คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ภาษีเงินได้นิติบุคคล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 85 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15345/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฯ การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต้องอยู่ภายใต้บังคับประมวลรัษฎากร
เอกสารที่โจทก์ยื่นพร้อมกับแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) ฉบับเพิ่มเติมครั้งที่ 1 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีพิพาท ที่ระบุข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกำไรหรือผลขาดทุนของกิจการโจทก์ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี รวมถึงผลกำไรหรือผลขาดทุนของโครงการโจทก์ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนแต่ละโครงการ เพียงพอให้เจ้าพนักงานประเมินนำมาใช้ในการคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและทำการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ได้ การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินจึงเป็นการประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 18 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 ไม่ได้กำหนดวิธีการคำนวณผลกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนไว้แต่อย่างใด ทั้งประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ ป.13/2541 เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์การใช้สิทธิและประโยชน์ตามมาตรา 36 (4) ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2541 ก็ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้เช่นกัน กรณีการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนไม่ว่ามีการประกอบกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนร่วมด้วย หรือมีการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมากกว่าหนึ่งโครงการก็ตาม ย่อมต้องอยู่ภายใต้บังคับของ ประมวลรัษฎากร พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 มาตรา 31 วรรคสี่ และมาตรา 36 (4) หาได้เป็นบทยกเว้นบทบัญญัติตาม ประมวลรัษฎากร ไม่ ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินภาษีอากรโดยอาศัย ประมวลรัษฎากร จึงชอบแล้ว
เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยประเมินให้โจทก์เสียภาษีอากร แล้วโจทก์ไม่เสียภายในกำหนด ถือเป็นภาษีอากรค้าง จำเลยมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์ได้ ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 12 และมาตรา 31 ซึ่งการยึดย่อมหมายความรวมถึงการนำเอาเงินที่จำเลยต้องคืนให้โจทก์มาหักกลบลบหนี้กับหนี้ภาษีอากรที่โจทก์ค้างจำเลยได้ด้วย แม้โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอทุเลาการเสียภาษีอากร และจำเลยอนุมัติให้ทุเลาการเสียภาษีอากรดังกล่าวแล้ว แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับอนุมัติให้ทุเลาก่อนวันที่มีการหักกลบลบหนี้ ดังนี้ การที่เจ้าพนักงานของจำเลยทำการหักกลบลบหนี้จึงเป็นการปฏิบัติไปตามระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม พ.ศ.2539 ข้อ 25 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5812/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิ่มทุนโดยมีส่วนล้ำมูลค่าหุ้นเพื่อชำระหนี้ก่อนเลิกกิจการ ถือเป็นเงินได้พึงประเมินและรายได้จากกิจการ
