คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สินสมรส

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 858 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7534/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหย่าจากเหตุจงใจทิ้งร้างและประเด็นสินสมรสระหว่างสามีภริยาและการแบ่งทรัพย์สิน
โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาเดือนพฤศจิกายน 2556 โจทก์มีอาการป่วยเป็นเส้นเลือดในสมองตีบ ไขมันในเลือดสูง ไม่มีแรงช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เดือนธันวาคม 2556 จำเลยที่ 1 เริ่มทยอยขนของออกจากบ้าน จนกระทั่งเดือนธันวาคม 2557 จำเลยที่ 1 ขนของออกจากบ้านไปอยู่กินกับจำเลยที่ 2 แล้วไม่กลับมาเลยตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2557 โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ถูกขับไล่ออกจากบ้านและถูกข่มขู่จะทำร้ายดังที่กล่าวอ้าง เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ออกจากบ้านไปนับถึงวันฟ้อง (วันที่ 6 กรกฎาคม 2558) เกินกว่า 1 ปี จึงเป็นการจงใจทิ้งร้างโจทก์ไปเกิน 1 ปี อันเป็นเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4)
แม้จำเลยที่ 2 จะยื่นฎีกาในปัญหานี้ว่า จำเลยที่ 1 มิได้ทิ้งร้างโจทก์แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ ไม่ได้กระทบสิทธิของจำเลยที่ 2 อันจะเป็นการโต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 2 แต่ประการใด เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่ากันเพราะเหตุทิ้งร้างไปเกิน 1 ปีเช่นนี้ จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาข้างต้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 มานั้นเป็นการไม่ชอบ จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิฎีกา แม้ศาลชั้นต้นจะรับฎีกาจำเลยที่ 2 มาก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ให้ยกฎีกาของจำเลยที่ 2 ในปัญหานี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6926/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับการแบ่งสินสมรส และการโอนทรัพย์สินเฉพาะส่วนให้บุตร ฟ้องเพิกถอนได้
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าการศึกษาของบุตร รวมทั้งขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือสัญญาหย่าไว้ต่อกันโดยมีข้อตกลงว่า จำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเดือนละ 5,000 บาท และค่าการศึกษาบุตรด้วย และยังมีข้อตกลงแบ่งสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ว่า บ้านพร้อมที่ดินพิพาทให้เป็นของโจทก์และจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ตายไปให้ส่วนของจำเลยที่ 1 ตกเป็นมรดกแก่บุตร คือ จ. แม้คดีนี้เป็นคดีครอบครัว แต่สิทธิในการฎีกาต้องพิจารณาทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาว่าต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่ เว้นแต่เป็นคดีสิทธิในครอบครัว เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าเกี่ยวกับการขอให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรในวันที่ 13 มกราคม 2557 อันเป็นเวลาภายหลังที่ จ. บรรลุนิติภาวะแล้ว กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ตามสัญญา ไม่ใช่คดีเกี่ยวด้วยสิทธิในครอบครัว ทั้งข้อหาแต่ละข้อตามคำฟ้องของโจทก์ก็แยกจากกันได้เพราะไม่เกี่ยวข้องกัน การที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าการศึกษาให้ จ. เนื่องจาก จ. มีพฤติกรรมก้าวร้าวไม่เคารพจำเลยที่ 1 โจทก์และ จ. ร่วมกันขัดขวางมิให้จำเลยที่ 1 ได้รับเงินเวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิต และยังร่วมกันไปรับเงินจากอีกกรมธรรม์หนึ่งที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระเบี้ยประกันขอให้หักกลบลบหนี้ได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง มิใช่ปัญหาข้อกฎหมาย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระให้แก่โจทก์เป็นเงิน 81,665 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ทุนทรัพย์ที่พิพาทตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ในประเด็นนี้จึงไม่เกิน 200,000 บาท คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6
