พบผลลัพธ์ทั้งหมด 105 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2902/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ข้อต่อสู้ของตัวแทนต่อผู้ทรงเช็คพิพาท ไม่ขัดต่อมาตรา 916 ป.พ.พ. และการพิสูจน์การผิดสัญญา
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เช็คพิพาทเป็นเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าเครื่องปรับอากาศและค่าติดตั้งแทนบริษัท ค. จึงเป็นการยอมรับว่าจำเลยกระทำในฐานะตัวแทนของบริษัท ค. มิใช่การกระทำในฐานะส่วนตัว ดังนั้นบริษัท ค. ซึ่งเป็นตัวการมีข้อต่อสู้อย่างไรต่อโจทก์ จำเลยในฐานะตัวแทนย่อมยกข้อต่อสู้นั้นขึ้นต่อสู้โจทก์ได้เช่นกัน กรณีดังกล่าวถือได้ว่าเป็นข้อต่อสู้ระหว่างจำเลยผู้ถูกฟ้องกับโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงคนปัจจุบันโดยตรง หาใช่เป็นข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้สั่งจ่ายหรือกับผู้ทรงคนก่อน จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 916 แต่อย่างใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12686/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความฟ้องละเมิดหน่วยงานของรัฐ: กำหนดอายุความ 10 ปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
บทบัญญัติเรื่องอายุความละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ใช้บังคับในกรณีที่ผู้เสียหายฟ้องผู้กระทำละเมิดหรือผู้ร่วมรับผิดกับผู้กระทำละเมิด เช่น นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างเป็นต้น แต่คดีนี้จำเลยที่ 3 ในฐานะหน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองในผลแห่งละเมิดที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำพูนสาขาบ้านโฮ่ง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง และกรณีนี้โจทก์ทั้งสองจะฟ้องเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ไม่ได้ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง ความรับผิดของจำเลยที่ 3 เช่นว่านี้ มิใช่รับผิดในฐานะผู้กระทำละเมิดหรือผู้ร่วมรับผิดกับผู้กระทำละเมิด จึงไม่อาจนำกำหนดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับได้ และ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ไม่ได้บัญญัติอายุความกรณีความรับผิดของหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง ไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับแก่คดีนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3262/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย 2544: การโอนสิทธิโดยชอบตามกฎหมายเฉพาะไม่อยู่ภายใต้บทบัญญัติ ป.พ.พ.
พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 เป็นกฎหมายที่ตราออกมาใช้บังคับเพื่อการแก้ไขปัญหาที่ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศตามหมายเหตุแนบท้าย พ.ร.ก. และข้อความในตอนต้นของ พ.ร.ก. ก็ระบุไว้อย่างแจ้งชัดแล้วว่า พ.ร.ก. นี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งเป็นการกระทำโดยอาศัยอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้ทำได้โดยอาศัยบทบัญญัติของกฎหมาย พ.ร.ก. ดังกล่าวมิได้ใช้บังคับกับการทำนิติกรรมทั่ว ๆ ไป ดังเช่นที่ใช้ใน ป.พ.พ. แต่ใช้เป็นกรณีพิเศษเกี่ยวกับหนี้สินหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.ก. เท่านั้น บทบัญญัติต่าง ๆ ที่ระบุไว้จึงย่อมแตกต่างไปจากที่ระบุไว้ใน ป.พ.พ. รวมทั้งเรื่องการบังคับจำนองหรือการเอาทรัพย์สินหลุดเป็นสิทธิของผู้รับจำนอง การที่โจทก์บังคับจำนองทรัพย์สินคือที่ดินพิพาทหลุดเป็นสิทธิโดยอาศัยอำนาจตามที่ พ.ร.ก. บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 76 ให้อำนาจไว้โดยชอบแล้ว แม้ไม่ได้ดำเนินการตามที่ ป.พ.พ. บัญญัติไว้ ก็ไม่ทำให้การโอนที่ดินพิพาทของโจทก์เป็นโมฆะ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1710/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเลิกสัญญาซื้อขายร่วมลงทุน และผลของการกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391
