คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เจ้าหนี้มีประกัน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 104 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5654/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องล้มละลายของเจ้าหนี้มีประกัน จำเป็นต้องบรรยายฟ้องวิธีการจัดการทรัพย์หลักประกันตามกฎหมายล้มละลาย
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้มีประกันของจำเลยในฐานะผู้รับจำนอง ทางนำสืบของโจทก์ โจทก์มี จ. ทนายความโจทก์เป็นพยานเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่า ทรัพย์จำนองอันเป็นหลักประกัน ได้แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 57826 และ 57827 ตำบลทุ่งครุ อำเภอราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งได้ถูกห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล พี.เอ็น.เทพเจริญ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 4009/2546 ของศาลแพ่งธนบุรีนำยึดไว้แล้ว และกรมบังคับคดีได้มีหนังสือแจ้งให้ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้เดิมนำส่งต้นฉบับโฉนดที่ดินและหนังสือสัญญาจำนอง เมื่อโจทก์นำสืบเพียงนี้ แสดงว่าเจ้าพนักงานบังคับคดียังมิได้ขายทอดตลาดทรัพย์จำนอง เช่นนี้ การจำนองในที่ดินโฉนดเลขที่ 57826 และ 57827 จึงไม่ระงับสิ้นไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 744 (เดิม) ดังนั้น ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ โจทก์อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของจำเลยในทางจำนอง โจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้มีประกันของจำเลยตามความใน พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 6 การฟ้องคดีของโจทก์ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 10 (2) กล่าวคือ โจทก์ต้องกล่าวมาในฟ้องว่า ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย หรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้องซึ่งเมื่อหักกับจำนวนหนี้ของตนแล้ว เงินยังขาดอยู่สำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับวิธีการจัดการทรัพย์หลักประกันตามมาตรา 10 (2) ดังกล่าว คำฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 10 (2) ที่ศาลจะรับไว้พิจารณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3332/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเจ้าหนี้มีประกันในการได้รับชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันขายทอดตลาด แม้จะยื่นคำร้องขอใช้สิทธิเหนือทรัพย์สิน
ผู้ร้องใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้ผู้คัดค้านนำทรัพย์หลักประกันออกขายทอดตลาดในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 95 จึงเป็นกรณีที่ผู้รับจำนองขอเอาบุริมสิทธิในทรัพย์ที่รับจำนองไว้ไม่เกินกว่าหนี้ที่รับจำนองเท่านั้น หากขายทอดตลาดได้เงินเกินกว่าหนี้จำนอง เงินส่วนที่เกินย่อมตกเข้าแก่กองทรัพย์สินของจำเลยผู้ล้มละลาย แต่ถ้าขายไม่ได้ถึงราคาทรัพย์จำนองหนี้ส่วนที่เหลือก็ตกเป็นพับแก่ผู้รับจำนองไป ฉะนั้นต้องคิดดอกเบี้ยให้ผู้ร้องจนถึงวันขายทอดตลาด เมื่อเป็นการยื่นคำร้องเพื่อขอใช้สิทธิเหนือทรัพย์อันเป็นหลักประกัน มิใช่การยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 91 ประกอบมาตรา 96 จึงไม่ต้องห้ามคิดดอกเบี้ยภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 100

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6718/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้ตามคำพิพากษาและการคุ้มครองสิทธิเจ้าหนี้มีประกันจากการบังคับคดี
หนี้ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 1958/2539 ของศาลแพ่งที่เจ้าหนี้นำมาขอรับชำระหนี้ ศาลแพ่งมีคำพิพากษาวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2539 และเป็นคดีที่ลูกหนี้ (จำเลย) อาจขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้เนื่องจากลูกหนี้ขาดนัดพิจารณาและศาลมีคำพิพากษาให้แพ้คดีในประเด็นที่พิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 207 (เดิม) คดีย่อมถึงที่สุดเมื่อระยะเวลาที่กำหนดไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 208 วรรคแรก (เดิม) ซึ่งเป็นระยะเวลาที่กำหนดไว้สำหรับการยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้สิ้นสุดลง ทั้งนี้ เป็นไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง
