คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สินค้า

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 242 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3620/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลียนแบบเครื่องหมายการค้าจนผู้ซื้อหลงเชื่อ แม้สีและลีลาการเขียนต่างกัน แต่ชื่อเหมือนกัน ถือเป็นความผิดทางอาญา
เครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมและที่จำเลยทำขึ้นใช้คำว่า"KIKADA" เช่นเดียวกัน โดยแถบป้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมใช้ผ้าพื้นสีกรมท่า ตัวอักษรคำว่า KIKADA สีเหลือง ส่วนที่จำเลยทำขึ้นใช้ผ้าพื้นสีขาว ตัวอักษรคำว่า KIKADA สีดำ ซึ่งต่างกันแต่เพียงสีของแถบป้ายกับสีของตัวอักษรและลีลาการเขียนตัวอักษรเท่านั้นแต่ชื่อที่เรียกขานเป็นชื่ออย่างเดียวกัน เครื่องหมายการค้าที่จำเลยทำขึ้นจึงคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม เมื่อนำมาใช้กับสินค้าประเภทเดียวกันแล้วอาจทำให้ผู้ซื้อหลงผิดว่าเป็นสินค้าของโจทก์ร่วมได้ ในความรับผิดทางอาญา หากนิติบุคคลกระทำความผิดนอกจากนิติบุคคลจะต้องรับผิดแล้ว ผู้ที่มีส่วนในการกระทำความผิดย่อมต้องรับผิดด้วย โดยไม่คำนึงว่าผู้นั้นจะเป็นกรรมการของนิติบุคคลหรือไม่เมื่อจำเลยเป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับกิจการของบริษัทก. จำกัดที่ยึดได้เครื่องหมายการค้าที่เลียนแบบโจทก์ร่วมเป็นของกลางจำเลยย่อมมีความผิดทางอาญาด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2930/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งสินค้าล่าช้าและการชดใช้ค่าเสียหายจากความเสียหายของสินค้าอันเกิดจากราคาตลาด
ขณะเกิดข้อพิพาทคดีนี้ พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ยังไม่ได้ประกาศใช้ และไม่ปรากฏจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นเกี่ยวกับการรับขนของทางทะเล ศาลจึงจำต้องวินิจฉัยคดีนี้โดยอาศัยเทียบบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.มาตรา 616 อันเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ.มาตรา 4 คดีนี้จำเลยทราบล่วงหน้าก่อนตกลงรับขนว่าโจทก์ประสงค์จะให้ขนส่งสินค้าของโจทก์โดยเร็ว จึงมีการเปลี่ยนจากเรือ อ.เป็นเรือ ป. แต่ปรากฏว่าเรือ ป.แล่นออกจากประเทศไทยล่าช้าถึง 1 สัปดาห์ จึงทำให้เรือแล่นไปถึงท่าเรือปลายทางต้องล่าช้าไปด้วย ดังนี้ การส่งมอบสินค้าแก่ผู้รับสินค้าปลายทางล่าช้าเป็นเพราะจำเลยเริ่มทำการขนส่งสินค้าล่าช้าเอง มิได้เกิดแต่เหตุสุดวิสัย จำเลยจึงต้องรับผิดในความเสียหายของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 616
