คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เจ้าหนี้

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,539 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6057/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตอำนาจตัวแทนรับชำระหนี้: การชำระหนี้เกินอำนาจไม่ผูกพันเจ้าหนี้
หนังสือมอบอำนาจของเจ้าหนี้ระบุข้อความอันเป็นการกระทำภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทนไว้โดยชัดแจ้งว่า ให้ ก. ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจเพียงเจรจาตกลงกับลูกหนี้จนเสร็จการเท่านั้น มิได้มอบอำนาจให้เป็นตัวแทนรับชำระหนี้จากลูกหนี้แต่อย่างใด การที่ ก. รับชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ไว้จากลูกหนี้ จึงเป็นการกระทำนอกเหนือขอบอำนาจของตัวแทน ทั้งตามหนังสือมอบอำนาจก็ระบุว่าเจ้าหนี้ยอมรับผิดต่อลูกหนี้เฉพาะในการกระทำที่ ก. ได้ทำไปตามที่เจ้าหนี้มอบอำนาจเท่านั้น เจ้าหนี้จึงไม่ต้องผูกพันกับการรับชำระหนี้ของ ก. ประกอบกับตามทางสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดอันจะพึงถือได้ว่า ทางปฏิบัติของเจ้าหนี้ทำให้ลูกหนี้มีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่าการชำระหนี้แก่ ก. นั้นอยู่ภายในขอบอำนาจของ ก. ซึ่งจะทำให้เจ้าหนี้ต้องรับผิดต่อลูกหนี้ผู้สุจริตเสมือนว่า ก. เป็นตัวแทนผู้มีอำนาจรับชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 822 ประกอบมาตรา 821 การรับชำระหนี้ของ ก. จึงเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจย่อมไม่ผูกพันเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 823 เจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้เต็มจำนวน โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีอำนาจนำเงินที่ลูกหนี้ชำระต่อ ก. ซึ่งมิใช่บุคคลผู้มีอำนาจรับชำระหนี้แทนเจ้าหนี้มาหักชำระหนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5987/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโต้แย้งสิทธิจากสัญญาเช่าซื้อและการมีอำนาจฟ้องคดีของเจ้าหนี้ที่ไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้
จำเลยในฐานะผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์มีหน้าที่ต้องจัดการให้รถยนต์ที่เช่าซื้อตกเป็นสิทธิแก่โจทก์ผู้เช่าซื้อเมื่อโจทก์ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว การที่โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้วจำเลยไม่จัดการจดทะเบียนโอนสิทธิให้แก่โจทก์ จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยได้ ทั้งตามประกาศคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินเรื่องการขอรับชำระหนี้สำหรับเจ้าหนี้และการจัดสรรเงินจากการขายทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้ได้ความว่า เฉพาะเจ้าหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามประกาศนี้จะต้องตกลงให้ความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรที่จะไม่ฟ้องสถาบันการเงินเป็นจำเลยในคดีแพ่งอันแสดงว่าข้อกำหนดดังกล่าวใช้บังคับเฉพาะเจ้าหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้เท่านั้นหาตัดสิทธิเจ้าหนี้ของสถาบันการเงินเช่นโจทก์ที่มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามประกาศดังกล่าวที่จะฟ้องคดีแพ่งด้วยไม่ อีกทั้งประกาศดังกล่าวก็หาได้กำหนดให้เจ้าหนี้ทุกคนต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ไม่ ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ที่มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้และมิได้ตกลงให้ความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรที่จะไม่ฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่ง จึงย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยลูกหนี้ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการโดยคณะกรรมการองค์การเพื่อปฏิรูประบบสถาบันการเงินเป็นคดีแพ่งได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5939/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิติดตามทรัพย์สินคืนจากผู้ได้รับไปโดยไม่ชอบจากความผิดพลาดของเจ้าหนี้ ไม่ขาดอายุความ
จำเลยเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ไว้กับธนาคารโจทก์ นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นเรื่องสัญญาฝากทรัพย์ การที่พนักงานของโจทก์บันทึกรายการรับฝากเงินเข้าบัญชีของจำเลยซ้ำกัน 2 ครั้ง ทำให้ยอดเงินในบัญชีของจำเลยมีจำนวนเกินไปจากความเป็นจริง 35,505 บาท และจำเลยเบิกถอนเงินจำนวนดังกล่าวไปโดยอาศัยความผิดพลาดในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานโจทก์เงินจำนวนดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของโจทก์ เมื่อจำเลยได้เงินนั้นไปโดยไม่ชอบโจทก์ย่อมมีสิทธิติดตามเอาเงินจำนวนนั้นคืนจากจำเลยผู้ซึ่งไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5886/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการที่ให้ความเป็นธรรมแก่เจ้าหนี้และมีโอกาสสำเร็จ
เมื่อแผนฟื้นฟูกิจการได้รับการยอมรับจากที่ประชุมเจ้าหนี้ด้วยมติพิเศษตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/46 แล้ว กฎหมายกำหนดให้แผนฟื้นฟูกิจการจะต้องได้รับความเห็นชอบจากศาลอีกชั้นหนึ่งตามมาตรา 90/56 กรณีจึงเป็นการกำหนดให้ศาลเข้ามามีบทบาทในทางเศรษฐกิจในอันที่จะควบคุมดูแลให้กระบวนฟื้นฟูกิจการดำเนินการไปด้วยความเป็นธรรม เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เจ้าหนี้และประเทศชาติโดยรวมและหากแผนฟื้นฟูกิจการมีลักษณะครบถ้วนตามมาตรา 90/58 กำหนด ถือว่าเป็นมาตรฐานขั้นต่ำอันจะต้องมีก็ให้ศาลมีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจให้ความเห็นด้วยแผนได้ในการพิจารณาว่าจะให้ความเห็นชอบด้วยแผนนั้น ศาลจึงมีอำนาจพิจารณาในรายละเอียดเนื้อหาของแผนตลอดจนความสุจริตในการทำแผนนั้นด้วย
การศึกษาและวิเคราะห์ธุรกิจของลูกหนี้จะต้องมีการดำเนินการเพื่อให้การฟื้นฟูกิจการประสบผลสำเร็จ เหตุที่แผนกำหนดให้ลูกหนี้ออกหุ้นสามัญจำนวน29,623,672 หุ้น ในราคาที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท ชำระค่าหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทพ. ในราคา 1.69 บาทต่อหุ้นนั้น เนื่องจากเป็นราคาที่ใช้ในการตกลงรวมกิจการระหว่างลูกหนี้และบริษัท พ. โดยถือว่าธุรกิจของบริษัท พ. มีมูลค่าที่ในอัตราร้อยละ 80 และธุรกิจของลูกหนี้เดิมมีมูลค่าที่ร้อยละ 20 ของธุรกิจโดยรวมภายหลังรวมกิจการ ภายหลังการปรับโครงสร้างหนี้โดยการลดทุนลดหนี้และแปลงหนี้เป็นทุนเพื่อให้ฐานะของลูกหนี้เหมาะสมที่จะดำเนินธุรกิจต่อไป ถ้าไม่มีการรวมกิจการลูกหนี้จะไม่มีรายได้ จะทำให้มูลค่าส่วนของผู้ถือหุ้นจะทยอยหมดลงในที่สุดมูลค่ากิจการของลูกหนี้ก่อนการรวมกิจการจึงต่ำมากสำหรับธุรกิจปัจจุบันของบริษัท พ. เป็นธุรกิจที่มีกำไร การที่ผู้ถือหุ้นของบริษัท พ. เข้ามาถือหุ้นในกิจการลูกหนี้ในราคา 1.69 บาทต่อหุ้น โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นที่ 80:20 เป็นข้อตกลงที่เป็นธรรมและให้ประโยชน์ต่อเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นของลูกหนี้ ไม่ทำให้กลุ่มเจ้าหนี้ที่มีมูลหนี้จะต้องถูกแปลงเป็นทุนเสียเปรียบแต่อย่างใด
ในกระบวนพิจารณาแผนไม่มีคู่ความใดโต้แย้งรายการในแผนเกี่ยวกับรายละเอียดแห่งสินทรัพย์หนี้สิน และภาระผูกพันต่าง ๆ ของลูกหนี้ในขณะที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ จึงรับฟังได้ตามที่ปรากฏในแผน และในแผนฟื้นฟูกิจการได้นำจำนวนเงินตามรายการมาคิดคำนวณประมาณการที่เจ้าหนี้จะได้รับในกรณีที่ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายและกรณีดำเนินการตามแผนสำเร็จ ซึ่งแสดงว่าเมื่อดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการสำเร็จจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่า กรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/58(3) แล้ว