ข้อความในบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าที่จำเลยที่ 1 ระบุว่า สินสมรสในส่วนของจำเลยที่ 1 ในบ้านพร้อมที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยที่ 1 ตายให้ตกเป็นมรดกของบุตร คือ จ. นั้นเป็นสัญญาที่มีเงื่อนเวลาที่ก่อให้เกิดหนี้แก่จำเลยที่ 1 ที่ต้องชำระแก่บุคคลภายนอก คือ จ. ผู้เป็นบุตร เพื่อเป็นการระงับข้อพิพาท จึงเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 มิใช่พินัยกรรม ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมบ้านพิพาท เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หาแม้ไม่กระทบต่อสิทธิของโจทก์ในบ้านและที่ดินพิพาทก็ตาม แต่โจทก์ก็เป็นคู่สัญญาในหนังสือสัญญาหย่าโดยตรงกับจำเลยที่ 1 ในการยกทรัพย์สินให้แก่บุตร โจทก์ในฐานะคู่สัญญามีอำนาจฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรม การโอนทรัพย์พิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้เพราะเป็นทางให้บุตรเสียเปรียบ อันเป็นการฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามข้อตกลงในหนังสือสัญญาหย่า การที่จำเลยที่ 1 โอนบ้านพร้อมที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา จึงเป็นการที่จำเลยที่ 1 หลีกเลี่ยงที่จะชำระหนี้ให้แก่บุตรตามข้อตกลงในสัญญา กรณีมีเหตุที่จะเพิกถอนนิติกรรมการโอนดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 516/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สินสมรส: ที่ดินที่ซื้อระหว่างสมรสเป็นสินสมรส การโอนให้บุตรหลังฟ้องเป็นทุจริตเพื่อหลีกเลี่ยงบังคับคดี
โจทก์บรรยายฟ้องว่าที่ดินพิพาททั้ง 9 แปลง เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลย โดยได้มาระหว่างสมรส จำเลยไม่ปฏิเสธข้ออ้างดังกล่าว แต่ต่อสู้ว่าเป็นทรัพย์สินที่มีการนำเงินของบริษัท อ. ซื้อไว้โดยใส่ชื่อจำเลยแทน เมื่อที่ดินพิพาททั้ง 9 แปลง เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่โจทก์และจำเลยได้มาระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474
หลังจากโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้แล้ว การที่จำเลยจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่บุตรก็ถือเป็นการจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินให้บุคคลอื่น ซึ่งแม้จะเป็นบุตรของทั้งโจทก์และจำเลยเองก็เป็นเหตุที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง ทำให้เห็นได้ว่าเป็นการโอนทรัพย์สินโดยทุจริตเพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับคดี
คดีนี้ โจทก์ฟ้องและมีคำขอเรียกร้องเงินหรือทรัพย์สินจากจำเลยมาเป็นของโจทก์ จำเลยต่อสู้กรรมสิทธิ์ว่าเป็นทรัพย์สินของจำเลย แต่จำเลยให้การเพียงว่า เป็นทรัพย์สินของบริษัท อ. ซึ่งเป็นนิติบุคคลอื่น จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4481/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการเพิกถอนการยึดทรัพย์เมื่อหนี้ระงับ แม้ทรัพย์สินเป็นสินสมรส ผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิร้องขอได้
การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการยึดที่ดินของผู้ร้องเนื่องจากหนี้ตามคำพิพากษาที่โจทก์มีต่อจำเลยระงับไปแล้ว เป็นการกล่าวอ้างว่า จำเลยไม่มีสิทธิบังคับคดีต่อโจทก์อีกต่อไปและการบังคับคดีโดยการยึดที่ดินของผู้ร้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จำเลยจะอุทธรณ์ว่าทรัพย์สินที่ยึดเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างผู้ร้องและโจทก์ก็ตาม แต่หากหนี้ที่โจทก์มีต่อจำเลยเป็นหนี้ที่ระงับไปแล้ว การยึดที่ดินดังกล่าวย่อมเป็นการกระทบกระเทือนสิทธิของผู้ร้องในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์อยู่ด้วย ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้องเสียหายจากเหตุดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคหนึ่ง กรณีไม่ใช่การร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่ยึดโดยอ้างว่าทรัพย์สินที่ยึดไม่ใช่ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอเพิกถอนการยึดทรัพย์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 512/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินที่เป็นสินสมรสโดยไม่ยินยอมของคู่สมรส และผลของการเพิกถอนต่อกรรมสิทธิ์
