คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
แรงงาน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 77 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2963-2964/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนหนี้จากบริษัทเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย และอายุความค่าจ้างแรงงาน
สัญญาโอนสินทรัพย์และหนี้สินทำขึ้นเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2542 ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2542 ระบุให้โอนสินทรัพย์และหนี้สินของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 2 โอนสินทรัพย์และหนี้สินให้แก่จำเลยที่ 3 โดยกำหนดว่าหนี้สินได้แก่เงินฝาก เงินกู้ยืม ค่าใช้จ่ายค้างจ่ายเจ้าหนี้สามัญรายอื่นๆ หนี้ค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีรวมดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องจ่ายให้โจทก์ทั้งสองเป็นหนี้สามัญตามสัญญาดังกล่าว จึงโอนไปเป็นของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ จำเลยที่ 3 แต่ผู้เดียวต้องรับผิดในหนี้ข้างต้นต่อโจทก์ทั้งสองนับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2542 เป็นต้นไป
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 91 มีความหมายชัดแจ้งว่าบุคคลที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้นต้องมีลักษณะเป็นลูกหนี้ของเจ้าหนี้ เจ้าหนี้จึงจะมีหน้าที่ต้องยื่นขอรับชำระหนี้ เมื่อปรากฏว่าหนี้ที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์ทั้งสองได้โอนไปยังจำเลยที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2542 เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 1 ในวันที่ 3 ธันวาคม 2545 จำเลยที่ 1 ไม่อยู่ในลักษณะเป็นลูกหนี้ของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองย่อมไม่มีหน้าที่ตามบทมาตรา 91 ที่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด การที่โจทก์ทั้งสองไม่ยื่นขอรับชำระต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีผลกระทบต่อสิทธิในการได้รับชำระหนี้ดังกล่าวของโจทก์ทั้งสอง
ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน เป็นสินจ้าง มีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (9)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20658-21837/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทแรงงาน: การปรับอัตราค่าจ้าง, เงินบำเหน็จ, ดอกเบี้ย, และสภาพการจ้างโดยปริยาย
การที่โจทก์ที่ 921 แก้ไขคำฟ้องโดยจำเลยมิได้ให้การแก้คดีเพิ่มเติม มีผลเพียงว่าจำเลยยอมรับว่ามีมติคณะรัฐมนตรีจริง ส่วนโจทก์ที่ 921 จะมีสิทธิได้รับการปรับอัตราค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของมติคณะรัฐมนตรีนั้นด้วย เมื่อมติคณะรัฐมนตรีในการปรับค่าจ้างในอัตราไม่เกินร้อยละ 5 มีเงื่อนไขว่าเมื่อปรับค่าจ้างแล้วค่าจ้างที่ได้รับต้องไม่เกิน 50,000 บาท ทั้งจะต้องจัดหารายได้เพิ่มเติมและหรือต้องลดค่าใช้จ่ายเพื่อให้เพียงพอรายจ่ายบุคลากรที่เพิ่มขึ้น กรณีจึงยังไม่อาจปรับค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ให้แก่โจทก์ที่ 921 ได้
การที่มีบันทึกข้อตกลงในวันที่ 29 มิถุนายน 2525 ข้อ 17 ที่ระบุว่าการพิจารณาความดีความชอบประจำปีของเจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของคุรุสภาในขณะใด ๆ ให้องค์การค้าของคุรุสภาพิจารณาโดยถือหลักเกณฑ์การพิจารณาตามมติคณะรัฐมนตรีหรือระเบียบของทางราชการที่กำหนดสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจในขณะนั้น ๆ มิใช่หมายความว่าเพียงแต่มีบันทึกข้อตกลงนั้นแล้วจะเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยาย จะต้องปรากฏว่าได้มีการปฏิบัติตามข้อตกลงมาอย่างต่อเนื่องด้วย เมื่อองค์การค้าของคุรุสภาไม่เคยให้เงินตอบแทนความดีความชอบแก่เจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาในลักษณะที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ลูกจ้างและพนักงานรัฐวิสาหกิจผู้ปฏิบัติงานช่วงเกษียณอายุติดต่อกับครบ 15 ปี ได้รับเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน มาก่อน เงินตอบแทนความชอบ จึงไม่เป็นสภาพการจ้างโดยปริยาย
