คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ผู้กู้

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 76 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14806/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำนอง: ผู้กู้และผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดในส่วนเกินหลังบังคับจำนอง หากสัญญามิได้ระบุข้อยกเว้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 733
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้ยืมและบังคับจำนอง เมื่อตามสัญญาจำนองมิได้ตกลงยกเว้นความใน ป.พ.พ. มาตรา 733 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดในเงินส่วนที่ขาดหลังจากการบังคับจำนอง และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วยตามมาตรา 698 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1535/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำนองติดไป-อายุความดอกเบี้ย: ผลกระทบต่อผู้กู้และผู้รับโอนทรัพย์สิน
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้ในฐานะผู้กู้เบิกเงินเกินบัญชีและบังคับจำนอง และขอให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 รับผิดในฐานะผู้รับโอนทรัพย์สินโดยจำนองติดไปซึ่งผู้รับจำนองยังมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองโดยการบังคับจำนองเอาแก่ผู้รับโอนทรัพย์สินที่จำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 735 มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันไม่ได้ ต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 (1) เมื่อจำเลยที่ 2 ยกอายุความเรื่องสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยค้างชำระเกินห้าปีขึ้นต่อสู้ จึงมีผลถึงจำเลยที่ 1 ด้วย
ป.พ.พ. มาตรา 745 บัญญัติว่า "ผู้รับจำนองจะบังคับจำนอง แม้เมื่อหนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีไม่ได้" ซึ่งหมายความว่า ผู้รับจำนองสามารถบังคับจำนองได้ไม่ว่าหนี้ที่ประกันจะขาดอายุความแล้วหรือไม่ แต่ห้ามมิให้บังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีเท่านั้น ดังนั้น แม้หนี้ประธานยังไม่ขาดอายุความ โจทก์ก็คงมีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ที่ค้างชำระได้ไม่เกินห้าปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 699/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นิติกรรมหลังศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เป็นโมฆะ ลาภมิควรได้ ผู้กู้และผู้รับเงินต้องคืน
โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ภายหลังที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 1 แล้ว จึงมิใช่กรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องเข้าว่าคดีแพ่งอันเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาล ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 25 อีกทั้งการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินจากโจทก์ และทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินกับ ก. ภายหลังที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 1 แล้ว จึงเป็นการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายเพราะไม่ได้กระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 และ 24 การกู้เงินและการซื้อขายดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 หนี้ดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังที่ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ไม่อาจนำมาขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27, 91 และมาตรา 94 โจทก์ชอบที่จะฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดต่อโจทก์โดยตรง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1
