คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ขายทอดตลาด

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,012 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17922/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายทอดตลาดบังคับคดี: การแจ้งเจ้าหนี้และการประเมินราคาที่เหมาะสม
จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 31910 และ 28735 ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าว จำเลยทั้งสองจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ที่มีต่อโจทก์ ต่อมาจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอม (สัญญาประนีประนอมยอมความ) ผู้แทนโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาด อ. ประมูลซื้อได้ในราคา 301,000,000 บาท แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้แจ้งเรื่องการยึดทรัพย์และประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ให้จำเลยที่ 1 ทราบ เมื่อสำเนาโฉนดที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมีชื่อจำเลยที่ 2 ผู้เดียวเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ อีกทั้งหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทระบุว่า จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้ระบุว่า กรรมการคนใดเป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1 และขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง จำเลยที่ 2 ยังเป็นกรรมการผู้มีอำนาจคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ส่งประกาศขายทอดตลาดไปให้แก่จำเลยที่ 2 ณ ที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของจำเลยที่ 1 นอกจากนั้น ณ. กรรมการผู้มีอำนาจคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้ ธ. เข้าร่วมขายทอดตลาด และ จ. กรรมการอีกคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมบังคับคดีผ่านผู้อำนวยการสำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงรายว่า จำเลยที่ 1 สามารถหาเงินซื้อที่ดินและอาคารของจำเลยที่ 1 คืนจากผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดได้ ย่อมแสดงโดยแจ้งชัดว่าจำเลยที่ 1 ทราบเรื่องการยึดทรัพย์และประกาศขายทอดตลาดแล้ว ถือได้ว่าเป็นการแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบถึงการยึดทรัพย์และการขายทอดตลาดโดยชอบด้วยกฎหมาย การขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงขายทรัพย์สินในราคาที่ต่ำเกินสมควร เป็นฎีกาในประเด็นร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งแล้วย่อมเป็นที่สุดตามมาตรา 309 ทวิ วรรคสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17393/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าเช่าเมื่อมีการยึดและขายทอดตลาดที่ดิน กรรมสิทธิ์ยังไม่โอน
การยึดที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ย่อมครอบไปถึงดอกผลนิตินัยของที่ดินนั้นด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 304 วรรคสอง ค่าเช่าที่ดินที่จำเลยต้องชำระตามสัญญาเช่า ถือเป็นดอกผลนิตินัยของที่ดินที่ถูกยึด ผู้ซื้อทรัพย์ย่อมได้ไปซึ่งสิทธิในการเรียกค่าเช่าในงวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระและต้องรับไปซึ่งภาระตามสัญญาเช่าที่ต้องให้ผู้เช่าใช้ประโยชน์จากที่ดินที่เช่าตามข้อสัญญาเช่นกัน
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 509 บัญญัติว่า การขายทอดตลาด แม้จะบริบูรณ์เมื่อผู้ทอดตลาดแสดงความตกลงด้วยการเคาะไม้ก็ตาม แต่ก็มีผลเพียงทำให้ผู้สู้ราคาไม่อาจถอนคำสู้ราคาของตนได้เท่านั้นและเมื่อพิจารณาประกอบมาตรา 515 และมาตรา 516 ที่บัญญัติว่า ผู้สู้ราคาสูงสุดต้องใช้ราคาเป็นเงินสดเมื่อมีการขายบริบูรณ์ และถ้าผู้สู้ราคาสูงสุดละเลยเสียไม่ใช้ราคาก็ให้เอาทรัพย์สินนั้นขายทอดตลาดซ้ำอีกครั้ง เมื่อในวันขายทอดตลาดที่ดินครั้งที่ 6 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้เคาะไม้ขายให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ซึ่งเสนอราคาสูงสุด และในวันเดียวกันผู้ซื้อทรัพย์ได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายกับเจ้าพนักงานบังคับคดีกับได้วางเงินมัดจำชำระค่าที่ดินบางส่วน และในเวลาต่อมาประมาณเกือบหนึ่งเดือนผู้ซื้อทรัพย์ได้ชำระส่วนที่เหลือ การทอดตลาดจึงเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ชำระส่วนที่เหลือ