ความเสียหายเป็นดอกเบี้ยสหกรณ์ที่จำเลยจ่ายเงินให้โจทก์ที่ 1191 ล่าช้าเป็นความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 วรรคสอง โจทก์ที่ 1191 ต้องแสดงให้ปรากฏว่าจำเลยได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นล่วงหน้าก่อนแล้วถึงพฤติการณ์ที่โจทก์ที่ 1191 จะได้รับความเสียหาย เมื่อโจทก์ที่ 1191 ไม่ได้แสดงให้ปรากฏว่าจำเลยได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นล่วงหน้าถึงความเสียหายให้เพียงพอ การที่ศาลแรงงานกลางไม่กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้จึงชอบแล้ว
การที่จำเลยปรับอัตราค่าจ้างให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในส่วนงานอื่นของจำเลย แต่ไม่ปรับอัตราค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งหมดซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของจำเลย ทั้งที่ลูกจ้างทั้งสองกลุ่มนี้ต่างก็ทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยด้วยกัน เป็นการปฏิบัติโดยไม่เท่าเทียมกัน ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยปรับอัตราค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งหมดนั้น เป็นการพิจารณาถึงระดับค่าจ้างที่ไม่ได้รับการปรับขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีของโจทก์ทั้งหมดกับระดับค่าจ้างที่ได้รับการปรับขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีของพนักงานเจ้าหน้าที่อื่นที่ไม่ใช่พนักงานเจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของจำเลย อันเป็นการพิจารณาเพื่อกำหนดให้เป็นธรรมแก่คู่ความทั้งสองฝ่ายโดยชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 48 แล้ว
เมื่อสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภากับองค์การค้าของคุรุสภามีการปฏิบัติตามข้อตกลงมาจนกระทั่งมีสภาพเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยายแล้ว หากจำเลยเห็นว่าการปฏิบัติตามข้อตกลงนี้ไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบันของจำเลย จำเลยก็สามารถดำเนินการให้ถูกต้องตามกระบวนการของ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ที่กำหนดไว้สำหรับการยื่นข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง หรือจำเลยตกลงกับลูกจ้างที่เกี่ยวข้องเพื่อเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเดิมได้ หรือลูกจ้างที่เกี่ยวข้องได้ให้ความยินยอมสำหรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยให้จำเลยต้องดำเนินการตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยายที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับปฏิบัติต่อกันมาโดยตลอดนั้นเป็นการตีความตามมุ่งหมายในการทำข้อตกลงของทั้งสองฝ่ายโดยชอบ
โจทก์ทั้งหมดฟ้องขอให้จำเลยปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงโดยปรับอัตราค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีแก่โจทก์ทั้งหมด เป็นการกล่างอ้างว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 12 เมื่อจำเลยยังไม่ได้ปรับเงินเดือนค่าจ้างของโจทก์ทั้งหมดตามมติคณะรัฐมนตรีเงินที่จะได้รับจากการปรับอัตราค่าจ้างตามที่โจทก์ทั้งหมดฟ้องนั้นจึงยังไม่มีสถานะเป็นสินจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 575 และยังไม่มีสถานะเป็นค่าจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 สิทธิเรียกร้องให้จำเลยดำเนินการดังกล่าวจึงมิได้ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (9) แต่เป็นกรณีจำเลยผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ทั้งหมดซึ่งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
เงินที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิที่จะได้รับจากการปรับอัตราค่าจ้างตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยายยังไม่มีสภาพเป็นค่าจ้าง จึงมิใช่ค่าจ้างที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง แต่เป็นหนี้เงินที่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งหมดทวงถามให้จำเลยจ่ายค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจากการปรับอัตราค่าจ้างและเงินบำเหน็จส่วนที่จ่ายไม่ครบเมื่อใด จำเลยจึงต้องชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7699/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างแรงงาน vs. สัญญาจ้างทำของ: การพิจารณาจากลักษณะการควบคุมการทำงานและค่าตอบแทน
