คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ระงับข้อพิพาท

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 94 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3894/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาช่วงและอนุญาโตตุลาการ: การบังคับใช้ข้อตกลงระงับข้อพิพาทตามสัญญาหลัก
สัญญาว่าจ้างก่อสร้างช่วงระหว่างโจทก์กับจำเลยตกลงให้นำสัญญาหลักระหว่างจำเลยกับบริษัท อ. เจ้าของงานมาใช้บังคับ สัญญาหลักมีข้อตกลงว่าหากมีกรณีพิพาทอันเนื่องมาจากการปฏิบัติตามสัญญา คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้วินิจฉัย จึงถือว่าสัญญาว่าจ้างก่อสร้างช่วงระหว่างโจทก์กับจำเลยมีสัญญาอนุญาโตตุลาการแล้วตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 11 วรรคท้าย แม้ต่อมาโจทก์กับจำเลยตกลงเลิกสัญญาต่อกัน แต่ก็มิใช่กรณีมีเหตุที่ทำให้ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ด้วยเหตุประการอื่น หรือมีเหตุทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง โจทก์และจำเลยยังมีหน้าที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการเมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้น
ส่วนกรณีสัญญาว่าจ้างก่อสร้างช่วงที่มีข้อกำหนดให้จำเลยเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดเมื่อมีข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการปฏิบัติตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้างช่วงนั้น หาได้ขัดหรือแย้งกับข้อตกลงให้ระงับข้อพิพาทโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการดังกล่าวไม่ เพราะข้อวินิจฉัยชี้ขาดของจำเลยไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย หากโจทก์ไม่ยินยอมปฏิบัติตาม ข้อพิพาทดังกล่าวย่อมต้องใช้กระบวนการระงับข้อพิพาทโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการตามที่กำหนดไว้ในสัญญาหลักอยู่ดี ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการให้ระงับข้อพิพาทโดยกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการดังกล่าวในคดีนี้ก่อนจึงเป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13925/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การระงับข้อพิพาทแรงงานต้องเป็นไปตามขั้นตอนกฎหมายก่อนฟ้องคดี การฟ้องก่อนถึงขั้นตอนมีผลต่ออำนาจฟ้อง
การที่โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าข้อเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 14 ตุลาคม 2551 ตกไปนับแต่วันที่ยื่นและคณะกรรมการลูกจ้างที่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิแต่งตั้งตามหนังสือฉบับลงวันที่ 1 กันยายน 2551 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น หากโจทก์เห็นว่าการแจ้งข้อเรียกร้องดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่เข้าร่วมการเจรจากับจำเลยที่ 1 และหากมีข้อพิพาทแรงงานเกิดขึ้น โจทก์กับจำเลยที่ 1 ก็จะต้องดำเนินการระงับข้อพิพาทแรงงานนั้นเป็นลำดับขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนดก่อน จะด่วนนำคดีมาสู่ศาลแรงงานไม่ได้ ทั้งนี้ เพื่อมิให้ขั้นตอนในการแจ้งข้อเรียกร้องเจรจาและไกล่เกลี่ยตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ต้องหยุดชะงักหรือถูกประวิงเวลาเพื่อไม่เข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย และหากโจทก์เห็นว่าคณะกรรมการลูกจ้างที่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิแต่งตั้งไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิที่จะไม่ยอมรับการแต่งตั้งดังกล่าวแล้วปฏิบัติต่อลูกจ้างที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการลูกจ้างนั้นไปอย่างเช่นลูกจ้างธรรมดา ในชั้นนี้โจทก์จึงยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิใด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสิบสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13552/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความต้องระงับข้อพิพาททั้งหมด การตกลงเฉพาะส่วนไม่ถือเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ
