คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
จำนอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 948 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4673/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้รับจำนองในการคุ้มครองทรัพย์สินที่ถูกสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินภายใต้ พ.ร.บ.ฟอกเงิน
ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งได้ดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์จำนองที่ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินเพื่อบังคับตามคำพิพากษาแล้ว จึงเป็นผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่ผู้ร้องร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน ในฐานะผู้รับจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไว้โดยสุจริตและมีค่าตอบแทนมีสิทธิยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิของตนได้ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 50ผู้คัดค้านที่ 3 ยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิเข้ามาในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา แม้เป็นการยื่นเข้ามาก่อนคำสั่งศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินถึงที่สุด ก็ต้องถือเป็นการใช้สิทธิยื่นคำร้องตามมาตรา 53 ผู้คัดค้านที่ 3 ต้องพิสูจน์ว่าตนไม่สามารถยื่นคำร้องได้ก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามมาตรา 50 เพราะไม่ทราบถึงประกาศของศาลและหนังสือแจ้งของเลขาธิการหรือมีเหตุขัดข้องอันสมควรประการอื่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 431/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องและสิทธิในการรับชำระหนี้จำนองให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์
โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1651, 1612 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 ซึ่งจดทะเบียนจำนองไว้ต่อธนาคาร ท. เพื่อนำออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา ต่อมาธนาคาร ท. เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 2 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 43/2548 ของศาลจังหวัดเชียงใหม่ ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ธนาคาร ท. ได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่น เมื่อธนาคาร ท. โอนขายสินทรัพย์และสิทธิเรียกร้องต่าง ๆ ที่มีต่อจำเลยที่ 2 ให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงชอบที่จะขอเข้าสวมสิทธิแทนที่ธนาคาร ท. ตามที่ศาลชั้นต้นเคยมีคำสั่งอนุญาตได้ ประกอบกับผู้ร้องเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ซึ่งมาตรา 7 ของ พ.ร.ก. ดังกล่าว บัญญัติว่า ในการโอนสินทรัพย์จากสถาบันการเงินไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ถ้ามีการบังคับสิทธิเรียกร้องเป็นคดีอยู่ในศาล ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนในคดีดังกล่าว และกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องแล้ว ก็ให้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น ซึ่งบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดวิธีพิเศษในการเข้าสวมสิทธิแทนที่ในกรณีที่สถาบันการเงินได้โอนสินทรัพย์ไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ไว้ว่าให้โอนสิทธิแก่กันได้ ผู้ร้องจึงชอบที่จะเข้าสวมสิทธิแทนธนาคาร ท. ผู้ขอรับชำระหนี้จำนองได้โดยผลของกฎหมายดังกล่าว ส่วนการที่ผู้ร้องจะได้ชำระหนี้ให้แก่ธนาคาร ท. หรือไม่ เพียงใดนั้น เป็นเรื่องระหว่างผู้ร้องและธนาคาร ท. ไม่มีผลทำให้การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวเสียไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3283/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคุ้มครองสิทธิผู้รับจำนองในทรัพย์สินที่ถูกยึดจากการฟอกเงิน จำเป็นต้องพิสูจน์ความสุจริตและค่าตอบแทน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 7711 ของผู้คัดค้านที่ 6 เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 การที่ผู้ขอคุ้มครองสิทธิยื่นคำร้องขอให้ได้รับชำระหนี้จำนองจากที่ดินนั้นภายหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาดังกล่าว ศาลจึงต้องไต่สวนให้ได้ความตามมาตรา 50 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติให้ผู้ขอคุ้มครองสิทธิมีหน้าที่ต้องพิสูจน์เสียก่อนว่าตนเป็นผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สินนั้นโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ศาลจึงจะมีคำสั่งคุ้มครองสิทธิของผู้รับประโยชน์ตามมาตรา 53 ได้ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้ผู้ร้องมีภาระการพิสูจน์จึงไม่ชอบ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ผู้ร้องก็ยกขึ้นกล่าวในชั้นฎีกาได้
