คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เวนคืนที่ดิน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 119 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2518/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดิน: การบังคับใช้ประกาศคณะปฏิวัติ vs. พ.ร.บ.เวนคืน และการคิดดอกเบี้ย
ที่ดินพิพาทของโจทก์ถูกเวนคืนโดยอาศัยพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอบางกรวยจังหวัดนนทบุรี และเขตดุสิต เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานครพ.ศ. 2527 ซึ่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวออกโดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 63 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน2515 รายละเอียดในการเวนคืนที่ดินพิพาทจึงต้องบังคับตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว หาใช่บังคับตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ไม่ เมื่อโจทก์โต้แย้งเงินค่าทดแทนไว้แล้ว โจทก์ไม่จำต้องยื่นอุทธรณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยภายในหกสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่ หรือผู้ได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวแต่โจทก์ย่อมฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ตนเห็นว่ายังขาดอยู่ภายในกำหนดหนึ่งปี นับแต่วันที่โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนได้ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ฯ ข้อ 67 วรรคสอง ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรีและเขตดุสิต เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2527 ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2527 เป็นต้นไป จำเลยจึงต้องใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของจำนวนเงินค่าทดแทนที่ศาลสั่งจ่ายเพิ่มขึ้นนับแต่วันดังกล่าวและแม้ว่าต่อมาพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวจะถูกยกเลิกก็หามีผลย้อนหลังใช้บังคับโจทก์ซึ่งมีสิทธิอยู่ก่อนแล้วไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2683/2536 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างถนนย่อมชอบด้วยกฎหมาย แม้ที่ดินนั้นเป็นโบราณสถาน เพราะมีวัตถุประสงค์ต่างกัน
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 และ พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงสี่พระยา แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรักกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 ไม่ขัดแย้งกับ พ.ร.บ. โบราณสถาน โบราณวัตถุศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 เพียงแต่ตามสภาพของการเวนคืนที่ดินเพื่อทำถนนหรือทางสาธารณประโยชน์จำเป็นต้องรื้อถอนอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่ขวางถนนหรือทางสาธารณประโยชน์นั้น แม้อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่ต้องรื้อจะเป็นโบราณสถาน วัด มัสยิด หรือปูชนียสถานที่คนเคารพนับถือก็ตาม ก็ต้องรื้อไปจึงจะสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาได้ การสร้างสิ่งใหม่หรือการทำถนนเพื่อสาธารณประโยชน์และการผังเมืองตามความจำเป็นเพื่อแก้ปัญหาความคับคั่งของการจราจรจึงทำได้โดยอาศัยอำนาจนิติบัญญัติหรือกฎหมายที่บัญญัติขึ้นใหม่เพื่อการนั้น โดยมีวัตถุประสงค์แตกต่างไปจาก พ.ร.บ.โบราณสถาน ฯ พ.ศ.2504 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะคุ้มครองดูแลรักษาบูรณะและซ่อมแซมโบราณสถาน โบราณวัตถุและศิลปวัตถุ กับปราบปรามและลงโทษผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการลักลอบ บุกรุก ขุดค้น และทำลายโบราณสถาน ลักลอบนำหรือส่งโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่มีคุณค่าทางศิลป ประวัติศาสตร์หรือโบราณคดีออกนอกราชอาณาจักรเป็นสำคัญ พ.ร.ฎ. และประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวจึงมิได้มีความประสงค์จะลบล้างบทบัญญัติตาม พ.ร.บ. โบราณสถาน ฯ พ.