คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ฟ้องคดี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 831 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4002/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวางเงินต่อศาลเพื่อฟ้องคดีแรงงาน: หนังสือค้ำประกันไม่ใช้หลักประกันได้
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสาม บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายนำคดีไปสู่ศาล นายจ้างต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งนั้น จึงจะฟ้องคดีได้" และมาตรา 125 วรรคสี่ บัญญัติต่อไปว่า "เมื่อคดีถึงที่สุดและนายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินจำนวนใดให้แก่ลูกจ้าง...ให้ศาลมีอำนาจจ่ายเงินที่นายจ้างวางไว้ต่อศาลให้แก่ลูกจ้าง...แล้วแต่กรณี" ฉะนั้นที่กฎหมายกำหนดให้ศาลนำเงินที่นายจ้างวางไว้ต่อศาลจ่ายให้แก่ลูกจ้างในกรณีที่นายจ้างแพ้คดีก็เพื่อมุ่งที่จะให้ลูกจ้างได้รับเงินโดยเร็วและทันที ไม่ต้องการให้มีกระบวนการบังคับให้นายจ้างจ่ายเงินนั้นหรือให้นายจ้างหน่วงเหนี่ยวการชำระเงินให้ชักช้า หนังสือค้ำประกันของธนาคารที่โจทก์ทั้งสี่นำมาวางศาลนั้น เป็นเพียงข้อผูกพันที่ธนาคารให้ไว้แก่ศาลว่า เมื่อศาลพิพากษาให้โจทก์ที่ 2 (นายจ้าง) ชำระเงินตามคำสั่งของจำเลยแล้ว หากนายจ้างไม่ชำระเงิน ธนาคารจะชำระแทน เช่นนี้ในทางปฏิบัติเมื่อนายจ้างไม่ชำระเงิน ศาลต้องมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามเรียกให้ธนาคารชำระเงินนั้นก่อน โดยที่ธนาคารก็อาจมีข้อโต้แย้งปฏิเสธความรับผิดได้ หนังสือค้ำประกันของธนาคารในคดีนี้จึงมิใช่วัตถุที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายทำนองเดียวกับเงินซึ่งศาลนำมาจ่ายให้ลูกจ้างได้ทันที

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2160/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีจัดการมรดกไม่ชอบ การจัดการมรดกสิ้นสุดเมื่อใด
ทรัพย์มรดกมีที่ดินเพียงสองแปลง จำเลยทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกของ ด. โอนที่ดินทั้งสองแปลงโดยจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และ ร. ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2546 และใส่ชื่อจำเลยที่ 3 ในที่ดินอีกแปลงหนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2546 โดยมิได้จัดแบ่งให้โจทก์ เมื่อเจ้ามรดกไม่มีทรัพย์มรดกอื่นใดที่จะจัดการต่อไปอีก ถือว่าการจัดการมรดกเสร็จสิ้น ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2546 การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยว่าจัดการมรดกไม่ชอบ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ซึ่งเกินกว่าห้าปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง คดีโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6751/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีล้มละลาย: การฟ้องคดีระหว่างการพิจารณาคดีทำให้สิทธิเรียกร้องไม่ขาดอายุความ & สิทธิชำระหนี้ตามกรมธรรม์ประกันภัย
คดีที่เสร็จไปโดยการที่ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพราะเหตุโจทก์ (เจ้าหนี้) ขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 202 นั้น เป็นผลจากการที่โจทก์ละทิ้งหรือทอดทิ้งคดีของตน ทำนองเดียวกับคดีเสร็จไปโดยการจำหน่ายคดีเพราะเหตุที่ถอนฟ้องและทิ้งฟ้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคหนึ่ง ซึ่งให้ถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลง โจทก์จึงไม่ได้รับประโยชน์จากการฟ้องคดีที่จะเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2)
