คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
คำฟ้อง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 886 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3240/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความถูกต้องของคำฟ้องและความต่อเนื่องของความผิดฐานพาคนต่างด้าวเข้าประเทศและการซ่อนเร้น
การที่โจทก์ระบุวันเวลาเกิดเหตุระหว่างวันที่ 9 ถึง 12 มิถุนายน 2548 ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยพาคนต่างด้าว 15 คน เข้ามาในระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว ไม่จำเป็นที่โจทก์จะต้องระบุโดยเฉพาะเจาะจงว่าจำเลยพาคนต่างด้าวแต่ละคน คนใดเข้ามาในราชอาณาจักรเมื่อวันเวลาใด คำฟ้องโจทก์จึงระบุรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาที่เกิดการกระทำผิดพอสมควรที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 บัญญัติมีใจความว่า เมื่อความผิดนั้นเป็นความผิดต่อเนื่อง และกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ คดีนี้การกระทำความผิดฐานซ่อนเร้นเพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม เกิดขึ้นต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ ตั้งแต่อำเภอแม่สอดจนถึงอำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย พนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งมีอำนาจสอบสวนในความผิดฐานซ่อนเร้นเพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุมจึงมีอำนาจสอบสวนในความผิดฐานพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรอันเป็นความผิดที่กระทำต่อเนื่องกันซึ่งเกิดขึ้นในท้องที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก อีกด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3034/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์ที่ไม่ชัดเจน ขาดรายละเอียดงานและเจ้าของลิขสิทธิ์ ทำให้จำเลยไม่เข้าใจข้อหา
โจทก์บรรยายฟ้องมีสาระสำคัญเพียงว่าเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2547 เวลากลางคืนหลังเที่ยงต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสามร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ในงานแพร่เสียงแพร่ภาพของผู้เสียหายทั้งห้า ด้วยการส่งหรือรับภาพด้วยคลื่นความถี่ ด้วยวิธีการแพร่กระจายไปในตัวนำไฟฟ้า ในงานอันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งห้าเหตุเกิดที่ ต.หายยา อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงมีความชัดแจ้งเพียงเฉพาะข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ แต่เมื่อมิได้บรรยายให้ชัดเจนว่า งานแพร่เสียงแพร่ภาพอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายแต่ละรายที่ถูกละเมิดในช่วงเวลาและสถานที่ดังกล่าวคือรายการใดบ้าง และรายการใดเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายรายใด มีรายละเอียดของลักษณะงานพอสังเขปเช่นใด จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่อาจทำให้จำเลยทั้งสามเข้าใจและต่อสู้ถึงการมีลิขสิทธิ์ในรายการแต่ละรายการและความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายแต่ละราย รวมทั้งลักษณะการกระทำอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ต่องานแพร่เสียงแพร่ภาพส่วนที่มีลิขสิทธิ์ได้ ถือไม่ได้ว่าฟ้องของโจทก์บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยทั้งสามได้กระทำผิด และข้อเท็จจริงอีกทั้งรายละเอียดที่เกี่ยวกับบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี คำฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2513/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องไม่บรรยายการกระทำความผิดฐานจัดให้มีการเล่นพนัน ศาลฎีกายกฟ้องฐานดังกล่าวได้ แม้จำเลยมิได้ยกขึ้น
พ.ร.บ.การพนันฯ มาตรา 12 บัญญัติว่า "ผู้ใดจัดให้มีการเล่นหรือทำอุบายล่อ ช่วยประกาศโฆษณาหรือชักชวนโดยทางตรงหรือทางอ้อมให้ผู้อื่นเข้าเล่นหรือเข้าพนันในการเล่น ซึ่งมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานหรือรับอนุญาตแล้วแต่เล่นพลิกแพลง...ผู้นั้นมีความผิด..." ดังนี้ ตามคำฟ้องของโจทก์บรรยายแต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าบ้านและร่วมเล่นด้วย โดยมิได้บรรยายว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดให้มีการเล่น ถือได้ว่าคำฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นด้วยนั้นจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวแม้จำเลยที่ 1 มิได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและยกฟ้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง, 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1508/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการพิพากษาตามจำนวนหนี้จริง แม้คำฟ้องระบุไม่ครบถ้วน สัญญาเช่าซื้อ