โจทก์มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้ จ. ปฏิบัติตาม มีวันเวลาทำงานวันใด วันหยุดวันใด หากไม่อาจมาทำงานได้จะต้องปฏิบัติอย่างไร หากไม่ปฏิบัติตามนั้นจะมีผลอย่างไร ซึ่งเป็นการใช้อำนาจบังคับบัญชาในการปฏิบัติงานของ จ. โดยแท้ หาใช่ จ. ทำงานได้โดยอิสระเพียงเพื่อให้ได้ผลสำเร็จของงานเท่านั้นไม่ และในสัญญาดังกล่าวกำหนดให้โจทก์จ่ายค่าบริการแก่ จ. เป็นรายเดือนตอบแทนการทำงานตลอดระยะเวลาที่ จ. ทำงานให้โจทก์ โดยกำหนดค่าล่วงเวลา ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ค่าทำงานในวันหยุด หาใช่โจทก์จ่ายสินจ้างให้ จ. เพื่อผลสำเร็จแห่งการงานที่ทำอันจะเป็นสัญญาจ้างทำของไม่ นอกจากนี้ ในหัวข้อสุดท้ายของสัญญาดังกล่าวที่เป็นหมายเหตุยังกำหนดว่านอกเหนือจากหน้าที่ขับรถตามสัญญาแล้ว ยังมีกรณีที่ จ. ต้องทำงานอื่นตามที่โจทก์มอบหมายอีกด้วย จะเห็นได้ว่าค่าตอบแทนในการทำงานจึงมิใช่เพียงเพื่อผลสำเร็จของการงานที่ทำคือขับรถเท่านั้น แต่เป็นค่าจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ไม่ว่าเป็นงานหน้าที่ใดโดยกำหนดจ่ายเป็นรายเดือน ดังนั้น สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับ จ. จึงมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงานมิใช่สัญญาจ้างทำของดังที่โจทก์อุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6392/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สินสมรสจากค่าชดเชยแรงงาน: เจ้าหนี้มีสิทธิอายัดเงินส่วนของคู่สมรส
เงินที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีของศาลแรงงานกลางนำไปวางศาลเพื่อชำระหนี้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนนั้นเป็นเงินค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่าย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าชดเชยและค่าเสียหายตามสิทธิที่ผู้ร้องพึงได้ตามกฎหมาย ซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายแก่ผู้ร้องผู้เป็นลูกจ้าง แม้ผู้ร้องใช้สิทธิเรียกร้องของตนมาฟ้องนายจ้าง แต่เมื่อผู้ร้องชนะคดีจนได้เงินดังกล่าวมาก็เป็นการได้มาระหว่างสมรส เงินดังกล่าวย่อมเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) จำเลยที่ 1 ในฐานะคู่สมรสของผู้ร้องจึงมีสิทธิในเงินดังกล่าวกึ่งหนึ่ง แม้ว่าในคดีของศาลแรงงานกลางนั้นผู้ร้องมิได้แถลงเพื่อยินยอมให้เงินดังกล่าวเป็นสินสมรส ก็หามีผลแต่อย่างใดไม่ เนื่องจากทรัพย์สินใดเป็นสินสมรสระหว่างสามีภริยาหรือไม่นั้นเป็นไปโดยผลของกฎหมาย หาใช่เป็นเพราะความยินยอมของผู้ร้องไม่ เมื่อเงินดังกล่าวเป็นสินสมรสและตกเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ตามกฎหมายแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิขออายัดเงินดังกล่าวเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ถอนการอายัด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8379/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องค่าเสียหายจากการล่วงเกินทางเพศในที่ทำงาน และความรับผิดของนายจ้าง
โจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัท ซ. ต่อมาวันที่ 16 กันยายน 2543 บริษัท ซ. ได้โอนย้ายโจทก์ไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ยินยอม โจทก์จึงเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 และเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ เมื่อเดือนกันยายน 2538 จำเลยที่ 2 และโจทก์มีเพศสัมพันธ์โดยที่โจทก์อยู่ในสภาวะที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 เรียกโจทก์ไปมีความสัมพันธ์ตามที่มีโอกาสซึ่งหากโจทก์ไม่ยินยอมโจทก์กลัวว่าจะได้รับผลกระทบในการทำงาน โจทก์ลาออกเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2544 โจทก์เห็นว่าการกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างและหัวหน้างานกระทำการล่วงเกินทางเพศ ทำให้โจทก์ไม่อาจทนทำงานอยู่ได้จำต้องลาออกจึงฟ้องขอเรียกค่าเสียหายจากการล่วงเกินทางเพศของจำเลยที่ 2 ดังนี้เห็นได้ว่า