ในการขอแก้ไขแผนนั้น เจ้าหนี้จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯมาตรา 90/45 และการที่ศาลจะพิจารณาแผนที่มีการแก้ไขแล้วได้นั้นจะต้องผ่านการยอมรับจากที่ประชุมเจ้าหนี้มาแล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/46แต่การที่กฎหมายล้มละลายกำหนดให้ศาลเข้ามามีบทบาทในการควบคุมดูแลในการฟื้นฟูกิจการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายนั้น เมื่อได้คำนึงถึงประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการหรือเพื่อให้การฟื้นฟูกิจการดำเนินการต่อไปได้ ทั้งกรณีมีเหตุจำเป็นและสมควร ศาลมีอำนาจสั่งให้รับคำขอแก้ไขแผนที่ยื่นล่วงเลยระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้เพื่อให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งชอบด้วยแผนหรือไม่ ได้ เมื่อเจ้าหนี้ได้ขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการล่วงเลยระยะเวลาตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/45 และเมื่อคำนึงถึงประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการแล้ว แผนฟื้นฟูกิจการชอบด้วยกฎหมายและก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย กรณีจึงไม่มีเหตุจำเป็นหรือสมควรที่จะให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาข้อเสนอในการขอแก้ไขแผนของเจ้าหนี้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5738-5739/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นิติกรรมซื้อขายที่ดินที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนเป็นโมฆะ แม้จะมีการโอนสิทธิ
โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องทั้งสองสำนวนโดยตั้งประเด็นใหม่ว่านิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นโมฆะซึ่งศาลชั้นต้นอนุญาตตามคำร้องของโจทก์นั้นแล้ว และจำเลยทั้งห้าก็ได้ขอแก้ไขคำให้การทั้งสองสำนวนแล้วว่านิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงไม่เป็นโมฆะ แต่ศาลชั้นต้นยังคงชี้สองสถานโดยตั้งประเด็นในเรื่องนี้ว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 กระทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนหรือไม่ อันเป็นคนละเรื่องกับคำฟ้องและคำให้การที่โจทก์และจำเลยทั้งห้าแก้ไขซึ่งเป็นการผิดพลาด ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 183 ศาลสูงไม่จำต้องถือตามและมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีไปตามประเด็นที่ถูกต้องได้ เมื่อโจทก์อุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับวินิจฉัยให้โจทก์จึงมีสิทธิฎีกาต่อมา
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 รับโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจากจำเลยที่ 1 โดยทราบจากเจ้าพนักงานที่ดินแล้วว่าโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 กับพวกโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ยังคงยืนยันให้เจ้าพนักงานที่ดินรับจดทะเบียนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้ตามคำขอ การกระทำของจำเลยทั้งห้าเช่นนี้เห็นได้ว่าจำเลยทั้งห้ามีเจตนาโอนและรับโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเพื่อขัดขวางมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดตามที่โจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ไว้แล้ว นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนได้โดยไม่จำต้องใช้สิทธิในเรื่องการเพิกถอนการฉ้อฉลตาม มาตรา 237