ศ.2504 แต่อย่างใดทั้งการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เวนคืนที่ดินพิพาทก็โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงสี่พระยา ฯ พ.ศ.2528 ซึ่งออกเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2528 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 7สิงหาคม 2528 และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2528 อันเป็นวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาดังกล่าว ทั้งนี้ ตามมาตรา 2 แห่งพ.ร.ฎ.ฉบับนี้ ซึ่งเป็นวันก่อนที่อธิบดีกรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนบ้านพิพาทเป็นโบราณสถานเรือนทรงไทยเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2528 ทั้งได้มีการตั้งคณะกรรมการเจรจาค่าทดแทนที่ดิน อาคาร และสิ่งปลูกสร้างในแนวถนนที่จะสร้างไว้แล้ว หากต้องสร้างถนนเบี่ยงเบนออกไปจากบ้านพิพาทก็ต้องมีการเวนคืนที่ดินของผู้อื่นเพิ่มขึ้นจากเดิมย่อมทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่เจ้าของที่ดินผู้อื่นที่ไม่ทราบมาก่อนว่าที่ดินจะต้องถูกเวนคืน และจำต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสำรวจแนวถนนใหม่ ประกอบกับหากต้องสร้างถนนเบี่ยงเบนไปถนนตรงบริเวณนั้นจะเป็นทางโค้ง อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนและเกิดความไม่คล่องตัวของการจราจรได้ นอกจากนี้ยังปรากฏว่าบ้านพิพาทสามารถถอดแยกเป็นส่วนต่าง ๆ และนำไปประกอบเป็นรูปทรงเดิมได้ ดังนี้การที่จำเลยที่ 1และที่ 2 ไม่ยอมสร้างทางเบี่ยงเบนออกไปจากบ้านพิพาท จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้ดุลพินิจตามอำนาจที่กฎหมายให้ไว้โดยชอบแล้ว
โดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 63, 65, 66วรรคแรก, 67 วรรคแรก และวรรคท้าย กับเมื่อมี พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงสี่พระยา ฯ พ.ศ.2428 ใช้บังคับ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดทางหลวงที่มีความจำเป็นต้องสร้างโดยเร่งด่วนแล้วเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน2528 ซึ่งตามบทกฎหมายดังกล่าวนี้ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เมื่อชำระค่าทดแทนแล้วมีอำนาจเข้าครอบครองบ้านพิพาทและรื้อถอนบ้านพิพาทได้เมื่อปรากฏว่ามีการแต่งตั้งคณะกรรมการเจรจาค่าที่ดิน อาคาร และสิ่งปลูกสร้างในแนวถนนโครงการจากถนนสี่พระยาถึงถนนสุรวงศ์ตามคำสั่งกรุงเทพมหานครที่624/2526 จัดทำแผนที่กำหนดแนวเขตที่ดินที่เวนคืน แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาทำความตกลงเรื่องค่าทดแทนตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 484/2528กับได้กำหนดค่าทดแทนสำหรับที่ดินและบ้านพิพาท และแจ้งกำหนดวันเข้าครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทให้โจทก์ทราบแล้ว จำเลยทั้งสามจึงมีสิทธิและอำนาจที่จะเข้าครอบครองและดำเนินการในอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ได้
คณะกรรมการดำเนินการตัดถนนทางหลวงเทศบาลตามพ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงสี่พระยา ฯ พ.ศ.2528 ได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนแล้ว ซึ่งต่อมาไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ไปทำความตกลงในเรื่องค่าทดแทนกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กรณีเป็นเรื่องที่ยังไม่ได้มีการตกลงกันในเรื่องค่าทดแทน จำเลยทั้งสามจึงยังไม่มีหน้าที่ต้องนำเงินค่าทดแทนไปวางศาลตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 63

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1697/2536 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดินต้องกำหนดราคาตามความเป็นธรรม โดยคำนึงถึงสภาพที่ดิน วัตถุประสงค์การเวนคืน และรายได้ที่คาดว่าจะได้รับ
พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลห้วยโป่งฯมาตรา 5 เน้นที่จะให้เกิดความเป็นธรรมเป็นสำคัญ เมื่อจำเลยได้รับทรัพย์สินของโจทก์ไปเท่าใดก็ควรจะต้องใช้เงินทดแทนให้โจทก์ตามราคาของทรัพย์สินนั้น ที่มาตรา 5 บัญญัติให้คำนึงถึงสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์มีผลเท่ากับให้มีการพิจารณาสภาพและที่ตั้งของที่ดินที่ถูกเวนคืนเป็นแปลง ๆ ไป ทั้งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยฯ จำเลยจัดตั้งขึ้นเพื่อแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจ จำเลยมีสิทธิให้เช่าให้เช่าซื้อและขายอสังหาริมทรัพย์ในนิคมของจำเลยได้พนักงานและลูกจ้างของจำเลยอาจได้รับโบนัสตามระเบียบที่ครม.กำหนด พระราชบัญญัติ เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวจึงบัญญัติให้การกำหนดราคาที่ดินต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ในการเวนคืนด้วย การที่จำเลยกำหนดราคาที่ดินที่ถูกเวนคืนจากราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประการเดียว จึงไม่ชอบ พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลห้วยโป่งฯมาตรา 9 วรรค 4 บัญญัติให้ผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ได้มีการจ่ายเงินหรือวางเงินค่าทดแทน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 9.5 ต่อปีคงที่จึงไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1697/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดิน: ราคาที่ดินต้องพิจารณาจากสภาพที่ตั้ง วัตถุประสงค์ และรายได้ที่ดิน
ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลห้วยโป่งและตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยองพ.ศ.2527 มาตรา 5 การกำหนดราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่เวนคืน จะต้องพิจารณาจากผลการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ซึ่งตีราคาเพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ และราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประการหนึ่ง สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ประการหนึ่งและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนอีกประการหนึ่ง รวม 3 ประการด้วยกันจำเลยกำหนดราคาที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนจากราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเพียงประการเดียว ราคาดังกล่าวประเมินโดยเอาตำบล ถนน และทะเล เป็นหลัก ซึ่งเป็นการประเมินอย่างกว้าง ๆ ย่อมไม่ตรงกับความเป็นจริงเสมอไป ที่พระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 5 บัญญัติให้คำนึงถึงสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ไว้ซ้ำอีก มีผลเท่ากับบังคับให้มีการพิจารณาสภาพและที่ตั้งของที่ดินที่ถูกเวนคืนเป็นแปลง ๆ ไป ทั้งพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 มาตรา 6 ที่บัญญัติถึงวัตถุประสงค์ของจำเลยเห็นได้อยู่ในตัวว่าจัดตั้งขึ้นเพื่อแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรา 6(3) จำเลยมีสิทธิให้เช่าซื้อและขายอสังหาริมทรัพย์ในนิคมอุตสาหกรรมของจำเลยได้ นอกจากนี้มาตรา 32 และมาตรา 35 บัญญัติให้ประธานกรรมการ พนักงานและลูกจ้างของจำเลยอาจได้รับโบนัสตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวข้างต้นจึงได้บัญญัติให้การกำหนดราคาที่ดินต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ในการเวนคืนด้วย มิฉะนั้นจะเป็นช่องทางให้จำเลยแสวงกำไรจากการกดราคาที่ดินที่ถูกเวนคืนเพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจของจำเลย หรือเพื่อผลกำไรจะได้กลับมาสำหรับจ่ายเป็นโบนัสทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อสังคม การที่จำเลยนำเอาราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประการเดียวมากำหนดเป็นราคาที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนจึงไม่ชอบ และที่ศาลอุทธรณ์กำหนดราคาที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนไร่ละ 50,000 บาทโดยพิจารณาถึงรายได้ที่จำเลยได้รับจากการให้เช่าที่ดินของโจทก์ที่ได้ไปจากการเวนคืนไร่ละ 48,000 บาท ต่อปี จึงชอบแล้ว เพราะรายได้จากทรัพย์สินกับราคาของทรัพย์สินนั้นย่อมจะต้องสัมพันธ์กันพระราชบัญญัติ ญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลห้วยโป่งและตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง พ.ศ. 2527มาตรา 9 วรรคสี่ บัญญัติให้ผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ได้มีการจ่ายเงินหรือวางเงินค่าทดแทนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 9.5 ต่อปีคงที่จนกว่าจะชำระเสร็จจึงไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 166/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดิน: การกำหนดราคาทดแทนที่ดินตามราคาซื้อขายจริง และดอกเบี้ยเริ่มนับจากวันประกาศใช้ พ.ร.ฎ.เวนคืน
