พบผลลัพธ์ทั้งหมด 804 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1297/2562
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจกรรมการในการถอนฟ้องคดี: ผลผูกพันต่อบริษัทและข้อยกเว้นผลประโยชน์ขัดแย้ง
ตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครเอกสารแนบท้ายคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 และ ธ. เป็นกรรมการของโจทก์ ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 และ ธ. ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของโจทก์ในคำร้องขอถอนฟ้องย่อมมีผลผูกพันโจทก์และถือว่าโจทก์โดยจำเลยที่ 1 และ ธ. กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ขอถอนฟ้องของโจทก์แทนโจทก์และมีผลผูกพันโจทก์แล้ว การถอนฟ้องคดีนี้จะเป็นผลดีหรือผลเสียต่อโจทก์ ผลดีหรือผลเสียนั้นย่อมตกแก่จำเลยที่ 1 ในฐานะที่เป็นกรรมการของโจทก์ด้วยในลักษณะอย่างเดียวกันจะถือว่าผลประโยชน์ทางได้ทางเสียของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในการฟ้องคดีนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อกันดังที่บัญญัติใน ป.พ.พ. มาตรา 74 ไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8308/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจผู้ใช้อำนาจปกครองในการทำนิติกรรมแทนบุตรผู้เยาว์ และผลของการไม่ขออนุญาตศาล
ว. เป็นมารดาของผู้คัดค้านทั้งสามย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของบุตรผู้เยาว์ ซึ่งทรัพย์สินหมายความรวมถึงสิทธิเรียกร้องอันเป็นวัตถุไม่มีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ บทบัญญัติมาตรา 1574 มีเจตนารมณ์คุ้มครองประโยชน์ของบุตรผู้เยาว์โดยให้ศาลกำกับดูแล การฝ่าฝืนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลก่อนก็ไม่ได้ตัดอำนาจทำนิติกรรมแทนของผู้ใช้อำนาจปกครอง ไม่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่ทำให้นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะหรือโมฆียะกรรม คงมีผลเพียงไม่ผูกพันบุตรผู้เยาว์ที่กฎหมายมุ่งคุ้มครอง ผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่มีสิทธิกล่าวอ้างเพื่อตัดอำนาจของผู้ใช้อำนาจปกครอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7289/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาจ้างเหมามีผลผูกพันแม้ไม่มีสัญญาเป็นหนังสือ, การกระทำโดยสุจริต, และความร่วมรับผิดของจำเลย
จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า สัญญาจ้างเหมาพิพาทไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 เพราะยังมิได้ทำเป็นหนังสือตามเจตนาของคู่สัญญา ประเด็นปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่า แม้ว่า กิจการร่วมค้า จ. และจำเลยที่ 1 มีเจตนาว่าสัญญาจ้างเหมาอันมุ่งจะทำต่อกันนั้นต้องทำเป็นหนังสือ แต่ก่อนที่กิจการร่วมค้า จ. และจำเลยที่ 1 จะทำสัญญาเป็นหนังสือดังเจตนาที่มีอยู่เดิม ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ส่งโทรสารแจ้งไปยังกรรมการผู้จัดการ กิจการร่วมค้า จ. ว่าให้เริ่มงานตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 เป็นต้นไป กิจการร่วมค้า จ. จึงเริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลโดยมีจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจคนหนึ่ง จำเลยที่ 3 จึงมีฐานะเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ตามกฎหมาย ประกอบกับหนังสือที่ส่งทางโทรสารยังใช้แบบพิมพ์ที่มีหัวกระดาษระบุชื่อจำเลยที่ 1 จึงรับฟังว่าจำเลยที่ 3 กระทำในนามของจำเลยที่ 1 ดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันตามข้อความในหนังสือดังกล่าว นอกจากนี้ ภ. พยานจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 