ความเสียหายมิได้เกิดจากตัวสินค้าข้าวโพด หากแต่เกิดจากราคาสินค้าข้าวโพดในตลาดไต้หวันตกต่ำลงในขณะที่มีการส่งมอบชักช้า ผู้ซื้อที่ไต้หวันจึงอาจเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การส่งมอบสินค้าข้าวโพดชักช้าผิดเวลานั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 215 เมื่อโจทก์ได้ใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ซื้อไปแล้ว จำเลยผู้ขนส่งจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายนั้นแก่โจทก์ ส่วนค่าเสียหายซึ่งเป็นดอกเบี้ยที่โจทก์ชำระให้แก่ธนาคารในประเทศไทยนั้นไม่ใช่ค่าเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดจากการที่จำเลยส่งมอบสินค้าชักช้า และมิใช่ค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษที่จำเลยได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 เนื่องจากไม่ปรากฏว่าขณะโจทก์และจำเลยทำสัญญารับขนสินค้า และขณะที่จำเลยส่งมอบสินค้าดังกล่าวชักช้า จำเลยได้ทราบอยู่แล้วว่าหากธนาคารในไต้หวันยังไม่จ่ายเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตแก่ธนาคารในประเทศไทย โจทก์จำเป็นต้องขอเบิกเงินค่าสินค้าจากธนาคารในประเทศไทยไปก่อนโดยโจทก์ต้องเสียดอกเบี้ยแก่ธนาคารดังกล่าวด้วย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2601/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินราคาศุลกากรที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยพิจารณาจากราคาตลาดและวันนำเข้าสินค้า
วันนำสินค้าเข้า หมายถึงวันที่ยานพาหนะที่บรรทุกสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร มิใช่วันที่ผู้นำเข้ายื่นใบขนสินค้าเพื่อชำระภาษีอากร เมื่อสินค้าของโจทก์และของบริษัทท.นำเข้าวันเดียวกันโดยเรือลำเดียวกันแม้โจทก์จะยื่นใบขนสินค้าก่อนก็ไม่ถือว่าโจทก์และบริษัทท.ได้นำสินค้าเข้ามาต่างวันกันการเปรียบเทียบราคาสินค้าที่โจทก์นำเข้ากับราคาสินค้าที่บริษัทท.นำเข้าซึ่งได้ยื่นไว้ก่อนโจทก์เป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 2 วรรคสิบสอง จึงถูกต้องแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1651/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ชื่อ/เครื่องหมายการค้าที่คล้ายคลึงกัน สินค้าไม่ถือเป็นของโจทก์หากไม่มีเครื่องหมายการค้าที่ชัดเจน
สินค้าของกลางที่จำเลยนำเข้ามาในราชอาณาจักรและจำหน่ายหรือเสนอจำหน่าย มีคำว่า MITA ซึ่งเป็นชื่อใช้กับสินค้าของโจทก์ร่วม และที่กล่องสินค้ามีข้อความว่า DC-211, 213 RE, 313 Z และ 313 ZD ตรงกับที่กล่องสินค้าของโจทก์ร่วม แต่ผู้ผลิตสินค้าของกลางมิได้เอาคำว่า MITA มาใช้อย่างเครื่องหมายการค้าหรือชื่อในการประกอบการค้าแต่อย่างใด กล่าวคือ สินค้าของกลางบางส่วนไม่มีเครื่องหมายการค้าหรือชื่อในการประกอบการค้าระบุไว้คงมีแต่คำว่า MITA ปะปนอยู่กับคำภาษาอังกฤษอื่นที่สลากสินค้าเท่านั้น และสินค้าของกลางอื่นมีเครื่องหมายการค้าหรือชื่อในการประกอบการค้าระบุไว้ว่า