พบผลลัพธ์ทั้งหมด 829 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8454/2544
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ลำดับการบังคับคดี: ผู้ค้ำประกันต้องถูกบังคับคดีเมื่อลูกหนี้ยังมีทรัพย์สินที่บังคับได้
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน แม้จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ โจทก์ได้ขอให้ออกคำบังคับแล้ว จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ก็ตาม แต่ในการทำสัญญากู้เงิน จำเลยที่ 1 ได้มอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นหลักประกัน แสดงว่าจำเลยที่ 1 ยังมีทรัพย์สินที่จะชำระหนี้ได้และการบังคับชำระหนี้ไม่เป็นการยาก จำเลยที่ 2 ชอบที่จะขอให้ศาลเพิกถอนการยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 โดยให้โจทก์บังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 689 ได้ แม้โจทก์ต้องเสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีเนื่องจากยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 แล้วไม่มีการขาย และหากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1ไม่พอชำระหนี้ โจทก์จะต้องนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 อีกครั้งหนึ่ง ก็ไม่มีเหตุที่จะมีคำสั่งเพียงให้งดการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ไว้เท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8325/2544
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิการบังคับคดี: เจ้าหนี้ตามสัญญาประนีประนอมฯ ไม่อาจใช้สิทธิบังคับคดีแทนลูกหนี้ตามคำพิพากษา
การบังคับคดีนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 271 บัญญัติให้บุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา)เท่านั้น ที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ผู้ร้องไม่ใช่บุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (ในคดีที่ร้องนี้) จึงไม่มีสิทธิตามกฎหมายดังกล่าวสำหรับกรณีที่เจ้าหนี้ที่จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 233 นั้น หมายถึงการใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลโดยให้เจ้าหนี้เป็นโจทก์ฟ้องในนามของเจ้าหนี้แทนลูกหนี้ได้รวมทั้งเรียกลูกหนี้เข้ามาในคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 234 มิใช่เข้าสวมสิทธิในการบังคับคดีของลูกหนี้ ซึ่งเป็นสิทธิที่กฎหมายกำหนดให้เป็นสิทธิแก่บุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7966/2544
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการทวงหนี้จากลูกหนี้ของจำเลยหลังศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์
เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจเก็บรวบรวมและรับเงินหรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่จำเลยหรือซึ่งจำเลยมีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่น ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 22(2) การที่ลูกจ้างและกรรมการของจำเลยชำระหนี้เงินกู้ให้แก่ อ. ม. และ ส. ซึ่งเคยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลย โดยบุคคลทั้งสามไม่มีอำนาจรับชำระหนี้แทนจำเลยจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการชำระหนี้โดยชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 315 หนี้เงินกู้ยังไม่ระงับสิ้นไปและการรับชำระหนี้ดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ระหว่างจำเลยและบุคคลทั้งสาม เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบที่จะต้องใช้สิทธิในการทวงถามหนี้เงินกู้ดังกล่าวจากลูกจ้างและกรรมการของจำเลยผู้กู้ยืมเงินจำนวนนั้นต่อไป ไม่อาจใช้อำนาจตามมาตรา 119 เรียกร้องให้อ. ม. และ ส. ชำระเงินจำนวนดังกล่าวได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7452/2544
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรม: ต้องฟ้องลูกหนี้ร่วมด้วย และต้องแสดงหนี้ร่วม
ฟ้องโจทก์เป็นเรื่องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินที่อ้างว่าจำเลยที่ 1กับ จ. ลูกหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาได้สมคบกันโอนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3ซึ่งเป็นบุตรโดยเสน่หา อันเป็นทางให้โจทก์เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของ จ. เสียเปรียบกรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 237 แล้ว ซึ่งการฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนดังกล่าว โจทก์จะต้องฟ้องลูกหนี้คือ จ. เข้ามาในคดีด้วย ศาลจึงจะมีอำนาจพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนได้แม้เฉพาะส่วนของ จ. ก็ตาม นอกจากนี้ตามคำฟ้องของโจทก์ก็มิได้บรรยายไว้เลยว่าหนี้ที่ จ. เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งทั้งสามคดีตามฟ้องนั้นเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยที่ 1กับ จ. ซึ่งเป็นสามีภริยากันตามที่ได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490(1) ถึง (4) อันจำเลยที่ 1จะต้องรับผิดในหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งทั้งสามคดีร่วมกับ จ. ซึ่งจะมีผลให้จำเลยที่ 1 อยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้โจทก์ด้วย ดังนี้ เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องลูกหนี้คือ จ. เข้ามาในคดีประการหนึ่ง และจำเลยที่ 1 มิได้อยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้โจทก์ที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์อีกประการหนึ่ง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินตามฟ้องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 648/2544
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิในการขอระงับการบังคับคดี: ผู้มีส่วนได้เสียต้องเป็นเจ้าหนี้/ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือมีสิทธิจดทะเบียน/ยื่นคำร้องตาม กม.
โจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาการที่ผู้ร้องจะมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้งดการบังคับคดีโดยอ้างว่าสิ่งปลูกสร้างในที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องสร้างขึ้นและผู้ร้องได้ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยในอีก คดีหนึ่งนั้น ผู้ร้องต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในวิธีบังคับคดีอันเกี่ยวด้วยทรัพย์สิน ที่มีการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 280 เมื่อผู้ร้องเป็นเพียงได้ยื่นฟ้องโจทก์ทั้งหกเป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้นและคดี ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในวิธีบังคับคดี อันเกี่ยวด้วยทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 280 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งงดการบังคับคดีไว้ก่อน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5996/2544
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความคดีหนี้สิน: โจทก์ทราบการตายของลูกหนี้แล้วมิได้ฟ้องภายใน 1 ปี สิทธิเรียกร้องขาดอายุความ
ธนาคารโจทก์ สาขาบางขุนเทียน มีหนังสือลงวันที่ 3 ตุลาคม2538 ถึงธนาคารโจทก์ สาขาพัทลุง โดยมีข้อความระบุว่าจำเลยที่ 1ถึงแก่ความตายแล้วและขอให้ธนาคารโจทก์สาขาพัทลุง ช่วยคัดสำเนาทะเบียนบ้านของจำเลยที่ 1 เพื่อที่จะดำเนินคดีแก่ทายาทต่อไป ดังนี้ แสดงว่าธนาคารโจทก์ สาขาบางขุนเทียน ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายแล้วกรณีจึงถือได้ว่าอย่างช้าในวันที่ 3 ตุลาคม 2538 โจทก์รู้ถึงความตายของจำเลยที่ 1 แล้วเมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองวันที่ 11 ธันวาคม 2540 สิทธิเรียกร้องของโจทก์ต่อกองมรดกของจำเลยที่ 1 จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดในฐานะผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 2 ย่อมยกข้อต่อสู้ดังกล่าวขึ้นอ้างได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 694
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2887/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 350 และขอบเขตการวินิจฉัยนอกฟ้อง
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้เงินโจทก์ตามหนังสือสัญญากู้เงินท้ายฟ้องและได้ชำระคืนบางส่วนแล้ว จำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ที่เหลือให้โจทก์ จำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กู้เงินโจทก์และไม่ได้รับเงินจากโจทก์ ทั้งไม่เคยชำระเงินให้โจทก์ตามฟ้อง ที่จำเลยเขียนสัญญากู้เงินตามฟ้องให้โจทก์เพราะโจทก์ทวงถามให้ผู้กู้รายอื่นหลายคนชำระหนี้และมีการโต้เถียงกัน จึงได้เขียนสัญญากู้เงินตามฟ้องเพื่อตัดปัญหาความยุ่งยากและเดือดร้อน คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยจะต้องรับผิดชำระเงินตามหนังสือสัญญากู้เงินให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า จำเลยได้ทำหนังสือสัญญากู้เงินฉบับพิพาทให้ไว้ต่อโจทก์แทนลูกหนี้คนอื่นหลายราย กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยยอมตนเข้าเป็นลูกหนี้เงินกู้แทนลูกหนี้รายอื่นหลายรายและไม่ปรากฏว่ามีการขืนใจลูกหนี้เดิม การทำหนังสือสัญญากู้เงินระหว่างโจทก์และจำเลยมีลักษณะเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 350 จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ เป็นการวินิจฉัยว่าหนังสือสัญญากู้เงินฉบับพิพาทมีมูลหนี้มาจากการที่จำเลยยอมตนเข้าเป็นลูกหนี้เงินกู้แทนลูกหนี้รายอื่นหลายรายโดยไม่ปรากฏว่ามีการขืนใจลูกหนี้เดิม จึงเป็นการวินิจฉัยไปตามประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี หาเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2887/2544
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้อง