แม้โจทก์สามารถออกหุ้นเพิ่มทุนโดยมีราคาสูงกว่ามูลค่าหุ้นที่ตั้งไว้ได้และส่วนล้ำมูลค่าหุ้นต้องนำไปบวกทบเข้าในทุนสำรองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1105 และมาตรา 1202 ก็ตาม แต่การกระทำของโจทก์ที่มีการสร้างขั้นตอนที่ซับซ้อนขึ้นมาก่อนที่จะมีการทำสัญญาปลดเปลื้องและชดใช้หนี้เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อให้เงินที่โจทก์จะได้จากบริษัท อ. หลุดพ้นจากนิยามคำว่า เงินได้พึงประเมินหรือรายได้เนื่องจากการประกอบกิจการ เป็นผลให้ไม่เกิดภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลจากเงินจำนวนดังกล่าว ซึ่งท้ายที่สุดแล้วเงินจำนวนดังกล่าวที่โจทก์ได้รับจากบริษัท อ. จะถูกนำไปชำระหนี้ให้แก่ธนาคารเจ้าหนี้ของโจทก์ก่อนที่โจทก์จะเลิกกิจการ โดยไม่มีลักษณะเป็นการออกหุ้นเพิ่มทุน เพื่อให้กิจการของบริษัทดำเนินต่อไปได้ พฤติการณ์ของโจทก์แสดงให้เห็นว่า สัญญาปลดเปลื้องและชดใช้หนี้ถูกทำขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีให้แก่จำเลย โจทก์จึงไม่ได้ออกหุ้นเพิ่มทุนแบบมีส่วนเกินมูลค่าหุ้นตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของสัญญาปลดเปลื้องหรือชดใช้หนี้ซึ่งเป็นการเพิ่มทุนเพื่อการประกอบธุรกิจตามปกติ แต่เป็นการทำสัญญาปลดเปลื้องหรือชดใช้หนี้เป็นไปตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นของโจทก์ตามแนวทางที่ น. ที่ปรึกษากฎหมายของโจทก์วางแผนไว้ ดังนั้น เงิน 906,296,000 บาท ที่โจทก์ได้รับจากบริษัท อ. โดยอ้างว่าเป็นส่วนล้ำมูลค่าหุ้นจึงมีลักษณะเป็นเงินให้เปล่าหรือเงินช่วยเหลือแก่โจทก์ที่ได้รับจากบริษัท อ. ถือเป็นเงินได้พึงประเมินและเป็นรายได้เนื่องจากกิจการที่โจทก์ต้องนำมารวมคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12538/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประเด็นภาษีเงินได้นิติบุคคล: การปันส่วนดอกเบี้ย, ค่าใช้จ่ายโครงการแฟมิลี่แคร์, และการประเมินผลขาดทุนสุทธิ
ทุนทรัพย์ที่พิพาทในแต่ละเดือนภาษีเป็นแต่ละข้อหาแยกจากกัน เฉพาะเดือนภาษีที่มีทุนทรัพย์ไม่เกินห้าหมื่นบาทต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ มาตรา 25
แม้บทบัญญัติของ ป.รัษฎากรในส่วนของภาษีเงินได้นิติบุคคลมิได้กำหนดนิยามคำว่า "ราคาตลาด" ไว้ แต่เมื่อพิจารณาถึงความหมายในทางการค้าทั่วไปแล้ว คงมีความหมายในทำนองเดียวกันกับ ป.รัษฎากร มาตรา 91/1 (3) ซึ่งเป็นบทบัญญัติในส่วนของภาษีธุรกิจเฉพาะกำหนดนิยามคำว่า "ราคาตลาด" คือ ราคาสินค้าที่มีการซื้อขายกันตามความเป็นจริงทั่วไปในขณะใดขณะหนึ่ง ห้องชุดบางรายการ มีราคาตามสัญญาจะซื้อขายสูงกว่าราคาตามสัญญาซื้อขายที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ตั้งแต่ห้องละประมาณ 30,000 บาท จนถึงประมาณ 800,000 บาท โดยโจทก์ไม่นำสืบให้ปรากฏว่าราคาที่แตกต่างกันนั้นมีเหตุผลให้เป็นเช่นนั้นเพราะเหตุใด จึงไม่น่าเชื่อว่าราคาดังกล่าวเป็นราคาตลาดในขณะนั้นหรือเป็นการทำสัญญาซื้อขายห้องชุดโดยมีราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดโดยมีเหตุผลอันสมควร การที่เจ้าพนักงานประเมินถือเอาราคาประเมินของทางราชการในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทเป็นราคาตลาดจึงชอบด้วย ป.รัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (4) และมาตรา 91/16 (6)
ดอกเบี้ยที่โจทก์จ่ายไปสำหรับเงินที่กู้ยืมมาสร้างอาคารซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อขายเป็นส่วนหนึ่งของมูลค่าต้นทุนจนกว่าอาคารจะก่อสร้างเสร็จพร้อมที่จะขาย เมื่อไม่ปรากฏว่าโครงการของโจทก์ก่อสร้างเสร็จจนพร้อมที่จะขาย ดอกเบี้ยจ่ายที่เกิดขึ้นจึงยังไม่อาจถือเป็นค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารได้ทั้งหมดจนกว่าโจทก์จะปิดโครงการในเดือนสิงหาคม 2542
ค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการแฟมิลี่แคร์เป็นเงินที่โจทก์จ่ายเพื่อช่วยค่าก่อสร้างอาคารศูนย์อภิบาลคนชรา ศูนย์พัฒนาเด็ก สถานที่ออกกำลังกาย และโพลีคลินิกที่ดำเนินการโดยคณะแพทย์โรงพยาบาล ซ. ซึ่งทำให้โจทก์ได้รับประโยชน์โดยได้ปลดเปลื้องภาระหน้าที่ในการรับผิดชอบต่อลูกค้าตามที่โจทก์โฆษณาประชาสัมพันธ์ไว้ แต่กรรมสิทธิ์ในอาคารที่ก่อสร้างมิได้เป็นของโจทก์ กลับเป็นของโรงพยาบาล ซ. รายได้จากศูนย์ดังกล่าวก็เป็นรายได้ของโรงพยาบาล