KTN อยู่ในกรอบสามเหลี่ยมต่างกับคำว่า MITA ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้า หรือชื่อในการประกอบการค้าของโจทก์ร่วมอย่างชัดแจ้ง สินค้าของกลางจึงไม่เป็นสินค้าที่มีชื่อหรือข้อความในการประกอบการค้าของโจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 275 ประกอบด้วยมาตรา 272 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1260/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พ้นวิสัยจากเหตุอนุมัติสินค้าไม่อนุมัติจากรัฐบาลต่างประเทศ ไม่เป็นความผิดจำเลย
ข้อตกลงซื้อขายชุดสแครมเบลอร์ยี่ห้อดาต้าคริพเตอร์ทูระหว่างจำเลยกับโจทก์เป็นข้อตกลงหลวม ๆ ไม่มีข้อความระบุรายละเอียดความรับผิดของแต่ละฝ่ายไว้ กำหนดการส่งมอบสินค้าก็ไม่อาจกำหนดเวลาให้แน่ชัดลงไปได้เพราะต้องรอการตรวจสอบ ซึ่งโจทก์ทราบเงื่อนไขข้อนี้เป็นอย่างดี และสินค้าที่ซื้อขายเป็นยุทธปัจจัยการส่งออกจะต้องได้รับอนุมัติจากรัฐบาลประเทศสหรัฐอเมริกาก่อนและโจทก์ทราบอุปสรรคข้อนี้ แต่ก็มิได้ยกเอาเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นข้อสำคัญให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ แต่กลับปรากฏว่าเมื่อการรอคอยคำตอบจากรัฐบาลประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นไปด้วยความล่าช้าโจทก์สอบถามจำเลยเพื่อจะดำเนินการติดต่อซื้อเองโดยตรงจากบริษัทร.ผู้ผลิตซึ่งจำเลยก็บอกว่าโจทก์สามารถทำได้และโจทก์ได้สั่งซื้อเองจึงเห็นได้ว่าโจทก์เองก็ถือว่า การที่รัฐบาลประเทศสหรัฐอเมริกาไม่อนุมัติให้บริษัทร. ขายสินค้าให้โจทก์ จะถือเป็นความผิดของจำเลยมิได้ ต่อมาเมื่อจำเลยแจ้งว่ารัฐบาลประเทศสหรัฐอเมริกาไม่อนุมัติโจทก์ก็ได้ขอแก้ไขสัญญากับกองบัญชาการทหารสูงสุดขอส่งมอบสินค้ายี่ห้ออื่นแทน โดยอ้างว่าการส่งมอบชุดสแครมเบลอร์ยี่ห้อดาต้าคริพเตอร์ทูเป็นการพ้นวิสัยและกองบัญชาการทหารสูงสุดก็ยินยอม โดยไม่ถือเป็นความผิดของโจทก์ดังนี้จึงเห็นได้ว่าโจทก์เองก็ถือว่าการที่รัฐบาลประเทศสหรัฐอเมริกาไม่อนุมัติให้บริษัทร.ส่งชุดสแครมเบลอร์ยี่ห้อดาต้าคริพเตอร์ทูออกนอกประเทศครั้งนี้จะถือเป็นความผิดของฝ่ายใดมิได้ และสาเหตุดังกล่าวก็อยู่นอกเหนืออำนาจของจำเลย ถือได้ว่าภายหลังจากที่ได้ก่อหนี้ขึ้นแล้ว การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยอันมิใช่ความผิดของจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 219

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1101/2537 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความแตกต่างของเครื่องหมายการค้า: การพิจารณาองค์ประกอบโดยรวมและโอกาสสับสน
เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยแม้จะมีอักษรโรมันคำว่า "FRUIT" และรูปผลไม้วางรอบกันอยู่เหมือนกัน แต่เครื่องหมายการค้าของโจทก์ยังมีอักษรโรมันคำว่า "OF THE LOOM" เป็นส่วนประกอบอีกด้วย เมื่อเรียกขานรวมกันแล้วเป็น 4 คำ หรือ 4 พยางค์ คือ "ฟรุ๊ตออฟเดอะลูม" ส่วนของจำเลยเรียกขานเพียงคำหรือพยางค์เดียวคือ "ฟรุ๊ต" หรือ "ฟรุ๊ตส" ดังนั้นอักษรโรมันที่เป็นส่วนประกอบเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยจึงแตกต่างกันอย่างชัดเจนบุคคลธรรมดาที่ไม่สามารถอ่านอักษรโรมันก็สามารถเห็นความแตกต่างกันได้นอกจากนั้นรูปผลไม้ที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยก็ยังต่างกันอีก ทั้งเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีคำว่า "FRUIT THE LOOM" และของจำเลยมีคำว่า "FRUIT" สำหรับรูปแบบแรก และมีคำว่า "FRUITS" สำหรับรูปแบบที่ 2 เป็นส่วนประกอบอีกภาคหนึ่งซึ่งแตกต่างกัน รูปลักษณะของเครื่องหมาย-การค้าของโจทก์และจำเลยโดยส่วนรวมจึงแตกต่างกัน การเรียกขานก็แตกต่างกันด้วยดังนั้น แม้เครื่องหมายการค้าทั้งสองฝ่ายจะใช้กับสินค้าในจำพวกเดียวกันและมีรายการสินค้าครอบคลุมถึงกันก็ตาม แต่เมื่อเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายมีความแตกต่างกันโอกาสที่สาธารณชนจะสับสนหลงผิดย่อมเกิดขึ้นได้ยาก เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยจึงไม่คล้ายกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 859/2536 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การผลิตสินค้าทางภาษีอากร: การแปรรูปลวดเป็นลวดเสียบกระดาษถือเป็นการผลิตและต้องเสียภาษี
ผู้ผลิตตาม ประมวลรัษฎากร มาตรา 77 นั้น รวมถึงการที่ผู้ใดทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้มีขึ้นซึ่งสินค้าไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ ด้วยซึ่งอาจใช้วัตถุดิบของสินค้าเดิมมาทำเป็นสินค้าใหม่โดยไม่แปรเปลี่ยนสภาพของสินค้าเดิมก็ได้ และไม่จำต้องคำนึงว่าสินค้าใหม่นั้นอาจแปรเปลี่ยนกลับคืนมาเป็นสินค้าเดิมได้หรือไม่ การที่โจทก์ใช้ลวดซึ่งเป็นสินค้าเดิมที่โจทก์ซื้อมาเข้าเครื่องปั๊มออกมาเป็นลวดเสียบกระดาษซึ่งเป็นสินค้าใหม่ โดยลวดซึ่งเป็นวัตถุดิบนั้นยังมีสภาพเป็นลวดเช่นเดิมอยู่เพียงแต่ใช้เครื่องปั๊มตัดและดัดงอให้อยู่ในสภาพเป็นของใช้เสียบกระดาษแล้วนำไปจำหน่าย ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ผลิตสินค้าลวดเสียบกระดาษ คำว่า "ของใช้" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525หมายถึง "ของสำหรับใช้" เป็นที่เข้าใจของคนทั่ว ๆ ไปว่าประชาชนทั่วไปที่มีของนั้นอยู่สามารถนำของนั้นไปใช้ประโยชน์ได้ทันทีโดยลำพังไม่ต้องนำไปประกอบกับของสิ่งอื่นเสียก่อน ลวดเสียบกระดาษที่พิพาทผู้ใดมีอยู่ในความครอบครองสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันทีโดยลำพัง จึงเป็นของใช้ตามบัญชี 1 หมวดที่ 9 ท้ายพระราชกฤษฎีกา ออกตามความใน ประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่ 54) พ.