คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
หมายเรียก

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 77 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15503/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคดีใหม่ในคดีล้มละลาย: กำหนดเวลาการยื่นคำร้องและผลของการส่งหมายเรียก
กระบวนพิจารณาในกรณีขอให้พิจารณาคดีใหม่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 และการยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 จัตวา บัญญัติให้ยื่นต่อศาลภายในสิบห้าวันนับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การ ซึ่งในคดีล้มละลายแม้จะไม่มีการส่งคำบังคับให้แก่จำเลยดังเช่นในคดีแพ่งก็ตาม แต่การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหมายเรียกไปยังจำเลยเพื่อไปให้การเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สิน ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 117 ถือเสมือนว่าเป็นการส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ซึ่งจำเลยมีสิทธิยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่ได้รับหมายเรียกดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13165/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคดีแรงงาน: การส่งหมายเรียกโดยชอบ และกรอบเวลาการขอพิจารณาคดีใหม่ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานฯ
กรณีที่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ได้บัญญัติไว้แล้วอย่างไรต้องบังคับไปตามนั้น จะนำ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับไม่ได้เพราะ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ให้นำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานโดยอนุโลมได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 เท่านั้น
ประเด็นแห่งคดีนี้ในการขอพิจารณาคดีใหม่คือจำเลยมีความจำเป็นที่ไม่อาจมาศาลได้ในวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์หรือไม่ ซึ่งต้องพิจารณาเสียก่อนว่าจำเลยได้รับหมายเรียกให้มาศาลตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 37 โดยชอบหรือไม่ การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการส่งหมายให้จำเลยชอบแล้วมีผลทางกฎหมายว่าจำเลยรู้ว่าตนถูกฟ้องคดี เท่ากับศาลแรงงานกลางวินิจฉัยประเด็นที่ว่าจำเลยรู้หรือไม่รู้ว่าถูกฟ้องคดีแล้วนั่นเอง
เมื่อศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาแล้ว ศาลแรงงานกลางกำหนดวันเวลานัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์โดยออกหมายเรียกให้จำเลยมาศาลในวันเวลานัดพร้อมส่งสำเนาคำฟ้องให้จำเลยโดยวิธีปิดหมายโดยชอบ ถือว่าจำเลยได้รับหมายเรียกให้มาศาลตามมาตรา 37 แล้ว เมื่อจำเลยไม่มาตามกำหนดโดยไม่แจ้งให้ศาลแรงงานทราบเหตุที่ไม่มา และศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดและพิจารณาตัดสินคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาตามมาตรา 40 วรรคสอง จำเลยจึงต้องยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดตามมาตรา 41 เมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่เกินระยะเวลาดังกล่าว ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15106/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหมายเรียกจำเลยร่วมในคดีผิดสัญญาซื้อขาย และการพิพากษาเกินคำฟ้อง
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ แต่จำเลยผิดสัญญา ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และรับเงินส่วนที่เหลือ คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขายหรือไม่ การที่โจทก์ขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีโดยอ้างว่า หลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้วจำเลยได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยร่วมนั้น เป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยและจำเลยร่วมโต้แย้งสิทธิของโจทก์ขึ้นมาใหม่ซึ่งไม่เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทดังกล่าว โดยคำร้องแสดงเหตุเพียงว่า จำเลยมีทางแพ้คดีซึ่งโจทก์อาจฟ้องจำเลยร่วมเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทน แต่การที่จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้จำเลยร่วมนั้น