โจทก์เสนอข้อหาต่อศาลแรงงานกลางอ้างว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 และเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ โดยโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2543 ภายหลังจาก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มีผลใช้บังคับแล้ว ในระหว่างที่โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างและผู้บังคับบัญชาโจทก์ได้กระทำการล่วงเกินทางเพศต่อโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้าง อันเป็นข้อห้ามตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 16 ทำให้โจทก์ไม่สามารถทำงานต่อไปได้จึงต้องลาออก จึงฟ้องให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าเสียหายจากการล่วงเกินทางเพศของจำเลยที่ 2 แก่โจทก์ ซึ่งหากจำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างกระทำการล่วงเกินทางเพศต่อโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจริง การกระทำของจำเลยที่ 2 นอกจากเป็นการทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายให้โจทก์เสียหายอันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์แล้วยังถือว่าเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วย เมื่อการกระทำก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ โจทก์ย่อมต้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองฐานผิดสัญญาจ้างแรงงานได้อีกฐานหนึ่ง เมื่อสิทธิเรียกร้องของโจทก์ดังกล่าวมิได้มีบทบัญญัติกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ ย่อมมีกำหนดอายุความสิบปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 กระทำการล่วงเกินทางเพศแก่โจทก์ในระหว่างช่วงวันที่ 16 กันยายน 2543 ถึงวันที่ 6 มิถุนายน 2544 และตามคำฟ้องปรากฏว่าโจทก์ได้เสนอคำฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2547 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10406/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเป็นที่สุดหากนายจ้างไม่ฟ้องคัดค้านภายใน 30 วัน
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างและค่าทำงานในวันหยุดแก่โจทก์ โจทก์จึงร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานกลุ่มสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 8 พนักงานตรวจแรงงานสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วมีคำสั่งให้จำเลยจ่ายค่าจ้างและค่าทำงานในวันหยุดแก่โจทก์และได้ส่งคำสั่งให้จำเลยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 143 วรรคหนึ่ง จำเลยได้รับทราบคำสั่งเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2548 แล้ว จำเลยไม่นำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นที่สุดตามมาตรา 125 วรรคสอง จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานให้โจทก์ภายในสิบห้าวันนับแต่วันทราบคำสั่งตามมาตรา 124 วรรคสาม โดยไม่มีสิทธิยกข้อต่อสู้ตามคำให้การซึ่งยุติไปแล้วในชั้นพนักงานตรวจแรงงานมากล่าวอ้างในชั้นที่โจทก์ฟ้องต่อศาลแรงงานกลางขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 597-602/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทแรงงาน: การคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามอายุงานและระยะเวลาทำงาน
การทำงานล่วงเวลา พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 24 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้ว่า "ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราว ๆ ไป" ซึ่งหมายความว่า หากนายจ้างประสงค์ที่จะให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงานแล้ว นายจ้างต้องขอความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเริ่มทำงานล่วงเวลาในแต่ละคราว ๆ ไป นายจ้างถึงจะมีสิทธิให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงานได้ เมื่อพิจารณาสัญญาจ้างแรงงานและเอกสารแนบท้ายสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 กับจำเลยที่ 1 แล้ว สัญญาจ้างแรงงานข้อ 2. การปฏิบัติงาน ข้อ 2.1 กำหนดไว้ว่า เวลาปฏิบัติงานปกติให้ถือเวลาที่กำหนดโดยนายจ้าง ข้อ 2.2 ค่าจ้างล่วงเวลาให้ถือเวลาที่นอกเหนือจากการทำงานปกติ ซึ่งตามเอกสารแนบท้ายสัญญาจ้างแรงงานในข้อ 1. ค่าจ้างแรงงาน ได้ระบุไว้ว่าข้อ 1.1 เวลาทำงานปกติ อัตราค่าจ้างต่อวัน (8 ชั่วโมง) วันละ...