ที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืน อยู่ในแนวเขตที่ พ.ร.ฎ. กำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกตอนแขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2524 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติมอบการดำเนินการก่อสร้างให้แก่กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1และตาม พ.ร.ฎ. กำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ตอนแขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2524มาตรา 4 กำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ข้อ 64(2) และมีหน้าที่จ่ายค่าทดแทน ตามข้อ 67 และข้อ 74 ถึง 77 ดังนั้นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 และในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ย่อมมีสิทธิมอบอำนาจให้ ก. ดำเนินการสำรวจออกแบบและก่อสร้างทางหลวงเพื่ออนุวัตตามมติคณะรัฐมนตรีได้ เมื่อโจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1 กำหนดเงินค่าทดแทนไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มจากจำเลยที่ 1 ได้ และถือว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์โต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ด้วย กรณีฟ้องเรียกเอาค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ไม่ใช่คดีฟ้องบังคับตามสัญญาซื้อขายจึงไม่อยู่ในบังคับที่ไม่ให้สืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขจำนวนเงินในสัญญาซื้อขาย.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1985/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดิน: ค่าทดแทนที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และดอกเบี้ยตามประกาศคณะปฏิวัติ
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน2515 ข้อ 23 วรรคท้าย ประกอบด้วยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 76 ที่ได้กำหนดเงินค่าทดแทนให้เท่าราคาของทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ ซื้อขายในท้องตลาดนั้น หมายถึงราคาธรรมดาของที่ดินแต่ละแปลงที่อ้างซื้อขายกันในท้องตลาดตามความเป็นจริงแต่ราคาที่ดินตามบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม เป็นเพียงราคาปานกลางของที่ดินในแต่ละเขตท้องที่ ซึ่งที่ดินแต่ละแปลงในท้องที่เดียวกันและตามบัญชีดังกล่าวกำหนดไว้เป็นราคาเดียวกัน อาจมีราคาแตกต่างกันตามสภาพของที่ดินแต่ละแปลง และสำหรับที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนปรากฏว่าเป็นที่ดินที่อยู่ห่างจากถนนสายธนบุรี-ปากท่อ เพียงประมาณ 15 เมตร เป็นที่ดินที่ใช้สร้างโรงภาพยนตร์ มีทางเข้าออกเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กมีลานจอดรถและอาคารพาณิชย์โดยรอบ เชื่อได้ว่าที่ดินของโจทก์ดังกล่าวมีราคาธรรมดาที่อาจซื้อขายกันในท้องตลาดตามความเป็นจริงสูงกว่าราคาตามบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม เครื่องปรับอากาศของโจทก์เป็นเครื่องปรับอากาศใช้สำหรับโรงภาพยนตร์เชื่อได้ว่าเป็นเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ การติดตั้งและรื้อถอนต้องเสียค่าแรงงานและอาจเกิดความเสียหายได้ จำเลยต้องใช้เงินค่าทดแทน เก้าอี้นั่งชมภาพยนตร์ของโจทก์มีลักษณะที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้สำหรับโรงภาพยนตร์โดยเฉพาะ และได้ติดตั้งยึดไว้กับพื้นของโรงภาพยนตร์ ซึ่งตามปกติโรงภาพยนตร์ต้องมีเก้าอี้เพื่อ ให้ผู้ชมได้นั่งชมภาพยนตร์ การรื้อถอนเก้าอี้ออกไปจะทำให้โรงภาพยนตร์เสียสภาพจากการเป็นโรงภาพยนตร์ถือได้ว่าเก้าอี้นั่งชมภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโรงภาพยนตร์ซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้าง จำเลยจึงต้องใช้เงินค่าทดแทนให้โจทก์ เมื่อมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ที่คิดว่าจะเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษ และรัฐมนตรีได้รับประกาศให้ทางสายนั้นเป็นทางที่มีความจำเป็นต้องสร้างโดยเร่งด่วนแล้ว แม้จะยังไม่มีการออกพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ จำเลยก็มีหน้าที่ต้องใช้เงินค่าทดแทนหรือค่าเสียหายให้โจทก์และเมื่อนำข้อ 67 วรรคสองแห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยอาศัยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 23 วรรคสอง แล้วมีความหมายว่าโจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1211/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดิน: การกำหนดค่าทดแทนที่เป็นธรรมตามกฎหมายเวนคืน และความรับผิดของเจ้าหน้าที่เวนคืน
ค่าทดแทนราคาที่ดินที่ถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลบางปะกงอำเภอบางปะกงจังหวัดฉะเชิงเทรา พ.ศ. 2521 ไม่ได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นจึงต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2497 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ซึ่งมาตรา 16บัญญัติไว้สำหรับกรณีที่มิได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาตามความในมาตรา 6และพระราชบัญญัติเวนคืนมิได้กำหนดค่าทดแทนเป็นอย่างอื่น ให้กำหนดราคาทรัพย์สินที่ต้องเวนคืนนั้นตามความเป็นธรรมที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับ พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ท้องที่พิพาทคดีนี้ พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลบางปะกงอำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา พ.ศ. 2521 มาตรา 3 ระบุให้ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มีผลทำให้เป็นเจ้าหน้าที่ตามความในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 มาตรา 4ซึ่งมีหน้าที่จ่ายค่าทดแทนตามความในมาตรา 26 ถึงมาตรา 28และมาตรา 30,31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1203/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยเวนคืนที่ดิน: เริ่มนับแต่วันพระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ ไม่ใช่วันเข้าครอบครอง
โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินในแนวทางที่จะสร้างทางหลวงพิเศษมี สิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืน อสังหาริมทรัพย์ได้ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 76วรรคสอง ซึ่งบัญญัติให้เรียกดอกเบี้ย ได้ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากยอดเงินที่จะต้องชำระเพิ่มขึ้น นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ใช้บังคับ หาใช่นับแต่วันที่จำเลยเข้าครอบครองที่ดินของโจทก์ไม่.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6471/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดิน: การประเมินราคาที่ดินตามราคาตลาด และอายุความฟ้องร้องเรียกค่าทดแทน
ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ข้อ 76 ให้กำหนดค่าทดแทนเท่าราคาของทรัพย์สินตามธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พ.ร.ฎ. ใช้บังคับและการเรียกค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืน โจทก์มีหน้าที่จะต้องหาพยานมาสนับสนุนข้ออ้างของโจทก์ให้มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าเป็นราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาด ไม่ใช่หน้าที่ของจำเลย โจทก์ได้รับค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 54330 เมื่อวันที่ 21มีนาคม 2528 ส่วนที่ดินอีก 4 แปลง ได้รับค่าทดแทนปี 2527โจทก์ฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2529 ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าทดแทนที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 54330 ไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันได้รับเงินค่าทดแทน ยังไม่ขาดอายุความ ส่วนที่เกี่ยวกับค่าทดแทนที่ดินอีก 4 แปลงที่เหลือ ฟ้องเกิน 1 ปี นับแต่วันได้รับเงินค่าทดแทน จึงขาดอายุความตามข้อ 67.