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้เงินโจทก์และได้ชำระคืนบางส่วนแล้วจำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ที่เหลือให้โจทก์ จำเลยให้การว่า ไม่ได้กู้เงินโจทก์ ที่จำเลยเขียนสัญญากู้เงินให้โจทก์เพราะโจทก์ทวงถามให้ผู้กู้เงินรายอื่นหลายคนชำระหนี้และมีการโต้เถียงกันเพื่อตัดปัญหาความยุ่งยากและเดือดร้อน คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยจะต้องชำระเงินตามสัญญากู้เงินให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใดการที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยได้ทำหนังสือสัญญากู้เงินให้ไว้ต่อโจทก์ เป็นเรื่องที่จำเลยยอมตนเข้าเป็นลูกหนี้เงินกู้แทนลูกหนี้รายอื่นและไม่ปรากฏว่ามีการขืนใจลูกหนี้เดิม การกู้เงินระหว่างโจทก์และจำเลยมีลักษณะเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เป็นการวินิจฉัยถึงที่มาแห่งมูลหนี้ของการทำหนังสือสัญญากู้เงินระหว่างโจทก์จำเลย จึงเป็นการวินิจฉัยไปตามประเด็นข้อพิพาท ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2547/2544
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เอกสารค้ำประกันที่ไม่ติดแสตมป์ใช้เป็นหลักฐานได้ ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกับลูกหนี้
หนังสือที่จำเลยที่ 2 ทำไว้ต่อโจทก์เพื่อค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ว่า หากจำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดความเสียหายจะยอมชดใช้หนี้สินหรือค่าเสียหายให้แก่โจทก์ โดยมีเพียงลายมือชื่อของจำเลยที่ 2ผู้ค้ำประกันเท่านั้น ไม่มีลายมือชื่อของโจทก์อยู่ด้วย หนังสือดังกล่าวจึงเป็นเพียงหลักฐานในการค้ำประกันเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 วรรคสอง เท่านั้นมิใช่สัญญาค้ำประกัน แม้จะมีข้อความว่าสัญญาค้ำประกันก็ตาม เอกสารดังกล่าวจึงมิใช่ตราสารที่ต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 104 และบัญชีอากรแสตมป์ลักษณะ 17ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 976/2543
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ละเมิดจากการทวงหนี้ผิดพลาด - จำเลยต้องระมัดระวังตรวจสอบข้อมูลลูกหนี้ก่อนดำเนินการ
แม้โจทก์จะมีชื่อและนามสกุลอย่างเดียวกันกับลูกหนี้ของจำเลย แต่ก็มีภูมิลำเนาต่างกัน ทั้งลูกหนี้ของจำเลยไม่เคยย้ายภูมิลำเนา อีกทั้งเมื่อโจทก์ติดต่อทนายความจำเลยแจ้งว่ามิได้เป็นหนี้ ทนายความจำเลยหรือจำเลยกลับยืนยันว่าเป็นหนี้ ถ้าไม่ชำระหนี้จะฟ้องร้องต่อศาล ทำให้โจทก์เกิดความกลัว จึงได้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเป็นเหตุให้โจทก์ถูกหนังสือพิมพ์รายวันลงข่าวเผยแพร่ไปทั่วราชอาณาจักร ทำให้โจทก์ถูกผู้บังคับบัญชาเรียกไปสอบสวนหามูลเหตุของข่าวการเป็นหนี้จำเลย และลงความเห็นว่าถ้าข่าวดังกล่าวเป็นจริงโจทก์จะถูกลงโทษ โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการโทรศัพท์ทางไกลติดต่อญาติพี่น้องเพื่อแจ้งความจริงให้ทราบ และได้ว่าจ้างทนายความให้ตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับหนี้ดังกล่าว ดังนี้ กรณีถือได้ว่าจำเลยประมาทเลินเล่อหรือไม่ใยดีต่อผลแห่งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่โจทก์ในภายหลังโดยไม่ใช้ความระมัดระวังตามสมควรทำการตรวจสอบเกี่ยวกับตัวลูกหนี้ของจำเลยเสียใหม่ตามที่โจทก์แจ้งให้ทนายความของจำเลยหรือจำเลยทราบแล้วว่าโจทก์มิใช่ลูกหนี้ของจำเลย รวมทั้งจำเลยยังได้ยืนยันที่จะฟ้องร้องโจทก์ต่อศาล จนเป็นเหตุให้โจทก์เกิดความกลัวและนำเรื่องไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนจนถูกหนังสือพิมพ์รายวันบางฉบับนำข่าวไปเผยแพร่ทั่วราชอาณาจักร อันเป็นการกระทำต่อโจทก์โดยมิชอบด้วยกฎหมายทำให้โจทก์เสียหาย พฤติการณ์จึงถือได้ว่าจำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์อันจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เพื่อการนั้นแล้วครบถ้วนด้วยองค์ประกอบแห่งความผิดเพื่อละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420