การที่คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมนั้น เป็นเพียงผลตามกฎหมายในกรณีเลิกสัญญาตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง เท่านั้น สภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์ เป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาที่ทำไว้กับโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย ไม่ได้รับชำระเงินตามสัญญาและไม่ได้รับการโอนคืนประทานบัตรรวมทั้งทรัพย์สินอื่นตามที่จำเลยทั้งสองตกลงว่าจะคืนให้ หากโจทก์ประสงค์ที่จะได้รับชำระเงินหรือทรัพย์สินสิ่งใดที่มีการโอนหรือส่งมอบตามสัญญาไปแล้วคืนเพียงใด อย่างไรหรือจำนวนเท่าใด ก็ชอบที่จะต้องระบุมาในคำขอท้ายฟ้องเพื่อศาลจะได้พิพากษาให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติและบังคับคดีได้โดยถูกต้อง โจทก์จะอ้างว่าเมื่อศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยทั้งสองกลับคืนสู่ฐานะเดิมแล้วโจทก์จะไปไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยทั้งสองตามรายละเอียดในสัญญาต่อไปโดยอาศัยคำพิพากษาดังกล่าวหาได้ไม่ คำขอของโจทก์ในลักษณะเช่นนี้จึงไม่มีสภาพเป็นคำขอบังคับที่ศาลจะพิพากษาให้ตามคำขอได้ ทั้งนี้ ไม่เกี่ยวกับว่าโจทก์จะเสียค่าขึ้นศาลในทรัพย์สินส่วนที่จะให้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมมาด้วยหรือไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14954/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความฟ้องละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ: การนำอายุความ ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้
การฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิด ผู้ต้องเสียหายมีสิทธิเรียกร้องภายใน 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ส่วนการฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งให้นับอายุความทางอาญาที่ยาวกว่าตามมาตรา 448 วรรคสอง นั้น หมายความเฉพาะการเรียกร้องจากตัวผู้กระทำความผิดหรือผู้ร่วมในการกระทำความผิดโดยเฉพาะ ส่วนบุคคลอื่นซึ่งมิได้ร่วมกระทำความผิดอาญา แต่กฎหมายบัญญัติให้รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน รวมทั้งกรณีปัญหาในคดีนี้ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดทางแพ่งต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยเท่านั้น หาได้บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดร่วมกับเจ้าหน้าที่ของตนซึ่งเป็นผู้กระทำละเมิดดังเช่นในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างไม่ จึงไม่อาจนำอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา 448 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้ แต่เนื่องจากตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.239 มิได้บัญญัติอายุความฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8467/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความรับผิดจากการรอนสิทธิที่ดิน: อายุความ 10 ปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
ความรับผิดของจำเลยเกิดจากที่ดินที่จำเลยขายให้แก่โจทก์ถูกรอนสิทธิ หาใช่เพราะจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์ อันจะอ้างอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 มาปรับใช้หาได้ไม่ ซึ่งอายุความในเรื่องการรอนสิทธิมีบัญญัติไว้ในมาตรา 481 เฉพาะกรณีที่ผู้ซื้อได้ประนีประนอมยอมความกับบุคคลภายนอก หรือยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้อง เมื่อที่ดินถูกเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จึงไม่เข้าบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไปตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มีกำหนดสิบปี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17338/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
แก้ไขพินัยกรรมไม่ถูกต้องตามแบบ ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคสอง ทำให้พินัยกรรมไม่สมบูรณ์เฉพาะส่วนที่แก้ไข
การแก้ไขชื่อสกุลของเจ้ามรดกในพินัยกรรม โดยมีการลงลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมกำกับในบริเวณที่แก้ไข แต่ไม่มีพยานสองคนลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมขณะที่แก้ไข อันเป็นการไม่ได้ทำตามแบบที่กฎหมายระบุไว้ จึงไม่สมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคสอง มีผลทำให้พินัยกรรมไม่สมบูรณ์เฉพาะส่วนที่ทำไม่ถูกต้อง และถือว่าไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงพินัยกรรม พินัยกรรมคงมีข้อความตามเดิม หามีผลทำให้พินัยกรรมที่เดิมสมบูรณ์อยู่แล้วต้องตกเป็นไม่สมบูรณ์ทั้งฉบับหรือตกเป็นโมฆะไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8579/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การฟ้องร้องกรรมการละเว้นหน้าที่และเสียหายของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ไม่เข้าข่ายมาตรา 73 ป.พ.พ.
