พบผลลัพธ์ทั้งหมด 931 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 859/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ: สิทธิในการยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษต้องมีฐานะผู้ได้รับอนุญาตหรือมีสิทธิโดยกฎหมาย
เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 31 วรรคท้าย เป็นมาตรการที่กฎหมายกำหนดขึ้นเพื่อบังคับให้ผู้กระทำความผิดฐานบุกรุกยึดถือครอบครอง ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ต้องออกไปจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อจำเลยทั้งสองต้องคำพิพากษาว่ากระทำความผิด อันทำให้รัฐได้รับคืนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ การที่ผู้ร้องจะมีอำนาจยื่นคำร้องเพื่อแสดงอำนาจพิเศษได้นั้น ต้องปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องได้รับอนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกรมป่าไม้กำหนด ตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่นบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ร้องในการเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้ เมื่อได้ความตามคำร้องของผู้ร้องว่า ผู้ร้องปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้างในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพียงแต่ไม่เคยถูกจับกุมดำเนินคดีหรือเคยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษและให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยผู้ร้องไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติจากอธิบดี ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 477/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การช่วยเหลือคนต่างด้าวผิดกฎหมายเดินทางออกนอกเขตที่ได้รับอนุญาต ถือเป็นความผิดฐานซ่อนเร้นหรือช่วยเหลือ
ขณะถูกจับกุม น. และ ร. ไม่มีหนังสือเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยถูกต้องตามกฎหมายเป็นหลักฐานเหมือนเช่น ส. และ จ. โดยมีเพียงสำเนาหนังสือรับรองการทำงานกับนายจ้างมาแสดงเท่านั้น หนังสือรับรองการทำงานกับนายจ้างดังกล่าวออกโดยสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสมุทรสงครามเพื่อรับรองว่า น. และ ร. ทำงานรับจ้างกับ ธ. นายจ้างที่จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งแม้ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการอนุญาตทำงานและการอนุญาตให้ทำงานตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 จะมิได้กล่าวถึงกรณีที่คนต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันให้ทำงานในราชอาณาจักรสามารถเดินทางออกนอกเขตที่ได้รับอนุญาตทำงานได้หรือไม่ แต่ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2561 ข้อ 4 กำหนดว่า การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นการชั่วคราวตามประกาศนี้เป็นอันสิ้นผลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (3) ออกนอกเขตท้องที่กรุงเทพมหานครหรือจังหวัดที่ได้จัดทำทะเบียนประวัติหรือจังหวัดที่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน ดังนี้ เมื่อ น. และ ร. ได้รับการผ่อนผันให้ทำงานกับนายจ้างที่จังหวัดสมุทรสงครามเท่านั้น น. และ ร. จึงไม่สามารถเดินทางออกนอกเขตที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานหรือไปไหนมาไหนได้ตามอำเภอใจอีกทั้ง น. และ ร. ได้แจ้งความประสงค์ไว้ในสำเนาหนังสือรับรองการทำงานกับนายจ้างว่าจะเข้ารับการตรวจสัญชาติในกรุงเทพมหานคร แต่ น. และ ร. กลับว่าจ้างจำเลยทั้งสองให้ขับรถจากจังหวัดสมุทรสงครามไปส่งที่ชายแดนไทย - กัมพูชา อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี เพื่อกลับไปเยี่ยมญาติที่ประเทศกัมพูชาแต่ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมเสียก่อน ซึ่งการที่ น. และ ร. เดินทางออกนอกเขตที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากทางราชการ และไม่ได้ไปรับการตรวจสัญชาติในกรุงเทพมหานคร แต่ว่าจ้างจำเลยทั้งสองให้ขับรถไปส่งที่ชายแดนไทย - กัมพูชา อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดประกาศกระทรวงมหาดไทย ข้อ 4 (3) จึงมีผลให้การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นการชั่วคราวสิ้นผลไป การที่จำเลยทั้งสองขับรถกระบะของกลางนำพา น. และ ร. จากจังหวัดสมุทรสงครามไปส่งที่ชายแดนไทย - กัมพูชา อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี โดยรู้อยู่แล้วว่า น. และ ร. เป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมายพ้นจากการจับกุม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 474/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การมีเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลแก้ไขคำพิพากษาให้ลงโทษฐานครอบครองกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตแทน
โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า เครื่องกระสุนปืนเล็กกลของกลางเป็นเครื่องกระสุนปืนสามารถใช้ยิงทำอันตรายแก่ชีวิตและวัตถุได้ และเป็นเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 เท่านั้น โดยไม่บรรยายฟ้องให้เห็นว่า เครื่องกระสุนปืนดังกล่าวเป็นชนิดเจาะเกราะหรือชนิดกระสุนเพลิง กรณีจึงไม่อาจฟังว่าเครื่องกระสุนปืนของกลางเป็นชนิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ตามกฎกระทรวงดังกล่าว ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 ตามฟ้อง แต่การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ไว้ในครอบครอง ย่อมรวมถึงการมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนด้วย ถือได้ว่าความผิดตามที่โจทก์ฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้ในตัวเอง จึงไม่ใช่ความผิดที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ แม้ พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 บัญญัติความผิดทั้งสองฐานไว้ในคนละมาตรา แต่เมื่อข้อเท็จจริงตามที่โจทก์บรรยายฟ้องฟังได้ว่า จำเลยมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ศาลย่อมลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตซึ่งมีบทลงโทษเบากว่าได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย และไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3706/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนด
ในคดีอาญาทั่วไป คดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ไม่มีบทบัญญัติให้การฎีกาจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา การฎีกาจึงอยู่ในบังคับตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 216 และมาตรา 221 การที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง โดยไม่ได้ยื่นเป็นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่งซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษา หรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 7 อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ คำร้องขออนุญาตฎีกาของจำเลยจึงเป็นคำร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ไม่มีผลให้ฎีกาของจำเลยขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกา ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอันว่าด้วยการฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นพิจารณาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3694/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การแก้ฟ้องคดีเช็ค: ศาลอนุญาตแก้ฟ้องโดยไม่ถือเป็นการเปลี่ยนตัวจำเลยได้ หากโจทก์เข้าใจผิดในตัวบุคคลตั้งแต่แรก
การที่โจทก์ยื่นฟ้องโดยระบุชื่อบุคคลที่เป็นจำเลยว่า ก. หรือ จ. ซึ่ง จ. เป็นชื่อจำเลย กับระบุอายุ ที่อยู่เลขบัตรประจำตัวประชาชนของ ก. แต่เพียงผู้เดียวมาในฟ้อง ทั้งยังขอให้มีการส่งหมายนัดและสำเนาคำฟ้องแก่ ก. แต่เพียงผู้เดียวด้วยเป็นเพราะโจทก์เข้าใจว่า ก. และจำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกัน ดังนั้น การที่โจทก์ขอแก้ฟ้องเกี่ยวกับบุคคลที่เป็นจำเลยเป็น จ. หลังจากโจทก์ทราบว่า ก. และจำเลยเป็นคนละคนกัน จึงไม่เป็นการขอแก้ฟ้องโดยเปลี่ยนตัวบุคคลที่เป็นจำเลย ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องในส่วนนี้จึงหาเป็นการไม่ชอบไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2511/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาตตามประกาศของคณะปฏิวัติ ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย
ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (เรื่อง สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ) ข้อ 3 ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับว่า ผู้ประกอบธุรกิจต้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดซึ่งได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรี และข้อ 4 ระบุว่า ผู้ประกอบธุรกิจต้องมีทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วไม่ต่ำกว่าห้าสิบล้านบาท จากข้อกำหนดดังกล่าวแสดงว่า ผู้ที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับเป็นทางการค้าปกติจะต้องมีคุณสมบัติเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่มีทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วไม่ต่ำกว่าห้าสิบล้านบาทและต้องดำเนินการขออนุญาตตามหลักเกณฑ์ของประกาศกระทรวงการคลังฉบับดังกล่าว ดังนั้นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งไม่มีคุณสมบัติดังกล่าวย่อมไม่มีสิทธิยื่นขอประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับเป็นทางการค้าปกติได้ หากผู้ใดฝ่าฝืนประกอบธุรกิจดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตย่อมมีความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ข้อ 5 (7) และข้อ 16 ซึ่งหาใช่เป็นความผิดเฉพาะนิติบุคคลที่ฝ่าฝืนตามที่จำเลยฎีกาไม่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำรับสารภาพของจำเลยว่า จำเลยประกอบกิจการในการจัดหามาซึ่งเงินทุนแล้วให้ผู้มีชื่อหลายรายกู้ยืมเงิน อันเป็นการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับโดยไม่ได้เป็นนิติบุคคล และไม่ได้รับอนุญาต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานประกอบธุรกิจให้กู้ยืมเงินโดยไม่ได้รับอนุญาตตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ข้อ 5 (7) และข้อ 16
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1592/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การก่อสร้างในพื้นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยไม่ได้รับอนุญาต และการหมดอายุความของคดี