ตามคำร้องผู้ขอคุ้มครองสิทธิไม่ได้ทรัพย์สินไปเป็นของตนแต่อย่างใด โดยเพียงแต่ขอให้ได้รับชำระหนี้จำนองจากทรัพย์สินนั้นเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามสิทธิที่ตนมีอยู่เดิมเท่านั้น จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2260/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิจำนอง, อายุความ, และสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินจำนอง แม้ลูกหนี้ล้มละลาย
ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง บัญญัติเพียงแต่ว่าการโอนสิทธิเรียกร้องจะต้องทำเป็นหนังสือจึงจะสมบูรณ์ หาได้กำหนดบังคับไม่ว่าจะต้องนำความไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อได้ความว่า ธ. ได้โอนสิทธิเรียกร้องในสินทรัพย์และหลักประกันของสินทรัพย์ซึ่งเป็นสิทธิจำนอง จำนำ สิทธิค้ำประกันที่ลูกหนี้รวมทั้งจำเลยมีต่อ ธ. ให้แก่โจทก์แล้ว ทั้งโจทก์ได้แจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทราบโดยวิธีโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวัน ดังนี้ต้องถือว่า การโอนสิทธิเรียกร้องได้ทำตามแบบพิธีการ ด้วยการทำเป็นหนังสือและบอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้เป็นการถูกต้องสมบูรณ์ตามมาตรา 306 วรรคหนึ่งแล้ว ประกอบกับการโอนสิทธิเรียกร้องคือการโอนหนี้ประธานระหว่างเจ้าหนี้เดิมกับลูกหนี้ และเมื่อได้โอนสิทธิเรียกร้องหรือโอนหนี้ดังกล่าวไปย่อมเกิดผลในทางกฎหมาย ทำให้สิทธิจำนอง สิทธิจำนำ หรือหลักประกันทางธุรกิจที่มีอยู่เกี่ยวพันกับสิทธิเรียกร้อง สิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันที่ได้ให้ไว้เพื่อสิทธิเรียกร้องย่อมตกไปได้แก่ผู้รับโอนตามมาตรา 305 วรรคหนึ่ง โดยเจ้าหนี้ผู้รับโอนมิพักต้องทำสัญญาจำนอง สัญญาจำนำ กับลูกหนี้เป็นฉบับใหม่อีก สิทธิดังกล่าวก็มีผลใช้บังคับระหว่างกันได้ อันแตกต่างไปจากกรณีของการก่อหนี้สัญญาจำนองปกติทั่วไป ซึ่งต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดคือต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 714 ส่วนมาตรา 6 พ.ร.ก.บริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 เป็นบทบัญญัติเพิ่มเติมให้ครอบคลุมถึงหลักประกันอื่นถ้ามีว่า ในการโอนสินทรัพย์ไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ถ้าเป็นสินทรัพย์ที่มีหลักประกันอื่น ก็ให้หลักประกันอื่นนอกจากสิทธิจำนอง สิทธิจำนำ หรือสิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันโอนไปพร้อมกับสิทธิดังกล่าวด้วย หาได้แปลความว่า การโอนสินทรัพย์ทำให้หลักประกันอื่นเป็นการเฉพาะตกแก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส่วนสิทธิจำนองและสิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันดังกล่าวไม่ตกไปด้วยแต่ประการใด การโอนสิทธิเรียกร้องรวมทั้งสิทธิจำนองระหว่าง ธ. กับโจทก์ ชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องมีส่วนได้เสียจึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำนองคดีนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (1)
ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 745 ได้บัญญัติให้ผู้รับจำนองมีสิทธิในการบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง แม้สิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความก็ตามแต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกิน 5 ปี ขึ้นไปไม่ได้ และมาตรา 193/33 บัญญัติให้สิทธิเรียกร้องในดอกเบี้ยค้างชำระมีกำหนดอายุความ 5 ปี คดีนี้โจทก์ฟ้องบังคับตามสัญญาจำนองและสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันเฉพาะส่วน โดยโจทก์ขอดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 21,000,000 บาท ถึงวันฟ้อง 5 ปี เป็นเงิน 19,950,000 บาท ตามมาตรา 745 ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
เมื่อ ม. ในฐานะผู้รับจำนองไม่ได้ขอรับชำระหนี้ ม. ยังคงมีสิทธิเหนือทรัพย์จำนองของจำเลย โจทก์ได้รับช่วงสิทธิมาจาก ธ. รับโอนหนี้จาก ม. จึงไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย แต่มีสิทธิฟ้องบังคับจำนองเอากับทรัพย์จำนองได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 6 และมาตรา 95