การซื้อที่ดินเป็นการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์จึงต้องตกอยู่ภายใต้บทบัญญัติตามมาตรา 456 แห่ง ป.พ.พ. เมื่อยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ ผู้ซื้อทรัพย์จึงเพียงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิได้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 กรรมสิทธิ์ในที่ดินจึงยังคงเป็นของกองมรดก ถ. เมื่อต่อมาผู้ซื้อทรัพย์ขอรับเงินค่าที่ดินบางส่วนคืนจากเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงเป็นการที่ผู้ซื้อทรัพย์ยังไม่ได้ชำระราคาครบถ้วนและยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้ซื้อทรัพย์ การซื้อขายที่ดินยังไม่เสร็จสมบูรณ์ตามกฎหมาย กรรมสิทธิ์ในที่ดินจึงยังคงเป็นของกองมรดก ถ. เมื่อต่อมาถึงกำหนดชำระค่าเช่าที่ดินดังกล่าวงวดที่ 5 โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ถ. จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าเช่างวดที่ 5 และงวดต่อ ๆ ไปตามสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวได้จนกว่าผู้ซื้อทรัพย์ได้ชำระราคาครบถ้วนและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16991/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการเพิกถอนการขายทอดตลาด: ต้องเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายและเกิดความเสียหาย
การขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง ต้องเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง และเกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี แม้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ซื้อทรัพย์เดิมจากการขายทอดตลาดจะเป็นบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าหลังจากผู้ร้องประมูลซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างได้จากการขายทอดตลาดแล้ว ผู้ร้องไม่ชำระราคา เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องนำทรัพย์ออกขายทอดตลาดใหม่ จากนั้นผู้ซื้อทรัพย์ประมูลซื้อในราคาซึ่งสูงกว่าราคาที่ผู้ร้องประมูลซื้อไว้ครั้งก่อน จึงไม่มีราคาทรัพย์ส่วนที่ขาดที่ผู้ร้องจะต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 ผู้ร้องจึงไม่ใช่ผู้ต้องเสียหายเพราะเหตุที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1587/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำนองครอบคลุมทรัพย์ติดพัน แม้ซื้อจากขายทอดตลาด แต่สิทธิจำนองไม่ระงับ จำเลยต้องคืนเงินค่าทรัพย์ที่ถูกรื้อถอน
ป.พ.พ. มาตรา 718 จำนองย่อมครอบไปถึงทรัพย์ทั้งปวงอันติดพันอยู่กับทรัพย์สินซึ่งจำนอง และเมื่อบ้านพิพาทเป็นโรงเรือนซึ่งมีอยู่ในขณะที่จดทะเบียนจำนอง การจำนองย่อมครอบคลุมไปถึงบ้านพิพาทด้วย แม้จำเลยจะซื้อบ้านพิพาทได้จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยสุจริต แต่สิทธิของจำเลยก็ได้มาภายหลังจากที่โจทก์ได้รับจำนองบ้านพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ในทรัพย์จำนองระงับสิ้นไปได้ การจำนองบ้านพิพาทจึงยังคงมีอยู่ไม่ระงับสิ้นไป โจทก์จึงคงมีสิทธิจะบังคับจำนองเอาแก่บ้านพิพาทที่จำเลยซื้อได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 744 และมาตรา 702 วรรคสอง
จำเลยเป็นแต่เพียงผู้ซื้อบ้านพิพาทได้จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล มิใช่เป็น ผู้จำนองหรือคู่สัญญากับโจทก์ผู้รับจำนอง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในฐานะเป็นผู้จำนองต่อโจทก์ แต่การที่บ้านพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์จำนองซึ่งโจทก์มีสิทธิบังคับจำนองขายทอดตลาดบ้านพิพาทเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ก่อนตาม ป.พ.พ มาตรา 702 วรรคสอง จำเลยกลับรื้อบ้านพิพาทและขายให้กับบุคคลอื่นไป แม้กระทำการโดยสุจริต จำเลยต้องคืนเงินในส่วนที่เกี่ยวกับบ้านพิพาทให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12619/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเจ้าหนี้บุริมสิทธิคัดค้านการงดบังคับคดี: เจ้าพนักงานบังคับคดีชอบที่จะดำเนินการขายทอดตลาดต่อไปได้
แม้ผู้รับจำนองจะไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการบังคับคดี แต่ผู้รับจำนองเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนโจทก์หรือเจ้าหนี้รายอื่น ผู้รับจำนองจึงเป็นบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 292 (3) ดังนั้นแม้โจทก์จะยื่นคำแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีของดการบังคับคดีโดยได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากจำเลยที่ 2 แล้ว แต่เมื่อผู้รับจำนองยื่นคำคัดค้านต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี ไม่ยินยอมให้งดการบังคับคดี การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ต่อไปโดยไม่งดการบังคับคดีตามคำแถลงของโจทก์ จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11461/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การมอบหมายให้ดูแลการขายทอดตลาดและค่าบำเหน็จ ต้องมีหลักฐานสนับสนุนข้อตกลง มิฉะนั้น ศาลไม่รับฟัง
