คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เลิกห้างหุ้นส่วน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 75 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1110/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เหตุเลิกห้างหุ้นส่วนสามัญ: ความไม่ลงรอยกัน, การไม่ปฏิบัติตามสัญญา, และความเสียหายต่อลูกค้า
สัญญาร่วมลงทุนและแบ่งผลประโยชน์กำหนดหน้าที่ของโจทก์ว่า โจทก์รับจะดูแลจัดการเกี่ยวกับการเงินบัญชี การขาย การติดต่อลูกค้า และกิจการอื่น ๆ ที่กี่ยวกับงานของโครงการจัดสรรที่ดินที่ดำเนินการอยู่ ส่วนหน้าที่ของจำเลยได้กำหนดไว้ว่า รับจะดูแลในการพัฒนาที่ดิน การขอรังวัด แบ่งแยก ออกโฉนดใหม่ ตลอดจนถึงงานด้านสาธารณูปโภค ด้านการขายและกิจการอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับงานของโครงการ ตั้งแต่ลงทุนเป็นหุ้นส่วนกันมายังไม่ได้มีการสะสางบัญชีกันเลยว่าจะมีรายรับและรายจ่ายเพียงใด ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งสองก็ไม่ปรองดองกัน เหลือวิสัยที่ห้างหุ้นส่วนจะดำรงคงอยู่ต่อไปได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1057 (3) หากปล่อยให้ห้างหุ้นส่วนดำรงคงอยู่ต่อไป ผู้เป็นหุ้นส่วนต่างก็มุ่งจะขายที่ดินส่วนที่เหลือและรับเงินจากลูกค้าของตนโดยไม่นำพาต่อหุ้นส่วนอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งจะเป็นผลเสียต่อหุ้นส่วนอีกฝ่ายหนึ่งและต่อลูกค้าอันจะเป็นมูลเหตุให้เกิดคดีฟ้องร้องกันต่อไปอีก จึงมีเหตุที่ศาลจะสั่งให้ห้างหุ้นส่วนเลิกกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 734/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดของหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดและการนำบทบัญญัติห้างหุ้นส่วนสามัญมาใช้
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีผู้เป็นหุ้นส่วน 6 คน คือ โจทก์ทั้งสี่ อ. สามีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด และจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 2 บริหารกิจการห้างฯ จำเลยที่ 1 ในลักษณะก่อให้เกิดความเสียหาย ต่อมามีมติเสียงข้างมากให้โจทก์ที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแทนจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 ไม่ยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงต่อนายทะเบียน จำเลยที่ 2 ใช้อำนาจหุ้นส่วนผู้จัดการในการลงมติแต่งตั้ง ถอดถอนกรรมการของบริษัท ผ. และบริษัท ท. ที่ห้างฯ จำเลยที่ 1 ถือหุ้นเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวก โจทก์ทั้งสี่และจำเลยที่ 2 ต่างฟ้องร้องดำเนินคดีแพ่งและอาญาจากมูลเหตุการบริหารงานของห้างฯ จำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มีหนังสือฉบับลงวันที่ 24 มิถุนายน 2556 บอกเลิกห้างฯ เป็นเวลามากกว่า 6 เดือน ก่อนสิ้นรอบปีชำระบัญชีขอให้เลิกห้างและจัดการชำระบัญชีนั้น ตามคำฟ้องจึงเป็นการบรรยายสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ทั้งสี่และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างฯ จำเลยที่ 1 ได้กระทำล่วงละเมิดบทบังคับอันเป็นข้อสาระสำคัญซึ่งสัญญาหุ้นส่วนกำหนดไว้แก่โจทก์ทั้งสี่โดยจงใจ มีเหตุทำให้ห้างหุ้นส่วนนั้นเหลือวิสัยที่จะดำรงอยู่ต่อไปได้ แต่เมื่อบทบัญญัติในเรื่องห้างหุ้นส่วนจำกัดไม่ได้กล่าวถึงว่าหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดมีสิทธิขอเลิกห้างฯ ได้หรือไม่ จึงต้องนำบทบัญญัติในเรื่องการเลิกห้างฯ ของห้างหุ้นส่วนสามัญมาใช้บังคับตามที่มาตรา 1080 บัญญัติไว้ และมีผลให้หุ้นส่วนคนใดอาจร้องขอให้ศาลสั่งเลิกห้างฯ ตามมาตรา 1057 (3) ได้ ดังนั้น โจทก์ทั้งสี่เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ย่อมมีอำนาจฟ้องขอเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. จำเลยที่ 1 และจัดการชำระบัญชีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5471/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกห้างหุ้นส่วนสามัญโดยผลของกฎหมาย และการชำระบัญชีที่ไม่ขาดอายุความ