ซ. ทั้งตามทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวเกิดจากการร่วมทุนของโจทก์โดยมีข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในภายหลัง การจ่ายเงินดังกล่าวจึงมิได้มีลักษณะตามหลักเกณฑ์ที่ระบุในข้อ 5 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.61/2539 และไม่มีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคอันจะนำมาถือเป็นมูลค่าต้นทุน จึงไม่อาจนำมาถือเป็นต้นทุนของโครงการในการคำนวณกำไรหรือขาดทุนสุทธิได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8763/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทภาษีอากร: การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และการไถ่ถอนหุ้นกู้
กรณีคำสั่งทางปกครองที่เข้าข้อยกเว้นว่าเป็นเหตุผลที่รู้กันอยู่แล้ว ไม่จำต้องระบุแสดงเหตุผลตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 เจ้าพนักงานออกหมายเรียกตรวจสอบไต่สวนให้โจทก์นำหลักฐานมาแสดง ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ไปพบเจ้าพนักงานหลายครั้ง เจ้าพนักงานแจ้งผลการตรวจสอบให้โจทก์ทราบ ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งการประเมินตามผลการตรวจสอบนั้น และโจทก์อุทธรณ์การประเมินได้ตรงตามการประเมิน จึงเป็นกรณีที่เหตุผลที่ต้องแสดงนั้นเป็นที่รู้กันอยู่แล้ว ไม่จำต้องระบุแสดงเหตุผลอีก
การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เป็นกรณีบังคับผู้จ่ายเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์ใดๆ หักภาษีก่อนจ่ายหรือทันทีที่จ่ายเมื่อนำส่งแก่ผู้รับเงินได้พึงประเมิน โจทก์ล้างบัญชีเพราะบริษัท ซ. เจ้าหนี้เลิกกิจการและชำระบัญชีโดยไม่ทวงถามต้นเงินและดอกเบี้ยจากโจทก์ ฟังได้ว่าโจทก์มิได้จ่ายเงินดอกเบี้ยให้แก่บริษัท ซ. ตามการประเมิน และกรณีมิใช่โจทก์และบริษัท ซ. หักกลบลบหนี้กัน เพราะโจทก์ลงทุนถือหุ้นมิได้เป็นเจ้าหนี้บริษัท ซ. จึงไม่มีหนี้ที่จะหักกลบลบกันได้ระหว่างเงินที่โจทก์กู้ยืมกับเงินลงทุนซึ่งบริษัท ซ. ชำระบัญชีไปแล้ว
โจทก์ปลดหนี้ให้แก่บริษัท ท. และนำจำนวนเงินดังกล่าวไปบวกกลับเป็นรายได้เพื่อคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิในการเสียภาษีแล้ว แสดงว่าไม่ใช่กรณีโจทก์จำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้โดยฝ่าฝืนต่อกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ.2543)
โจทก์ขายหุ้นบริษัท อ. ให้แก่บริษัทในเครือ หุ้นของบริษัท อ. ที่โจทก์ขายยังอยู่ในกลุ่มบริษัทของโจทก์ตามเดิม มิใช่เป็นการขายให้แก่คู่สัญญาที่เป็นอิสระต่อกัน เมื่อข้อมูลและวิธีการหามูลค่าที่แท้จริงของราคาหุ้นไม่น่าเชื่อถือ การขายหุ้นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นที่ดินแดนหมู่เกาะบริติชเวอร์จินให้แก่บริษัทในเครือในราคา 1 ดอลลาร์สหรัฐ จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการขายต่ำกว่าราคาตลาดโดยมีเหตุอันสมควร การที่เจ้าพนักงานประเมินใช้ราคาตามมูลค่าทางบัญชีประเมินภาษีแก่โจทก์จึงมีเหตุผลอันสมควร
การปลดหนี้เป็นผลให้หนี้เงินกู้ระงับไปแล้ว โจทก์ไม่มีรายรับดอกเบี้ยจากเงินกู้ตามการประเมิน จึงไม่มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
หนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิมีข้อความระบุรายการที่ประเมิน เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์การประเมินรายการดังกล่าวจึงเป็นอันยุติตามการประเมิน
หนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคล หนังสือแจ้งเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิ หนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคล และหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะแต่ละเดือนภาษี มีสภาพเป็นคำฟ้องแต่ละข้อหาไม่เกี่ยวข้องกัน สามารถแยกออกจากกันได้ คำฟ้องจึงมีหลายข้อหา การที่ศาลภาษีอากรกลางให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลแยกเป็นรายการตามข้อหาจึงชอบแล้ว