แม้การมอบหมายให้เป็นตัวแทนดูแลการขายทอดตลาดและหาบุคคลภายนอกมาซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ตลอดจนการตกลงว่าจะให้ค่าบำเหน็จตอบแทนการดำเนินการไม่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยมอบหมายให้โจทก์ดูแลการขายทอดตลาดและตกลงจะจ่ายค่าบำเหน็จให้แก่โจทก์ โจทก์จะต้องนำพยานหลักฐานมาแสดงให้ปรากฏว่า ข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าวมีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เป็นเรื่องที่ทนายจำเลยเป็นผู้แจ้งให้โจทก์กระทำการดังกล่าว หาใช่จำเลยเป็นผู้มอบหมายและตกลงจะให้ค่าบำเหน็จดังที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องไม่ ทั้งการแจ้งดังกล่าวของทนายจำเลยยังมีลักษณะเป็นการจำหน่ายสิทธิหรือผลประโยชน์ของตัวความ ไม่ใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ แทนจำเลยเพื่อรักษาผลประโยชน์ของจำเลยที่ทนายความจะมีอำนาจกระทำได้โดยไม่จำต้องมีการมอบอำนาจอย่างชัดแจ้ง ถือไม่ได้ว่าการที่ทนายจำเลยแจ้งเสมียนทนายโจทก์ดังกล่าวข้างต้น เป็นการกระทำภายในขอบอำนาจที่ตัวความได้มอบหมายหรือมอบอำนาจให้ไว้โดยชัดแจ้งหรือปริยายเพื่อรักษาประโยชน์ของตัวความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10029/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบังคับคดีและการโอนสิทธิในที่ดินหลังการยึด: ผู้ซื้อจากการขายทอดตลาดมีสิทธิรับโอน แม้ผู้ขายจะมอบ น.ส. 3 ก. ให้เจ้าหนี้อื่น
จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ย่อมมีสิทธิขอให้บังคับคดีด้วยการยึดที่ดินของจำเลยที่ 1 ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ แม้จำเลยที่ 1 จะนำต้นฉบับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทไปมอบให้ ฉ. ภริยาโจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ยืม แต่ที่ดินดังกล่าวก็ยังคงเป็นของจำเลยที่ 1 อยู่ และตราบใดที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ฉ. ยังมิได้นำยึดที่ดินนั้นเพื่อบังคับการชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ก็ยังไม่มีสิทธิเกี่ยวข้องอย่างใดที่จะบังคับเอากับที่ดินดังกล่าวได้ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งการยึดที่ดินนั้นให้โจทก์ทราบแต่อย่างใด
ขณะที่จำเลยที่ 2 นำยึดที่ดิน และต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งการยึดให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาทราบ พร้อมกับเรียกให้จำเลยที่ 1 ส่งต้นฉบับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จนกระทั่งศาลแขวงสงขลาได้มีคำสั่งอนุญาตให้ขายทอดตลาดที่ดินที่ยึดไปตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ โจทก์ยังมิได้มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ที่จะมีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคหนึ่ง เนื่องจากสิทธิของโจทก์ที่จะขอเฉลี่ยทรัพย์เพิ่งจะเกิดมีขึ้นในภายหลังเมื่อโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 มิได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีในเวลานั้นว่าต้นฉบับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทอยู่ในความครอบครองของโจทก์ จึงไม่เป็นการใช้สิทธิบังคับคดีโดยฉ้อฉลเพื่อมิให้โจทก์ใช้สิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์
เมื่อโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของโจทก์เองที่จะต้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ ก่อนสิ้นระยะเวลาสิบสี่วันนับแต่วันที่มีการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคสี่ จำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องแจ้งข้อเท็จจริงใดต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อให้โจทก์สามารถยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ได้ทันกำหนดเวลาดังกล่าว ดังนั้น เมื่อศาลมิได้มีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดในคดีดังกล่าว จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทจากการขายทอดตลาดจึงมีสิทธิรับโอนที่ดินแปลงนี้ตามคำสั่งศาล เมื่อจำเลยที่ 2 มีสิทธิรับโอนก็ย่อมไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ การที่จำเลยที่ 2 ขอออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทและจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองในที่ดินนั้นให้แก่จำเลยที่ 2 จึงเป็นเพียงการกระทำไปตามสิทธิของจำเลยที่ 2 ตามกฎหมายเท่านั้น มิได้เป็นการฉ้อฉลหรือละเมิดต่อโจทก์แต่ประการใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6724/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบังคับคดีของผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาด ไม่ผูกพันระยะเวลาบังคับคดีตามมาตรา 271