เมื่อการกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 จากโจทก์ รวมทั้งการซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับ ก. ได้กระทำขึ้นหลังจากจำเลยที่ 1 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ไว้เด็ดขาดแล้ว การกู้ยืมและการซื้อขายดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่ขัดต่อ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 และ 24 เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายจึงตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม และถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรมให้นำบทบัญญัติเรื่องลาภมิควรได้มาใช้บังคับ ดังนั้น จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้กู้จึงต้องรับผิดคืนเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่ ก. และชำระหนี้ให้จำเลยที่ 3 ไปแทน ก. ให้แก่โจทก์ทั้งหมด โดย ก. ซึ่งเป็นผู้ได้รับเงินที่โจทก์ชำระส่วนหนึ่งไปเป็นค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและได้รับประโยชน์โดยตรงจากการที่จำเลยที่ 3 ได้รับชำระหนี้และไถ่ถอนการจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้ ต้องร่วมรับผิดในการคืนเงินแก่โจทก์ด้วย จำเลยที่ 2 ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ก. ต้องรับผิดเพียงไม่เกินทรัพย์มรดกที่ได้รับ สำหรับจำเลยที่ 3 แม้มีส่วนได้รับเงินจากโจทก์แต่ก็เป็นการได้รับเงินที่จ่ายเพื่อชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 3 แทน ก. ตามความประสงค์ของจำเลยที่ 1 ไม่ใช่นิติกรรมที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำขึ้น จึงไม่ตกเป็นโมฆะ ทั้งเป็นการที่จำเลยที่ 3 ได้รับชำระหนี้ที่มีอยู่จริงไว้โดยสุจริต และได้ไถ่ถอนการจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้ ก. ไปแล้ว จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดแก่โจทก์
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องในส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อโจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดตามฟ้องโจทก์ จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกิน 200 บาท แก่โจทก์ จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4677/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยและยอดชำระหนี้ ผู้ให้กู้ต้องแจ้งให้ผู้กู้ทราบล่วงหน้าตามสัญญา
แม้ตามสัญญากู้ข้อ 3 ให้สิทธิโจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้กู้เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยที่คิดจากจำเลยที่ 1 ได้ตามประกาศของโจทก์ก็ตาม แต่โจทก์ต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้กู้ทราบโดยปิดประกาศไว้ ณ ที่ทำการของโจทก์ผู้ให้กู้ เมื่อตามฟ้องและทางนําสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ทราบ ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่อาจทราบได้ว่าต้องชําระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นและยอดชําระในแต่ละเดือนที่มากขึ้นหรือไม่ ประกอบกับโจทก์ไม่ได้นําสืบว่าได้มีการแจ้งยอดหนี้ค้างชําระให้แก่จำเลยที่ 1 ทราบในแต่ละเดือน ทั้งการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นย่อมส่งผลให้จำเลยที่ 1 ต้องผ่อนชําระหนี้ในยอดเงินที่เพิ่มขึ้นซึ่งตามสัญญาข้อ 4 วรรคท้าย โจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้กู้จะต้องแจ้งให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้กู้ทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือภายในระยะเวลาอันสมควร ทั้งนี้เพื่อให้การชําระคืนเงินตามสัญญาเสร็จภายในเวลาที่ได้กำหนดไว้ข้างต้น ซึ่งการคิดคํานวณอัตราดอกเบี้ย การชําระหนี้ รวมทั้งยอดหนี้ล้วนแต่เป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรู้เห็นของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางด้านการเงิน ดังนั้นโจทก์จึงสามารถตรวจสอบได้ว่าเพื่อให้การชําระหนี้เสร็จสิ้นภายในเดือนกรกฎาคม 2562 โจทก์ต้องเรียกให้จำเลยที่ 1 ชําระเงินคืนในแต่ละเดือนจำนวนเท่าใด ทั้งนี้กำหนดระยะเวลาชําระหนี้ถือว่าเป็นสาระสำคัญของสัญญาซึ่งมีผลต่อการผิดนัดชําระหนี้ตามสัญญา จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่ต้องคิดคํานวณและเรียกชําระเงินคืนจากจำเลยที่ 1 ในแต่ละเดือนที่จะทำให้การชําระหนี้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามสัญญา แต่โจทก์หาได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบล่วงหน้าเพื่อขอหักเงินชําระคืนจำนวนที่มากขึ้นไม่ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามข้อตกลงในสัญญา จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3311/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หลักประกันเพียงพอ แม้ผู้ค้ำประกันลาออก ผู้กู้ไม่ต้องหาหลักประกันเพิ่ม ศาลยกฟ้อง