คำสั่งจำหน่ายคดีเพราะเหตุโจทก์ขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 202 มีผลอย่างเดียวกับคำพิพากษาของศาลที่ยกคำฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิที่จะฟ้องใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง เมื่ออายุความแห่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์ครบไปแล้วในระหว่างการพิจารณาคดี โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งจำหน่ายคดีถึงที่สุด
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 15/2561)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6035-6038/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษี การไม่อุทธรณ์ภายในกำหนด และผลของการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนก่อนฟ้องคดี
การที่พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลยในข้อหาสำแดงเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงอากรเป็นเรื่องที่พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งสำนวนไปตามพยานหลักฐานเท่าที่ปรากฏในสำนวนการสอบสวน อันเป็นขั้นตอนในชั้นสอบสวนคดีอาญา หาได้มีผลผูกพันกับคดีแพ่งไม่ จึงจะนำมารับฟังเป็นที่ยุติในชั้นพิจารณาของศาลในคดีแพ่งไม่ได้ว่าจำเลยไม่ได้สำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าภาษีอากรที่ขาด
แม้จำเลยให้การว่า หนังสือแจ้งการประเมินเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ในวันนัดชี้สองสถาน ศาลภาษีอากรกลางไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้และไม่ปรากฏว่าจำเลยคัดค้าน จึงถือว่าจำเลยสละประเด็นดังกล่าว ทั้งศาลภาษีอากรกลางไม่ได้วินิจฉัย จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง
จำเลยได้รับแบบแจ้งการประเมินเรียกเก็บอากรขาเข้า/ขาออก ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีอื่น ๆ (กรณีอื่น ๆ) หากจำเลยไม่เห็นด้วยกับการประเมิน จำเลยก็ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน แต่จำเลยหาได้ใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินไม่ แสดงว่าจำเลยไม่ติดใจโต้แย้งการประเมิน อันมีผลให้การประเมินเป็นอันยุติ จำเลยย่อมไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลางเพื่อขอให้เพิกถอนการประเมินดังกล่าวและย่อมไม่มีสิทธิต่อสู้คดีว่าการประเมินไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5119/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งความร้องทุกข์นอกเหนือเจตนาผู้แทนบริษัท และความชอบธรรมในการฟ้องคดีอาญา
โจทก์ร่วมเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ความประสงค์หรือเจตนาย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคล ตาม ป.พ.พ. มาตรา 70 แม้โจทก์ร่วมจะทำหนังสือมอบอำนาจให้ ร. ผู้รับมอบอำนาจไปร้องทุกข์ ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 กับพวกได้โดยมิได้ระบุข้อหาความผิดไว้ แต่การมอบอำนาจให้ไปร้องทุกข์แทนโจทก์ร่วมซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล ผู้รับมอบอำนาจก็ต้องทำให้ถูกต้องตามข้อบังคับหรือเจตนาที่ผู้แทนนิติบุคคลให้ไว้ เมื่อปรากฏว่าตามรายงานการประชุมของโจทก์ร่วม ที่ประชุมมีมติให้แจ้งความร้องทุกข์แก่จำเลยที่ 1 กับพวกในข้อหาบุกรุกเท่านั้น มิได้มีมติให้ดำเนินคดีในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ด้วย การที่ ร. ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ร่วมไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 กับพวกในความผิดข้อหาทำให้เสียทรัพย์ จึงเป็นการกระทำนอกเหนือจากเจตนาของโจทก์ร่วม การแจ้งความร้องทุกข์ดังกล่าวไม่ผูกพันโจทก์ร่วมถือว่าโจทก์ร่วมไม่ได้ร้องทุกข์ในความผิดข้อหาทำให้เสียทรัพย์ การสอบสวนของพนักงานสอบสวนจึงไม่ชอบ พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120, 121