บาท อัตราค่าจ้างล่วงเวลา (4 ชั่วโมง) วันละ….บาท จึงเท่ากับว่าจำเลยที่ 1 กำหนดให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ทำงานล่วงเวลาในวันทำงานทุกวันไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ขณะทำสัญญาจ้างแรงงาน การกำหนดในลักษณะดังกล่าวเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ให้นายจ้างต้องขอความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราว ๆ ไป ก่อนเริ่มทำงานล่วงเวลาในวันทำงานตามที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 24 วรรคหนึ่ง กำหนดไว้ การที่จำเลยที่ 1 กำหนดให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ต้องทำงานล่วงเวลาในวันทำงานไว้ล่วงหน้าวันละ 4 ชั่วโมง เป็นการขัดต่อมาตรา 24 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงตกเป็นโมฆะไม่มีผลใช้บังคับ ย่อมไม่อาจนำสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 กับจำเลยที่ 1 มารับฟังทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดเวลาการทำงานปกติและเวลาการทำงานล่วงเวลาได้ แต่อย่างไรก็ดี สำหรับเวลาการทำงานปกติในวันทำงานของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ส่งโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ไปทำงานกับจำเลยที่ 2 และศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษวินิจฉัยไว้โดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 11/1 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างจึงมีอำนาจบังคับบัญชาและควบคุมดูแลการทำงานโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ในฐานะลูกจ้าง ด้วยการกำหนดเวลาการทำงานปกติในวันทำงานของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 และเมื่อข้อเท็จจริงตามที่คู่ความมิได้โต้แย้งคัดค้านกันที่ปรากฏตามคำฟ้องและคำให้การได้ความว่า จำเลยที่ 2 กำหนดเวลาการทำงานปกติให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ทำงานเป็นกะ กะละ 12 ชั่วโมง ต่อวัน ซึ่งการกำหนดเวลาการทำงานปกติดังกล่าวนั้นเป็นการกำหนดที่สอดคล้องกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 และมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยกฎกระทรวงดังกล่าวได้กำหนดให้งานในกิจการปิโตรเลียมตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม รวมตลอดถึงงานซ่อมบำรุงและงานให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับงานดังกล่าว เฉพาะที่ทำในแปลงสำรวจและพื้นที่ผลิต ให้นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันกำหนดเวลาทำงานปกติ โดยกำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดของการทำงาน แต่วันหนึ่งต้องไม่เกินสิบสองชั่วโมง และเมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้วสัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกินสี่สิบแปดชั่วโมง การที่จำเลยที่ 2 กำหนดเวลาการทำงานปกติให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ทำงานวันละ 12 ชั่วโมง โดยโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ตกลงทำงานตามที่จำเลยที่ 2 กำหนดไว้แล้ว จึงต้องถือว่าโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 มีเวลาทำงานในวันทำงานปกติวันละ 12 ชั่วโมง มิใช่มีเวลาทำงานในวันทำงานปกติวันละ 8 ชั่วโมง และทำงานล่วงเวลาในวันทำงานวันละ 4 ชั่วโมง ตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างแรงงานของโจทก์ดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนั้น เงินที่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ได้รับจากการทำงานในเวลาการทำงานปกติวันละ 12 ชั่วโมง จึงเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายวันเป็นค่าจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 ที่ต้องนำมาเป็นฐานในการคิดคำนวณสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้าง โดยไม่คำนึงว่าจำเลยที่ 1 จะเรียกเงินที่จ่ายให้โจทก์ 2 ถึงที่ 7 ในช่วงระหว่างการทำงาน 4 ชั่วโมงสุดท้ายของวันว่าเป็นค่าจ้างหรือไม่ก็ตาม
of 8