คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
อำนาจ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 971 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1223/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการพิจารณาแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กเยาวชนแทนการดำเนินคดีอาญา
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 63 (กฎหมายเดิม) และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 86 (กฎหมายที่แก้ไขใหม่) บัญญัติให้ใช้มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญาแก่เด็กหรือเยาวชน อันมีลักษณะเป็นการใช้กระบวนยุติธรรมเบี่ยงเบนคดีออกจากกระบวนยุติธรรมได้ ซึ่งตามมาตรา 63 (กฎหมายเดิม) ให้อำนาจเด็ดขาดแก่พนักงานอัยการที่จะสั่งไม่ฟ้องโดยไม่ผ่านการพิจารณาของศาล แต่ตามมาตรา 86 (กฎหมายที่แก้ไขใหม่) ให้พนักงานอัยการพิจารณาว่าเห็นชอบด้วยกับแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูหรือไม่ ถ้าไม่เห็นชอบด้วยกับแผน ผู้อำนวยการสถานพินิจไม่มีสิทธิโต้แย้ง แต่ถ้าพนักงานอัยการเห็นชอบด้วยกับแผน พนักงานอัยการยังไม่มีอำนาจสั่งไม่ฟ้องจะต้องให้ศาลพิจารณาก่อนตามมาตรา 86 ถ้าศาลเห็นชอบกับแผนและมีการปฏิบัติตามแผนแล้ว พนักงานอัยการจึงจะมีอำนาจสั่งไม่ฟ้องตามมาตรา 88 (กฎหมายที่แก้ไขใหม่) โดยมาตรา 86 ใช้ถ้อยคำว่า "ให้ศาลสั่งตามที่เห็นสมควร" ดังนี้บ่งชี้ให้เห็นเจตนารมณ์ของมาตราดังกล่าวว่า ให้ศาลตรวจสอบแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูอีกชั้นหนึ่งก่อนและให้ศาลสั่งตามที่เห็นสมควร อันเป็นดุลพินิจเด็ดขาดของศาลชั้นต้น ผู้คัดค้านหรือพนักงานอัยการไม่มีสิทธิอุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ยกอุทธรณ์ของผู้คัดค้านจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8404/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจทนายหลังตัวการตาย: ทนายจำเลยหมดอำนาจเมื่อทายาทไม่เข้ามาดำเนินคดีแทนภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
การที่คู่ความแต่งตั้งทนายความให้ว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาแทนตนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 60 เป็นการตั้งตัวแทนตาม ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 15 ว่าด้วยตัวแทน เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม ทนายจำเลยที่ 1 ยังมีอำนาจและหน้าที่จัดการดำเนินคดีเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ต่อไปจนกว่าทายาทหรือผู้แทนของจำเลยที่ 1 จะอาจเข้ามาปกปักรักษาผลประโยชน์ของจำเลยที่ 1 โดยการเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 1 ผู้มรณะตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42
จำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรมตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2550 ขณะคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ทายาทหรือผู้จัดการมรดกหรือผู้ปกครองทรัพย์มรดกของจำเลยที่ 1 ผู้มรณะซึ่งอาจร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ในการดำเนินคดีของจำเลยที่ 1 ได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 มรณะตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 แต่ไม่มีการร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 1 ตามบทบัญญัติดังกล่าว จนศาลฎีกามีคำสั่งจำหน่ายคดี โดยอ่านคำสั่งให้ทนายจำเลยทั้งสองฟังเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553 และคดีถึงที่สุดไปแล้ว จึงถือได้ว่าเป็นการล่วงพ้นระยะเวลาที่ตัวแทนหรือทนายจำเลยที่ 1 จะจัดการตาม ป.พ.พ. มาตรา 828 ทนายจำเลยที่ 1 จึงไม่มีอำนาจดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 1 ต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1875/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจอนุญาโตตุลาการ: ศาลมิอาจก้าวก่ายการวินิจฉัยเนื้อหาข้อพิพาทตามสัญญาอนุญาโตตุลาการ
คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านได้ทำงานเสร็จตามสัญญาแล้ว จึงชี้ขาดให้ผู้ร้องชำระเงินค่าจ้างที่ยังค้างกับคืนเงินประกันผลงานให้แก่ผู้คัดค้าน คำวินิจฉัยชี้ขาดนี้จึงเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดว่าผู้คัดค้านได้ทำงานแล้วเสร็จและมีสิทธิได้รับสินจ้างตามสัญญาหรือไม่ ซึ่งเป็นไปตามข้อสัญญา จึงไม่มีเหตุให้ศาลสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านยังทำงานไม่เสร็จเรียบร้อยตามสัญญาเพราะมัณฑนากรหรือผู้ควบคุมงานของผู้ว่าจ้าง คือ ผู้ร้อง ยังไม่ได้ออกหนังสือให้แก่ผู้คัดค้าน อันเป็นการเข้าไปวินิจฉัยเนื้อหาในประเด็นข้อพิพาทที่เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะอนุญาโตตุลาการโดยเฉพาะ แล้วพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวมานั้น จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10511/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยที่ 2 อุทธรณ์แทนโจทก์โดยไม่มีอำนาจ และอุทธรณ์ประเด็นที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้น
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง บัญญัติว่า "ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วนรวมทั้งเหตุแห่งการนั้น" เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้ให้การปฏิเสธถึงข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาย่อมต้องถือว่า จำเลยที่ 2 ยอมรับข้ออ้างตามฟ้องแล้ว ส่วนข้ออ้างของจำเลยที่ 2 ในคำให้การมิได้เป็นการยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่ กลับเป็นข้อสนับสนุนคำฟ้องของโจทก์และเป็นปฏิปักษ์กับคำให้การของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ต้องยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีต่างหาก เนื่องจากจำเลยที่ 2 มิได้อยู่ในฐานะเป็นโจทก์ที่ฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ คำให้การของจำเลยที่ 2 ย่อมไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทขึ้นระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้ ฉะนั้นที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์โดยอ้างเหตุตามคำฟ้องของโจทก์ จึงเป็นข้อที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์แทนโจทก์โดยปราศจากอำนาจ ย่อมเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบเพราะมิใช่เป็นการอุทธรณ์ในประเด็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เป็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรแก่การได้รับวินิจฉัย ย่อมเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 566/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจอนุญาตให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 อำนาจอยู่ที่ผู้พิพากษาที่พิจารณาคดี
ป.วิ.อ. มาตรา 221 ไม่ได้บัญญัติให้อำนาจอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาดังเช่นผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ แม้อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นจะตรวจสำนวนหลังมีคำพิพากษา หรือระหว่างการพิจารณาคดี หรือสั่งคำร้องขอเปลี่ยนตัวผู้พิพากษา แต่ก็เป็นการสั่งคำร้องที่ยื่นต่อตนตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความ ตรวจสำนวนเพื่อระมัดระวังการใช้ระเบียบวิธีต่าง ๆ อันเป็นอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 11 (2) ถึง (4) เมื่อคดีนี้อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นมิได้พิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษา หรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้น จึงไม่อาจอนุญาตให้โจทก์ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 479/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจออกหมายจับของผู้พิพากษาคนเดียวและการไม่อุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ.
