คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
หุ้นส่วน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 346 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 548/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวินิจฉัยความรับผิดของจำเลยที่ 1 ในฐานะหุ้นส่วนนอกประเด็น และการคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยเมื่อผู้ขับขี่มีใบอนุญาต
โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดเนื่องจากพ. เป็นผู้ขับรถของจำเลยที่ 1 และขณะเกิดเหตุปฏิบัติงานในกิจการของจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าโจทก์มุ่งหมายให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิด ในฐานะที่ พ. เป็นตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ไม่อาจแปลว่ามุ่งหมายให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดในฐานะหุ้นส่วนของ พ. ด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดีว่า พ. ไม่ใช่ลูกจ้างปฏิบัติงานใน ทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 และศาลชั้นต้นกำหนด ประเด็นพิพาทในชั้นชี้สองสถานเพียงว่า พ. เป็นลูกจ้างของจำเลย ที่ 1 และกระทำในทางการที่จ้างหรือไม่ โจทก์ก็มิได้โต้แย้งคัดค้าน คดีจึงมีประเด็นพิพาทในส่วนที่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 1 เพียงเท่าที่ศาลชั้นต้นกำหนด การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลย ที่ 1 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์เนื่องจากเป็นหุ้นส่วนกับ พ.และพ. ก่อเหตุละเมิดขณะกระทำภายในขอบวัตถุประสงค์ของหุ้นส่วนจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น กรมธรรม์ประกันภัยมีเงื่อนไขยกเว้นไม่คุ้มครองความรับผิด อัน เกิดจากการขับขี่โดยบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ขับรถยนต์ตาม กฎหมายหรือเคยได้รับแต่ถูกตัดสิทธิตามกฎหมาย การมีเงื่อนไขดังกล่าว ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่มีความสามารถทำการขับรถยนต์ที่เอาประกันภัยเพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย อันจะทำให้จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยต้องเสี่ยงภัยมากขึ้น เมื่อ พ. ได้รับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ของกรมตำรวจย่อมมีความรู้ความสามารถในการขับรถยนต์ได้ แม้ไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถของกรมการขนส่งทางบก ก็จะถือว่า เป็นการผิดเงื่อนไข ในกรมธรรม์ประกันภัยมิได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 529/2535 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเงินกู้ที่ไม่สมบูรณ์และข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วน การพิจารณาเจตนาที่แท้จริงของสัญญา
จำเลยชอบที่จะนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่า สัญญากู้ไม่มีผลผูกพันเพราะโจทก์จำเลยทำขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานคุ้มครองเงินของโจทก์ ที่นำไปช่วยลงทุนค้าขายน้ำแข็งก้อนกับจำเลยได้ไม่เป็นการสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างเมื่อได้นำสัญญากู้มาแสดงแล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญาอยู่อีก ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 เพราะเป็นการนำสืบว่าสัญญากู้ยืมไม่สมบูรณ์นั่นเอง และเมื่อทางพิจารณารับฟังได้ว่าโจทก์จำเลยเข้าหุ้นกันเปิดกิจการค้าน้ำแข็งก้อน สัญญากู้เป็นเพียงหลักฐานคุ้มครองเงินของโจทก์ที่นำไปร่วมลงทุนค้าน้ำแข็งก้อนกับจำเลยเท่านั้น กรณีก็มิใช่เป็นการกู้ยืมดังฟ้องโจทก์.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2779/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของนายจ้างและหุ้นส่วนทางธุรกิจต่อความเสียหายจากอุบัติเหตุทางละเมิดของลูกจ้าง
จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของ ท. สามีจำเลยที่ 2 ได้ขับรถคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของ ท. เมื่อรายได้จากกิจการเดินรถคันดังกล่าวท. ได้นำมาใช้จ่ายในครอบครัว แม้ค่าเช่าซื้อรถก็ใช้เงินที่มีอยู่ในครอบครัวที่สะสมไว้ จึงเป็นการดำเนินกิจการร่วมกัน จำเลยที่ 2 ย่อมเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และเป็นหุ้นส่วนของ ท. ผู้เป็นสามีด้วย จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดชำระค่าเสียหายในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2578/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของหุ้นส่วนในสัญญาเช่า และฟ้องซ้อนเกี่ยวกับค่าน้ำค่าไฟ
คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยว่าผิดสัญญาเช่าโดย ไม่ชำระค่าเช่าจึงขอให้ขับไล่จำเลย ให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างและค่าเสียหายคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าเกี่ยวกับการเช่าดังกล่าวโจทก์จำเลยตกลงกันด้วยวาจาว่าโจทก์ยอมให้จำเลยใช้น้ำประปาและไฟฟ้า แต่จำเลยต้องเป็นผู้ชำระเงินค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้า จำเลยไม่ชำระค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าบางเดือน โจทก์ได้ชำระแทนไปแล้ว จึงขอให้บังคับจำเลยชำระเงินที่โจทก์ได้ชำระแทนไปข้อตกลงเรื่องโจทก์ยินยอมให้จำเลยใช้น้ำประปาและไฟฟ้าโดย จำเลยเป็นผู้ชำระเงิน เป็นข้อตกลงต่างหากจากสัญญาเช่า มิใช่เรื่องเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องคดีแรก ไม่เป็นฟ้องซ้อน หุ้นส่วนที่จะฟ้องบังคับบุคคลภายนอกในกิจการค้าของห้างหุ้นส่วนสามัญได้จะต้องเป็นผู้มีชื่อในกิจการค้านั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1049 การฟ้องคดีจึงไม่จำเป็นต้องลงชื่อบรรดาผู้ถือหุ้นทุกคน เมื่อตามสัญญาเช่ามีแต่ชื่อโจทก์ที่ 1 ไม่มีชื่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่อาจถือสิทธิใด ๆ แก่จำเลยในการเช่า และไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3301/2534 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของหุ้นส่วนในหนี้ภาษีและการอุทธรณ์การประเมินที่ชอบด้วยกฎหมาย
ประมวลรัษฎากร มาตรา 21 บัญญัติให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินเงินภาษีอากรและแจ้งจำนวนเงินซึ่งต้องชำระไปยังผู้ต้องเสียภาษีอากร เมื่อปรากฏว่าผู้ต้องเสียภาษีอากรคือจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งการประเมินไปยังจำเลยที่ 1 แล้ว แม้มิได้แจ้งการประเมินให้จำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ทราบก็เป็นการประเมินที่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อหนี้ที่ให้รับผิดเป็นหนี้ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่จำเลยที่ 2 ออกจากหุ้นส่วนไปยังไม่เกินสองปี โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1068
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 19 เจ้าพนักงานประเมินได้หลักฐานข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้ไม่ถูกต้องครบถ้วน กับมีรายจ่ายต้องห้าม จึงมีอำนาจปรับปรุงรายการใหม่ให้ถูกต้อง และแจ้งการประเมินให้จำเลยที่ 1 เสียภาษีและเบี้ยปรับได้ จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 ด้วย ดังนั้น แม้โจทก์มิได้ระบุว่ารายจ่ายทั้ง 5 รายการนั้นต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี อนุมาตราใดก็เป็นคำฟ้องที่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 แล้ว เพราะกฎหมายมิได้บังคับว่าคำฟ้องของโจทก์ต้องระบุตัวบทกฎหมายตลอดจนมาตราและอนุมาตราไว้ด้วย
