คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
จำนอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 948 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14806/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำนอง: ผู้กู้และผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดในส่วนเกินหลังบังคับจำนอง หากสัญญามิได้ระบุข้อยกเว้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 733
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้ยืมและบังคับจำนอง เมื่อตามสัญญาจำนองมิได้ตกลงยกเว้นความใน ป.พ.พ. มาตรา 733 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดในเงินส่วนที่ขาดหลังจากการบังคับจำนอง และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วยตามมาตรา 698 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13337/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำนองกับค้ำประกัน: ความแตกต่างและขอบเขตความรับผิดชอบของผู้จำนอง/ผู้ค้ำประกัน
การที่จำเลยที่ 2 จำนองที่ดินของตนเพื่อประกันหนี้เงินกู้ที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระให้แก่ธนาคาร ก. เจ้าหนี้ เป็นการให้สัญญาต่อเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ก็ให้ธนาคารเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 บังคับจำนองเอากับที่ดินของจำเลยที่ 2 ได้ ต่างกับการค้ำประกันซึ่งโจทก์ผู้ค้ำประกันสัญญาว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้โจทก์จะชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ ในกรณีของจำเลยที่ 2 ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. ในลักษณะจำนองซึ่งไม่มีบทบัญญัติให้นำมาตรา 682 วรรคสอง ในลักษณะค้ำประกันมาใช้บังคับกับจำเลยที่ 2 ให้ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับโจทก์ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน อีกทั้งไม่ใช่กรณีผู้ค้ำประกันหลายคนยอมตนเข้าค้ำประกันหนี้รายเดียวกันอันจะต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง อันจะทำให้โจทก์รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บังคับจำนองกับที่ดินของจำเลยที่ 2 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13104/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดี จำเป็นต้องมีข้อโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ หรือมีเหตุใช้สิทธิทางศาล กรณีจำนองถูกต้อง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ผู้ที่จะยื่นฟ้องคดีต่อศาลจะต้องถูกโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายหรือจะต้องใช้สิทธิทางศาล กล่าวคือ ต้องมีกฎหมายรองรับว่ามีสิทธิหรือหน้าที่จะต้องใช้สิทธิทางศาล ฟ้องโจทก์บรรยายว่า โจทก์แย่งสิทธิครอบครองในที่ดินและบ้านพิพาทจาก พ. ผู้เป็นเจ้าของภายหลังจากที่ พ. จดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ไว้แก่จำเลยก่อนที่จำเลยฟ้องบังคับให้ พ. ชำระหนี้และดำเนินการบังคับคดียึดที่ดินพร้อมบ้านพิพาทออกขายทอดตลาดแก่ผู้มีชื่ออันมีผลให้สัญญาจำนองระงับตาม ป.พ.พ. มาตรา 744 (3) (4) เท่ากับโจทก์รับว่าจำเลยจดทะเบียนรับจำนองจาก พ. ผู้เป็นเจ้าของไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน จำเลยจึงเป็นเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิเหนือที่ดินและบ้านพิพาท ย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับจำนองขายทอดตลาดทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อชำระหนี้แก่ตนได้ การที่โจทก์จะเข้าแย่งการครอบครองหรือได้สิทธิครอบครองในภายหลังหรือไม่ ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการทำให้ผู้จำนองหลุดพ้นหรือเป็นการถอนจำนอง อันมีผลให้สัญญาจำนองระงับไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 744 (3) (4) ดังที่โจทก์กล่าวอ้าง ทั้งตามคำฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อโจทก์โดยผิดต่อกฎหมายหรือใช้สิทธิอันเป็นการมิชอบด้วยกฎหมายประการใด การกระทำของจำเลยตามคำฟ้องของโจทก์ จึงเป็นกรณีที่ไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์หรือมีเหตุที่โจทก์จะต้องใช้สิทธิทางศาล โจทก์จึงไม่มีสิทธิยื่นฟ้องจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10317/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลำดับบุริมสิทธิหนี้ค่าส่วนกลาง: ค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18(2) พ.ร.บ.อาคารชุด มีบุริมสิทธิก่อนเจ้าหนี้จำนอง
พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18 (เดิม) วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เจ้าของร่วมต้องร่วมกันออกค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการบริการส่วนรวมและที่เกิดจากเครื่องมือ เครื่องใช้ที่มีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ตามส่วนแห่งประโยชน์ที่มีต่อห้องชุด ทั้งนี้ ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ วรรคสอง บัญญัติว่า เจ้าของร่วมต้องร่วมกันออกค่าภาษีอากรและค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดูแลรักษา และการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางตามอัตราส่วนที่เจ้าของร่วมแต่ละคนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลางตามมาตรา 14 และมาตรา 41 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เพื่อประโยชน์ในการบังคับชำระหนี้อันเกิดจากค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 ให้นิติบุคคลอาคารชุดมีบุริมสิทธิ ดังนี้ (1) บุริมสิทธิเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายตาม มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นบุริมสิทธิในลำดับเดียวกับบุริมสิทธิตามมาตรา 259 (1) แห่ง ป.พ.พ. และมีอยู่เหนือสังหาริมทรัพย์ที่เจ้าของห้องชุดนั้นนำมาไว้ในห้องชุดของตน (2) บุริมสิทธิเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 วรรคสอง ให้ถือว่าเป็นบุริมสิทธิในลำดับเดียวกับบุริมสิทธิตามมาตรา 273 (1) แห่ง ป.พ.พ. และมีอยู่เหนือทรัพย์ส่วนบุคคลของแต่ละเจ้าของห้องชุด วรรคสอง บัญญัติว่า บุริมสิทธิตาม (2) ถ้าผู้จัดการได้ส่งรายการหนี้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว ให้ถือว่าอยู่ในลำดับก่อนจำนอง เห็นได้ว่า เฉพาะบุริมสิทธิเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายตาม มาตรา 18 วรรคสอง เท่านั้นที่มีอยู่เหนือห้องชุดของลูกหนี้ และบุริมสิทธิค่าใช้จ่ายส่วนนี้ หากผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดได้ส่งรายการหนี้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว ให้ถือว่าอยู่ในลำดับก่อนเจ้าหนี้จำนอง สำหรับบุริมสิทธิเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง เป็นสิทธิของนิติบุคคลอาคารชุดที่มีอยู่เหนือสังหาริมทรัพย์ที่เจ้าของห้องชุดนำมาไว้ในห้องชุดของตน ดังนี้ในกรณีที่นิติบุคคลอาคารชุดจะบังคับชำระหนี้ค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง เอาจากอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นห้องชุดของลูกหนี้ นิติบุคคลอาคารชุดมีฐานะเป็นเพียงเจ้าหนี้สามัญ ไม่มีบุริมสิทธิเหนือห้องชุดของลูกหนี้ แม้ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดจะได้ส่งรายการหนี้ค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ไม่ทำให้เกิดสิทธิได้รับชำระหนี้จากห้องชุดนั้นก่อนเจ้าหนี้จำนอง