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 โดยอ้างว่า ส. ทำนิติกรรมยกที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับ ส. ให้แก่จำเลยโดยปราศจากความยินยอมของโจทก์ แม้คำขอท้ายฟ้องของโจทก์จะมีเพียงว่าให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาท หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย แต่เมื่อพิจารณาคำฟ้องโดยรวมที่โจทก์บรรยายว่านำคดีมาฟ้องเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมหนังสือสัญญาให้ที่ดินพิพาทระหว่าง ส. กับจำเลย และให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทดังกล่าวประกอบด้วยแล้วแปลเจตนาของโจทก์ได้ว่าโจทก์ประสงค์ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบที่ดินพิพาทแก่โจทก์ในสภาพที่มีการเพิกถอนนิติกรรมการให้เรียบร้อยแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามฟ้องและนิติกรรมรายนี้มีการทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือ ทำเป็นหนังสือสัญญาและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ศาลก็ย่อมพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ทำตามแบบดังกล่าวได้ทั้งหมด และเมื่อนิติกรรมการให้ถูกเพิกถอนก็ย่อมทำให้ที่ดินพิพาทกลับตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์กับ ส. ดังเดิม จำเลยไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทอีกต่อไป จึงต้องส่งมอบที่ดินพร้อมโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนการให้ระหว่าง ส. กับจำเลยในสารบัญการจดทะเบียนท้ายโฉนดที่ดินพิพาท และให้จำเลยส่งมอบที่ดินพิพาทแก่โจทก์ด้วยนั้นไม่ถือเป็นการพิพากษาเกินคำขอแต่อย่างใด
เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนการให้ในสารบัญการจดทะเบียนท้ายโฉนดที่ดินพิพาท เจ้าพนักงานที่ดินสามารถดำเนินการได้เองตาม ป.ที่ดิน และที่ดินพิพาทย่อมกลับมีชื่อของ ส. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยผลของคำพิพากษา ไม่มีสิ่งใดที่จะต้องบังคับให้จำเลยต้องปฏิบัติโดยการแสดงเจตนาอีก จึงไม่จำต้องสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4650/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสมรสที่เป็นโมฆะ ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สิน และการเพิกถอนข้อตกลงเรื่องสินสมรส
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1498 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "การสมรสที่เป็นโมฆะ ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา" และวรรคสองบัญญัติว่า "ในกรณีที่การสมรสเป็นโมฆะ ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดมีหรือได้มาไม่ว่าก่อนหรือหลังการสมรสรวมทั้งดอกผลคงเป็นของฝ่ายนั้น ส่วนบรรดาทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่ง เว้นแต่ศาลจะเห็นสมควรสั่งเป็นประการอื่น..." เมื่อศาลพิพากษาว่าการจดทะเบียนสมรสระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านเป็นโมฆะ การสมรสดังกล่าวย่อมไม่สมบูรณ์หรือเสียเปล่ามาตั้งแต่วันที่ทำการสมรส ถือว่าไม่มีการสมรสเกิดขึ้นระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้าน เมื่อไม่มีการสมรส ย่อมไม่มีเหตุที่จะต้องจดทะเบียนหย่า และคู่สมรสย่อมไม่มีความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างกันอันเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 1498 กล่าวคือ การสมรสที่เป็นโมฆะไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา ไม่ต้องมีการแบ่งทรัพย์สินกันอย่างสามีภริยา ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดมีหรือได้มาไม่ว่าก่อนหรือหลังการสมรสรวมทั้งดอกผลคงเป็นของฝ่ายนั้น ส่วนบรรดาทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่ง ดังนั้นข้อตกลงใด ๆ ที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสามีภริยาที่การสมรสเป็นโมฆะเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับการสมรสที่เป็นโมฆะ จึงไม่อาจมีได้โดยสมบูรณ์ การตกลงเรื่องสินสมรสในบันทึกข้อตกลงการหย่าและข้อตกลงเพิ่มเติมฉบับลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 เป็นนิติกรรมที่ต้องอาศัยความสัมพันธ์ที่สมบูรณ์ของสามีภริยา เมื่อผู้ร้องทำบันทึกข้อตกลงการหย่าและข้อตกลงเพิ่มเติม