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6037/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนเวนคืนที่ดิน: การครอบครองที่ดินโดยไม่ชำระค่าทดแทน และดอกเบี้ยตามกฎหมาย
ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 188 นายกเทศมนตรีเทศบาลนครหลวงขณะนั้นเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ตามคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติ หัวหน้าแผนกพิจารณาอุทธรณ์และคำร้องกองกฎหมายและคดี หัวหน้าแผนกสำรวจ กองรังวัดและที่ดิน ฝ่ายการโยธาเทศบาลนครหลวงหรือของกรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 ในปัจจุบันเป็นกรรมการเวนคืนที่ดินพิพาทเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 และมีประกาศของจำเลยที่ 1 ให้เจ้าของที่ดินยื่นคำขอรับเงินค่าทดแทนจากคณะกรรมการเวนคืน นอกจากนี้ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 188ข้อ 3 พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497มาตรา 8,10 ให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ต้องเวนคืนนั้นตกมาเป็นของเจ้าหน้าที่ แต่เจ้าหน้าที่จะมีสิทธิเข้าครอบครองทรัพย์สินได้ต่อเมื่อใช้เงินหรือวางเงินค่าทดแทนแล้ว แสดงความมุ่งหมายของประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 188 ว่า การเวนคืนที่ดินพิพาทก็เพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ปรากฏว่าเมื่อ พ.ศ. 2526 จำเลยที่ 1ได้เข้าครอบครองทำถนนโดยไม่ได้จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ ส.เจ้าของที่ดินพิพาทขณะนั้น ตามประกาศของคณะปฏิวัติแต่อย่างใดเมื่อ ส. ทวงถาม จำเลยที่ 1 กลับมีหนังสือตอบผัดผ่อนเรื่อยมาโดยไม่ได้โต้แย้งให้ทวงถามค่าทดแทนจากบุคคลอื่น โจทก์ซึ่งเป็นทายาทรับมรดกจาก ส. จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 1ได้จำเลยที่ 1 ไม่อาจยกเหตุที่ไม่ได้งบประมาณจากรัฐบาลเป็นข้อแก้ตัวได้ เมื่อโจทก์มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการเวนคืนที่ดินพิพาท แม้จะฟังว่าคณะรัฐมนตรีมีมติให้โอนสิทธิในที่ดินพิพาทไปให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ภายหลังก็หาทำให้โจทก์สิ้นสิทธิเรียกค่าทดแทนซึ่งมีอยู่เดิมแล้วแต่อย่างใดไม่ทั้งมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวก็ไม่ใช่กฎหมายที่จะลบบ้างประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 188 ซึ่งมีผลเป็นกฎหมายอีกด้วย ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 36 วรรคสอง การเวนคืนและการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ได้ปฏิบัติไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้เป็นอันใช้ได้ แต่การดำเนินการต่อไปให้ดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ เมื่อกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ยังมิได้กำหนดค่าทดแทนภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งตามมาตรา 23 วรรคสอง เป็นการมิชอบและกรณีไม่ใช่เรื่องการชำระค่าทดแทนเพิ่มขึ้นตามมาตรา 26 วรรคสามหรือการจ่ายค่าทดแทนล่าช้าตามมาตรา 28 และมาตรา 33 การคำนวณดอกเบี้ยในค่าทดแทนตามมาตราดังกล่าวจึงไม่อาจนำมาปรับในค่าทดแทนในกรณีนี้ได้ และเมื่อไม่มีบทบัญญัติกฎหมายโดยเฉพาะ โจทก์ก็ชอบที่จะได้ดอกเบี้ยในค่าทดแทนที่ยังมิได้รับชำระในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 และเมื่อศาลชั้นต้นกำหนดให้เรียกดอกเบี้ยได้มีกำหนด 10 ปี นับแต่วันฟ้องย้อนขึ้นไป จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์เฉพาะในส่วนนี้ ศาลฎีกาจึงไม่มีเหตุจะแก้ไข
of 12