คดีนี้แม้โจทก์จะตั้งรูปคดีว่าโจทก์ค้างชำระค่าเช่าซื้อเพียง 120,186 บาท แต่จุดประสงค์หลักของโจทก์ต้องการชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระทั้งหมด เพื่อให้จำเลยทั้งสองโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อแก่โจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ค้างชำระค่าเช่าซื้อจำนวน 185,186 บาท ศาลก็มีอำนาจพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระที่แท้จริงดังกล่าวให้จำเลยทั้งสองและให้จำเลยทั้งสองโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อให้โจทก์ได้โดยไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1169/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดตามเช็ค: การวินิจฉัยข้อเท็จจริงเกินคำฟ้องและฐานความรับผิดของผู้ลงลายมือชื่อเช็ค
โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดตามเช็คพิพาท โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 นำข้อเท็จจริงตามบันทึกที่ระบุว่าในกรณีที่เช็คถึงกำหนดชำระแล้วไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขอยอมรับผิดชอบค่าเสียหายต่อผู้ทรงเช็คในฐานะส่วนตัวมาพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดตามเช็คพิพาทกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ จึงเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องไม่ชอบด้วยป.วิ.พ. มาตรา 142

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1077/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลจำกัดตามคำฟ้อง โจทก์มิได้ขอลงโทษตามกฎหมายเฉพาะ ศาลพิพากษาเกินคำขอไม่ได้
ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ห้ามมิให้พิพากษา หรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง" อันเป็นการกำหนดกรอบอำนาจการพิพากษาหรือการมีคำสั่งชี้ขาดคดีของศาลไว้ 2 ประการ คือ ห้ามมิให้ศาลพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอประการหนึ่ง กับห้ามมิให้ศาลพิพากษาหรือสั่งในข้อที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้องอีกประการหนึ่ง ซึ่งศาลอยู่ในบังคับที่จะพิพากษาหรือสั่งเกินประการหนึ่งประการใดมิได้และทั้งสองประการดังกล่าวเป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องระบุในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) และ (6) เมื่อโจทก์มิได้อ้างมาตรา 91 ตรี แห่ง พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ ซึ่งบัญญัติว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิด และความผิดดังกล่าวมีโทษสูงกว่าโทษในความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 ต้องถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ มาตรา 91 ตรี และเป็นการเกินคำขอตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ ศาลจึงพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอมิได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2496/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงใหม่นอกคำฟ้อง และการไม่รับวินิจฉัยประเด็นใหม่ที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันในศาลชั้นต้น
ฎีกาของโจทก์เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่มิได้ปรากฏในคำฟ้องของโจทก์ มีลักษณะเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่เป็นไปโดยมุ่งประสงค์ให้นำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ถือได้ว่าเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เป็นข้อฎีกาที่มิชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่ใช้บังคับในขณะโจทก์ฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2443/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์ ที่ดินพิพาทมิใช่ทรัพย์มรดก คำฟ้องไม่สมบูรณ์
ท. ยกที่ดินพิพาทให้จำเลย จำเลยยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินที่จำเลยครอบครองทำประโยชน์มาแล้วประมาณ 18 ปี ที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่ทรัพย์มรดกของ ท. และไม่มีเหตุที่จำเลยจะต้องครอบครองแทนทายาทคนอื่น โจทก์จึงไม่สามารถขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ที่ได้ดำเนินการมาแล้วโดยชอบได้
