คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ค่ารักษาพยาบาล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 82 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5480/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลจากประกันสังคม-หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า, ความรับผิดของสถานพยาบาล, และการคิดดอกเบี้ยผิดนัด
โจทก์เป็นสถานบริการเอกชน ในความหมายของกรมบัญชีกลางและไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 แต่ให้ความร่วมมือกับนโยบายของรัฐบาลโดยจะไม่ปฏิเสธให้การรักษาผู้ป่วยกรณีฉุกเฉิน ความผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองจึงเป็นนิติสัมพันธ์ในทางแพ่งว่าด้วยสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจากจำเลยทั้งสองได้
พฤติการณ์ที่โจทก์ไม่ดำเนินการย้ายจำเลยที่ 1 ไปรักษายังโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้าซึ่งเป็นโรงพยาบาลตามสิทธิของจำเลยที่ 1 ตามความประสงค์ของจำเลยทั้งสองในวันที่ 11 เม.ย. 56 ซึ่งเป็นวันที่โรงพยาบาลดังกล่าวมีเตียงว่าง โดยมีเหตุผลเพียงว่า จำเลยทั้งสองยังไม่ชำระค่ารักษาพยาบาลหรือทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ ถือว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจได้ใช้สิทธิแห่งตนโดยไม่ได้คำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 12 ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจำเลยที่ 1 เฉพาะที่เกิดขึ้นนับแต่วันที่ 24 มี.ค. 56 ถึงวันที่ 11 เม.ย. 56 แก่โจทก์เท่านั้น
จำเลยร่วมทำหน้าที่เป็นหน่วยเบิกจ่ายกลาง (Clearing House) สำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้สถานบริการนอกเครือข่าย 3 กองทุน ที่ให้บริการกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติโดยสถานบริการสามารถให้บริการได้โดยไม่ต้องตรวจสอบสิทธิก่อน โดยจำเลยร่วมจะจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลตามหลักเกณฑ์และอัตราที่แต่ละกองทุนหรือหน่วยบริการต้นสังกัดกำหนด และจะเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายคืนจากกองทุนหรือหน่วยงานต้นสังกัดของผู้ป่วยต่อไป แต่นโยบายดังกล่าวไม่มีกฎหมายรองรับหรือบังคับไม่ให้โรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บเงินส่วนเกินจากผู้ป่วยได้ จำเลยที่ 1 เป็นผู้อาศัยสิทธิจากกองทุนสวัสดิการข้าราชการ มิใช่ผู้ที่ได้ยื่นคำขอลงทะเบียนเพื่อเลือกหน่วยบริการเป็นหน่วยบริการประจำตามกฎหมายที่กำหนด จึงไม่อาจนำข้อบังคับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยการใช้บริการสาธารณสุข กรณีที่มีเหตุสมควร กรณีอุบัติเหตุ หรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน พ.ศ.2555 มาใช้บังคับได้ เมื่อจำเลยร่วมทดรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลของจำเลยที่ 1 ไปตามแนวทางปฏิบัติในการขอรับค่าใช้จ่ายเพื่อการบริการสาธารณสุข ตามนโยบายบูรณาการ 3 กองทุน กรณีอุบัติเหตุฉุกเฉินแล้ว จำเลยร่วมย่อมไม่อาจร่วมกับจำเลยทั้งสองรับผิดต่อโจทก์อีกเนื่องจากไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้
การประชาสัมพันธ์และการให้ข้อมูลของเจ้าหน้าที่สายด่วน สปสช. 1330 ไม่ได้ทำให้จำเลยทั้งสองเข้าใจผิดว่าผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติจะไม่ต้องชำระค่ารักษาพยาบาลในกรณีที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นสถานบริการนอกเครือข่ายบริการ 3 กองทุน จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจยกเอาเหตุดังกล่าวมาให้จำเลยร่วมต้องร่วมรับผิดหรือรับผิดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นแทนจำเลยทั้งสองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3376/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องค่ารักษาพยาบาล: การลงนามรับผิดชอบแทนผู้อื่น ไม่ใช่การผูกพันตนเอง
ตามใบรับผู้ป่วยในจำเลยลงลายมือชื่อในช่องข้อมูลผู้รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลว่าผู้รับผิดชอบแทนผู้ป่วย หมายความว่า จำเลยยินยอมรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลแทน ก. มารดาในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นผู้รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลแทน ก. โดยตรง มิใช่จำเลยในฐานะบุคคลภายนอกที่ยินยอมผูกพันตนเข้าชำระหนี้ค่ารักษาพยาบาลที่ ก. มารดาจำเลยค้างชำระต่อโจทก์ โจทก์เป็นสถานพยาบาลฟ้องให้จำเลยรับผิดในมูลหนี้ค่ารักษาพยาบาลที่จำเลยทำสัญญารับผิดชอบ สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (11)
of 9