แม้ตามสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกัน ข้อ 6 ระบุว่า "เมื่อมีการบังคับจำนองเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาด ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกับหนี้อุปกรณ์ต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้วก็ดี หรือเมื่อผู้รับจำนองเอาทรัพย์สินหลุดเป็นสิทธิและราคาทรัพย์สินนั้นมีประมาณต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกับหนี้อุปกรณ์ดังได้กล่าวมาแล้วนั้นก็ดี เงินยังขาดจำนวนเท่าใด ผู้จำนองยอมรับผิดชดใช้เงินที่ขาดจำนวนนั้นให้แก่ผู้รับจำนองจนครบ" แต่เมื่อหนี้ประธานคือหนี้ตามสัญญากู้ยืมที่ทำไว้ต่อเจ้าหนี้เดิม เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2538 โจทก์รับโอนและนำมาฟ้องคดีเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 เกินกำหนดเวลาสิบปีขาดอายุความแล้ว ข้อเท็จจริงย่อมถือได้ว่าหนี้ประธานเป็นอันระงับไป ไม่อาจบังคับให้จำเลยชำระหนี้ได้อีกต่อไป โจทก์คงบังคับชำระหนี้ได้เฉพาะทรัพย์สินที่จำเลยจำนองไว้เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7397/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้รับจำนองแม้ไม่บังคับคดีตามกำหนด แต่ยังใช้สิทธิยันต่อลูกหนี้และบุคคลภายนอกได้
การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองตามคำพิพากษาไม่บังคับคดีภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นที่สุดในคดีนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) มีผลเพียงทำให้ผู้ร้องหมดสิทธิบังคับคดีในคดีดังกล่าว แต่ไม่เป็นเหตุให้หนี้จำนองระงับสิ้นไป ทรัพยสิทธิจำนองยังคงมีอยู่และสามารถใช้ยันต่อลูกหนี้จำนองหรือต่อบุคคลภายนอกที่รับโอนทรัพย์สินจำนองนั้นต่อไปได้ แต่ผู้ร้องจะบังคับดอกเบี้ยเกินกว่าห้าปีไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 745
การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่กระทบกระเทือนถึงบุริมสิทธิของผู้รับจำนองซึ่งอาจร้องขอให้บังคับคดีเหนือทรัพย์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (เดิม) ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองทรัพย์ที่โจทก์นำยึดและขอให้ขายทอดตลาดโดยปลอดจำนอง มีสิทธิขอกันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองดังกล่าวแก่ผู้ร้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (เดิม) ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1108/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการบังคับคดีของผู้รับจำนองที่สวมสิทธิ แม้เจ้าหนี้เดิมไม่บังคับคดีภายใน 10 ปี
ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิบริษัทเงินทุน ท. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองและเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้กันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเพื่อชำระหนี้แก่ผู้ร้อง เป็นการตั้งเรื่องโดยขอใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (เดิม) มิได้อ้างสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 (เดิม) โดยตรง กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับต้องยื่นคำร้องขอก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาดตามมาตรา 289 วรรคสอง (เดิม)
แม้โจทก์เดิมคือบริษัทเงินทุน ท. เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่ได้ดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าวซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่มีคำพิพากษา ผู้ร้องเป็นผู้สวมสิทธิไม่อาจใช้สิทธิบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองในคดีดังกล่าวเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาต่อไปได้ แต่การร้องขอคดีนี้ผู้ร้องขอกันส่วน มิได้เป็นผู้ยึดทรัพย์บังคับคดีเอง ย่อมไม่อยู่ในบังคับของ ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) แต่ผู้ร้องขอใช้สิทธิกันส่วนในฐานะเป็นผู้รับจำนองที่ดิน ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิในการบังคับเอาแก่ทรัพย์สินที่จำนองเพราะหนี้จำนองยังไม่ระงับสิ้นไป โดยสัญญาจำนองย่อมระงับสิ้นไปเมื่อมีกรณีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 744 ดังนั้นการที่บริษัทเงินทุน ท. โจทก์เดิมไม่บังคับคดีภายใน 10 ปี นับตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษาชั้นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) ก็ยังไม่เป็นเหตุให้หนี้จำนองระงับสิ้นไป เมื่อจำเลยที่ 3 ยังคงต้องรับผิดตามสัญญาจำนอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอให้กันเงินส่วนที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเพื่อชำระหนี้แก่ผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2524/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท การบังคับจำนองโดยไม่สุจริต และผลกระทบต่อการขายทอดตลาด
ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องว่า การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างมารดาของผู้ร้องทั้งสองกับจำเลยที่ 2 ไม่อาจใช้ยันผู้ร้องทั้งสองในฐานะผู้มีสิทธิครอบครองได้ โจทก์รับจำนองที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริตเพราะรู้อยู่ว่าผู้ร้องทั้งสองเป็นเจ้าของในที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้าง โจทก์จึงไม่อาจอ้างสิทธิบังคับจำนองขายทอดตลาดและซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจากการขายทอดตลาดได้ ดังนี้ ตามคำร้องของผู้ร้องทั้งสองเป็นการกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 2 หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ ทรัพย์สินหรือที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องทั้งสอง และการที่ผู้ร้องทั้งสองขอให้ศาลมีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องทั้งสองนั้น ก็มีความมุ่งหมายเพื่อได้รับผลที่จะให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปล่อยทรัพย์สินที่ยึดคืนให้แก่ผู้ร้องทั้งสองนั่นเอง จึงเป็นกรณีต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 288 ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในเรื่องขัดทรัพย์ ซึ่งกำหนดให้ผู้ร้องทั้งสองต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนเอาทรัพย์ที่ยึดออกขายทอดตลาด กรณีตามคำร้องของผู้ร้องทั้งสองมิใช่เป็นการยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 309 ตรี ประกอบมาตรา 296 จัตวา ที่จะทำให้ผู้ร้องทั้งสองมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลภายหลังจากที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดไว้ได้แต่อย่างไร เมื่อปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทที่ยึดไว้ไปก่อนแล้ว ผู้ร้องทั้งสองจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องเข้ามาในคดีนี้ และปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2027/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สุจริตในการซื้อขายฝากที่ดิน: หนังสือรับรองสินส่วนตัวและจำนองธนาคารเป็นหลักฐานสำคัญ
ตามหนังสือรับรอง ระบุว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำเอกสารขึ้นวันเดียวกับวันที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจาก ม. โดยทำต่อหน้าเจ้าพนักงานที่ดิน มีข้อความว่า โจทก์รับรองว่าเงินที่จำเลยที่ 1 นำมาซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างนี้เป็นสินส่วนตัวหรือทรัพย์ส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ทั้งหนังสือรับรองฉบับนี้มีคำแปลภาษาอังกฤษทุกข้อความ โจทก์ย่อมเข้าใจความหมายทั้งหมด เอกสารฉบับนี้เป็นเอกสารราชการเก็บอยู่ที่สำนักงานที่ดิน บุคคลอื่นสามารถตรวจสอบได้ก่อนทำสัญญาขายฝาก จำเลยที่ 2 ได้ตรวจสอบเอกสารดังกล่าวแล้วทำให้เชื่อว่า จำเลยที่ 1 มีอำนาจทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามที่ระบุในเอกสารได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นสามี อีกทั้งตามสำเนาโฉนดที่ดิน ระบุว่า ในวันทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับ ม. จำเลยที่ 1 นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างนี้ไปจดทะเบียนจำนองไว้กับธนาคาร ซึ่งในสัญญาจำนองก็ระบุว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้กู้และผู้จำนองเพียงผู้เดียว ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ให้ความยินยอมในการทำสัญญาดังกล่าว จึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เชื่อโดยสุจริตว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในคดีนี้เป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 2 รับซื้อฝากที่ดินจากจำเลยที่ 1 ไว้ จึงเป็นการกระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์จึงไม่อาจขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 581/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำจัดทายาทมิให้ได้รับมรดก, เพิกถอนนิติกรรมจำนอง, และผลกระทบการตายของผู้จัดการมรดก
การที่จะพิจารณาได้ว่าทายาทคนใดยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกถึงขนาดถูกกำจัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1605 นั้น ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไป นอกจากพิจารณาถึงการกระทำของผู้กระทำแล้ว ยังต้องคำนึงเจตนาของผู้กระทำและผลของการกระทำนั้นเป็นสำคัญด้วยว่า มีเจตนาทำให้เสื่อมประโยชน์แก่ทายาทคนอื่นด้วยหรือไม่ เมื่อเจ้ามรดกมรณภาพ ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาททันที ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1 จึงเป็นเจ้าของรวมมีส่วนเท่ากันในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1357 จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ต้องจัดการแบ่งปันที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกตามสัดส่วนของทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่โจทก์ทั้งสาม เว้นแต่ทายาททั้งหมดสมัครใจตกลงยินยอมให้แบ่งปันเป็นอย่างอื่น เมื่อไม่ปรากฏว่าทายาททุกคนสมัครใจตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกเป็นอย่างอื่น การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกเป็นของตนเพียงผู้เดียว ไม่ยินยอมแบ่งปันให้แก่โจทก์ทั้งสามโดยอ้างว่า ก่อนเจ้ามรดกมรณภาพได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่ตน ซึ่งความจริงแล้วก่อนเจ้ามรดกมรณภาพไม่ได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 หรือทายาทคนใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกคือที่ดินพิพาทเท่านั้น ไม่มีทรัพย์มรดกอื่นที่จำเลยที่ 1 ต้องรวบรวมอีก ประกอบกับจำเลยที่ 1 ทราบดีว่าโจทก์ทั้งสามเป็นทายาทของเจ้ามรดกมีสิทธิได้รับมรดกดุจเดียวกับจำเลยที่ 1 จึงไม่มีมูลเหตุทำให้จำเลยที่ 1 สำคัญผิดหรือเข้าใจโดยสุจริตว่าที่พิพาทตกทอดแก่ตนเพียงผู้เดียว ทั้งพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ก็ไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาจะจดทะเบียนแบ่งปันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทในภายหลังเพราะการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินลักษณะดังกล่าวต้องกระทำสองทอดและต้องเสียค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนโอนถึงสองครั้ง ประกอบกับที่ดินพิพาทมีหลักฐานทางทะเบียนที่ดินเป็นโฉนด การที่จำเลยที่ 1 เป็นบุคคลผู้มีชื่อในโฉนดจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายไว้ก่อนว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 อันเป็นการตัดกรรมสิทธิ์ในส่วนของโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นเจ้าของรวมด้วยและมีส่วนเท่ากันตามมาตรา 1357 นอกจากนี้การที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทจดทะเบียนจำนองประกันหนี้เงินกู้ของ ส. ภริยาจำเลยที่ 1 ไว้กับจำเลยที่ 2 โดยโจทก์ทั้งสามมิได้รู้เห็นยินยอม มีผลก่อเกิดทรัพยสิทธิจำนองในที่ดินพิพาท ซึ่งจำนองจะระงับสิ้นไปเมื่อหนี้กู้ยืมเงินที่เป็นประกันระงับด้วยเหตุประการอื่นใดที่มิใช่เหตุอายุความ หาก ส. ผู้กู้และจำเลยที่ 1 ผู้จำนองผิดนัดไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ผู้รับจำนองย่อมใช้สิทธิบังคับจำนองและฟ้องคดีเพื่อให้ศาลสั่งให้ยึดที่ดินพิพาทและให้ขายทอดตลาดได้ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเป็นของตนเองผู้เดียวไม่แบ่งปันให้แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทและนำที่ดินพิพาทจดทะเบียนจำนองประกันหนี้ภริยาตนเองไว้กับจำเลยที่ 2 โดยโจทก์ทั้งสามมิได้รู้เห็นยินยอม แม้จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทไปเป็นของบุคคลอื่นอีกก็ตาม พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 เช่นนี้ ถือว่าเป็นการปิดบังทรัพย์มรดกมากกว่าส่วนที่ตนจะได้รับโดยมีเจตนาฉ้อฉลหรือรู้อยู่แล้วว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจึงต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1605 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสามจึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 เพื่อนำมาแบ่งปันแก่ทายาทของเจ้ามรดกได้ตามฟ้อง แต่อย่างไรก็ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1639 บัญญัติให้ผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกรับมรดกแทนที่ทายาทนั้นได้ในกรณีที่ทายาทนั้นถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตายเท่านั้นก็ตาม แต่มาตรา 1607 บัญญัติว่า การถูกกำจัดมิให้รับมรดกนั้นเป็นการเฉพาะตัว ผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดสืบมรดกต่อไปเหมือนหนึ่งว่าทายาทนั้นตายแล้วโดยมิได้บัญญัติว่า ผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกสืบมรดกต่อไปได้เฉพาะในกรณีที่ทายาทนั้นถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตายเท่านั้น ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 ได้ปิดบังทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกมากกว่าส่วนที่ตนจะได้และต้องถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกของเจ้ามรดกเลย อันเป็นการถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกหลังเจ้ามรดกมรณภาพก็ตาม บุตรของจำเลยที่ 1 เป็นผู้สืบสันดานของจำเลยที่ 1 ผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกของเจ้ามรดกสืบมรดกของเจ้ามรดกต่อไปได้เสมือนหนึ่งว่าจำเลยที่ 1 ตายแล้ว ตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 1607 และบทบัญญัติมาตรา 1607 หาได้อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 1639 ไม่
ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกตกแก่โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก จึงเป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม เมื่อโจทก์ทั้งสามยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งที่ดินพิพาทตามสัดส่วนของตน จะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น โจทก์ทั้งสามย่อมไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง จำเลยที่ 2 ประกอบธุรกิจธนาคารตาม พ.ร.บ.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ.2509 การรับจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ก็เป็นการดำเนินธุรกิจตามปกติของจำเลยที่ 2 ประกอบกับจำเลยที่ 2 ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 6 ที่บัญญัติว่า "ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต" และไม่ปรากฏพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสามว่าจำเลยที่ 2 กระทำโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด แต่กลับได้ความว่า ส. ภริยาจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทซึ่งมีทะเบียนเป็นโฉนดที่ดินปรากฏชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียวจดทะเบียนจำนองประกันหนี้ไว้กับจำเลยที่ 2 จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 รับจำนองที่ดินพิพาทไว้จากจำเลยที่ 1 โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว โจทก์ทั้งสามย่อมไม่อาจยกการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยทางมรดกเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 2 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง โจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2
เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกจึงไม่มีผลอีกต่อไป ทั้งการเป็นผู้จัดการมรดกเป็นการเฉพาะตัวของจำเลยที่ 1 ม. ทายาทของจำเลยที่ 1 ซึ่งเข้าเป็นคู่ความแทน ไม่อาจเป็นผู้จัดการมรดกแทนจำเลยที่ 1 ได้ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทแบ่งแยกที่ดินพิพาทด้านทิศตะวันออกสามในสี่ส่วนให้แก่โจทก์ทั้งสาม หากจำเลยที่ 1 ไม่ไปดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา จึงไม่อาจบังคับให้มีผลตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้อีกต่อไป เป็นเรื่องที่ทายาทของเจ้ามรดกต้องไปดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลขอตั้งผู้จัดการมรดกคนใหม่ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 252

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4523/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีจำนอง: ยึดทรัพย์เพิ่มเมื่อทรัพย์จำนองไม่พอชำระหนี้ & ขยายเวลาบังคับคดี
แม้การบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้ต้องบังคับเอาแก่ทรัพย์จำนองก่อน หากไม่ครบจำนวนหนี้จึงจะบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นได้ก็ตาม แต่ทรัพย์จำนองมีราคาประเมินไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ ประกอบกับเหตุที่การขายทอดตลาดทรัพย์จำนองยังไม่เสร็จสิ้นนั้น มิใช่เกิดจากความผิดของโจทก์ ดังนั้น การยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยไว้ก่อน แต่ห้ามนำออกขายทอดตลาดจนกว่าจะมีการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองและได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนจึงค่อยนำที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาด ซึ่งไม่ขัดต่อขั้นตอนการบังคับคดี และน่าจะเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย หาทำให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยแต่ฝ่ายเดียวไม่ โจทก์จึงมีสิทธินำยึดที่ดินดังกล่าวของจำเลยเพิ่มเติมได้
of 95