายหลังจำเลยยื่นคำให้การแล้วและไม่ใช่กรณีที่โจทก์ขอถอนฟ้องเนื่องจากมีข้อตกลงหรือประนีประนอมยอมความกับจำเลย จึงเป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะ ที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตภายในเงื่อนไขตามที่เห็นสมควร อย่างไรก็ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 175 วรรคสอง เมื่อปรากฏว่าที่ดินตามคำฟ้องของโจทก์ ไม่ใช่ที่ดินแปลงที่ โจทก์ประสงค์จะฟ้องจำเลย และโจทก์ได้ขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องในส่วนนี้แล้วแต่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตเนื่องจากล่วงเลยเวลาที่จะอนุญาตได้ หากศาลใช้ดุลพินิจไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและปล่อยให้คู่ความดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปเมื่อศาลพิพากษา ยกฟ้องโจทก์เพราะโจทก์ฟ้องคดีในที่ดินที่ผิดแปลง โจทก์ ย่อมนำ คดีมาฟ้องจำเลยเกี่ยวกับที่ดินแปลงที่พิพาทกันอย่างแท้จริงใหม่ได้ คู่ความทั้งสองฝ่ายก็จะต้องเสียเวลาเสียค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอีก ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจ อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง เพื่อให้โจทก์ไปดำเนินการจัดทำแผนที่ ที่ดินเพื่อนำคดีมาฟ้องใหม่ ย่อมเป็นประโยชน์แก่คู่ความทั้งสองฝ่ายนับเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบและเหมาะสมแล้ว การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยโดยไม่ได้ตรวจสอบที่ดิน ที่จะฟ้องให้แน่นอน เป็นเหตุให้จำเลยต่อสู้คดีและดำเนินกระบวนพิจารณา เสียค่าฤชาธรรมเนียมต่าง ๆ เรื่อยมาถือได้ว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่จำเป็น อันเกิดเพราะความผิดหรือความประมาทเลินเล่อของฝ่ายโจทก์สมควรที่โจทก์จะต้องรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมดังกล่าวแทนจำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161และมาตรา 166

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3801/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดจากความประมาทเลินเล่อของพนักงาน & ความรับผิดทางละเมิดแยกจากคดีอาญา
มูลละเมิดที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองรับผิดเกิดจากการกระทำประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากโจทก์ออกเช็คเพื่อชำระหนี้แก่ผู้มีชื่อเป็นเช็คห้ามเปลี่ยนมือและขีดฆ่าคำว่า "ผู้ถือ" ออก แต่เช็คฉบับดังกล่าวถูกนำไปเรียกเก็บยังธนาคารจำเลยที่ 1 ในบัญชีจำเลยร่วมซึ่งมิใช่ผู้รับเงินตามเช็คที่โจทก์สั่งจ่าย โดยผิดขั้นตอนไม่เป็นไปตามระเบียบ แล้วจำเลยร่วมเป็นผู้รับเงินและเบิกจ่ายเงินตามเช็คไป ส่วนการที่จำเลยร่วมและ น.ได้ร่วมกันนำเช็คของโจทก์หลายฉบับรวมทั้งเช็คที่เป็นมูลละเมิดในคดีนี้ไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร โจทก์จึงได้ดำเนินคดีกับจำเลยร่วมและ น.ฐานฉ้อโกง แล้วต่อมาโจทก์ จำเลยร่วม และน.ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเพื่อระงับข้อพิพาทในทางอาญาในความผิดฐานฉ้อโกงอันเป็นความผิดอันยอมความได้ เพื่อให้จำเลยร่วมและ น.ไม่ต้องถูกดำเนินคดีอาญาต่อไปนั้น เป็นเรื่องเฉพาะตัวของฝ่ายจำเลยร่วมและ น. หาได้มีผลถึงความรับผิดของจำเลยทั้งสองในคดีนี้ซึ่งมีมูลหนี้มาจากการละเมิดไม่ เพราะเป็นคนละเรื่องกันโดยแท้ ดังนี้ จำเลยทั้งสองจึงไม่พ้นความรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3801/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประมาทเลินเล่อของธนาคารและผลกระทบต่อความรับผิดทางละเมิด สัญญาประนีประนอมยอมความไม่กระทบความรับผิดทางละเมิด