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหรือทำลายนิติกรรมการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินสองแปลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 12 กับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 และขอบังคับให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันแก้ไขทางทะเบียนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงกลับมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 เพื่อจดทะเบียนให้แก่โจทก์โดยให้จำเลยทั้งห้าเสียค่าใช้จ่ายร่วมกัน หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนานั้น เมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงนั้นแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อกลับมีชื่อเป็นเจ้าของในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.) สำหรับที่ดินพิพาททั้งสองแปลงโดยอัตโนมัติ ไม่จำต้องบังคับจำเลยทั้งห้าตามคำขอของโจทก์ดังกล่าว และคำขอดังกล่าวโจทก์เป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้เพราะเพียงแต่ขอให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงกลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 ตามเดิมเท่านั้น มิได้เรียกร้องเอาที่ดินทั้งสองแปลงเป็นของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5644/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตั้งผู้จัดการมรดกกรณีทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เจ้าหนี้มีสิทธิร้องขอ
ศาลชั้นต้นเคยยกคำร้องขอของผู้ร้องมาครั้งหนึ่งเพราะเห็นว่าการที่หุ้นของผู้ตายตกเป็นของแผ่นดินมิใช่เหตุขัดข้องในการจัดการมรดกที่จะร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก โดยเห็นว่าผู้ร้องยังสามารถขวนขวายหาทางร้องขอเพื่อรับชำระหนี้จากกระทรวงการคลังได้ แต่ประเด็นสำคัญในคดีนี้มีอยู่ว่า ภายหลังต่อมาผู้ร้องได้ร้องขอรับชำระหนี้ต่อกระทรวงการคลังแล้ว แต่กระทรวงการคลังปฏิเสธไม่ยอมชำระหนี้และแจ้งให้ผู้ร้องไปดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายก่อน อันเป็นเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอของผู้ร้องแล้ว เหตุขัดข้องในการจัดการมรดกของผู้ตายตามคำร้องขอในคดีนี้ เป็นคนละเหตุกับที่ผู้ร้องยกขึ้นอ้างในการขอจัดการมรดกในคดีก่อน และศาลชั้นต้นในคดีก่อนยังมิได้วินิจฉัยถึงเหตุขัดข้องอันเกิดแต่การที่กระทรวงการคลังปฏิเสธไม่ยอมชำระหนี้แก่ผู้ร้อง ดังนี้ คำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีก่อนที่วินิจฉัยถึงเหตุที่ผู้ร้องอ้างว่าเป็นข้อขัดข้องในการจัดการมรดกของผู้ตาย ซึ่งเป็นการวินิจฉัยถึงเหตุอื่นซึ่งไม่ใช่เหตุขัดข้องตามคำร้องขอในคดีนี้ คำร้องขอของผู้ร้องในคดีนี้จึงไม่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันอันจะเป็นฟ้องซ้ำ
ผู้ตายไม่มีทายาทและไม่มีผู้รับพินัยกรรม หุ้นของผู้ตายย่อมตกทอดแก่แผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1753 แผ่นดินหาใช่ทายาทของผู้ตายไม่ดังนั้นแม้หุ้นของผู้ตายจะตกเป็นของแผ่นดิน แต่หากไม่มีผู้จัดการมรดกอยู่ตราบใดผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของผู้ตายย่อมไม่สามารถบังคับชำระหนี้ของตนได้ จึงต้องถือว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5597-5598/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แผนฟื้นฟูกิจการ: ศาลยืนชอบด้วยกฎหมายเมื่อเจ้าหนี้ได้รับประโยชน์มากกว่าการล้มละลาย
พระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/30 นำมาใช้กับการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการด้วย ดังนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีอำนาจสั่งให้เจ้าหนี้งดออกเสียงในการประชุมเจ้าหนี้ได้ แต่การงดออกเสียงในที่ประชุมคงมีผลเฉพาะในที่ประชุมเจ้าหนี้ซึ่งเป็นการดำเนินการชั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้นหามีผลถึงชั้นพิจารณาของศาลด้วยไม่ เพราะในการพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการของศาลตามมาตรา 90/57 ให้ศาลพิจารณาข้อคัดค้านของเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิออกเสียงตามมาตรา 90/30 ซึ่งไม่ได้ลงมติยอมรับแผนด้วย การที่ศาลล้มละลายกลางรับคำร้องคัดค้านแผนฟื้นฟูกิจการของเจ้าหนี้รายที่ 285 ไว้พิจารณาก่อนที่จะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการจึงชอบด้วยมาตรา 90/57
พระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/27 และมาตรา 90/60 แสดงให้เห็นถึงความประสงค์ที่จะให้มูลหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ทุกประเภทซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเข้ามาอยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการทั้งหมด ไม่ว่าหนี้นั้นจะเป็นหนี้ภาษีอากรใด ๆ ตามประมวลรัษฎากรหรือตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ ก็ตามทั้งนี้เพื่อให้หนี้สินของลูกหนี้ที่มีอยู่แล้วได้รับการชำระสะสางภายใต้กรอบของแผนฟื้นฟูกิจการให้เสร็จสิ้นไป หากรณีใดซึ่งพระราชบัญญัติล้มละลายฯ ต้องการให้หนี้ภาษีอากรมีสิทธิเหนือหนี้สามัญหรือประสงค์จะคุ้มครองหนี้ภาษีอากรเป็นพิเศษก็จะบัญญัติไว้โดยชัดแจ้ง ดังนั้น เมื่อพระราชบัญญัติล้มละลายฯ ไม่ได้บัญญัติให้สิทธิหรือคุ้มครองแก่หนี้ภาษีอากรที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเป็นกรณีพิเศษแล้ว ภายใต้บังคับมาตรา 90/57(2) ประกอบมาตรา 130(6) สิทธิของเจ้าหนี้รายที่ 285 จึงมีฐานะเช่นเดียวกับเจ้าหนี้อื่น ทั้งพระราชบัญญัติล้มละลายฯ หมวด 3/1 บัญญัติถึงผลของการที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนไว้เป็นการเฉพาะโดยชัดแจ้งแล้วตามมาตรา 90/60วรรคหนึ่ง จึงไม่อาจนำบทบัญญัติมาตรา 56 และ 77 มาใช้โดยอนุโลมได้
แผนฟื้นฟูกิจการเป็นเพียงข้อตกลงร่วมกันของบรรดาเจ้าหนี้ ลูกหนี้เกี่ยวกับวิธีการในการชำระหนี้ ตลอดจนการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้โดยอาศัยพระราชบัญญัติล้มละลายฯ หมวด 3/1 การที่เจ้าหนี้อุทธรณ์คัดค้านว่าแผนฟื้นฟูกิจการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงมิใช่เป็นการโต้แย้งว่าบทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 6 และมิใช่กรณีต้องดำเนินการตามมาตรา 264 เมื่อแผนฟื้นฟูกิจการเป็นไปตามเงื่อนไขในพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/58ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยไว้แล้วว่าบทบัญญัติมาตรา 90/58 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แผนฟื้นฟูกิจการจึงชอบด้วยกฎหมาย และศาลย่อมใช้ดุลพินิจให้ความเห็นชอบด้วยแผนดังกล่าวได้
ในชั้นพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของศาลล้มละลายกลางเจ้าหนี้ได้ยกปัญหาว่า แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้มีรายการไม่ครบถ้วนตามมาตรา 90/42หรือไม่ ข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการไม่เป็นไปตามลำดับกฎหมายว่าด้วยการแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลายหรือไม่ และแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไม่มีรายละเอียดชัดเจนเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่า เมื่อการดำเนินการตามแผนสำเร็จจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่มาในคำร้องคัดค้านแล้ว เมื่อปัญหาทั้งสามข้อเป็นเหตุสำคัญเกี่ยวกับการพิจารณาแผนการที่ศาลล้มละลายกลางไม่ได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้จึงไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาตามข้อกำหนดคดีล้มละลายฯ
