คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ล้างมลทิน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 104 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3017/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกานี้เกี่ยวข้องกับการวางโทษทวีคูณ, การล้างมลทิน, และการบังคับคดีปรับที่ผิดลำดับตามกฎหมาย
การให้ถ้อยคำของผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนเป็นสิทธิของผู้ต้องหาที่จะให้การอย่างไรหรือไม่ให้การก็ได้ ในกรณีที่ผู้ต้องหาให้การเหมือนๆ กันหรือทำนองเดียวกัน บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของผู้ต้องหาย่อมมีโอกาสเหมือนหรือคล้ายกัน และในการทำความเห็นสั่งฟ้องคดี หากพนักงานอัยการเห็นว่าการสอบสวนไม่ชอบ ไม่ถูกต้อง ย่อมจะส่งสำนวนการสอบสวนกลับไปให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมหรือปฏิบัติเสียใหม่ให้ถูกต้อง ประกอบกับวิทยาการสมัยใหม่ที่เอกสารสอบสวนสองฉบับจะมีข้อความตรงกันย่อมเกิดขึ้นได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่ได้ลงชื่อในบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา ย่อมถือว่าการสอบสวนคดีนี้ชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 ออกใช้บังคับ โดยมาตรา 3 ยกเลิก พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 แต่ตามมาตรา 27 ของกฎหมายใหม่ยังคงบัญญัติห้ามมิให้บุคคลใดรับคนต่างด้าวเข้าทำงานเช่นเดียวกันกับกฎหมายเดิม เว้นแต่คนต่างด้าวซึ่งมีใบอนุญาตทำงาน กรณีจึงไม่ถือว่ากฎหมายใหม่ยกเลิกความผิดของจำเลยที่ 1 อย่างไรก็ตามโทษปรับในความผิดฐานรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตเข้าทำงาน ตามกฎหมายเดิมเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 มากกว่า จึงต้องใช้โทษปรับตามกฎหมายเดิมบังคับแก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 3
ก่อนคดีนี้ จำเลยที่ 1 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ ลงโทษปรับ 240,000 บาท และต้องคำพิพากษาในความผิดเดียวกัน ให้ลงโทษจำคุก 3 เดือน และปรับ 22,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี คดีนี้ จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ อีก ซึ่งพ้นโทษในคดีก่อนยังไม่ครบ 5 ปี กรณีต้องมีการวางโทษทวีคูณแก่จำเลยที่ 1 ในคดีนี้ แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ออกใช้บังคับ โดยมาตรา 4 บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่างๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้นๆ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำความผิดคดีนี้หลังจากได้ชำระค่าปรับครบถ้วนและพ้นกำหนดรอการลงโทษจำคุกในคดีก่อนที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้วางโทษทวีคูณคดีนี้แล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ต้องโทษและได้พ้นโทษในคดีก่อนไปแล้วก่อนที่พระราชบัญญัตินี้จะใช้บังคับและได้รับการล้างมลทินโดยถือว่าจำเลยที่ 1 มิเคยถูกลงโทษในความผิดนี้มาก่อนตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงไม่อาจวางโทษทวีคูณแก่จำเลยที่ 1 ในคดีนี้ได้
ป.อ. มาตรา 29 บัญญัติว่า "ผู้ใดต้องโทษปรับและไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ หรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ..." การที่ศาลทรัพย์สินฯ พิพากษาว่า "หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนค่าปรับ" ไปเสียเลย จึงเป็นการบังคับค่าปรับผิดลำดับตามบทกฎหมาย ต้องแก้เป็นว่า หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการ ตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 หากจะกักขังให้กักขังแทนค่าปรับไม่เกิน 1 ปี
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2553)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2187/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พ.ร.บ.ล้างมลทินกระทบสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง - การแจ้งข้อมูลเท็จต่อผู้อำนวยการเลือกตั้ง
วันที่จำเลยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นวันภายหลังจากที่ พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ออกใช้บังคับ ดังนี้ แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพตามฟ้องอันฟังได้ว่า จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อผู้อำนวยการเลือกตั้ง โดยปกปิดเรื่องที่จำเลยเคยได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา แต่โดยผลของ พ.ร.บ.ดังกล่าวถือว่าจำเลยไม่เคยถูกลงโทษหรือได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษามาก่อน จำเลยจึงมิใช่บุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 45 (5) แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 การกระทำของจำเลยย่อมไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งหรือประชาชน กรณีไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137 จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยย่อมยกขึ้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 ประกอบพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10978/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยข้อลักทรัพย์/รับของโจร เพราะศาลอุทธรณ์ตัดสินลงโทษแล้ว และจำเลยได้รับประโยชน์จาก พ.ร.บ. ล้างมลทิน