คำร้องขอของผู้ร้องที่อ้างว่ากรรมการของบริษัทละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้ผู้ร้องในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ได้รับความเสียหาย ไม่ใช่เป็นเรื่องที่มีตำแหน่งว่างลงในจำนวนผู้แทนของนิติบุคคลและมีเหตุอันควรเชื่อว่าการปล่อยตำแหน่งว่างไว้น่าจะเกิดความเสียหายขึ้นได้ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 73 หรือเป็นเรื่องที่นิติบุคคลไม่สามารถดำเนินการได้อันเนื่องมาจากผู้แทนบางคนไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่จึงไม่อาจนำมาตรา 73 มาบังคับใช้ในฐานะบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตามมาตรา 4 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1304/2553
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การบอกล้างนิติกรรมโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 181 เกินกำหนดเวลาฟ้องร้อง
ป.พ.พ. มาตรา 181 บัญญัติกำหนดเวลาที่จะบอกล้างนิติกรรมที่เป็นโมฆียะว่าจะบอกล้างมิได้เมื่อพ้นเวลาหนึ่งปีนับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้ หรือเมื่อพ้นเวลาสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะ การที่จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของผู้ตายทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทตามหนังสือมอบอำนาจอันเป็นโมฆียะให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2507 โจทก์ซึ่งเป็นทายาทฟ้องคดีวันที่ 12 กรกฎาคม 2539 จึงล่วงพ้นเวลาสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะแล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกล้างและฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทได้
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ซึ่งเป็นทายาทมีสิทธิฟ้องคดีเรียกทรัพย์คืนจากบุคคลภายนอกผู้ไม่มีสิทธิ และสามารถฟ้องได้โดยไม่มีกำหนดอายุความนั้น คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทตามฟ้องและคำให้การว่าโจทก์บอกล้างนิติกรรมที่เป็นโมฆียะเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้ หรือเมื่อพ้นเวลาสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 181 หรือไม่ ไม่มีประเด็นเรื่องโจทก์มีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากบุคคลภายนอกผู้ไม่มีสิทธิโดยไม่มีกำหนดอายุความตามที่โจทก์ฎีกา ฎีกาของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นฎีกาที่นอกฟ้องนอกประเด็นถือเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ทั้งมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.พ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ซึ่งเป็นทายาทมีสิทธิฟ้องคดีเรียกทรัพย์คืนจากบุคคลภายนอกผู้ไม่มีสิทธิ และสามารถฟ้องได้โดยไม่มีกำหนดอายุความนั้น คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทตามฟ้องและคำให้การว่าโจทก์บอกล้างนิติกรรมที่เป็นโมฆียะเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้ หรือเมื่อพ้นเวลาสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 181 หรือไม่ ไม่มีประเด็นเรื่องโจทก์มีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากบุคคลภายนอกผู้ไม่มีสิทธิโดยไม่มีกำหนดอายุความตามที่โจทก์ฎีกา ฎีกาของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นฎีกาที่นอกฟ้องนอกประเด็นถือเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ทั้งมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.พ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1285/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความคดีรับประกันคุณภาพสินค้า: สัญญาพิเศษมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
โจทก์ซื้อสีจากจำเลยโดยจำเลยรับรองคุณภาพของสีไว้เป็นพิเศษเป็นเวลา 1 ปี จึงมิใช่การซื้อขายธรรมดา ทั้งตามคำฟ้องโจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในค่าเสียหายที่เป็นค่าสีเสื่อมคุณภาพและค่าส่วนต่างที่โจทก์ต้องซื้อสีมาใช้ทดแทนสีที่เสื่อมคุณภาพตามข้อตกลงรับประกันสินค้าตามสัญญาซื้อขาย มิใช่เป็นเรื่องโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดในความชำรุดบกพร่องแห่งทรัพย์สินซึ่งจะทำให้คดีโจทก์มีอายุความ 1 ปี ตามป.พ.พ. มาตรา 474 แต่เป็นกรณีโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดตามข้อตกลงพิเศษแห่งสัญญาดังกล่าวข้างต้นซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30