กระบวนการฟื้นฟูกิจการหลังจากที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับแผนด้วยมติพิเศษตามมาตรา 90/46 แล้ว กฎหมายได้กำหนดให้แผนต้องได้รับความเห็นชอบจากศาลอีกขั้นหนึ่งตามบทบัญญัติในส่วนที่ 8 ว่าด้วยการพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ จึงเป็นการกำหนดให้ศาลเข้ามามีบทบาทในทางธุรกิจเพื่อจะได้วินิจฉัยตรวจสอบในการให้ความเห็นชอบแผนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และมอบดุลพินิจให้ตรวจสอบว่าสมควรให้ความเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่ ศาลจึงมีอำนาจตรวจสอบถึงเนื้อหาของแผนตลอดจนโอกาสความเป็นไปได้ในการดำเนินการตามแผน มิใช่พิจารณาแต่เพียงตรวจสอบรายการต่าง ๆ ว่ามีครบถ้วนตามรูปแบบหรือไม่ แผนฟื้นฟูกิจการของผู้ทำแผนมีรายละเอียดในแผนตั้งแต่ส่วนที่ 2 เหตุผลที่ทำให้มีการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ถึงส่วนที่ 15 ซึ่งเป็นส่วนสุดท้ายรวมตลอดทั้งเอกสารที่แนบมากับแผน แผนฟื้นฟูกิจการจึงมีรายการและรายละเอียดครบถ้วนตามมาตรา 90/42 ประกอบมาตรา 90/58(1)และวรรคสองแล้ว
การฟื้นฟูกิจการมีบทบัญญัติเฉพาะเรื่องกลุ่มเจ้าหนี้ไว้ตามมาตรา 90/42 ทวิ(3)ว่าเจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจจัดได้เป็นหลายกลุ่ม และมาตรา 90/42 ตรี กำหนดว่าสิทธิของเจ้าหนี้ที่อยู่กลุ่มเดียวกันต้องได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน ดังนั้นหนี้อื่น ๆ ตามมาตรา 130(7) มิใช่ว่าเจ้าหนี้ในลำดับเดียวกันจะต้องแบ่งเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เมื่อผู้ทำแผนได้จัดให้เจ้าหนี้ไม่มีประกันซึ่งอยู่ในลำดับตามมาตรา 130(7) ออกเป็น 7 กลุ่ม จัดให้เจ้าหนี้รายที่ 287 อยู่ในกลุ่มเจ้าหนี้ไม่มีประกันกลุ่มที่ 4 ข้อเสนอของผู้ทำแผนในการชำระหนี้และกำหนดเงื่อนไขในการชำระหนี้ย่อมผิดแผกแตกต่างกันไปตามข้อเท็จจริงและเหตุผลไม่ถือว่าข้อเสนอในการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ไม่มีประกันไม่เท่าเทียมกัน แต่สิทธิของเจ้าหนี้รายที่ 287 ซึ่งอยู่ในกลุ่มที่ 4 ชอบที่จะได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน จะนำสิทธิของเจ้าหนี้ไม่มีประกันในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาเปรียบเทียบกันไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5597-5598/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟื้นฟูกิจการ: การเสนอแผนชำระหนี้ตามลำดับและสิทธิเจ้าหนี้ไม่มีประกัน
บทบัญญัติมาตรา 90/30 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 นำมาใช้กับการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการด้วย ดังนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีอำนาจสั่งให้เจ้าหนี้รายที่ 285 งดออกเสียงในการประชุมเจ้าหนี้ได้และแม้มาตรา 90/23 วรรคสอง จะบัญญัติว่าคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าวให้เป็นที่สุดก็มีผลเฉพาะในที่ประชุมเจ้าหนี้ซึ่งเป็นการดำเนินการชั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้น หามีผลถึงชั้นพิจารณาของศาลด้วยไม่ เจ้าหนี้รายที่ 285 จึงมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางได้
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/27 และมาตรา 90/60 แสดงให้เห็นถึงความประสงค์ที่จะให้มูลหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ทุกประเภทซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเข้ามาอยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการทั้งหมด ไม่ว่าหนี้นั้นจะเป็นหนี้ภาษีอากรใด ๆ ตามประมวลรัษฎากรหรือตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ ทั้งนี้เพื่อให้หนี้สินของลูกหนี้ที่มีอยู่แล้วได้รับการชำระสะสางภายใต้กรอบของแผนฟื้นฟูกิจการให้เสร็จสิ้นไป เมื่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ไม่ได้บัญญัติให้สิทธิหรือคุ้มครองแก่หนี้ภาษีอากรที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเป็นกรณีพิเศษแล้วภายใต้บังคับมาตรา 