คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ฉ้อโกง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 938 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2283/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฉ้อโกงจากการปกปิดการจัดสรรที่ดินและการก่อสร้างอาคารบนที่ดินสาธารณูปโภค ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าไม่เข้าข่ายความผิดฐานฉ้อโกง
โจทก์ทั้งสิบสองซื้อบ้านและที่ดิน โครงการหมู่บ้าน ศ. 1 โดยจำเลยทั้งสองและ จ. ปกปิดข้อความจริงว่า โครงการหมู่บ้าน ศ. 1 ไม่ได้ขออนุญาตจัดสรรตามกฎหมายและ จ. แจ้งว่าโครงการจัดให้มีลานจอดรถอันเป็นสาธารณูปโภค โจทก์ทั้งสิบสองชำระเงินครบถ้วนและรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านแล้ว ดังนั้น เงินค่าซื้อที่ดินและบ้านที่จำเลยทั้งสองได้รับจากโจทก์ทั้งสิบสอง จึงเกิดจากการซื้อขายที่ดินและบ้าน มิใช่เกิดจากการปกปิดข้อความจริงว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับอนุญาตจัดสรรที่ดิน ทั้งการที่จำเลยทั้งสองไม่ได้ขออนุญาตจากทางราชการให้ดำเนินการจัดสรรที่ดิน ก็ไม่ใช่สาระสำคัญที่จะบ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาที่จะฉ้อโกงโจทก์ทั้งสิบสอง และที่จำเลยทั้งสองไปขออนุญาตก่อสร้างอาคารบนที่ดินที่ จ. จัดให้เป็นลานจอดรถโดยมิได้แจ้งให้โจทก์ทั้งสิบสองทราบนั้น มิใช่การปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งเพราะจำเลยทั้งสองไม่จำเป็นต้องแจ้งให้โจทก์ทั้งสิบสองทราบ ทั้งจำเลยทั้งสองก็ไม่ได้ทรัพย์สินไปจากโจทก์ทั้งสิบสองเพราะที่ดินเป็นลานจอดรถยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของ จ. ส่วนการที่จำเลยทั้งสองก่อสร้างอาคารเจ็ดชั้นบนที่ดินสาธารณูปโภคที่เป็นลานจอดรถ ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 มิได้ปฏิบัติตามคำมั่นของ จ. ที่ให้ไว้กับโจทก์ทั้งสิบสองเท่านั้น กรณีเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง การกระทำของจำเลยทั้งสองตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1434/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรมธรรม์ประกันภัยไม่คุ้มครองความเสียหายจากฉ้อโกง แม้ไม่ใช่การลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์
จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปทำสัญญาจะซื้อจะขายและส่งมอบรถยนต์ให้บุคคลภายนอกโดยผู้ให้เช่าซื้อไม่ทราบ โดยบุคคลภายนอกหลอกลวงจำเลยที่ 1 ว่า ต้องการซื้อรถยนต์พิพาทของโจทก์และจะดำเนินการเปลี่ยนสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์อันเป็นความเท็จ ต่อมาศาลแขวงดุสิตมีคำพิพากษาลงโทษบุคคลภายนอกในข้อหาฉ้อโกง จำเลยร่วมในฐานะบริษัทผู้รับประกันภัยรถยนต์พิพาทไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะรถยนต์สูญหายตามกรมธรรม์ประกันภัยเพราะข้อตกลงคุ้มครองข้อ 1 ระบุว่า จำเลยร่วมจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อรถยนต์สูญหายไปอันเกิดจากการกระทำความผิดเฉพาะฐานลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ยักยอก เนื่องจากข้อเท็จจริงได้ความว่าบุคคลภายนอกหลอกลวงจำเลยที่ 1 อันเป็นความเท็จจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4375/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยสนับสนุนผู้อื่นปลอมเอกสารสิทธิเพื่อฉ้อโกง โทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมและฉ้อโกง
จำเลยเป็นผู้ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการที่มีการปลอมลายมือชื่อผู้เสียหายที่ 2 กรณีมีเหตุเชื่อได้ว่า จำเลยมีส่วนเกี่ยวข้องในการก่อให้ผู้อื่นปลอมเอกสารสิทธิ การที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ ย่อมลงโทษจำเลยได้เพียงฐานสนับสนุนผู้อื่นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ เมื่อจำเลยใช้เอกสารสิทธิปลอมโดยเป็นผู้สนับสนุนให้ปลอมเอกสารสิทธินั้น จึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 265 ประกอบมาตรา 86 และมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมแต่กระทงเดียวตามมาตรา 268 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3143/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานฉ้อโกง ยอมความชดใช้ค่าเสียหาย สิทธิฟ้องระงับ รอการลงโทษจำคุก
หลังจากศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษา จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่าได้วางเงินเพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วมจำนวน 70,000 บาท ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ร่วมแถลงว่า เมื่อจำเลยที่ 1 วางเงินชำระค่าเสียหายแล้ว โจทก์ร่วมก็ไม่ติดใจดำเนินคดีแพ่งและอาญาต่อจำเลยที่ 1 อีกต่อไป ตามรายงานกระบวนพิจารณาวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ถือได้ว่าโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่นซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวก่อนคดีถึงที่สุด สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวจึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) และย่อมทำให้คำขอในส่วนแพ่งของโจทก์ที่ให้จำเลยที่ 1 คืนโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือใช้ราคาแทนแก่โจทก์ร่วมตกไปด้วย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2857/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานสมคบร่วมกันกระทำผิดและฉ้อโกงประชาชน: ความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรม
ความผิดฐานเป็นซ่องโจรกับความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติต่างเป็นการสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเหมือนกัน เพียงแต่ต่างกันที่ประเภทของความผิด การกระทำของจำเลยในความผิดทั้งสองฐานนี้จึงมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ประกอบกับโจทก์บรรยายองค์ประกอบความผิดทั้งสองฐานนี้รวมกันมาในคำฟ้อง แสดงว่ามุ่งประสงค์ให้ลงโทษเป็นกรรมเดียว การกระทำความผิดทั้งสองฐานนี้จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90
ความผิดฐานเป็นซ่องโจรกับความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาตินั้นเป็นความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน กฎหมายบัญญัติขึ้นเพื่อเอาผิดแก่ผู้ที่สมคบกันเพื่อจะกระทำความผิดตามกฎหมายอื่น การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่มีการสมคบกันแล้วโดยยังไม่ต้องลงมือกระทำความผิดอื่นอีก ดังนี้การกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน แม้จะคาบเกี่ยวอยู่ในช่วงเวลาการกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจรกับความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติด้วย ก็เป็นที่เห็นได้ว่าจะต้องมีการสมคบกันเพื่อกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนเสียก่อนอันเป็นความผิดสำเร็จแล้วจึงจะมีการลงมือกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนต่อจากนั้นไปซึ่งเป็นการกระทำที่แยกต่างหากจากกัน เป็นการกระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2638/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฉ้อโกงทองคำ - การบังคับชำระราคาทองคำที่แท้จริง - อัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่
จำเลยทั้งสองร่วมกันฉ้อโกงทองคำของโจทก์ร่วมไปหลายรายการ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 11,075,012 บาท แต่โจทก์และโจทก์ร่วมขอให้บังคับจำเลยทั้งสองคืนทองคำที่ฉ้อโกงไปคืนหรือใช้ราคา 11,103,793 บาท ซึ่งเกินไปกว่าราคาทองคำที่แท้จริงที่จำเลยทั้งสองฉ้อโกงไป โดยส่วนที่เกินกว่าราคาทองคำที่แท้จริงเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 พนักงานอัยการโจทก์มีสิทธิเรียกร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองคืนหรือชดใช้ราคาทองคำที่แท้จริงที่จำเลยทั้งสองฉ้อโกงไปแทนโจทก์ร่วม อันเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ร่วมต้องสูญเสียไปเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองได้เท่านั้น ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มมิใช่ทรัพย์สินหรือราคาที่โจทก์ร่วมสูญเสียไปเนื่องมาจากการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงของจำเลยทั้งสอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ทั้งไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสองซื้อขายทองคำกันจริง หากแต่เป็นเพียงอุบายของจำเลยทั้งสองในการฉ้อโกงโจทก์ร่วมเท่านั้น โจทก์ร่วมจึงไม่ต้องมีหน้าที่นำส่งค่าภาษีมูลค่าเพิ่มแก่กรมสรรพากร ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มจึงมิใช่เป็นค่าเสียหายในทางทรัพย์สิน อันเกิดจากการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงของจำเลยทั้งสองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 โจทก์ร่วมไม่อาจเรียกร้องให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ส่วนดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของราคาทองคำที่จำเลยทั้งสองฉ้อโกงโจทก์ร่วมไปนั้น โจทก์ร่วมมีสิทธิเรียกร้องให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 440 แต่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 แห่ง ป.