พนักงานเดินหมายนำคำบังคับไปส่งให้แก่ลูกหนี้โดยวิธีปิดคำบังคับเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2539 ตามคำสั่งของศาลชั้นต้น การส่งคำบังคับมีผลใช้ได้เมื่อกำหนดเวลา 15 วัน ได้ล่วงพ้นไปแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคสอง คำบังคับที่ส่งให้แก่ลูกหนี้จึงมีผลในวันที่ 9 พฤษภาคม 2539 ลูกหนี้อาจยื่นคำขอ ให้พิจารณาคดีใหม่ได้ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่การส่งคำบังคับมีผล
กำหนดระยะเวลา 6 เดือน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 208 วรรคแรก ตอนท้าย (เดิม) จะนำมาใช้บังคับก็ต่อเมื่อมีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้อันเป็นผลให้ลูกหนี้ไม่อาจยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ได้ภายในกำหนด 15 วันซึ่งตามคำฟ้องและอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ไม่ได้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงไม่อาจรับฟังได้เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้ถือได้ว่าลูกหนี้ทราบคำบังคับหลังจากล่วงพ้นกำหนดไปแล้ว 15 วัน นับแต่วันที่การส่งคำบังคับมีผล ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 23 พฤษภาคม 2539 คดีจึงถึงที่สุดนับแต่วันถัดจากวันดังกล่าว
หนี้ของเจ้าหนี้เป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุด มีกำหนดอายุความสิบปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 เจ้าหนี้นำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 และยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2551 พ้นกำหนดอายุความสิบปีแล้ว อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งในคดีหมายเลขแดงที่ 1958/2539 เจ้าหนี้เดิมได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองของลูกหนี้ ห้องชุดเลขที่ 722/74 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2540 และต่อมาเจ้าหนี้ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องและหลักประกันดังกล่าวมาจากเจ้าหนี้เดิม เช่นนี้ สิทธิของเจ้าหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนในจำนวนเงินสุทธิที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองที่มีการดำเนินการบังคับคดีแล้วย่อมได้รับการคุ้มครอง โดยเจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ภายในวงเงินจำนองพร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ส่วนหากว่าขายทอดตลาดทรัพย์จำนองแล้วได้เงินสุทธิน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่ค้างชำระ ในกรณีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อพ้นกำหนดอายุความตามที่กฎหมายกำหนด จึงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้อีกสำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15163/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเจ้าหนี้มีประกันเลือกใช้สิทธิได้ทางใดทางหนึ่งระหว่างมาตรา 95 หรือ 96 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย
เจ้าหนี้มีประกันมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ 2 วิธี วิธีแรก เจ้าหนี้มีประกันใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 95 โดยถือสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันโดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย แต่ต้องยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจดูทรัพย์สินนั้น และหากบังคับชำระหนี้เหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ เจ้าหนี้มีประกันย่อมหมดสิทธิขอรับชำระหนี้ที่ยังขาดอยู่จากทรัพย์สินอื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย วิธีที่สอง โดยเจ้าหนี้มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายภายใต้เงื่อนไข มาตรา 96 ซึ่งมีอยู่ 4 ประการ ในประการใดประการหนึ่ง