คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
กำหนดเวลา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 990 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16037/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กำหนดเวลาเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ ไม่ใช่เรื่องอายุความ ผู้ร้องต้องดำเนินการภายใน 90 วันนับจากวันได้รับคำชี้ขาด
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรคสอง เป็นบทบังคับเรื่องกำหนดเวลาสำหรับร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ไม่ใช่เรื่องอายุความ จึงไม่อาจนำเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงมาใช้บังคับได้ การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2551 และศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องของผู้ร้องเพราะคำร้องบกพร่อง ผู้ร้องก็ชอบที่จะแก้ไขข้อบกพร่องและยื่นคำร้องเสียใหม่ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว หรือหากผู้ร้องเห็นว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องเป็นการไม่ชอบ ผู้ร้องก็ชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับคำร้องดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคท้าย แต่เมื่อผู้ร้องมิได้ดำเนินการดังกล่าวมาจนล่วงเลยระยะเวลา 90 วันนับแต่วันที่ผู้ร้องได้รับสำเนาคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ผู้ร้องย่อมขาดสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13881/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทิ้งฟ้องคดีทรัพย์สินทางปัญญา จากการไม่ดำเนินคดีตามกำหนดศาล
ตามรายงานกระบวนพิจารณา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งในชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่า คดีของโจทก์มีมูล ให้ประทับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณา หมายเรียกจำเลยทั้งสามมาให้การในวันเดียวกับวันนัดพร้อม และให้โจทก์นำส่งหมายภายใน 7 วัน โจทก์ได้ทราบคำสั่งดังกล่าวตามที่โจทก์ได้ลงชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณานั้นแล้ว เมื่อโจทก์ไม่ดำเนินคดีภายในกำหนดเวลานั้น ถือว่าโจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลกำหนดไว้เพื่อการนั้นโดยชอบตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) อันเป็นการทิ้งฟ้อง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งว่า โจทก์ทิ้งฟ้องและสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์เสียจากสารบบความจึงชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ ป.วิ.พ. มาตรา 132 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8904/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขยายเวลาอุทธรณ์หลังพ้นกำหนด และการฟ้องร้องที่ไม่ชัดเจนในประเด็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์
การที่โจทก์ร่วมขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เมื่อสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์แล้วด้วยเหตุผลว่า ป. โจทก์ร่วมคนเดิมป่วยและถึงแก่ความตายหลังจากศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษา ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์และรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมก็เป็นการสั่งรับอุทธรณ์โดยไม่ชอบ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมจึงชอบแล้ว
เมื่อโจทก์ร่วมไม่มีสิทธิอุทธรณ์ กรณีต้องถือว่าโจทก์ร่วมมิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นในทุกประเด็นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย และไม่มีสิทธิฎีกาในประเด็นดังกล่าว เพราะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเบียดบังยักยอกค่าเช่าที่ดิน มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยยักยอกที่ดิน แม้จะมีคำขอท้ายฟ้องขอให้จำเลยคืนที่ดินแปลงดังกล่าวก็ไม่ถือว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในการกระทำผิดฐานยักยอกที่ดิน โจทก์และโจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยคืนที่ดินดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6690/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นคำร้องเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการเกินกำหนด โดยการยื่นต่อศาลที่ไม่มีอำนาจ และการขยายเวลาตามกฎหมาย