บุคคลที่มีข้อพิพาทซึ่งอาจใช้สิทธิทางศาลต่อกัน อาจตกลงระงับข้อพิพาทดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 ด้วยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ อันมีผลทำให้หนี้เดิมระงับตามมาตรา 852 แล้วผูกพันกันตามที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว แต่บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในข้อที่ 1 ระบุว่า "ส่วนเรื่องหย่าและสินสมรสนั้นจะได้ตกลงกันในภายหลัง" แล้วตกลงกันเพียงว่า จำเลยที่ 1 จะส่งค่าเลี้ยงดูให้โจทก์เดือนละ 20,000 บาท ทั้งๆ ที่ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเกิดจากจำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 2 จนมีบุตร ทั้งจำเลยทั้งสองอยู่กินด้วยกัน อันเป็นการยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาซึ่งมีผลให้โจทก์มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 และการหย่ายังทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพจากจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526 นอกจากนี้การที่จำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์กันฉันชู้สาว ทำให้โจทก์เรียกค่าทดแทนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 ข้อพิพาทที่ทำให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ทั้งสามประการมิได้มีการตกลงเพื่อระงับกันให้เสร็จไปแต่อย่างใด บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ และตามพฤติการณ์ที่มีการระบุไว้ว่าจะมีการตกลงเรื่องหย่าและสินสมรสกันในภายหลังนั้นแสดงว่าโจทก์ไม่ได้ให้อภัยแก่จำเลยที่ 1 อันจะเป็นเหตุให้สิทธิฟ้องหย่า ระงับสิ้นไป การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเรียกร้องตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่จึงชอบแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่อาจอ้างบันทึกข้อตกลงดังกล่าว มาเป็นข้อต่อสู้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5019/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยอมความต้องมีเจตนาเพื่อระงับข้อพิพาทโดยสมบูรณ์ ไม่ใช่แค่ข้อตกลงนำไปสู่การระงับข้อพิพาท
การยอมความจะต้องประสงค์จะระงับข้อพิพาท มิใช่เพียงเป็นข้อตกลงโดยมีเงื่อนไขเพื่อนำไปสู่การระงับข้อพิพาท คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ โจทก์ร่วมและจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยตกลงกันว่า สัญญาประนีประนอมยอมความทำขึ้นเพื่อเป็นการระงับข้อพิพาทที่มีอยู่แล้วเวลานี้ทั้งในทางแพ่งและทางอาญา และที่จะมีขึ้นต่อไปในอนาคตของบุคคลผู้ที่เป็นคู่สัญญาซึ่งได้ลงนามไว้ท้ายสัญญานี้ และให้ถือเอาข้อความตามสัญญานี้มีผลเป็นการตกลงและยอมรับกันของคู่สัญญาทุกฝ่ายเกี่ยวกับคดีและได้รับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกซึ่งได้กล่าวถึงคดีนี้ด้วย ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นการยอมความระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยและทายาทอื่นเพื่อระงับข้อพิพาท สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10212-10215/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาอนุญาโตตุลาการ: ข้อพิพาทเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ต้องระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการก่อนฟ้องคดี
สัญญารับจ้างออกแบบและควบคุมการก่อสร้างศูนย์การแพทย์ระหว่างโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยทั้งสี่ที่มีข้อตกลงกำหนดให้ในกรณีที่มีข้อเรียกร้อง ข้อพิพาทหรือเรื่องอื่นใดที่เป็นปัญหาระหว่างคู่สัญญาซึ่งไม่สามารถยุติโดยการเจรจานั้นให้ได้รับการชี้ขาดโดยอนุญาโตตุลาการ เป็นสัญญาที่มีลักษณะเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการซึ่งต้องเสนอข้อพิพาทที่เป็นปัญหาระหว่างคู่สัญญาต่ออนุญาโตตุลาการก่อนนำคดีขึ้นสู่ศาลตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 11 เมื่อการวินิจฉัยในปัญหาระหว่างคู่สัญญาว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิทำซ้ำ ดัดแปลงหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์หรือไม่ และจำเลยทั้งสี่กระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่หรือไม่ขึ้นอยู่กับข้อตกลงที่กำหนดไว้ในสัญญา โจทก์ทั้งสี่กับจำเลยทั้งสี่จึงต้องปฏิบัติตามข้อตกลงของสัญญาเรื่องการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ เมื่อไม่ปรากฏว่ามีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการเป็นโมฆะ หรือใช้บังคับไม่ได้ หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ โจทก์ทั้งสี่จึงต้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการตามสัญญาดังกล่าว เมื่อโจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีต่อศาลโดยมิได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อนย่อมขัดต่อ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 14 โจทก์ทั้งสี่จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5525/2552 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอนในคดีล้มละลาย: ผลของการระงับข้อพิพาทด้วยอนุญาโตตุลาการ