รายการหนี้ค่าใช้จ่ายที่โจทก์ส่งให้เจ้าพนักงานที่ดินเป็นยอดหนี้รวมของค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 วรรคหนึ่งและวรรคสอง โดยไม่ได้แยกให้เห็นว่า จำเลยเป็นหนี้ค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 วรรคสอง จำนวนเท่าใด อันจะก่อให้เกิดบุริมสิทธิเหนือห้องชุดของจำเลยก่อนหนี้จำนอง แต่เมื่อเป็นค่าใช้จ่ายปกติที่เกิดขึ้นในทุกเดือน และโดยสภาพประมาณได้ว่าไม่น่าจะน้อยกว่าร้อยละ 50 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด แม้โจทก์ไม่ได้นำสืบให้ได้ความชัดแจ้งถึงจำนวนหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ศาลฎีกาเห็นควรกำหนดให้เพียงกึ่งหนึ่งของหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้บุริมสิทธิที่โจทก์มีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนหนี้จำนองของผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9761/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาในการยินยอมให้จำนองทรัพย์สินรวม และผลผูกพันตามกฎหมาย
ป.พ.พ. มาตรา 1361 บัญญัติว่า "เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ จะจำหน่ายส่วนของตนหรือจำนอง หรือก่อให้เกิดภาระติดพันก็ได้ แต่ตัวทรัพย์สินนั้นจะจำหน่าย จำนำ จำนอง หรือก่อให้เกิดภาระติดพันได้ ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน" แม้ผู้ร้องจะเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาททั้งสองแปลง 1 ใน 7 ส่วน แต่จากการไต่สวนข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของจ่าสิบเอก บ.จดทะเบียนใส่ชื่อของจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเพียงคนเดียว และนำที่ดินดังกล่าวไปจำนองเพื่อประกันหนี้ไว้แก่โจทก์ ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องและบรรดาทายาทอื่นของจ่าสิบเอก บ.โต้แย้งคัดค้านแต่อย่างใด ทั้งผู้ร้องและพี่น้องคนอื่นซึ่งเป็นบุตรของจำเลยยังเคยเจรจากับโจทก์ว่าไม่คิดจะโกงโจทก์ และภายหลังโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้แล้ว ผู้ร้องยังมีส่วนเจรจากับโจทก์โดยขอให้โจทก์ยอมลดยอดหนี้ให้แก่จำเลย จนจำเลยและโจทก์ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และเมื่อมีการยึดที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาด ผู้ร้องยังได้ไปดูแลการขายทอดตลาดแทนจำเลยอีกด้วย แสดงว่าตลอดระยะเวลาประมาณ 20 ปี นับแต่จำเลยนำที่ดินพิพาททั้งสองแปลงไปจำนองไว้แก่โจทก์ ผู้ร้องรู้มาโดยตลอด แต่ไม่เคยโต้แย้งหรือคัดค้าน แสดงว่าผู้ร้องมีเจตนาให้จำเลยแสดงตนเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทแต่ผู้เดียวและยินยอมให้จำเลยจำนองที่ดินพิพาทได้ การจำนองผูกพันผู้ร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคสอง ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอกันส่วนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงออกจากการขายทอดตลาดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9544/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระหนี้และผลกระทบต่อสิทธิจำนอง: เจ้าหนี้มีสิทธิปลดจำนองเมื่อหนี้ระงับ และไม่ถือเป็นการละเมิดต่อผู้ค้ำประกัน
เมื่อหนี้ตามสัญญาจำนองที่ได้ประกันหนี้ไว้ระงับไป สัญญาจำนองจึงระงับสิ้นไปด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 744 (1) ด้วยเหตุนี้จำเลยในฐานะผู้รับจำนองจึงไม่อาจหน่วงเหนี่ยวถือสิทธิใดๆ ในสัญญาจำนองและทรัพย์สินที่จำนองไว้ได้อีก การที่จำเลยปลดจำนองให้แก่ อ. และ ว. ซึ่งเป็นการกระทำไปตามหน้าที่ของเจ้าหนี้ผู้ที่ได้รับชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว ย่อมต้องคืนทรัพย์ซึ่งเป็นหลักประกันการชำระหนี้แก่เจ้าของทรัพย์ การที่จำเลยจดทะเบียนปลดจำนองจึงเป็นการดำเนินการไปตามหน้าที่ของเจ้าหนี้ผู้ได้รับชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว ที่พึงต้องคืนหลักประกันการชำระหนี้ดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงหาเป็นละเมิดต่อโจทก์ไม่ และหาเป็นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงในสิทธิจำนองที่ได้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้ตามมาตรา 