โดยไม่ทราบถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้ร้องที่มีอยู่ตามกฎหมายด้วยเหตุที่ผู้คัดค้านปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจดทะเบียนสมรสซ้อน จึงไม่อาจถือว่าผู้ร้องทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวด้วยความสมัครใจโดยมีเจตนาแยกการทำนิติกรรมที่มีผลสมบูรณ์ออกจากการจดทะเบียนสมรสที่เป็นโมฆะและมีเจตนาระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จสิ้นไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน ไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 กรณีจึงมีเหตุให้เพิกถอนบันทึกข้อตกลงและบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมแนบท้ายทะเบียนการหย่าระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านในส่วนทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้าน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3787/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนการโอนห้องชุดสินสมรส และอำนาจศาลในการแก้ไขคำพิพากษาให้ถูกต้องตามคำขอท้ายฟ้อง
เมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนการโอนห้องชุดกึ่งหนึ่ง ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 แล้ว ห้องชุดดังกล่าวกลับเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่โอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์แต่อย่างใด ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาในส่วนนี้มาจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246, 252 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 182/1 วรรคสอง
ห้องชุดพิพาททั้งสองห้องเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เกิดจากการวินิจฉัยของศาลชั้นต้น มิใช่เป็นความบกพร่องของโจทก์ที่มิได้บรรยายฟ้องถึงฐานะแห่งกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทตามที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัย และเมื่อพิจารณาจากคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ ที่ขอให้จำเลยทั้งสองส่งมอบห้องชุดตามฟ้องคืนแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ยอมปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนานั้น ฟังว่าโจทก์มีคำขอบังคับตามลำดับโดยชัดแจ้งแล้ว การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนให้ห้องชุดพิพาททั้งสองห้องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่ง กับให้จำเลยที่ 1 ร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดดังกล่าวให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ถือว่าศาลชั้นต้นพิพากษาตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์โดยชอบแล้ว มิได้เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องดังที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัย ประกอบกับตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 19 มิได้ห้ามคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ห้องชุดเสียทีเดียว ฉะนั้น คนต่างด้าวจึงอาจถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองไม่จำต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่งจึงไม่ชอบ เพราะนอกจากโจทก์จะชนะคดีไม่เต็มตามฟ้องแล้ว โจทก์ยังไม่สามารถบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2294/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายสินสมรส: การมีอยู่ของหนังสือมอบอำนาจ และการยินยอมของคู่สมรสมีผลผูกพันตามสัญญา
จำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่ดินและบ้านพิพาทมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ โดยซื้อมาในระหว่างเป็นสามีภริยากัน จึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส อันเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) จำเลยที่ 2 มอบหมายให้ ก. ประกาศขายที่ดินและบ้านพิพาทแทน โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและบ้านพิพาทกับบริษัท ซ. โดย ก. จากการติดต่อชี้ช่องของ ช. ทางเว็บไซต์เฟซบุ๊กของ ก. โดย ก. นำหนังสือมอบอำนาจให้บริษัท ซ. ขายที่ดินและบ้านพิพาทแทน และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ตรวจสอบ ส่วนจำเลยที่ 2 นำโฉนดที่ดิน ใบอนุญาตก่อสร้างอาคารที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาต รวมทั้งใบอนุญาตขับรถของจำเลยที่ 2 ให้โจทก์ดูและแนะนำตัวว่าเป็นสามีของจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้มอบอำนาจให้บริษัท ซ. ขายที่ดินและบ้านพิพาท แต่ไม่ได้นำจำเลยที่ 1 มาสืบหักล้าง จึงมีน้ำหนักน้อย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้บริษัท ซ. ขายที่ดินและบ้านพิพาทแทน ต้องผูกพันตามสัญญา เสมือนว่ากระทำด้วยตนเองตามมาตรา 820 ส่วนจำเลยที่ 2 ลงชื่อเป็นพยานในหนังสือมอบอำนาจและสัญญาซื้อขาย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่า รู้เห็นยินยอมให้บริษัท ซ. โดย ก. ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและบ้านพิพาทอันเป็นสินสมรสแก่โจทก์ สัญญาระหว่างโจทก์กับบริษัท ซ.จึงมีผลผูกพัน จำเลยทั้งสองมีหน้าที่โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1478/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งสินสมรส: ที่ดินที่ซื้อด้วยเงินสินสมรส แม้มีการโอนชื่อให้บุคคลอื่น ก็ยังเป็นสินสมรส
จําเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์และจําเลยมีสินสมรสร่วมกันหลายรายการ สินสมรสบางรายการมีชื่อโจทก์และโจทก์ร่วมถือกรรมสิทธิ์ ขอให้บังคับโจทก์แบ่งทรัพย์สินดังกล่าวให้จําเลยกึ่งหนึ่ง จําเลยขอให้ศาลหมายเรียก ธ. บุตรของโจทก์และจําเลยเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ข) เพื่อให้การจัดการสินสมรสเสร็จไปในคราวเดียวไม่ต้องไปฟ้องร้องกันเป็นคดีใหม่ การที่โจทก์และโจทก์ร่วมเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโดยมิได้แบ่งสัดส่วนการถือกรรมสิทธิ์ ต้องถือว่าโจทก์และโจทก์ร่วมมีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินในสัดส่วนเท่ากันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1357 ประกอบกับมาตรา 1359 บัญญัติว่า เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ อาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกได้ การที่จําเลยให้การและฟ้องแย้งและหมายเรียกขอให้บังคับโจทก์และโจทก์ร่วมโอนที่ดินคืนแก่จําเลย จึงถือว่าโจทก์และโจทก์ร่วมเป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีที่เป็นการชําระหนี้ซึ่งแบ่งแยกกันมิได้ การที่โจทก์ยื่นคําฟ้อง คำให้การแก้ฟ้องแย้ง บัญชีระบุพยาน ถือได้ว่าโจทก์ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาทำการแทนซึ่งกันและกันกับโจทก์ร่วมด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 (1) เมื่อโจทก์ร่วมยอมรับเอาข้อเท็จจริงตามคําฟ้อง คำให้การแก้ฟ้องแย้ง และการดำเนินกระบวนพิจารณาต่าง ๆ ในชั้นพิจารณาของโจทก์ทุกประการ จึงเป็นคําคู่ความและการดำเนินการของโจทก์ร่วมด้วย โดยโจทก์ร่วมไม่จำต้องทำคำให้การใหม่เพื่อแก้คำให้การและฟ้องแย้งของจําเลย รวมทั้งพยานหลักฐานที่โจทก์นําสืบในชั้นพิจารณาหักล้างข้อต่อสู้ของจําเลย ย่อมถือว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาของโจทก์ร่วมเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษนำพยานหลักฐานที่โจทก์นําสืบมาวินิจฉัยเป็นคุณแก่โจทก์ร่วมจึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย
ระหว่างสมรสจําเลยโอนที่ดินที่เป็นสินสมรสเฉพาะส่วนของจําเลยให้แก่โจทก์โดยเสน่หาโดยมิได้ระบุเป็นอย่างอื่น จึงต้องถือว่าที่ดินดังกล่าวเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (3) บทบัญญัติดังกล่าวมิใช่บังคับเฉพาะกรณีบุคคลภายนอกเป็นผู้ยกทรัพย์สินให้เท่านั้น แต่ได้รวมถึงกรณีสามีภริยายกทรัพย์สินให้แก่กันในระหว่างสมรสด้วย ส่วนที่ดินที่มีชื่อโจทก์และโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันมีเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดินซึ่งเป็นเอกสารทางราชการที่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในทะเบียนที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ประกอบกับ ป.วิ.พ. มาตรา 127 บัญญัติว่า เอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง จึงเป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายันต้องนําสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสารนั้น ดังนั้น โจทก์และโจทก์ร่วมจึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามกฎหมายดังกล่าว เมื่อจําเลยให้การและฟ้องแย้งว่า เหตุที่มีชื่อโจทก์และโจทก์ร่วมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดิน เนื่องจากโจทก์ออกอุบายให้จําเลยยกที่ดินเฉพาะส่วนของจําเลยให้แก่โจทก์และโจทก์ร่วมเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้บุคคลภายนอกฟ้องบังคับชําระหนี้เอาจากจําเลย เท่ากับจําเลยให้การและฟ้องแย้งต่อสู้ว่าที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนตัวของโจทก์และโจทก์ร่วม แต่เป็นสินสมรสของจําเลยและโจทก์ร่วม จําเลยจึงมีหน้าที่นําสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 และมาตรา 127