ศ. 2517 ลวดเสียบกระดาษผลิตจากโลหะเคลือบจึงเป็นของใช้ผลิตจากโลหะเคลือบอันเข้าลักษณะสินค้าอื่น ๆ ในหมวด 9 บัญชีที่ 1 ท้าย พระราชกฤษฎีกา ดังกล่าวแต่โจทก์ผลิตขายในราชอาณาจักร จึงต้องเสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละ9 ของรายรับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4965/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ในสินค้าโอนเมื่อใด: การส่งมอบและตรวจสอบคุณภาพสินค้าก่อนรับมอบ
เมื่อโจทก์ร่วมสั่งซื้อน้ำยาเคมีสไตรีนโมโนเมอร์สำหรับทำพลาสติกเม็ดจากบริษัท ช.บริษัทช. จะว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดท. ใช้รถยนต์บรรทุกน้ำยาเคมีไปส่งให้โจทก์ร่วม เมื่อรถส่งน้ำยาเคมีมาถึงโรงงานของโจทก์ร่วม เจ้าหน้าที่ตรวจรับนำยาเคมีของโจทก์ร่วมจะชั่งน้ำหนักของรถรวมกับน้ำยาเคมีเสียก่อนหากปรากฏว่าแตกต่างกับน้ำหนักที่ระบุไว้ในใบส่งของเป็นจำนวนมากโจทก์ร่วมจะสอบถามไปยังบริษัท ช. หากชั่งน้ำหนักถูกต้องเรียบร้อยโจทก์ร่วมจะตรวจสอบคุณภาพของน้ำยาเคมีว่าได้มาตรฐานถูกต้องตามความต้องการของโจทก์ร่วมหรือไม่อีก หากถูกต้องจึงจะถ่ายน้ำยาเคมีสู่ถังเก็บน้ำยาของโจทก์ร่วมหากไม่ถูกต้องก็จะให้รถบรรทุกน้ำยาเคมีกลับไป การซื้อขายระหว่างโจทก์ร่วมกับบริษัท ช. จึงเป็นการซื้อขายโดยมีเงื่อนไขว่าโจทก์ร่วมจะรับมอบน้ำยาเคมีต่อเมื่อมีการตรวจสอบน้ำหนักและคุณภาพแล้ว เช่นนี้ กรรมสิทธิ์ในน้ำยาเคมีที่โจทก์ร่วมสั่งซื้อจากบริษัท ช. จะตกเป็นของโจทก์ร่วมเมื่อมีการถ่ายน้ำยาเคมีจากรถบรรทุกลงสู่ถังเก็บน้ำยาของโจทก์ร่วมแล้ว การที่จำเลยซึ่งเป็นพนักงานของห้างหุ้นส่วนจำกัด ท.ขับรถบรรทุกน้ำยาเคมีไปที่โรงงานของโจทก์ร่วม แล้วชั่งน้ำหนักรถรวมกับน้ำยาเคมี ปรากฏว่าน้ำหนักขาดหายไปมาก โจทก์ร่วมไม่อนุญาตให้ถ่ายน้ำยาเคมีลงสู่ถังเก็บของโจทก์ร่วม จำเลยจึงขับรถกลับไปแสดงว่าโจทก์ร่วมยังไม่ได้รับมอบน้ำยาเคมีที่สั่งซื้อ กรรมสิทธิ์ในน้ำยาเคมียังคงเป็นของบริษัท ช. ยังไม่โอนไปยังโจทก์ร่วมโจทก์ร่วมไม่เป็นผู้เสียหายที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยได้เมื่อน้ำยาเคมีหายไป โจทก์ย่อมไม่อาจเรียกให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาน้ำยาเคมีแก่โจทก์ร่วมได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4273/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: การพิจารณาความเหมือน/คล้ายคลึงจนเป็นเหตุให้สับสน และการพิจารณาประเภทสินค้าและกลุ่มผู้บริโภค