แม้ประมวลรัษฎากร มาตรา 21 จะบัญญัติห้ามอุทธรณ์การประเมินในกรณีที่ผู้ต้องเสียภาษีอากรไม่ปฏิบัติตามหมายหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 19 หรือไม่ยอมตอบคำถามเมื่อซักถามโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรก็ตาม แต่ในคดีนี้จำเลบยที่ 1 เป็นผู้ต้องเสียภาษี จำเลยที่ 1เท่านั้นที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์การประเมิน จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิได้ถูกประเมินด้วยจึงต่อสู้ว่าการประเมินไม่ชอบได้
การคำนวณเงินเพิ่มนั้น ประมวลรัษฎากร มาตรา 27 วรรคสาม บัญญัติห้ามมิให้คำนวณเกินจำนวนภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่ง การที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระเงินเพิ่มเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3301/2534 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีที่ถูกต้องตามกฎหมาย และความรับผิดของหุ้นส่วนในหนี้ภาษี
ป.รัษฎากร มาตรา 21 บัญญัติให้เจ้าพนักงานประเมินแจ้งจำนวนภาษีอากรที่ต้องชำระไปยังผู้ต้องเสียภาษีอากรเท่านั้น หาได้บัญญัติให้ต้องแจ้งไปยังผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนผู้ต้องเสียภาษีอากรด้วยไม่ ห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าภาษีอากรโจทก์อยู่ก่อนที่จำเลยที่ 2 ออกจากหุ้นส่วน 2 ปี โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ให้ร่วมรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1068 โจทก์บรรยายฟ้องโดยระบุข้อเท็จจริงไว้แล้วว่า รายจ่าย 5 รายการเป็นรายจ่ายต้องห้ามตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี เพราะไม่มีหลักฐานการจ่ายย่อมเข้าใจได้แล้วว่าหมายถึงรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา65 ตรี(18) หาจำต้องระบุอนุมาตราด้วยไม่ เจ้าพนักงานประเมินอาศัยอำนาจตาม ป.รัษฎากร มาตรา 21 ที่บัญญัติห้ามมิให้อุทธรณ์การประเมินแจ้งการประเมินภาษีอากรไปยังจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ผู้ต้องเสียภาษีเท่านั้นที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์การประเมิน และผูกพันจำเลยที่ 1 ให้มีหน้าที่ต้องชำระค่าภาษีตามการประเมิน จะนำหนี้ของจำเลยที่ 1 มาใช้ยันแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกหาได้ไม่ การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 เมื่อโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงต่อสู้คดีได้ว่าการประเมินไม่ชอบ การที่เจ้าพนักงานประเมินใช้ข้อมูลการซื้อน้ำมันชนิดต่าง ๆมาจำหน่ายประกอบกับแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลงบกำไรขาดทุน แบบแสดงรายการการค้า บันทึกราคาขายส่งมาเปรียบเทียบคำนวณหา ยอดเงินได้ของจำเลยที่ 1 แล้วนำมาปรับปรุงคำนวณหากำไรสุทธิของจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นการประเมินที่ชอบ ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินเพิ่มแก่โจทก์จนกว่าจะชำระเสร็จ เป็นการเกินไปกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพราะ ป.รัษฎากรมาตรา 27 วรรคสามบัญญัติว่า เงินเพิ่มที่คำนวณได้มิให้เกินจำนวนภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เอง.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 264/2534 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คสั่งจ่ายแก่ผู้ถือ สลักหลังไม่ขาดสาย โจทก์เป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้มีข้ออ้างเรื่องหุ้นส่วน
เมื่อเช็คพิพาทเป็นเช็คสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ และไม่เข้าข่ายที่จะเป็นตั๋วเงินเสียตามมาตรา 1008 ทั้งมีการสลักหลังไม่ขาดสายโจทก์เป็นผู้ครอบครองเช็ค จึงเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2341/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาซื้อขาย, การบอกเลิกสัญญา, ค่าปรับ, ความรับผิดของหุ้นส่วน, อายุความฟ้องคดี