ท. ยกที่ดินให้จำเลยโดยมิได้จดทะเบียนการยกให้ แต่เมื่อจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ ท. ยกที่ดินพิพาทให้ด้วยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แม้จำเลยครอบครองโดยเข้าใจผิดว่าที่ดินเป็นของจำเลยก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินของจำเลยเอง หากแต่ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินของบุคคลอื่น
จำเลยไม่ได้ส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ เนื่องจากเข้าใจว่ามารดาจำเลยเป็นทายาทแต่เพียงผู้เดียวและถึงแก่ความตายแล้ว ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องว่าโจทก์และทายาทอื่นมีสิทธิในที่ดินดีกว่าจำเลย เมื่อที่ดินมิใช่ทรัพย์มรดกของ ท. ดังนั้น จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการไม่สุจริต
จำเลยให้การว่า ท. ยกที่ดินพิพาทให้และจำเลยได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ เป็นการบรรยายข้อเท็จจริงตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงและสามารถอ่านเข้าใจเจตนาของจำเลย ไม่ใช่การบรรยายข้อเท็จจริงที่เป็นการร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินของตนเองหรือขัดกันเอง ดังนั้น คำให้การจึงชัดแจ้ง
การวินิจฉัยคดีเมื่อศาลเห็นสมควรจะหยิบยกประเด็นข้อพิพาทข้อใดขึ้นวินิจฉัยก่อน ย่อมกระทำได้
เมื่อวินิจฉัยประเด็นข้อใดแล้วมีผลให้คดีเสร็จไปแล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นอีกเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ป.วิ.พ. มาตรา 142 ไม่ได้บังคับเด็ดขาดว่าศาลจำต้องวินิจฉัยประเด็นตามคำฟ้องทั้งหมด
แม้คำฟ้องของโจทก์ไม่มีข้อความว่าผู้เรียงพิมพ์และลายมือชื่อผู้เรียงพิมพ์ เป็นคำฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 67 (5) ซึ่งศาลมีอำนาจสั่งให้คืนหรือแก้ไขคำฟ้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง แต่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งดังกล่าวและได้ดำเนินกระบวนพิจารณากันมาจนเสร็จสิ้นถึงศาลฎีกาแล้ว ตามสำนวนปรากฏว่าโจทก์ได้แต่งตั้ง ด. เป็นทนายความ และ ด. ได้ลงชื่อเป็นผู้เรียงและพิมพ์ในคำแถลงขอส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง จึงพอที่จะฟังได้ว่า ด. เป็นผู้เรียงและพิมพ์คำฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 470/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องที่ผู้ฟ้องลงลายมือชื่อเอง แม้ไม่มีชื่อผู้เรียงฟ้อง ก็ถือเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ ไม่กระทบต่อความสงบเรียบร้อย
ขณะโจทก์ฟ้องคดีไม่ได้แต่งตั้งทนายความช่วยดำเนินคดี โจทก์ลงชื่อเป็นโจทก์ด้วยตนเอง และมีชื่อโจทก์กับลายมือชื่อโจทก์เป็นผู้เขียนหรือพิมพ์ด้วย จึงพอฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้เรียงฟ้องดังกล่าว แม้โจทก์ไม่ได้ลงชื่อในช่องผู้เรียง ก็ยังไม่ถึงกับกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนจนต้องยกฟ้องโจทก์
คดีมีประเด็นพิพาทในชั้นฎีกาเพียงว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่พึงรับพิจารณาให้หรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมาย เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา 200 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 33/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีมีทุนทรัพย์: การกำหนดค่าเสียหายในคำฟ้องเป็นหลักพิจารณา
แม้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสิบร่วมกันเพิกถอนนิติกรรมสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินรวม 3 ฉบับ ซึ่งเป็นคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ แต่โจทก์ระบุคำขอท้ายฟ้องข้อ 2 ว่า หากจำเลยทั้งสิบเพิกเฉยให้จำเลยทั้งสิบร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 2,000,000,000 บาท และค่าเสียหายเป็นรายเดือน เดือนละ 2,000,000 บาท นับถัดจากวันครบกำหนดตามคำบังคับ ดังนั้นในส่วนที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจำนวน 2,000,000,000 บาท เป็นการกำหนดจำนวนค่าเสียหายแล้ว จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามจำนวนค่าเสียหาย 2,000,000,000 บาท มิใช่ค่าเสียหายอนาคตที่กำหนดให้ชำระเป็นระยะเวลาในอนาคต คดีโจทก์จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์
of 89