ห้างหุ้นส่วนสามัญระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านเลิกกันด้วยเหตุที่กิจการแบ่งขายที่ดินดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วเมื่อห้างหุ้นส่วนสามัญเลิกกันโดยผลของกฎหมาย ศาลจึงไม่จำต้องมีคำสั่งให้เลิกห้างหุ้นส่วนสามัญตามคำร้องขอของผู้ร้องอีก
การชำระบัญชีเป็นกระบวนการตามที่กฎหมายบัญญัติให้จัดการทรัพย์สินกรณีห้างหุ้นส่วนเลิกกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1061 วรรคหนึ่ง มิใช่เป็นสิทธิเรียกร้องที่จะต้องขอบังคับภายในกำหนดอายุความ แม้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ชำระบัญชีเกินกว่า 10 ปี นับแต่ห้างเลิกกันแล้ว แต่เมื่อยังไม่มีการชำระบัญชี ผู้ร้องก็ชอบที่จะขอให้จัดการชำระบัญชีตามบทบัญญัติว่าด้วยการเลิกและชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนสามัญได้ หาได้เป็นการบังคับสิทธิเรียกร้องที่ต้องอยู่ภายใต้กำหนดอายุความไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1674/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ห้างหุ้นส่วนสามัญเลิกกันต้องชำระบัญชี แม้ผู้เป็นหุ้นส่วนบางคนจัดการทรัพย์สินไปแล้ว ก็ยังไม่ถือเป็นการชำระบัญชี
การที่โจทก์ ช. และกลุ่มเพื่อนร่วมรุ่นตกลงเข้าหุ้นกันจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนเพื่อทำการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยประสงค์จะนำกำไรที่ได้จากการลงทุนของแต่ละคนมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายในกิจกรรมของรุ่น หากขาดทุนก็ขาดทุนร่วมกัน เข้าลักษณะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 ต่อมา ช. ถึงแก่ความตาย ห้างหุ้นส่วนสามัญดังกล่าวจึงเลิกกันตามมาตรา 1055 (5) และต้องจัดให้มีการชำระบัญชี เว้นแต่จะได้ตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันตามมาตรา 1061 วรรคหนึ่ง ซึ่งการชำระบัญชีนั้นมาตรา 1061 วรรคสาม ให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดด้วยกันจัดทำ หรือให้บุคคลอื่นซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนได้ตั้งแต่นั้นเป็นผู้จัดทำ แต่กลับได้ความว่ามีเพียงหุ้นส่วนบางคนเท่านั้นที่เข้าไปเจรจาตกลงกับจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. เกี่ยวกับการจัดการบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ที่ลงทุนร่วมกันและได้แสดงหลักฐานการโอนเงินร่วมลงทุน ต่อมาจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. ได้ตกลงโอนหลักทรัพย์และเงินลงทุนคงเหลือคืนแก่ผู้ร่วมลงทุนบางคนตามสัดส่วนของการลงทุนที่จำเลยทั้งสองเป็นผู้คิดคำนวณ โดยที่โจทก์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งไม่ได้ร่วมเจรจาหรือตกลงด้วย จึงถือไม่ได้ว่ามีการชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนสามัญ เนื่องจากหุ้นส่วนทุกคนไม่ได้ตกลงร่วมกัน แม้หุ้นส่วนบางคนจะเข้าไปเจรจากับจำเลยทั้งสองจนกระทั่งได้รับโอนหลักทรัพย์และเงินลงทุนคืนไปแล้ว และจำเลยทั้งสองอ้างว่าหุ้นส่วนคนอื่นไม่มีใครคัดค้านก็ตาม แต่หุ้นส่วนบางคนที่ไม่ได้เข้าร่วมเจรจานั้น ย่อมไม่ได้ตรวจสอบหรือยืนยันความถูกต้องในการจัดการทรัพย์สินของห้าง ซึ่งอาจเกิดข้อผิดพลาดและปัญหาโต้แย้งกันได้ในภายหลัง พฤติการณ์ดังกล่าวถือไม่ได้ว่ามีการตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันที่จะทำให้ไม่ต้องมีการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วน