หาได้ทำให้โจทก์มีสิทธิไล่เบี้ยหรือให้จำเลยร่วมใช้ค่าทดแทนตามความหมายแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ก) ไม่ และแม้การกระทำดังกล่าวอาจทำให้โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 แต่โจทก์มิได้กล่าวในคำร้องว่า จำเลยและจำเลยร่วมสมคบกันโอนที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริตทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ และมิได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท อีกทั้งมิใช่กรณีที่กฎหมายบังคับให้บุคคลภายนอกเข้ามาในคดี หรือศาลเห็นจำเป็นให้เรียกบุคคลภายนอกคดีเข้ามาเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงไม่อาจแปลความว่าคำร้องของโจทก์ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ข) โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีได้ การที่ศาลชั้นต้นหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีและศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้จำเลยร่วมทั้งรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ และให้เพิกถอนการโอนดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องอำนาจฟ้องอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยร่วมมิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
แม้ระหว่างพิจารณาได้มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้จำเลยร่วมไปแล้ว แต่สภาพแห่งหนี้อาจไม่เปิดช่องให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ได้ จึงต้องกำหนดในคำพิพากษาไว้ด้วยว่า หากสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ได้ ก็ให้จำเลยคืนเงินที่รับไปพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ กรณีไม่เป็นการพิพากษาเกินคำฟ้องเพราะโจทก์มีคำขอบังคับในส่วนนี้มาท้ายคำฟ้องด้วยแล้ว ส่วนที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมด ทั้งที่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องและมีคำขอบังคับมาท้ายฟ้องนั้น เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 703/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกตรวจสอบภาษี และผลกระทบต่อการอุทธรณ์การประเมิน
เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 มีหนังสือเชิญหุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ไปพบ แต่โจทก์อ้างว่ายังรวบรวมเอกสารไม่เสร็จ จึงไม่ได้ไปพบโดยมิได้แจ้งพนักงานของจำเลยที่ 1 ทราบ ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินได้ออกหมายเรียกให้หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ไปพบเพื่อให้ถ้อยคำประกอบการตรวจสอบไต่สวนและให้นำเอกสารหลักฐานตามที่กำหนดไปส่งมอบ ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ได้โทรศัพท์ไปขอเลื่อนนัดถึง 3 ครั้ง โดยอ้างว่าอยู่ระหว่างการประสานงานกับสำนักงานบัญชีเกี่ยวกับเอกสารที่จะต้องนำไปส่งมอบ เจ้าพนักงานประเมินได้มีหนังสือเตือนให้โจทก์ปฏิบัติตามหมายเรียก แต่หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ก็มิได้ไปพบหรือส่งมอบเอกสารแต่อย่างใด หลังจากนั้นเจ้าพนักงานประเมินจึงได้ออกหนังสือเชิญพบอีก 2 ครั้ง เพื่อรับทราบผลการตรวจสอบภาษี แต่หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ก็มิได้ไปพบ พฤติการณ์ของโจทก์ที่เพิกเฉย เป็นการไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรตามมาตรา 88 (3) แม้โจทก์นำส่งเอกสารในชั้นพิจารณาอุทธรณ์ก็เป็นคนละขั้นตอนกับในชั้นตรวจสอบ เมื่อเจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งการประเมินไปยังโจทก์การประเมินจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามมาตรา 88/5

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6132/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การออกหมายเรียกตรวจสอบภาษี: ระยะเวลา และการได้รับแจ้ง
เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกทั้งสองฉบับ โดยอาศัยอำนาจตาม ป.รัษฎากร มาตรา 19 เนื่องจากเป็นกรณีโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไว้ไม่ถูกต้อง และในกรณีที่มีการแสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ กฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินในการออกหมายเรียกเพื่อตรวจสอบภาษีได้ โดยมิได้มีข้อจำกัดว่าจะนำเอกสารที่ได้จากการตรวจค้นและยึดเอกสาร โดยเจ้าพนักงานตำรวจมาเป็นเหตุในการออกหมายเรียกไม่ได้