เครื่องหมายการค้าของรูปแบบแรกและรูปแบบที่ 2ประกอบด้วยรูปครึ่งม้าครึ่งคน ที่เป็นรูปตัวม้าท่อนล่างกำลังยืนยกขาหน้าทั้งสองข้างขึ้นโดยขาขวางขาซ้ายเหยียดตรงและรูปตัวคนท่อนบนอยู่ในท่าพุ่งหอก ใช้มือขวาถือหอกเงื้อไปข้างหลังส่วนมือซ้ายเหยียดตรงไปข้างหน้าในระดับเดียวกับแขนขา หันหน้าไปทางขวา รูปครึ่งม้าครึ่งคนรูปแบบแรกเป็นลายเส้นโปร่ง ส่วนรูปแบบที่ 2 เป็นรูปทึบ นอกจากนี้รูปแบบแรกยังมีข้อความ ภาษาอังกฤษประดิษฐ์ว่า "E.RemyMartin$Co" บรรทัดหนึ่ง กับอีกบรรทัดหนึ่งมีข้อความภาษาอังกฤษประดิษฐ์อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม ผืนผ้าว่า "REMYMARTIN" ส่วนของจำเลยรูปแบบ แรกและรูปแบบที่ 2เป็นรูปครึ่งม้าครึ่งคนเช่นเดียวกัน ส่วนบนเป็นรูปตัวคนอยู่ ในท่ากำลังพุ่งหอกซึ่งมีหัวหอกเป็นรูปสามเหลี่ยมในลักษณะท่าทาง เหมือนกับรูปเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ส่วนล่างเป็นตัวม้า อยู่ในท่าอย่างเดียวกับของโจทก์คือ ม้ายกขาหน้าทั้งสองข้าง แต่แตกต่างกันตรงที่ว่ารูปม้าของจำเลยเหยียดขาขวาตรง งอขาซ้าย หัน หน้าไปทางซ้าย และหักหอกของจำเลยเป็นรูปสามเหลี่ยม ส่วนรูปม้าของโจทก์งอขาขวาเหยียดขาซ้ายหันหน้าไปทางขวาและหัวหอกของโจทก์เป็นปลายเส้นตรง นอกจากนี้รูปครึ่งม้าครึ่งคน ของจำเลยมีส่วนบนเป็นลายเส้นเกือบทึบ ส่วนของโจทก์เป็นลายเส้น สำหรับรูปแบบแรก และเป็น รูปทึบสำหรับรูปแบบที่ 2 ยิ่งกว่านั้น รูปครึ่งม้าครึ่งคนของจำเลยยังอยู่ภายในวงกลม 4 วง มีลวดลาย คล้ายดอกไม้ล้อมรอบสำหรับรูปแบบแรก และอยู่ภายในวงกลม 1 วง ซึ่งมีช่อ ดอกไม้รองรับและยังมีคำว่า "ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยน้ำไทย" อยู่ด้านบน และมีคำว่า "ตราม้าเทวดา" อยู่ด้านล่างของ รูปครึ่งม้าครึ่งคนสำหรับรูปแบบที่ 2 เครื่องหมายการค้า ของโจทก์รูปแบบแรกใต้รูปครึ่งคนครึ่งม้ายังมีข้อความ ภาษาอังกฤษประดิษฐ์ว่า "E.RemyMartin$Co" บรรทัดหนึ่ง และมีคำว่า MEMYMARTIN" อีกบรรทัดหนึ่ง อยู่ในกรอบ สี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งเป็นชื่อบริษัทโจทก์ และตัวอักษรนี้ก็เป็น ชื่อเรียกสินค้าของโจทก์ว่า "เรมี่มาร์แตง" จนเป็น ที่เข้าใจกันทั่วไป ประกอบกับเมื่อเทียบขนาดและสัดส่วนของตัวอักษรคำว่า "REMYMARTIN" กับรูปภาพครึ่งม้าครึ่งคนแล้ว ปรากฏว่าตัวอักษรมีขนาดใหญ่กว่ารูปภาพ ตัวอักษรคำว่า"REMYMARTIN" จึงมีลักษณะเด่น และมีความสำคัญยิ่งกว่ารูปภาพดังกล่าว โจทก์เพิ่งมาจดทะเบียนเฉพาะรูปครึ่งม้าครึ่งคนในท่าพุ่งหอก สำหรับรูปแบบที่ 2 ภายหลังจากที่จำเลยได้รับการจดทะเบียน รูปม้าครึ่งคนของจำเลยรูปแบบแรก และสินค้าสุราของโจทก์ที่ส่ง เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยตามใบส่งสินค้า ก็ระบุว่าเป็น บรั่นดีเรมี่มาร์แตง ไม่ปรากฏว่าคนไทยเรียกสินค้าของโจทก์ ว่าสุราตราครึ่งม้าครึ่งคนพุ่งหอกแต่อย่างใด ส่วนเครื่องหมาย การค้ารูปแบบที่ 2 ของจำเลยยังมีคำว่า "ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยน้ำไทย ตราม้าเทวดา" แตกต่างกับคำว่า "REMYMARTIN" ซึ่งเป็น ชื่อเรียกขานสินค้าของโจทก์ เมื่อประชาชนไม่เห็นคำว่า "REMYMARTIN" อยู่ด้วยย่อมเข้าใจได้ทันทีว่าสินค้าที่พบเห็น นั้นมิใช่สินค้าของโจทก์ ทั้งสินค้าของจำเลยก็เป็นจำพวกปุ๋ย ซึ่งมิใช่สินค้าที่เกี่ยวข้องกับสินค้าจำพวกสุราดังเช่นของโจทก์ ที่แพร่หลายอยู่แล้วผู้บริโภคสินค้าของโจทก์และของจำเลย เป็นหลักก็เป็นผู้บริโภคคนละกลุ่มกัน จึงไม่ทำให้เห็นว่า จำเลยมีเจตนาจะใช้เครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้าย เครื่องหมายการค้าของโจทก์ เพื่อลวงผู้ซื้อและประชาชน ให้หลงผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์หรือโจทก์ มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยหรือทำให้ผู้ซื้อและประชาชนหลงผิด ในแหล่งกำเนิดของสินค้าแต่อย่างใด เครื่องหมายการค้าของโจทก์ กับเครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่เหมือนหรือคล้ายกันจนถึง นับได้ว่าเป็น การลวงสาธารณชนให้สับสน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 402/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดจากรถยนต์ที่เช่าซื้อร่วมกัน และการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากความเสียหายของสินค้าที่บรรทุก
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกคันที่เกิดเหตุชนกับรถของโจทก์ การส่งหมายนัดให้แก่จำเลยที่ 2 ที่บ้านเลขที่ 24 หมู่ที่ 11 ตำบลเขาสวนกวางอำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น ไม่พบจำเลยที่ 2 คงพบแต่ภรรยาจำเลยที่ 2 แจ้งว่าจำเลยที่ 2 ชื่อนายประกิตศิริโคจรสมบัติไม่ใช่ประจำ ศิริโคจรสมบัติ ตามที่ปรากฏในฟ้องและหมายนัดต่อมาจำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ปรากฏว่านายประกิตอยู่ที่บ้านเลขที่ 24 หมู่ที่ 4 ตำบลเขาสวนกวางอำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น และนายประกิต กับจำเลยที่ 1ได้ร่วมกันเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าว ถือได้ว่าโจทก์บรรยายฟ้องตรงตามทางพิจารณา คงระบุชื่อผิดจากนายประกิตเป็นนายประจำไป ผู้รับผิดที่แท้จริงคือเจ้าของรถยนต์บรรทุก แม้โจทก์จะไม่ได้แก้ชื่อให้ถูกต้อง แต่ในฟ้องก็บรรยายให้เจ้าของรถยนต์บรรทุกรับผิดอยู่แล้ว นายประกิตเจ้าของรถยนต์บรรทุกที่แท้จริงต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์บรรยายฟ้องว่า รถของโจทก์บรรทุกน้ำปลาเพื่อไปส่งลูกค้า ลูกจ้างของจำเลยขับรถชนรถโจทก์โดยละเมิด เมื่อรถโจทก์ถูกชน รถโจทก์เสียหายหลายประการ รวมทั้งน้ำปลา ขวดน้ำปลาและลังบรรจุน้ำปลาแตกหักเสียหาย ฟ้องโจทก์พอเข้าใจแล้วว่าน้ำปลาและลังซึ่งอยู่ในความครอบครองของโจทก์เสียหายเนื่องจากการกระทำละเมิดของลูกจ้างจำเลย ส่วนโจทก์จะได้รับชดใช้ค่าเสียหายในฐานะใดเป็นเรื่องรายละเอียดที่โจทก์จะนำสืบได้ในชั้นพิจารณาฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
of 25