กล่าวโดยเฉพาะเจ้าหนี้ซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันในคดีนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96 (3) ในกรณีนี้หากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้วได้เงินมายังไม่พอชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่จากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ แต่การขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96 ต้องยื่นภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ตามมาตรา 91 บทบัญญัติทั้งสองมาตราแยกให้เห็นข้อแตกต่างในวิธีการขอรับชำระหนี้และข้อแตกต่างในผลของการใช้สิทธิมาตราใดมาตราหนึ่ง ดังนั้นเจ้าหนี้มีประกันชอบที่จะเลือกใช้สิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา 95 หรือมาตรา 96 มาตราใดมาตราหนึ่งเท่านั้น เมื่อเจ้าหนี้เลือกใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96 (3) แล้ว เจ้าหนี้ย่อมหมดสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันตามมาตรา 95 อีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13706/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แผนฟื้นฟูกิจการต้องไม่กระทบสิทธิเจ้าหนี้มีประกัน การชำระหนี้ต้องไม่ต่ำกว่าราคาตลาดทรัพย์สินหลักประกัน
การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตลอดจนการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการต้องไม่กระทบต่อสิทธิของเจ้าหนี้มีประกัน ซึ่งมีทรัพยสิทธิในอันที่จะบังคับเอาแก่ทรัพย์สินหลักประกันได้ก่อนเจ้าหนี้อื่น การดำเนินการอื่นใดที่เจ้าหนี้มีประกันนั้นไม่ได้ยินยอม หรือจะทำให้เจ้าหนี้มีประกันได้รับชำระหนี้น้อยกว่ามูลค่าของทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันในเวลาที่มีการยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการ พร้อมดอกเบี้ยและผลประโยชน์ตามสัญญาเมื่อการดำเนินการฟื้นฟูกิจการสิ้นสุดลง ก็ย่อมไม่อาจถือเป็นการให้ความคุ้มครองแก่เจ้าหนี้มีประกันอย่างเพียงพอแล้วได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/14 (3) ทั้งในการพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผน เมื่อมีข้อคัดค้านของเจ้าหนี้ ผู้ทำแผนมีหน้าที่พิสูจน์ว่าแผนฟื้นฟูกิจการนั้นชอบด้วยกฎหมายและศาลควรมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน เมื่อเจ้าหนี้คัดค้านว่า แผนกำหนดให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ เมื่อการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการสำเร็จเป็นจำนวนน้อยกว่ามูลค่าหลักประกันที่แท้จริงนั้น ในการพิจารณาปัญหาดังกล่าวในชั้นพิจารณาแผนจึงต้องพิจารณาราคาประเมินของทรัพย์สินหลักประกันเป็นสาระสำคัญ เมื่อปรากฏตามแผนฟื้นฟูกิจการว่าลูกหนี้ประกอบกิจการโรงแรมตั้งแต่ปี 2532 มีทรัพย์สินหลักที่จำเป็น ต้องใช้ในการดำเนินธุรกิจต่อไป คือ ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งส่วนหนึ่งจดทะเบียนจำนองไว้แก่เจ้าหนี้โดยแผนฟื้นฟูกิจการระบุว่า ในระหว่างการดำเนินการตามแผน ถ้าลูกหนี้มิได้เป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ ห้ามมิให้เจ้าหนี้ที่มีหลักประกันซึ่งเป็นทรัพย์สินที่จำเป็นในการดำเนินธุรกิจ บังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินดังกล่าว ทั้งนี้ ไม่เป็นการเสื่อมสิทธิของเจ้าหนี้ดังกล่าวที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันนั้น แสดงว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งจดทะเบียนจำนองไว้แก่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 มีความจำเป็นต่อการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ และมิได้มีการขายทอดตลาดทรัพย์สินหลักประกันไปในราคาบังคับขายแต่อย่างใด ข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนดังกล่าว ผู้ทำแผนจึงต้องนำสืบให้ได้ว่าเมื่อการดำเนินการตามแผนสำเร็จ เจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันจะต้องได้รับข้อเสนอชำระหนี้ตามแผนไม่น้อยกว่าราคาทรัพย์สินหลักประกันในราคาตลาดปัจจุบัน ณ วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน เมื่อผู้ทำแผนนำสืบให้รับฟังไม่ได้ว่า เมื่อการดำเนินการตามแผนสำเร็จเจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันจะได้รับชำระหนี้ตามแผนไม่น้อยกว่าราคาทรัพย์สินหลักประกันในราคาตลาดดังกล่าวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/58 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 90/14 แผนจึงมิชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10774/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการต้องไม่กระทบสิทธิเจ้าหนี้มีประกันที่จะได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่าราคาทรัพย์หลักประกัน
เจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าหนี้มีประกันโดยมีที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของลูกหนี้จำนองเป็นประกัน และมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองว่า ในกรณีบังคับจำนองเอาทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ หรือในกรณีผู้รับจำนองเอาทรัพย์ที่จำนองหลุดเป็นสิทธิและราคาทรัพย์ที่จำนองต่ำกว่าจำนวนหนี้อยู่เท่าใด ลูกหนี้ผู้จำนองยอมชำระหนี้ที่ขาดนั้นจากทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้ผู้จำนองให้แก่ผู้รับจำนองจนครบถ้วน จึงเป็นกรณีที่ตามกฎหมายลูกหนี้ต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 และที่ 2 ซึ่งรวมถึงเจ้าหนี้รายที่ 242 และที่ 445 เกินกว่าราคาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน และหากลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีล้มละลายเจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 และที่ 2 ย่อมมีสิทธิขอรับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) หรือ (4) ซึ่งหมายความว่า เจ้าหนี้มีประกันเหล่านี้จะต้องได้รับชำระหนี้อย่างน้อยเท่ากับราคาทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน หนี้ส่วนที่เหลือจึงจะมีสิทธิได้รับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้ไม่มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 130 (7) และการที่แผนฟื้นฟูกิจการที่มีการแก้ไขจัดให้เจ้าหนี้รายที่ 242 และที่ 445 เป็นเจ้าหนี้มีประกันในกลุ่มที่ 2 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/46 ทวิ (2) ก็ย่อมแสดงว่าในจำนวนหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่มีเจ้าหนี้บุริมสิทธิเหนือทรัพย์อันเป็นหลักประกันนั้น นอกจากนี้เจ้าหนี้มีประกันจะใช้สิทธิบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันโดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการก็ได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/28 และแม้ว่าในระหว่างลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้มีประกันจะถูกจำกัดสิทธิมิให้บังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลที่รับคำร้องขอ แต่การจำกัดสิทธินั้นจะต้องให้ความคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้มีประกันอย่างเพียงพอตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/12 (6) และมาตรา 90/13 แผนฟื้นฟูกิจการจึงต้องไม่กระทบต่อสิทธิของเจ้าหนี้มีประกันโดยเจ้าหนี้มีประกันที่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามแผนจะต้องได้รับชำระหนี้เมื่อดำเนินการสำเร็จตามแผนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าราคาทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/58 (3)
เมื่อพิจารณาสิทธิของเจ้าหนี้มีประกันในคดีล้มละลายในอันที่จะบังคับเอาแก่ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 95 และมาตรา 110 วรรคสาม หรือเจ้าหนี้มีประกันอาจขอรับชำระหนี้โดยตีราคาทรัพย์หลักประกันแล้วขอรับชำระหนี้ส่วนที่ขาด ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 96 (4) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์หลักประกันจนเต็มจำนวนบุริมสิทธิที่ตนมีอยู่ เจ้าหนี้มีประกันจึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในมูลค่าปัจจุบันในวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนไม่น้อยกว่ามูลค่าทรัพย์หลักประกัน หากว่ายังไม่ได้มีการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้มีประกันโดยเต็มจำนวนและในทันทีที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้ว