การออกหมายเรียก ป.รัษฎากร ตาม มาตรา 19 จะต้องกระทำภายในเวลาสองปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ เมื่อเจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียก ลงวันที่ 26 มีนาคม 2547 เพื่อตรวจสอบภาษีอากรสำหรับปีภาษี 2544 และปีภาษี 2545 กรณีย่อมถือว่าวันที่มีการออกหมายเรียกคือวันที่ 26 มีนาคม 2547 เมื่อโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2544 ในวันที่ 28 มีนาคม 2545 และสำหรับปีภาษี 2545 ในวันที่ 31 มีนาคม 2546 การออกหมายเรียกดังกล่าวจึงได้กระทำภายในเวลาสองปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ ส่วนเมื่อมีการออกหมายเรียกแล้วจะส่งให้โจทก์ได้โดยวิธีใดและถือว่าโจทก์ได้รับหมายเรียกเมื่อใด ย่อมเป็นไปตามมาตรา 8 แห่ง ป.รัษฎากร การส่งหมายเรียกจึงเป็นคนละกรณีกับการออกหมายเรียก ย่อมไม่อาจนำเอาวันที่มีการส่งหมายเรียกได้โดยชอบตามมาตรา 8 มาถือว่าเป็นวันที่มีการออกหมายเรียกตามมาตรา 19

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 578/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อากรแสตมป์ไม่ใช่ภาษีอากรประเมิน พนักงานเจ้าหน้าที่เรียกเก็บได้โดยไม่ต้องออกหมายเรียก และการประเมินถูกต้องตามกฎหมาย
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 14 บัญญัติว่า "ภาษีอากรประเมิน คือที่มีระบุไว้ในหมวดนั้น ๆ ว่าเป็นภาษีอากรประเมิน" และมาตรา 15 บัญญัติว่า "เว้นแต่จะมีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในหมวดต่าง ๆ แห่งลักษณะนี้ ให้ใช้บทบัญญัติในหมวดนี้บังคับแก่การภาษีอากรประเมินทุกประเภท" แต่ในหมวด 6 มิได้ระบุว่า อากรแสตมป์เป็นภาษีอากรประเมินและไม่มีบทบัญญัติว่าไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้น อากรแสตมป์จึงไม่ใช่ภาษีอากรประเมินจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 19 ประกอบกับมาตรา 123 กำหนดเพียงว่า เมื่อมีเหตุสมควร พนักงานเจ้าหน้าที่หรือนายตรวจมีอำนาจเข้าทำการตรวจค้นสถานที่เพื่อทำการตรวจสอบ กับมีอำนาจเรียกและยึดเอกสาร และออกหมายเรียกตัวผู้มีหน้าที่เสียอากร ผู้ทรงตราสาร หรือผู้ถือ เอาประโยชน์แห่งตราสารและพยานหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาไต่สวนได้ บทบัญญัติดังกล่าวจึงไม่ใช่บทบังคับให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือนายตรวจต้องใช้อำนาจออกหมายเรียกเสมอไป แต่เป็นดุลพินิจของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือนายตรวจว่ามีเหตุสมควรที่จะใช้อำนาจในการออกหมายเรียกตามมาตราดังกล่าวหรือไม่ พนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์จึงมีอำนาจเรียกเก็บอากรแสตมป์ได้โดยไม่ต้องออกหมายเรียกตรวจสอบไต่สวนก่อน
เมื่ออากรแสตมป์ไม่ใช่ภาษีอากรประเมินจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 18 ตรี ที่กำหนดให้เวลาในการชำระเงินไม่น้อยกว่า 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้ง ประกอบกับการเรียกเก็บอากรแสตมป์ดังกล่าวสืบเนื่องจากการกล่าวหาของกรมที่ดิน ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 114 และ 115 และตามมาตราดังกล่าวไม่ได้บัญญัติระยะเวลาชำระอากรไว้ดังเช่นมาตรา 18 ตรี การที่หนังสือแจ้งให้เสียค่าอากรและค่าเพิ่มอากรให้เวลาชำระเงินภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ จึงชอบแล้ว และเป็นคนละกรณีกับระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์คำสั่งให้เรียกเก็บอากรแสตมป์ ซึ่งมาตรา 115 วรรคสอง กำหนดให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการอุทธรณ์ตามส่วน 2 หมวด 2 ลักษณะ 2 มาใช้บังคับโดยอนุโลม โจทก์จึงยังคงมีระยะเวลาในการอุทธรณ์คำสั่งได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งให้เสียค่าอากรและค่าเพิ่มอากรตามมาตรา 30 ประกอบมาตรา 115 วรรคสอง