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5980/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สินสมรสจากประกันชีวิต: สิทธิของผู้ร้องในเงินคืนจากกรมธรรม์เมื่อล้มละลาย
จำเลยกับผู้ร้องจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2521 และจดทะเบียนหย่าเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2549 ในระหว่างจำเลยกับผู้ร้องอยู่กินเป็นสามีภริยากัน เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2538 ผู้ร้องดำเนินการจัดให้มีการทำสัญญาประกันภัยเอาประกันชีวิตของจำเลยกับบริษัทประกันภัย ในลักษณะสัญญาประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (มีเงินปันผล) จำนวนเงินเอาประกันภัย 1,000,000 บาท ชำระเบี้ยประกันปีละ 75,000 บาท มีระยะเวลา 20 ปี ระบุให้บุตร 2 คน เป็นผู้รับผลประโยชน์ โดยจำเลยเป็นคนลงนามในคำขอเอาประกันชีวิต และบริษัทประกันภัย ออกกรมธรรม์ให้ในชื่อจำเลย แสดงว่า ผู้ร้องกับจำเลยร่วมรับรู้ในการทำประกันชีวิตจำเลย สัญญาประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (มีเงินปันผล) มีลักษณะเป็นการประกันความเสี่ยง ชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเสียชีวิตของจำเลยเพื่อความมั่นคงของครอบครัว ทั้งยังมีลักษณะเป็นการออมทรัพย์และการลงทุนเพื่อผลประโยชน์ที่บริษัทตกลงจะจ่ายคืนในอนาคตด้วย ประกอบกับได้ความว่าผู้ร้องได้นำเงินรายได้ที่ทำมาหาได้ในระหว่างสมรสกับจำเลยไปชำระเบี้ยประกันก่อนมีการหย่า งวดที่ 1 ถึงงวดที่ 5 งวดละ 75,000 บาท งวดที่ 6 ถึงงวดที่ 9 และงวดที่ 11 งวดละ 54,400 บาท รวม 10 งวด เป็นเงิน 647,000 บาท สิทธิเรียกร้องตามสัญญาประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (มีเงินปันผล) ตามกรมธรรม์ จึงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยและผู้ร้องได้มาระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรส ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) และเป็นสินสมรสที่มีอยู่ขณะที่มีการหย่าเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2549 เมื่อทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าภายหลังมีการหย่า จำเลยกับผู้ร้องได้มีการตกลงแบ่งสินสมรสตามสัญญาประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (มีเงินปันผล) ตามกรมธรรม์ สิทธิเรียกร้องตามสัญญาประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (มีเงินปันผล) ตามกรมธรรม์ จึงยังคงมีสภาพเป็นสินสมรสที่ยังมิได้แบ่ง และเมื่อกรมธรรม์ ครบกำหนดในวันที่ 26 ธันวาคม 2558 บริษัทผู้รับประกันภัยจ่ายเงินคืนตามกรมธรรม์ จำนวน 671,000 บาท เป็นสินสมรสที่จำเลยกับผู้ร้องมีส่วนคนละครึ่ง ผู้คัดค้านคงมีอำนาจจัดการและรวบรวมทรัพย์สินของจำเลย แต่ไม่มีอำนาจรวบรวมเอาเงินส่วนของผู้ร้องเข้ากองทรัพย์สินของจำเลย และต้องคืนเงินส่วนนี้ให้แก่ผู้ร้องครึ่งหนึ่ง ส่วนที่จำเลยและผู้ร้องจดทะเบียนหย่าเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2549 อันทำให้การสมรสสิ้นสุดลง ต่อมาในวันที่ 30 มกราคม 2550 ผู้ร้องนำเงินส่วนตัวไปชำระเงินค่าเบี้ยประกันจำนวน 54,400 บาท เป็นการที่ผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเข้าชำระหนี้แทนจำเลย เงินจำนวนนี้มิใช่เงินที่ผู้ร้องจะได้รับในฐานเป็นสินสมรสในคดีนี้ หากแต่เป็นเรื่องที่ผู้ร้องต้องไปว่ากล่าวเป็นกรณีอื่นต่างหาก เมื่อผู้ร้องไม่มีสิทธิได้รับเงินที่ชำระไปเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2550 คืนในคดีนี้และเงินที่บริษัทผู้รับประกันภัยคืนมาจำนวน 671,000 บาท รวมเงินจำนวนดังกล่าวไว้ด้วย จึงต้องหักเงิน 54,400 บาท ออกจากเงินบริษัทผู้รับประกันภัยคืนมา โดยคำนวณเทียบเป็นสัดส่วนร้อยละ คงเหลือเงินสินสมรส 618,957.80 บาท และผู้ร้องมีสิทธิได้รับคืนครึ่งหนึ่งจำนวน 309,478.90 บาท
of 86