การที่เจ้าพนักงานเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิขึ้นใหม่ทำให้ผลขาดทุนสุทธิน้อยลงไป หากศาลวินิจฉัยให้เพิกถอนการประเมินจะทำให้โจทก์ได้รับประโยชน์ในส่วนภาษีนิติบุคคลที่เปลี่ยนแปลงตามรายการนั้นด้วย ย่อมเป็นคดีมีทุนทรัพย์
การออกหุ้นกู้ของโจทก์เป็นกรณีโจทก์กู้เงินจากผู้ถือตราสารหุ้นกู้และต้องคืนโดยการไถ่ถอนหุ้นกู้ การที่โจทก์ไถ่ถอนหุ้นกู้โดยเจ้าหนี้ยอมรับชำระไม่เต็มจำนวนที่ตราไว้ในตราสารแสดงสิทธิในหุ้นกู้ตามการประเมิน มิใช่เป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ตามมาตรา 91/2 (5) แห่งประมวลรัษฎากร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19074/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคืนภาษีเงินได้นิติบุคคล: เจ้าพนักงานตรวจสอบบัญชีได้ แม้โจทก์อ้างสิทธิในการขอคืน
การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคล เจ้าพนักงานประเมินต้องตรวจสอบบัญชีเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ก่อนว่า ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นโจทก์เสียภาษีถูกต้องหรือไม่ ซึ่งตัวแทนโจทก์ไม่ได้ส่งมอบบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชี อีกทั้งไม่สามารถให้ถ้อยคำเกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัทซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศทั้งสามบริษัทให้เพียงพอแก่การตรวจสอบได้ เจ้าพนักงานประเมินจึงยังไม่สามารถทราบได้แน่ชัดว่าบริษัทต่างประเทศทั้งสามจะได้รับคืนภาษีตามจำนวนที่ขอคืนได้หรือไม่ และกรณีของโจทก์มิใช่เป็นการขอคืนชัดแจ้งซึ่งไม่จำต้องตรวจสอบตามระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการคืนเงินภาษีอากร พ.ศ.2539 ข้อ 13.1 แต่เป็นกรณีที่จำเป็นต้องตรวจสอบบัญชีเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ให้ปรากฏยอดเงินได้สุทธิหรือกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ ตามข้อ 13.2 การที่จำเลยยังไม่อาจคืนภาษีให้ได้จึงยังไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 633/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีรับเหมาช่วงและการหักรายจ่าย
การคำนวณรายได้และรายจ่ายเพื่อหากำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้นจะต้องนำรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นหักด้วยรายจ่ายที่เกี่ยวกับรายได้นั้นตามมาตรา 65 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์ต้องนำรายได้ที่โจทก์ได้รับจากการสร้างถนนมารวมเป็นรายรับของโจทก์และต้องนำรายจ่ายที่บริษัท ศ. ซึ่งได้รับมอบจากโจทก์ให้เป็นผู้ดำเนินการแทนได้จ่ายไปตามโครงการก่อสร้างถนนมาคิดคำนวณเป็นรายจ่ายของโจทก์ด้วย
โจทก์ไม่ได้เป็นผู้ก่อสร้างถนน แต่โจทก์ให้บริษัท ศ. รับช่วงไปทั้งโครงการ โจทก์จึงนำรายจ่ายของบริษัท ศ มาหักได้เท่านั้น ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างของโครงการดังกล่าวเป็นรายจ่ายของโจทก์เองและเป็นรายจ่ายต้องห้าม ภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายต้องห้ามดังกล่าวจึงเป็นภาษีซื้อต้องห้ามไม่ให้นำมาหักในการคำนวณภาษีตามมาตรา 82/3 ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 82/5 (3) แห่งประมวลรัษฎากร
แม้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะคำนวณเบี้ยปรับทุกฐานความผิด แต่ให้เรียกเก็บในกรณีความผิดฐานเดียวกันเพียงอนุมาตราเดียว จึงไม่เป็นการเรียกเก็บเบี้ยปรับซ้ำซ้อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5932/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 71(1) ต้องใช้ดุลพินิจเหมาะสมและเป็นธรรม แม้ผู้เสียภาษีให้ความร่วมมือ