มูลละเมิดที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองรับผิดเกิดจาก การกระทำประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานของ จำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากโจทก์ออกเช็คเพื่อชำระหนี้แก่ผู้มีชื่อเป็นเช็คห้ามเปลี่ยนมือและขีดฆ่าคำว่า "ผู้ถือ" ออกแต่เช็คฉบับดังกล่าวถูกนำไปเรียกเก็บยังธนาคารจำเลยที่ 1 ในบัญชีจำเลยร่วมซึ่งมิใช่ผู้รับเงินตามเช็คที่โจทก์สั่งจ่าย โดยผิดขั้นตอนไม่เป็นไปตามระเบียบ แล้วจำเลยร่วมเป็นผู้รับเงินและเบิกจ่ายเงินตามเช็คไป ส่วนการที่จำเลยร่วม และ น. ได้ร่วมกันนำเช็คของโจทก์หลายฉบับรวมทั้งเช็คที่เป็นมูลละเมิดในคดีนี้ไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร โจทก์จึงได้ดำเนินคดีกับจำเลยร่วมและ น. ฐานฉ้อโกงแล้วต่อมาโจทก์ จำเลยร่วม และ น. ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเพื่อระงับข้อพิพาทในทางอาญาในความผิดฐานฉ้อโกงอันเป็นความผิดอันยอมความได้ เพื่อให้จำเลยร่วมและ น. ไม่ต้องถูกดำเนินคดีอาญาต่อไปนั้น เป็นเรื่องเฉพาะตัวของฝ่ายจำเลยร่วมและ น. หาได้มีผลถึงความรับผิดของจำเลยทั้งสองในคดีนี้ซึ่งมีมูลหนี้มาจากการละเมิดไม่ เพราะเป็น คนละเรื่องกันโดยแท้ ดังนี้ จำเลยทั้งสองจึงไม่พ้น ความรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3507/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม การพิสูจน์ความประมาทเลินเล่อ และสิทธิรับเงินบำเหน็จของลูกจ้าง
ฟ้องโจทก์บรรยายว่า การสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนมิได้ เป็นไปโดยรอบคอบเป็นเหตุให้จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจาก การเป็นลูกจ้างของจำเลย การเลิกจ้างที่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ก่อน เป็นการมิชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และเป็น การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเนื่องจากโจทก์มิได้กระทำผิดตามที่ ถูกกล่าวหาทำให้โจทก์เสียหาย เป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลัก แห่งข้อหาและคำขอบังคับที่ให้จำเลยรับโจทก์เข้าทำงาน ให้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ค่าขาดรายได้ประจำเงินโบนัส ส่วนรายละเอียดในการจ้าง การเลิกจ้าง และข้อกล่าวหาที่คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยกล่าวหาว่าโจทก์กระทำความผิด เป็นรายละเอียดที่จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณาคำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสอง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้ง ศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 แล้ว ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม แม้โจทก์มีส่วนร่วมในความผิดพลาดในการวิเคราะห์ลูกหนี้และการประเมินราคาหลักทรัพย์ และโจทก์ประเมินความสามารถในการชำระหนี้โดยไม่ได้ใช้ความระมัดระวังให้รอบคอบเพียงพอให้สมกับตำแหน่งผู้จัดการสาขาธนาคารจำเลยที่มีหน้าที่ดูแลระมัดระวังผู้ใต้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องตามระเบียบอย่างเคร่งครัด เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย แต่การกระทำผิดของโจทก์ดังกล่าวไม่ปรากฏว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจทำให้จำเลยเสียหาย และการปล่อยสินเชื่อของโจทก์ก็เป็นการแสวงหาประโยชน์ให้แก่จำเลยโดยตรง กรณีจึงถือไม่ได้ว่าการกระทำผิดของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงแต่ขณะเกิดเหตุโจทก์เป็นผู้จัดการสาขาธนาคารจำเลย และโจทก์ เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในสาขา มีหน้าที่รับผิดชอบงานทุกอย่างในสาขา การที่โจทก์ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องย่อมทำให้จำเลย เสียหายแม้ความเสียหายดังกล่าวจะยังไม่พอที่จะถือว่าทำให้จำเลยเสียหายร้ายแรงก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่าการกระทำของโจทก์มีเหตุสมควรและเพียงพอที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่จำต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ โจทก์เพียงแต่บกพร่องต่อหน้าที่ ไม่ควบคุมดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย แต่ไม่ถึงขั้นกรณีที่ร้ายแรง และจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้เตือนเป็นหนังสือก่อน ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้จงใจขัดคำสั่งของจำเลยอันชอบด้วยกฎหมายหรือกระทำผิดในประการอื่นอีก จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ ตามระเบียบว่าด้วยเงินบำเหน็จของจำเลยกำหนดว่า พนักงาน ที่จำเลยให้ออกหรือไล่ออกเพราะกระทำผิดวินัยอย่างหนึ่ง อย่างใดดังต่อไปนี้ ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จ บำนาญและ เงินพิเศษใด ๆ (1) ทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำผิดอาญาโดยเจตนาต่อจำเลย (2) จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย(3) ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยและจำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว (4) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำการติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันควร (5) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง (6) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ความผิดลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท (7) ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง(8) มีพฤติการณ์ที่ทำให้ขาดความไว้วางใจ หรือมีมลทินมัวหมอง หากให้ปฏิบัติงานต่อไปจะเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อจำเลย แต่การกระทำของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องและไม่พอที่จะถือว่าทำให้จำเลยเสียหายร้ายแรง จึงไม่เข้ากรณีที่โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ จำเลยจึงต้องจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์ตามระเบียบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2867/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงยกเว้นความรับผิดในสัญญาจำนำไม่ขัดกฎหมาย หากไม่ได้ระบุถึงกลฉ้อฉลหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
ความตกลงที่ทำไว้ล่วงหน้าจะเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 373 ต้องเป็นข้อยกเว้นมิให้ลูกหนี้ต้องรับผิดเพื่อกลฉ้อฉล หรือเพื่อความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตน แต่ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ว่า หากสินค้าที่ธนาคารโจทก์ รับจำนำเกิดความชำรุด บุบสลาย เสียหาย สูญหายหรือเสื่อมโทรมไม่ว่าจะโดยเหตุใด ๆ โจทก์ย่อมไม่ต้องรับผิดไม่มีข้อตกลงชัดเจนยกเว้นมิให้โจทก์รับผิดเพื่อกลฉ้อฉลหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือขัดต่อกฎหมายสามารถใช้บังคับได้ จำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าโกดังเก็บน้ำตาล ไม่ปรากฏว่าน้ำตาลที่จำนำไว้สูญหายไปเพราะโจทก์เป็นผู้เอาไป หรือโจทก์เป็นผู้กระทำ หรือมีส่วนกระทำ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้น้ำตาลสูญหายไป ทั้งตามข้อตกลงในการจำนำ โจทก์ไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบุบสลายเสียหาย สูญหายหรือเสื่อมโทรมของน้ำตาล ที่จำนำ โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหาย สูญหาย หรือเสื่อมโทรมของน้ำตาลที่จำนำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2571/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางสัญญาและการละเมิดจากการส่งมอบสินค้าล่าช้าและประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่
ตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายฟ้องด้วยว่า จำเลยที่ 1ผิดสัญญาโดยส่งมอบสิ่งของแก่โจทก์ช้ากว่าวันเวลาที่กำหนดไว้ในใบสั่งซื้อ ซึ่งจะต้องถูกปรับตามสัญญาข้อ 10 รวมเป็นเงินค่าปรับทั้งสิ้น 268,056 บาทมิใช่ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการละเมิดแต่เพียงอย่างเดียว คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/30
ตาม ป.พ.พ.มาตรา 381 วรรคท้าย ที่บัญญัติว่า "ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้แล้ว จะเรียกเอาเบี้ยปรับได้ต่อเมื่อได้บอกสงวนสิทธิไว้เช่นนั้นในเวลารับชำระหนี้" นั้น หมายความว่า เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์จะต้องทราบว่ามีการผิดสัญญาเพราะจำเลยที่ 1 ส่งมอบยางแอสฟัลต์เกินกำหนดเวลาตามสัญญาหรือใบสั่งซื้อแล้วยังยินยอมที่จะรับเอายางแอสฟัลต์นั้นไว้โดยไม่ได้บอกกล่าวสงวนสิทธิ โจทก์จึงจะหมดสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับจากจำเลยที่ 1 แต่โจทก์มิได้ทราบเกี่ยวกับเรื่องที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบยางแอสฟัลต์เกินกำหนดเวลาตามสัญญา โดยจำเลยที่ 1 ได้แก้ไขเอกสารให้เห็นเป็นว่า จำเลยที่ 1 ได้ส่งยางแอสฟัลต์ให้แก่โจทก์ตามกำหนดกรณีนี้จึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ยอมรับชำระหนี้โดยไม่ได้บอกสงวนสิทธิที่จะเรียกเบี้ยปรับ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าปรับตามสัญญาได้