โจทก์มุ่งประสงค์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านให้แก่ ก. และ ก.ชำระราคาให้แก่โจทก์ อันเป็นเจตนาของคู่สัญญาในการตกลงทำสัญญาซื้อขายกัน ต่อมา ก. ได้นำหนังสือมอบอำนาจของโจทก์พร้อมหนังสือยินยอมของ ว. ไปดำเนินการจดทะเบียนให้ที่ดินพร้อมบ้านแก่ ก. โดยความรู้เห็นของโจทก์ และโจทก์ก็ได้รับชำระราคาจาก ก. หนังสือสัญญาให้ที่ดินพร้อมบ้านจึงเป็นหลักฐานแสดงว่า ก. ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้าน และโจทก์จะได้รับชำระราคาจาก ก. หนังสือสัญญาให้ที่ดินดังกล่าวซึ่งได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินจึงเป็นตราสารใบรับที่ต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้าย ป.รัษฎากร ข้อ 28 (ข)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3591/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีมรดกอย่างถูกต้อง: การส่งหมายเรียกและแจ้งสิทธิแก่ทายาทและผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด
เดิมผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องอย่างคดีไม่มีข้อพิพาท ขอให้ตั้งผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของ ร. ผู้ตาย โดยมีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา คือพินัยกรรมของ ร. ฉบับลงวันที่ 6 ธันวาคม 2557 ซึ่งพินัยกรรมระบุให้ผู้ร้องทั้งสองเป็นทายาทตามพินัยกรรม และให้ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งประกาศตามคำร้องของผู้ร้องทั้งสองโดยชอบ ต่อมาผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านโดยมีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา คือสิทธิในฐานะทายาทโดยธรรมเพียงคนเดียวของผู้ตาย มีคำขอบังคับให้เพิกถอนพินัยกรรม อ้างว่าผู้ตายทำพินัยกรรมจริง แต่ทำโดยการใช้กลฉ้อฉลและสำคัญผิด ตกเป็นโมฆะ และผู้ร้องทั้งสองมิใช่ทายาทโดยธรรม หรือผู้มีส่วนได้เสีย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำคัดค้านว่ารับคำคัดค้าน สำเนาให้ผู้ร้องทั้งสอง จึงให้ดำเนินคดีไปอย่างคดีมีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 ซึ่งบัญญัติว่า "ในคดีที่ไม่มีข้อพิพาท ให้ใช้ข้อบังคับดังต่อไปนี้ (1) ให้เริ่มคดีโดยการยื่นคำร้องขอต่อศาล ...(4) บุคคลอื่นใดนอกจากคู่ความที่ได้ยื่นฟ้องคดีอันไม่มีข้อพิพาทได้เข้ามาเกี่ยวข้องในคดีโดยตรงหรือโดยอ้อม ให้ถือว่าบุคคลเช่นว่านี้มาเป็นคู่ความ และให้ดำเนินคดีไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยคดีอันมีข้อพิพาท..." ซึ่ง ป.วิ.พ. มีบทบัญญัติเกี่ยวกับคดีมีข้อพิพาทไว้ในภาค 2 ลักษณะ 1 มาตรา 170 ถึงมาตรา 188 เมื่อคำคัดค้านของผู้คัดค้านมีคำขอบังคับเป็นประเด็นสำคัญสองประการคือ 1. ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนพินัยกรรมของผู้ตายโดยกล่าวอ้างว่าพินัยกรรมตกเป็นโมฆะ ด้วยเหตุการใช้กลฉ้อฉล และสำคัญผิด เท่ากับผู้คัดค้านโต้แย้งสิทธิโดยตรงต่อทายาทตามพินัยกรรมทุกคน เพราะหากฟังได้ตามคำคัดค้านเท่ากับทายาทตามพินัยกรรมย่อมไม่ได้รับสิทธิที่ระบุไว้ในพินัยกรรม คำคัดค้านของผู้คัดค้านจึงเท่ากับเป็นคำฟ้องต่อทายาทตามพินัยกรรมทุกคน และเป็นฟ้องแย้งต่อผู้ร้องทั้งสองด้วย ทั้งกรณีจะถือว่าผู้ร้องทั้งสองเป็นตัวแทนของทายาทตามพินัยกรรมทุกคนก็มิได้ เนื่องจากยังไม่มีการตั้งผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านนำส่งหมายเรียกพร้อมสำเนาคำคัดค้านต่อทายาทตามพินัยกรรมทุกคนและผู้ร้องทั้งสองเพื่อให้การต่อสู้คดี 2. ผู้คัดค้านมีคำขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โดยอ้างสิทธิในฐานะทายาทโดยธรรมแต่เพียงผู้เดียว เมื่อปรากฏตามบัญชีเครือญาติเอกสารท้ายคำร้องของผู้ร้องทั้งสองว่ายังมีทายาทที่มีสิทธิได้รับมรดกแทนที่อีก 7 คน รวมถึงผู้ร้องสอดในคดีด้วย และอาจยังมีทายาทโดยธรรมอื่นที่ยังไม่ปรากฎ รวมถึงอาจมีผู้มีส่วนได้เสียอื่นอีก ซึ่งบุคคลเหล่านี้ย่อมมีสิทธิโดยชอบที่จะเข้ามาในคดี เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ดำเนินคดีอย่างคดีมีข้อพิพาทแล้ว ชอบที่จะสั่งให้ผู้คัดค้านส่งหมายนัดพร้อมสำเนาคำคัดค้านให้ทายาทโดยธรรมทุกคนตามรายชื่อที่ปราฏในขณะนั้น รวมถึงให้มีการประกาศสาธารณะคำคัดค้านเพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียอื่นที่อาจมีได้ทราบและเข้ามาปกป้องสิทธิ กรณีถือว่าศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม และเป็นกรณีเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการส่งคำคู่ความและการพิจารณาคดี อาศัยอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบมาตรา 246 และ 252 เห็นควรให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาและให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่
of 8