การที่เจ้าพนักงานประเมินจะเลือกใช้อำนาจประเมินตาม มาตรา 71 (1) แห่ง ป.รัษฎากร ต้องเป็นการใช้โดยมีดุลพินิจที่เหมาะสมแก่กรณีและเป็นธรรมด้วย แม้การที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลภายหลังจากการได้รับหมายเรียกตรวจสอบแล้วจะไม่เป็นเหตุให้อำนาจการประเมินตามมาตรา 71 (1) ของเจ้าพนักงานประเมินหมดไป แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าในระหว่างการตรวจสอบไต่สวนโจทก์ให้ความร่วมมือโดยได้ไปให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีหลายครั้ง และส่งมอบเอกสารให้แก่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีของกรมสรรพากรจำเลยที่ 1 จนเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีของจำเลยที่ 1 สามารถคำนวณหากำไรขาดทุนสุทธิจากการประกอบกิจการของโจทก์ได้ ดังนั้น การใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานประเมินที่ประเมินให้โจทก์ต้องเสียภาษีอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ ตามมาตรา 71 (1) แม้จะได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีกรมสรรพากร ก็เป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5932/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 71(1) ต้องมีดุลพินิจที่เหมาะสมและเป็นธรรม การใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยเหตุผลอาจถูกเพิกถอน
หนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล มีลายมือชื่อ ส. (เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี 7) ลงชื่อในฐานะเจ้าพนักงานประเมิน และคำวินิจฉัยอุทธรณ์มีลายมือชื่อ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นผู้แทนอธิบดีกรมสรรพากร ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุดและผู้แทนกรมการปกครอง ลงชื่อในฐานะคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วย มาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 แล้ว
หนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลฉบับพิพาทมีความว่า เนื่องจากการตรวจสอบบัญชีของโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีพิพาทประกอบกับคำให้การของ ธ. ผู้รับมอบอำนาจปรากฏว่า โจทก์มีรายรับจากการประกอบกิจการจำนวน 425,130,516.63 บาท แต่โจทก์ไม่ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.50 ภายในกำหนดเวลาตาม มาตรา 71 (1) แห่งประมวลรัษฎากร อาศัยอำนาจตามมาตรา 71 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ประเมินภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่าย เมื่อปรับปรุงตามเงื่อนไขแห่งประมวลรัษฎากรแล้วโจทก์จะต้องรับผิดชำระค่าภาษีและเงินเพิ่มรวมเป็นเงิน 42,513,051.66 บาท ให้โจทก์นำภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มจำนวนดังกล่าวไปชำระภายใน 30 วัน และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ฉบับพิพาทมีความว่า คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาคำอุทธรณ์ของโจทก์แล้ววินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ เหตุผลที่วินิจฉัยมีว่า ตามหลักฐานและข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ไม่ยื่นรายการซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษีภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร ที่เจ้าพนักงานประเมินใช้อำนาจตามมาตรา 71 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ประเมินเรียกเก็บภาษีจากโจทก์จึงเป็นการถูกต้องแล้วและเงินเพิ่มไม่อาจพิจารณางดหรือลดให้ได้ ถือว่าหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวได้ระบุเหตุผลอันประกอบด้วยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายข้อพิจารณาในการใช้ดุลพินิจในการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน และของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และเพียงพอที่โจทก์จะใช้สิทธิอุทธรณ์ตามกฎหมายได้เต็มที่ ตามสำนวนการตรวจสอบภาษีปรากฏว่า ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ไปพบเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีของจำเลยที่ 1 หลายครั้ง โดยตอบคำถามและนำเอกสารทางบัญชีหลายรายการไปมอบให้ ประกอบกับคำอุทธรณ์ของโจทก์ได้โต้แย้งคัดค้านตรงประเด็น แสดงให้เห็นว่าโจทก์ทราบและเข้าใจเหตุผลในการประเมิน และโจทก์ฟ้องคดีโดยโต้แย้งข้อเท็จจริงข้อกฎหมาย และเหตุผลไว้อย่างละเอียดตรงตามประเด็น และเหตุผลแห่งการประเมินถึงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ จึงฟังได้ว่าหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ฉบับพิพาทชอบด้วย มาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539