และกรณียังมีข้อโต้แย้งกันเรื่องผลเฉลี่ยขาดทุนและการคืนทุน จึงต้องจัดให้มีการชำระบัญชีก่อนเพื่อให้ทราบว่าห้างหุ้นส่วนมีผลประกอบการขาดทุนหรือไม่และมีทรัพย์สินคงเหลือเพียงใด แม้โจทก์จะไม่ได้มีคำขอให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชีมาด้วยก็ตาม แต่การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าห้างหุ้นส่วนเลิกกันแล้วแต่จำเลยทั้งสองไม่คืนเงินลงทุนส่วนที่เป็นของโจทก์ซึ่งจะสามารถบังคับชำระได้เมื่อมีการชำระบัญชี ย่อมเห็นความประสงค์ของโจทก์ได้ว่าต้องการให้มีการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนด้วยแล้ว ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้มีการชำระบัญชีและตั้งผู้ชำระบัญชีไปเสียทีเดียวได้โดยไม่จำต้องให้โจทก์กลับไปฟ้องเป็นคดีใหม่อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1042/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เลิกห้างหุ้นส่วนสามัญ การจัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่น และอำนาจฟ้องเพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์
โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญเพื่อแสวงหากำไรจากการไถ่ถอนการจำนองที่ดิน โดยโจทก์และจำเลยที่ 1 รับผิดชอบเงินทุนรวมทั้งค่าใช้จ่ายต่าง ๆ คนละกึ่งหนึ่งเท่า ๆ กัน กำไรที่ได้จากการขายที่ดินหลังจากหักเงินลงทุนและค่าใช้จ่ายแล้วแบ่งปันกันคนละกึ่งหนึ่ง จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกเงินค่าใช้จ่ายและเงินลงทุนไปก่อน โจทก์และจำเลยที่ 1 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมกันในที่ดิน 24 แปลง คือ ที่ดินลำดับที่ 8 ถึง 28 และลำดับที่ 29 ถึง 31 พฤติการณ์ที่โจทก์โอนที่ดินลำดับที่ 8 ถึง 10 ให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ดินลำดับที่ 11 ถึง 28 ให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อหักกลบลบหนี้กับเงินลงทุน หนี้สินและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จำเลยที่ 1 ได้ออกทดรองไปก่อน ถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงเลิกห้างหุ้นส่วนต่อกันแล้ว และเป็นการตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันแทนการชำระบัญชีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1061 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เลิกห้างหุ้นส่วนสามัญระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และให้จัดการชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนสามัญ และไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินลำดับที่ 8 ถึง 10 ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ทั้งไม่มีอำนาจฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินที่ได้จากการขายที่ดินลำดับที่ 11 ถึง 28 ให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง
เมื่อห้างหุ้นส่วนสามัญระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เลิกกันและมีการจัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 แทนการชำระบัญชี การที่จำเลยที่ 1 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินลำดับที่ 29 ถึง 31 ร่วมกับโจทก์นั้น เป็นการถือกรรมสิทธิ์ในฐานะเจ้าของรวม จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิจำหน่ายที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้จำเลยที่ 4 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคหนึ่ง ซึ่งไม่กระทบกรรมสิทธิ์ส่วนที่เป็นของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 ได้
of 8