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3727/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คนไร้ความสามารถฟ้องคดีเองไม่ได้ ต้องให้ผู้อนุบาลดำเนินการแทน การมอบอำนาจจึงไม่สมบูรณ์
โจทก์เป็นคนไร้ความสามารถอยู่ในความอนุบาลของ ช. ผู้อนุบาลตามคำสั่งศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครราชสีมาและคดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์ฟ้องคดีนี้ให้จำเลยทั้งสามรับผิดตาม ป.อ. มาตรา 83, 350 โดยทำหนังสือมอบอำนาจให้ ม. เป็นผู้ฟ้องคดีแทนในขณะที่โจทก์ยังเป็นคนไร้ความสามารถและอยู่ในความอนุบาลของ ช. เป็นการกระทำโดยโจทก์ไม่มีอำนาจ ต้องให้ ช. ผู้อนุบาลเป็นผู้กระทำการแทน กรณีหาใช่เป็นการบกพร่องในเรื่องความสามารถของโจทก์และจำต้องแก้ไขข้อบกพร่องนั้นเสียให้บริบูรณ์ภายในกำหนดเวลาอันสมควรตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ดังที่โจทก์อ้าง เพราะเป็นกรณีที่โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องมาแต่ต้นแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2359/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การมอบอำนาจฟ้องคดี: หนังสือมอบอำนาจทั่วไปไม่ครอบคลุมอำนาจยื่นฟ้องต่อศาล
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่า โจทก์มอบอำนาจให้ บ. ฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ ตามหนังสือมอบอำนาจ หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวระบุข้อความในการมอบอำนาจแต่เพียงว่า บ. มีสิทธิในการลงนามเอกสารดำเนินการทั้งหมดของบริษัทสาขาทั้งภายในและภายนอก อันมีลักษณะเป็นการมอบอำนาจโดยไม่ระบุกิจการ โดยมิได้ระบุให้ บ. มีอำนาจยื่นฟ้องต่อศาล จึงเป็นหนังสือมอบอำนาจทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 801 วรรคหนึ่ง แม้โจทก์จะมี บ. มาเบิกความยืนยันว่าตามหนังสือมอบอำนาจ พยานมีสิทธิดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ เป็นการนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขพยานเอกสาร ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ บ. ฟ้องคดีนี้แทนโจทก์โดยชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 826/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้สิทธิโดยไม่สุจริตฟ้องคดีภาษีอากรจากกระทำการทุจริต การฟ้องคดีไม่มีอำนาจ
การที่โจทก์ถูกประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่กลับมาฟ้องคดีโดยกล่าวอ้างข้อเท็จจริงจากการกระทำอันไม่สุจริตของตนว่า เงินฝากในบัญชีไม่ใช่เงินได้ของโจทก์ แต่เป็นเงินที่บริษัท ด. จ่ายเป็นค่าสินบนให้แก่พนักงานของรัฐ บริษัท ด. เป็นบริษัทมหาชนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไม่สามารถถอนเงินจากบัญชีไปให้นักการเมืองได้โดยตรง จึงทำสัญญาจ้างบริษัท ย. ซึ่งโจทก์เป็นกรรมการเพื่ออำพรางการจ่ายเงินดังกล่าวและโจทก์ยอมนำเงินตามเช็คของบริษัท ย. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเงินที่บริษัท ด. จ่ายให้เข้าบัญชีเงินฝากของตนโดยได้รับค่าตอบแทน เพื่อให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7343/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการเพิกถอนอนุสิทธิบัตร: โจทก์ต้องรอผลการตรวจสอบก่อนฟ้องคดี
พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 กำหนดเงื่อนไขวิธีการได้มาซึ่งอนุสิทธิบัตร การปฏิเสธคำขอรับอนุสิทธิบัตร และการให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์ไว้ในหมวด 3 ทวิ ซึ่งมีเงื่อนไขแยกต่างหากจากการขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ในหมวด 2 โดยมีขั้นตอนในกระบวนการพิจารณาและการตรวจสอบคำขอรับอนุสิทธิบัตรโดยฝ่ายพนักงานเจ้าหน้าที่น้อยกว่าในกระบวนการพิจารณาและการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ และให้ความคุ้มครองในสิทธิตามอนุสิทธิบัตรซึ่งมีระยะเวลาที่สั้นกว่าการให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรการประดิษฐ์