มาตรา 71 แห่งประมวลรัษฎากร หาใช่บทบัญญัติที่มีจุดมุ่งหมายเพียงลงโทษบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ไม่ยื่นรายการหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุเท่านั้น แต่ยังมีเจตนารมณ์ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลยื่นแบบแสดงรายการให้ถูกต้องพร้อมทั้งนำเอกสารหรือหลักฐานทางบัญชีแสดงต่อเจ้าพนักงานเพื่อพิสูจน์รายได้รายจ่ายของกิจการด้วย เมื่อผู้เรียกภาษีไม่ยื่นรายการ เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกผู้นั้นมาไต่สวน และออกหมายเรียกพยานกับสั่งให้ผู้ที่ไม่ยื่นรายการหรือพยานนำบัญชีหรือพยานหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาแสดงได้ตามมาตรา 23 และมีอำนาจประเมินตาม มาตรา 24 แห่งประมวลรัษฎากรก็ได้โดยผู้ต้องเสียภาษีต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระ และเสียเงินเพิ่มอีกวันละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสียนั้นด้วยตามมาตรา 26 และ 27 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้นการที่เจ้าพนักงานประเมินจะเลือกใช้อำนาจประเมินตามมาตรา 71 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องเป็นการใช้โดยมีดุลพินิจที่เหมาะสมแก่กรณีและเป็นธรรมด้วย
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนและพิพากษาว่า ให้เจ้าพนักงานประเมินประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีพิพาทใหม่โดยวิธีปกติตาม ป.รัษฎากร มาตรา 24 เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่โจทก์ขอ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนคดีภาษีอากรเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4440/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้นิติบุคคลจากสัญญาแฟรนไชส์ การได้รับประโยชน์ทางภาษีที่ถือเป็นค่าบริการ
สัญญาแฟรนไชส์ ระหว่างโจทก์กับบริษัท พ. ซึ่งเป็นบริษัทต่างประเทศและมิได้เข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทย ในเรื่องการโฆษณา กำหนดให้โจทก์ต้องปฏิบัติภายใต้การควบคุมและดุลพินิจของบริษัท พ. โดยเฉพาะโจทก์ในฐานะผู้รับแฟรนไชส์ไม่มีอิสระที่จะทำการโฆษณาตามรูปแบบและเนื้อหาที่โจทก์ต้องการได้เลย ดังนั้น งบโฆษณาและส่งเสริมการขายที่โจทก์มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบตามสัญญาข้อ 7 แม้โจทก์จะมิได้จ่ายให้แก่บริษัท พ. โดยตรง แต่ก็เป็นประโยชน์ที่บริษัท พ. ได้รับ โดยบริษัท พ. ไม่ต้องไปดำเนินการโฆษณาเอง จึงถือได้ว่าเป็นเงินได้พึงประเมินตามบทนิยามความหมายของ "เงินได้พึงประเมิน" ตามมาตรา 39 แห่ง ป.รัษฎากร
เมื่อตามสัญญาแฟรนไชส์ข้อ 7 กำหนดว่าโจทก์จะต้องใช้งบโฆษณาและส่งเสริมการขายเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 3.5 ของยอดขายรวม แสดงว่าโจทก์ต้องใช้งบโฆษณาและส่งเสริมการขายเช่นว่านี้ตามสัญญาก็เพื่อตอบแทนการที่บริษัท พ. ยินยอมให้โจทก์เป็นผู้รับแฟรนไชส์ กรณีจึงถือได้ว่าบริษัท พ. ได้รับประโยชน์หรือ "เงินได้พึงประเมิน" เช่นว่านี้เป็นส่วนหนึ่งของค่าแฟรนไชส์ที่เข้าลักษณะเป็นค่าแห่งสิทธิอย่างอื่นตามมาตรา 40 (3) และการที่โจทก์จ่ายเงินค่าแฟรนไชส์ที่เข้าลักษณะเป็นค่าแห่งสิทธิอย่างอื่นตามมาตรา 40 (3) ดังกล่าวเช่นนี้ ย่อมเข้าลักษณะเป็นการชำระราคาค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร โจทก์จึงมีหน้าที่นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัท พ. ผู้ประกอบการมีหน้าที่เสียภาษีตาม มาตรา 83/6 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 402/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยวิธีพิเศษตามมาตรา 71(1) และการหักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายออกจากภาษีที่ประเมิน