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 กระทำโดยประมาทเลินเล่อและเป็นคดีต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ในข้อเท็จจริงแล้ว ดังนั้น ปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 กระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่มีสิทธิฎีกาต่อมา แม้ศาลชั้นต้นจะรับฎีกาข้อเท็จจริงมาก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีนี้โจทก์ได้บรรยายฟ้องด้วยว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4ทราบว่าจำเลยที่ 1 ส่งของล่าช้า แต่ไม่แจ้งให้โจทก์ทราบถึงการที่จำเลยที่ 1ส่งมอบสิ่งของล่าช้าในทันทีตามหน้าที่ ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นคณะกรรมการตรวจรับยางแอสฟัลต์ แม้จะไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งเรื่องการส่งของล่าช้าหรือมีหน้าที่ในการบอกสงวนสิทธิเรียกค่าปรับตามสัญญาก็ตามแต่เมื่อจำเลยที่ 1 ส่งมอบยางแอสฟัลต์เกินกำหนดเวลาตามสัญญา จำเลยที่ 2ถึงที่ 4 ในฐานะเป็นคณะกรรมการตรวจรับยางแอสฟัลต์ซึ่งมีหน้าที่ที่สำคัญที่จะต้องตรวจรับยางแอสฟัลต์ให้เป็นไปตามสัญญาจะซื้อจะขายทุกประการ จำเลยที่ 2ถึงที่ 4 จะต้องบันทึกแจ้งให้โจทก์ทราบหรืออย่างน้อยก็จะต้องบันทึกแจ้งเหตุไว้ให้ปรากฏเพื่อให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นทราบจะได้บอกสงวนสิทธิในการที่จะเรียกค่าปรับจากจำเลยที่ 1 ได้ แต่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ก็ไม่ได้บันทึกแจ้งเหตุไว้จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อนั้น ถือได้ว่าเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวมาในฟ้องแล้ว หาใช่เป็นเรื่องนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องไม่
จำเลที่ 5 เป็นผู้อำนวยการกองการบัญชีและการเงินของโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 5 ทราบว่าจำเลยที่ 1 ยังส่งยางแอสฟัลต์ไม่ครบได้แจ้งกองการพัสดุให้ระงับการคืนหลักประกันของจำเลยที่ 1 ไว้ก่อน จำเลยที่ 5 จึงชอบที่จะระงับหรือชะลอการจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 ไว้ก่อน การที่จำเลยที่ 5 ปล่อยปละละเลยหรือประมาทเลินเล่อจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 ไป ทำให้โจทก์เสียหาย จึงเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ 5 ดังกล่าว หาใช่เป็นผลที่ไกลเกินกว่าเหตุ หรือมิใช่เป็นผลโดยตรงไม่ และจำเลยที่ 5 ก็ไม่อาจอ้างว่าเป็นการนัดจ่ายเงินเหลื่อมปีงบประมาณจะต้องจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อนขึ้นปฏิเสธความรับผิดได้
เงินค่าธรรมเนียมใช้แทนโจทก์ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้วางต่อศาลพร้อมฎีกานั้นเป็นการปฏิบัติตาม ป.วิ.พ.มาตรา 229 ประกอบมาตรา 247แต่เมื่อมูลความแห่งคดีนี้เป็นการชำระหนี้อันแบ่งแยกมิได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นจำเลยร่วมคนหนึ่งได้นำเงินค่าธรรมเนียมที่ต้องใช้แก่โจทก์มาวางศาลครบถ้วนแล้วจึงมีผลถึงจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วย ดังนั้น จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่จำต้องวางเงินค่าธรรมเนียมที่ต้องใช้แก่โจทก์ในการใช้สิทธิยื่นฎีกานี้อีก ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 นำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์มาวางศาลพร้อมฎีกา จึงไม่ถูกต้อง สมควรสั่งให้คืนเงินค่าธรรมเนียมซึ่งต้องใช้แก่โจทก์ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้วางต่อศาลพร้อมฎีกาให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5
of 52