ผู้ร้องได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสอง ครบถ้วนแล้วด้วยการนำคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดยื่นต่อศาลภายในระยะเวลา 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำชี้ขาด เพียงแต่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง และศาลปกครองกลางจำหน่ายคดีเพราะเห็นว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง และขณะที่ศาลปกครองกลางจำหน่ายคดีเป็นเวลาที่กำหนดเวลาในการยื่นคำร้องขอต่อศาลตามมาตรา 40 วรรคสองของ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ครบกำหนดไปแล้ว และการจำหน่ายคดีของศาลปกครองกลางก็เนื่องมาจากเหตุผลว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมมิได้อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง คำสั่งจำหน่ายคดีของศาลปกครองกลางจึงเป็นคำสั่งอันเนื่องมาจากบทบัญญัติใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 การที่ผู้ร้องนำคดีมาร้องใหม่ภายในกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้จำหน่ายคดี จึงเป็นการนำคดีไปร้องเพื่อดำเนินคดีใหม่ต่อศาลที่มีเขตอำนาจ อันเนื่องจากการมีการดำเนินการตามพระราชบัญญัติดังกล่าว กรณีจึงต้องด้วยมาตรา 13 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14202/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้รับจำนองในการบังคับคดีและการรับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่ถูกบังคับคดี แม้ไม่ยื่นคำร้องตามกำหนด
แม้ ป.วิ.พ. มาตรา 289 จะบัญญัติว่า "ในกรณีจำนองอสังหาริมทรัพย์หรือบุริมสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์อันได้ไปจดทะเบียนไว้นั้น ให้ยื่นคำร้องขอก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาด..." ก็เป็นเพียงบทบัญญัติที่ให้อำนาจผู้รับจำนองที่จะยื่นคำร้องต่อศาลก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาด เพื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจะได้ดำเนินการให้เป็นไปโดยถูกต้องตามเจตนาของผู้รับจำนองและเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้รับจำนองให้ได้รับจัดสรรการชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นให้เสร็จสิ้นไปเสียทีเดียวโดยจะสะดวกกว่าให้ผู้รับจำนองไปฟ้องบังคับแก่ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดในภายหลังเท่านั้น แต่ถ้าผู้รับจำนองไม่ยื่นคำร้องขอภายในกำหนดดังกล่าวก็หาทำให้ผู้รับจำนองต้องหมดสิทธิไปไม่ โดยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิของผู้รับจำนอง ซึ่งอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินพิพาทได้ตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 287 อีกทั้งสิทธิรับจำนองเป็นทรัพยสิทธิซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยกฎหมาย จะระงับสิ้นไปก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายซึ่งได้บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 744 ดังนี้ ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองจึงมีบุริมสิทธิที่จะบังคับเหนือทรัพย์พิพาทก่อนเจ้าหนี้รายอื่นรวมทั้งโจทก์ด้วยและเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเอาทรัพย์พิพาทออกขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองตามความประสงค์ของผู้ร้องแล้ว ก็ต้องชำระหนี้จำนองแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 732 ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13823/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานต้องยื่นภายใน 30 วันนับแต่วันทราบคำสั่ง และศาลต้องพิจารณาประเด็นพิพาทตามที่กล่าวอ้าง
โจทก์ยื่นคำร้องต่อจำเลยร่วมขอให้สั่งจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าน้ำมันรถยนต์และค่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ จำเลยร่วมสอบสวนแล้วมีคำสั่งที่ 15/2550 ลงวันที่ 26 มกราคม 2550 ว่า โจทก์ไม่มีสิทธิรับเงินต่าง ๆ ข้างต้น และส่งคำสั่งไปให้โจทก์รับทราบในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2550 โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2550 จึงยังไม่พ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง คำสั่งดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด ส่วนวันที่ 18 พฤษภาคม 2550 ไม่ใช่วันที่โจทก์ยื่นฟ้อง คงเป็นแต่เพียงวันที่ศาลแรงงานกลางสั่งให้โจทก์เรียบเรียงทำคำฟ้องซึ่งมีการแก้ไขหลายครั้งนำมายื่นต่อศาลใหม่ ถือได้ว่าโจทก์ยื่นฟ้องชอบด้วย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12291/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องยื่นคำขอรับรองภายในกำหนดเวลา หากพ้นกำหนด ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย แม้มีการรับรองภายหลัง
การขอให้อัยการสูงสุดรับรองในฎีกาว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัยและรับฎีกาไว้พิจารณาต่อไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 นั้น ผู้ฎีกาต้องยื่นคำขอภายในกำหนดเวลายื่นฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 เท่านั้น จะยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวหาได้ไม่ จำเลยทำหนังสือยื่นต่ออัยการสูงสุดให้รับรองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นฎีกาแล้ว จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้ต่อมาอัยการสูงสุดจะรับรองว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัยและรับฎีกาไว้พิจารณาต่อไปและศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยก็ไม่ทำให้ฎีกาของจำเลยกลับกลายเป็นฎีกาที่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6794/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับ เพราะไม่ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาในข้อเท็จจริงพร้อมคำฟ้องฎีกาภายในกำหนดเวลา