90/57(2) ประกอบมาตรา 130(6) สิทธิของกรมศุลกากรและกรมสรรพกรเจ้าหนี้รายที่ 285 จึงมีฐานะเช่นเดียวกับเจ้าหนี้อื่น ทั้งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ในหมวด 3/1 กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้บัญญัติผลของการที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนไว้เป็นการเฉพาะโดยชัดแจ้งแล้วตามมาตรา 90/60 วรรคหนึ่ง จึงไม่อาจนำบทบัญญัติมาตรา 56 และมาตรา 77 มาใช้โดยอนุโลมได้
แผนฟื้นฟูกิจการเป็นเพียงข้อตกลงร่วมกันของบรรดาเจ้าหนี้ลูกหนี้เกี่ยวกับวิธีการในการชำระหนี้ ตลอดจนการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้โดยอาศัยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 การที่เจ้าหนี้รายที่ 285 อุทธรณ์คัดค้านว่าแผนฟื้นฟูกิจการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงมิใช่เป็นการโต้แย้งว่าบทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 6 และมิใช่เป็นกรณีต้องดำเนินการตามมาตรา 264 เมื่อแผนฟื้นฟูกิจการเป็นไปตามเงื่อนไขในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/58 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยไว้แล้วว่าบทบัญญัติมาตรา 90/58 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เช่นนี้ แผนฟื้นฟูกิจการจึงชอบด้วยกฎหมายและศาลย่อมสามารถใช้ดุลพินิจให้ความเห็นชอบด้วยแผนดังกล่าวได้
เจ้าหนี้ได้ยกปัญหาที่ว่าแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้มีรายการไม่ครบถ้วนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42 หรือไม่ ข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการไม่เป็นไปตามลำดับกฎหมายว่าด้วยการแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลายหรือไม่ และแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไม่มีรายละเอียดชัดเจนเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าเมื่อการดำเนินการตามแผนสำเร็จจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่ มาในคำร้องคัดค้านแล้ว และปัญหาทั้งสามข้อเป็นเหตุสำคัญเกี่ยวกับการพิจารณาแผน การที่ศาลล้มละลายกลางไม่ได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ ย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาตามข้อกำหนดคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 ข้อ 24 อย่างใดก็ตาม เมื่อมีการอุทธรณ์ขึ้นมาสู่ศาลฎีกา ทั้งข้อเท็จจริงต่าง ๆ ในสำนวนก็เพียงพอแก่การวินิจฉัย ประกอบกับคดีฟื้นฟูกิจการจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำพิพากษาโดยเร็ว ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยปัญหาตามข้อคัดค้านของเจ้าหนี้รายที่ 287 ดังกล่าวไปเสียทีเดียว โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยก่อน
หลังจากที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับแผนด้วยมติพิเศษตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/46 แล้ว กฎหมายได้กำหนดให้แผนดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบจากศาลอีกขั้นตอนหนึ่งตามบทบัญญัติในส่วนที่ 8 ว่าด้วยการพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ กรณีจึงเป็นการกำหนดให้ศาลเข้ามีบทบาทในทางธุรกิจเพื่อจะได้วินิจฉัยตรวจสอบในการให้ความเห็นชอบด้วยแผนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และมอบดุลพินิจให้ตรวจสอบว่าสมควรให้ความเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่ ศาลจึงมีอำนาจตรวจสอบถึงเนื้อหาของแผน ตลอดจนโอกาสความเป็นไปได้ในการดำเนินการตามแผน มิใช่พิจารณาแต่เพียงตรวจสอบรายการต่าง ๆว่ามีครบถ้วนตามรูปแบบหรือไม่