ก็เบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ยอมรับว่า หลังจากกิจการร่วมค้า จ. เริ่มทำงานแล้ว กิจการร่วมค้า จ. ได้วางแคชเชียร์เช็คเป็นมูลค่าร้อยละ 5 ตามสัญญา ซึ่งจำเลยที่ 1 รับไปเรียบร้อยแล้ว จากข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 และกิจการร่วมค้า จ. ปฏิบัติต่อกันเช่นนี้ เท่ากับว่ามีการตกลงกันใหม่โดยผ่อนผันไม่ต้องทำสัญญาเป็นหนังสือต่อกันเป็นการชั่วคราว และสัญญาจ้างเหมาเป็นสัญญาจ้างทำของซึ่งไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือมิฉะนั้นเป็นโมฆะ ดังนั้น ถือได้ว่าสัญญาจ้างเหมาดังกล่าวมีผลผูกพันจำเลยที่ 1
ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่า พฤติการณ์ตามที่ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยฟังว่าคู่สัญญามีเจตนาตกลงกันใหม่โดยผ่อนผันไม่ต้องทำสัญญาเป็นหนังสือต่อกันเป็นการชั่วคราว ล้วนเกิดจากความไม่สุจริตของโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 มิได้ยินยอมด้วยนั้น แม้จำเลยที่ 1 มิได้ให้การเป็นข้อต่อสู้ไว้ แต่ปัญหาว่าการใช้สิทธิโดยสุจริตหรือไม่ เป็นเรื่องอำนาจฟ้อง เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นนี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดี ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้ย่อมไม่ชอบ และศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่ ป.พ.พ. มาตรา 6 บัญญัติให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต ดังนั้น จำเลยที่ 1 ย่อมมีภาระหน้าที่ต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงความไม่สุจริตของโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างเพียงว่า การกระทำของจำเลยที่ 3 ตามพฤติการณ์ที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกขึ้นนั้น เป็นการกระทำโดยพลการอันเกิดจากการชี้นำของโจทก์ เพราะโจทก์ทราบข้อมูลภายในของจำเลยที่ 1 ว่ายังไม่อาจดำเนินการโครงการตามสัญญาจ้างเหมาพิพาทได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการจัดหาที่ดินเพื่อส่งมอบให้โจทก์ โดยไม่ปรากฏรายละเอียดว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตชี้นำจำเลยที่ 3 อย่างไร เท่ากับข้ออ้างของจำเลยที่ 1 เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ปราศจากพยานหลักฐานสนับสนุน ง่ายแก่การกล่าวอ้าง ลำพังเพียงคำเบิกความของจำเลยที่ 3 ที่ว่า กรรมการของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใหญ่ของโจทก์ก่อนที่จำเลยที่ 3 จะมาทำงานกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เคยทำงานให้จำเลยที่ 2 มาก่อน และจำเลยที่ 2 เป็นผู้แต่งตั้งให้จำเลยที่ 3 มาเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 หรือการที่โจทก์ว่าจ้างบุคคลภายนอกให้ทำงานมูลค่าเป็นสิบล้านบาทในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะสั่งให้ชะลอโครงการ ก็ไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะพิสูจน์ให้เห็นถึงความไม่สุจริตของโจทก์ได้ ประการสำคัญที่สุดหากจำเลยที่ 1 เห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นการกระทำโดยพลการอันเกิดจากการชี้นำของโจทก์ จำเลยที่ 1 ชอบที่จะปฏิเสธว่าสัญญาจ้างเหมาพิพาทยังไม่เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ต้น แต่จำเลยที่ 1 ก็หากระทำไม่ ตรงกันข้ามกลับมีหนังสือขอให้กิจการร่วมค้า จ. ชะลองานและการทำสัญญาโครงการออกไปก่อน ตามหนังสือฉบับลงวันที่ 18 เมษายน 2556 อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงการเกิดขึ้นของสัญญาจ้างเหมาพิพาทแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
คดีนี้จำเลยที่ 1 มิได้อยู่ในฐานะเป็นคู่ความคนละฝ่ายกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยที่โจทก์มิได้อุทธรณ์
ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่า พฤติการณ์ตามที่ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยฟังว่าคู่สัญญามีเจตนาตกลงกันใหม่โดยผ่อนผันไม่ต้องทำสัญญาเป็นหนังสือต่อกันเป็นการชั่วคราว ล้วนเกิดจากความไม่สุจริตของโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 มิได้ยินยอมด้วยนั้น แม้จำเลยที่ 1 มิได้ให้การเป็นข้อต่อสู้ไว้ แต่ปัญหาว่าการใช้สิทธิโดยสุจริตหรือไม่ เป็นเรื่องอำนาจฟ้อง เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นนี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดี ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้ย่อมไม่ชอบ และศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่ ป.พ.พ. มาตรา 6 บัญญัติให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต ดังนั้น จำเลยที่ 1 ย่อมมีภาระหน้าที่ต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงความไม่สุจริตของโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างเพียงว่า การกระทำของจำเลยที่ 3 ตามพฤติการณ์ที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกขึ้นนั้น เป็นการกระทำโดยพลการอันเกิดจากการชี้นำของโจทก์ เพราะโจทก์ทราบข้อมูลภายในของจำเลยที่ 1 ว่ายังไม่อาจดำเนินการโครงการตามสัญญาจ้างเหมาพิพาทได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการจัดหาที่ดินเพื่อส่งมอบให้โจทก์ โดยไม่ปรากฏรายละเอียดว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตชี้นำจำเลยที่ 3 อย่างไร เท่ากับข้ออ้างของจำเลยที่ 1 เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ปราศจากพยานหลักฐานสนับสนุน ง่ายแก่การกล่าวอ้าง ลำพังเพียงคำเบิกความของจำเลยที่ 3 ที่ว่า กรรมการของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใหญ่ของโจทก์ก่อนที่จำเลยที่ 3 จะมาทำงานกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เคยทำงานให้จำเลยที่ 2 มาก่อน และจำเลยที่ 2 เป็นผู้แต่งตั้งให้จำเลยที่ 3 มาเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 หรือการที่โจทก์ว่าจ้างบุคคลภายนอกให้ทำงานมูลค่าเป็นสิบล้านบาทในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะสั่งให้ชะลอโครงการ ก็ไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะพิสูจน์ให้เห็นถึงความไม่สุจริตของโจทก์ได้ ประการสำคัญที่สุดหากจำเลยที่ 1 เห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นการกระทำโดยพลการอันเกิดจากการชี้นำของโจทก์ จำเลยที่ 1 ชอบที่จะปฏิเสธว่าสัญญาจ้างเหมาพิพาทยังไม่เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ต้น แต่จำเลยที่ 1 ก็หากระทำไม่ ตรงกันข้ามกลับมีหนังสือขอให้กิจการร่วมค้า จ. ชะลองานและการทำสัญญาโครงการออกไปก่อน ตามหนังสือฉบับลงวันที่ 18 เมษายน 2556 อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงการเกิดขึ้นของสัญญาจ้างเหมาพิพาทแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
คดีนี้จำเลยที่ 1 มิได้อยู่ในฐานะเป็นคู่ความคนละฝ่ายกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยที่โจทก์มิได้อุทธรณ์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3740-3751/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การสละสิทธิเรียกร้องหลังการเลิกจ้าง: สัญญาประนีประนอมยอมเป็นผลผูกพัน