ลูกหนี้ย่อมจะต้องชำระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นเนื่องจากการชำระหนี้ล่าช้านั้นเพื่อให้เจ้าหนี้มีประกันได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ามูลค่าทรัพย์หลักประกัน ส่วนการประเมินมูลค่าหลักประกันที่จะนำมาใช้ประกอบการพิจารณานั้น เมื่อปรากฏว่าหลักประกันเป็นที่ดินพร้อมโรงงานซึ่งในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้จะมีการประกอบธุรกิจของลูกหนี้ในส่วนนี้ต่อไป มิได้มีการขายทอดตลาดทรัพย์หลักประกันไปในราคาบังคับขายแต่อย่างใด ราคาประเมินที่เหมาะสมซึ่งจะนำมาใช้ก็คือ ราคาตลาดอันมีราคา 228,788,921 บาท หาใช่ราคาบังคับขายอันมีราคา 148,974,000 บาท ไม่
การที่ข้อเสนอขอแก้ไขแผนกำหนดให้เจ้าหนี้มีประกันได้รับชำระหนี้ในอัตราร้อยละ 80 ของต้นเงินตามแผนฟื้นฟูกิจการที่มีการแก้ไขเดิม ซึ่งศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแล้วนั้นย่อมไม่อาจกระทำได้ เนื่องจากผลของคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนที่มีการแก้ไขแล้วย่อมผูกพันบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งการขอแก้ไขดังกล่าวยังเป็นการกระทบสิทธิของเจ้าหนี้มีประกันในอันที่จะได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ผู้บริหารแผนจะอ้างราคาบังคับขายทรัพย์หลักประกันเพื่อแสดงว่าเจ้าหนี้รายที่ 242 และที่ 445 ได้รับชำระหนี้มากกว่ากรณีที่ศาลพิพากษาให้ล้มละลายหาได้ไม่ เนื่องจากกิจการของลูกหนี้มิได้ปิดลง ทั้งไม่มีค่าใช้จ่ายในการขายทรัพย์หลักประกันแต่อย่างใด ดังนี้ การประเมินราคาทรัพย์สินตามข้อเสนอขอแก้ไขแผนของผู้บริหารแผนจึงเป็นการประเมินราคาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันโดยมิชอบ ทำให้สิทธิของเจ้าหนี้มีประกันไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/58 (3) ประกอบมาตรา 90/13 อันมีผลให้เจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 และที่ 2 อาจได้รับชำระหนี้น้อยกว่ากรณีที่มีการขายทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันเมื่อศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/63 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 90/58 (3) ทั้งเป็นการขัดต่อผลของคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนที่มีการแก้ไขซึ่งศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้วซึ่งไม่อาจทำได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10438/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าหนี้มีประกันในคดีล้มละลาย: การยึดโฉนดที่ดินเพื่อประกันตัวไม่ใช่การมีสิทธิเหนือทรัพย์สิน
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 6 ได้ให้นิยามเจ้าหนี้มีประกันว่า เจ้าหนี้มีประกัน หมายความว่า เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจำนอง จำนำ หรือสิทธิยึดหน่วง หรือเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทำนองเดียวกับผู้รับจำนำ และ ป.พ.พ. มาตรา 241 บัญญัติว่า ผู้ใดเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นและมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครอบครองนั้นไซร้ ท่านว่าผู้นั้นจะยึดหน่วงทรัพย์สินนั้นไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ก็ได้ แต่ความที่กล่าวนี้ท่านมิให้ใช้บังคับเมื่อหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนด การที่เจ้าหนี้จะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันในฐานะเจ้าหนี้ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงนั้นจะต้องเป็นเจ้าหนี้ซึ่งได้ครอบครองทรัพย์สินของลูกหนี้และมีหนี้อันเป็นคุณแก่ตนเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้น คดีนี้ลูกหนี้ได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 14088 มาเป็นทรัพย์หลักประกันในการขอปล่อยชั่วคราวจำเลยในคดีอาญา ดังนั้นในการทำประกัน เจ้าหนี้ก็เพียงแต่ยึดโฉนดที่ดินดังกล่าวไว้เท่านั้น แม้ศาลจะได้แจ้งไปยังเจ้าพนักงานที่ดินให้ระงับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในที่ดินดังกล่าวก็เป็นเพียงเพื่อประโยชน์ในการห้ามไม่ให้ลูกหนี้โอนทรัพย์ดังกล่าวไปให้ผู้อื่น หาทำให้เจ้าหนี้มีสิทธิเหนือที่ดินอันเป็นทรัพย์หลักประกันแต่อย่างใดไม่ การที่ลูกหนี้มอบโฉนดที่ดินให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เช่นนี้จึงมีผลเป็นเพียงบุคคลสิทธิที่เจ้าหนี้จะยึดถือโฉนดที่ดินดังกล่าวไว้จนกว่าจะได้มีการปฏิบัติตามสัญญาประกันหรือสัญญาประกันนั้นสิ้นสุดลง จึงมิใช่เจ้าหนี้มีประกัน เจ้าหนี้จึงต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ภายในเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27 และมาตรา 91
พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2547 ซึ่งได้โอนอำนาจในการบังคับคดีนายประกันจากพนักงานอัยการมาเป็นของหัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมนั้น ได้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2547 อันเป็นระยะเวลาก่อนที่จะมีการผิดสัญญาประกันในคดีนี้ ซึ่งลูกหนี้ได้ผิดนัดไม่ส่งตัวจำเลยในคดีอาญาในวันที่ 23 สิงหาคม 2548 เจ้าหนี้จึงทราบการบังคับใช้กฎหมายอยู่ก่อนแล้ว อีกทั้งสามารถวางแผนในการดำเนินงานต่าง ๆ ได้ ที่เจ้าหนี้อ้างว่าสำนวนบังคับคดีในประกันมีเป็นจำนวนมากนั้น ก็ไม่ปรากฏว่าสำนวนบังคับคดีดังกล่าวมีจำนวนมากถึงขนาดที่เจ้าหนี้ไม่อยู่ในวิสัยที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ กรณีจึงถือไม่ได้ว่ามีเหตุสุดวิสัยที่เจ้าหนี้ไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้หรือมีเหตุอันสมควรที่จะขยายระยะเวลาในการยื่นคำขอรับชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1620/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีล้มละลาย: การบรรยายฟ้องและการใช้สิทธิโดยสุจริตของเจ้าหนี้มีประกัน
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอม ซึ่งศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 230,541,301.17 บาท พร้อมดอกเบี้ย หากไม่ชำระยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 20.25 ต่อปี และให้ยึดทรัพย์จำนองพร้อมทรัพย์สินอื่นออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน จำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด อยู่ระหว่างนำยึดเพื่อขายทอดตลาด โจทก์ขอตีราคาหลักประกันเป็นเงิน 170,000,000 บาทหักจากหนี้แล้วคงค้างชำระจำนวน 411,704,357.58 บาท ซึ่งเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่น้อยกว่าสองล้านบาทสำหรับนิติบุคคล อันเป็นการบรรยายฟ้องอย่างเจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 10 (2) แม้โจทก์จะยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องอย่างเจ้าหนี้ไม่มีประกันตามมาตรา 9 และศาลล้มละลายกลางยังไม่มีคำสั่งก็ตาม ในการบรรยายฟ้องคดีล้มละลายโจทก์ต้องบรรยายให้ครบถ้วนตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 และหากเป็นเจ้าหนี้มีประกันโจทก์จะต้องบรรยายเพิ่มตามสิทธิของเจ้าหนี้ตามมาตรา 10 (2) ดังนั้นฟ้องโจทก์จึงรวมการบรรยายฟ้องตามมาตรา 9 อยู่ในตัว การบรรยายถึงยอดหนี้ตามกฎหมายโจทก์ย่อมบรรยายเพียงยอดหนี้ว่ามีไม่น้อยกว่าสองล้านบาทสำหรับนิติบุคคลเท่านั้น ส่วนยอดหนี้ที่ค้างชำระจริงเป็นจำนวนเท่าใดเป็นเพียงรายละเอียดในชั้นพิจารณาและชั้นขอรับชำระหนี้ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9592/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเจ้าหนี้มีประกันในการบังคับคดี แม้มีการพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของลูกหนี้
เมื่อจำเลยที่ 1 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลายภายหลังจากที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ตามคำขอให้บังคับคดีของโจทก์ในคดีนี้ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำเลยที่ 1 จำนองไว้แก่ผู้ร้องก่อนโจทก์ผู้นำยึดแล้ว การที่โจทก์เจ้าหนี้สามัญผู้นำยึดมิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายมีผลเพียงทำให้โจทก์หมดสิทธิได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ในคดีล้มละลายเท่านั้น มิได้ทำให้การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ที่ดำเนินการมาโดยชอบสิ้นผลไป และการที่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันมิได้ใช้สิทธิขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ในคดีล้มละลาย