โจทก์จำเลยตกลงกันใช้วิธีระงับข้อพิพาทตามสัญญาโดยให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการฯ และโจทก์ได้นำข้อพิพาทเสนอต่อสภาอนุญาโตตุลาการของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเพื่อตัดสินชี้ขาดแล้ว ถ้าคณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดข้อพิพาทไปอย่างไรก็จะมีผลผูกพันโจทก์จำเลยไปตามคำชี้ขาดนั้นตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการฯ มาตรา 41 วรรคหนึ่ง มิใช่ผูกพันกันตามสัญญาที่พิพาทกันอยู่นั้นแต่อย่างใด ดังนั้น ตราบใดที่คณะอนุญาโตตุลาการไม่มีคำชี้ขาดย่อมไม่อาจถือได้ว่า หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้เป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน ในระหว่างนี้โจทก์ยังฟ้องจำเลยให้ล้มละลายไม่ได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 9 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5525/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้จากสัญญาและการระงับข้อพิพาททางอนุญาโตตุลาการ: การฟ้องล้มละลายต้องรอคำชี้ขาด
โจทก์จำเลยตกลงกันใช้วิธีระงับข้อพิพาทตามสัญญาโดยให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ ฯ และโจทก์นำข้อพิพาทเสนอต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อตัดสินชี้ขาดแล้ว ถ้าคณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดข้อพิพาทไปอย่างไรก็จะมีผลผูกพันโจทก์จำเลยไปตามคำชี้ขาดนั้น ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการฯ มาตรา 41 วรรคหนึ่ง มิใช่ผูกพันกันตามสัญญาเดิม ตราบใดที่คณะอนุญาโตตุลาการยังไม่มีคำชี้ขาดย่อมไม่อาจถือได้ว่าหนี้ตามสัญญานั้นเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน โจทก์ยังฟ้องจำเลยให้ล้มละลายไม่ได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ฯ มาตรา 9 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3919/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ: ศาลต้องพิจารณาข้อตกลงก่อนตัดสินเรื่องอื่น
จำเลยให้การข้อหนึ่งว่า โจทก์ไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลเนื่องจากยังไม่ดำเนินการตามกระบวนการระงับข้อพิพาทของสัญญาและนำข้อพิพาทเข้าสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการอันเป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขในสัญญาว่าจ้าง ในชั้นพิจารณาของศาล จำเลยก็ยังสืบพยานยืนยันข้อต่อสู้นี้ โดยโจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำพยานเข้าสืบก่อนก็นำสืบรับว่ามีกระบวนการระงับข้อพิพาทตามสัญญา และมีข้อตกลงว่าหากดำเนินการตามกระบวนการนั้นแล้วไม่สามารถแก้ปัญหาข้อพิพาทได้ จะต้องนำข้อพิพาทเข้าสู่การระงับโดยอนุญาโตตุลาการ กล่าวคือ ยอมรับว่ามีข้อตกลงอนุญาโตตุลาการอยู่ในสัญญาจ้างดังกล่าวซึ่งเป็นสัญญาหลัก เพียงแต่โจทก์นำสืบว่าตามข้อสัญญาดังกล่าวโจทก์มีสิทธิเลือกที่จะไม่ใช้วิธีระงับข้อพิพาทโดยกระบวนการอนุญาโตตุลาการโดยเลือกฟ้องคดีต่อศาล ดังนั้นก่อนที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ และจำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่ ควรที่จะวินิจฉัยเสียก่อนว่ามีหรือไม่มีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ด้วยเหตุประการอื่น หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นได้ รวมทั้งข้อที่ว่าข้อตกลงอนุญาโตตุลาการใช้บังคับไม่ได้เพราะโจทก์มีสิทธิเลือกที่จะไม่ใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาท โดยเลือกที่จะฟ้องคดีต่อศาลแทน ดังที่โจทก์นำสืบหรือไม่ ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 10 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับกับสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยในขณะทำสัญญา ซึ่งหากศาลเห็นว่าโจทก์ต้องไปดำเนินการตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการตามสัญญาก่อน ก็สั่งจำหน่ายคดีนี้เสียเพื่อให้โจทก์ไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ โดยศาลไม่ต้องวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทเรื่องอายุความฟ้องคดี อำนาจฟ้อง และความรับผิดของจำเลยในการชำระหนี้แก่โจทก์ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยปัญหาอายุความว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วพิพากษายกฟ้อง ย่อมเป็นเหตุที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยคำพิพากษา ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิพากษายกคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางโดยให้ไปดำเนินการไต่สวน และมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดีตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8388/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงระงับข้อพิพาทที่มีเงื่อนไขไม่สมบูรณ์ ไม่ถือเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ทำให้จำเลยยังมีความรับผิด
ข้อตกลงที่มีข้อความว่า หากโจทก์ได้รับเงินจำนวนตามที่ระบุไว้ครบถ้วน โจทก์ก็ไม่ติดใจเรียกร้องไม่ว่าทางแพ่งหรือทางอาญาหรือไม่ติดใจเอาความอีก และจำเลยต้องนำข้อตกลงนี้ไปเสนอต่อกรรมการของจำเลยร่วมก่อน ข้อตกลงดังกล่าวย่อมไม่ได้ระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นให้เสร็จสิ้นไปทีเดียว จึงไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เอกสารหมาย จ.9 มีผลบังคับใช้เช่นเดียวกับสัญญาประนีประนอมยอมความ ทำให้สิทธิที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดจากจำเลยที่ 2 ระงับ พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีไปฟ้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความ (เอกสารหมาย จ.9) แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ว่า เอกสารหมาย จ.9 ไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ แต่เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่า เอกสารหมาย จ.9 ไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ ความรับผิดในมูลละเมิดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ยังคงมีอยู่ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีไปฟ้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความใหม่ไม่ชอบ ปัญหาว่าเอกสารหมาย จ.9 เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่จึงเกี่ยวกับอำนาจฟ้องที่โจทก์จะนำคดีไปฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีใหม่โดยอาศัยเอกสารหมาย จ.9 ได้หรือไม่ จึงเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1872/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชั้นศาลและการระงับสิทธิฟ้องคดีอาญา ตาม พ.ร.บ.การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562
แม้ขณะที่ผู้เสียหายและจำเลยตกลงกันในคดีอาญาของศาลอาญาธนบุรี ยังไม่มีการประกาศใช้บังคับ พ.ร.บ.การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562 แต่ขณะที่จำเลยยื่นฎีกาคดีนี้พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว ดังนี้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปหรือไม่จึงต้องพิจารณาตามกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่จำเลยยื่นฎีกา พ.ร.บ.การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562 มาตรา 3 ให้คำนิยาม การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท หมายความว่า การดำเนินการเพื่อให้คู่ความมีโอกาสเจรจาตกลงระงับข้อพิพาททางแพ่งและทางอาญาโดยสันติวิธีและปราศจากการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท ทั้งนี้ไม่รวมถึงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่ดำเนินการในชั้นศาลและในชั้นบังคับคดี ดังนั้น การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงไม่รวมถึงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่ดำเนินการในชั้นศาล เมื่อผู้เสียหายและจำเลยตกลงกันเกี่ยวกับคดีนี้ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ. 78/2562 ของศาลอาญาธนบุรี ระหว่างการพิจารณาของศาลอาญาธนบุรี จึงเป็นการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่ดำเนินการในชั้นศาล กรณีไม่เป็นการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามคำนิยามดังกล่าว จึงไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 35 วรรคสอง สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงไม่ระงับไป
of 10