การที่โจทก์ทั้งสิบสองลงลายมือชื่อในหนังสือการยกเลิกการจ้างซึ่งระบุว่า จำเลยขอยกเลิกสัญญาจ้างและตกลงจ่ายเงินค่าบอกกล่าว 1 งวดการจ้างกับค่าชดเชย และโจทก์บางคนยังได้รับเงินช่วยเหลือพิเศษกรณีอายุงานครบ 20 ปี ในตอนท้ายของหนังสือดังกล่าวระบุข้อความว่า โจทก์ทั้งสิบสองขอสละสิทธิเรียกร้องใด ๆ อันอาจมีอีกต่อไปทั้งสิ้น ดังนี้ แม้โจทก์ทั้งสิบสองลงลายมือชื่อสละสิทธิเรียกร้องในขณะที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบสอง แต่โจทก์ทั้งสิบสองมีอิสระในการตัดสินใจว่าจะรับเงินตามสัญญา และสละสิทธิเรียกร้องอื่นใดอันอาจมีต่อไปหรือไม่รับเงินดังกล่าวแล้วไปฟ้องเรียกร้องเงินต่าง ๆ ตามที่โจทก์ทั้งสิบสองมีสิทธิตามกฎหมายในภายหลังได้ เมื่อกฎหมายแรงงานก็ไม่ได้บัญญัติบังคับให้นายจ้างจ่ายเงินโบนัสให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมไม่ใช่เงินที่นายจ้างต้องจ่ายแก่ลูกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อตกลงที่โจทก์ทั้งสิบสองกับจำเลยทำดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมจึงไม่ขัดต่อกฎหมายและความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมมีผลบังคับและผูกพันโจทก์ทั้งสิบสอง ดังนั้น โจทก์ทั้งสิบสองจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินโบนัสและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2653/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การตกลงหย่าและแบ่งทรัพย์สินระหว่างการพิจารณาคดี: ผลผูกพันตามกฎหมาย
โจทก์ฟ้องขอหย่าและแบ่งสินสมรส ต่อมาระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์และจำเลยได้ตกลงกันในคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ ปลอม และใช้เอกสารปลอมต่อศาลอาญาว่า โจทก์จำเลยตกลงหย่ากันและแบ่งทรัพย์สินตามที่เสนอต่อศาลในคดีอาญาโดยระบุว่าจะนำบันทึกข้อตกลงไปเสนอต่อศาลฎีกา แล้วโจทก์ถอนฟ้องคดีอาญา ศาลอาญาอนุญาตและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ จากนั้นโจทก์และจำเลยไปจดทะเบียนหย่าพร้อมนำบันทึกที่ทำต่อศาลอาญาไปแสดงว่ามีการตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างกันแล้ว ต่อมาโจทก์และจำเลยต่างยื่นคำแถลงต่อศาลฎีกาว่าได้จดทะเบียนหย่าแล้ว พร้อมยื่นข้อตกลงที่ทำต่อกันที่ศาลอาญาแนบท้ายคำแถลง ดังนี้ถือได้ว่าคู่ความตกลงกันหรือประนีประนอมในประเด็นแห่งคดีโดยมิได้ถอนฟ้องในชั้นฎีกาตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคหนึ่ง มาตรา 246 (เดิม) และ 247 (เดิม) ศาลฎีกาจึงพิพากษาให้แบ่งทรัพย์ตามบันทึกข้อตกลง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7403/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ผลคำพิพากษาคดีอาญาถึงที่สุดมีผลผูกพันคดีแพ่งที่เกี่ยวข้อง การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
คดีนี้ ในส่วนอาญา ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์มิได้ฎีกา ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสียหายมิได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ อันจะใช้สิทธิฎีกาในคดีส่วนอาญาดังกล่าวได้ คดีส่วนอาญาย่อมยุติและถึงที่สุดไปตามคำพิพากษาศาลชั้นอุทธรณ์จึงถือได้ว่า จำเลยมิได้ร่วมกระทำความผิดกับพวก แม้คดีส่วนแพ่งของผู้ร้องจะมีทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาเกินสองแสนบาท และไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง (เดิม) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญารับฟังเป็นยุติแล้วว่า จำเลยมิได้ร่วมกระทำความผิด ดังนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ข้อเท็จจริงในส่วนคดีแพ่งจึงต้องฟังว่า จำเลยไม่ได้กระทำละเมิดต่อผู้ตายอันจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสียหาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4924/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ – ประเด็นข้อพิพาทเดียวกัน – ผลผูกพันคำพิพากษา – การย้อนสำนวน