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรฐานใดฐานหนึ่ง เมื่อปรากฏว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยฐานรับของโจร ต้องถือว่าศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยเต็มตามความประสงค์ของโจทก์แล้ว โจทก์ย่อมไม่อาจฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ เพื่อให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 860/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่แต่งตั้งทนายความตามกฎหมาย และผลกระทบของ พ.ร.บ.ล้างมลทิน ต่อการเพิ่มโทษ
เมื่อปรากฏตามคำร้องของจำเลยว่าจำเลยได้ขอให้ศาลชั้นต้นแต่งตั้งทนายความให้ตลอดมาจนกระทั่งสืบพยานจำเลยเสร็จ แต่ศาลชั้นต้นก็ไม่ได้แต่งตั้งทนายความให้จำเลย ซึ่งหากจำเลยเห็นว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคสอง จำเลยต้องยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องเพื่อให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าวไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันทราบกระบวนพิจารณานั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 แต่จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด คำร้องของจำเลยย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยยื่นคำร้องว่า ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ว่าจะรับหรือไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย ได้มี พ.ร.บ.ล้างมลทินฯ พ.ศ.2550 ใช้บังคับ ขอให้งดเพิ่มโทษ โดยจำเลยยื่นคำร้องหลังจากที่ศาลชั้นต้น อ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 5 และก่อนที่จำเลยจะยื่นฎีกา เมื่อคำร้องดังกล่าวเป็นปัญหาในชั้นบังคับคดี มิใช่เป็นการฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำสั่งของศาลล่างที่มีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้พิจารณาและพิพากษาคดีใหม่และไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย จึงเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นต้องพิจารณาสั่งคำร้องดังกล่าว หากศาลชั้นต้นสั่งเป็นประการใดแล้ว จำเลยจึงจะใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาต่อมาได้เป็นลำดับ การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับเป็นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฎีกาของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 225
เมื่อความผิดที่ศาลชั้นต้นจำคุกจำเลยที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ จำเลยได้พ้นโทษไปแล้วก่อนวันที่ พ.ร.บ.ล้างมลทิน ฯ พ.ศ.2550 ใช้บังคับ จำเลยย่อมได้รับประโยชน์ตาม มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติ ดังกล่าว จึงเพิ่มโทษจำเลยไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8129/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีหลัง แม้โจทก์มิได้ขอ และผลกระทบของ พ.ร.บ.ล้างมลทิน
พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 4 ที่บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 ซึ่ง พ.ร.บ. ฉบับนี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ มีผลเพียงให้ถือว่าจำเลยไม่เคยถูกลงโทษจำคุกเท่านั้น มิได้มีผลถึงกับให้ถือว่าความประพฤติของจำเลยที่เป็นเหตุให้ต้องรับโทษจำคุกนั้นถูกล้างไปด้วย
แม้โจทก์จะมิได้บรรยายฟ้องและขอให้บวกโทษในคดีเดิมเข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้ แต่เมื่อจำเลยกระทำความผิดคดีนี้ภายในกำหนดระยะเวลาที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนก็ต้องนำโทษจำคุกที่รอไว้ในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษในคดีนี้ตาม ป.อ. มาตรา 58 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7235/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกาย แม้ไม่ได้ลงมือเองโดยตรง และผลกระทบของ พ.ร.บ. ล้างมลทิน ต่อการเพิ่มโทษ
กรณีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 299 นั้น ต้องเป็นการชุลมุนต่อสู้กันระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และมีบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และมีบุคคลได้รับอันตรายสาหัสโดยไม่ทราบว่าผู้ใดหรือผู้ใดร่วมกับใครทำร้ายจนได้รับอันตรายสาหัส แต่หากสามารถรู้และแบ่งฝ่ายแบ่งพวกกันได้ ทั้งรู้ว่าผู้ใดหรือฝ่ายใดเป็นผู้ลงมือทำร้ายย่อมลงโทษผู้นั้นกับพวกได้ตามเจตนาและผลของการกระทำ เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่าจำเลยกับพวกฝ่ายหนึ่งและผู้เสียหายกับพวกฝ่ายหนึ่งวิวาทต่อสู้กัน แล้วพวกของจำเลยเป็นผู้ใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ย่อมมิใช่กรณีตาม ป.อ. มาตรา 299 และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ที่ใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหาย คือ น. ซึ่งเป็นพวกของจำเลยที่เข้าร่วมในการทะเลาะวิวาทกับผู้เสียหายด้วย จำเลยซึ่งมีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายย่อมต้องรับผลอันเป็นธรรมดา ย่อมเกิดขึ้นจากการนั้นในฐานเป็นตัวการแม้มิได้เป็นผู้ลงมือใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหายด้วยตนเองก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 627/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ล้างมลทินในวโรกาส 80 พรรษาฯ: ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าผู้ต้องโทษที่พ้นโทษก่อนบังคับใช้ พ.ร.บ. ล้างมลทิน ย่อมได้รับประโยชน์ แม้คดีถึงที่สุดแล้ว
สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้อง และเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 93 คดีถึงที่สุด ต่อมามีการตรา พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ใช้บังคับ จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า ได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัติดังกล่าวขอให้ศาลชั้นต้นงดเพิ่มโทษ เมื่อพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 4 บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ เมื่อความผิดที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ จำเลยที่ 1 ได้ต้องโทษและพ้นโทษไปแล้วก่อนพระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ และกฎหมายไม่มีข้อยกเว้นไว้ว่าหากคดีถึงที่สุดแล้วจะไม่ได้รับประโยชน์ จำเลยที่ 1 ย่อมได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 และในกรณีนี้เป็นปัญหาในชั้นบังคับคดี เพื่อบังคับให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงไม่ถือเป็นการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4746/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับโทษจำคุกและผลของการรอการลงโทษ/กำหนดโทษต่อการล้างมลทินในคดีทรัพย์สินทางปัญญา
คดีอาญาที่ศาลเพียงแต่ลงโทษปรับและจำเลยได้ชำระค่าปรับแล้วคดีถึงที่สุด ถือว่า จำเลยเป็นผู้ต้องโทษและได้พ้นโทษไปแล้ว
คดีอาญาที่ศาลลงโทษจำคุกและปรับแต่โทษจำคุกให้รอการลงอาญากับอีกคดีที่ศาลรอการกำหนดโทษ กรณีของจำเลยดังกล่าวจึงมิใช่ผู้ต้องโทษตามความหมายของมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2664/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พ.ร.บ.ล้างมลทินมีผลย้อนหลังทำให้ไม่สามารถเพิ่มโทษจำเลยได้ แม้คดีถึงที่สุดก่อนบังคับใช้
พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปริมนทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษาฯ มาตรา 4 บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีมีความผิดต่างๆ ซึ่งได้กระทำก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้นๆ ดังนั้น เมื่อความผิดที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุที่ขอให้เพิ่มโทษ จำเลยที่ 3 ได้ต้องโทษและพ้นโทษไปแล้วก่อนวันที่ พ.ร.บ. ดังกล่าวใช้บังคับ อันเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด จำเลยที่ 3 ย่อมได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษาฯ โดยมิต้องคำนึงว่าเป็นกรณีตาม ป.อ. มาตรา 3 หรือไม่ ทั้งปัญหาว่าเมื่อ พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษาฯ ใช้บังคับแล้วจะเพิ่มโทษจำเลยที่ 3 ได้หรือไม่ เป็นปัญหาในชั้นบังคับคดีเพื่อบังคับให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. ดังกล่าวและไม่เป็นการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลชั้นต้นแต่อย่างใด กรณีจึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยที่ 3 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1415/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลของพ.ร.บ.ล้างมลทินต่อการเพิ่มโทษทางอาญา กรณีผู้ต้องโทษเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดมาก่อน
พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 4 บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่างๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปก่อนหรือในวันที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้นๆ เมื่อความผิดที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษจำเลยได้ต้องโทษและพ้นโทษไปแล้วก่อนวันที่ พ.ร.บ. ดังกล่าวใช้บังคับ อันเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดแล้ว จำเลยย่อมได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว โดยมิต้องคำนึงว่าเป็นกรณีตาม ป.อ. มาตรา 3 หรือไม่ แม้พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และคดีจำเลยจะถึงที่สุดไปก่อนวันที่ พ.ร.บ. ดังกล่าวใช้บังคับแล้ว แต่ปัญหาว่าเมื่อมีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่จะพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ใช้บังคับแล้วจะเพิ่มโทษจำเลยได้หรือไม่ เป็นปัญหาในชั้นบังคับคดีเพื่อบังคับให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว ไม่เป็นการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงผลของคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแต่อย่างใด กรณีมีเหตุที่จะไม่เพิ่มโทษและกำหนดโทษจำเลยใหม่
of 11