การออกหมายจับผู้ต้องหาตามคำร้องของพนักงานสอบสวนเป็นอำนาจของผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้น เป็นอำนาจพิเศษที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้นมีอำนาจออกหมายจับผู้ต้องหาตามคำร้องของพนักงานสอบสวนได้ ภายใต้บทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 66 และมาตรา 59/1 โดยเฉพาะ จึงไม่ใช่เรื่องที่กฎหมายมีความประสงค์จะให้ผู้ต้องหายื่นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4203/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำนองที่ดินโดยไม่มีอำนาจจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ แม้ผู้รับจำนองจะสุจริตก็ไม่อาจยันเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้
โจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปดำเนินการจดจำนองที่ดินพิพาทและลายมือชื่อโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจเป็นลายมือชื่อปลอม ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 นำหนังสือมอบอำนาจที่เป็นเอกสารและโฉนดที่ดินพิพาทของโจทก์ที่ถูกลักไปไปจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาท จึงเป็นการกระทำไปโดยไม่มีอำนาจ ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 705 การจำนองดังกล่าวไม่ผูกพันโจทก์ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแต่อย่างใดแม้จำเลยที่ 2 จะรับจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตามก็ไม่อาจยกเหตุดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างยันแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17012/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำพิพากษาไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากผู้พิพากษาไม่มีอำนาจร่วมพิจารณาคดี
การสืบพยานโจทก์และจำเลยแต่ละนัดดังกล่าวมี ต. ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งเป็นเจ้าของสำนวนร่วมนั่งพิจารณาคดีทุกนัด โดยไม่ปรากฏว่า ส. ได้ร่วมนั่งพิจารณาคดีด้วย ส. จึงไม่มีอำนาจทำคำพิพากษาร่วมกับ ต. กรณีไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 29 และ 30 คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ ส. ร่วมลงลายมือชื่อทำคำพิพากษาด้วยจึงไม่ชอบ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13889/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะนายจ้าง-ลูกจ้างซ้อน: กรรมการลูกจ้างต้องไม่มีสถานะขัดแย้งกับนายจ้าง
โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยแต่ในขณะเดียวกันโจทก์ก็ได้รับมอบอำนาจจากจำเลยให้มีอำนาจลงนามในหนังสือสัญญาจ้าง เลิกจ้าง อนุมัติ ระงับทดลองงาน และแต่งตั้งโยกย้ายพนักงาน พิจารณาลงโทษพนักงานที่กระทำผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง และลงนามในหนังสือคำเตือนห้ามพนักงานกระทำผิดซ้ำคำเตือน ซึ่งอำนาจดังกล่าวของโจทก์ไม่ปรากฏว่าโจทก์ต้องได้รับความเห็นชอบหรือได้รับอนุมัติจากผู้ใดอีก โจทก์ย่อมมีอำนาจกระทำการแทนตามที่ได้รับมอบโดยเด็ดขาด โจทก์จึงมีฐานะเป็นนายจ้างด้วยตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 5 ซึ่งฐานะนายจ้างและลูกจ้างย่อมมีผลประโยชน์บางส่วนขัดกัน การที่สหภาพแรงงานแต่งตั้งโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างจึงขัดต่อเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ของการประชุมระหว่างนายจ้างและคณะกรรมการลูกจ้างตาม มาตรา 50 สหภาพแรงงานแต่งตั้งโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีฐานะเป็นกรรมการลูกจ้างและไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 52 จำเลยไม่จำต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานในการเลิกจ้างโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10229/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าที่ดินที่เป็นโมฆะเนื่องจากผู้ให้เช่าไม่มีอำนาจ ทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิในต้นยูคาลิปตัสที่เป็นส่วนควบของที่ดิน
แม้โจทก์จะเชื่อโดยสุจริตขณะทำสัญญาเช่ากับ ล. ว่า ที่ดินที่เช่าเป็นของ ล. ก็ตาม เมื่อ ล. ไม่มีอำนาจนำที่ดินไปให้ผู้อื่นเช่า สัญญาเช่าดังกล่าวจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีอำนาจเข้ามาปลูกต้นยูคาลิปตัสในที่ดินของจำเลยที่ 1 เมื่อต้นยูคาลิปตัสถือได้ว่าเป็นไม้ยืนต้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง จึงเป็นส่วนควบของที่ดินของจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในต้นยูคาลิปตัสนั้นด้วย เมื่อจำเลยทั้งสองตัดต้นยูคาลิปตัส การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองฐานละเมิดตัดต้นยูคาลิปตัสซึ่งเป็นส่วนควบของที่ดินจำเลยที่ 1 และตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 แล้ว และกรณีเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 2 ไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247
of 98