แต่เลือกใช้สิทธิที่จะบังคับแก่หลักประกัน ซึ่งตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 110 วรรคสาม คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ไม่กระทบถึงสิทธิของเจ้าหนี้มีประกันในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมีอำนาจบังคับคดีแก่หลักประกันของผู้ร้องต่อไปในคดีนี้ได้ แม้ต่อมาภายหลังศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งปลดจำเลยที่ 1 จากล้มละลาย ก็มิได้ทำให้อำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะดำเนินการบังคับคดีหมดไปไม่ ส่วนเมื่อได้มีการบังคับคดีแก่ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นหลักประกันแล้วจะมีเงินเหลือเป็นประโยชน์แก่กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ในคดีล้มละลาย เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ก่อนปลดจากการล้มละลาย ก็เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบที่จะขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีโอนเข้ามาในคดีล้มละลายได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 112 กรณีจึงไม่มีเหตุให้เพิกถอนการบังคับคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5584/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำนองจากการขายทอดตลาด: สิทธิของเจ้าหนี้มีประกัน และขอบเขตการบังคับชำระหนี้เกินทรัพย์ประกัน
จำเลยเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดในคดีแพ่งโดยติดจำนองย่อมมีฐานะเป็นเพียงผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนอง หาทำให้มีฐานะเป็นผู้จำนองไม่ จำเลยมีสิทธิไถ่ถอนจำนองโดยเสนอรับใช้เงินเป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์สินนั้น หากโจทก์ไม่ยอมรับก็ต้องฟ้องต่อศาลภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันมีคำเสนอ เพื่อให้ศาลพิพากษาสั่งขายทอดตลาดตาม ป.พ.พ. มาตรา 738 และ 739 แต่ถ้าจำเลยไม่ได้ใช้สิทธิไถ่ถอนจำนองดังกล่าว โดยโจทก์จะบังคับจำนองก็ต้องมีจดหมายบอกกล่าวแก่จำเลยผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองล่วงหน้าหนึ่งเดือนก่อนแล้วจึงจะบังคับจำนองได้ตามมาตรา 735 หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ โจทก์ก็ชอบที่จะบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้และผู้จำนองตามคำพิพากษาในคดีแพ่ง อันเนื่องมาจากข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองที่ว่า หากบังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ ผู้จำนองยอมรับผิดชดใช้หนี้จนครบถ้วน โจทก์จะอาศัยสิทธิความเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งมาฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่เป็นเพียงผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองให้รับผิดในฐานะผู้จำนองแก่โจทก์ด้วยหาได้ไม่ แม้โจทก์ฟ้องบังคับจำนองโดยขอให้บังคับคดีแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยในกรณีที่ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ ย่อมเป็นคำขอที่เกินเลยไปกว่าสิทธิที่โจทก์พึงมีพึงได้ตามกฎหมาย และแม้ศาลในคดีแพ่งมีคำพิพากษาไปตามคำขอของโจทก์คำพิพากษาดังกล่าวก็ไม่มีผลผูกพันศาลในคดีล้มละลาย เนื่องจากกฎหมายล้มละลายเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับจำนองมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินซึ่งจำนองที่จำเลยรับโอนจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี โจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 6 แต่โจทก์คงมีสิทธิบังคับจำนองได้เฉพาะจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนองเท่านั้น หากได้เงินสุทธิน้อยกว่าที่ค้างชำระและยังขาดอยู่เท่าใด จำเลยผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองไม่จำต้องรับผิดในหนี้นั้น โจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้มีประกันที่เป็นผู้ต้องห้ามมิให้บังคับการชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยเกินกว่าตัวทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน โจทก์จะฟ้องจำเลยให้ล้มละลายไม่ได้ ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 10 (1)
of 11