ตามระเบียบสหกรณ์การเกษตรของโจทก์ ข้อ 14 วรรคสอง ระบุว่า กรณีผู้ค้ำประกันออกจากสหกรณ์ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ นอกจากกำหนดให้ผู้กู้ต้องจัดหาผู้ค้ำประกันใหม่แทนผู้ค้ำประกันที่ลาออกแล้ว ยังได้กำหนดให้ผู้มีสิทธิจัดหาหลักประกันอื่นมาเพิ่มเติมอันเป็นทางเลือกของผู้กู้อีกทางหนึ่งด้วย โดยมีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกันก็คือเพื่อให้ผู้ให้กู้ได้มีหลักประกันเพียงพอครอบคลุมหนี้เงินกู้ที่เหลืออยู่ ปรากฏว่าหลักประกันการกู้เงินของจำเลยที่ 1 มีทั้งหลักประกันด้วยบุคคลและทรัพย์ การประกันด้วยบุคคลนอกจากจำเลยที่ 7 แล้ว ยังมีผู้ค้ำประกันที่เป็นพนักงานของโจทก์อีก 5 คนด้วย โดยตามระเบียบสหกรณ์การเกษตรของโจทก์ ข้อ 14 (4) กำหนดให้พนักงานสหกรณ์ค้ำประกันได้ในวงเงินไม่เกิน 30,000 บาท แสดงว่าโจทก์ตีมูลค่าการค้ำประกันเป็นเงินคนละ 30,000 บาท รวม 5 คน คิดเป็นมูลค่า 150,000 บาท ส่วนหลักประกันด้วยทรัพย์ จำเลยที่ 2 ได้นำที่ดิน 3 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้าง มาจดทะเบียนจำนองประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่เกิดขึ้นแล้วหรือที่จะเกิดภายในวงเงินรวมหลักประกันมีมูลค่ามากกว่าหนี้คงเหลือและดอกเบี้ย ก่อนฟ้องจำเลยที่ 1 ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์เลย แม้ระเบียบสหกรณ์การเกษตรของโจทก์กำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องหาหลักประกันเพิ่มเติมก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าหลักประกันที่เหลืออยู่มีมูลค่าครอบคลุมหนี้เงินกู้ที่เหลือเป็นจำนวนมากเช่นนี้จึงไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จำเลยที่ 1 ต้องจัดหาหลักประกันเพิ่มเติมให้แก่โจทก์อีก กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติครบถ้วนตามเจตนารมณ์ระเบียบดังกล่าวแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 514/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกู้ยืมเงิน: อำนาจฟ้องและการพิสูจน์การชำระหนี้
การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การทำนองเดียวกันว่าหนี้เงินกู้เป็นการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกันเพื่อใช้เป็นเงินทุนในกิจการของจำเลยที่ 1 ปัจจุบันมีการชำระหนี้แล้ว และชั้นพิจารณาจำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสืบทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจตัดสินใจ ในการบริหารงานของจำเลยที่ 1 การตัดสินใจขึ้นอยู่กับ ป. จำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมกู้ยืมเงินกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อตามที่ ป. สั่ง จึงมิได้กระทำการในนามตนเองและมิได้รับเงินหรือประโยชน์ใด ๆ เงินที่กู้ยืมนำไปใช้ในกิจการของจำเลยที่ 1 ถือว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่ามีการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จริงยิ่งกว่านั้นการที่ ป. ลงลายมือชื่อทั้งในช่องผู้กู้และช่องผู้ให้กู้ตามสัญญากู้ยืมเงินและใบรับเงินกู้เอกสารหมาย จ.6 ลงลายมือชื่อช่องผู้ให้กู้ตามสัญญากู้เงินและใบรับเงินกู้เอกสารหมาย จ.7 และลงลายมือชื่ออนุมัติกรณีจำเลยที่ 1 ขอกู้ยืมเงิน 25,500,000 บาท เพื่อนำมาใช้ในการโอนที่ดิน อีกทั้ง ป. ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็ค 2 ฉบับ จากบัญชีโจทก์มอบให้จำเลยที่ 1 แล้วมีการเบิกถอนเงินตามเช็คไปแล้ว แสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้รับเงินไปจากโจทก์แล้ว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินและรับเงินไปจากโจทก์จริง กรณีนี้ไม่จำต้องอาศัยหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญมาแสดงต่อศาลตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1
เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายกล่าวอ้างข้อเท็จจริงว่าได้ชำระหนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 1 มีภาระการพิสูจน์ในเรื่องนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 แต่ตามทางนำสืบของจำเลยที่ 1 คงมีแต่ตัวจำเลยที่ 2 เป็นพยานเพียงปากเดียวเบิกความลอย ๆ ว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้เงินกู้ครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์มิได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ จึงมีรายการหนี้เงินกู้ของโจทก์ค้างอยู่ในงบการเงินของจำเลยที่ 1 โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดตามที่ระบุไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง มาแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว
of 8