โจทก์ในคดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยในอีกคดีหนึ่งฟ้องแย้งให้จำเลยร่วมซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวรับผิดใช้ค่าเสียหายจากการที่จำเลยร่วมกระทำผิดสัญญาโดยอ้างเหตุเช่นเดียวกับที่กล่าวอ้างในคำฟ้องคดีนี้ ประเด็นข้อพิพาทที่ต้องวินิจฉัยในคดีนี้และคดีดังกล่าวจึงมีประเด็นอย่างเดียวกัน เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยในคดีดังกล่าวว่าจำเลยร่วมดำเนินการก่อสร้างและส่งมอบงานให้แก่โจทก์ตามสัญญาแล้ว จำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดในความเสียหายต่อโจทก์ในกรณีที่บริษัท ว. ไม่คืนหนังสือคํ้าประกันการปฏิบัติงานตามสัญญาและหนังสือคํ้าประกันการคืนเงินเบิกล่วงหน้าให้แก่กิจการร่วมค้า ส. และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์และจำเลยร่วมคู่ความในคดีนี้ต่างเป็นคู่ความในคดีดังกล่าว การดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนของโจทก์และจำเลยร่วมในประเด็นดังกล่าวจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 และคำพิพากษาในคดีดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยร่วมในคดีนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง แต่สำหรับจำเลยนั้น เมื่อจำเลยมิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่าในคดีดังกล่าวศาลจะพิพากษาว่าจำเลยร่วมไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา แต่คดียังไม่ถึงที่สุดโดยอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา หากในชั้นที่สุดศาลฟังข้อเท็จจริงเป็นประการใด ผลของคำพิพากษาในคดีดังกล่าวย่อมต้องผูกพันทั้งโจทก์และจำเลยร่วมในคดีนี้ด้วย และคดีนี้ยังมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามคำให้การของจำเลยต่อไปอีกว่า หนังสือค้ำประกันที่จำเลยออกให้แก่โจทก์เป็นการค้ำประกันครอบคลุมความรับผิดในความเสียหายตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด กรณีจึงมีเหตุสมควรที่ศาลฎีกาจะพิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองแล้วย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาคดีใหม่ต่อไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4159/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานมีผลผูกพัน หากจำเลยไม่โต้แย้งในศาลแรงงาน โจทก์มีสิทธิไล่เบี้ยเงินที่จ่ายให้ลูกจ้าง
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินแก่โจทก์โดยอาศัยสิทธิในฐานะผู้รับเหมาชั้นต้นที่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยในฐานะผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างของผู้ร้องทั้งเก้าตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานและโจทก์ได้จ่ายเงินตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานให้แก่ผู้ร้องทั้งเก้าไปเรียบร้อยแล้ว เพื่อไล่เบี้ยเงินที่ได้จ่ายไปแล้วดังกล่าวคืนจากจำเลยในฐานะผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 12 เมื่อคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าววินิจฉัยและมีคำสั่งว่าในช่วงเวลาพิพาทจำเลยมิใช่ลูกจ้างโจทก์ แต่จำเลยเป็นผู้รับเหมาช่วงและเป็นนายจ้างของผู้ร้องทั้งเก้า ให้โจทก์ในฐานะผู้รับเหมาชั้นต้นร่วมรับผิดกับจำเลยในฐานะผู้รับเหมาช่วงและเป็นนายจ้างของผู้ร้องทั้งเก้าในค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุดแก่ผู้ร้องทั้งเก้า หากจำเลยไม่พอใจคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานย่อมมีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง ในกรณีที่ไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าว คำสั่งนั้นย่อมเป็นที่สุดตามมาตรา 125 วรรคสอง ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่นำคดีไปสู่ศาลแรงงานตามที่บทบัญญัติดังกล่าวให้สิทธิไว้ คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานย่อมเป็นที่สุด จำเลยหามีสิทธิที่จะยกเรื่องการเป็นนายจ้างลูกจ้างกันและผู้รับเหมาช่วงที่ยุติไปแล้วในชั้นพนักงานตรวจแรงงานและมีผลผูกพันโจทก์จำเลยตามบทบัญญัติดังกล่าวมากล่าวอ้างในชั้นที่โจทก์มาฟ้องต่อศาลแรงงานภาค 2 เพื่อใช้สิทธิไล่เบี้ยเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่ผู้ร้องทั้งเก้าตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานไปแล้วคืนจากจำเลยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 12 วรรคสอง ได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4112/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คำพิพากษาถึงที่สุดผูกพันคู่ความ การฟ้องละเมิดเพื่อล้มล้างผลคำพิพากษาเดิมเป็นเรื่องไม่สมควร
คดีก่อนจำเลยเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้กับพวกให้รับผิดชำระเงินตามเช็ค โจทก์คดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 ในคดีดังกล่าวให้การว่า จำเลยไม่ใช่ผู้ทรงเช็ค แต่ไม่สืบพยาน ต่อมาศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย มีอำนาจฟ้องให้โจทก์รับผิด คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์กลับมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ แม้เป็นเรื่องละเมิดอ้างว่าจำเลยเบิกความเท็จ แต่ก็เรียกค่าเสียหายมาเท่ากับจำนวนเงินตามเช็คที่โจทก์ต้องรับผิดในคดีก่อน เห็นได้ว่า คำฟ้องของโจทก์มีจุดประสงค์เพื่อให้ศาลพิพากษาว่า พยานหลักฐานของจำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในคดีก่อนเป็นพยานเท็จรับฟังไม่ได้ จำเลยไม่ใช่ผู้ทรงเช็คโดยชอบ และโจทก์ไม่ต้องรับผิดต่อจำเลยตามคำพิพากษาในคดีก่อน ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยชี้ขาดไปแล้ว ข้ออ้างดังกล่าวล้วนไม่อาจเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสียซึ่งความมีผลผูกพันของคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวได้ โจทก์จะอ้างว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยกล่าวอ้างข้อเท็จจริงให้ผิดไปจากคำพิพากษาในคดีก่อนหาได้ไม่ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3697-3698/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ผลผูกพันตามสัญญาประนีประนอมยอมความและการบังคับคดีค่าจ้างค้างจ่าย
ที่ประชุมใหญ่วิสามัญของเจ้าของร่วมมีมติแต่งตั้งให้โจทก์เป็นผู้จัดการของจำเลย ต่อมาจำเลยกับพวกยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญ โจทก์เป็นผู้คัดค้าน แล้วจำเลยในฐานะผู้ร้องและโจทก์ในฐานะผู้คัดค้านทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยผู้ร้องจะถอนฟ้องคดีอาญา ผู้คัดค้านจะถอนฟ้องคดีที่ศาลแรงงานและถอนคำร้องทุกข์ในคดีอาญา เมื่อผู้ร้องและผู้คัดค้านปฏิบัติเรียบร้อยแล้วผู้ร้องจะจ่ายเงินเดือน (ค่าจ้าง) ที่ค้างจ่ายให้ผู้คัดค้าน ศาลแพ่งมีคำพิพากษาตามยอม (คดีถึงที่สุด) คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความมีผลผูกพันคู่ความและสัญญาประนีประนอมยอมความถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษา เมื่อจำเลยในฐานะผู้ร้องที่ 1 ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความโดยไม่จ่ายค่าจ้างค้างจ่ายให้โจทก์ในฐานะผู้คัดค้านตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ชอบที่จะบังคับคดีเอาแก่จำเลยให้จ่ายค่าจ้างค้างจ่ายตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีนั้น โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยจ่ายค่าจ้างที่เป็นเงินจำนวนเดียวกับที่จำเลยต้องจ่ายในช่วงระยะเวลาเดียวกันตามที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นคดีนี้อีก