จำเลยส่งของให้โจทก์ไม่ถูกต้องตามสัญญา โจทก์จึงใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและริบหลักประกันอันเป็นการใช้สิทธิตามข้อสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกค่าปรับรายวันจากจำเลยได้อีก สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยข้อหนึ่งกำหนดว่า ถ้าผู้ซื้อจัดซื้อสิ่งของภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันบอกเลิกสัญญา ผู้ขายต้องยอมรับผิดชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นจากราคาที่กำหนดไว้ในสัญญา เมื่อจำเลยผิดสัญญาโจทก์ผู้ซื้อได้บอกเลิกสัญญา ประกาศประกวดราคาใหม่ และประกาศผลการประกวดราคาภายในกำหนด 3 เดือนแล้ว แม้สัญญาซื้อขายจะกระทำกันเมื่อเกินกำหนด 3 เดือน ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการจัดซื้อภายในกำหนด 3 เดือน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกราคาเพิ่มขึ้นจากจำเลยได้ โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเนื่องจากจำเลยผิดสัญญาไม่ส่งมอบของให้โจทก์ถูกต้องและเรียกเบี้ยปรับตามสัญญา เป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 มีอายุความ 10 ปี การที่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดของห้างจำเลยที่ 1 สอดเข้าไปจัดการงานของห้างจำเลยที่ 1 โดยกระทำตนเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ทำให้บุคคลภายนอกเข้าใจว่าจำเลยที่ 4 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดของห้างจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้สินของห้างจำเลยที่ 1 โดยไม่จำกัดจำนวน จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดของห้างจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างจำเลยที่ 1 โดยไม่จำกัดจำนวน.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1589/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หุ้นส่วนร่วมรับผิดค่าเช่ารถ แม้ไม่ได้ลงชื่อในสัญญาเช่า หากมีส่วนร่วมในการทำสัญญาและรับประโยชน์
จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายว่า จำเลยร่วมกันเข้าหุ้นส่วนอย่างไร จำเลยคนไหนแต่ผู้เดียวหรือร่วมกับใครบ้างมาทำสัญญาเช่าฉบับไหน เมื่อใด ครั้งไหนที่แทนกัน มีใบมอบอำนาจหรือตั้งตัวแทนหรือไม่ โดยเฉพาะข้อที่โจทก์อ้างว่าจำเลยเข้าหุ้นส่วนโจทก์จะต้องบรรยายให้เข้าลักษณะหุ้นส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1026 ว่าจำเลยคนไหนลงหุ้นอย่างไร ด้วยอะไร อันจะถือว่าเป็นหุ้นส่วน ฟ้องโจทก์จึงไม่ชัดเจนเป็นฟ้องเคลือบคลุม นั้น เมื่อจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมด้วยเหตุดังที่จำเลยฎีกามาดังกล่าว จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น และมิใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย แม้ฟ้องโจทก์จะมิได้บรรยายให้ชัดแจ้งว่า จำเลยร่วมกันเป็นหุ้นส่วนอย่างไรก็ตาม แต่การที่จำเลยแต่ละคนจะเข้าหุ้นส่วนกันอย่างไร เป็นรายละเอียดที่โจทก์นำสืบได้ในชั้นพิจารณา โจทก์ไม่จำเป็นต้องบรรยายมาในฟ้องก็ได้ การนำสืบของโจทก์ในข้อนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย และไม่ต้องห้ามมิให้รับฟัง โจทก์ในคดีนี้มิได้เป็นคู่ความในคดีก่อน ดังนั้น จึงไม่อาจนำข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อนมาฟังเป็นยุติในคดีนี้ได้ จำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4รับเหมาช่วงงานก่อสร้างทางพิพาทจากบริษัท ภ. จำเลยที่ 3จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยอื่นในอันที่จะต้องชำระค่าเช่ารถแทรกเตอร์ที่ค้างชำระอยู่แก่โจทก์ด้วย แม้จำเลยที่ 3 จะมิได้ลงชื่อเป็นผู้เช่าหรือมอบหมายเป็นหนังสือให้จำเลยอื่นลงชื่อในสัญญาเช่ารถแทรกเตอร์แทนจำเลยที่ 3 ก็ตาม จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า สัญญาเช่าที่โจทก์อ้างน่าจะไม่เป็นความจริงโจทก์อาจเพิ่งมาทำขึ้นภายหลังโดยคบคิดกับจำเลยที่ 2 และที่ 4เพื่อโยนความรับผิดไปยังจำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งมีฐานะการเงินมั่นคงอยู่ นั้น เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น และมิใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ 3 ข้อ คือ1.ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ 2.จำเลยทั้งห้าเป็นหุ้นส่วนกันหรือไม่และ 3.จำเลยเช่ารถตามฟ้องใช่หรือไม่ ดังนี้ ประเด็นว่าค่าเช่ารถมีเพียงไร ย่อมเป็นผลสืบเนื่องจากเมื่อวินิจฉัยประเด็นข้อ 3 แล้วจึงถือว่าอยู่ในประเด็นข้อ 3 ด้วย ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทในเรื่องค่าเช่าอีก ก็ถือว่าคดีมีประเด็นเรื่องค่าเช่าด้วย โจทก์จึงมีสิทธินำสืบในประเด็นค่าเช่า และศาลมีอำนาจวินิจฉัยให้ได้ บริษัทภ.รับเหมาก่อสร้างทางให้แก่กรมทางหลวง และบริษัทภ.ได้ให้จำเลยรับเหมาช่วงงานก่อสร้างทางดังกล่าวซึ่งจำเลยก็ได้เช่ารถแทรกเตอร์ของโจทก์ไปใช้ในการก่อสร้างทางดังกล่าว แต่จำเลยไม่สามารถสร้างทางให้แล้วเสร็จภายในกำหนดในสัญญา ดังนี้จำเลยจะถือเอาวันที่กรมทางหลวงบอกเลิกสัญญากับบริษัทภ. เป็นวันที่สัญญาเช่ารถแทรกเตอร์ระงับ และให้คิดค่าเช่าถึงวันดังกล่าวหาได้ไม่ เพราะวันเลิกสัญญาก่อสร้างทางกับวันที่จำเลยเช่าและผิดนัดไม่ชำระค่าเช่ารถแทรกเตอร์เป็นคนละส่วนแยกออกจากกันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5594/2533

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความเช็ค-การลงวันที่เช็ค-การรับผิดร่วมกันของหุ้นส่วน
โจทก์บรรยายในคำฟ้องว่า เช็คพิพาทเป็นเช็คของจำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 และในฐานะส่วนตัวเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายมอบให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ พร้อมทั้งแนบสำเนาเช็คและใบคืนเช็คมาด้วย เมื่อเช็คพิพาทถึงกำหนดเรียกเก็บเงินไม่ได้เพราะธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโจทก์ได้ทวงถามจำเลยแล้วจำเลยทั้งสองไม่ชำระ จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินตามเช็คพร้อมด้วยดอกเบี้ย ดังนี้ โจทก์ไม่จำต้องบรรยายถึงว่าเป็นหนี้ค่าอะไร เมื่อใด หรือร่วมกันออกเช็คอย่างไรตามที่จำเลยทั้งสองต่อสู้ เพราะเป็นรายละเอียดที่จะนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม เช็คที่มิได้ลงวันออกเช็คนั้น ผู้ทรงเช็คได้แต่จะกรอกวันเดือนปีลงตามที่ถูกต้องแท้จริงเท่านั้น เพราะผู้สั่งจ่ายเช็คและผู้สลักหลังย่อมประสงค์ที่จะผูกพันโดยอายุความอยู่ด้วยเสมอถ้าไม่ปรากฏว่ามีข้อจำกัดในเรื่องวันสั่งจ่ายที่ผู้ทรงจะลงอย่างไรจึงจะถือว่า ผู้ทรงเช็คจะลงวันไหนก็ได้ แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าจำเลยออกเช็คพิพาทชำระหนี้แก่โจทก์โดยไม่ลงวัน เดือน ปี ในเช็คเมื่อต้นปี 2526 โดยมีข้อตกลงว่าให้โจทก์ลงวันที่ในเช็คภายหลังจากนั้นเป็นเวลา 3 เดือน เมื่อโจทก์มาลงวัน เดือน ปีในเช็คเมื่อปี2528 จึงถือว่าโจทก์มิได้ลงวัน เดือน ปี ในเช็คพิพาทตามข้อตกลงที่ถูกต้องแท้จริง เช็คพิพาทจึงขาดอายุความ หนี้ตามเช็คเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ บรรดากระบวนพิจารณาซึ่งได้ทำโดยหรือทำต่อคู่ความร่วมคนหนึ่ง ให้ถือว่าได้ทำโดยหรือทำต่อคู่ความร่วมคนอื่น ๆ ด้วย เว้นแต่กระบวนพิจารณาที่คู่ความร่วมคนหนึ่งกระทำไปเป็นที่เสื่อมเสียแก่คู่ความร่วมคนอื่น ๆ ดังนี้การที่จำเลยที่ 2 ยกอายุความขึ้นต่อสู้ จำเลยที่ 1 ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2 ด้วย ตามมาตรา 59(1) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง.
of 35