อย่างไรก็ตาม ภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศโฆษณาการจดทะเบียนการประดิษฐ์และการออกอนุสิทธิบัตร บุคคลผู้มีส่วนได้เสียอาจขอให้ตรวจสอบว่าการประดิษฐ์ดังกล่าวมีลักษณะตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 65 ทวิ หรือไม่ก็ได้ ตามมาตรา 65 ฉ การอุทธรณ์คำวินิจฉัยของอธิบดีกรมจำเลยที่ 1 กรณีที่อธิบดีของจำเลยที่ 1 มีคำวินิจฉัยว่าการประดิษฐ์นั้นมีลักษณะตามมาตรา 65 ทวิ ให้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรตามมาตรา 72 ส่วนการอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการสิทธิบัตรที่ให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรให้อุทธรณ์ต่อศาล คู่กรณีฝ่ายใดไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยหรือคำสั่งนั้นก็มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้ตามมาตรา 74 หรืออีกวิธีทางหนึ่งได้กำหนดให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการสามารถฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรได้ หากอนุสิทธิบัตรนั้นไม่สมบูรณ์เพราะขาดความใหม่ตามมาตรา 65 ทวิ รวมถึงคำขอรับอนุสิทธิบัตรที่ไม่เป็นไปตามมาตรา 65 ทศ ประกอบมาตรา 9, 10, 11 หรือ 14 ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 65 นว
กระบวนการใช้สิทธิขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรทั้งสองวิธีดังกล่าวเป็นกระบวนการทางเลือก หากบุคคลผู้มีส่วนได้เสียเลือกที่จะใช้สิทธิยื่นขอให้มีการตรวจสอบตามมาตรา 65 ฉ แล้ว ย่อมต้องผูกพันในกระบวนการที่ตนเลือก และไม่มีสิทธิที่จะนำคดีมาฟ้องศาลจนกว่ากระบวนการดังกล่าวจะสิ้นสุดและนำคดีขึ้นสู่ศาลตามมาตรา 72 และ 74 และไม่อาจนำเรื่องเดียวกันมาฟ้องขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรดังกล่าวได้อีก เพราะหากนำคดีเรื่องเดียวกันมาฟ้องได้อีกก็จะมีผลเท่ากับเป็นการอนุญาตให้มีการพิสูจน์สิทธิในเรื่องเดียวกันระหว่างคู่กรณีเดียวกันซ้ำซ้อน
เมื่อโจทก์ยื่นคำขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรของจำเลยที่ 2 ว่ามีลักษณะตามที่กำหนดในมาตรา 65 ทวิ หรือไม่ และอธิบดีของจำเลยที่ 1 ยังไม่มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับคำขอตรวจสอบดังกล่าว โจทก์จึงยังไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรของจำเลยที่ 2 อันเป็นการใช้สิทธิตามมาตรา 65 นว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 624/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งข้อกล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาที่จงใจปกปิดภูมิลำเนา การฟ้องคดีอาญาต่อผู้ถูกกล่าวหา
ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยการไต่สวนข้อเท็จจริง พ.ศ. 2555 ที่ใช้อยู่ขณะเกิดเหตุ กำหนดวิธีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกกล่าวหาไว้หลายวิธี โดยข้อ 37 วรรคหนึ่งกำหนดว่า "เมื่อองค์คณะอนุกรรมการไต่สวนเห็นว่า จากทางไต่สวนข้อเท็จจริงมีพยานหลักฐานพอที่จะสนับสนุนข้อกล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำการอันมีมูลความผิด ให้คณะอนุกรรมการไต่สวนมีหนังสือเรียกผู้ถูกกล่าวหามาพบและแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ..." วรรคสองกำหนดว่า "ในการแจ้งข้อกล่าวหาตามวรรคหนึ่ง ให้คณะอนุกรรมการไต่สวนจัดทำเป็นบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา ระบุการกระทำและพฤติการณ์ทั้งหลายที่อ้างว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียด... ที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะทำให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้าใจข้อกล่าวหาได้ดี... โดยให้ผู้ถูกกล่าวหาลงลายมือชื่อรับทราบการแจ้งข้อกล่าวหาไว้เป็นหลักฐานด้วย" ข้อ 38 วรรคหนึ่งกำหนดว่า "ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มารับทราบข้อกล่าวหาตามกำหนดนัดหรือปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้รับหนังสือตามข้อ 37 ให้คณะอนุกรรมการไต่สวนส่งบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาไปให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ณ ที่อยู่ของผู้ถูกกล่าวหาซึ่งปรากฏตามหลักฐานของทางราชการหรือตามหลักฐานที่ปรากฏจากการไต่สวนข้อเท็จจริง..." วรรคสองกำหนดว่า "ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มารับทราบข้อกล่าวหาหรือไม่ได้รับหนังสือแจ้งให้มารับทราบข้อกล่าวหาตามวรรคหนึ่ง ให้มีการปิดประกาศหนังสือแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหามารับทราบข้อกล่าวหาไว้โดยเปิดเผยยังที่ทำการสำนักงาน ป.ป.ช. และภูมิลำเนาของผู้ถูกกล่าวหา..." ลักษณะการแจ้งข้อกล่าวหาตามระเบียบดังกล่าวพอจำแนกตามวัตถุประสงค์ได้เป็น 2 ลักษณะ กล่าวคือ การมีหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาตามข้อ 37 วรรคหนึ่ง ซึ่งปกติต้องส่งไปยังภูมิลำเนาของผู้ถูกกล่าวหา การส่งบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับตามข้อ 38 วรรคหนึ่ง และการปิดประกาศหนังสือส่งบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาตามข้อ 38 วรรคสองนั้น มุ่งให้ผู้ถูกกล่าวหารับทราบข้อกล่าวหาเพื่อประโยชน์ในการชี้แจงและนำสืบแก้ข้อกล่าวหา โดยแจ้งไปยังภูมิลำเนาและที่อยู่ของผู้ถูกกล่าวหาซึ่งปรากฏตามหลักฐานของทางราชการ หรือตามหลักฐานที่ปรากฏจากการไต่สวน ซึ่งเป็นสถานที่อยู่สำคัญที่ผู้ถูกกล่าวหาน่าจะได้รับหนังสือแจ้งให้มารับทราบข้อกล่าวหา ส่วนการแจ้งข้อกล่าวหาด้วยการปิดประกาศหนังสือส่งบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหายังที่ทำการสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นวิธีการที่กำหนดขึ้นเพื่อประโยชน์แก่การไต่สวนให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ กรณีที่ไม่อาจแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ด้วยวิธีอื่น คดีนี้มีการแจ้งข้อกล่าวหาครบทั้งสองลักษณะ สำหรับการแจ้งข้อกล่าวหาด้วยการมีหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาตามข้อ 37 วรรคหนึ่ง การส่งบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับตามข้อ 38 วรรคหนึ่ง และการปิดประกาศหนังสือส่งบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาตามข้อ 38 วรรคสองนั้น จำเลยที่ 2 จงใจปกปิดภูมิลำเนาของตนเพื่อหลบเลี่ยงมิให้คณะอนุกรรมการไต่สวนสามารถติดตามดำเนินคดีแก่ตนได้ เจ้าของบ้านแจ้งจำหน่ายชื่อจำเลยที่ 2 ออกจากทะเบียนบ้านแล้วไปเพิ่มชื่อจำเลยที่ 2 ในทะเบียนบ้านของสำนักงานทะเบียนท้องถิ่น ย่อมทำให้ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 ไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะทำให้คณะอนุกรรมการไต่สวนสามารถมีหนังสือแจ้งข้อกล่าวหา ส่งบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับหรือปิดประกาศหนังสือส่งบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยที่ 2 ได้ ถือได้ว่าการแจ้งข้อกล่าวหาด้วยวิธีอื่นไม่อาจกระทำได้ ต้องนำการแจ้งข้อกล่าวหาด้วยวิธีปิดประกาศหนังสือส่งบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหายังที่ทำการสำนักงาน ป.ป.ช. ตามข้อ 38 วรรคสอง มาใช้บังคับ เมื่อการปิดประกาศดังกล่าวกระทำโดยชอบ การสอบสวนของคณะอนุกรรมการไต่สวนจึงเป็นไปโดยชอบ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง
of 84