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/58(2) กำหนดว่าข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนนั้นจะต้องเป็นไปตามลำดับที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าด้วยการแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลายนั้น หมายถึงให้นำบทบัญญัติมาตรา 130 มาใช้ในคดีฟื้นฟูกิจการเฉพาะเรื่องลำดับการชำระหนี้เท่านั้น กล่าวคือ หนี้รายใดจะต้องชำระก่อนหรือหลังจะต้องเป็นไปตามลำดับที่กำหนดไว้ในมาตรา 130(1) ถึง (7) แต่ในกรณีฟื้นฟูกิจการนั้นได้มีบทบัญญัติเฉพาะเรื่องกลุ่มเจ้าหนี้ตามมาตรา 90/42 ทวิ (3) ด้วยว่าเจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจจัดได้เป็นหลายกลุ่ม และมาตรา 90/42 ตรี กำหนดว่าสิทธิของเจ้าหนี้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันต้องได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน ดังนั้นหนี้อื่น ๆ ตามมาตรา 130(7) มิใช่ว่าเจ้าหนี้ในลำดับเดียวกันจะต้องแบ่งเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เมื่อผู้ทำแผนได้จัดให้เจ้าหนี้ไม่มีประกันซึ่งอยู่ในลำดับตามมาตรา 130(7) ออกเป็น 7 กลุ่ม จัดให้เจ้าหนี้รายที่ 287 อยู่ในกลุ่มเจ้าหนี้ไม่มีประกันกลุ่มที่ 4 เจ้าหนี้ก่อสร้างไม่ถือว่าข้อเสนอในการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ไม่มีประกันไม่เท่าเทียมกัน แต่สิทธิของเจ้าหนี้รายที่ 287 ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มที่ 4 ชอบที่จะได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน จะนำสิทธิของเจ้าหนี้ไม่มีประกันในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาเปรียบเทียบหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 517/2545 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกลับจดทะเบียนบริษัทร้างเพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้ และหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตาม
คำร้องขอของผู้ร้องระบุไว้ชัดแจ้งว่า การที่นายทะเบียนบริษัทขีดชื่อบริษัทออกเสียจากทะเบียนทำให้ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทเสียหายโดยไม่เป็นธรรมจึงชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1246(6) แล้ว
การที่ศาลจะสั่งและวางข้อกำหนดไว้เป็นประการใด ๆ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1246(6) ต้องเพื่อความยุติธรรมและโดยจุดประสงค์เพื่อจัดให้บริษัทเข้าสู่ฐานอันใกล้ที่สุดกับฐานเดิมเสมือนดังว่าบริษัทนั้นมิได้ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนเลยหาใช่สั่งและวางข้อกำหนดให้บริษัทหลุดพ้นหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติไม่ จึงไม่มีเหตุที่ศาลจะสั่งและวางข้อกำหนดให้บริษัทไม่ต้องทำบัญชีงบดุล ตรวจสอบบัญชี ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นและหน้าที่อื่นตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 517/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกลับจดทะเบียนบริษัทร้างเพื่อคุ้มครองสิทธิเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
การที่ศาลจะสั่งและวางข้อกำหนดไว้เป็นประการใด ๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1246(6) นั้น ต้องเป็นไปเพื่อความยุติธรรมและโดยจุดประสงค์เพื่อจัดให้บริษัทเข้าสู่ฐานอันใกล้ที่สุดกับฐานเดิมเสมือนดั่งว่าบริษัทนั้นมิได้ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนเลย หาใช่สั่งและวางข้อกำหนดให้บริษัทหลุดพ้นหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติไม่ ดังนั้น จึงไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะสั่งและวางข้อกำหนดให้บริษัท อ. ซึ่งเป็นลูกหนี้ของผู้ร้องไม่ต้องทำบัญชีงบดุล การตรวจสอบบัญชีและประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น ตามที่ผู้คัดค้านที่ 2 ฎีกาได้
of 154