ป.รัษฎากร มาตรา 71 บัญญัติว่า "ในกรณีที่ (1) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดไม่ยื่นรายการซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้หรือมิได้ทำบัญชีหรือทำไม่ครบตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 17 และมาตรา 68 ทวิ หรือไม่นำบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอื่นมาให้เจ้าพนักงานประเมินทำการไต่สวนตามมาตรา 19 หรือมาตรา 23 เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ หรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ของรอบระยะเวลาบัญชีแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า..." เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจทำการประเมินภาษีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลโดยวิธีพิเศษตามมาตรา 71 (1) ได้เมื่อมีกรณีใดกรณีหนึ่งดังนี้ 1. ไม่ยื่นรายการซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษีตามที่ ป.รัษฎากรกำหนด 2. ไม่ทำบัญชีหรือทำไม่ครบตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 17 และมาตรา 68 ทวิ แห่ง ป.รัษฎากร และ 3. ไม่นำบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอื่นมาให้เจ้าพนักงานประเมินทำการไต่สวนตามมาตรา 19 หรือมาตรา 23 แห่ง ป.รัษฎากร สำหรับกรณีของโจทก์ได้ความว่า โจทก์ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) และรายการซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษีอื่น ภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 68 และมาตรา 69 แห่ง ป.รัษฎากร จึงต้องด้วยกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลโจทก์ตามมาตรา 71 (1) แห่ง ป.รัษฎากร นอกจากนี้ได้ความว่า เจ้าพนักงานประเมินได้ให้โอกาสโจทก์โดยหมายเรียกให้โจทก์ไปพบ และนำบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานไปให้เจ้าพนักงานประเมินทำการไต่สวน แต่โจทก์นำส่งบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานให้ไต่สวนภายหลังที่เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินตามมาตรา 71 (1) แล้ว ทั้งที่โจทก์มีหน้าที่ต้องจัดทำบัญชีต่างๆ รวมถึงต้องเก็บเอกสารหลักฐานประกอบการทำบัญชีดังกล่าวไว้ให้พร้อมเพื่อการตรวจสอบอยู่แล้ว ถือได้ว่าเจ้าพนักงานประเมินได้ให้ความเป็นธรรมแก่โจทก์และปฏิบัติโดยชอบด้วยกฎหมายและคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.78/2541 เรื่องขอบเขตการใช้อำนาจตามมาตรา 71 (1) แห่ง ป.รัษฎากร แล้ว
การคิดเงินเพิ่มตาม ป.รัษฎากร มาตรา 67 ตรี วรรคแรก มิใช่ใช้เฉพาะกับการประเมินภาษีจากกำไรสุทธิโดยวิธีปกติตามมาตรา 65 เท่านั้น แต่ยังใช้กับการประเมินภาษีโดยวิธีพิเศษตามมาตรา 71 (1) ด้วย การที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว
เมื่อรายรับที่โจทก์ถูกหักภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้ ณ ที่จ่ายและนำส่งจำเลยที่ 1 แล้ว เป็นส่วนหนึ่งของรายรับที่เจ้าพนักงานประเมินนำมาใช้ในการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลโจทก์ตามมาตรา 71 (1) แห่ง ป.รัษฎากร จึงต้องนำภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่ายและนำส่งแล้วนั้นมาหักออกจากภาษีเงินได้นิติบุคคลที่โจทก์ต้องชำระตามการประเมินนี้ด้วย โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะเป็นการประเมินโดยวิธีพิเศษตามมาตรา 71 (1) หรือเป็นการประเมินโดยวิธีปกติตามมาตรา 65 หรือไม่ มิฉะนั้นจะเท่ากับโจทก์ถูกเรียกเก็บภาษีจากรายรับหรือรายได้เดียวกันซ้ำซ้อน
of 9