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินที่เกิดเหตุเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทเพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เป็นที่ดินราชพัสดุ เป็นที่ดินของรัฐ และเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตพระราชกฤษฎีกาหวงห้ามที่ดินเพื่อการจัดตั้งนิคมสร้างตนเองจังหวัดลพบุรี ประชาชนไม่สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากนิคมสร้างตนเองจังหวัดลพบุรี ดังนั้น การที่จำเลยยึดถือครอบครองและปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้างโดยปราศจากเหตุอันจะอ้างตามกฎหมายได้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจสั่งให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารของจำเลยออกไปจากที่ดินที่เกิดเหตุได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1123/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต และการพิสูจน์สิทธิโดยสุจริต
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่เกิดเหตุอยู่ในเขตป่าและเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่หรือมีสิทธิใดอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย จำเลยจึงต้องออกจากป่าสงวนแห่งชาติและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่เกิดเหตุ
ไม่มีบทกฎหมายใดให้สิทธิแก่จำเลยในการใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้ได้รับการผ่อนผันอยู่ในที่ดินป่าและป่าสงวนแห่งชาติได้ สิทธิของจำเลยพึงมีประการใดจะต้องไปดำเนินการต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการนั้น หาอาจใช้สิทธิทางศาลได้ไม่
ไม่มีบทกฎหมายใดให้สิทธิแก่จำเลยในการใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้ได้รับการผ่อนผันอยู่ในที่ดินป่าและป่าสงวนแห่งชาติได้ สิทธิของจำเลยพึงมีประการใดจะต้องไปดำเนินการต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการนั้น หาอาจใช้สิทธิทางศาลได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4455/2562
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ที่ดินพิพาทเป็นป่าไม้ถาวร การอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินชอบด้วยกฎหมาย
ที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงตั้งอยู่ในเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2506 การเข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงจึงไม่ก่อให้เกิดสิทธิใด ๆ ที่จะใช้ยันรัฐได้ การขออนุญาตเข้าจับจองก็เป็นการกระทำที่ขัดต่อระเบียบว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อประชาชน ฉบับลงวันที่ 24 สิงหาคม 2498 ที่คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 (6) มาตรา 27 และมาตรา 33 แห่ง ป.ที่ดิน โดยตามระเบียบดังกล่าว ข้อ 3 กำหนดไว้ว่า "ที่ดินที่จะจัดให้ประชาชนอยู่อาศัยหรือประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพตามความในมาตรา 20 (1) และมาตรา 27 แห่ง ป.ที่ดิน ต้องเป็นที่ดินของรัฐซึ่งอยู่ในลักษณะดังต่อไปนี้ คือ (1) ที่ดินซึ่งมิได้มีบุคคลใดมีสิทธิครอบครองและมิใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดินอันราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือมิใช่ที่สงวนหวงห้าม หรือมิใช่ที่เขา ที่ภูเขา (2)......." ระเบียบดังกล่าวนี้ใช้บังคับแก่ที่ดินแปลงเล็กแปลงน้อยตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 33 แห่ง ป.ที่ดิน พ.ศ.2497 ด้วย ทั้งนี้เป็นไปตามระเบียบ ข้อ 22 ดังนั้น ที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงแม้จะเป็นที่ดินแปลงเล็กแปลงน้อยตามมาตรา 33 ก็ต้องอยู่ในบังคับของระเบียบดังกล่าว เมื่อการขออนุญาตจับจองในที่ดินพิพาทและการอนุญาตให้จับจองของเจ้าหน้าที่เป็นการกระทำโดยมิชอบ จึงไม่เข้าเงื่อนไขตามที่ระบุไว้ในกฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2497) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ที่จะยื่นคำขอเพื่อขอรับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงจึงเป็นการออกโดยไม่ชอบ ที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของป่าหมายเลข 23 ยังคงเป็นป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2506 ดังนั้น เมื่อต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2532 ให้จำแนกป่าหมายเลข 23 โดยให้จำแนกพื้นที่บางส่วนออกจากป่าไม้ถาวรเพื่อเป็นที่ทำกินของราษฎรหรือเพื่อใช้ประโยชน์อื่น ๆ และคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติมีมติให้จำแนกพื้นที่ส่วนหนึ่งซึ่งรวมถึงที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงออกจากพื้นที่ป่าไม้ถาวร และมอบให้จำเลยที่ 1 ไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงซึ่งพ้นจากสภาพป่าไม้ถาวรแล้วจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 36 ทวิ จำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจนำที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงไปปฏิรูปและจัดให้เกษตรกรเข้าครอบครองทำประโยชน์ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ได้ การอนุญาตให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 9 เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงจึงเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) ส่วนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 9 เป็นผู้มีคุณสมบัติที่จะได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่งไม่เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้ และเมื่อเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 3 ถึงที่ 9 ที่มิได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247 (เดิม)