697 ไม่ เพราะบทบัญญัติมาตราดังกล่าวเป็นกรณีที่เจ้าหนี้กระทำให้สิทธิ บุริมสิทธิหรือจำนองที่มีเพื่อประโยชน์ในการได้รับชำระหนี้ลดน้อยลง อันเป็นการกระทำก่อนการได้รับชำระหนี้จนครบ โจทก์จึงจะอ้างว่าจำเลยทำให้เสื่อมสิทธิในการเข้าสวมสิทธิจำนองของตนเพื่อไล่เบี้ยต่อ อ. และ ว. หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5584/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำนองจากการขายทอดตลาด: สิทธิของเจ้าหนี้มีประกัน และขอบเขตการบังคับชำระหนี้เกินทรัพย์ประกัน
จำเลยเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดในคดีแพ่งโดยติดจำนองย่อมมีฐานะเป็นเพียงผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนอง หาทำให้มีฐานะเป็นผู้จำนองไม่ จำเลยมีสิทธิไถ่ถอนจำนองโดยเสนอรับใช้เงินเป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์สินนั้น หากโจทก์ไม่ยอมรับก็ต้องฟ้องต่อศาลภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันมีคำเสนอ เพื่อให้ศาลพิพากษาสั่งขายทอดตลาดตาม ป.พ.พ. มาตรา 738 และ 739 แต่ถ้าจำเลยไม่ได้ใช้สิทธิไถ่ถอนจำนองดังกล่าว โดยโจทก์จะบังคับจำนองก็ต้องมีจดหมายบอกกล่าวแก่จำเลยผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองล่วงหน้าหนึ่งเดือนก่อนแล้วจึงจะบังคับจำนองได้ตามมาตรา 735 หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ โจทก์ก็ชอบที่จะบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้และผู้จำนองตามคำพิพากษาในคดีแพ่ง อันเนื่องมาจากข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองที่ว่า หากบังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ ผู้จำนองยอมรับผิดชดใช้หนี้จนครบถ้วน โจทก์จะอาศัยสิทธิความเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งมาฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่เป็นเพียงผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองให้รับผิดในฐานะผู้จำนองแก่โจทก์ด้วยหาได้ไม่ แม้โจทก์ฟ้องบังคับจำนองโดยขอให้บังคับคดีแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยในกรณีที่ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ ย่อมเป็นคำขอที่เกินเลยไปกว่าสิทธิที่โจทก์พึงมีพึงได้ตามกฎหมาย และแม้ศาลในคดีแพ่งมีคำพิพากษาไปตามคำขอของโจทก์คำพิพากษาดังกล่าวก็ไม่มีผลผูกพันศาลในคดีล้มละลาย เนื่องจากกฎหมายล้มละลายเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับจำนองมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินซึ่งจำนองที่จำเลยรับโอนจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี โจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 6 แต่โจทก์คงมีสิทธิบังคับจำนองได้เฉพาะจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนองเท่านั้น หากได้เงินสุทธิน้อยกว่าที่ค้างชำระและยังขาดอยู่เท่าใด จำเลยผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองไม่จำต้องรับผิดในหนี้นั้น โจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้มีประกันที่เป็นผู้ต้องห้ามมิให้บังคับการชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยเกินกว่าตัวทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน โจทก์จะฟ้องจำเลยให้ล้มละลายไม่ได้ ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 10 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4203/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำนองที่ดินโดยไม่มีอำนาจจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ แม้ผู้รับจำนองจะสุจริตก็ไม่อาจยันเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้
โจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปดำเนินการจดจำนองที่ดินพิพาทและลายมือชื่อโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจเป็นลายมือชื่อปลอม ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 นำหนังสือมอบอำนาจที่เป็นเอกสารและโฉนดที่ดินพิพาทของโจทก์ที่ถูกลักไปไปจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาท จึงเป็นการกระทำไปโดยไม่มีอำนาจ ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 705 การจำนองดังกล่าวไม่ผูกพันโจทก์ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแต่อย่างใดแม้จำเลยที่ 2 จะรับจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตามก็ไม่อาจยกเหตุดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างยันแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2510/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องค้ำประกัน-จำนอง: ทายาทรับมรดกมีสิทธิจำกัดเฉพาะทรัพย์มรดก, จำเลยไม่ต้องรับผิด
สัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองตามที่ระบุไว้ในคำขอท้ายฟ้องเกิดขึ้นด้วยการแสดงเจตนาโดยใจสมัครของบิดาโจทก์ที่จะประกันการชำระหนี้กู้ยืมเงินของจำเลยที่มีอยู่แก่ธนาคารเจ้าหนี้ โดยข้อสัญญาและโดยใช้ทรัพย์สินของตนเป็นประกันซึ่งบิดาโจทก์มีสิทธิทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย แม้ต่อมาบิดาโจทก์ถึงแก่กรรมและโจทก์อ้างว่าเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของบิดา แต่โจทก์ไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน โจทก์เพียงแต่บรรยายฟ้องว่า จำเลยไม่ชำระหนี้แก่ธนาคารเจ้าหนี้ตามมูลหนี้ที่ค้างชำระเป็นเวลามากกว่า 10 ปีแล้วจะเป็นผลเสียหายแก่โจทก์เกินสมควร โจทก์ไม่ประสงค์จะค้ำประกันจำเลยอีกต่อไป จึงฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองนั้น นอกจากจำเลยจะไม่ได้เป็นคู่สัญญาในสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองแล้ว จำเลยมิได้กระทำการใด ๆ ที่เป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยและคดียังไม่มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า บทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรื่องค้ำประกัน จำนองเฉพาะมาตราที่เกี่ยวเนื่องกับค้ำประกัน และมาตรา 1600 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะศาลมิได้ใช้บทกฎหมายดังกล่าววินิจฉัยคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1587/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำนองครอบคลุมทรัพย์ติดพัน แม้ซื้อจากขายทอดตลาด แต่สิทธิจำนองไม่ระงับ จำเลยต้องคืนเงินค่าทรัพย์ที่ถูกรื้อถอน
ป.พ.พ. มาตรา 718 จำนองย่อมครอบไปถึงทรัพย์ทั้งปวงอันติดพันอยู่กับทรัพย์สินซึ่งจำนอง และเมื่อบ้านพิพาทเป็นโรงเรือนซึ่งมีอยู่ในขณะที่จดทะเบียนจำนอง การจำนองย่อมครอบคลุมไปถึงบ้านพิพาทด้วย แม้จำเลยจะซื้อบ้านพิพาทได้จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยสุจริต แต่สิทธิของจำเลยก็ได้มาภายหลังจากที่โจทก์ได้รับจำนองบ้านพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ในทรัพย์จำนองระงับสิ้นไปได้ การจำนองบ้านพิพาทจึงยังคงมีอยู่ไม่ระงับสิ้นไป โจทก์จึงคงมีสิทธิจะบังคับจำนองเอาแก่บ้านพิพาทที่จำเลยซื้อได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 744 และมาตรา 702 วรรคสอง
จำเลยเป็นแต่เพียงผู้ซื้อบ้านพิพาทได้จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล มิใช่เป็น ผู้จำนองหรือคู่สัญญากับโจทก์ผู้รับจำนอง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในฐานะเป็นผู้จำนองต่อโจทก์ แต่การที่บ้านพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์จำนองซึ่งโจทก์มีสิทธิบังคับจำนองขายทอดตลาดบ้านพิพาทเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ก่อนตาม ป.พ.พ มาตรา 702 วรรคสอง จำเลยกลับรื้อบ้านพิพาทและขายให้กับบุคคลอื่นไป แม้กระทำการโดยสุจริต จำเลยต้องคืนเงินในส่วนที่เกี่ยวกับบ้านพิพาทให้แก่โจทก์
of 95