กรณีที่โจทก์ในฐานะผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ร้องขอให้ศาลออกคำบังคับให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ตรี เป็นการใช้สิทธิบังคับคดีของผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา อันเป็นขั้นตอนการบังคับคดีภายหลังจากโจทก์ฝ่ายชนะคดีได้ดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยฝ่ายแพ้คดีภายในระยะเวลา 10 ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 แล้ว จึงมิใช่กรณีที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาร้องขอให้บังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยเพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาและมิใช่การใช้สิทธิของโจทก์ในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามาบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลย จึงไม่อาจนำบทบัญญัติเกี่ยวกับระยะเวลาการบังคับคดีที่ให้นับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามมาตรา 271 มาบังคับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6041/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายทอดตลาดที่ดินที่ถูกสงวนเพื่อประโยชน์ของงานทาง: สิทธิของผู้ซื้อจากการบังคับคดี และความถูกต้องของการชำระเงิน
ตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 65 ที่ดินที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีอำนาจที่จะประกาศสงวนที่ดินเพื่อประโยชน์แก่งานทางโดยชอบได้นั้น จะต้องเป็นที่ดินของรัฐซึ่งมิได้มีบุคคลเข้าครอบครอง แต่ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง สงวนที่ดินเพื่อประโยชน์แก่งานทางในตำบลบ้านผึ้ง อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม ที่ประกาศสงวนที่ดินริมทางหลวงหมายเลข 22 จำนวนเนื้อที่ 10 ไร่ 33 ตาราง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2305 ซึ่งออกก่อนวันออกประกาศกระทรวงคมนาคมดังกล่าวกว่า 13 ปี ดังนั้น การขายทอดตลาดที่ดินส่วนดังกล่าวนี้ยังไม่เสียไป โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดิน (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2305 จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมได้สิทธิในที่ดิน (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2305 ไปทั้งแปลง ซึ่งได้มีการจดทะเบียนโอนสิทธิในที่ดิน (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2305 ทั้งแปลงให้แก่โจทก์แล้ว
ตามสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวจากการขายทอดตลาดระบุว่า "เป็นที่เข้าใจกันชัดเจนว่ากรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินรายนี้ เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจขายได้มากน้อยเพียงใด ข้าพเจ้ารับซื้อไว้เท่านั้น การกำหนดเขตที่ดินโดยกว้างยาวและการบอกประเภทที่ดินตามประกาศขายทอดตลาดนั้น เป็นแต่กล่าวไว้โดยประมาณ ถึงแม้ว่าเนื้อที่ดินจะขาดหรือเกินไปหรือบอกประเภทของที่ดินผิดไปประการใดก็ดี ไม่ถือว่าเป็นข้อที่จะทำลายสัญญาซื้อขายนี้ได้" แม้แขวงการทางจะคัดค้านการรังวัดที่ดิน ก็เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องต่อสู้กับกรมทางหลวง เงินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้จากการขายทอดตลาดที่ดินและจ่ายให้จำเลยเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาถูกต้องตามขั้นตอนการบังคับคดีแพ่ง ไม่เป็นลาภมิควรได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4135/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเจ้าของที่ดินจากการซื้อขายทอดตลาด & อำนาจศาลในการออกคำสั่งระหว่างพิจารณา
โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินและบ้านพิพาทจากการขายทอดตลาดและได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาททางทะเบียนโดยชอบแล้ว แต่โจทก์ไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ เนื่องจากจำเลยทั้งสองและบริวารขัดขวางโต้แย้ง โดยจำเลยที่ 1 อ้างว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. และครอบครองที่ดินและบ้านพิพาท ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้เช่าบ้านพิพาทจากทายาทของ ส. ซึ่งเป็นการอาศัยสิทธิของ ส. ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเดิมนั่นเอง ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินและบ้านพิพาทโดยชอบย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองซึ่งอยู่ในฐานะบริวารของ ส. ได้
ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 (2) บัญญัติว่า ให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งมีอำนาจดังต่อไปนี้... (2) ออกคำสั่งใด ๆ ซึ่งมิใช่เป็นไปในทางวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี ซึ่งหมายความว่า ในการพิจารณาคดีของศาลทุกชั้นศาล หากผู้พิพากษาคนเดียวจะมีคำสั่งใดซึ่งมิใช่เป็นคำวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีแล้ว ก็ย่อมมีอำนาจที่จะทำได้โดยชอบ แม้คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นจะต้องมีองค์คณะผู้พิพากษาสองคน แต่ในการพิจารณาของศาลในวันที่ 20 มกราคม 2548 เป็นการสั่งเลื่อนการสืบพยานและระบุรายละเอียดการส่งเอกสารไปสืบพยานประเด็นจำเลยที่ 1 ยังศาลชั้นต้นอื่น ซึ่งล้วนเป็นการที่ศาลชั้นต้นได้ออกคำสั่งที่มิใช่เป็นไปในทางวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี คำสั่งและการพิจารณาของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 20 มกราคม 2548 จึงชอบตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมแล้ว
of 102