พ.พ. และมาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. ให้ใช้ข้อความใหม่แทน ซึ่งมีผลให้กรณีเสียดอกเบี้ยให้แก่กัน และมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยโดยนิติกรรมหรือกฎหมายอันชัดแจ้งให้ใช้ดอกเบี้ยร้อยละสามต่อปี เว้นแต่เจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี เว้นแต่เจ้าหนี้จะได้เรียกดอกเบี้ยสูงกว่านั้น โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยในช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ดังนั้นดอกเบี้ยของค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วม จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ โดยโจทก์ร่วมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยของราคาทองคำในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานฉ้อโกงทองคำของโจทก์ร่วมแต่ละรายการ จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชดใช้ราคาทองคำเสร็จแก่โจทก์ร่วม โดยดอกเบี้ยในส่วนนี้ให้ปรับเปลี่ยนไปตามอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนดโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 7 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีตามที่โจทก์ร่วมขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 229/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พฤติการณ์หลอกลวงประชาชนให้เล่นหวยโดยอ้างว่าเป็นเลขจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเข้าข่ายความผิดฐานพยายามฉ้อโกง
จำเลยทำใบปลิวโฆษณาชักชวนบุคคลทั่วไปให้มาเล่นหวย (สลากกินรวบ) โดยให้ติดต่อไปยังหมายเลขโทรศัพท์ที่ระบุในใบปลิวเพื่อขอรับเลข ซึ่งอ้างว่าได้มาจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หากถูกรางวัลจำเลยขอค่าตอบแทน 10,000 บาท โดยจำเลยไม่มีเลขที่ได้มาจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล แต่จำเลยมีเจตนาหลอกลวงเอาเงินจากประชาชนทั่วไปที่ได้รับใบปลิวของจำเลยมาแต่ต้น การที่มีประชาชนโทรศัพท์หาจำเลยและจำเลยแจ้งเลขซึ่งไม่ได้มาจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล มิใช่การให้หรือตอบแทนสิ่งใดแก่ประชาชน จึงไม่เป็นสัญญาต่างตอบแทน จำเลยลงมือกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนแล้ว แต่ประชาชนที่ถูกจำเลยหลอกลวงตรวจสอบพบว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริงมิได้หลงเชื่อตามที่ถูกหลอกลวง การกระทำของจำเลยจึงไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ จึงเป็นความผิดฐานพยายามกระทำความผิด ตาม ป.อ.มาตรา 81

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1874/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานฉ้อโกง, ประกอบธุรกิจเงินทุนโดยไม่ได้รับอนุญาต และใช้ชื่อทางการเงินโดยมิชอบ
แม้การหลอกลวงของจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการต่อไป แต่การดำเนินการดังกล่าวได้เริ่มขึ้นแล้วด้วยการที่จำเลยทั้งสี่ร่วมกันแสดงโครงการออกโฆษณาต่อประชาชนอันเป็นความเท็จ ซึ่งเชื่อมโยงกับที่จำเลยทั้งสี่จะดำเนินการต่อไป กรณีถือว่าเป็นการหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จแล้ว ฟ้องโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันจัดตั้งกองทุนออมทรัพย์ อ. โดยวิธีการฝากเงิน ซึ่งมี 3 ประเภท คือ ฝากเงินแบบขอรับเงินปันผลกำไร (มูฎอรอบะห์) ฝากเงินแบบรักษาทรัพย์ (วาดีอะห์) ไม่มีส่วนร่วมเงินปันผล ฝากเงินเพื่อฮัจญ์และอุมเราะห์ โดยกองทุนออมทรัพย์ อ. จะนำเงินของสมาชิกไปลงทุนทำธุรกิจตามโครงการที่โฆษณาไว้ แล้วจะแบ่งปันผลกำไรหรือผลตอบแทนให้แก่สมาชิกที่ฝากเงินลงทุนดังกล่าว ซึ่งการรับฝากเงินดังกล่าวเป็นการประกอบธุรกิจรับฝากเงินตามความหมายคำนิยามคำว่า ธุรกิจเงินทุน ของมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 แล้ว เมื่อกองทุนออมทรัพย์ อ. ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล และไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีให้ประกอบธุรกิจเงินทุน การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดฐานร่วมกันประกอบธุรกิจเงินทุนโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งองค์ประกอบความผิดของมาตรา 12 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 มิได้บัญญัติไว้ว่าผู้กระทำความผิดต้องมีเจตนาทุจริต เพียงแต่บัญญัติห้ามผู้ใดนอกจากสถาบันการเงินใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจทางการเงินว่า ธนาคาร เงินทุน การเงิน การลงทุน เครดิต ทรัสต์ ไฟแนนซ์ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ หรือคำอื่นใดที่มีความหมายเช่นเดียวกันเท่านั้น เมื่อกองทุนออมทรัพย์ อ. มิใช่สถาบันการเงิน และคำว่า กองทุนออมทรัพย์ เป็นคำอื่นที่มีความหมายเช่นเดียวกับธนาคาร เงินทุน การลงทุน การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ชื่อกองทุนออมทรัพย์ อ. จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจทางการเงิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1488/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฉ้อโกงและใช้เอกสารราชการปลอม: ผู้เสียหายถูกหลอกให้จ่ายเงินเพื่อทำบัตรประชาชนและบัตรผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน
จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างว่าสามารถติดต่อให้ผู้เสียหายทำบัตรประจำตัวประชาชนผู้มีสัญชาติไทยและให้ลูกน้องของผู้เสียหายถือบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนได้ เนื่องจากจำเลยที่ 1 รู้จักกับผู้ใหญ่บ้านและปลัดอำเภอ แต่ต้องเสียค่าดำเนินการ ผู้เสียหายหลงเชื่อส่งมอบเงินให้จำเลยที่ 1 โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้นำเงินไปให้แก่ผู้ใหญ่บ้านและปลัดอำเภอผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนและบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่โดยทุจริต ที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างดังกล่าวก็เพื่อต้องการเงินจากผู้เสียหายเท่านั้น เมื่อผู้เสียหายนำหนังสือประกาศสำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสน อนุมัติเพิ่มชื่อผู้เสียหายในทะเบียนบ้านไปติดต่อเพื่อขอทำบัตรประจำตัวประชาชนผู้มีสัญชาติไทยจึงทราบความจริงว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม ถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายมีส่วนร่วมก่อให้เกิดความผิดหรือเป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 1 ไปกระทำความผิดอาญา ผู้เสียหายย่อมเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายมีสิทธิร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย 1 ในความผิดฐานฉ้อโกงได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1333/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฉ้อโกง-เจตนาทุจริต-การซื้อขายที่ดินผิดแปลง-ขาดอายุความฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมบรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2558 จำเลยทั้งสามร่วมกันนำรายงานประเมินมูลค่าทรัพย์สินซึ่งเป็นเอกสารปลอมไปใช้แสดงต่อโจทก์ร่วมว่า ที่ดินพิพาทมีราคาประเมิน 7,530,000 บาท ทำให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อ จึงได้ตกลงกับจำเลยทั้งสามและซื้อที่ดินแปลงนี้จากเจ้าของที่ดิน แต่เมื่อข้อเท็จจริงจากทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 1 เพิ่งส่งรายงานประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ซึ่งเป็นเอกสารปลอมให้แก่โจทก์ร่วมเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2558 หลังจากที่มีการจดทะเบียนซื้อขายแล้ว บ่งชี้ชัดว่า เหตุที่โจทก์ร่วมตัดสินใจซื้อที่ดินในวันที่ 20 มีนาคม 2558 ในราคา 3,840,000 บาท หามีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับรายงานประเมินมูลค่าทรัพย์สินดังกล่าวไม่ และการที่โจทก์ร่วมให้จำเลยที่ 1 ส่งรายงานประเมินมูลค่าทรัพย์สินให้แก่โจทก์ร่วม ซึ่งรายงานดังกล่าวลงวันที่ 11 มิถุนายน 2558 อันเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่โจทก์ร่วมทราบความจริงว่าซื้อที่ดินผิดแปลงแล้ว ทำให้เชื่อว่าโจทก์ร่วมเร่งรัดจำเลยที่ 1 ให้ส่งรายงานประเมินมูลค่าทรัพย์สินของที่ดินที่ซื้อผิดแปลงมาให้แก่โจทก์ร่วม ด้วยประสงค์จะทราบมูลค่าที่ดินแปลงที่ซื้อผิดมานี้เพื่อประเมินความเสียหายอันเกิดขึ้นจากความผิดพลาดในการซื้อที่ดินเป็นข้อสาระสำคัญ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายงานประเมินมูลค่าทรัพย์สินปลอมที่นำมาใช้อ้างต่อโจทก์ร่วมอันพิจารณาได้ความเช่นนี้ จึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่โจทก์และโจทก์ร่วมบรรยายในฟ้อง ไม่ว่าจะเป็นเวลาที่เกิดการกระทำความผิดและวัตถุประสงค์ของการใช้รายงานประเมินมูลค่าทรัพย์สินปลอม ซึ่งข้อแตกต่างดังกล่าวถือได้ว่าเป็นข้อสาระสำคัญเนื่องจากเป็นการกระทำความผิดคนละวันเวลาและมีพฤติการณ์ในการกระทำความผิดไม่เหมือนกันอันอาจเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้ได้ กรณีจึงต้องยกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมในความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง
of 94