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 ไม่เกินห้าปี กรณีจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง หากจำเลยที่ 3 ประสงค์จะใช้สิทธิฎีกาโดยยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงลายมือชื่อในคำพิพากษารับรองให้ฎีกาตามมาตรา 221 จำเลยที่ 3 ต้องยื่นคำร้องดังกล่าวพร้อมคำฟ้องฎีกาก่อนพ้นระยะเวลาฎีกา ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคท้าย ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ไม่ได้ยื่นคำร้องมาพร้อมกับคำฟ้องฎีกาจนล่วงพ้นระยะเวลาฎีกา ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 3 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2620/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หมดอายุความฟ้องคดีภาษี: แม้มีเหตุผลทางปกครอง การฟ้องต้องเป็นไปตามกำหนด 30 วัน
โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประเมินไม่พอใจการประเมินและคำชี้ขาดเกี่ยวกับวิธีดำเนินการประเมินและจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินตามหนังสือแจ้งรายการประเมินและคำชี้ขาดซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบเนื่องจากไม่มีเหตุผลอันประกอบด้วยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิพาทและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 39 โจทก์ก็ต้องนำคดีมาฟ้องภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันรับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาดตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2547 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ได้รับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาดเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2551 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2551 จึงพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันรับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนใบแจ้งรายการประเมิน (ภ.ร.ด.8) และใบแจ้งคำชี้ขาด (ภ.ร.ด.11) ซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองที่เกี่ยวกับวิธีดำเนินการประเมินและจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินหากโจทก์ชนะคดีย่อมเป็นผลให้โจทก์ไม่มีความรับผิดในค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามการประเมิน จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้และมีทุนทรัพย์ตามจำนวนภาษีโรงเรือนและที่ดินตามการประเมินนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11069/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กำหนดเวลาบังคับคดี 10 ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 และผลกระทบต่อความรับผิดของผู้ค้ำประกัน
ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จ. ลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องผ่อนชำระหนี้ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2537 โจทก์จะขอบังคับคดีได้หลังวันที่ 31 กรกฎาคม 2537 ไปแล้ว กำหนดเวลา 10 ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ย่อมเริ่มนับแต่วันที่โจทก์อาจขอดำเนินการบังคับคดีได้ คือวันที่ 1 สิงหาคม 2537 เป็นต้นไป ซึ่งจะครบกำหนดภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2547 แม้ปรากฏว่า จ. ลูกหนี้ตามคำพิพากษาขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้ไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2538 เป็นผลให้แตกต่างไปจากคำพิพากษาตามยอมก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงข้อตกลงนอกศาลของคู่ความในชั้นบังคับคดีไม่อาจส่งผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาและกำหนดเวลาของการบังคับคดีแต่อย่างใด อีกทั้งกำหนดเวลาของการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ไม่ใช่อายุความ ดังนี้การที่โจทก์ไปยึดทรัพย์ของลูกหนี้มาชำระหนี้บางส่วนเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2545 จึงไม่ทำให้กำหนดเวลาบังคับคดีสะดุดหยุดลงหรือขยายออกไปได้อีก โจทก์มีสิทธิบังคับคดีสำหรับหนี้ตามคำพิพากษาที่ยังค้างของ จ. ลูกหนี้ตามคำพิพากษาภายในกำหนด 10 ปี คือภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2547 และเมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวโจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะบังคับเอากับ จ. ลูกหนี้ตามคำพิพากษาอีกต่อไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 จำเลยทั้งสองและ ส. ในฐานะผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 698
of 99